fbpx
ขั้นบันไดของเด็กเล็ก พัฒนาการตามวัยที่ไม่ควรกระโดดข้าม : คุยกับ เมริษา ยอดมณฑป

ขั้นบันไดของเด็กเล็ก พัฒนาการตามวัยที่ไม่ควรกระโดดข้าม : คุยกับ เมริษา ยอดมณฑป

 ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

เป้าหมายของการเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่ คงไม่ทิ้งห่างไปจากความต้องการให้ลูกเติบโตอย่างสมบูรณ์ มีชีวิตที่ดี และแม้ความเชื่อเพื่อก้าวไปยังเป้าหมายนั้นจะมีเป็นร้อยพัน แต่ในทุกๆ ความเชื่อไม่อาจละเลยเรื่อง ‘พัฒนาการ’ ไปได้

ขยายความให้ชัดขึ้น พัฒนาการในที่นี้หมายถึงความต้องการ และการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลกับวิธีและกระบวนการที่พ่อแม่ใช้เลี้ยงลูก ความคาดหวังและวิธีการที่ข้ามวัยอาจสร้างปัญหาเรื้อรังหรือฉุดรั้งลูกจากชีวิตที่ดีในวันหน้าได้อย่างไม่น่าเชื่อ กลับกันสิ่งที่หลายคนมองข้าม เช่น การเล่น การสำรวจโลกนอกบ้าน และเวลา ‘คุณภาพ’ ระหว่างพ่อแม่ลูก อาจทำให้วันข้างหน้าของลูกกลายเป็นก้าวเดินที่มั่นคงแข็งแรง

เมื่อในทุกก้าวของเด็กปฐมวัยไม่อาจละเลยรายละเอียดได้ 101 จึงสนทนากับ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ห้องเรียนที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการเล่น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้กับพ่อแม่

บทสนทนาต่อไปนี้ ถอดความจากรายการ 101 One-on-One EP.83 ในประเด็น ‘เปิดโลกพัฒนาการเด็กปฐมวัย’ ว่าด้วยพัฒนาการตามวัยของเด็กเล็ก ความทุกข์ใจของพ่อแม่ ผ่านประสบการณ์ตอบคำถามในเพจของครูเม แนวคิดการเลี้ยงลูกที่ส่องไปเจอรายละเอียดสำคัญมากมาย และสะท้อนให้เห็นว่า ตัวพ่อแม่และวิธีการเลี้ยงดูจะส่งผลกับลูกได้อย่างไรบ้าง

 

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’

ทำไมถึงได้มาเป็นนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวและนักบำบัดได้คะ

เมเป็นนักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวที่ทำงานกับเด็กและครอบครัวในช่วงเรียนจบปริญญาโท เมรู้สึกว่าเวลาเราบำบัดเด็กคนหนึ่งแล้วส่งกลับไป ไม่นานเด็กคนนั้นก็กลับมาหาเราใหม่ เราก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จนพบว่าเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เราควรจะแก้ปัญหาทั้งครอบครัวของเขา เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโต ต้องดูว่าเขาได้รับการเลี้ยงดูแบบไหน พ่อแม่ สภาพแวดล้อมเขาเป็นอย่างไร เลยทำให้เมกลับมาทบทวน และจัดตั้งห้องเรียนครอบครัวร่วมกับนักบำบัดอีกท่านหนึ่งชื่อ ครูมาร์ก ซึ่งเป็นนักกิจกรรมบำบัด เราสองคนจับคู่กันเพื่อแก้ปัญหาฐานกายและฐานจิตวิทยา ร่วมมือกันทำห้องเรียนครอบครัว ให้ความรู้กับทั้งเด็กและครอบครัวเพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งองค์รวม และยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาแค่ตัวเด็กซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการเลี้ยงดู

แต่เดิมจะมีจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น แล้วตอนนี้ จิตวิทยาเด็กและครอบครัว ถือว่าเป็นศาสตร์ใหม่ไหม

จริงๆ แล้วจิตวิทยาเด็กและผู้ใหญ่รวมอยู่ในจิตวิทยาพัฒนาการ ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่ปฏิสนธิลากยาวไปจนถึงเชิงตะกอน คือดูว่าทุกๆ วัยมีความต้องการอะไร แล้วความต้องการควรจะได้รับการตอบสนองอย่างไร เพื่อที่เขาจะผ่านลุล่วงพัฒนาการช่วงวัยนั้นมาอย่างสมบูรณ์แล้วก้าวต่อไป เรียกง่ายๆ ว่า ‘การเติบโตที่มีความสุข’ บางคนอาจจะไม่ได้ผ่านช่วงวัยเด็กที่ดีมา แต่มาแก้ปัญหาตอนโต มันก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นนักจิตวิทยาพัฒนาการก็จะดูตั้งแต่ต้นจนจบเลย แต่ถามว่าจิตวิทยาเด็กกับจิตวิทยาผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันไหม มีแน่นอน เพราะแต่ละช่วงวัยมีความละเอียดอ่อนหรือจุดที่ต้องให้ความสำคัญแตกต่างกันไป

ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กสำคัญมากน้อยขนาดไหน

ต้องเรียกว่าสำคัญมาก เพราะพัฒนาการทำให้เราเข้าใจมนุษย์คนหนึ่ง ว่าเขาเกิดมามีความต้องการอะไร แล้วเราจะตอบสนองเขาได้อย่างไรเพื่อจะทำให้เขาเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในสังคมและพัฒนาสังคมร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้นพัฒนาการมีความจำเป็นมาก ไม่ใช่แค่เพียงครูหรือพ่อแม่ที่ควรรู้ แต่ทุกคนที่ทำงานร่วมกันควรเรียนรู้เรื่องพัฒนาการ เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ เมื่อเรียนรู้มนุษย์ซึ่งกันและกัน แม้อยู่คนละช่วงวัยก็จะเข้าใจกันมากขึ้นและทำให้ขัดแย้งกันน้อยลง ส่วนในเด็กก็จะทำให้เราไม่คาดหวังอะไรที่เกินวัยของเขา

คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เจเนอเรชั่น Baby boomer อาจจะรู้สึกว่ามันเกินไปหรือเปล่าที่ต้องเรียนรู้พัฒนาการเด็ก

ในสมัยก่อนความรู้อาจจะเข้าถึงได้ยาก แต่ปัจจุบันนี้เรามีมือถือ แค่เสิร์ชข้อมูลหรือเข้าเพจคุณหมอต่างๆ เราก็สามารถเข้าไปอ่านความรู้มากมายได้แล้ว ในสมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องตรากตรำไปซื้อตำราแพทย์ของฝรั่งมาอ่าน เพราะต้องยอมรับว่าจิตวิทยาเพิ่มเข้ามาในเมืองไทยไม่ถึง 50 ปีด้วยซ้ำ ทำให้มันเป็นเรื่องใหม่ และการเข้ามาของจิตวิทยายังเป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดอยู่เยอะ คนยังเข้าใจว่าการไปพบนักจิต คือจะต้องเป็นจิตเวทแล้ว หรือเป็นโรคทางจิตถึงจะเข้าไปพบได้

จริงๆ การปรึกษานักจิตไม่ใช่เรื่องรุนแรง ในทางปฏิบัติเราสามารถที่จะเกิดคำถามได้ตลอดเวลา ถ้าเราหาคำตอบไม่ได้ หรือได้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเราควรนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้กับลูกไหม การปรึกษาคุณหมอหรือนักจิตวิทยาก็ช่วยเราได้ในระดับหนึ่งเลย

พ่อแม่ยุคก่อนอาจจะกลัว รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งหรือเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก เข้าใจยาก แต่พ่อแม่ยุคใหม่ อาจจะค่อยๆ กลัวน้อยลงเมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้น และจับต้องได้มากขึ้น เช่น การเดินเข้าไปขอคำปรึกษาไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย หรือทำได้ยาก ปัจจุบันก็มีสื่ออยู่มากมาย เช่น การปรึกษาคุณหมอทางแอปพลิเคชัน หรือการโทรศัพท์เข้าไป แต่สมัยก่อนต้องเข้าไปในโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะมีจิตแพทย์

อันนี้เป็นที่มาที่ครูเมกับทีมตั้งเพจ ‘ ตามใจนักจิตวิทยา’ ขึ้นมาด้วยหรือเปล่า

อาจจะเป็นความตั้งใจส่วนตัวอยู่แล้วว่าอยากให้วิชาชีพนักจิตวิทยาเป็นที่รู้จัก และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ไม่กลัวที่จะเข้าหาเรา เราอยากเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่เขาจะมาปรึกษา และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแชร์ความรู้ที่เราร่ำเรียนมา ทำให้เข้าใจง่าย พอเข้าใจง่ายจับต้องได้ ก็จะสามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

แล้วเมก็ยินดีที่คนจะมาแบ่งปันประสบการณ์ อย่างเมยังไม่มีลูก แต่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกบางท่านก็นำประสบการณ์ตัวเองมาเล่า พอคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นมาอ่านแล้วตรงกับลูกเขา เขาก็จะรู้สึกดีขึ้น เข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น เลยกลายเป็นว่าเพจนี้ไม่ใช่แค่เราให้ความรู้ แต่คุณพ่อคุณแม่เองก็มาให้ความรู้ร่วมกันได้ด้วย

ประเด็นอะไรที่คุณพ่อคุณแม่มาถามมากๆ ในเพจ

ถ้าจับต้องได้เยอะๆ ก็จะเป็นเรื่องพฤติกรรมลูก อย่างเช่น ลูกเอาแต่ใจ ทำยังไงดี ลูกร้องไห้หรือทำร้ายตัวเองเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัยไม่ได้ กินข้าวเองไม่เป็น หรือไม่ยอมทำอะไรเอง

