ฝ่ามรสุมตีตราเด็ก กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ฝ่ามรสุมตีตราเด็ก กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อทิศทางการเกิดของเด็กแรกเกิดอยู่ในอัตราน้อยกว่าผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนคงพยายามโฟกัสไปที่การแสวงหา ‘โนว์ฮาว’ ในการดูแลผู้สูงวัย แต่ทิศทางแบบนี้ไม่ได้เป็นคำตอบว่าเด็กเล็กที่เป็นชนกลุ่มน้อยจะไม่ได้รับการโอบอุ้มดูแล

เปล่าเลย, ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนพยายามฟูมฟักทะนุถนอมในอัตราที่ ‘แพง’ มหาศาล เพื่อให้ลูกได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด ตั้งแต่แรกเกิดไปจนวันตั้งไข่ กระทั่งเข้าเรียน ฯลฯ

แต่คำถามคือ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ คืออะไร ถ้าแววตาใสๆ ของเด็กไม่ได้ตอบสนองไปกับความแพงเหล่านั้น ยังไม่นับว่าสิ่งที่ดีที่สุด ไม่สามารถเอื้อให้เด็กทุกคนเข้าถึงได้ และกลับไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคนเสมอไป กระทั่งสิ่งเหล่านั้นกลับเจือปนไปด้วยความเครียดและความกังวลของพ่อๆ แม่ๆ แล้วยังจะเรียกว่าดีที่สุดได้อยู่หรือไม่

ท่ามกลางสารพัด ‘ความอยาก’ ในการได้สิ่งที่ดีมา เพราะเราต่างคิดว่าใช่สำหรับเด็ก

101 สนทนากับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และผู้เขียนงานเกี่ยวกับเด็กมานับร้อยนับพันเรื่อง รวมถึงบทความเรื่อง เปิดโลก ‘จิตวิทยาเด็ก’ ถึงความอยาก ‘5 อยาก’ ในบรรดาหลายๆ อยาก ที่เราอาจหวังผิดๆ เกี่ยวกับ ‘เด็กเล็ก’

ไม่แน่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่เรื่องความแพง ไม่ใช่เรื่องของลูกของใคร กระทั่งไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อีกต่อไปแล้ว

 

– 1 –

อยากพาลูกเข้าเตรียมอนุบาล

 

“…อยู่โรงเรียนทั้งวัน เรียนพิเศษต่อ มีการบ้านให้มาทำต่อ นี่คือสภาพอนุบาลบ้านเรา ทารุณกรรมกันมาก เป็น national child abuse อย่างถูกกฎหมาย”

 

ในบรรดานับพันนับหมื่นคำถามที่มีคนเขียนไปปรึกษาหมอประเสริฐ อะไรคือสิ่งที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองกังวลหรือเข้าใจผิดมากที่สุด

คำถามที่พบบ่อยที่สุดเฉพาะเรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้ คือเรื่องว่าพ่อแม่จำเป็นต้องพาลูกไปเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาลตั้งแต่ 2 ขวบกว่า และน่าจะร้อยละ 80 ในบรรดาพ่อแม่จำนวนมากที่เขียนเข้ามานั้น เขาก็รู้และกังวลว่าลูกต้องจากบ้าน จากพ่อแม่ ทั้งที่ยังเล็กเกินไป เร็วเกินไป

เด็กอายุ 3 ขวบยังไม่ควรเข้าสู่ระบบการศึกษาเต็มรูปแบบ แต่ทุกคนจำเป็นต้องทำด้วยสาเหตุใหญ่ๆ คือ 1.ตนเองต้องไปทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูกเอง 2.คุณภาพปู่ย่าตายายไม่ดีพอ 3.คุณภาพพี่เลี้ยงไม่ดีพอ และ 4.กังวลที่ลูกคนอื่นอ่านออกเขียนได้ บวกเลขได้แล้ว

แรงกดดันทั้ง 4 ข้อ ทำให้เกือบทุกบ้านจำเป็นต้องส่งลูกไปเรียนเตรียมอนุบาลตั้งแต่ก่อน 3 ขวบ และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1.ความเครียดจากระบบสอบคัดเลือกเข้าเตรียมอนุบาล หรืออาจไม่ถึงกับสอบ แต่มีการคัดเลือก คัดสรร คัดตัว 2.เด็กถดถอยในด้านทักษะชีวิต จากที่เคยทำอะไรได้ เช่น กินเอง อาบน้ำเอง เริ่มกลั้นฉี่-อึได้ กลายเป็นไม่กิน ไม่อาบ ฉี่-อึราด นั่งซึม ดื้อมากกว่าเดิม ตีพ่อตีแม่ ไปจนถึงขั้นพูดคำหยาบ 3.เด็กที่อ่านเขียนเรียนเลขได้ช้า ตั้งแต่เตรียมอนุบาลถึงอนุบาล 1-3 ได้รับการเชิญหรือบังคับให้เรียนพิเศษต่อ ส่งผลให้เวลาอยู่กับพ่อแม่หรือเวลาเล่นน้อยลงไปอีก แล้วข้อสุดท้ายคือ พ่อแม่ไม่มั่นคงพอที่จะไม่เปรียบเทียบว่าลูกของตนเองช้ากว่าหรือเร็วกว่า

ด้านโรงเรียนเองก็คาดหวังสูง แม่ก็เครียดเขียนมาถาม เช่น มีคำถามหนึ่งไม่นานมานี้ว่า ลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่ 1 ขวบ 9 เดือน ตอนนี้ไม่สามารถทำตามคำสั่งหรือเข้าร่วมกับกลุ่มได้ อายุ 2 ขวบ 2 เดือน ครูให้ไปโรงพยาบาล

