fbpx
เปิดโลก ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เปิดโลก ‘จิตวิทยาเด็ก’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

[box] ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นการตีความและอธิบายเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสมควรให้คุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยรับทราบ จากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ จิตวิทยาเด็ก: ความรู้ฉบับพกพา แปลโดย สุภลัคน์ ลวดลาย วรัญญู กองชัยมงคล จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ bookscape พ.ศ. 2562 โดยแปลจากหนังสือ Child Psychology: A Very Short Introduction เขียนโดย Usha Goswami  เนื่องด้วยผมอ่านแล้วเสียดายแทนท่านที่มิได้อ่าน อีกทั้งเดาว่าหากมิใช่นักวิชาการด้านเด็กแล้วก็อาจจะไม่อยากอ่าน [/box]

 

1. ว่าด้วยทารกและสิ่งที่พวกเขารู้

 

ผมเขียนเสมอว่าขวบปีแรกสำคัญที่สุด พยายามไม่จากลูกไปไกลในขวบปีแรก ขวบปีแรกคือนาทีทองที่ทารกจะสร้างความไว้ใจโลกและแม่ ขวบปีแรกคือ trust หากขาดความไว้ใจนี้เสียแล้ว ทารกจะพัฒนาต่อไม่ได้

นอกจากนี้ผมยังเขียนเรื่องกระบวนการตัดแต่งสมอง หรือ pruning ที่จะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 9-12 ขวบ เด็กใช้ชีวิตอย่างไร ทำอะไรในช่วงนี้ ก็จะได้สมองอย่างนั้น

หนังสือเล่มนี้เขียนว่าประสบการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าเครือข่ายของเซลล์ประสาทใดจะถูกทำลายและเครือข่ายใดที่ยังคงอยู่  สอดคล้องกับความรู้เรื่องการตัดแต่งสมองที่ยอมรับกันทั่วไปแล้ว โดยเริ่มกันตั้งแต่ขวบปีแรกเลยทีเดียว

ทารกแรกเกิดชอบมองใบหน้าที่ดวงตาจ้องมองมายังพวกเขาตรงๆ และไม่ชอบมองใบหน้าที่ดวงตาหันเหไปทางอื่น นอกจากนี้ทารกยังตอบสนองในทางลบต่อใบหน้าเฉยเมย”  ข้อความนี้คือที่ผมพยายามบอกกล่าวคุณแม่เสมอมาว่าที่ทารกจะขาดเสียไม่ได้ในสามเดือนแรกคือใบหน้าของท่าน

ใบหน้าของท่านทำให้คุณแม่มีอยู่จริง ในใบหน้ามีดวงตา ในดวงตามีดวงใจ อันเป็นของที่ทารกต้องใช้ในการสร้างสายสัมพันธ์ (attachment) ทารกควรได้ดูดวงตาของท่านมากกว่ามองหน้าจอที่ไม่มีดวงตา

นอกจากใบหน้าของแม่ยังมีเสียง เสียงของแม่ที่สูงต่ำขึ้นลงดังเสียงดนตรี เป็นภาษาแม่ที่เรียกว่า parentese ทารกเองเปล่งเสียงตอบสนองและเรียกร้องการตอบสนอง แต่ถ้าพบว่าท่านเฉยเมย ทารกจะเริ่มเปล่งเสียงให้หนักขึ้น หนังสือนี้เขียนต่อไปว่า

“งานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับเสียงและแอมพลิจูด (ความดัง)ของเสียงทารกร้องไห้ได้พัฒนาขึ้นผ่านกระบวนการวิวัฒนาการเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ตอบสนองอย่างทันท่วงที เสียงร้องไห้ของทารกดูเหมือนจะออกแบบมาให้ผู้ที่ได้ยินรู้สึกตึงเครียดถึงที่สุด  มิน่าเล่าพวกเราถึงจะสติแตกกันให้ได้เมื่อทารกเริ่มไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเครื่องบิน

เด็กเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าตนชอบใบหน้า เสียง และกลิ่นของผู้เลี้ยงดูหลักที่มอบปฏิสัมพันธ์อันอบอุ่นและต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ผมเขียนเรื่องสายสัมพันธ์บ่อยครั้ง ด้วยคาดหวังว่าสังคมไทยจะตื่นตัวและตระหนักว่าสำคัญ โดยมักใช้ฉากบรรยายที่อายุปลายขวบปีแรกเมื่อลูกเตาะแตะจากเราไป แต่หนังสือนี้ได้ลงรายละเอียดมากขึ้น โดยระบุว่าสายสัมพันธ์คือ

ความคาดหวังทางด้านจิตใจของเด็ก ซึ่งเกี่ยวโยงกับการสร้างคุณค่าของตนเองในฐานะบุคคลที่สมควรได้รับความรัก

หนังสือนี้แบ่งสายสัมพันธ์หรือความผูกพันออกเป็น 2 ประเภท คือความผูกพันแบบมั่นคง (secure attachment) ซึ่งจะได้จากการเลี้ยงดูที่ตอบสนองต่อความต้องการของทารกอย่างดี กับความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure attachment) อันจะทำให้ทารกมีวิธีตอบโต้ 2 รูปแบบ ได้แก่

(1) หลีกเลี่ยง 

ในงานศึกษาต่างๆ เด็กที่พยายามหลีกเลี่ยงความผูกพันแบบไม่มั่นคง จะค่อยๆ ยอมรับชะตากรรมของตนเอง พวกเขาพัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันตนเอง เช่น ไม่เป็นฝ่ายเข้าหาเมื่อผู้เลี้ยงดูอยู่ใกล้ๆ ราวกับต้องการป้องกันตัวเองจากความผิดหวัง

(2) ยึดติด 

มักจะทำตัวแบบลูกแหง่และไม่ยอมแยกจากผู้เลี้ยงดู ราวกับพยายามบังคับให้ผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่เหมาะสม

งานวิจัยพบว่าทั้งสองรูปแบบเชื่อมโยงกับการมองเห็นคุณค่าในตนเองและการรู้จักควบคุมตนเอง ไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการหรือปัญญาในอนาคต

แม้จะมิได้อ่านต้นฉบับ แต่เชื่อได้ว่าการมองเห็นคุณค่าในตนเองคือ self esteem และการรู้จักควบคุมตนเองคือ self control อันเป็นส่วนประกอบของ EF (Executive Function)

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่สามคือ ความผูกพันแบบไม่เป็นระเบียบ (disorganized attachmentเนื่องจากผู้เลี้ยงดูมีพฤติกรรมที่ยากจะคาดการณ์ได้ ทารกจึงไม่สามารถหาแนวทางจัดการพฤติกรรมของตนเพื่อให้อีกฝ่ายตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม” อันจะเชื่อมโยงไปสู่ภาวะซึมเศร้า ดื้อ ต่อต้าน เกเร และก้าวร้าว

พ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ดุด่าว่าตีเป็นประจำควรใส่ใจความข้อที่สามนี้แล้วพยายามปรับปรุงตนเอง

หนังสือเล่มนี้ให้ความหวังและกำลังใจเช่นเดียวกับที่ผมพยายามบอกกล่าวเสมอมา นั่นคือพ่อแม่จะเป็นใครก็ได้ ผู้เลี้ยงคือพ่อแม่ตัวจริง หากเด็กขาดพ่อแม่เพราะเหตุผลใดก็ตาม ใครสักคนควรก้าวออกมาทำหน้าที่แม่

“ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย พ่อแม่อุปถัมภ์ หรือพวกพี่ๆ ของทารก ล้วนเป็นบ่อเกิดความผูกพันแบบมั่นคงได้ทั้งสิ้น”

ตอนท้ายของบทนี้ได้เล่าเรื่องงานวิจัยที่มีชื่อเสียงมากชิ้นหนึ่งคือ ‘หน้าผามายา’ วิธีการคือให้ทารกคลานบนโต๊ะลายตาหมากรุกมาจนถึงแผ่นกระจกซึ่งพื้นด้านล่างมีลายตาหมากรุกรออยู่ ทารกจะหยุดและมองหน้าแม่ หากแม่มีสีหน้าหวาดกลัว ทารกจะหยุดคลาน นี่แสดงให้เห็นความสามารถของทารกในการล่วงรู้จิตใจของบุคคลที่มอบความผูกพันแบบมั่นคงให้แก่เขา โดยในหนังสือใช้คำว่า ‘ความสนใจร่วมกัน’

 

ที่มา: https://www.brainpickings.org/2012/02/29/visual-cliff-study/

 

บทที่ 1 นี้ปิดท้ายด้วยข้อความในหน้า 45-46  สรุปและยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าใครก็ล้วนสามารถก้าวออกมารับหน้าที่อันมีคุณค่ายิ่งใหญ่อย่างการเป็นแม่นี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นครู พี่เลี้ยง หรือเจ้าหน้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กที่ช่วยให้ทารกมีความผูกพันแบบมั่นคง โดยอ้างงานวิจัยที่วัดระดับคอร์ติซอลอันเป็นตัวบ่งชี้ความสุขของทารก

 

2. การเรียนรู้โลกภายนอก

 

ทารกเกิดมาพร้อมพันธุกรรมบางอย่าง จึงมิใช่ผ้าขาว แต่ทารกก็ไม่ถึงกับเป็นฝ่ายตั้งรับ ที่จริงแล้วทารกเป็นฝ่ายเลือกที่จะเรียนรู้ ด้วยการมองและฟัง

“งานทดลองสมัยใหม่พบว่าทารกสนใจดูวิดีโอภาพแม่ยื่นของให้เด็กมากกว่าที่จะยื่นของให้พ่อ นั่นคือเขาสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา”

วันหนึ่ง ผมนั่งในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เฝ้ามองทารกนั่งไฮแชร์ปัดผ้าเช็ดมือผืนเล็กที่พนักงานมาวางไว้ให้ตกพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พ่อเด็กซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นจะลุกเดินอ้อมมาหยิบขึ้นจากพื้นวางบนโต๊ะลูกทุกครั้ง แล้วกลับไปนั่งที่ตัว

“ทารกจะกำผ้านั้น ขยี้ขยำแล้วปาลง บางทีก็โยน บางทีก็ปัด พ่อก็ลุกมาเก็บขึ้น ไม่ห้ามสักคำ ไม่ดุ ไม่ว่า” เป็นดังที่ผมเขียนเสมอคือทารกกำลังทดสอบพลังกล้ามเนื้อต้นแขนและมือ เขาจะปัด โยน ปาได้ไกลแค่ไหน นี่คือพัฒนาการล้วนๆ

หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยขยายมุมมองออกไปอีก ทารกกำลังเรียนรู้โลก และเรื่องแรกที่เขาเรียนคือการเคลื่อนที่และการเปลี่ยนตำแหน่ง ความรู้นี้เพียเจต์เขียนมานานแล้วคือ placement & displacement แต่หนังสือนี้ขยายความต่อไปว่าทารกสนใจเหตุ-ผลและวิถีโค้งด้วย ‘หนูทิ้ง-แม่เก็บ’ คือ juxtaposition

“ของตกด้วยวิถีโค้ง ของสิ่งเดียวจะปรากฏสองที่พร้อมกันมิได้ แต่ของสองสิ่งปรากฏบนตำแหน่งเดียวกันได้” นอกไปจากนี้ทารกยังเรียนรู้ข้อแตกต่างระหว่างธรรมชาติและสิ่งประดิษฐ์ คือเรื่อง animism ที่เพียเจต์เขียนไว้ก่อนแล้วเช่นกัน ขยายความว่าทั้งสองสิ่งมีต้นธารร่วมกัน

ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ของทารกทั้งเรื่องพื้นฐานทางจิตวิทยา ฟิสิกส์ และชีววิทยา ในหนังสือเรียกว่า naive psychology, naive physics และ naive biology

หลังจากการเฝ้ามองและคอยฟัง การนั่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อทารกลุกนั่งโลกจะกลายเป็นสามมิติมากขึ้น และเมื่อเขาเดินไปโลกจะเป็นสามมิติมากขึ้นไปอีก สนุกกว่านี้คือทารกขวบปีแรกจะเลือกของเล่นและกำหรือถือของเล่นเดินไปด้วยเมื่อเขาทำได้ ตอนนี้เขาเปลี่ยนตนเองเป็นผู้กระทำอย่างสมบูรณ์

“ทารกเดินได้ 2,000 ก้าวใน 1 ชั่วโมง นั่นเท่ากับ 7 สนามฟุตบอล” ความข้อนี้ชวนให้ผมนึกถึงสองเรื่อง หนึ่ง คือการเดินตามป้อนข้าว เรากำลังพยายามหยุดพัฒนาการของเขาโดยไม่ทันระวัง สอง คือการห้ามเด็กไปไกลแทนที่เราจะสละเวลาคอยเดินตาม หาที่โล่งกว้างมากๆ ให้เขาได้เดิน หยิบ จับ สำรวจ น่าเสียดายมาก