ส่วนใหญ่แล้วเราจะเขียนบทความขึ้นมาจากคำถามของคุณพ่อคุณแม่ และแบ่งปันคำตอบให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นด้วย พอเขาอ่านบทความแล้วพบว่าตรงกับลูกเขา ก็จะเข้ามาถามแล้วว่าทำตามนี้ได้เลยไหม หรือบางคนก็บอกว่าทำตามแล้วไม่ได้ผล ตรงนี้เราก็อาจจะแนะนำให้พาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น คุณหมอพัฒนาการ จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเด็ก เพราะพัฒนาการของเด็กที่เราเขียนในบทความนั้นเป็นค่าเฉลี่ยเด็กส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความเด็กทุกคนจะสามารถแก้ไขด้วยวิธีการเดียวกันได้ ดังนั้นถ้าเด็กบางคนต้องการวิธีการที่เฉพาะ ก็ควรพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญ

พฤติกรรมแบบไหนที่ครูเมเคยเขียนแล้วผู้ปกครองมาคุยด้วย

อย่างเช่น การทำร้ายตัวเองเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ลูกคุณพ่อคุณแม่ท่านหนึ่งชอบโขกหัวตัวเองกับกำแพงเวลาพ่อแม่เรียกกินข้าว หรือบอกให้เลิกดูทีวี พอไม่ได้ดั่งใจปุ๊บ ก็ไม่ใช้การสื่อสาร เขาจะไม่พูดว่า ขอดูทีวีต่ออีกนิดนึงนะ แต่เลือกที่จะทำร้ายตัวเองเลย โดยไม่บอกพ่อแม่ว่าเป็นการต่อรอง ซึ่งการทำร้ายตัวเองนำไปสู่การโอ๋ คุณพ่อ คุณแม่จะรีบเข้ามาห้ามแล้วบอกว่า โอ๋ ไม่เอานะ อย่าทำนะ หรืออาจจะมาบอกให้ลูกดูทีวีต่อได้อีกนิดนึง เป็นคนป้อนข้าวลูก ลักษณะนี้เขาก็จะมาปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี กลัวลูกจะเป็นอันตรายจากการทำร้ายตัวเอง

ในกรณีแบบนี้ครูเมมีวิธีการแนะนำอย่างไร

ขั้นแรกสุดคือบอกวิธีการเอาตัวรอดจากตรงนั้นก่อน ลองเอาเบาะมาเซฟลูกก่อน ถ้าลูกเล็กก็กอดไว้ หรือถ้าลูกโตหน่อยก็พาเขาออกมาจากบริเวณนั้นก่อน แต่ว่าอย่าเพิ่งตอบสนองใดๆ หรือไปต่อรองอะไรกับเขา เช่น ให้ดูต่ออีกตอนหนึ่งนะ หรือเดี๋ยวแม่ป้อนข้าวให้ เราอย่าเพิ่งไปจัดการอะไร รอจนเขาสงบแล้วเราค่อยพูดคุยกับเขา

การทำร้ายตัวเองเป็นการกระทำทางกาย ซึ่งรวดเร็วกว่าการพูดต่อรอง หรือการขอดีๆ ดังนั้นเด็กที่ใช้การทำร้ายร่างกาย ส่วนใหญ่เขายังไม่ได้เรียนรู้การสื่อสารที่เหมาะสม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น อย่าเพิ่งรีแอ็กชั่นตื่นตูม เซฟลูกก่อน สอนเขา แล้วก็สื่อสารดีๆ ครั้งต่อไปถ้าเจออีกก็ทำใหม่ ไม่ได้หมายความว่าสอนครั้งแรกแล้วลูกจะเรียนรู้เลย เด็กบางคนอาจจะเรียนรู้จากครั้งที่ 100 ก็ได้ แต่ถ้าเริ่มไม่โอเคกับวิธีการนี้ ทำยังไงลูกก็ยังทำอยู่ ตรงนี้ก็อาจต้องคุยกับคุณหมอ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราทำถูกต้องหรือเปล่า หรือลูกเราพัฒนาการล่าช้าบางด้านหรือเปล่า เพราะเด็กบางคนมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทจริงๆ เลยทำให้ไม่สามารถสื่อสารบอกความต้องการหรือปฏิเสธได้ด้วยตัวเอง

ส่วนใหญ่พฤติกรรมแบบนี้จะเป็นกับเด็กเล็กๆ หรือเปล่า แล้วต้องเริ่มจับตาแก้ไขตั้งแต่เด็กเลยไหม

ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กๆ ถามว่าปกติไหม มีทั้งเด็กเล็กๆ ที่ทำแล้วเป็นเด็กปกติ และเด็กที่พัฒนาการล่าช้า หรือมีอะไรบางอย่างส่งผลให้ทำพฤติกรรมนี้ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดในเด็กโตถือว่าผิดปกติ ควรที่จะพบคุณหมอ เพราะเป็นเรื่องของพัฒนาการที่ไม่สมวัยมากๆ แล้ว อาจจะมีอะไรบางอย่างที่มันรุนแรงกว่านั้น เพราะการทำร้ายตัวเองในเด็กโต คุณพ่อคุณแม่น่าจะเอาไม่อยู่แล้วในเรื่องของพละกำลัง ดังนั้นควรพาลูกไปพบผู้เชี่ยวชาญค่ะ