อีกคำถามหนึ่งคือลูกอายุ 5 ขวบ เขียนตามเส้นประได้ แต่เขียนบนกระดาษเปล่าเองไม่ได้ ครูกดดันแม่ทุกวันที่ไปรับและว่าจะให้เด็กซ้ำชั้นอนุบาล 2 เพราะเด็กคนอื่นๆ ทำได้แล้ว คำถาม 2 ข้อนี้นำไปสู่สภาพการณ์ที่น่าเป็นห่วงอีก 2 ข้อ คือ ข้อแรก เอะอะก็จะให้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้ไปตรวจว่าเป็นสมาธิสั้นหรือไม่ เท่ากับเราตีตราเด็กเร็วมาก และไปเพิ่มภาระให้แก่จิตแพทย์เด็กเร็วมาก

การตีตราเด็กเป็นเรื่องใหญ่ อย่ามาพูดว่าการไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ มันไม่ปกติ และอย่าไปฟังว่าการไปพบจิตแพทย์ มีแต่เรื่องดี มันไม่ดี ที่ไม่ดีมากๆ คือประวัติถูกบันทึกและอยู่บนฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการระบุประวัติความเจ็บป่วยหรือจิตเวชในบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ลูกเรายังเล็ก รวมทั้งนักศึกษาที่แห่กันมารักษาโรคซึมเศร้า ประวัติที่ถูกบันทึกร่วมกับประวัติการศึกษานี้จะส่งผลอะไรในอนาคต หากระบบรักษาความลับผู้ป่วยจิตเวชอ่อนแอ

จิตแพทย์เด็กที่ทำงานตามมาตรฐาน มักจะไม่ได้ให้ยาในทันที แต่ให้ดูอาการและมีข้อแนะนำ ข้อแนะนำเหล่านี้ใช้เวลาเป็นเดือนๆ กว่าจะส่งผล แต่ครูหรือโรงเรียนรอไม่ได้ ก็ให้เด็กออกจากโรงเรียนก็มี ให้ซ้ำชั้นก็มี พ่อแม่ทนความกดดันจนกระทั่งอยู่ไม่ได้ก็มี สีหน้าท่าทางของทุกคนอยู่ในสายตาเด็กๆ จนเขาอาจรู้สึกว่า “หนูคือต้นเหตุ” แผลในใจที่ไม่ควรจะมีเลยตั้งแต่แรก ถ้าเขาเอาแต่เล่นอยู่บ้าน ไม่ไปโรงเรียน ก็เกิดมีแผลขึ้นจนได้

ส่วนข้อสอง เรื่องการเปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านเขียนเรียนเลขของเด็ก แล้วกดดันให้ทำให้ได้ก่อน 7 ขวบ ขึ้นชื่อว่าเรากดดัน เราทำสำเร็จทุกรายอยู่แล้ว แต่ด้วยรอยแผลต่างๆ กัน แท้ที่จริงแล้วเด็กทุกคนจะอ่านเขียนเรียนเลขได้ด้วยตนเองก่อน 7 ขวบ หากเขามีความสุขมากพอ และพ่อแม่ พี่เลี้ยง เนอสเซอรี่ หรือปู่ย่าตายายรู้งาน คือเอาแต่เล่น ไม่ต้องเรียน เด็กจะพัฒนาระบบสัญลักษณ์ได้เองจากการเล่น ระบบสัญลักษณ์นั้นจะทำให้เด็กแกะอักขระบนป้ายตามถนน จับดินสอสีเขียน ก ไก่ สักวันหนึ่ง และบวกเลขได้เองโดยไม่ต้องมีใครสอน ทั้งหมดนี้คือก่อน 7 ขวบ

โรงเรียนที่รู้งาน ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงไม่ทำอะไรมากมายก่อน 7 ขวบ นอกจากเล่น แน่นอน, โรงเรียนที่ชาญฉลาด ประเทศที่เข้าใจก็จัดระบบการเล่นและการเรียนรู้เข้าหากันอย่างกลมกลืน เด็กก็พัฒนาได้เร็วขึ้นด้วยความสนุกสนาน และส่วนใหญ่ก็อยู่โรงเรียนเพียงครึ่งวันและไม่มีการบ้านจริงจัง ต่างจากบ้านเราที่อยู่โรงเรียนทั้งวัน เรียนพิเศษต่อ มีการบ้านให้มาทำต่อ นี่คือสภาพอนุบาลบ้านเรา ทารุณกรรมกันมาก เป็น national child abuse อย่างถูกกฎหมาย

 

– 2 –

อยากให้มีการสอบ

 

“โรงเรียนอนุบาลและประถมควรมีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วประเทศและใกล้บ้าน เราจะไม่มีวันทำได้ถ้าปล่อยให้ส่วนกลางทำ แต่เราจะทำได้แน่นอนเมื่อปล่อยอำนาจการจัดการและเงินให้ส่วนท้องถิ่นทำ”

 

ประเด็นการสอบเข้า ป.1 ดูจะเป็นข้อถกเถียงที่ยังค้างคาสำหรับผู้คนในแวดการศึกษา แต่เมื่อชวนหมอประเสริฐขบคิดว่าอะไรคือปัญหา และอะไรคือทางออก ดูเหมือนคำอธิบายของเขาจะไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียน กระทั่งไปไกลถึงระบบราชการทั้งประเทศ