หนังสือนี้เขียนต่อไปด้วยว่าเด็กจะเดินเข้าหาจุดหวงห้ามเสมอ ปลั๊กไฟ บันได เตาผิง (บ้านเราต้องว่าหมูกระทะ) และเมื่อไรที่เขาพบทางต่างระดับเขาจะพยายาม ทดลอง แล้วหกล้ม ตกลงไปได้ทุกครั้ง แน่นอนว่าจนกว่าจะทำได้ ข้อความบรรยายนี้รวมเรื่องที่ผมเขียนเสมอคือทดสอบและทดลอง ทดสอบข้อห้ามและทดลองพลังกล้ามเนื้อ ใช่ พลังใจด้วย

“เด็กเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ จะถอดปลั๊กเครื่องดูดฝุ่นขณะใช้งาน กดปุ่มทีวีเปลี่ยนช่อง และตั้งค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่”

ชวนให้นึกถึงครั้งที่หลานมาที่บ้านแล้วตั้งค่าเครื่องให้อาหารหมาโดยที่พวกเราไม่ทันระวัง กลางดึกคืนนั้นเครื่องให้อาหารหมาเปิดเทปบันทึกส่งเสียงเรียกหมามากินอาหารทุกหนึ่งชั่วโมง

ทารกมีความจำหรือไม่ เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ถามแต่มักไม่ได้คำตอบ หนังสือเล่มนี้ตอบด้วยการเล่าถึงการทดลองหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งน่าสนใจเป็นการทดลองในทารกอายุ 3 เดือนด้วยการผูกเชือกจากโมไบล์บนเพดานมาที่ข้อเท้า ทุกครั้งที่ทารกถีบข้อเท้าโมไบล์จะส่งเสียง เมื่อปล่อยให้ทารกเรียนรู้เสียงที่เกิดขึ้นสักระยะหนึ่งแล้วนำออกไปพัก จากนั้นนำทารกมาไว้ใต้โมไบล์โดยไม่มีเชือก พบว่าแม้ว่าเวลาจะผ่านไปทารกยังคงถีบเท้าแม้ว่าจะไม่มีเสียงเกิดขึ้น

อีกงานทดลองหนึ่งน่าสนใจมาก เมื่อปล่อยรถไฟแล่นเข้าอุโมงค์แล้วทำกลไกมิให้รถไฟแล่นออกจากอุโมงค์ พบว่าคลื่นสมองไฟฟ้าของทารกเปลี่ยนไป และเมื่อเรายกอุโมงค์ขึ้นให้ดูภายใน ปรากฏว่ารถไฟได้หายไปแล้วอีกต่างหาก แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นไปตามคาดและสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดโดยสาธิตให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมอง

งานทดลองที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกของเพียเจต์คือ A not B task ได้ถูกนำมาอธิบายอีกครั้งหนึ่งด้วยการทดลองที่แตกต่าง จากเดิมที่เด็กถูกกำหนดให้ค้นหาของที่ตำแหน่ง A อยู่เช่นนั้นโดยไม่ยอมเปลี่ยนไปสู่การค้นหาที่ตำแหน่ง B เพราะของถูกผ้าบังเอาไว้และเด็กอยู่ภายใต้กฎไม่เห็นคือไม่มี การทดลองไปไกลถึงระดับแม้ว่าจะเฉลยให้เด็กเห็นว่าของอยู่ที่ตำแหน่ง B หรืออยู่ในกล่อง B ซึ่งโปร่งใส แต่ว่าเด็กก็จะยังคงหาของที่ตำแหน่ง A อยู่นั่นเอง!

นอกเหนือจากนี้ยังมีการทดลองเรื่องการรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ทารกสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนที่ของรถยนต์กับการเคลื่อนที่ของสุนัขได้ นำไปสู่ข้อสรุปอื่นๆ เช่น สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เคลื่อนที่ด้วยตัวเองไม่ได้และมีลูกไม่ได้ แต่สิ่งมีชีวิตทำได้ เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รู้กันว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องสอน

“ใบไม้เปลี่ยนสีด้วยตัวมันเองได้ แต่กีตาร์เล่นเพลงเองไม่ได้”

ความรู้ข้อนี้ช่วยยืนยันเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วคือ ณ จุดใดจุดหนึ่งของพัฒนาการ ทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้ล้วนมีชีวิต คือ animism ก่อนที่ของบางอย่างจะไร้ชีวิตในเวลาต่อมา

ยังมีการทดลองอีกชิ้นที่ดีมากแสดงให้เห็นว่าทารกและเด็กเล็กแยกแยะวัตถุด้วยการดูคุณสมบัติมากกว่าการดูรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เด็กๆ สามารถชี้ว่านกโดโด้เป็นนกทั้งที่มันไม่เหมือนนกเท่าไรนัก แต่เทอโรซอร์ (Pterosaur) มิใช่นกแม้ว่ามันจะดูคล้ายนก ด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่มีรัง ในทำนองเดียวกัน เด็กรู้จักเก้าอี้และจะเรียกทุกอย่างที่ใช้นั่งว่าเก้าอี้ พอๆ กับที่รู้จักกระเป๋าและจะเรียกอะไรที่ใส่ของได้ว่ากระเป๋า

 

นกโดโด้ ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Frohawk_Dodo.png

 

เทอราโนดอน หนึ่งในสกุลของเทอโรซอร์ ที่มา: By NobuTamura – Own work, CC-BY-SA-3.0,
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pteranodon_NT.jpg

 

เด็กเรียนรู้ทั้งหมดนี้ด้วย ‘multisensory learning’ คือการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัสอันหลากหลาย ได้แก่ การมอง ฟัง สัมผัส ดมกลิ่น และชิมรส คือระบบประสาทพื้นฐานทั้งห้า ซึ่งกรีกโบราณเรียกว่า common sense และควรจะเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาปฐมวัย

มิใช่การเรียนที่จับเจ่าแต่ในห้องเรียนเพื่ออ่านเขียนเรียนเลขและท่องจำ

 

3. การเรียนรู้ด้านภาษา

 

“ในช่วงอายุ 15 เดือน หากได้ยินคำศัพท์ใหม่สักครั้ง ก็เพียงพอแล้วที่ทารกจะเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ได้อย่างถูกต้อง”

“ในแต่ละวันเด็กวัย 2 ขวบเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ถึง 10 คำ”

ภาษาที่แม่พูดกับลูกเรียกว่า parentese มีลักษณะเป็นเสียงสูงต่ำและยืดยาว บางจังหวะเหมือนเสียงดนตรี เราพบว่าภาษาของแต่ละชาติมีน้ำเสียงและจังหวะต่างกัน และยังพบว่าทารกดูดนมตามจังหวะเสียงของแม่ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าทารกรัสเซียและทารกฝรั่งเศสดูดนมด้วยจังหวะที่แตกต่างกัน!

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอ แม่ที่ให้นมลูกคือแม่ที่มีอยู่จริง ทารกกำลังเรียนรู้ว่าใครเป็นเจ้าของน้ำนม หัวนม เต้านม เสียงหัวใจ เสียงร้องเพลง อ้อมกอด และปัจจุบันยังมีงานวิจัยที่บอกว่าทารกเรียนรู้จังหวะของเสียงอีกด้วย (สำหรับแม่ที่พยายามแล้วแต่ไม่มีน้ำนมแม่ ทารกก็ยังคงดูดจุกขวดนมตามจังหวะที่แม่พูดเช่นกัน)

แต่ละชนชาติมี ‘เสียงของภาษา’ ต่างกัน ภาษาอังกฤษมีเสียงหนักเบาของแต่ละพยางค์ในคำหนึ่งคำ ทารกเรียนรู้ความหนักเบานี้ได้ ทำให้รู้ว่าคำศัพท์คำใหม่เริ่มตรงไหน หากเราแกล้งอ่านหนักเบาผิดตำแหน่งในประโยคภาษาอังกฤษ ทารกจะฟังไม่เข้าใจ (ความข้อนี้ชวนให้นึกถึงเสียงเสมือนดนตรีของคนเมืองในล้านนา ซึ่งมักจะดึงดูดทารกได้มากกว่าโทนเสียงราบเรียบ) มีงานวิจัยต่อไปว่าเสียงที่แม่พูดกับทารก (ด้วยภาษาแม่) แตกต่างจากเสียงที่แม่พูดกับผู้ใหญ่ด้วยกัน และแตกต่างจากเสียงที่พูดกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเรียกว่า pet-ese แม้เราจะออดอ้อนลูกหมาที่บ้านด้วยท่วงท่ากริยาและน้ำเสียงคล้ายคลึงกันก็ตาม

สำหรับการอ่านนิทาน “พบว่าแม่จะยกเสียงขึ้นสูงกว่าในคำศัพท์คำใหม่ถึงร้อยละ 76 ของจำนวนครั้งที่พบคำศัพท์ใหม่ ในขณะที่หากอ่านครั้งที่สองก็ยังมากถึงร้อยละ 70” จะเห็นได้ว่าคุณแม่ที่อ่านนิทานมีส่วนพัฒนาภาษาของลูกในระดับที่ไม่รู้ตัวจริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ทารกยังรู้ได้เองว่าจะจัดเรียงพยัญชนะและสระอย่างไรเมื่อได้เห็นอักขระซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง นับเป็นความสามารถทางสถิติที่มีมาแต่กำเนิด เป็นข้อดีเล็กๆ ของการอ่านนิทานโดยให้ทารกนอนเคียงข้างแล้วเปิดอ่านหนังสือไปด้วยกัน เมื่อเทียบกับการเล่านิทานทั่วไป (ซึ่งได้ใช้จินตนาการมาก) พูดง่ายๆ ว่าทารกสามารถจัดข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการปรากฏของพยัญชนะและสระได้ว่าควรจัดเรียงแบบใด ชวนให้นึกถึงบทเพลง ‘Supercalifragilisticexpialidocious’ ของแมรี่ ป๊อปปินส์ ฉบับจูลี่ แอนดรูวส์ ในหนังปี 1964 ของดิสนีย์ ที่เด็กๆ ร้องตามได้อย่างง่ายดาย

 

Supercalifragilisticexpialidocious Marry Poppins Dick van Dyke Julie Andrews ที่มา: Disney

 

คนทั่วไปอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้ว่ากลไกของแต่ละเสียงเป็นอย่างไร เช่น p และ b ใช้อวัยวะส่วนไหนบ้างในการออกเสียง นั่นเป็นหน้าที่ของนักแก้ไขการพูดที่มีความสามารถ แต่เราควรรู้ว่าทารกต้องการมองหน้าแม่ตอนพูด มีงานวิจัยเปรียบเทียบโดยให้ทารกอเมริกันได้ขลุกอยู่กับชาวจีน พบว่าทารกสามารถเรียนรู้จังหวะเสียงแบบคนจีน ในขณะที่ทารกที่ดูวิดีโอคนจีนคนเดียวกันพูดกลับไม่สามารถเรียนรู้ได้ นั่นแสดงว่าการเรียนรู้ด้านภาษาที่ดีควรเป็นการเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่

ทารกเกิดใหม่ส่งเสียงอ้อแอ้ก่อนที่จะเปล่งเสียงพยัญชนะเสียงแรกได้ พยัญชนะเสียงแรกเปล่งออกมาได้ด้วย articulator หลายส่วน ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น กล่องเสียง ฟัน จมูก และกระพุ้งแก้ม โดยที่ทารกแต่ละชนชาติเริ่มเปล่งเสียงด้วยเสียงพยัญชนะที่แตกต่างกัน

สิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ เมื่อให้ผู้ใหญ่จำแนกเสียงอ้อแอ้ของทารกตามชนชาติ ผู้ใหญ่สามารถจำแนกเสียงได้ถูกต้องด้วยว่า เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงทารกฝรั่งเศส อาหรับ หรือกวางตุ้ง นี่เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าภาษาในช่วงรุ่งอรุณแห่งชีวิตเป็นการสื่อสารสองทางของคนสองคน ได้แก่ แม่-ลูก และพ่อ-ลูก อาจจะด้วยหลักฐานนี้เองทำให้การสอนสองภาษาโดยอาศัยหลักการพ่อ 1 ภาษา แม่ 1 ภาษา เป็นเรื่องที่ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด

ตัวเลขต่อไปนี้อาจจะช่วยให้พ่อแม่ของเด็กพูดช้าสบายใจขึ้นบ้าง เด็กสองขวบบางคนยังไม่พูดแม้แต่คำเดียว พบว่าเด็กร้อยละ 50 จะพูดได้เท่าปกติเมื่ออายุ 5 ขวบ