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’

นอกเหนือจากนักจิตวิทยา ครูเมยังเป็นนักปรับพฤติกรรมด้วย ถ้าในกรณีที่เด็กยังทำร้ายตัวเองซ้ำๆ แม่กอดก็แล้ว พูดคุยครั้งที่ร้อยก็แล้วยังเป็นอีก เราทำอย่างไรกับเด็ก

การปรับพฤติกรรมเป็นของคู่กันของนักจิตวิทยาที่ทำเคสเด็ก ถ้าของผู้ใหญ่เราปรับความคิดเพื่อปรับพฤติกรรม แต่เด็กเรียนรู้ผ่านการกระทำมากกว่า เราจึงไม่ได้ปรับความคิดของเขาเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะปรับพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนข้างในเขา ดังนั้นถ้าเขาทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ แสดงว่าการปรับพฤติกรรมอาจจะยังไม่ได้ผล ก็ต้องเปลี่ยนวิธี แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนเป็นวิธีไหน ควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาประเมินว่าพฤติกรรมอันนั้นเกิดจากอะไร เกิดจากการที่ ร่างกายของลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้าหรือเปล่า หรือว่าพ่อแม่ไม่ได้รับมือกับลูกในทิศทางเดียวกัน เช่น คุณแม่ทำแบบที่คุณหมอสอน แต่คุณพ่อไปใช้อีกวิธีหนึ่งตอบสนองลูก เด็กก็จะเรียนรู้ว่าทำแบบเดิม ก็ยังมีใครสักคนในบ้านที่พร้อมจะตามใจเขาอยู่ เด็กก็จะเลือกใช้วิธีนี้ต่อไป ดังนั้นการแก้ปัญหาเลยต้องใช้คนทั้งบ้าน เพื่อจะปรับเด็กคนหนึ่ง

ครอบครัวใหญ่เป็นปัญหาในการแก้ปัญหาเด็กไหม

ถ้าต้องอยู่บ้านเดียวกับปู่ย่าตายาย อาจคุยกับพวกเขาว่า เรามีแนวทางแบบนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยเราขอสอนลูกเอง พ่อแม่ควรเป็นบุคคลแรกที่จะสอนลูก ปู่ย่าควรให้เกียรติและเคารพสิทธิตรงนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แม่จะพาลูกออกมาแล้วสอนหนึ่งต่อหนึ่ง ขออย่าเพิ่งแทรกแซง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าเบรกกัน  เวลา คุณปู่ คุณย่าพูดว่า ‘ช่างมันเถอะ มันก็เด็กนะ ปล่อยมัน’ เด็กก็เรียนรู้ได้ว่าเขามีพวก ดังนั้นครอบครัวอย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูกเรื่องการเลี้ยงดูลูก ให้ตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนเกิดเหตุการณ์ เพราะเขาจะเรียนรู้

ถ้าพ่อแม่สอนคนละทิศทาง ต้องดูว่าใครเลี้ยงลูกเป็นหลัก ถ้าแนวทางไม่ตรงกันชัดเจนต้องคุยกันว่าถ้าเกิดสถานการณ์อย่างนี้จะจัดการอย่างไร ไม่เข้ามาแทรกหรือขอให้จบเหตุการณ์แล้วค่อยคุยกัน อย่าขัดกันต่อหน้าลูก จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เคารพกัน เขาก็ไม่ต้องเคารพ

วิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาเวลาลูกร้องไห้ หรือใช้อารมณ์คืออะไร

ต้องไม่สอนในช่วงที่เขาเกิดอารมณ์ เวลาเขาดิ้น หรือกรี๊ดๆ อยู่ ถ้าพ่อแม่ไปสอนเลย เขาไม่พร้อมฟัง เหมือนเวลาผู้ใหญ่โมโห แล้วเราบอกว่าใจเย็นๆ พุทโธเข้าไว้ สมองส่วนคิด หรือเหตุและผลเขาไม่ทำงานแน่นอน เขากำลังใช้สมองส่วนอารมณ์ ดังนั้นรอสมองสงบก่อน

บางคน หนึ่งนาทีก็สงบแล้ว แต่บางคนหนึ่งชั่วโมงหรือสองชั่วโมงก็เป็นไปได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อดทนเพียงพอ เราจะได้สอนอะไรที่สำคัญให้กับชีวิตลูกเลยทีเดียว

เมื่อเขาสงบเราลองถามเขาดูว่าหนูพร้อมฟังหรือยัง ถ้าเขายังดิ้นขึ้นมาใหม่ ก็บอกว่าโอเค แม่รอ จริงๆ ก็เป็นการสงบใจเราด้วย จะสอนเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่ต้องถามตัวเองว่าใจสงบพอหรือยัง ไม่ใช่ว่าโมโหลูกอยู่ ก็ขึ้นเสียงกับลูก แบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครแม้แต่ตัวเราหรือลูก

และเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ผิด เราอย่าเพิ่งลงโทษด้วยการฟาด หรือวิธีรุนแรง ให้พาเขาออกมาในจุดที่ไม่ทำร้ายใคร ไม่ทำให้เขาหรือพ่อแม่บาดเจ็บ พอสงบ ค่อยสอนเขาว่าไม่ควรตีแม่ และสิ่งที่เขาควรทำคืออะไร เช่น หนูต้องขอดีๆ หรือหนูต้องรอก่อน กี่นาที เด็กต้องการรูปธรรม บอกว่าอย่าตีแม่อย่างเดียว เขาจะไม่รู้ว่าไม่ตีแม่แล้วให้ทำยังไง ต้องบอกเขาด้วยว่าไม่ทำอย่างนี้แล้วต้องทำอะไร หรือคำว่า ‘รอแป้บนึง’ ก็ไม่ถือเป็นรูปธรรม อาจต้องบอกว่ารอจนกว่าแม่ทำกับข้าวให้เสร็จ ห้านาที เด็กยังไม่รู้เวลาก็อาจจะต้องมีนาฬิกาทรายไว้

หรือว่าถ้าสิ่งนั้นให้ไม่ได้ ก็คือให้ไม่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องประวิงเวลาหรือต่อรองเขา ก็ต้องบอกตามตรงว่า แม่ขอโทษนะ แต่อันนี้แม่ให้ลูกไม่ได้ เช่น เขาจะกินลูกอมเดี๋ยวนี้ ก็บอกเขาไปว่ายังไม่ถึงเวลา แม่ยังให้ตอนนี้ไม่ได้ หนูจะได้ลูกอมเมื่อกินข้าวเสร็จ ต้องบอกให้ชัดเจนว่าถ้าไม่ได้ตอนนี้จะได้เมื่อไหร่ หรือถ้าไม่ได้ตลอดไปเพราะอะไร

พออธิบายให้เป็นรูปธรรมแบบนี้ต้องบำบัดพ่อแม่หนักเลยไหม เทียบกับการบำบัดเด็กแล้วต่างกันอย่างไร

การสอนเด็กอาจจะเป็นเรื่องเดิมซ้ำๆ แต่การที่จะสอนคุณพ่อคุณแม่มันคือการคุยกันมากกว่า อาจให้วิธีไปลองทำดูแล้วมาคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนให้การบ้านไปเป็นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ แล้วค่อยมาดูผลกัน ไม่ใช่ว่าคุยกันครั้งเดียวแล้วจบ เพราะว่าเด็กคนหนึ่งกว่าจะเติบโตมาเขาคงมีปัญหาระหว่างทางเยอะมากเหมือนกัน

เท่าที่ทำการบำบัดมา พ่อแม่ให้ความร่วมมือดีไหม หรือมีปัญหาอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่าพ่อแม่ทุกคนที่มาหาเราก็อยากจะแก้ปัญหาทุกคน การที่มาหาเราเขาก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออก ส่วนใหญ่เราจะมองว่าคุณพ่อคุณแม่กล้าหาญมากที่มาหาเรา เราจะพูดในเชิงว่า ขอบคุณที่ช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งด้วยกัน ไม่ใช่ว่าพาลูกมาหาเราแล้วครูเมจะช่วยลูกคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่เรามาช่วยกัน ดังนั้นก็ต้องบอกเขาแต่แรกเลยว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่เอาด้วย ไม่ช่วยกัน มันจะไม่ได้ผลนะ มันก็จะได้ผลแค่ตอนที่เด็กอยู่กับครูเม แต่กลับบ้านไป หรือไปโรงเรียนเขาจะเหมือนเดิม แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เอาด้วย ให้ร้อยทั้งร้อย ครูเมกล้าบอกว่ามันจะสำเร็จ

ปัญหาก็จะมีบ้างคือ เมื่อทำไประยะหนึ่งแล้วไม่เห็นผลลัพธ์ เขาจะรู้สึกว่ามันเนิ่นนานจังเลย มีวิธีการใดที่มันจะลัดกว่านี้ไหมเพื่อให้เด็กเรียนรู้ เราก็จะบอกว่า มีแค่การอดทนและการสอนที่สม่ำเสมอที่จะช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ เราบอกไม่ได้ว่าเด็กจะเรียนรู้เมื่อไหร่ เพราะเด็กแต่ละคนเติบโตมาต่างกัน เขาไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เราจะบอกได้ว่าเซ็ตระบบไปแล้วคนๆ นี้ต้องเรียนรู้ในสามเดือนนะ ไม่ใช่ แต่ก็จะให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ว่าตอนนี้ลูกคุณเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาแล้วนะ จากที่ไม่เรียนรู้อะไรเลย ตอนนี้เรียนรู้ถึงตรงนี้แล้ว