ถ้าเริ่มต้นว่าการสอบ ป.1 จำเป็นหรือไม่ ต้องไม่ให้สอบและควรพัฒนาทุกโรงเรียนในประเทศไทยให้มีคุณภาพเท่ากัน นี่คือการพูดเอาแต่ได้นั้นก็ใช่ แต่ถึงเวลาควรคิดได้แล้วว่าเราทำได้และลงมือทำ เราติดกับดักวาทกรรมอยู่ 2-3 ประโยคคลาสสิกมาครึ่งศตวรรษแล้วกระมัง ข้อแรกคือ “เราทำไม่ได้หรอก” ลองถ้าผู้บริหารระดับสูงพูดเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ต้องทำงานทำการกันพอดี

อย่ามาพูดว่าทำไม่ได้ เรื่องจริงคือเราไม่ยอมทำ ด้วยสาเหตุทั้งที่พูดได้และพูดไม่ได้ ที่พูดได้คือมีหลายระบบได้ประโยชน์จากระบบสอบเข้า ป.1 และจากสภาพที่โรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน หลายคนยินดีปล่อยให้ประเทศมีสภาพที่มีโรงเรียนคุณภาพสูงอยู่ 10 โรงเรียน แต่ปล่อยให้โรงเรียนที่เหลืออยู่ในสภาพพอดูได้ ส่วนบ้านนอกนั้นดูไม่ได้เลย แม้แต่อาหารกลางวันก็เป็นเรื่องได้เรื่อยๆ

ตั้งแต่ผมเป็นวัยรุ่นมาจนถึงเกษียณอายุราชการ ปัญหาอาหารกลางวันก็ยังมีอยู่ เราบริหารประเทศแบบนี้ได้อย่างไรกัน คือเชื่อว่าเราทำไม่ได้หรอก

วาทกรรมที่สองคือ “เราไม่มีเงิน” ซึ่งไม่จริง เรามีเงินและมีมากพอที่จะให้เราทำงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้ดีได้ คำถามคือเงินอยู่ไหนเสียมากกว่า หรือเราปล่อยให้ผู้บริหารระดับสูงใช้เงินภาษาอะไร ถึงพูดว่าไม่มีเงินได้ทุกปีๆ มาครึ่งศตวรรษ

ดูจำนวนครู จำนวนแพทย์ จำนวนด๊อกเตอร์ จำนวนผู้บริหารระดับสูง แต่ละคนกินเงินเดือนและค่าตอบแทนพิเศษเท่าไหร่รุ่นต่อรุ่น แต่พูดว่าไม่มีเงินส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ถึงเวลาที่เราไม่ควรเชื่อประโยคนี้แล้ว

เรามีเงินและมีมากพอที่จะลองผิดลองถูกกับระบอบประชาธิปไตยด้วย นั่นคือเรามีเงินมากพอจะเลือกตั้งและเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าท้องถิ่นจะเติบโตและทำงานเป็น

สิ่งนี้นำมาสู่วาทกรรมที่สามคือ “อบต. ทำเป็นแค่สร้างถนนและตึก” คำปรามาสนี้จริง “เราบ้านนอกทำงานไม่เป็น” แต่เพราะนี่คือการเริ่มต้นของพัฒนาการ หลายสิบปีที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เริ่มเลย ทุกอย่างผ่านผู้ว่าฯ และส่วนกลาง แต่เรื่องไม่สำคัญจึงให้ส่วนท้องถิ่นทำ

จะว่าไปการจัดการตนเองของส่วนท้องถิ่นยังเป็นระดับทารกอยู่เลย แต่ทารกพัฒนาได้ ส่วนท้องถิ่นก็พัฒนาได้ และเมื่อส่วนท้องถิ่นพัฒนาได้ เรื่องจึงจะวนไปที่คำพูดที่ว่า “เราทำไม่ได้” ในตอนต้น คือเราไม่สามารถพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพเท่ากันได้ แต่ที่จริงแล้วเราทำได้ถ้าต้องการ โรงเรียนอนุบาลและประถมควรมีคุณภาพทัดเทียมกันทั่วประเทศและใกล้บ้าน เราจะไม่มีวันทำได้ถ้าปล่อยให้ส่วนกลางทำ แต่เราจะทำได้แน่นอนเมื่อปล่อยอำนาจการจัดการและเงินให้ส่วนท้องถิ่นทำ

ลำพังทรัพยากรธรรมชาติรอบโรงเรียนทุกโรงเรียนในชนบท ก็กินขาดโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนทางเลือกชั้นดีแล้ว วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนคือเราเปลี่ยนโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศให้เป็นโรงเรียนทางเลือกชั้นดีได้ จะใช้ศัพท์ว่าโรงเรียนเตรียมความพร้อมหรือโรงเรียนบูรณาการก็แล้วแต่

พูดชัดๆ คือ ขออนุญาตเอ่ยนาม เราทำทุกโรงเรียนอนุบาลในทุกตำบลหรือหมู่บ้านให้ดีเท่า ‘เพลินพัฒนา’ หรือ ‘รุ่งอรุณ’ ได้ นี่เป็นการเอ่ยนามที่ให้เกียรติ เราอยากได้แบบนั้นใกล้บ้านแต่ฟรี อย่าลืมนะครับว่า 2 โรงเรียนนั้นพาเด็กออกมาทำนาทุกปีด้วยงบประมาณที่ไม่น้อย

ขอโทษนะ ทั้งทุ่งนา ควาย และขี้โคลน เราบ้านนอกมีรอบตัว แล้วก็มีคำถามว่าทำไมต้องทำนา เด็กภาคใต้ไปดูแลชายหาด เด็กภาคเหนือไปดูแลป่าไม้ เด็กอีสานไปดูแลแม่น้ำโขง เด็กตะเข็บชายแดนตะวันตกทำเป็นโรงเรียนอนุบาลนานาชาติได้เลย ความหมายของโรงเรียนอนุบาลชั้นดีในศตวรรษที่ 21 คุณภาพไม่อยู่บนฐานของการอ่านออกเขียนได้อีกต่อไปแล้ว แต่อยู่บนฐานการเรียนรู้ประเด็นสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเป็นพลเมือง ทักษะชีวิต ไอที ตัวชี้วัดของโรงเรียนที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ต้องการการเร่งเรียนวิชาการ เราต้องการโรงเรียนเตรียมความพร้อมชั้นหนึ่งในทุกท้องที่

