fbpx
หนังสือเลี้ยงลูกแบบนาฬิกาทราย : คุยกับ ทราย - สุภลักษณ์ อันตนนา SandClock Books

หนังสือเลี้ยงลูกแบบนาฬิกาทราย : คุยกับ ทราย – สุภลักษณ์ อันตนนา SandClock Books

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

ในยุคสมัยที่การเลี้ยงลูกเป็นวาระแห่งชาติ พ่อแม่มือใหม่ต่างตามหาวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสม ทั้งต้องรับมือกับภาวะที่ลูกร้องไห้ ขว้างปาสิ่งของ ตื่นมากลางดึกทุกวัน และยังต้องฝึกพัฒนาการอีกหลายอย่าง การดูแลลูกให้ดีทั้งกายและใจจึงเป็นหนึ่งในหน้าที่อันหนาหนักของพ่อแม่ หนังสือเลี้ยงลูกกลายเป็นหมวดหนังสือยอดนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกออกมาอย่างสม่ำเสมอ แล้วได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างอบอุ่น คือ SandClock Books หน้าปกลายเส้นการ์ตูนสีนุ่มนวล พิมพ์ 4 สีด้วยกระดาษคุณภาพดี และชื่อเรื่องที่ทั้งเป็นมิตรและมีประเด็นน่าสนใจในเวลาเดียวกัน คือภาพจำของสำนักพิมพ์ที่หลายคนคุ้นตา

ส่วนมากมักจะเป็นหนังสือแปล โดยคัดเลือกแนวคิดการเลี้ยงลูกจากต่างประเทศ เช่น เลี้ยงลูกแบบผ่อนคลายสไตล์คุณแม่ฝรั่งเศส, พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น, เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี, พ่อแม่ดัตช์เลี้ยงแบบนี้ หนูแฮปปี้สุดๆ ฯลฯ หรือหนังสือไทย ที่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่อย่างมากในปีที่แล้ว เช่น Q&A เลี้ยงลูกให้หายสงสัยสไตล์คุณหมอประเสริฐ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นต้น

101 นัดคุยกับ ทราย – สุภลักษณ์ อันตนนา เจ้าของสำนักพิมพ์ SandClock Books อดีตแอร์โฮสเตส ที่ปัจจุบันเป็นคุณแม่เต็มเวลา และยังเป็นคนทำหนังสือเต็มเวลาอีกด้วย

จากชีวิตวัยเด็กที่โตมากับธุรกิจเข้าเล่มไสกาวหนังสือ ทรายหยิบหนังสือบนชั้นของแม่มาอ่านตั้งแต่เทพนิยายกริมม์ ไปจนถึงนิยายของทมยันตี ด้วยความรักหนังสือและภาษา ทรายเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่น ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่จบมาก็ยังโลดแล่นในสายงานที่ห่างไกลวงการหนังสือ เป็นแอร์โฮสเตสอยู่เกือบ 2 ปี ก่อนจะลาออกมาทำงานด้านการตลาด ทำงานได้สักพักแล้วค่อยไปเรียนต่อที่เยอรมัน ก่อนจะกลับมาช่วยทำงานที่โรงพิมพ์ของญาติ และเพราะการได้กลับมาอยู่กับหนังสือนี่เอง ที่ทำให้ทรายค่อยๆ กลับมาหาความชอบของตัวเอง จนทำสำนักพิมพ์ของตัวเองในที่สุด

เราคุยกับทราย ทั้งในฐานะคนทำหนังสือและแม่ ทั้งสองอย่างนี้ควบคู่กันไปอย่างไร และหนังสือเลี้ยงลูกมีเนื้อหาและทิศทางที่น่าสนใจอย่างไร

พลิกนาฬิกาทราย แล้วค่อยๆ ใช้เวลาไปพร้อมกัน

 

 

อะไรที่ทำให้สนใจการทำหนังสือเลี้ยงลูก

เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว บังเอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ French Children Don’t Throw Food ของ Pamela Druckerman ที่พูดถึงพฤติกรรมและลักษณะเด่นของเด็กฝรั่งเศสหลายๆ อย่าง เช่น เด็กๆ จะไม่กรีดร้อง ไม่โยน ไม่ขว้างปาอาหารในร้านอาหาร ศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียน

จริงๆ ตอนซื้อก็หยิบมาจากร้านหนังสือในสนามบิน เตะตาตั้งแต่ชื่อหนังสือ พอยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุก ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่ได้แต่งงานมีลูกเลยนะ หนังสือเล่มนี้มันเปิดโลกให้เราเข้าใจการเลี้ยงลูกในแบบใหม่ว่าแม่ที่เพอร์เฟ็กต์ไม่มีอยู่จริง เราไม่จำเป็นต้องไปเป็นทาสลูก หรือต้องบริการลูกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง คุณก็เป็นแม่ที่มีเวลาของตัวเองสวยๆ ได้ มีเวลาออกกำลังกายได้ เป็นชีวิตที่ดูเอ็นจอย เป็นแม่คนแล้วอย่าเอาแต่จมอยู่กับความรู้สึกผิดต่อลูก อ่านเล่มนี้จบปุ๊บก็ตาเป็นประกายเลย ได้แนวคิดอะไรใหม่ๆ เยอะมาก

จากที่เราเคยทำงานโรงพิมพ์มา ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตหนังสือมาเยอะ ก็รู้สึกว่าการทำหนังสือสนุกดี เหมือนเป็นแพสชั่นของเรา คิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าอยากทำหนังสือเองบ้างถ้ามีโอกาส พอได้มาเจอเล่มนี้ก็ตกหลุมรักทันที เลยตัดสินใจเดินเข้าไปหาเอเจนซี่ที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์หนังสือ บอกว่าอยากซื้อลิขสิทธิ์เล่มนี้มาพิมพ์ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปอีกนานกว่าจะได้คำตอบกลับมา เล่มนี้เลยกลายเป็นหนังสือลำดับที่ 3 ของสำนักพิมพ์ ทั้งที่เป็นเล่มแรกที่ทำให้เราคิดจะก่อตั้งสำนักพิมพ์นี้