ข้อมูลเรื่อง ‘พัฒนาการเด็ก’ คืออะไร สำคัญอย่างไร

คือการเรียนรู้ว่าอะไรสำคัญกับเด็กในแต่ละวัย เช่น เด็กวัยนี้เขาควรจะทำอะไรได้บ้าง มีอะไรที่สำคัญกับเขา และถ้าเรารู้ว่าตรงนี้สำคัญกับลูกมาก เราจะไม่พรากมันไปจากเขา เช่น เด็กเล็ก ในช่วง 0 – 2 ปี พ่อแม่สำคัญกับเขามาก พ่อแม่อาจจะเลือกลงทุน เสียสละเวลาค้าขายหรือทำมาหากิน เพื่อใช้เวลากับลูกมากขึ้นหน่อย เพราะวัยนี้เขาต้องการพ่อแม่ พ่อแม่ต้องมีอยู่จริงก่อนจะไปเรียนรู้โลก พอลูกโตขึ้นมาหน่อยสิ่งสำคัญที่ตามมาในวัย 3 – 4 ปี คือความต้องการสำรวจโลก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลงทุนในการพาเขาไปที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นความรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก ที่จะบอกว่าเด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเขาทำอะไรได้ในแต่ละช่วงวัย ใช้ร่างกายหรือหลักเหตุและผล วัยไหนเรียนรู้เหตุและผลแล้ว วัยไหนต้องเรียนรู้เรื่องมารยาทหรือการเข้าสังคม

พอครูเมพูดแบบนี้การจะมีลูกสักคนมันไม่ใช่เรื่องง่าย การคิดว่าแต่งงานกันแล้วควรมีทายาทเพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจ อาจไม่พอหรือเปล่า พ่อแม่ยังต้องมีความเชื่ออะไรอีกในการเลี้ยงลูก

จริงๆ แล้วการมีลูกสักคนหนึ่ง ข้อแรกเลยต้องถามตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า เรามีเขาขึ้นมาเพื่อตอบสนองตัวเราหรือเพราะอยากจะมีเขาจริงๆ แม่บางคนบอกว่า เขากำลังระหองระแหงกับสามี เลยอยากมีลูก เพื่อจะแก้ปัญหา เผื่อสามีจะกลับมา ตรงนี้เป็นการใส่ความคาดหวังไปเต็มๆ ให้เด็กก่อนจะมีเขาอีกด้วยซ้ำ ความคาดหวังนี้อาจนำมาซึ่งความผิดหวังและความสมหวัง ซึ่งเราไม่มีทางรู้ เมื่อเขาเกิดขึ้นมาแล้วตอบสนองเราไม่ได้ เราจะผิดหวังในตัวเขาตั้งแต่เกิดเลยเหรอ เด็กรู้ไหมว่าเกิดมาเพื่อที่จะเป็นความคาดหวังของเรา อันนี้เมย้ำเสมอ เด็กเกิดมาเพื่อเป็นตัวของเขาเอง ไม่ได้เพื่อเป็นใครหรือเพื่อทำตามความปรารถนาของใคร

แล้วในกรณีคนที่อยากจะมีลูก เขาควรมีความพร้อมอะไรบ้าง 

การจะมีเด็กคนหนึ่งต้องเช็คเรื่องสุขภาพเรา เคยตรวจไหมว่าร่างกายของเรามีพันธุกรรมอะไรบ้างที่จะส่งต่อให้ลูก มันจะทำให้เด็กคนหนึ่งเกิดมาแล้วไม่ครบ 32 หรือเปล่า อีกเรื่องคือ สุขภาพจิตเราพร้อมไหม พร้อมในที่นี้คือไม่ได้มีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ เช่น พ่อแม่กำลังทะเลาะกันอยู่ หรือสูญเสียอะไรบางอย่าง

พ่อแม่ต้องพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจถึงจะมีใครสักคน แต่ถ้าเป็นเรื่องเงินทอง เรื่องงาน อย่างน้อยๆ ก็ต้องคิดว่าเราต้องลงทุนกับลูกเรื่องเวลาแน่ๆ เราพร้อมไหมที่จะสละเวลาเพื่อเขาบ้าง รายได้บางส่วนจะต้องลดลงไป จะมีทางไหนที่จะจัดการตรงนี้ได้บ้าง ต้องคุยกับคู่ชีวิตเราให้ดี เพราะถ้าเราอยากมีคนเดียว แล้วคู่ชีวิตเราไม่พร้อมมีบางทีก็มีปัญหาเหมือนกัน

ถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมจะสะท้อนอะไรออกมาที่ตัวลูกบ้าง

พ่อแม่ที่ไม่พร้อมมองได้หลายมุม ไม่พร้อมเรื่องเวลา ลูกจะมองว่าพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นพ่อแม่จะสอนอะไรลูกก็ไม่ฟัง ไม่ติดพ่อแม่ แต่พร้อมที่จะฟังคนอื่น เช่น ฟังพี่เลี้ยงมากกว่า หรือฟังปู่ย่าตายายมากกว่า