อย่างไรก็ตาม อย่านิ่งนอนใจที่จะพูดกับเขาด้วยตัวเองมากกว่าที่จะจ้างคนอื่นพูด เพราะการพูดกับทารกเป็นเรื่องของคุณสองคน

นอกจากนี้ทารกยังพัฒนาภาษาท่าทางด้วย เช่น โบกมือ (ลา), ชี้ (จะเอา), หมุนมือ (จะเปิดประตูออกไป) หรือส่ายหัว (ไม่เอา) เราพบว่าทารกใช้ภาษาท่าทางมากในช่วงอายุ 10-18 เดือน แล้วเริ่มใช้ภาษาพูดเข้ามาแทนที่ในภายหลัง โดยทั่วไปเด็กมักใช้คำพยางค์เดียวก่อนที่จะใช้คำสองพยางค์ในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ เด็กอาจจะใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำหนึ่งในช่วงที่จำนวนคำศัพท์ยังไม่มากพอ เช่น ใช้คำว่าผึ้งแทนแมลงอื่นๆ หรือคำว่าหมาแทนม้าและวัว ความรู้ข้อนี้สำคัญ ผู้ใหญ่ศีลธรรมจัดบางคนรีบร้อนกล่าวหาว่าเด็กโกหกโดยไม่ดูอายุของเด็กเลย ที่จริงแล้วเด็กเล็กยังสับสนเรื่องสถานที่ เวลา ประกอบกับมีคลังคำศัพท์จำกัด จึงเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าใจผิดหรือใช้คำผิด สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือบอกคำที่ถูกหรือเรื่องราวที่ถูกต้องให้เขาทราบ เช่นนี้เขาจึงจะพัฒนา

พัฒนาการทางภาษาดำเนินต่อเนื่องจากพัฒนาการเรียนรู้ที่ได้เล่าไว้ในบทที่ 2 กล่าวคือเด็กเรียนรู้จากคุณสมบัติได้ เช่น หมาและม้ามีสี่ขา ในขณะที่รถเก๋งและรถบรรทุกมีสี่ล้อ เพียงเท่านี้เด็กก็สามารถจัดประเภทและหมวดหมู่ได้ด้วยตนเอง และอาจรู้สึกหงุดหงิดได้หากผู้ใหญ่อ่านผิดหรือพูดผิด เช่น เด็กรู้ว่ารองเท้ามิใช่แมวและแมวมิใช่รองเท้า เมื่อเราแกล้งอ่านผิดเขาจะหงุดหงิด เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่พ่อแม่พยายามอ่านนิทานก่อนนอนพลิกแพลงแล้วถูกลูกต่อว่าเอาอย่างจริงจังเสมอ พ่อแม่บางท่านก็อ่อนไหวมากถึงระดับที่เกรงว่าลูกจะเป็นเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์หรือโรคย้ำคิดย้ำทำไปโน่นก็มี

เรื่องใหญ่โตที่สุดเกี่ยวกับภาษาน่าจะเป็นความรู้ที่ว่าภาษาเป็นสัญลักษณ์ ตัวอักษรคำว่าแมว หรือ cat เป็นสัญลักษณ์ของสองชนชาติที่หมายถึงสัตว์ตัวเดียวกัน

“คำศัพท์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่บรรจุข้อมูลและประสบการณ์ของเรา และเป็นตัวแทนมโนทัศน์และเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกทุกวันนี้”

“เมื่อเรารู้คำศัพท์ เราสามารถใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ภายในความคิดเพื่อทำความเข้าใจสิ่งใหม่”

ความข้อนี้สำคัญมาก หากไม่มีคำศัพท์ย่อมไม่มีสิ่งใหม่ ชวนให้นึกถึงนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่สร้างคำศัพท์ใหม่ๆ ให้เรามากมาย เพื่อขยายพรมแดนความรู้และปัญญาของเราให้กว้างขวางกว่าเดิม

 

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Nineteen_Eighty-Four

 

สิ่งที่ดียิ่งกว่าคือ มนุษย์มิได้เพียงใช้ภาษาสื่อสารกับคนอื่น แต่ใช้สื่อสารกับตนเองด้วย ภาษาจึงเป็นเครื่องมือสำรวจตนเองไปจนถึงควบคุมตนเอง “เด็กสามารถทบทวนกระบวนการทางปัญญาและสำรวจความคิดตัวเอง เราเรียกว่ากระบวนการนี้ว่าอภิปัญญา(metacognition)” และ “เด็กยังใช้ภาษาสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมได้อีกด้วย ในทางจิตวิทยา เด็กสามารถใช้ภาษาเพื่อกำกับตัวเอง (self-regulation)” นี่คือรากฐานของจิตวิทยาเชิงบวก

เป็นไปดังที่ผมเขียนเสมอว่า การอ่าน-เล่น-ทำงาน เป็นวิธีฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง นอกจากการอ่านจะช่วยสร้างแม่ที่มีอยู่จริงแล้ว ยังช่วยพัฒนาภาษาด้วย การเล่นบทบาทสมมติก็เป็นวิธีพัฒนาภาษาที่ดีมาก และภาษานั้นเองที่จะกลับมาช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

เด็กเรียนรู้ภาษาศาสตร์และไวยากรณ์ได้เองจากผู้ใหญ่รอบตัว และเมื่อเขาพูดผิดก็จะมีผู้ใหญ่คอยแก้ให้เองโดยธรรมชาติ เช่น คำว่า on หรือ in แม้ว่าจะแปลว่า ‘บน’ และ ‘ใน’ แต่เมื่อถึงเวลาใช้บ่งบอกตำแหน่งวัตถุ ก็จะมีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา ไวยากรณ์การเรียงลำดับคำในประโยคก็เป็นเรื่องที่คนทุกท้องถิ่นสังเกตลูกหลานของตนเองได้ คนเมืองมีไวยากรณ์การเรียงคำไม่เหมือนภาษากลาง เด็กคนเมืองจึงรู้จักไวยากรณ์ภาษาแม่ ก่อนที่จะไปสอบหลักภาษาไทยตกในห้องเรียนเป็นประจำ เชื่อว่าคนภาคใต้ ตะวันออก  อีสาน พรมแดนตะวันตก หรือแม้แต่สุพรรณบุรี ก็มีไวยากรณ์ของตนเอง

ปัญหาสุดท้ายคือเรื่อง pragmatics ซึ่งหมายความว่า ในที่สุดเมื่อถึงเวลาใช้พูดในชีวิตจริงๆ บริบททางสังคมจะกลายเป็นเรื่องที่เด็กจะได้ค่อยๆ เรียนรู้อีกทอดหนึ่งว่าเมื่อไรควรพูดอะไร เช่น ควรพูดจาไพเราะแม้จะได้ของขวัญวันเกิดที่ไม่ถูกใจก็ตาม โดยในทางจิตวิทยาแล้ว การพูดปากไม่ตรงกับใจมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง

แต่การพูดแบบศรีธนญชัยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

4. มิตรภาพ ครอบครัว การเล่นสมมติ และจินตนาการ

 

เนื้อหาในตอนต้นของบทที่ 4 ค่อนข้างเก็บประเด็นยากตามแบบฉบับของหนังสือจิตวิทยาทั่วๆ ไป นั่นคือ พูดถึงเรื่องจิตใจในส่วนที่จับต้องได้ยากและทำความเข้าใจยาก อีกทั้งจะพยายามเขียนอธิบายอย่างไรก็ยากที่จะทำให้ผู้อ่านจับประเด็นได้ว่า แล้วที่เขียนมาแตกต่างจากที่ทำอยู่ตรงไหน และควรทำอย่างไรกันแน่

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผมจะตีความและเขียนใหม่เป็นเรื่องๆ

เรื่องแรกเกี่ยวกับตัวคุณแม่เอง เราสรุปได้ว่าคุณแม่มี 2 แบบ แบบหนึ่งใส่ใจจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกของลูกสม่ำเสมอ มีคำเรียกแม่แบบนี้ว่า minded-mind mother แบบที่สองใส่ใจเรื่องที่มองเห็นได้ชัดเจนกว่า เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง การแต่งกาย  ทำผิดกฎหรือไม่ผิดกฎ (ด้วยการตัดสินแบบดำ-ขาว) เป็นต้น (ตำราบางเล่มเรียกแบบแรกว่า psychological minded และเรียกแบบหลังว่า organic-minded)

เราพบว่าแม่แบบแรกช่วยให้ลูกสามารถล่วงรู้ความต้องการของผู้อื่นได้ดีกว่า และมีแนวโน้มจะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในแง่ดี โดยแสดงออกให้เห็นในการเล่นกับเพื่อนหรือพี่น้อง

เรื่องที่สองเกี่ยวกับอารมณ์ของคุณแม่ (รวมถึงคุณพ่อด้วย) ผลการศึกษาพบว่าบ้านที่ด่าทอ ใช้กำลัง พ่อแม่เป็นอารมณ์ต่อกันมากและเป็นอารมณ์กับลูกมาก จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมการเล่นที่รุนแรงเมื่อเล่นกับเด็กคนอื่นหรือพี่น้อง รวมทั้งการเล่นที่ดูน่าเป็นห่วง เช่น เล่นฆ่ากัน แขวนคอหรือตัดคอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะแปลเจตนาของผู้อื่นไปในทางร้ายด้วย

เรื่องที่สามคือเรื่องพี่น้อง

“การถกเถียงและการต่อสู้กันแบบทั่วๆ ไประหว่างพี่น้องและเด็กคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก”

ความข้อนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่จำนวนมากไม่ยอมรับ หลายบ้านคาดหวังให้พี่น้องรักกันตั้งแต่เกิดและไม่ควรทะเลาะกันเลย แต่แท้จริงแล้วพวกเขาจำเป็นต้องผิดใจกันบ้างเพื่อจะได้เรียนรู้กันและกัน

การได้พูดคุยถึงสาเหตุที่พี่น้องทะเลาะกันเป็นเรื่องดี แต่เราควรหยุดไว้ตรงคำบอกเล่าและความรู้สึกของแต่ละคนก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องก้าวข้ามเส้นไปตัดสินว่าใครผิดใครถูก

พ่อแม่จำนวนมากมักไม่สามารถหยุดตนเองไว้แค่ขั้นตอนที่ปล่อยให้เด็กระบายความรู้สึก แล้วเริ่มมีคำพูดที่ทำให้เด็กตีความได้ว่าพ่อแม่ฟังความข้างเดียว ในกรณีเช่นนี้ การแยกวงโดยไม่พูดอะไรมักจะปลอดภัยกว่า เพราะถึงอย่างไรเด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้วิธีดับอารมณ์ตนเองอยู่แล้ว

ครึ่งหลังของบทนี้แทบจะเป็นการปูพื้นฐานจิตวิทยาเชิงบวก งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า พ่อแม่ที่มักจะก้าวร้าว รุนแรง ทำโทษ และลำเอียง จะทำให้เด็กๆ บกพร่องทางสังคม เพราะเขาจะวางโปรแกรมตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางร้ายอยู่เสมอ

ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่อบอุ่นกว่า เปิดกว้างกว่า รับฟังมากกว่า และไม่ตัดสินผิดถูก กลับช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สังคมตามที่เป็นจริงมากกว่า และช่วยวางโปรแกรมตีความพฤติกรรมของคนอื่นไปในทางบวกอยู่เสมอ

หนังสือใช้คำศัพท์ว่า ความลำเอียงในการอนุมานสาเหตุในทางที่เป็นปฏิปักษ์ และ ความลำเอียงในการอนุมานสาเหตุในทางที่เป็นมิตร

การเล่นสมมติเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เด็กเข้าสู่สังคมได้ดี การเล่นสมมติทำได้ 3 ระดับ ทั้งกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน กับพ่อแม่ หรือกับเพื่อนในจินตนาการ ล้วนแล้วแต่ดีทั้งนั้น

หนังสือเล่มนี้ระบุตัวเลขว่าเด็กอนุบาลมีเพื่อนในจินตนาการมากถึงร้อยละ 20-50 ซึ่งมากกว่าที่เราเคยคิดไว้มาก เด็กหญิงมักมีเพื่อนในจินตนาการมากกว่าเด็กชาย เด็กมักมีเพื่อนในจินตนาการเป็นเพศเดียวกันและบ้างก็มีมากกว่า 1 คน

งานวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการมิได้เป็นเด็กขี้อายหรือขี้วิตกมากกว่าเด็กที่ไม่มีเพื่อนในจินตนาการ อีกทั้งยังมีทักษะทางภาษาสูงกว่าด้วย