ส่วนเล่มแรกของสำนักพิมพ์เป็นแนวจิตวิทยาการสื่อสารกับลูก คือด้วยความที่เราชอบเข้าร้านหนังสือญี่ปุ่นอยู่เรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็หาหนังสือจนไปเจอเล่ม พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น พออ่านๆ ไปก็ เฮ้ย เล่มนี้สนุก คือมันเข้าใจง่ายว่าคำพูดแบบไหนที่พูดแล้วเด็กจะเสียความมั่นใจ ทำให้เขาเจ็บปวด บางคำพูดนี่แบบ เออ มีคนเคยพูดกับเรานะ พอฟังแล้วจุกเลย ทั้งๆ ที่ดูเป็นประโยคธรรมดาๆ แต่ก็บั่นทอนความตั้งใจ ความกระตือรือร้นของเราสมัยเป็นเด็กไปเยอะเหมือนกัน

ในเล่มก็จะมีคำอธิบายถึงที่มาที่ไป แล้วก็แนะนำเทคนิคว่า จริงๆ ลองเปลี่ยนเป็นคำพูดด้านบวกแบบอื่นก็ได้นะ ดูเป็นหนังสือที่อ่านง่ายดี ตอนนั้นคิดว่าพ่อแม่คนไทยอาจจะชอบ ก็ตัดสินใจพิมพ์อีเมลส่งไปหาสำนักพิมพ์นี้ที่ญี่ปุ่น แล้วเขาก็ตอบรับมาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ที่ขายดีถล่มทลาย

ช่วงแรกก็คิดแบบหลวมๆ ไม่ได้จะอิงเรื่อง parenting อย่างเดียว อ่านอย่างอื่นเผื่อไว้ด้วย เช่น การจัดบ้าน แต่ว่าพอมาทางนี้ก็สนุก ผู้อ่านหลังไมค์มาหาว่าชอบ อ่านเข้าใจง่าย ก็มีฐานลูกค้าพ่อแม่เยอะขึ้น เลยทำไปเรื่อยๆ แล้วตอนแรกที่ออกเล่ม พูดกับลูกสไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น ลูกคนโตยังอยู่ในท้อง ตอนนั้นตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มอ่านเผื่อการเลี้ยงลูกสำหรับตัวเองด้วย

 

มีเนื้อหาอะไรในหนังสือเลี้ยงลูกที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ เอามาใช้ในชีวิตจริงได้บ้าง

เราคิดว่าเยอะนะ เอามาประยุกต์ใช้ได้ทุกเล่มเลย ถ้าให้เล่าก็จะยาวมาก (หัวเราะ)

หนังสือที่เราทำมามีสองประเภทใหญ่ๆ พวกแรกเราเรียกว่า memoir หรือเล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกในต่างประเทศ อีกอันคือ แนวฮาวทู มีภาพประกอบ บอกเทคนิคการเลี้ยงลูก บอกปัญหาที่เจอว่าแต่ละกรณีควรทำยังไง

แต่หนังสือที่คิดว่ามีประโยชน์กับเรามากที่สุดไม่ใช่พวกฮาวทูนะ แต่เป็นหนังสือที่เล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกในต่างประเทศ ที่เราเคยแปลมาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สามเล่มหลังนี้เป็นหนังสือที่มาจากคนเขียนชาวอเมริกัน ที่เปรียบเทียบแนวการเลี้ยงลูกแบบอเมริกันกับประเทศในยุโรป อ่านๆ ไปก็จะเริ่มรู้สึกได้ว่าแนวความคิดพ่อแม่ของอเมริกาหลายอย่างก็คล้ายกับพ่อแม่ของไทยเลยที่อยากปกป้องลูกตลอดเวลา อยากควบคุมเส้นทางชีวิตของลูก ออกแนวแข่งขันกันเยอะ แต่แนวยุโรปจะปล่อยเป็นธรรมชาติ

พอได้อ่านหนังสือพวกนี้แต่เนิ่นๆ ก็ทำให้ทัศนคติต่อการเลี้ยงลูกของเราเปลี่ยนไปเยอะมาก คือสมัยก่อนเราคิดว่าถ้าจะเป็นแม่คน ก็ต้องเป็นแม่ที่เป๊ะ ต้องเปลี่ยนตัวเอง ไม่ควรออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ต้องมีเวลาให้ครอบครัวเต็มร้อย ต้องนู่นนี่นั่นเยอะแยะมาก

หนังสือกลุ่มนี้มาช่วยปูพื้นจิตใจ ปลดล็อกให้เราผ่อนคลายลงไปเยอะมาก คือการมีลูกสักคน ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตแม่ก็จริง แต่ไม่ใช่เรื่องต้องมานั่งกังวลอะไรไปทุกเรื่อง อยากกินอะไรก็กินเถอะ แค่อย่าเกินปริมาณที่จำเป็น ในหนังสือเขาบอกว่า อย่าเป็นแม่สายนอยด์ที่ต้องมานั่งเสิร์ชกูเกิลถามทุกอย่างว่า ไอ้นั่นทำได้ไหม กินนี่ได้ไหม เขาบอกว่าอะไรที่ทำแล้วดีต่อใจแม่ และไม่เป็นอันตรายร้ายแรงกับเด็กในท้องอย่างแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ ก็ทำไปเลย