หาก ‘พ่อแม่ไม่มีจริง’ จะกระทบการพัฒนาการของเด็กไหม

พัฒนาการไม่ได้หมายถึงแค่ร่างกายแต่รวมถึงสังคม อารมณ์ จิตใจ และสภาพแวดล้อม ทุกอย่างเลยมีผล และจะกระทบไปทุกขั้นบันไดเลย พัฒนาการเด็กไม่ใช่ว่าก้าวข้ามขั้นที่หนึ่งแล้วเราตัดขั้นที่หนึ่งทิ้งไปได้ มันคือการบรรลุวัตถุประสงค์ แต่ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะละทิ้งการเป็นพ่อแม่ได้ พ่อแม่เป็นงานตลอดชีวิต ต่อให้วันนั้นลูกไม่ได้ต้องการเราต่อหน้าเขา แต่เมื่อเขาเจอปัญหาเขาก็ยังต้องการเราอยู่ดี ถ้าลูกในวัยรุ่นมีปัญหาแล้วเขาผูกพันกับพ่อแม่ในวัยเยาว์ พ่อแม่มีอยู่จริงในวัยเด็กของเขา เขาจะหันหน้ามาหาเราในวัยที่เขาต้องการเรามากๆ ต้องการคนที่เขาสามารถระบายออก เป็นที่ปรึกษาปัญหา หรือเป็นเพื่อนได้

หากพ่อแม่ไม่มีอยู่จริง บันใดขั้นที่หนึ่งถูกตัดไป แม้พ่อแม่จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ในขั้นต่อๆ ไป แต่สุดท้ายลูกก็ต้องการพ่อแม่ที่มีอยู่จริงก่อนที่จะไปเรียนรู้โลก อธิบายง่ายๆ ว่าเด็กคนหนึ่งกล้าที่จะก้าวขา ลุกขึ้นเดิน ตั้งไข่ เกิดจากการที่ว่าเขารู้ว่าจะมีคนที่คอยพยุงเขาด้านหลัง เด็กที่ไม่กล้าลุกขึ้นเดิน ไม่กล้าที่จะคลานไปตรงโน้นตรงนี้ เพราะเวลาที่เขาหันกลับมา เขาไม่เจอใคร แล้วเขาจะไปตรงนั้นทำไมคนเดียว ดังนั้นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงทำให้ลูกกล้าที่จะเผชิญโลก

เอาแบบเป็นรูปธรรมเลย แค่ก้าวขาที่จะเดินในวัยที่ต้องเดิน กล้าที่จะพูดคุยกับเรา กล้าที่จะรับฟังคนอื่น คือทุกๆ ขั้นตอน เกิดจากการที่พ่อแม่มีอยู่จริงก่อน พ่อแม่มีอยู่จริงเกิดจากมีเวลาคุณภาพให้ลูก ไม่ใช่มีเวลาให้ลูกแต่ไม่ใช่เวลาคุณภาพ แค่นั่งเฉยๆ นั่งดูเขาเล่น แต่เราก็เล่นมือถือไปด้วย หรือเราปล่อยเขา แต่เราก็นั่งอยู่บริเวณนั้นด้วย อันนั้นอาจจะไม่ใช่ พ่อแม่ที่มีอยู่จริงคือพ่อแม่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับลูก อ่านนิทานให้เขา พ่อแม่บางคนบอกเล่นกับเด็กไม่เป็น ไม่เป็นไร นอนกอดลูกไหม กล่อมลูกไหม หรือจูงเขาเดินเล่น อันนี้เราทำได้นะคะ

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’

ถ้าสมมติ 0 – 2 ปี พ่อแม่ไม่มีเวลาคุณภาพให้ลูก เมื่อเขาโตขึ้น แล้วเรารู้แล้วว่ามีปัญหา มันพอแก้ไขปัญหารากฐานตั้งแต่ช่วงต้น หรือชดเชยได้ไหม

ต้องยอมรับประการหนึ่งว่า เมื่อเราผ่านช่วงวัยนี้ไปแล้ว เด็กก็จะเรียนรู้ว่า พ่อแม่ไม่พร้อมที่จะอยู่กับฉันตรงนี้ ฉันจะสู้ยืนหยัด โดยแนวโน้มแล้วเด็กจะออกมาเป็นสามแบบ แบบแรกคือ ฉันต้องยืนหยัดด้วยตัวฉันเอง ไม่ต้องพึ่งใคร เขากลายเป็นคนแข็งแกร่งในแบบของเขา แต่จริงๆ แล้วข้างในจะเปราะบาง เพราะเมื่อมีอะไรมากระทบเขาหนึ่งครั้ง เขาจะมีคำถามในหัว อาจจะคิดย้อนกลับไปว่าพ่อแม่ไม่อยู่ตรงนั้นเพื่อฉัน เพราะว่าฉันไม่คุณค่าเพียงพอที่จะให้พ่อแม่อยู่ตรงนั้นหรือเปล่า ฉันมีคุณค่าในตัวเองจริงหรือ