ความรู้เรื่องเพื่อนในจินตนาการนี้น่าจะช่วยให้พ่อแม่ที่เป็นห่วงเรื่องลูกพูดคนเดียวคลายความกังวลลงได้บ้าง นอกเหนือจากเรื่องที่เรารู้แล้วว่าเด็กพูดคนเดียวเพื่อบริหารความจำใช้งาน (working memory)

ข้อดีอีกข้อหนึ่งของการเล่นสมมติคือ ช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ยอมรับกฎเกณฑ์ และยอมรับบรรทัดฐานของสังคม หนังสือยกตัวอย่างงานวิจัยจากรัสเซีย ซึ่งจำนวนหนึ่งได้รับอิทธิพลจาก Lev Vygotsky (1896-1934) นักจิตวิทยาเด็กชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียง

 

ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Lev_Vygotsky

 

ในตัวอย่างงานวิจัย เด็กๆ เล่นเป็นพนักงานดับเพลิง เมื่อพนักงานดับเพลิงสมมติไปถึงที่เกิดเหตุ เด็กคนที่รับบทบาทสมมติให้เป็นพนักงานขับรถลงจากรถจะไปช่วยเพื่อนๆ ดับเพลิง แต่เขาถูกห้ามว่าทำไม่ได้เพราะเขามีหน้าที่เฝ้ารถ ซึ่งเด็กคนนั้นก็ยอมรับกติกาแต่โดยดี

จากกติกาและกฎเกณฑ์นำไปสู่บรรทัดฐานของสังคม เช่น ห้ามทำร้ายคนอื่น และควรช่วยเหลือผู้อื่น หนังสือมิได้เขียนชัดเจนว่าทำไม แต่อธิบายได้ไม่ยาก เพราะพัฒนาการทุกเรื่องขยายตัวจากตนเองซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลสู่ภายนอกอยู่แล้ว จากการเล่นกับเด็กคนอื่นและพี่น้อง ขยายตัวสู่บทบาทสมมติในจินตนาการ ส่วนขยายต่อไปย่อมต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคมโดยธรรมชาติ

สุดท้ายเด็กจะพัฒนาสำนึกของความเป็นกลุ่ม เด็กๆ มักเห็นความสำคัญของเพื่อนในกลุ่มมากกว่านอกกลุ่ม ตอบสนองทางบวกมากกว่าและเห็นอกเห็นใจมากกว่า ที่น่าสนใจมากคือ หนังสือได้อ้างงานวิจัยที่ชี้ว่าภาษาเป็นเครื่องมือชี้บ่งความเป็นกลุ่ม ในขณะที่ผิวสีมิใช่ตัวชี้บ่ง!

บทนี้เป็นงานวิชาการที่รองรับจิตวิทยาเชิงบวก (positive psychology) ซึ่งค่อยๆ เข้ามาแทนที่จิตวิทยาคลาสสิก (classical psychology) ที่มีอยู่เดิม

การเลี้ยงดูเด็กมิใช่เรื่องของการวางเงื่อนไขเท่านั้น และการปรับพฤติกรรมเด็กก็มิใช่เพียงการให้รางวัล เพิกเฉย หรือทำโทษ

เด็กมีจิตใจมากกว่าสัตว์ และเราสามารถทำความเข้าใจในตัวเขา ไปจนถึงเตรียมให้เขาพร้อมทำความเข้าใจโลกรอบตัวด้วย

 

5. การเรียนและความจำ การอ่านและจำนวน

 

ช่วงแรกของบทนี้พูดเรื่องความจำ ความจำมีหลายชนิด ได้แก่

– การจำความหมาย (semantic memory) หรือความรู้ทั่วไปของโลกบนพื้นฐานข้อเท็จจริง

– การจำเหตุการณ์ (episodic memory) คือความสามารถที่จะระลึกเหตุการณ์ในชีวิตของตนเองในอดีต

โรงเรียนทั่วไปมักจะจัดบทเรียนให้เด็กได้พัฒนาความจำสองแบบแรกนี้ แต่ที่จริงแล้วยังมีความจำอีกสองแบบที่สำคัญ ได้แก่ ความจำโดยปริยาย (implicit memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) หนังสืออธิบายสองเรื่องหลังนี้ไว้อย่างรวบรัด และอาจเข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย

ผมขออธิบายใหม่ดังนี้

ความจำโดยปริยาย หรือ implicit memory เป็นความจำในระดับจิตก่อนสำนึก (subconscious) นั่นแปลว่าพร้อมจะผุดขึ้นมาได้ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ จัดเป็นส่วนหนึ่งของความจำระยะยาว (long-term memory)

และเพราะเป็นความจำระยะยาวนี่เองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่มิใช่ความจำชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นความจำที่อยู่กับเด็กและเราต่อไปอีกนาน

ยิ่งไปกว่านั้น นี่มิใช่ความจำที่ถูกขังลืม มิได้อยู่ในจิตใต้สำนึก (unconscious) อันลึกสุดคณาจนเจ้าตัวยังไม่รู้ว่ามี แต่มันอยู่แค่ใต้ผืนน้ำเท่านั้น

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ให้เปรียบเทียบกับคำว่า explicit memory หรือความจำชัดแจ้ง เช่น บทอาขยานที่เราท่องได้ทุกตัวอักษรโดยไม่ผิด เด็กเอ๋ยเด็กน้อย ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา ความแข็งแกร่งของความจำชัดแจ้งนี้อาจจะมีมากถึงระดับที่เราพยายามจะลบอย่างไรก็ลบมิได้ หนำซ้ำยังส่งผลต่อชีวิตของเราอย่างนึกไม่ถึงเช่นกัน เช่น ความรู้ผิดๆ ทั้งปวงในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น

หากเราพิจารณาภาษาจัดการความรู้ (knowledge management) จะพบคำว่า explicit knowledge ซึ่งใช้เรียกความรู้ที่ตั้งมั่น เป็นความรู้ที่ถูกสถาปนาเอาไว้แล้ว (established knowledge) กับคำตรงข้ามที่นักจัดการความรู้พูดบ่อยคือ tacit knowledge ใช้เรียกความรู้แฝงในตัวคนที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ความรู้แฝงนี้เองที่อยู่คู่กายคนทำงาน เช่นเดียวกับความจำเชิงปริยายที่อยู่คู่ใจคนทุกคน

หนังสือเขียนถึงอีกคำหนึ่งคือ ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ความจำเชิงกระบวนวิธีเป็นส่วนย่อยของความจำโดยปริยาย ได้แก่ ความจำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในกระบวนการต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การผูกเชือกรองเท้า

เด็กผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยความจำเชิงกระบวนวิธี แน่นอนว่าเขาได้รับการสอนและฝึกในวันแรกๆ ของชีวิต แต่เขาจะทำได้เองในภายหลังโดยไม่ต้องคิด เพราะมันเป็นความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธี

อีกตัวอย่างหนึ่ง คนเราขับรถได้โดยไม่ต้องคิด มีบางครั้งที่เราเหม่อขับรถไปได้จนถึงปลายทางโดยมิได้ใส่ใจเรื่องราวระหว่างทางเลย เมื่อถึงปลายทาง เรานึกไม่ออกด้วยซ้ำไปว่าเมื่อสักครู่เราผ่านสี่แยกไฟแดงที่ผ่านทุกเช้าทุกเย็นหรือเปล่า ผ่านตอนไหน ผ่านมาได้อย่างไร มีใครข้ามถนนบ้าง ไฟแดงนานเท่าไร เป็นต้น เราไม่ต้องคิดถึงวิธีขับรถ แตะเบรก หรือหมุนพวงมาลัย เราทำทั้งหมดด้วยความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธี

หนังสือโยงเรื่องนี้มาถึงเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับงานพัฒนาการเด็ก นั่นคือเรื่องของ ‘ตัวบท’

เด็กพัฒนาตนเองโดยใช้ตัวบทเป็นเครื่องมือ สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ เรารู้ว่าเด็กพัฒนาความจำด้วยการใช้ตัวบทเป็นเครื่องมืออีกด้วย และความจำที่เด็กพัฒนาขึ้นมานี้เรียกว่า ความจำใช้งาน (working memory)

เราพัฒนาเด็กเล็กหรือแม้กระทั่งทารกด้วยตัวบท ตำราบางเล่มใช้คำว่าจังหวะ (rhythm) กล่าวคือเราฝึกเด็กให้รู้จักเวลาดูดนมและเวลานอนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ด้วยวิธีนี้เด็กจะเรียนรู้ตัวบท (หรือจังหวะ) โดยที่ยังไม่มีความคิดคำนึงเรื่องเวลาแม้แต่น้อย

เราทำเรื่องการดูดนมและการนอนให้เป็น ‘กิจวัตร’ เด็กจะทำได้เองเมื่อถึงเวลา โดยไม่ต้องบังคับนอนหรือบังคับดูดแต่อย่างใด

หลังจากทารกได้ตัวบทแรก เมื่อเวลาผ่านไป เขาจะเริ่มจดจำกิจวัตรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาง่ายขึ้น วันหนึ่งเขารู้เวลากิน เวลาดูดนม เวลาอ่านนิทานก่อนนอน และเวลานอน แล้วตัวบทชุดที่สองก็ตั้งมั่น

เมื่อทารกได้ตัวบทชุดที่สอง หลังจากเวลาผ่านไปอีก เขาจะเริ่มจดจำกิจวัตรใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แล้ววันหนึ่งเขาก็จะรู้เวลาที่ควรเก็บจานไปล้าง แปรงฟัน อาบน้ำ แล้วไปอ่านหนังสือ ในตอนเช้าของวันจันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ เขารู้เวลาตื่นนอน เก็บที่นอน แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว เขารู้วิธีใส่เสื้อ กลัดกระดุม ใส่กางเกง กลัดตะขอ คาดเข็มขัด ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า พร้อมไปโรงเรียน บัดนี้ความจำเชิงปริยายและความจำเชิงกระบวนวิธีสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว เขาทำทุกอย่างนี้ได้โดยอัตโนมัติ

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เขาจำเป็นต้องผ่านการจดจำตัวบทแรก แล้วเขาจะจดจำตัวบทที่สองได้ง่าย และเมื่อจดจำตัวบทที่สองได้ง่าย เขาจะจดจำตัวบทที่สามได้ง่ายยิ่งขึ้น และง่ายยิ่งขึ้นทุกขณะเมื่อเวลาผ่านไป

เห็นหรือยังว่าช่วงเวลา 3 ขวบปีแรกของเด็ก สิ่งที่เราควรทำและต้องทำคือการบริหารความจำโดยปริยายและความจำใช้งาน ไม่ใช่การจำความหมายและการจำเหตุการณ์ อันนี้เขาเรียกว่าท่องหนังสือสอบ

แต่ความจำโดยปริยายมีข้อควรระวังด้วย เป็นเรื่องที่งานจิตวิทยาสับสนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เหตุเพราะความจำโดยปริยายเป็นจิตก่อนสำนึก ซึ่งก็เป็นส่วนย่อยของจิตใต้สำนึกอยู่ดี ดังนั้นเราอาจเผลอเติมความจำนี้ได้โดยไม่ทันระวัง และอาจเติมผิดๆ ด้วย ในทำนองเดียวกัน เด็กก็สามารถเติมมันได้และเติมผิดๆ ได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างคำให้การของเด็กเล็กต่อตำรวจหรือครู เราต้องพึงระวังให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กถูกบีบคั้น ตัวอย่างเช่น คำให้การไปคนละทางของเด็กสองคนในตอนต้นของซีรีส์ Big Little Lies

 

ที่มา: courtesy of HBO

 

ในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยเล่าเรื่องราวสมัยเป็นเด็กเล็กให้แก่จิตแพทย์ เราพึงระวังเช่นกัน ด้วยความจำเหล่านี้อาจผิดเพี้ยนได้

ความจำโดยปริยายเป็นความจำที่ไม่เสถียร สามารถแต่งเติมได้ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนา เรื่องที่พึงระวังมากยิ่งขึ้นคือ บางครั้งเด็กแต่งเติมในครั้งแรก แล้วฝังลงไปเป็นความจำระยะยาวที่ตนเองคิดว่าถูกต้องตลอดไป

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยหลายชิ้นทั้งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้และในที่อื่นๆ ซึ่งพบว่าเด็กสามารถจดจำเหตุการณ์สะเทือนขวัญได้ดีกว่าเหตุการณ์ปกติ

เราจะเสริมสร้างความจำของเด็กได้อย่างไร หนังสือได้ยกตัวอย่างเรื่องแม่พาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ หากเราไม่ทบทวนความจำหลังเที่ยวเลย ความจำจะหายไปเร็ว หรือหากทบทวนเพียงหัวข้อ เช่น วันนี้เห็นตัวอะไรบ้าง ความจำจะยังคงเลือนหายได้ แต่ถ้าเราทบทวนในรายละเอียด เช่น วันนี้เราพบสิงโต สิงโตอยู่ในกรงตัวใหญ่มากเลย แผงคอสะท้อนแสงสีทอง มันตะปบลูกชายจอมซนของมันด้วยนะ เช่นนี้เราพบว่าเด็กจะจดจำได้นานกว่า เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เด็กกลุ่มนี้จำเหตุการณ์วันเที่ยวสวนสัตว์ได้ดีกว่า

เวลาโรงเรียนสมัยใหม่พาเด็กออกนอกสถานที่ ไปสวนสัตว์ ป่าเขา ลำธาร หรือพิพิธภัณฑ์ เมื่อกลับมา โรงเรียนมิได้สั่งให้เด็กเขียนรายงาน แต่ให้นั่งเป็นกลุ่มพูดคุยกันถึงกิจกรรมที่ผ่านมา เด็กมิได้มีความจำชัดแจ้ง แต่เด็กได้ความจำโดยปริยาย ซึ่งไม่แข็งกระด้างและพร้อมพัฒนาอย่างมีเสรีภาพและความยืดหยุ่นต่อไป ทั้งยังส่งผลดีต่อชีวิตมากกว่าอย่างมหาศาล

งานวิจัยยังพบอีกว่า ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาความจำโดยปริยาย ดังนั้นการเขียนจึงเป็นกลวิธีที่ดี

เมื่อเด็กๆ ได้เขียนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วยความสุข (มิใช่เขียนรายงานด้วยความทุกข์) พัฒนาการของความจำโดยรวมก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

แล้วคุณให้ลูก ‘เขียน’ บ้างหรือยัง

……….