อย่างเล่ม เยอรมัมมี่ นี่แหละแม่เยอรมัน เขาจะปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นกันแบบเต็มที่ ไม่ปกป้องเด็กๆ มากเกินไป ให้เล่นเครื่องเล่นพวกที่ปีนสูงๆ ดูหวาดเสียว พ่อแม่ก็หลบมานั่งดูห่างๆ จิบกาแฟคุยกันไป เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความมั่นใจในตัวเอง ยิ่งเด็กทำอะไรได้ เขาก็จะเริ่มท้าทายตัวเองให้ลองทำอะไรที่ยากขึ้นๆ ทีละนิด และประเมินสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ได้ คีย์เวิร์ดคือการตัดสินใจด้วยตัวเอง พอเราเข้าไปแทรกแซงลูกเยอะๆ ชี้นำกำกับลูกไปทุกเรื่อง เช่น ลูกกำลังเล่นเพลินๆ ก็เข้าไปประกบ เอาแต่บอกลูกว่า ระวัง ระวัง ระวัง ทำไมไม่ปีนแบบนี้ล่ะ ทำไมไม่เอามือจับแล้วก้าวเท้าขึ้นไปแบบนี้ล่ะ แทนที่จะเก็บประโยคเตือนลูกพวกนี้ไว้ตอนที่เป็นอันตรายร้ายแรงระดับชีวิตจริงๆ พอเราเข้าไปครอบลูก ไปปกป้องลูกมากไป ความมั่นใจของเด็กจะไม่ค่อยมา ถ้าเราเข้าไปตัดสินทุกอย่างแทนว่า ลูกทำนี่ได้ ทำนั่นไม่ได้ เขาจะกลายเป็นเด็กกล้าๆ กลัวๆ

เรื่องพวกนี้แหละที่เราได้ประโยชน์จากหนังสือแนวต่างประเทศ พอได้คอนเซ็ปต์ก็เข้าใจแล้วว่า ปล่อยลูกเถอะ เขาเติบโตเองได้ ส่วนพวกเล่มฮาวทูเราก็ได้เทคนิควิธีดีลกับเคสต่างๆ มากมาย

 

แล้วพอได้มาเลี้ยงลูกเอง ทำได้จริงเหมือนในหนังสือไหม

เราหยิบหนังสือมาเป็นแนวทาง เอามาปรับประยุกต์ใช้ บางเรื่องก็ทำได้ บางเรื่องก็ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรที่ทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะปัจจัยที่ทำให้แต่ละบ้านอ่านหนังสือแล้วพอเอาไปทำแล้วได้ผลต่างกันคือนิสัยพ่อแม่ คนรอบข้าง และธรรมชาติของตัวเด็ก

เราเองก็เป็นคนธรรมดา โมโหง่ายด้วยซ้ำ หลายครั้งก็รู้นะว่าในหนังสือเขียนไว้ว่าไง แต่ก็ยั้งไม่ทัน ไม่มีสติพอที่จะคิดดีๆ ก่อนปฏิบัติกับลูก ก็โชคดีที่เราได้ทำงานตรงนี้ พอได้อ่านได้คุ้นเคยกับหนังสือหลายเล่ม พอเจอปัญหากับลูก บางทีก็รู้สึกเหมือนมีโค้ชหลายคนมาช่วยยืนกำกับว่า ใจเย็นๆ นะแม่ ค่อยๆ พูดกับลูก แต่สารภาพไว้ก่อนตรงนี้เลยว่า ทุกวันนี้ก็ยังเจอปัญหา Terrible Two ไม่ต่างจากทุกบ้านนะ ก็ค่อยๆ ฝึกกันไปทั้งครอบครัว

ส่วนหนังสือเล่มที่เราอยากขอบคุณมากๆ ก็มีเรื่อง แม่ไม่เหนื่อยป้อนสอนลูกให้กินเอง (Baby-Led Weaning) ก็เป็นแนวที่ให้ลูกจัดการตัวเองเรื่องการกิน ปล่อยให้เขาใช้มือหยิบอาหารเองตั้งแต่อายุ 6 เดือน ได้สำรวจอาหาร สนุกกับการลิ้มชิมรส ดมกลิ่น สัมผัสกับ texture ของอาหารหลายๆ แบบ

ตอนลูกคนโตหัดกินแนวนี้ใหม่ๆ ผู้ใหญ่ในบ้านก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนะ คือเขากลัวว่าจะติดคอไหม ตายายก็เคยเดินหนีไม่กล้ามองเลยเพราะเขาเคยชินกับการบดป้อนเด็กมาตลอด แต่พอเขาเห็นพัฒนาการ ความสุขจากแววตา เวลาที่หลานได้ลองกินเอง ได้เห็นทักษะการใช้มือ ใช้นิ้วมือที่คล่องมากขึ้น จนต่อมาพอไปกินข้าวนอกบ้าน เขาก็ภูมิใจ เวลาคนอื่นเข้ามาชื่นชมว่า เด็กคนนี้เก่งจังกินข้าวเองได้แล้วนะ self-esteem ของเด็กก็มาถ้าเขาทำอะไรเองได้

อีกเล่มที่อยากจะกราบขอบพระคุณเลยคือ หนังสือเรื่อง Baby Sleep Training ฝึกลูกนอนยาว ชื่ออาจจะเหมือนเรื่องฝึกลูกนะ แต่เอาเข้าจริงเป็นการเตรียมตัวของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นคนเตรียมสภาพแวดล้อมให้เขา จัดห้องยังไง เปิด-ปิดม่านยังไง หรือจัดตารางเวลาลูกยังไง จัดท่าให้นมลูกยังไงที่จะไม่ทำให้เขาตื่นกลางดึกบ่อยๆ