ยังมีอีกวาทกรรมหนึ่งที่น่ารำคาญมาก ที่บอกว่า “ฟินแลนด์ทำได้เพราะประชากรน้อย ของเรา 60 ล้านคนทำไม่ได้หรอก” ประโยคนี้ไร้สาระตั้งแต่แรก อังกฤษอาจจะไม่เลิศ แต่การศึกษาปฐมวัยเขาดีกว่าเรามาก ญี่ปุ่นอาจจะไม่เลิศ แต่ก็ดีกว่าเรามาก อันนี้ว่ากันเรื่องจำนวนประชากรและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสองประเทศนี้ไม่ดีกว่าเราเลย เราดีกว่ามาก ฟินแลนด์และสแกนดิเนเวียก็เช่นกัน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เขาคนน้อย ประเด็นอยู่ที่อำนาจการจัดการศึกษาไม่ได้เป็นของส่วนกลาง แต่เป็นของส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางคุณมีหน้าที่อยู่แต่ไม่มาก

เราไม่เคยได้ผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษาที่ได้เรื่องเลย ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่ขวางเราและอาจน่ากลัวกว่าที่เราคิด คือเรื่องที่ว่าข้าราชการทุกคนพอใจกับระบบราชการที่เป็นอยู่ อันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ในกระทรวงศึกษาธิการ แต่กินความทุกกระทรวง

เราเป็นระบบราชการที่ใหญ่โตมโหฬารและเลี้ยงคนไม่ทำงานหรือคนไร้ความสามารถไว้เยอะมาก ถ้าเราขยายอายุราชการต่อ เราจะได้กองทัพคนที่ไม่มีความคิดอ่านสมัยใหม่อีกจำนวนมหาศาล พวกเราไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะพวกเราสบายดีมาก เราทำงาน เราเบิกค่ารักษาได้ เรามีเงินบำเหน็จบำนาญ มี กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) แต่ไม่ต้องทำงานมาก พอเอาตัวชี้วัดรอด ซึ่งก็ประเมินไปอย่างนั้นเอง ใครไม่มีผลลัพธ์ไม่เคยเป็นอะไร ไม่มีใครต้องรับผิดรับชอบกับอะไรอย่างจริงจัง เราผิดเราให้อภัยกันมาเรื่อยๆ ระบบที่ดีขนาดนี้ มีค่าตอบแทนสูงเท่านี้ ไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในระดับจิตใต้สำนึก

ที่เราควรทำคือควรรู้ตัวแล้วลาออก เปิดเก้าอี้ให้คนรุ่นใหม่ที่ความคิดอ่านดีกว่าเข้ามา โดยเฉพาะพวกคนสูงอายุอย่างพวกเรายิ่งควรออก เราเกะกะคนรุ่นใหม่นานไปแล้ว

 

– 3 –

อยากเข้าโรงเรียนเด่นและดัง

 

“อย่าสู้บนสนามที่เราแพ้ คือสนามการศึกษาที่เป็นอยู่ รีบสร้างสนามให้ลูกใหม่ สนามที่เขาชอบ มี passion และถนัด แล้วอัดฉีดเขาที่สนามนั้น การกระทำแบบนี้ยากในศตวรรษที่แล้ว แต่วันนี้ไม่ยากแล้ว”

 

ภาพพ่อแม่ต่อคิวสมัครเรียนตามโรงเรียนที่มีชื่อเสียงดูเป็นภาพชินตา พ่อแม่ที่มีเงินสามารถส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเด่นและดังได้ ด้วยความเชื่อว่าโรงเรียนที่จ่ายแพงสามารถเอื้อสภาพแวดล้อมที่ดีให้ลูกได้ แปลว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่สามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดีได้ คำถามคือกระดุมเม็ดแรกของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ในช่วงปฐมวัยจะยุติได้อย่างไร

ความเหลื่อมล้ำแก้ได้รวดเร็วเมื่อเรายกเลิกตัวชี้วัดและหลักสูตรแกนกลาง ที่ผ่านมาเราให้คุณค่าและมีค่านิยมแก่ตัวชี้วัดประเภทเก่งและดี แล้วเรานิยามความเก่งว่าหมายถึงคะแนนสอบ สอบอะไร สอบอ่านเขียนเรียนเลข เมื่อโตขึ้นก็สอบวิชาความรู้ ระบบที่รองรับคือ เรียน ท่อง ติว และสอบ แล้วต้องสอบด้วยการตอบให้ตรงคำเฉลยอีกด้วย แม้แต่การสอบวิชาอ่านอย่างมีวิจารณญาณก็ต้องมีวิจารณญาณตามคำเฉลย จะวิจารณ์วรรณคดีไทยหรือประวัติศาสตร์ไทยเป็นอื่นไม่ได้ เป็นต้น

เรามีค่านิยมว่า 10 โรงเรียนท็อปนี้เป็นโรงเรียนที่ดี เป็นบันไดของอีลิท คือลูกหลานชนชั้นกลางระดับสูงไต่บันไดการศึกษาไปสู่คณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยระดับท็อป คุณค่าและค่านิยมเหล่านี้เรายกเลิกได้ พร้อมใจกันยกเลิกได้ เมื่อยกเลิก 10 โรงเรียนและ 5 มหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่มีความหมาย เราเปลี่ยนทิศไปให้ความสำคัญแก่อำนาจการจัดการและเงินแก่ส่วนท้องถิ่นและชุมชนรอบโรงเรียนหรือรอบมหาวิทยาลัยให้จัดการศึกษาเองด้วยคุณค่าใหม่ ค่านิยมใหม่ ตัวชี้วัดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้แบบใหม่