เด็กเรียนรู้ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสก่อน นี่เป็นความรู้ที่เรารู้มาก่อนแล้วจากงานของเพียเจต์ หนังสือเขียนซ้ำอีกครั้งเพื่อตอกย้ำความชัดเจนว่าเด็กเรียนรู้ด้วยประสาทตาและหูก่อน

เด็กเรียนรู้อะไร เด็กเรียนรู้ฟิสิกส์ก่อน แล้วเรียนรู้เคมี และตามด้วยชีววิทยา ความข้อนี้ตรงกับที่เพียเจต์เคยเขียนเอาไว้แล้วเช่นกัน เพียเจต์เขียนหนังสือเอาไว้ 3 เล่มเป็นภาษาฝรั่งเศส คือ The Child’s Conception of Movement and Speed (1946) ,The Construction of Reality in the Child (1954) และ The Child’s Conception of Time (1969) เพื่ออธิบายขั้นตอนที่เด็กเรียนรู้การเคลื่อนที่และความเร็ว เรื่องเวลา และเรื่องความจริงหรือความเป็นจริง (reality)

 

 

หนังสือสามเล่มเขียนห่างกันหลายปี แต่การก่อร่างสร้างตัวของการเคลื่อนที่และความเร็ว เวลา และความจริง เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเสมอ

หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างเรื่องการตกของวัตถุ เด็กเรียนรู้ว่าวัตถุตกเป็นเส้นตรง นี่คือความจริงชุดที่หนึ่ง วัตถุเคลื่อนที่จากบนลงล่างด้วยความเร็วหนึ่ง แล้วโลกก็เกิดแนวคิดเรื่องเวลา ทั้งระบบนี้คือความจริง

แต่ความจริงนี้ถูกบิดเบือนได้ หนังสือยกตัวอย่าง ‘ข้อผิดพลาดเรื่องแรงโน้มถ่วง’ เมื่อเราบิดงอท่อตรงเส้นหนึ่งให้ทางออกด้านล่างอยู่คนละตำแหน่งกับทางเข้าด้านบน จากนั้นทิ้งลูกบอลลงท่อให้เด็กดู เด็กจะเฝ้าดูปลายท่อตามแนวดิ่งก่อน เพราะโดยสมมติฐานที่เขาสร้างขึ้น ลูกบอลควรจะตกลงมาตรงๆ

ตัวอย่างนี้บอกอะไรแก่เรา มันบอกว่าเด็กกำลังสร้างโลกด้วยสายตา และสร้างสมมติฐานขึ้นมาจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าสมมติฐานนั้นไม่จริง

หนังสือยกตัวอย่างต่อไปเรื่องการทิ้งลูกบอลนอกหน้าต่างรถไฟที่กำลังวิ่ง แม้แต่ผู้ใหญ่บางคน (ซึ่งเรียนหนังสือมาแล้ว-ในบ้านเรา) ก็ยังคิดว่าลูกบอลควรตกลงไปตรงๆ แต่ที่จริงแล้วลูกบอลจะถูกกระทำด้วยแรงอื่นทำให้ตกลงไปไม่ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งสมมติฐานไว้ นี่คือความจริงที่บิดเบี้ยวจากความจริงที่หนึ่ง ประเด็นคือหากเด็กมิได้รับโอกาสเรียนรู้ด้วยสายตาและฟังด้วยหูมากพอ เขาก็อาจเติบโตมาเหมือนผู้ใหญ่บางคนที่ว่านี้

หากอ่านงานของเพียเจต์จะพบว่า เพียเจต์เขียนเรื่องการเคลื่อนที่และความเร็วไว้ละเอียดมาก พร้อมด้วยการทดลองหลากหลายที่แสดงถึงพัฒนาการด้านแนวคิด (conception) ของเด็ก เช่น เปรียบเทียบการเดินทางจากซ้ายไปขวาตามเส้นทาง A1 และ A2 เส้นทางไหนที่เด็กจะได้ระยะทางมากกว่ากัน ด้วยความเร็วเท่าไร

 

 

แล้วทำให้เรื่องยากขึ้นไปอีกเมื่อให้เปรียบเทียบการเดินทางจากซ้ายไปขวาตามเส้นทาง B1 และ B2 (ซึ่งเราจะเห็นฟันปลาที่ย้อนกลับ) เด็กรับรู้การเปลี่ยนตำแหน่งของวัตถุ ระยะทางที่ได้ ความเร็วที่ใช้ แล้วสร้างความจริงขึ้นมาอย่างไร

 

 

จะเห็นว่าโลกของ A ไม่เหมือนโลกของ B เป็นโลกที่เด็ก ‘สร้าง’ ขึ้นมา มิใช่เพียงแต่เด็กเห็นเอง

ประเด็นคือถ้าเราจับเด็กขังไว้ในห้องเรียนทั้งวัน เด็กจะสร้างโลกแบบไหน และเมื่อเทียบกับพาเด็กออกไปเล่นในสนามหรือเดินป่าเดินเมือง เด็กจะสร้างโลกแบบไหน โลก A ย่อมไม่เหมือนโลก B

จากฟิสิกส์มาถึงเคมี เด็กเรียนรู้โครงสร้างและคุณสมบัติ เสมือนหนึ่งล่วงรู้สูตรเคมีโดยมิได้ยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว จากนั้นจึงเป็นชีววิทยา สองกรณีนี้ได้ยกตัวอย่างแล้วในบทก่อนๆ

เมื่อเด็กสร้างความจริงหรือโลกขึ้นมาแล้ว มาถึงเรื่องระบบตรรกะ ส่วนนี้ไม่ยากเพราะเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้มาก่อนแล้ว ระบบตรรกะในเด็กมี 2 ระบบพื้นฐานเช่นกัน คือ induction และ deduction โดยที่เด็กเรียนรู้ได้เองตั้งแต่ก่อนวัยเรียน

กรณี induction ยกตัวอย่างเช่น “คนมีม้าม สุนัขมีม้าม แล้วกระต่ายมีม้ามหรือไม่” เด็กๆ จะดูออกด้วยความรู้เรื่องเคมีและชีววิทยาว่าสัตว์ที่เอ่ยชื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัว ดังนั้นกระต่ายก็ควรจะมีม้าม แต่ถ้าลองอีกตัวอย่างหนึ่ง “สุนัขมีม้าม ผึ้งมีม้าม แล้วคนมีม้ามมั้ย” เช่นนี้เด็กจะเริ่มลังเล เพราะลักษณะภายนอกของผึ้งนั้นแตกต่างออกไปชัดเจน

เรื่องที่ควรให้ความสนใจคือการให้เหตุผลด้วย analogy ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เพราะแรงโน้มถ่วง ขณะที่อิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียสด้วยแรงโน้มถ่วงเช่นกัน เพราะโครงสร้างของสุริยจักรวาลและโครงสร้างอะตอมคล้ายคลึงกัน ความสามารถด้าน analogy นี้จะช่วยให้เด็กขยายความจริงหรือโลกของตนเองออกไปได้อย่างกว้างขวาง

สำหรับกรณี deduction หนังสือยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยอีกเช่นกัน “แมวทุกตัวเห่า เร็กซ์เป็นแมว เร็กซ์เห่าไหม” คำตอบคือใช่ นี่เป็นการอ้างเหตุผลเชิงตรรกะที่เด็ก 4 ขวบเรียนรู้และยอมรับได้ก่อนที่จะเผชิญเหตุผลที่ค้านกับความจริงต่อไป นั่นคือแมวไม่เห่า

ทั้งสามกรณีคือ induction, analogy และ deduction เป็นพัฒนาการพื้นฐานของช่วงปฐมวัย ซึ่งหากผู้ออกแบบการศึกษาเข้าใจความจริงข้อนี้ แล้วต่อยอดการศึกษาในระบบโรงเรียนที่สอดรับกับพัฒนาการด้านตรรกะก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างมาก

พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช้วิธีท่องจำ แต่ให้รู้ที่มา

เรื่องถัดไปเป็นเรื่องการร่ำเรียนเขียนอ่าน หนังสือจิตวิทยาเด็กเล่มนี้ยกตัวอย่างอักษรและคำในภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับตำราที่อธิบายเรื่องกลไกการอ่านทั่วไป เวลาอ่านตำราเหล่านี้ เราต้องคอยยกตัวอย่างเป็นภาษาไทยเพื่อทำความเข้าใจควบคู่กัน กล่าวโดยสรุปคือ เด็กจำแนกเสียงได้ก่อน ตามด้วยการจำแนกอักขระ “เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้หลักการเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษรได้อย่างรวดเร็ว” อันที่จริงหนังสือเล่มนี้มิได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าเพราะอะไรเด็กส่วนใหญ่จึงเชื่อมโยงได้ แต่พวกเขาทำได้จริงๆ

หนังสือพูดถึงสองเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องแรกคือเรื่องความบกพร่องด้านการอ่าน (dyslexia) ใช่ว่าเด็กกลุ่มนี้จำแนกเสียงมิได้ แต่อาจจะเป็นเพราะพวกเขา “แยกแยะเสียงที่แตกต่างได้ดีเกินไป” พวกเขาแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ในรายละเอียดมากเกินกว่าที่เด็กคนอื่นทำได้ “ซึ่งโดยทั่วไป เมื่ออายุ 12 เดือน ทารกก็จะไม่ได้ยินเสียงแบบนี้แล้ว” นอกจากนี้เด็กกลุ่มนี้ยังไม่สามารถระบุการเน้นเสียงพยางค์และจังหวะ โดยเรื่องการเน้นเสียงพยางค์นั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของภาษาอังกฤษ

เรื่องที่สองคือเรื่องการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่ยังไม่เกิดได้”

เรื่องสุดท้ายของบทที่ 5 นี้คือเรื่องจำนวน เด็กมิได้เรียนรู้จำนวนด้วยการนับ การนับมิได้มีอะไรแตกต่างจากการท่องจำ แต่เด็กเรียนรู้ด้วยระบบสัญลักษณ์ การจัดลำดับ และการแบ่งกลุ่ม คือ symbolization, ordering และ grouping

ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนจำนวน ทว่าตัวเลขมิได้ใช้แทนจำนวนเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้แทนลำดับที่และแทนคุณสมบัติของวัตถุได้ด้วย “เพราะลำดับเลขคือสัญลักษณ์บ่งชี้ขนาด โดยเรียงตามลำดับก่อนหลัง” กล่าวคือ 2 อยู่หลัง 1 ดังนั้น 2 ย่อมใหญ่กว่า 1 หรือมากกว่า 1 จะเห็นว่าความจริงข้อนี้มิได้เกิดจากการนับ แต่เกิดขึ้นได้จากการจัดกลุ่มและการจัดลำดับ กลุ่มที่มีวัตถุ 5 ชิ้น นับได้ว่ามีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มีวัตถุ 3 ชิ้น เด็กจึงได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า ‘มากกว่า’ เช่นนี้เอง