สุดท้ายก็อยู่ที่พ่อแม่แหละว่าทำได้แค่ไหน เข้าใจคอนเซ็ปต์แค่ไหน หรือบางทีเราไปโฟกัสกับเรื่องหยุมหยิมมากเกินไปจนมองข้ามว่ามันเป็นการค่อยๆ เปิดพื้นที่ให้ทารกเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองนะ จะมีประโยคที่บอกว่า ก็อยากให้ลูกนอนยาวนะแต่พอลูกขยับนิดเดียวก็พุ่งเข้าไปอุ้มขึ้นมา เปิดไฟจนสว่างแล้ว คือเด็กเขาก็จะค่อยๆ จำรูปแบบนี้ว่า อ๋อ ฉันต้องตื่นตอนกลางคืนหรือทุกชั่วโมงใช่ไหม ทีนี้แม่ก็จะเริ่มบ่นแล้ว ทำไมลูกฉันไม่นอนยาว ทำไมลูกฉันตื่นทุกชั่วโมง หนังสือเล่มนี้ทำให้เราปรับพฤติกรรมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ พอออกจากโรงพยาบาลกลับมาถึงบ้านก็ลองเลย แล้วพอลูกโตได้ 2-3 เดือน เขาก็นอนเองได้ตลอดคืน

 

 

นอกจากเรื่องกิน เรื่องนอน แล้วมีเรื่องอะไรอีกที่คนเป็นแม่ต้องรับมือกับลูกๆ วัยเด็ก

ที่พูดไปก่อนหน้านี้จะเป็นเรื่องของวัยแรกเกิดถึง 1 ขวบ แล้วก็จะมีเรื่องเล่น อย่างเล่มนี้ก็ขายดีมาก เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี  ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็แทบไม่ต้องซื้อของเล่นให้ลูกเลย เพราะเขาพูดว่าเด็กๆ แต่ละคน เวลาเขาจะเล่นอะไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่นะว่าเราไปซื้อของอะไรแล้วเอามาวางให้เขาเล่น แต่มันมาจากข้างในว่าพัฒนาการของลูก ณ ช่วงเวลานั้นเขาสนใจอะไรอยู่ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็ต่างกันนะ เรียงลำดับความสนใจแต่ละทักษะไม่เหมือนกัน อย่างบางคนชอบดึง ชอบฉีกกระดาษ จู่ๆ ลูกคลานไปฉีกๆๆ อย่างเดียวเลย ถ้าเป็นบ้านที่ไม่เข้าใจก็จะบอกว่า อย่าซนสิ หยุด บางบ้านอาจจะไปตีเด็กซ้ำด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ คือเด็กเขากำลังจะบอกเรา เป็นการส่งสัญญาณว่าเขากำลังชอบที่จะใช้นิ้วมือฉีก ในเล่มนี้ก็จะบอกว่า โอเค งั้นคุณมาทำกิจกรรมนี้นะ มันจะมีเรื่องของการฉีกอย่างเดียวเลย เตรียมกระดาษทิชชู่ เตรียมหนังสือพิมพ์ให้เลย มานั่งฉีกกันในบริเวณที่เราเตรียมไว้ให้เขา เขาก็จะเอ็นจอย

 

พ่อแม่ต้องอยู่ด้วยตลอดไหม

เราก็อยู่ด้วย แต่ไม่ถึงกับพูดตลอดเวลาว่าฉีกอย่างนี้สิ เป็นเราก็เบื่อนะถ้ามีคนมาพูดกำกับตลอดเวลา หรือถ้าชอบล้าง ชอบเล่นน้ำ ล้างแก้ว ล้างชาม เราก็จัดพื้นที่ให้เขาเล่นไปเลย เล่มนี้พูดถึงเด็กประมาณ 4 เดือน ถึง 4 ขวบ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นวัยทองในการฝึกนิ้วมือ ถ้าพ้นวัยนี้ไปแล้ว เขาจะเริ่มเป็นเด็กเงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่ถูก พอเข้าโรงเรียนอนุบาลไปปุ๊บ อ้าว เพื่อนเปิดก๊อกน้ำได้ หยิบนู่นนี่ได้ ถ้าเขาไม่ได้ลองฝึกนิ้วมาก่อนเลย พอไปเจอคนอื่น ก็อาจจะทำให้เขาไม่มั่นใจ ทำไมเพื่อนทำได้

การเตรียมพร้อมเขาก่อนที่จะโตไม่ใช่เรื่องของการฝึกท่อง A-Z ให้ได้ แต่หมายถึงการใช้ร่างกายเขาทำนู่นทำนี่ให้ได้ด้วยตัวเองก่อน อย่างในเล่ม เล่นกับลูกสไตล์มอนเตสซอรี  จะมีประมาณ 15 ทักษะ ยกตัวอย่างเช่น ทักษะการหยิบของใส่ช่องแล้วทิ้งให้ตกลง เวลามีช่องอะไรเล็กๆ เขาจะชอบเอาของไปหย่อน ไปทิ้ง, การดึง เห็นเชือกวางอยู่ก็ดึงๆ เห็นไหมพรมก็ดึง, การเขย่า การตี เวลากินข้าวก็ตีโต๊ะ ถ้าเราไปดุลูกว่า หยุดสิ อย่าเสียงดัง มันก็จบแล้ว เขาอาจจะกำลังส่งสัญญาณบอกเราอยู่นะว่าเขาชอบตี เราก็เตรียมกลองให้เขา เช่น ฝากระป๋อง หรือกระดาษให้เขามาตี หรือการขว้างปา บางทีเห็นเด็กๆ ชอบขว้างของ เราก็ เอ้ามา มาโยนกัน ก็เป็นทุกสกิลที่เด็กทุกคนต้องได้เจอ