ที่เราควรให้คุณค่าคือโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้านแบบเตรียมความพร้อม โรงเรียนประถมและมัธยมใกล้บ้านที่มีความสามารถทำให้เด็กคิดเป็น ทำงานเป็น และรักท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยให้นิสิตนักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าทดลอง กล้าลงมือ กล้าประเมิน แล้วไปให้ไกลกว่าระบบการศึกษา พูดง่ายๆ ว่าออกไปจากกะลา

ถ้าเราคิดเรื่องพัฒนาโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัยด้วยตัวชี้วัดเดิมๆ เราไม่ได้ไปไหน แต่อยู่ในกะลา อย่างมากก็เปลี่ยนวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยบนบิลบอร์ดข้างถนนให้สวยๆ ทุกปี แต่เราไม่มีทางพัฒนาได้ด้วยพัฒนาการที่ยังคงไหลจากบนลงล่าง จากส่วนกลางสู่ชนบท แม้แต่อาจารย์ก็ต้องอิมพอร์ตจาก กทม. มาเล็คเชอร์ การพัฒนาไม่เคยมีจุดออริจินที่เราเองเลย คือที่ชนบท คือโรงเรียนอนุบาลหลังเขา โรงเรียนประถมบ้านๆ โรงเรียนมัธยมที่เด็กติดยาและตั้งครรภ์ครึ่งโรงเรียน และมหาวิทยาลัยบ้านนอกที่เด็กมั่วสุมตามหอพัก ซีรอกซ์ข้อสอบปรนัยติวกัน

ไม่อยากบอกเลยว่าเรามีแต่เละกับเละมาตลอด เพราะไม่เคยได้เป็นตัวของตัวเอง เราเหลื่อมล้ำแน่และจะเหลื่อมล้ำตลอดไป ถ้าเราวิ่งบนลู่วิ่งที่เราแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง แต่ถ้าเราสร้างสนามใหม่แล้ววิ่งเอง เรื่องจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนหนังเรื่อง Field of Dreams ของเควิน คอสต์เนอร์ สมัยหนุ่มๆ “Build it, they will come” ผมพูดกับพ่อแม่เด็กพิเศษเสมอๆ อย่าสู้บนสนามที่เราแพ้ คือสนามการศึกษาที่เป็นอยู่ รีบสร้างสนามให้ลูกใหม่ สนามที่เขาชอบ มี passion และถนัด สนามที่เขาเก่ง แล้วอัดฉีดเขาที่สนามนั้น การกระทำแบบนี้ยากในศตวรรษที่แล้ว แต่วันนี้ไม่ยากแล้ว เพราะโลกนอกกะลาใหญ่มากและเปิดให้เราเข้าไปยืนได้ ถ้าเรามีความสามารถ

โรงเรียนอนุบาลในชนบท โรงเรียนประถม มัธยมบ้านนอก มหาวิทยาลัยโนเนม เราอยู่ในสภาพเดียวกันกับเด็กพิเศษ นั่นคือเราพิเศษ เราไม่เหมือนใคร และไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เราพัฒนาตนเองด้วยหนทางพิเศษ เรา develop differently เติบโตอย่างแตกต่างได้ เพราะโลกเปิดที่ให้เราแล้ว

พูดถึงตรงนี้ก็ต้องว่าอย่าห่วงมหาวิทยาลัยระดับท็อป เขามีพันธกิจพิเศษแน่นอนอยู่แล้ว อ๊อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ไม่ร่วงง่ายๆ คำว่าคุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับเรานิยาม หากนิยามที่เก่งและดีซึ่งแปลว่าอะไรไม่รู้ โรงเรียนอนุบาลอันดับหนึ่งก็จะเน้นเก่งและดี โรงเรียนมัธยมท็อปเท็นก็จะครองตำแหน่งตลอดกาล แต่ถ้าคุณค่าของการศึกษาเปลี่ยนไป เช่น ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพียงเท่านี้ทุกคนกลับมาที่จุดสตาร์ท และผมยืนยันว่าทรัพยกรธรรมชาติในชนบทและชุมชนในชนบทเรามีเยอะมาก

เราลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ที่จริงเราไม่ได้ลด เราเซ็ทซีโร่ต่างหาก อนุบาลเริ่มต้นใหม่ด้วยวิสัยทัศน์ ทิศทาง พันธกิจ วิธีการ และตัวชี้วัดใหม่หมด ย้ำอีกครั้งหนึ่ง หยุดพูดว่าเราทำไม่ได้และไม่มีเงิน ความจริงคือเราทำได้และเรามีเงิน โรงเรียนทางเลือกแพงๆ เอานักเรียนออกมาทำนาและเดินสัญจรในป่าได้ด้วยงบประมาณที่ไม่น้อย เราเองอยู่ในท้องนา ป่าเขา และชายหาดแท้ๆ ทำไมจะทำไม่ได้

หากจะเถียงอีกว่าครูบ้านนอกใช้ไม่ได้ คำตอบเป็นคำตอบเดิมคือเราให้คุณค่าและค่านิยมครูผิดที่ ครูสมัยใหม่ไม่ใช่ครูสอนเก่ง แต่เป็นครูที่พร้อมจะเรียนรู้ไปกับนักเรียนสู่ศตวรรษที่ 21 ครูสมัยใหม่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกสถานที่และเวลา เพื่อรับใช้ชีวิตในอนาคตของตนเอง วิทยาลัยครูทุกจังหวัดกำหนดคุณค่าและค่านิยมของมหาวิทยาลัยใหม่ได้นะครับ เราไม่วิ่งตาม เราวิ่งไปอีกทางได้ เราเก่งพอ