พูดง่ายๆ ว่าการเล่นหมากเก็บคือการเรียนรู้คณิตศาสตร์พื้นฐาน ได้แก่การจัดกลุ่ม จัดลำดับ ระบุจำนวนมากกว่าน้อยกว่า จากนั้นจึงนับแล้วเก็บขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอโมเดลของสมองที่เกี่ยวข้องกับจำนวนว่าสมองมี 2 ระบบ คือ analogue magnitude representation ใช้เป็นตัวแทนเปรียบเทียบจำนวนชุดใหญ่ และ object individuation ใช้บ่งชี้จำนวนวัตถุ

การทำงานของสองระบบนี้ทำให้เด็กสามารถเปรียบเทียบจำนวนที่มากกว่าหรือน้อยกว่าได้ และสามารถนับจำนวนเป็นหลักหน่วยได้ด้วย เด็กที่มีความบกพร่องด้านการคำนวณ (dyscalculia) อาจจะมีความผิดปกติของระบบ analogue magnitude representation เมื่อระบบนี้ผิดพลาด การเปรียบเทียบจำนวนจะทำไม่ได้ จึงคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ไม่ได้

“ทุกคนพูดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะอ่านได้หรือเขียนได้ … ทุกคนนับได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักคณิตศาสตร์ได้”

ตัวแปรสำคัญคือระบบสัญลักษณ์

และระบบสัญลักษณ์นั้นได้จากการเล่น -ประโยคสุดท้ายนี้ผมเขียนเอง

 

6. การเรียนรู้ของสมอง 

 

แล้วเราก็มาถึงบทที่สำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่เราอยากให้เด็กไทยมีมากที่สุด

สมองของเด็กปัจจุบันเริ่มต้นด้วยการอ่าน เขียน และคำนวณเป็นพื้นฐาน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนคิดวิเคราะห์ นี่คือโครงร่างอย่างง่ายๆ แต่ปัญหาของบ้านเราคือ เราทำลายโครงร่างอย่างง่ายๆ นี้ด้วยระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ได้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้วันนี้คือเด็กไทยอ่านไม่ออก อ่านจับใจความไม่ได้ เขียนไม่ได้ เขียนไม่รู้เรื่อง ไปจนถึงคิดเชิงตรรกะไม่ได้และคิดวิเคราะห์ไม่เป็น

การคิดวิเคราะห์เริ่มจากวิธีคิดแบบ deduction ในบทที่แล้ว “แมวทุกตัวเห่า เร็กซ์เป็นแมว เร็กซ์เห่าไหม” คำตอบคือใช่ นี่เป็นการอ้างเหตุผลเชิงตรรกะที่เด็ก 4 ขวบเรียนรู้และยอมรับได้ก่อนที่จะเผชิญความจริงที่ค้านกับเหตุผล นั่นคือแมวไม่เห่า

บทที่ 6 นี้ยกอีกหนึ่งตัวอย่างมาพิจารณา หมีทุกตัวในดินแดนไกลโพ้นตอนเหนือที่มีหิมะตกมีสีขาว หมู่เกาะโนวายาเซมล์ยาเป็นดินแดนไกลโพ้นตอนเหนือที่มีหิมะตก ขนหมีที่นั่นจะมีสีอะไร?

หากถามชาวนา เขาจะไม่ตอบและให้ไปถามคนที่นั่น แต่ถ้าถามเด็กที่ได้เรียนตรรกะ เขาจะใช้เหตุผลเชิงตรรกะควบคู่กับประสบการณ์ตรง ด้วยวิธีนี้เขาจะขยายโลกทัศน์ออกไปได้โดยไร้ขอบเขต (นั่นคือไม่ต้องเดินทางไปถามคนที่นั่นก็หาคำตอบได้)

[โนวายาเซมล์ยา (Novaya Zemlya) อยู่ทางตอนเหนือของรัสเซีย และเคยเป็นเขตทดลองนิวเคลียร์]

 

หมีขาวที่โนวายาเซมล์ยา ที่มา: https://siberiantimes.com

 

การศึกษาช่วยให้เด็กกลายเป็น ผู้เรียนที่รู้จักขบคิดใคร่ครวญ’ เพราะทักษะทาง ‘อภิปัญญา’ (การตระหนักรู้ถึงปัญญาความรู้ของตนเอง) จะพัฒนาขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงที่เด็กศึกษาเล่าเรียน และ “การศึกษาเล่าเรียนช่วยให้เด็กโตเรียนรู้วิธีเอาชนะอคติหรือความลำเอียงที่อาจขัดขวางการใช้เหตุผล เช่น ความลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตนเอง (confirmation bias)

ยกตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือ Animal Farm ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ควรประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือการตระหนักรู้ถึงปัญญาความรู้ของตนเอง และขั้นตอนที่สองคือเอาชนะความลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตนเอง เป็นต้น

พูดง่ายๆ ว่าเราอยากให้เด็กไทยรู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร และจะเอาชนะความไม่รู้นั้นได้อย่างไร มากกว่าที่จะรู้มากๆ อย่างที่การศึกษาไทยทำอยู่

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือการพัฒนาความจำใช้งานและทักษะสมองด้านการบริหารจัดการ หรือ Executive Function (EF) ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถยับยั้งความคิด อารมณ์ และการกระทำได้

เด็กที่ทบทวนตนเองได้ดีกว่าจะมีอภิปัญญาสูงกว่า สามารถ “ใคร่ครวญ” ทักษะประมวลผลของตนเอง สามารถตรวจสอบ “ประสิทธิภาพของการทำงาน” ของสติปัญญาตนเอง และสามารถ “ตระหนักรู้” ถึงสมรรถนะของสติปัญญาตนเอง ขอให้ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) ให้ถูกตำแหน่ง จะเห็นว่าจุดสำคัญมิได้อยู่ที่ทักษะประมวลผลหรือสติปัญญา แต่เป็นสิ่งที่เหนือกว่านั้น (อภิ- หรือ epi-)

หนังสือได้ยกตัวอย่างงานทดลองการท่องจำระหว่างเด็กเล็กกับเด็กโต พบว่าเด็กโตพัฒนากลไกท่องจำได้ดีกว่า จากนั้นจึงทดลองการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ พบว่าเด็กโตเชื่อมโยงสัญลักษณ์ได้ดีกว่า ประเด็นคือเด็กโตควรมีอภิปัญญามากพอที่จะใคร่ครวญถึงกลไกที่เคยทำ นั่นคือการท่องจำ แล้วก้าวข้ามไปสู่กลไกที่สูงกว่า นั่นคือการเชื่อมโยงสัญลักษณ์ ทว่าปัญหาของบ้านเราคือ เด็กมักจะติดอยู่กับที่เดิม ไม่ก้าวข้ามต่อไป

แม้แต่เรื่องความจำ เด็กที่ใส่ใจส่วนที่อยู่เหนือกว่า (อภิ- หรือ epi-) ความจำ จะจดจำได้ดีกว่า โดยทดลองให้เด็กกลุ่มหนึ่งดูวิดีโอที่ฉายภาพวิธีจำรูปภาพชุดหนึ่ง พบว่าเด็กที่บรรยายวิธีจำได้ดีกว่าจะจดจำได้มากกว่า จากงานทดลองนี้นำไปสู่อีกสองคำที่ควรรู้คือ ‘ความยากง่ายในการเรียนรู้’ (ease of learning)และ ‘ความมั่นใจในสิ่งที่รู้’ (feeling of knowing) โดยทั่วไปความยากง่ายในการเรียนรู้ไม่สัมพันธ์กับอายุ กล่าวคือ เด็กโตบางคนไม่ได้พัฒนาความสามารถนี้ และโดยส่วนใหญ่คนเราประเมินจากความมั่นใจในสิ่งที่รู้มากกว่าความเป็นจริง

ยกตัวอย่างหนังสือสองเล่มของจอร์จ ออร์เวลล์ หนังสือเล่มแรกคือ Animal Farm นั้นอ่านง่ายและเข้าใจได้ง่ายกว่าหนังสือเล่มที่สอง นั่นคือ Nineteen Eighty-Four แต่สำหรับผู้ที่อภิปัญญาไม่สูงนักย่อมไม่สามารถใคร่ครวญสมรรถนะของสติปัญญาและความยากง่ายในการเรียนรู้ของตนเองว่าอ่านหนังสือทั้งสองเล่มรู้เรื่องมากเพียงใด

เรื่องต่อไปคือเรื่องทักษะสมองด้านการบริหารจัดการ แปลมาจากคำว่า Executive Function (EF) ซึ่งสัมพันธ์กับสติปัญญาทั่วไป ทักษะภาษา และความจำใช้งาน ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมยับยั้งความคิด นำไปสู่การควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำ

สิ่งที่ควรรู้คือ EF สามารถพัฒนาได้ แม้ในเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน

หนังสือกล่าวถึงเรื่อง ‘ความสามารถที่จะชะลอความต้องการเติมเต็มความพอใจ’ หรือ delayed gratification โดยยกตัวอย่างการทดลองที่ห้ามไม่ให้เด็กหยิบขนมจนกว่าจะได้ยินเสียงกริ่ง และอีกประเด็นคือเรื่อง ‘การยับยั้งความคิด’ หรือ inhibitory control โดยยกตัวอย่างการทดลองที่เรียกว่า Go-No Go task ซึ่งกำหนดให้เด็กพูดว่ากลางวันเมื่อเห็นดวงจันทร์และพูดว่ากลางคืนเมื่อเห็นดวงอาทิตย์ สมองจะบริหารจัดการโจทย์เหล่านี้ได้ด้วย EF ที่ดี กล่าวคือ ยับยั้งหนึ่ง พูดอีกหนึ่ง

อีกประเด็นคือเรื่องสิ่งเร้าหรือสิ่งยั่วยวน สมองเด็กจะบริหารจัดการได้ดีกว่าเมื่อจัดการสิ่งเร้าหรือสิ่งเย้ายวนที่มาก่อกวนสมาธิได้ดี เด็กสมาธิสั้นได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่มี EF Deficit แต่ถ้าเราเข้าใจและแยกแยะกลไก EF ได้ ก็น่าจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

“ทักษะภาษาที่อ่อนด้อยทำให้เด็กไม่อาจควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำผ่านการพูดคุยกับตัวเองในใจอย่างเต็มที่”

จะเห็นว่าเด็กที่พูดคนเดียวระหว่างเล่นคนเดียวหรือทำงานคนเดียว แท้จริงแล้วเขากำลังฝึกทักษะภาษา (private speech) หรือที่มากกว่านั้นคือเขากำลังบริหารความจำใช้งาน (working memory)

อีกเรื่องหนึ่งของ EF คือความยืดหยุ่นทางปัญญา (cognitive flexibility) ได้แก่ “ความสามารถคิดสลับไปมาระหว่างงานที่แตกต่างกัน และการพิจารณาหลากหลายมุมมองในเวลาเดียวกัน” จะเห็นว่าเด็กสมัยใหม่ในยุคไอทีไม่สามารถทำงานชิ้นเดียวตรงหน้าอย่างซื่อๆ พวกเขาจำเป็นต้องมีความสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (multi-task) และได้ผลลัพธ์ที่ดีทุกงานอีกด้วย เด็กไทยทำงานแบบนี้มิได้หากสมองไม่มี EF ที่ดีพอ เพราะการระดมยิงข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้นในปัจจุบันเป็นภาระหนักของสมองมากเกินกว่าที่การท่องจำอย่างซื่อๆ และตอบข้อสอบปรนัยอย่างง่ายๆ จะรับมือได้อีกต่อไป

แม้เราจะพูดถึงเฉพาะ EF แต่ขณะเดียวกัน EF ก็สัมพันธ์กับ Ego อย่างใกล้ชิด EF ที่ดีช่วยให้เด็กมีความสามารถล่วงรู้จิตใจตนเองไปจนถึงล่วงรู้จิตใจผู้อื่น โดยพบว่าเด็กหญิงพัฒนาเร็วกว่าเด็กชาย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเด็กหญิงมักพัฒนาทักษะภาษาได้เร็วกว่าเด็กชายนั่นเอง

……….

ปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในหัวข้อนี้คือการควบคุมตนเองไม่ให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่เป็นแก่นสาร หากเด็กทำเช่นนี้ไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางด้านสติปัญญาและสังคม โดยในด้านสติปัญญาคือเด็กเรียนรู้ไม่ได้ เพราะเขาจะวอกแวกไปตามสิ่งเร้าอยู่ตลอดเวลา

อาการหนักที่สุดของเรื่องนี้คือสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นได้ชื่อว่ามี EF deficit แปลว่าภาวะพร่อง EF แต่มิใช่ว่าเด็กทุกคนที่มีภาวะพร่อง EF จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder หรือ ADHD)

“ความรู้ในโลกแห่งความเป็นจริงอาจบ่อนเซาะการใช้เหตุผลอันจริงแท้”

นี่เป็นประโยคสำคัญที่ไม่อยากให้อ่านข้าม ความรู้ (knowledge) เป็นเรื่องดี การอ่านมากรู้มากหรือแม้กระทั่งท่องมากมิได้มีข้อเสียในตัวเอง แต่การยึดมั่นว่าเรื่องที่อ่านหรือรู้หรือท่องมาเป็นความจริงต่างหากที่ขัดขวางการเรียนรู้

ความยับยั้งชั่งใจไม่ให้ไหลไปตามสิ่งเร้าเป็นเรื่องยาก และมิได้ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ หรือไอคิว แต่เป็นความสามารถที่เด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึกปรือ งานวิจัยเรื่องนี้มักใช้เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า Stroop test คือให้เด็กจัดเรียงไพ่ตามสี สลับกับจัดเรียงไพ่ตามดอก ตอนที่จัดเรียงไพ่ตามสี เด็กจำเป็นต้องยับยั้งสิ่งเร้าคือดอกบนไพ่ และตอนที่จัดเรียงไพ่ตามดอก เขาต้องยับยั้งสิ่งเร้าคือสี ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเด็กที่กำลังพัฒนา EF พวกเขาทำเวลาได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ความแตกต่างนี้มีผลจากพัฒนาการด้านภาษา (language development) และพัฒนาการของหน่วยความจำใช้งาน (working memory) หนังสือละไว้มิได้พูดถึง Stroop Test อีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้ในงานวิจัย เช่น ให้เด็กอ่านตัวอักษรสีแดงที่เขียนว่า ‘เขียว’ แล้วอ่านตัวอักษรสีเขียวที่เขียนว่า ‘แดง’ จะเห็นว่าเด็กต้องยับยั้งสิ่งเร้าจากสีเพื่ออ่านให้ถูกต้อง การทดลองนี้แม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังทำคะแนนได้ไม่ต่างจากเด็กด้วยซ้ำ

 

ที่มา: www.bbc.co.uk

 

เราแบ่ง EF ออกเป็น 2 ชนิดคือ แบบร้อน (Hot EF) และแบบเย็น (Cool EF)

EF แบบร้อนจะได้ใช้ในสถานการณ์ที่เด็กมีอารมณ์ร่วมสูง ในขณะที่ EF แบบเย็นจะได้ใช้ในสถานการณ์ที่เด็กมีอารมณ์ร่วมน้อยกว่า เราพบว่าสมองที่รับผิดชอบ EF แต่ละแบบเป็นสมองคนละส่วนกัน งานวิจัยเด็กมักศึกษาเรื่อง EF แบบเย็นเพราะสภาพแวดล้อมได้รับการควบคุม แต่ในชีวิตจริงเด็กมักจะมีโอกาสใช้ EF แบบร้อนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่มักอยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อนฝูง วัยรุ่นจึงมีแนวโน้มที่จะควบคุมตนเองได้ยากและประเมินสถานการณ์เสี่ยงผิดพลาดด้วยกลัวถูกปฏิเสธทางสังคม จะเห็นว่า EF ที่ดีต้องควบคุมได้ทั้งความคิด อารมณ์ และการกระทำ

ส่วนความจำใช้งานนั้นมี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ verbal working memory เป็นความจำใช้งานด้านภาษาพูด อีกส่วนหนึ่งคือ visio-spatial working memory เป็นความจำใช้งานด้านมิติสัมพันธ์ ประเด็นสำคัญคือความจำใช้งานมีความจุที่จำกัด (ตำราบางเล่มเรียกความจำใช้งานสองส่วนนี้ว่า phonological loop & visio-spatial sketchpad)  พูดง่ายๆ ว่าหากได้ยินหรือมองเห็นแล้วไม่ทบทวน ความจำใช้งานก็จะเลือนหายไป และเมื่อมีความจำชุดใหม่เข้ามา ความจำชุดเก่าก็อาจเลือนหายไปได้ นอกจากนี้สภาวะอารมณ์ก็มีผลกระทบต่อความจำใช้งานด้วยเช่นกัน

การทบทวนความจำใช้งานมักทำด้วยการพูดในใจ (inner speech) ซึ่งเราพบว่าเด็กอายุ 3-4 ขวบสามารถพูดในใจได้แล้ว ถึงตรงนี้ควรเน้นย้ำว่า ช่วงเวลาหลังจาก 3 ขวบคือช่วงที่เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาก้าวกระโดดทั้งด้านความคิดและจิตใจ

เราจึงพูดเสมอว่าการเตรียมความพร้อมที่แท้นั้นคือการเลี้ยงลูกอย่างดีที่สุดในช่วง 3 ขวบปีแรก เพราะกว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วจริงๆ

เมื่อความสามารถในการยับยั้งชั่งใจดีแล้ว และความจุของความจำใช้งานดีแล้ว เราก็มาถึงการใช้เหตุผลหรือตรรกะ เด็กต้องยับยั้งข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็น ความรู้ที่ไม่เป็นความจริง รวมทั้งเหตุผลที่ใช้การไม่ได้ และความจำใช้งานของเด็กต้องมีความจุมากพอที่จะสลับสับเปลี่ยนความคิดและการใช้เหตุผล นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าคิดยืดหยุ่น หรือคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ภาษา EF เรียกว่า cognitive flexibility เราพบว่าเด็กอายุ 4-5 ขวบจะพัฒนาความสามารถด้านนี้ได้เร็วที่สุด นับเป็นช่วงนาทีทองของการเรียนรู้อย่างแท้จริงๆ ในขณะที่เด็กเล็กและผู้สูงอายุจะทำไม่ได้

หนังสือได้เล่างานทดลองที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของความรู้และการฝึกฝน โดยยกตัวอย่างงานวิจัยเรื่องเชียร์ลีดเดอร์และนักดนตรี กับอัจฉริยะด้านหมากรุก

นอกจากนี้เด็กยังสามารถทดสอบสมมติฐาน (hypothesis testing) หนังสือยกตัวอย่างงานทดลองที่ให้เด็กอายุ 6 ขวบและ 8 ขวบดูภาพเหตุการณ์ที่สองพี่น้องวางแผนจับหนู คนพี่เชื่อว่าหนูที่จะจับเป็นหนูตัวใหญ่ ส่วนคนน้องคิดว่าเป็นหนูตัวเล็ก นักวิจัยถามเด็กว่าเราควรวางกรงกับดักที่มีประตูกรงเป็นแบบช่องใหญ่หรือช่องเล็ก เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าหนูที่แอบมากินอาหารตอนกลางคืนนั้นตัวใหญ่หรือตัวเล็กกันแน่? ซึ่งงานวิจัยพบว่าเด็กส่วนใหญ่ตอบถูก

การทดลองใหม่อีกชิ้นอาศัยตัวแปรที่มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเด็กอายุ 11 และ 14 ปี โดยให้ดูภาพอาหารที่ทำให้เป็นหวัดหรือไม่ทำให้เป็นหวัดจำนวน 4 ภาพ แต่ละภาพมีอาหาร 4 ชนิด ปรากฏว่ามีร้อยละ 30 ของเด็ก 11 ขวบและร้อยละ 50 ของเด็ก 14 ขวบเท่านั้นที่ตอบถูก หลายคนตอบโดยอาศัย ‘ความเชื่อดั้งเดิม’ ว่าอาหารอะไรสัมพันธ์กับหวัด แต่ไม่ได้พิจารณารูปภาพและใช้ตรรกะที่ถูกต้อง เราเรียกว่าปรากฏการณ์นี้ว่า ความผิดพลาดแบบเหมารวม (inclusion error)

 

 

“พบว่ามนุษย์มักให้เหตุผลอย่างลำเอียงโดยยืนยันเหตุผลเข้าข้างตัวเองอย่างรุนแรง ซึ่งพบได้ในทุกเพศทุกวัย กล่าวคือ คนเรามีแนวโน้มที่จะหาหลักฐานยืนยันสาเหตุที่สอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมของเรา”

การเรียนรู้วิธีใช้เหตุผลควรเรียนรู้จากชีวิตจริง เพราะชีวิตจริงมีหลายตัวแปร

ประโยคข้างต้นน่าจะเป็นข้อสรุปสำคัญของเนื้อหาส่วนนี้ การใช้เหตุผลในข้อสอบปรนัยมักจำกัดตัวแปรลงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กจะได้พัฒนาทักษะสังคมและจริยธรรมอย่างแท้จริง (แต่มิได้หมายความว่าเราควรส่งเด็กไปโรงเรียนก่อน 7 ขวบเพื่อการนี้) พัฒนาการด้านสังคมและจริยธรรมมักจะเกิดขึ้นหลังจากอายุราว 7 ขวบ หนังสือทดลองให้เด็กอายุ 8, 13 และ 16 ปี ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับกระเป๋าเงินที่มีคนทำตก ผลที่ได้พบว่าเด็ก 8 ขวบบอกให้เอาไปคืนเจ้าของ เด็กอายุ 13 ให้เก็บเอาไว้ และเด็กอายุ 16 ให้เอาไปคืนเจ้าของเช่นกัน

เด็ก 8 ขวบบอกว่าในเมื่อกระเป๋าเป็นของเจ้าของก็ต้องเอาไปคืน ขณะที่เด็กอายุ 13 บอกว่าถึงอย่างไรของก็หายไปแล้ว ไม่ว่าเจ้าตัวจะรู้หรือไม่ก็ตาม ส่วนเด็กอายุ 16 ให้เหตุผลว่าเพราะเราเป็นคนที่เห็นเหตุการณ์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเอาไปคืน จะเห็นได้ว่าวิธีคิดตามหลักจริยธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลนั้นเกิดขึ้นช้ามากทีเดียว

หนังสือเขียนต่อไปว่า เด็กอายุ 13 คิดว่ากฎระเบียบในสังคมมาจากผู้มีอำนาจ ขณะที่เด็กอายุ 16 คิดว่าข้อตกลงทางสังคมเป็นกรอบของการอยู่ร่วมกันที่คนในสังคมช่วยกันกำหนด ความข้อนี้สอดคล้องกับทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรม (moral development) ของ Lawrence Kohlberg

อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ควรได้รับโอกาส ‘ใคร่ครวญ’ ประเด็นทางจริยธรรม ดังที่เราทราบแล้วว่าจริยธรรมมิได้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ในตัวเองและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาพัวพันด้วยอย่างมาก นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องรักษาสมดุลระหว่างอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

การให้เหตุผลภายหลังเหตุการณ์ (post-hoc reasoning) จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องจริยธรรมได้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น โดยที่ทั้งหมดนี้ยังคงสัมพันธ์กับ EF อันได้แก่การควบคุมตนเอง ความจำใช้งาน และการคิดยืดหยุ่น

ลองย้อนกลับไปพิจารณาตัวอย่างกระเป๋าเงินที่ตกหาย เด็กต้องควบคุมตัวเองไม่ให้เอาเงินในกระเป๋ามาเป็นของตน แล้วบริหารความจำใช้งานว่าด้วยข้อกำหนดทางจริยธรรมที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะคิดยืดหยุ่นไปสู่ข้อสรุปส่วนตนซึ่งตั้งอยู่บนอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

ลองจบบทที่ 6 นี้ด้วยตัวอย่างยากๆ สักตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราพบเหตุการณ์ที่พ่อล่วงละเมิดทางเพศลูก เราต้องควบคุมตนเองให้ไม่คิดแต่จะเอาตัวรอด แล้วบริหารความจำใช้งานว่าด้วยข้อกำหนดทางจริยธรรมสากล ซึ่งอาจจะรวมถึงข้อกฎหมาย ก่อนที่จะคิดยืดหยุ่นไปสู่ข้อสรุปส่วนตนซึ่งตั้งอยู่บนบนอัตลักษณ์ ความต้องการเป็นอิสระ การป้องกันพื้นที่ส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคล

เห็นหรือยังว่าเรื่องนี้ยากเพียงใด

 

7. ทฤษฎีและประสาทชีววิทยาของพัฒนาการ

 

หนังสือเล่มนี้พูดถึงงานพัฒนาการเด็กตามทฤษฎีของเพียเจต์และไวกอตสกีในฐานะทฤษฎีที่ยังมีอิทธิพลสูง แม้ว่าจะถูกท้าทายด้วยงานวิจัยด้านประสาทชีววิทยาสมัยใหม่

เช่น ข้อสังเกตอันมีชื่อเสียงของเพียเจต์ที่ว่า ทารกก่อน 10 เดือนยังไม่สามารถรับรู้ว่าวัตถุที่หายไปแท้จริงยังดำรงอยู่ แต่งานวิจัยด้านคลื่นสมองไฟฟ้าพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นสมองเมื่อทารกเห็นว่าวัตถุหายไปจากตำแหน่งที่ควรจะมี