เราชอบแนวมอนเตสซอรี เพราะมันเป็นการบอกพ่อแม่ว่า ถอยมาแป๊บนึงนะ หยุดดูลูกก่อนว่าลูกอยู่ในโหมดไหน อยู่ในช่วงไหนของวัยเด็ก เราเห็นปุ๊บเราจะเก็ตไอเดียว่า อ๋อ เดี๋ยวเขาจะติดกระดุมเองใช่ไหม หรือเขาอยากจะใส่กางเกงเอง แล้วเราปล่อยให้เขาทำ ช่วงแรกใช้เวลานานมาก นานจริงๆ คือถ้าคุณเข้าใจ คุณก็จะรอได้ แต่ถ้าคุณไม่เข้าใจ ก็จะเร่ง เร็วๆ สิ ทำไมชักช้า ยิ่งมาเร่งก็ยิ่งพลาด ยิ่งผิด โดนด่าอีก จบเลย ฉันไม่ทำแล้ว เธอทำให้ฉันแล้วกัน

 

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าครั้งนี้ลูกต้องการความช่วยเหลือจากเรา หรือครั้งนี้ลูกต้องการทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง

ถ้าลูกยังอยู่ในวัยที่พูดไม่ได้ เราก็ไม่ค่อยรู้หรอก แต่ส่วนใหญ่ถ้าถึงวัยที่อยากทำโน่นทำนี่เอง เขาจะฟังเรารู้เรื่องเยอะแล้ว เช่น พอเห็นเขากำลังหัดใส่กางเกงเอง แล้วดูเหมือนจะยังไม่สำเร็จและหงุดหงิดมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะรอใกล้ๆ อยู่แถวนั้น เกริ่นเบาๆ ว่าให้แม่ช่วยไหม ถ้าลูกสั่นหัว ไม่อยากให้เราช่วย ก็ถอยออกมา มันจะมีจังหวะที่ถ้าเขาทำไม่ได้จริงๆ ก็จะหันมาหาเรา อาจจะพยักหน้า หรือถ้าเริ่มพูดสั้นๆ ได้ว่า “ช่วย” ก็จะเข้าไปช่วย แต่จะพยายามไม่ทำให้ทั้งหมด จะช่วยต่ออีกครึ่งเดียว อีกครึ่งนึงก็ให้เขาทำต่อ

อย่างถ้าเด็กโตแล้ว เช่น ลูกคนโต 3 ขวบกว่า บางทีก็มีอารมณ์อยากจะอ้อนเราบ้าง ถ้ามาขอให้ช่วย เราก็ไปช่วยเขานะ บางทีเขาบอก หนูอยากทำเอง เราก็โอเค เดี๋ยวนั่งดูตรงนี้นะ แต่ก็ไม่ใช่ว่านั่งเล่นมือถือไปด้วยระหว่างรอ สบตาลูก มองเขาด้วย

 

 

ที่เราคุยกันไปส่วนมากเป็นเรื่องเลี้ยงลูกในบ้าน เด็กก็สามารถโยนหรือทุบอะไรได้ตามใจ แต่พอเวลาพาลูกไปนอกบ้าน เป็นปัญหาไหมว่าเด็กจะอยู่ร่วมกับ public space ยังไงได้บ้าง เราต้องบอกหรือเตือนลูกอย่างไรไม่ให้รบกวนคนอื่น

ถ้าอยู่บ้าน การโยนเล่นอะไรตามใจก็ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เราจัดไว้ให้นะ จะสอนลูกไว้ก่อน ว่าอันไหนทำได้ อันไหนไม่ทำ เราเล่นสนุกได้ก็แค่ในพื้นที่ตรงนี้นะ แต่พอออกนอกพื้นที่เล่นของเราปุ๊บ เราไปฉีกกระดาษ ไปโยนข้าวของคนอื่นไม่ได้นะ

ก่อนจะไปพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน เช่น ไปโรงพยาบาล ไปห้องสมุด ไปร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ก็จะหาโอกาสคุยกับลูกก่อน สถานที่ที่เราจะไปเที่ยวกันเป็นแบบไหน เป็นที่ที่คนอื่นเขาไม่พูดเสียงดัง ไม่วิ่งเล่นกันนะ เขาก็จะเข้าใจ การเกริ่นลูกไว้ตั้งแต่แรกจะง่ายกว่าเยอะ

หรือถ้าโตอีกนิด ก็จะลองพูดถึงผลที่อาจตามมาจากพฤติกรรมที่ไม่ดีให้เขาฟังก่อน เช่น ถ้าเราตะโกน พูดเสียงดัง วิ่งเล่นตึงตัง จะเกิดอะไรขึ้น ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง อันนี้คือให้อยู่ในบรรยากาศแม่ลูกนอนคุยสบายๆ ช่วงก่อนนอนนะ

การสอนเรื่องการเคารพผู้อื่น เคารพพื้นที่สาธารณะเราว่ามันต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

 

ปกติตีลูกไหม

ไม่ตี เรารู้สึกว่าจังหวะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ตีลูก ส่วนใหญ่มาจากอารมณ์ด้านลบ เรากำลังโกรธ เสียใจ โมโห อับอายคนรอบข้าง

ถ้าเราสอนลูกไม่ให้ทำร้ายร่างกายคนอื่น แต่เรากลับไปตีเขา มันไม่สมเหตุสมผลเลย อีกหน่อยถ้าลูกมีปัญหากับเพื่อน แล้วไปใช้กำลังกับเพื่อน ลูกก็อาจจะมาอ้างกับเราได้ว่า ก็เพราะเพื่อนทำไม่ถูก เขาก็เลยทำร้ายหรือตีเพื่อน อย่าลืมว่าลูกมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของเรา

ถ้าเราเลือกใช้กำลัง ตีลูก ฟาดลูกเพื่อให้จบปัญหาไวๆ มันก็จบแบบห้วนๆ ณ ตอนนั้นแหละ แต่จบแบบอีกฝ่ายพูดอะไรไม่ออก ไม่อยากเล่าอะไรให้เราฟังอีก ความสัมพันธ์ระหว่างกันมันก็จะค่อยๆ แย่ลง