 

– 4 –

อยากให้ลูกเก่งไวๆ

 

“เด็กทุกคนปีนบันไดถึงชั้นสองเสมอถ้าเราไม่ห้าม บางคนปีนช้า บางคนปีนขึ้นแล้วปีนลงสลับกันไป บางคนห้อยโหนขึ้นตามราวไม่ยอมปีน ทุกคนมีวิธีพัฒนาตนเอง เร็วช้าต่างกัน ด้วยวิธีการพิเศษต่างๆ กัน แต่ไม่มีใครเป็นเด็กพิเศษ”

 

มีคนไม่น้อยชอบพูดว่าเด็กสมัยก่อน หรือคนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วในปัจจุบัน ไม่เห็นได้รับการดูแลประคบประหงมจากพ่อแม่มากเท่ากับเด็กปัจจุบัน แต่ก็ยังเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีประสบความสำเร็จได้ เทียบกับพ่อแม่ของเด็กรุ่นใหม่ที่ทุ่มเท กังวล กดดันกับการเลี้ยงลูกอย่างมาก

ประเด็นคือความเหมาะสมลงตัวของการดูแลเด็กปฐมวัย ระหว่างวิธีการในโลกเก่ากับวิธีการในโลกใหม่ควรอยู่ตรงไหน เส้นความพอดีในการเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างไร

โลกสมัยก่อนแตกต่างกันจริงๆ เอาเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ มี 2 เรื่อง เรื่องแรก สมัยก่อนโรงเรียนอนุบาลไม่มีเร่งเรียน และโลกไม่มีคำว่าเด็กสมาธิสั้น คนรุ่นผมโตมากับโลกที่เราวิ่งเล่นในโรงเรียนตามสบายนานพอสมควรถึง 6-7 ขวบ คนไหนไม่พร้อมเข้าห้องเรียนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ถูกกล่าวหาว่าโง่หรือสมาธิสั้น ไม่ต้องไปพบจิตแพทย์เด็ก จิตแพทย์เด็กในประเทศไทยยังไม่มี เด็กทุกคนเดิน วิ่ง และล้มลุกคลุกคลานบนลู่ของตนเองตามสบาย ครูรอได้ พ่อแม่รอได้ หมอไม่มี (หัวเราะ) เด็กพัฒนาตนเองด้วย self-esteem

ผมอธิบายด้วยโมเดลปีนบันได เด็กทุกคนปีนบันไดถึงชั้นสองเสมอถ้าเราไม่ห้าม บางคนปีนช้า บางคนปีนขึ้นแล้วปีนลงสลับกันไป บางคนห้อยโหนขึ้นตามราวไม่ยอมปีน ทุกคนมีวิธีพัฒนาตนเอง เร็วช้าต่างกัน ด้วยวิธีการพิเศษต่างๆ กัน แต่ไม่มีใครเป็นเด็กพิเศษ เราแค่คอยยืนชมเชยว่าปีนเก่งจัง บ้ายอถึงชั้นสองได้หมดทุกคน ส่วนจะถึงปี พ.ศ. อะไร เมื่ออายุเท่าไร ใครจำได้บ้าง ผ่านไปก็ไม่มีใครสนใจ เช่น ไม่มีใครรู้ว่าผมยอมเข้าห้องเรียนเมื่อไหร่ หรือผมพูดได้เมื่อไหร่ เราลืมหมดแล้ว แล้วทำไม ณ ช่วงเวลานั้นคือก่อน 7 ขวบ เราต้องรีบร้อนตีตราเด็ก แล้วทุบทำลาย self-esteem

self-esteem เป็นมากกว่าความเชื่อมั่น มันคือความรู้สึกที่บอกเราว่าเราตื่นเช้ามาทำอะไรได้บ้าง หนูเล่นเก่งหนูเล่นต่อไป แล้วคณิตศาสตร์ ภาษา ฟิสิกส์ สามอย่างนี้จะมาเอง ตื่นเช้ามาหนูโง่ สมาธิสั้น self-esteem ถูกทำลายตั้งแต่ก่อน 3 ขวบ เมื่อแข่งขันเข้าอนุบาลไม่ได้ และทุบซ้ำเมื่อสอบแข่งขันเข้า ป.1 ไม่ได้ เราทุบทำลายเด็กไทยทั่วประเทศตั้งแต่รุ่งอรุณของชีวิต แล้วจะเพลินพัฒนาได้อย่างไร แทนที่เราจะชื่นชมเด็กทุกคนบนหนทางของตัวเพราะการเรียนนั้นรอได้ เตรียมความพร้อมก่อน 7 ขวบไม่สาย

สมัยก่อนพ่อแม่เราต้องทำมาหากิน ไม่ว่างดูเรา เราก็ไม่มีอะไรทำ เล่นเดินทรายตี่จู๋เอี๊ย เป่าหยิงฉุบกันไปเรื่อยๆ พัฒนาการจึงเป็นปกติ เร็วบ้างช้าบ้าง แต่ปกติ แต่สมัยใหม่พลันที่พ่อแม่ไม่ว่าง พี่เลี้ยง 4 คนอาสาเลี้ยงลูกให้เราทันที คือทีวี มือถือ เกม และโรงเรียนอนุบาลเร่งเรียน นี่คือยุคสมัยที่แตกต่างจริง