หนังสือเล่างานของเพียเจต์อย่างง่ายๆ ว่า ทารกเกิดมาพร้อม ‘โครงสร้างทางปัญญา’ ที่จำกัด แต่มีประสาทสัมผัสและพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เช่น การดูด จับ (และปา) ทารกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาเพื่อรองรับสิ่งที่พบเห็น และเมื่อโครงสร้างทางปัญญาใหม่พบประสบการณ์ที่ไม่เข้ากันกับโครงสร้างเดิม ทารกก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญาต่อไปอีก นี่คือพัฒนาการในช่วง 18 เดือนแรกที่เพียเจต์เรียกว่า ขั้นเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (sensory-motor period)

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขั้นถัดมา นั่นคือ ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (preoperational period) อายุ 2-7 ปี เด็กช่วงวัยนี้เริ่มมีภาพในใจและใช้สัญลักษณ์ เพียเจต์บรรยายถึงปรากฏการณ์สำคัญๆ ได้แก่ การเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่ลักษณะวิธีคิดของเด็กเล็กก่อนวัยเรียนหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ egocentrism, centration, reversibility, conservation, transitivity, seriation และ class inclusion

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์จำนวนมากเหล่านี้ให้ทำความเข้าใจรูปประกอบในหน้า 195 ซึ่งคำบรรยายใต้ภาพตามต้นฉบับออกจะสั้นไปเล็กน้อย

 

 

คราวนี้ลองอธิบายใหม่

ขั้นแรก ดูรูปบน เด็กเล็กจะบอกว่าจำนวนแถวบนและแถวล่างเท่ากัน (แม้จะยังนับเลขไม่ได้) แต่เพราะเด็กยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและมุ่งสนใจสิ่งหนึ่งโดยละเลยสิ่งอื่น (centration) เมื่อเรายืดหมากแถวล่างให้ห่างออกจากกันทำให้แถวยาวกว่า เด็กเล็กจะตอบว่าแถวล่างมีจำนวนหมากมากกว่า

ขั้นที่สอง ดูรูปแถวกลาง เด็กเล็กจะบอกว่าน้ำในภาชนะสองใบด้านซ้ายมีปริมาตรเท่ากัน ครั้นเราเทน้ำจากภาชนะใบหนึ่งลงในภาชนะทรงสูง เด็กจะบอกว่าน้ำในภาชนะทรงสูงมีปริมาตรมากกว่า เด็กตอบเช่นนี้เพราะขาดความสามารถที่จะอนุรักษ์ความไม่แปรเปลี่ยนเอาไว้ (conservation)

ขั้นที่สาม ดูรูปแถวล่าง เด็กเล็กจะบอกว่าลูกบอลดินเหนียวสองลูกมีขนาดเท่ากัน ถ้าเราทำให้ลูกบอลลูกหนึ่งแบนลง เด็กจะบอกว่าลูกบอลที่แบนลงมีขนาดเล็กกว่า จะเห็นว่าเด็กไม่สามารถอนุรักษ์ปริมาณดินเหนียวเดิมเอาไว้ได้ สนใจมิติด้านความสูงแต่ละเลยมิติด้านเส้นผ่าศูนย์กลาง และขาดความสามารถในการคิดย้อนกลับ (reversibility)

ความสามารถพื้นฐานเหล่านี้ทำงานประสานกันตลอดเวลา เด็กจึงพัฒนาตนเองด้วยการทำงานทีละอย่าง เพื่อปรับโครงสร้างทางปัญญาให้เข้ากับข้อสังเกตใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยสมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า เด็กจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถด้านการบริหารจัดการหรือ EF และอภิปัญญาหรือ meta-cognition เพื่อให้สามารถควบคุมตนเอง ยับยั้งความคิดหนึ่งเพื่อแปรเปลี่ยนไปสู่อีกความคิดหนึ่ง และสลับความคิดไปมาได้โดยไม่สูญเสียเป้าหมาย อีกทั้งเด็กต้องสามารถใคร่ครวญตนเองด้วยการสลับปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างหลากหลาย พัฒนาการทั้งสองประการนี้เริ่มต้นในช่วงประมาณ 3-4 ขวบด้วยเช่นกัน

“ในขั้นก่อนปฏิบัติการคิด แนวโน้มที่จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง มุ่งสนใจเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่งและละเลยสิ่งอื่น และขาดความสามารถในการคิดย้อนกลับ จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลในโครงสร้างทางปัญญาของเด็ก”

นั่นทำให้เด็กต้องพัฒนาจากระดับปฏิบัติการคิดไปสู่ปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมต่อไป

ขั้นปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรม (concrete operation) อายุ 7-11 ปี  เด็กจะเข้าใจเรื่องจำนวนและปริมาณดีขึ้น พูดง่ายๆ ว่าเด็กมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และสามารถเข้าใจระบบตรรกะได้แล้ว โครงสร้างทางปัญญาปรับตัวเองเข้าสู่โลกแห่งตรรกะซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมการทางคณิตศาสตร์ ด้วยความสามารถที่เรียกว่าการถ่ายทอด (transitivity) ซึ่งแท้จริงแล้วเริ่มมีมาตั้งแต่ก่อน 7 ขวบ เพราะเหตุนี้งานวิจัยระยะหลังจึงชี้ให้เห็นว่า ที่จริงแล้วปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมอาจจะมาเร็วกว่าที่เพียเจต์คาดการณ์ไว้

ขั้นปฏิบัติการคิดเชิงนามธรรม (abstract operation) อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่นตอนต้นสามารถเชื่อมโยงปฏิบัติการคิดเชิงรูปธรรมหลายๆ กระบวนการเข้าด้วยกัน ในที่นี้คำสำคัญคือคำว่า ‘เชื่อมโยง’ จากนั้นเด็กต้องปรับโครงสร้างทางปัญญาไปสู่ระดับที่สูงขึ้นอีก หากใช้คำศัพท์สมัยใหม่ก็คือการสร้างอัลกอริธึมอันซับซ้อนเพื่อรองรับตรรกะของการคิด (ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์จะเขียนอัลกอริธึมให้ตัวเองเพื่อยกระดับตัวเอง)

ในขณะที่เพียเจต์เน้นว่าเด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง ไวกอตสกีกลับเน้นว่าเด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม การใช้สัญลักษณ์ และภาษา

ระบบสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดคือภาษา อันนำไปสู่การที่เด็กสามารถพูดในใจและคิดในใจ ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาที่สำคัญ

ไวกอตสกีเขียนเรื่อง พื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการ (zone of proximal development, ZPD) อันหมายถึงช่วงชั้นของพัฒนาการของเด็กคนหนึ่งซึ่งหากได้รับความช่วยเหลือก็จะพัฒนาต่อไป โครงสร้างนี้ได้มาจากความพยายามของไวกอตสกีที่จะช่วยเหลือเด็กพิเศษ ก่อนจะพบว่าเด็กพิเศษรวมทั้งเด็กคนอื่นๆ ที่เรียนรู้ช้าล้วนมีพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการส่วนตน ซึ่งหากมีคนช่วยเหลือก็จะไปต่อได้

ไวกอตสกีให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กมาก ด้วยเห็นว่าการเล่นเป็นพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กๆ อยู่แล้ว

“ระหว่างที่เด็กเล่น พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ของขอบเขตพัฒนาการเสมอ ดังนั้นเท่ากับว่าเด็กจะพัฒนาความคิดเชิงนามธรรมไปด้วยระหว่างเล่น”

ประเด็นต่อมาคือเรื่องทฤษฎีการสร้างความรู้ในเชิงประสาทวิทยา (Neuroconstructivism)

แม้ว่างานวิจัยด้านประสาทวิทยาและพันธุกรรมจะก้าวหน้าไปมาก และเป็นที่ยอมรับว่าสมองที่ดีแต่กำเนิดหรือยีนที่ดีแต่กำเนิดมีผลต่อพัฒนาการ แต่เรื่องที่ประชาชนทั่วไปควรตระหนักมี 2 ข้อ

1. ยีนมิใช่ปัจจัยชี้ขาด ต่อให้เรารู้ว่ายีนหนึ่งๆ กำหนดสีของตา แต่ยีนนั้นก็มิได้ทำงานโดดเดี่ยว ยีนทำงานโดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ นอกจากนี้ยีนยังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเสมอด้วย อัจฉริยะทางดนตรีที่มาเกิดผิดที่ย่อมไม่สามารถเป็นอัจฉริยะทางดนตรีได้

2. ความรู้เรื่องยีนนี้เองยิ่งทำให้เราควรใส่ใจเรื่องการจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคน เพื่อเปิดโอกาสให้ยีนของเด็กทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ ด้วยวิธีนี้เด็กที่มียีนบกพร่องด้านการอ่านก็อาจจะไม่แสดงออกมากมายเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะเราได้จัดสิ่งแวดล้อมที่ช่วยเหลือด้านการอ่านให้แก่เด็กทุกคนโดยเสมอภาคกัน

ยีน DRD4 (dopamine receptor D4 gene) เป็นยีนที่รับผิดชอบ executive function โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทที่รับผิดชอบระบบการให้รางวัลและการทำโทษ รวมทั้งความยืดหยุ่น งานวิจัยพบว่ามีการแปรผันจำเพาะ (specific variation) รูปแบบหนึ่งของยีน DRD4 ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กอย่างมาก เราเรียกว่ารูปแบบนี้ว่า 7-repeat allele

หากว่าเด็กมีลักษณะการแปรผันจำเพาะ 7-repeat allele นี้ จะทำให้โดปามีนตอบสนองต่อระบบการให้รางวัลและลงโทษลดลง ส่งผลให้การเรียนรู้ปั่นป่วน งานวิจัยพบว่าการเลี้ยงดูที่ไม่ดีในช่วง 10 เดือนส่งผลต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคมเมื่ออายุ 39 เดือน การเลี้ยงดูในทางลบอย่างการดุด่าและใช้ความรุนแรงจะส่งผลให้เด็กที่มีการแปรผันจำเพาะของยีนรูปแบบนี้มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากกว่าคนทั่วไปและควบคุมตนเองได้ต่ำกว่าเด็กทั่วไป ในขณะที่เด็กที่ไม่มี 7-repeat allele ยับยั้งชั่งใจได้ดีกว่า จะเห็นว่ายีนมีอิทธิพลอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเด็กมียีนแบบไหนก็ตาม ประเด็นการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับเด็กถือเป็นเรื่องจำเป็น

งานวิจัยสมองสมัยใหม่ยังพบด้วยว่า โครงสร้างสมองของเด็กคล้ายคลึงกับโครงสร้างสมองของผู้ใหญ่ เช่น ศูนย์ควบคุมการได้ยินตั้งอยู่บริเวณเดียวกันและทำงานด้วยกลไกที่คล้ายคลึงกัน วิธีนี้ทำให้เรามีความหวังที่จะค้นหาเด็กที่อาจจะมีปัญหาการพูดได้รวดเร็วกว่าเดิมแล้วรีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ

งานวิจัยด้านสมองส่วนมากเป็นการค้นหาสหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เช่น เรารู้แล้วว่าสมองส่วนหน้าสัมพันธ์กับ executive function อย่างแน่นอน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งใดเกิดก่อนเกิดหลัง อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล โดยสมมติฐานคือ สมองส่วนหน้าและ executive function พัฒนาพร้อมกันเป็นวงจรที่เกื้อหนุนกันและกัน

สมองคนเรามิได้อ่านหนังสือเป็นตั้งแต่แรก มนุษย์โบราณไม่จำเป็นต้องอ่าน แต่สมองเด็กทุกวันนี้ต้องพัฒนาสมองส่วนต่างๆ เพื่ออ่าน ได้แก่ ส่วนที่ใช้ดูตัวอักษร ลากนิ้วไปตามตัวอักษร ฟังเสียงจากแม่ที่กำลังอ่าน และฝึกออกเสียงตามเสียงที่ได้ยิน เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็นการอ่าน งานวิจัยพบว่าการลากนิ้วไปตามตัวอักษรด้วยมือทำให้สมองส่วนการมองตัวอักษรพัฒนาและสามารถลากสายตาไปตามตัวอักษรโดยไม่ต้องใช้นิ้ว จะเห็นว่าสมองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หนังสือเล่มนี้ทิ้งท้ายว่า แม้สมองจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถึงอย่างไรสมองก็ประกอบด้วยเซลล์มากถึง 86,000 ล้านเซลล์ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือปัจจัยด้านจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม

การจัดสภาพแวดล้อมที่บ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และสังคมที่เป็นมิตร ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดโดยไม่ต้องคำนึงว่าสมองของเด็กเป็นอย่างไร เพราะสมองจะปรับตัวได้เสมอ

……….

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ สำนักพิมพ์ bookscape

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save