ถ้าเด็กถึงวัยที่พูดคุยกันได้แล้ว เราว่าลองคุยกันเรื่องผลที่ตามมา ค่อยๆ หัดให้ลูกสะท้อนอารมณ์ได้ว่า อันนี้เรียกอารมณ์โกรธ หรือหนูกำลังเสียใจใช่ไหม เปิดพื้นที่ให้เขาแชร์ปัญหากับเราได้ พูดคุยกันได้ รับฟังลูกด้วย และกล้ายอมรับ กล้าขอโทษลูก ซึ่งมันจะมีผลต่อบรรยากาศการสื่อสารที่ดีระหว่างลูกและเราในอนาคตด้วย ทักษะแบบนี้มันช่วยลดความขัดแย้งที่รุนแรงในครอบครัวได้

 

ในบางสังคม หรือบางแนวคิดก็อาจจะยังมองว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ เราจะทำยังไงกับลูกก็ได้ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

คุณต้องมองลูกว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีจิตใจ มีความคิดความรู้สึกเป็นของตัวเอง เราอาจจะเป็นผู้ให้กำเนิดเขามาก็จริง แต่ชีวิตเขาไม่ได้เป็นของคุณ ลูกคือคนอีกคน

แนวคิดเรื่องการเคารพลูกเหมือนเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราชอบมากจากเล่ม พ่อแม่ดัตช์  พออ่านปุ๊บมันดึงเราลงมาว่า เฮ้ย บางบ้านเขาจัดการกันอีกแบบ เขาให้เกียรติลูก เคารพลูก ฟังสิ่งที่ลูกพูด เมื่อเราฟังลูก เขาก็จะฟังเราเหมือนกัน เด็กๆ ที่นั่นก็เติบโตได้ดี อย่างสังคมดัตช์ เขาก็เคารพลูกด้วยการให้ลูกเลือกโรงเรียนเอง ให้ขี่จักรยานไปโรงเรียนเอง หรือจัดการชีวิตประจำวันเอง เลิกเรียนบ่ายโมง บ่ายสอง ก็ปล่อยให้ไปทำกิจกรรมที่เขาชอบ

แม่ฝรั่งเศสหรือเยอรมันก็เหมือนกันที่นิยมส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายายต่างจังหวัด ไปค่าย ไปค้างคืนนอกสถานที่ตั้งแต่ยังเล็กๆ ให้หัดตัดสินใจอะไรเอง รู้จักช่วยเหลือตัวเอง แก้ปัญหาเอง คนอาจจะมองว่าสังคมยุโรปทำไมดูปล่อยเด็กจังเลย สบายเนอะ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วอยากได้อิสรภาพในการเลือกสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งมันมาพร้อมกับการฝึกให้ลูกรู้จักการยอมรับผลที่ตามมา จากการตัดสินใจเลือกทางเดินนั้นๆ

ทุกวันนี้ที่เลือกมาทำหนังสือแนวเลี้ยงลูก ก็หวังไว้เหมือนกันในเรื่องค่านิยมตรงนี้ ว่าอาจจะช่วยเด็กๆ ในบ้านเราได้บ้าง

 

เอาเข้าจริงๆ แนวคิดการให้อิสระลูกมากๆ ให้เขาเลือกชีวิตของตัวเอง ใช้ในบริบทสังคมไทยได้มากน้อยขนาดไหน

คิดว่าคอนเซ็ปต์ให้เด็กเลือกชีวิตตัวเองก็ยังใช้ได้อยู่นะ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก อยู่ที่แต่ละครอบครัวมากกว่าว่าเลี้ยงลูกวิธีไหน

พ่อแม่ต้องวางกฎเหล็กของแต่ละครอบครัวให้ดี อย่ามีเยอะเกินไปจนลูกเครียด ฝึกทำให้สม่ำเสมอ แล้วอะไรที่จำเป็น เช่น อย่างที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดเน้นไว้คือเรื่อง อ่านนิทาน เล่น ทำงานบ้าน ทำสามอย่างนี้ให้ดีตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เราว่านี่คือวัคซีนที่ดีเลย ต่อให้ในอนาคตคุณให้อิสระเขาแค่ไหน ถ้าเขาทำงานเป็น เข้าใจว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเลือกชีวิตของตัวเองได้ และต่อยอดได้ดี แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลยลูกแบบไม่สนใจใยดี หรือปกป้องทะนุถนอมมากเกินไป พอถึงวัยที่เขาควรจะได้ออกไปโบยบิน ก็จะเป๋ หลงทางง่าย เพราะไม่เคยหัด ไม่เคยฝึกทักษะชีวิตมาก่อน

 

แล้วภาพที่คิดว่าควรจะเป็น เช่น ควรจะมีการจัดเวลาให้พ่อแม่ดูแลลูก ถ้าสมมติว่าบางคนต้องใช้แรงงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อหาเงินที่จะเอาตัวรอดและเลี้ยงลูก ต้องทำยังไงให้คนกลุ่มนี้มีเวลาเลี้ยงลูกจริงๆ

คือรัฐต้องช่วยเขาด้วย เด็กควรได้เติบโตไปพร้อมกับพ่อแม่ ได้เจอหน้าพ่อแม่ทุกวัน แล้วถ้าพ่อแม่ต้องใช้แรงงานต้องทำงานหนักทั้งคู่ จะทำยังไง จำเป็นไหมที่เด็กต้องถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่ต่างจังหวัด รัฐไม่ควรผลักภาระเหล่านี้ไปให้แต่ละครอบครัวต้องรับผิดชอบกันเอง มันไม่ไหว ถ้าบ้านไหนเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะทำยังไง

ถ้าคุณไปอ่านหนังสือที่เล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ด้วยสวัสดิการและการดูแลจากนโยบายของรัฐ ทำให้ชีวิตพวกเขาสบายกว่าเราเยอะ สถานรับเลี้ยงเด็กมีกิจกรรมสนุกๆ เหมาะกับพัฒนาการตามวัย มีอาหารที่มีประโยชน์เหมาะสำหรับเด็ก โรงเรียนในแต่ละชุมชนก็มีคุณภาพเท่าเทียมกัน