มีข้อแตกต่างเล็กๆ อีกข้อที่ควรพูดถึงในขั้นตอนนี้ คือพ่อแม่วันนี้รวยตั้งแต่แรก หรืออย่างน้อยก็มีกินมีใช้ตั้งแต่แรก คนจนยังมีอีกเยอะมาก แต่สำหรับชนชั้นกลางถือว่าดีกว่า 40-50 ปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้นปู่ย่าตายายก็มีเงินหมดแล้ว เป็นความจริงที่ว่าเราสปอยล์ลูกหลานมาก เอาแค่เรื่องเดียว เด็กสมัยใหม่ไม่ทำงานบ้านเลย งานบ้านไม่ใช่เพื่อให้บ้านสะอาด แต่เพื่อสร้างสมองที่ดี ตรงนี้ก็สร้างปัญหา เป็นความแตกต่างใหญ่ๆ

เรื่องที่สองคือเราเข้าสู่ยุคไอทีแล้วจริงๆ บางตำราตัดที่ปี 2010 คือประมาณช่วงที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะกลายสภาพเป็นสมาร์ทโฟนบนมือมนุษย์ในระดับใช้การได้ และ friendly-used พอสมควรแล้ว เด็กที่เกิดในปีนี้ถูกเรียกว่าเจนอัลฟ่า พวกเขาลืมตาพบพ่อกำลังถ่ายรูปและอัพรูปขึ้นเฟซบุ๊กได้เลย ทั้งที่แม่ยังไม่ฟื้นจากยาสลบ พูดง่ายๆ ว่าเขาเกิดบนโลกที่มีไอทีสมัยใหม่รอบตัวอย่างหลีกเลี่ยงมิได้อีกต่อไป

คำถามคือสมองของเขาจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พัฒนาการเด็กต้องใส่ใจให้มาก ‘ฟรอยด์’ ‘เพียเจต์’ ‘อิริคสัน’ ไม่พอใช้งาน ‘ICD10’ ‘DSM4’ ก็ไม่พอ จิตวิทยาคลาสสิกและจิตวิทยาเชิงบวกก็ไม่พอ การแก้ไขพฤติกรรมเด็กๆ ด้วยวิธีเดิมเริ่มไม่ได้ผลแล้ว มีรายงานจากทั่วโลก การให้รางวัล เพิกเฉย ทำโทษ หรือจิตวิทยาเชิงบวก ล้วนอ่อนกำลังลง เด็กๆ กลายเป็น Stranger Things เขาโตเองได้ด้วยพลังที่มากมายกว่าสมัยก่อน เราจะดูแลเขาได้อย่างไร ทิศไหนที่เราต้องไป เราต้องการความรู้ใหม่ คำอธิบายใหม่ ที่ใช้อธิบายสมองของเด็กและพัฒนาการของจิตใจในสภาพแวดล้อมแบบพ่อแม่ปู่ย่าตายายเอาแต่ก้มหน้า

หนึ่งในคำอธิบายนั้นคือ EF หรือ Executive Function ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่งในคำอธิบายว่ากำลังเกิดอะไรกับพัฒนาการ และเราควรทำอะไรเพื่อรับมือ จะมีคำอธิบายอื่นตามมาอีก คำถามนี้มีถึงมหาวิทยาลัยไทยและโรงเรียนแพทย์ด้วย เราทำวิชาการเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ?

 

– 5 –

อยากให้มีกฎหมายดูแลเด็กๆ

 

“มีความจำเป็นที่ฝ่ายประชาชนที่ลูกหลานกำลังทนทุกข์ระทม และถูกการศึกษาทำร้าย ต้องพร้อมใจกันลุกขึ้นประท้วงและตะโกน เมื่อผู้บริหารระดับสูงทำอะไรไม่เข้าท่าและผิดทิศผิดทาง พูดง่ายๆ ว่าโรงเรียนที่ดีไม่มาเอง เราต้องสู้”

 

หลังจากที่ พ...การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หลายคน โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาปฐมวัย ต่างหวังว่าจะช่วยเสริมสร้างประคับประคองให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสม เพราะแนวทาง นโยบาย วิธีปฏิบัติ มีกฎหมายรองรับชัดเจน ไปจนถึงมีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. นี้กำกับดูแลนโยบายด้วย

คำถามคือกฎหมายดังกล่าวจะไม่ใช่แค่กระดาษบรรจุคำสวยหรูไว้ได้อย่างไร แล้วอะไรคือ Mindset ที่หมอประเสริฐพยายามมองทะลุเพื่อไปให้ถึงระบบการศึกษาที่พ่อแม่ทุกคนต่างปรารถนามอบให้ลูก

จะมาถามอะไรตอนนี้ คนฉีกรัฐธรรมนูญยังทำได้เลย แล้วยังจะมาถามเรื่องกฎหมาย ที่จริงกลุ่มคนที่ทำเรื่องกฎหมายฉบับนี้ล้วนเป็นคนที่ผมเคารพรักทั้งนั้นนะครับ หลายคนเสียสละเวลาส่วนตัวมากมาย ทั้งดึกดื่น เสาร์อาทิตย์ เวลาส่วนตัวและครอบครัวเพื่อร่างและผลักดัน แต่ผมก็ยังคงถามคำถามเดิมว่า คนฉีกรัฐธรรมนูญยังทำได้เลย

ยังมีตัวอย่างความอยุติธรรมอีกมากมายเหลือคณา พูดทุกเรื่องก็จะเป็นอีกบทสัมภาษณ์หนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย คำถามนี้ควรถามนักกฎหมายตัวจริงด้วย ผมเองไม่ได้ศรัทธากับกฎหมายฉบับนี้ในแง่ที่ว่า มันไม่น่าจะส่งผลอะไรกับบ้านเมืองเท่าไรนัก

เรามีกฎหมายมากมาย แต่อะไรๆ ยังเหมือนเดิม ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มีแค่ 2 เรื่อง คือกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรียกว่าคนจนเงยหน้าอ้าปากได้จริงๆ งบครัวเรือนลดฮวบ แผ่นดินเกือบกลียุค (หัวเราะ) แต่อย่างอื่นผมเกษียณแล้วไม่เห็นอะไรเปลี่ยนมากมาย กฎหมายฉบับนี้ก็เหมือนกัน จะถูกแปรรูปหรือขึ้นหิ้งไว้ เพราะผลกระทบต่อประชาชนนั้นไม่ทันใจมากพอที่ประชาชนจะลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง อย่างที่ลูกจ้างประกันสังคมและผู้ป่วยหลักประกันลุกขึ้นต่อสู้เอง

พ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ได้ลุกขึ้นยืนตะโกนมากพอเพื่อช่วยผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เราไม่ต้องการการสอบเข้า ป.1 เราไม่ต้องการการเร่งเรียนในปฐมวัย เราอยากได้โรงเรียนเตรียมความพร้อมดีๆ ทั่วราชอาณาจักรและฟรี ยังมีความจำเป็นที่ฝ่ายประชาชนที่ลูกหลานกำลังทนทุกข์ระทมและถูกการศึกษาทำร้าย ต้องพร้อมใจกันลุกขึ้นประท้วงและตะโกน เมื่อผู้บริหารระดับสูงทำอะไรไม่เข้าท่าและผิดทิศผิดทาง พูดง่ายๆ ว่าถ้าโรงเรียนที่ดีไม่มาเอง เราต้องสู้ และเวลาก็มีจำกัด ก่อนที่โรงเรียนทางเลือกชั้นดีที่เป็นอยู่จะเริ่มกลายสภาพไปมากกว่านี้ คือแม้แต่ชนชั้นกลางก็อาจเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป

ส่วนเรื่องอายุ ว่าแค่ไหนคือปฐมวัย ผมเห็นด้วยว่าควรจะถึง 8 ขวบ ผมเป็นพวกไม่รีบ และเชื่อว่าเด็กโตเองได้จริงๆ การเร่งเรียนมีแต่เสียกับเสีย เราช่วยกันทำลายสมองเด็กไทยอย่างเป็นระบบ แม้แต่ผู้ชนะก็เสีย มีกราฟแสดงให้ดูจากหลายประเทศในยุโรปว่าเรียนเร็ว อ่อนกำลังเร็ว ตัวชี้วัดด้านสุขภาวะตอนเป็นผู้ใหญ่ต่ำกว่ากลุ่มเริ่มเรียนช้าทุกตัวชี้วัด ตั้งแต่ความสุขไปจนถึงยาเสพติดและอัตราการก่อคดี

ผมเห็นด้วยว่าไม่ให้สอบแข่งขันเข้า ป.1 เพราะนั่นคือคอขวด เด็กๆ จำนวนมากถูกทำลายที่คอขวดนี้ และถ้าเราเชื่อสิ่งที่เราพูดทุกวันเด็กว่าเด็กคืออนาคตของชาติ แล้วเราทำลายเขาตั้งแต่ต้น ก็จะฟังดูศรีธนญชัยมาก เด็กโตได้บนลู่วิ่งของตนเอง เพราะนี่คือศตวรรษที่ 21 ที่ซึ่งไอทีได้ช่วยเปิดทางเดินของชีวิตทั่วโลก โลกไม่ได้มีเพียงไทย พุทธ หรือ O-NET A-NET admission หรือ TCAS โลกมีความหลากหลายเหลือคณารอลูกๆ ของเรา ลูกเราคุมตนเองได้ คุมเป้าหมายได้ คุมสมาร์ทโฟนได้ โลกทั้งใบรอเขาอยู่

ส่วนเรื่องคณะกรรมการนโยบาย ผมแนะนำให้ระวังองค์ประกอบที่ส่วนท้องถิ่น ทำให้ดีๆ เชื่อมั่นในความคิดอ่านของประชาชนคนบ้านนอกด้วย องค์ประกอบของกรรมการส่วนกลางก็เช่นกัน ถ่วงดุลน้ำหนักของเสียงด้วย ภายใต้ข้อเท็จจริงของวัฒนธรรมบ้านเราว่าเสียงบางเสียงดังกว่าเสียงบางเสียง

ยกตัวอย่างกรรมการหลักประกันสุขภาพ เสียงวิชาชีพดังกว่าเสียงประชาชนเสมอมา ดังนั้นอย่าดูแค่จำนวนนับของกรรมการ แต่ดูสถานะและฐานะของกรรมการด้วย เรื่องนี้มีปัญหามากมาตลอด สมัยใหม่ให้ดูอายุด้วย เราปล่อยคนเดิมๆ หน้าเดิมๆ อายุพ้น 70 ดูแลการศึกษาของชาติมานานมากแล้ว ถึงเวลาประเมินพวกท่านได้แล้ว ท่านจะคิดดีพูดดีอย่างไรก็ต้องดูผลลัพธ์ด้วยว่าเราปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว นี่เป็นเวลาของคนอายุไม่เกิน 40-50 ปีที่จะบริหารการศึกษา บริหารประเทศด้วย

พวกหน้าเดิมๆ รวมทั้งผมด้วย องค์กรเดิมๆ ถอยไปเถิด เราประชุมกันมาร้อยพันรอบ ระดมสมองและ Knowledge Management มาเป็นหมื่นครั้งทั่วประเทศ so what? เสียเงินเปล่า

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save