เรื่องนี้ซับซ้อนมากนะ ของบ้านเราก็ต้องกลับมาดูเรื่องการลาคลอด ตอนนี้ลาได้ 3 เดือนเอง พอลูกเริ่มจะอ้อแอ้ จะยิ้มกับเราได้ก็ต้องกลับไปทำงานแล้ว ถ้าจะลาหยุดเพิ่มก็เสี่ยงกับความมั่นคงทางอาชีพของตัวเอง ถ้าเพิ่มระยะเวลาเป็น 6 เดือนหรือดีที่สุดคือ 1 ปีจะได้ไหม ช่วงแรกคลอดให้คุณพ่อลามาช่วยคุณแม่ด้วยได้ไหม เราปรับลดชั่วโมงการทำงานได้ไหม จัดสถานรับเลี้ยงเด็ก ช่วยเลี้ยงลูกที่ออฟฟิศ หรือตามโรงงาน หรือพื้นที่ก่อสร้าง จัดบุคลากรที่ดีมีคุณภาพและเข้าใจพัฒนาการเด็กได้ไหม

สำหรับเด็กโตที่เข้าเรียนแล้ว ก็ควรมีห้องสมุดเด็กของชุมชนด้วย เลิกเรียนแล้วมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา มีหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ไปจนถึงวรรณกรรมเยาวชน มีสนามเด็กเล่น ห้องน้ำสำหรับเด็ก บรรณารักษ์ดูแลทั่วถึง เราว่าควรจะต้องมีแบบนี้ในทุกพื้นที่และขยายวันเวลาเปิดทำการ ไม่มีวันหยุด

 

ขยับมาในระดับของแม่สอนลูก ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและหลากหลายแบบนี้ เราจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เข้าใจความหลากหลาย มองว่าคนเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าเขาจะแตกต่างจากเรา

เราคงสอนเขาไม่ได้มากนะ ต้องเริ่มจากพ่อแม่ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เรื่องการเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไปไหนก็ตาม เจอผู้คนมากมาย ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไร ตำแหน่งไหน เราแสดงความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน พูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้น ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเท่าเทียมกัน

เวลาเราไปไหน เราเคารพกฎของสถานที่นั้นหรือยัง เช่น เราพาลูกไปเล่น play group มีป้ายผู้ปกครองห้ามเข้า ห้ามถ่ายรูป เราก็ยังเห็นผู้ปกครองบางคนเข้าไป ก็ยังฝ่าฝืนกฎตรงนั้นอยู่ หรือพ่อแม่ที่ถ่ายรูปลูกตลอดเวลาไม่ว่าลูกจะทำอะไร ซึ่งเราลืมคิดไปว่าก็รบกวนลูกคนอื่นเขาเหมือนกัน เขาก็กำลังจะเรียนรู้ อันนี้แหละ เลเวลแรกเลย ต้องเคารพสังคมก่อน ต่อคิวเข้าแถวให้เขาเห็น

แล้วถ้ามากขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือการให้เขาได้ออกไปทำงาน เป็นอาสาสมัคร สิ่งเหล่านี้ควรจะต้องมีในโรงเรียนด้วยซ้ำ อย่างที่ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ช่วงมัธยมเขาก็มีการฝึกงาน ไปทำงานตามร้านขายของแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้คุณเข้าใจว่าคุณไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวตลอดเวลานะ มีเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ถ้าเราเพิ่มสิ่งเหล่านี้ในระบบการศึกษาได้ก็จะดี

ก่อนที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโต เรียนจบ ก่อนเข้าสู่วัยทำงาน พวกเขาควรได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตให้เยอะ ไปทำประโยชน์ ไปเป็นจิตอาสา อย่าจำกัดพื้นที่ให้ลูกอยู่แต่ในบ้าน โรงเรียน หรือกับเพื่อนฝูงในสังคมของตัวเองจนเคยชิน พอเขาเข้าสู่วัยทำงานแล้วเขาจะทำประโยชน์ให้สังคมและบ้านเมืองได้เยอะมาก แบบไม่เห็นแก่ตัว แก่พวกพ้องตัวเอง

 

 

ในตลาดหนังสือเลี้ยงลูกในหลายๆ ประเทศเท่าที่ทำมา เนื้อหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันไหม มีวิธีการหรือหลักยึดคล้ายๆ กันไหม

ณ ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของการเคารพในความเป็นมนุษย์ของเด็ก และทำให้เด็กมีความสุข แต่ว่าจะลงลึกมากน้อยแค่ไหน แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ถามเพื่อนๆ ที่เป็นชาวยุโรป เขาบอกว่าไม่ค่อยอ่านหรอกหนังสือเลี้ยงลูก อ่านทำไม แต่เขาก็เป็นประเทศที่เคารพกันและกัน มีพื้นที่ในการเล่น ที่รัฐบาลเขาจัดการมาดี หรือในบางประเทศก็อาจมีความคิดว่า ความสำเร็จของเด็กเกิดจากการเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ ทำงานรายได้สูงๆ ก็มาพร้อมต้นทุนที่พ่อแม่พยายามขวนขวายว่าทำยังไงให้ลูกฉันเป็นที่หนึ่ง อันนี้ก็จะต่างกัน

อย่างในอเมริกา หนังสือแนวนี้มาแรง เช่น เลี้ยงลูกในยุโรปเป็นยังไง เพราะอเมริกาก็จะมีค่านิยมเรื่องแข่งขันกันเรียนที่ดีๆ พอเขาไปเจอแบบยุโรป ชิลล์ๆ ลูกมีอิสระ ลูกตัดสินใจทุกอย่างเอง ก็เลยช็อคว่าแบบนี้ก็มี เหมือนที่เราช็อคนั่นแหละ (หัวเราะ)

 

ต่อไปวางว่าจะขยับประเด็นของหนังสือไปในทิศทางไหนบ้าง มีเล่มไหนที่ออกใหม่บ้าง

หนังสือ 30 ปกของ SandClock Books ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นแนว Parenting หนังสือสำหรับพ่อแม่ คือตามจังหวะชีวิตตัวเองเลย เราสนใจอ่านหนังสือเรื่องไหนอยู่ ก็พิมพ์เรื่องนั้น ตั้งแต่หนังสือพื้นฐานพวกคู่มือตั้งครรภ์-คลอด คู่มือเลี้ยงลูกวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ ฝีกนอนยาว ฝึกกินเองแบบ BLW (Baby-Led Weaning) ฮาวทูจิตวิทยาเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่ แนวมอนเตสซอรี การเลี้ยงลูกแบบฝรั่งเศส ดัตช์ แบบเยอรมัน คือเราเลี้ยงลูกแบบไม่มีพี่เลี้ยง ทุกแนวที่ทำมา อ่านแล้วก็ช่วยตอบโจทย์ชีวิตเราได้หมด

มาปีนี้ลูกๆ เริ่มโต คนเล็กใกล้จะ 2 ขวบแล้ว เริ่มจะอิ่มกับการอ่านหนังสือแนวเลี้ยงลูกละ เลยอยากลองแนวอื่นดู จะเป็นเพื่อตัวเด็กๆ บ้าง ปีหน้าก็จะเริ่มมีนิทานแปลจากญี่ปุ่นเล่มแรกวางตลาด

แล้วก็หนังสืออีกแนวที่อยากทำมานานแล้ว เพิ่งจะได้เริ่มก็ปีนี้ เป็นแนวไลฟ์สไตล์ จิตวิทยาพัฒนาตนเอง แบบเข้าใจง่ายๆ รูปประกอบจัดเต็ม เล่มแรกที่วางตลาดไปแล้วคือ วิชาครัวตัวเบาสไตล์แม่บ้านญี่ปุ่น แนว Kitchen Management พูดถึงการวางแผนซื้อกับข้าว จัดตู้เย็น จัดห้องครัว ทำยังไงให้ประหยัดเวลาทำกับข้าว เหลือเวลาให้ไปจิบกาแฟทำอะไรที่อยากทำได้บ้าง

ส่วนอีกเล่ม ชื่อ คูลสตรี จัดการชีวิตให้ง่ายขึ้นสไตล์สาวญี่ปุ่น ในเล่มเขาแนะนำเทคนิคให้ผู้หญิงเยอะแยะ ตั้งแต่การจัดบ้าน จัดห้อง จัดโต๊ะทำงาน แพลนเนอร์ เงินเก็บ กระเป๋าตังค์ กระเป๋าถือ เล่มนี้เราว่าอ่านได้ตั้งแต่สาวๆ วัยรุ่นยันคุณแม่รุ่น 40 เลย

ที่เหลือก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปนะ เราไม่ได้วางแผนไว้ไกลมาก เล่มไหนดีอ่านสนุก ก็จะไปจัดมา

 

ถามกลับมาที่ตัวคุณเอง คาดหวังให้ลูกเติบโตไปเป็นแบบไหน หรืออยากให้เขาเป็นอะไร

ไม่มี แค่อยากให้เขาเจอสิ่งที่เขาชอบ เพราะเราเจอแล้วไง แล้วเราก็ได้ทำสิ่งที่เราพร้อมจะตื่นตี 3-4 ขึ้นมาเพื่อมัน เราอยากให้เขาได้เจอแพสชันของเขา แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน

พ่อแม่ควรเปิดโอกาสและพื้นที่การเรียนรู้ให้เขา เช่น เด็กผู้ชายชอบทำกับข้าวมากแล้วเราไปบอกว่า ผู้ชายไม่ทำอะไรแบบนี้นะ ไม่ทำกับข้าว ไม่ตัดเย็บเสื้อผ้า แล้วคิดดูสิ เวลาคนอินอะไรสักอย่างแล้วจู่ๆ คนมาบอกว่าเลิกๆ อย่าทำ มันเฮิร์ตอะ แล้วบางทีคนที่เฮิร์ตเราคือคนที่เรารัก มันย้อนแย้งกันมาก กับการที่เขาอยากจะอธิบาย อยากจะสื่อความต้องการให้คนที่เขารักมากที่สุดฟัง แต่เรากลับไม่สามารถยิ้มหรือชื่นชมกับเขาได้ คำชื่นชมที่ว่า โอเค ทำได้ดีมากแล้ว นั่นคือสิ่งที่ลูกๆ อยากฟัง แล้วก็จะทำให้เขาพุ่งเป็นจรวดเลย ยิ่งอยากเรียนรู้มากขึ้นๆ

 

สุดท้ายแล้วการเลี้ยงลูกสำหรับคุณคืออะไร

คือการได้สะท้อนทุกอย่างที่เป็นตัวเรา เพราะเราเห็นนิสัยและพฤติกรรมบางอย่างของเราในตัวลูกแต่ละคน ได้กลับมาทบทวนความหมายของชีวิต ตั้งแต่มีลูกคือได้นึกย้อนกลับไปหาตัวเราเองในอดีตบ่อยมาก กลับไปตั้งคำถาม พยายามนึกว่าความรู้สึกตอนเป็นเด็กเราอยากทำอะไร เราเป็นยังไง เราอยากให้พ่อแม่ปฏิบัติกับเราแบบไหน

ส่วนตอนนี้พอลูกเริ่มเข้าโรงเรียนแล้วก็เหมือนได้รีเซ็ตความรู้ทั้งหมดของตัวเองใหม่อีกครั้ง ได้กลับไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ สนุกดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save