แบบที่สองคือเด็กที่พยายามจะเรียกร้องความสนใจ ในเมื่อเขาไม่ได้ เขาจะเรียกร้องให้ถึงที่สุดว่า มองเห็นฉันสิ ทำเพื่อฉันสิ ชดเชยให้ฉันสิ ดังนั้นพ่อแม่ที่ไม่มีอยู่จริงในวัย 0 – 2 ปี หรือจนถึงวัย 6 ปี จะกระทบต่อเด็กแน่ๆ เขาอาจจะพยายามเรียกร้องจากคนข้างนอก หรือจากที่ไหนก็ตามที่เขาจะสามารถได้มันมา อาจกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กบางคนจะทำพฤติกรรมบางอย่างให้พ่อแม่สนใจ เช่น ทำร้ายตัวเอง พอพ่อแม่รีบมาห้าม เขาก็จะเรียนรู้ว่าฉันทำร้ายตัวเองแล้ว พ่อแม่จะสนใจ

กรณีสุดท้ายคือ ฉันไม่เรียกร้องอะไรแล้ว ฉันจะยอมทุกอย่าง ขอแค่เธอรักฉันได้ไหม ใครบอกอะไรจะทำหมด ไม่ปฏิเสธ เพราะกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ยอมตาม ขอแค่อย่างเดียวว่าอย่าปฏิเสธฉันเลย เด็กอาจไม่สามารถส่งเสียงของตัวเองออกมาได้ พ่อแม่ให้ทำอะไรทำ ชี้ขวาเป็นขวา ทำทุกอย่างเพราะอย่างน้อยก็มองเห็นเขา

มีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเข้าใจหรือทำผิดไหม

หลักๆ น่าจะเป็นความกังวลในเรื่องที่ไม่ตรงกับวัย เช่น กังวลว่าลูกจะอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในวัยอนุบาล เรื่องอยากให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่เล็กๆ หรือทำไมลูกยังร้องไห้ขณะไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งเขายังไม่ได้อยู่ในวัยที่แยกจากพ่อแม่โดยสมบูรณ์  ลักษณะนี้จะพบได้บ่อย และกลับไม่สนใจหรือละเลยในสิ่งที่ลูกควรทำได้ เช่น ก่อนวัย 6 ปี เด็กควรจะอาบน้ำ กินข้าว แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้าได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการดูแลตัวเองได้เป็นการเสริมความมั่นใจในเด็ก เด็กที่ดูแลตัวเองได้ดีเมื่อเข้าไปสู่วัยอนุบาล เขาไม่ได้อวดกันว่าฉันคิดเลขเก่งกว่าหรือว่าเธอเก่งเรื่องการเล่นดนตรี แต่เป็นเรื่องการช่วยเหลือตัวเองได้ดี

เด็กที่ไม่สามารถกินข้าวด้วยช้อนส้อม จะถูกทุกคนเพ่งเล็งเขา ทำไมเธอไม่ใช้ช้อนส้อมล่ะ ทำไมเธอใช้มือ เธอสกปรกมากเลยทำไมไม่เช็ดขี้มูก คือการดูแลสุขลักษณะเป็นเรื่องที่เบสิกมาก ดังนั้นคือความมั่นใจในตัวเองของเด็กเกิดจากการดูแลตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองเป็น

ขั้นต่อมาของการดูแลร่างกายตัวเองได้ก็คือการควบคุมอารมณ์ ถ้าเด็กยังดูแลสิ่งที่เป็นรูปธรรมไม่ได้ จะคาดหวังให้ไม่ไปทำร้ายคนอื่นเวลาโกรธ ควบคุมอารมณ์ หรือสื่อสารได้เนี่ย มันข้ามขั้น คุณพ่อคุณแม่ยังวิ่งไล่ป้อนข้าวลูกอยู่เลย แต่คาดหวังให้เขาควบคุมความโกรธได้ มันเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยากกว่าการควบคุมร่างกายเขาอีก

แต่เรามักจะเห็นว่าในช่วง 0 – 6 ปี พ่อแม่จะให้พี่เลี้ยงดูแลแทนให้เขาดูแลตัวเองได้ แต่ว่าไปเร่งให้อ่าน เขียนให้ได้ อะไรแบบนี้ยังเป็นปัญหาหรือเปล่า

ตามหลักพัฒนาการ การจะให้เขาอ่านเขียนได้ ต้องถามว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงหรือยัง กล้ามเนื้อมัดเล็กคือมือ นิ้วต่างๆ ต้องดูว่าเขาทรงตัวในการนั่งเขียนได้เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งหมายถึงแกนกลางลำตัวและขาของเขาแข็งแรงหรือยัง การไปบังคับให้เขานั่งเขียนบนโต๊ะก่อนสิ่งเหล่านี้จะแข็งแรง เด็กอาจจะเขียนผิดท่า จับดินสอผิดแบบ นำไปสู่ความเมื่อยล้า และสมาธิที่ยังไม่พร้อม

ในเด็กปฐมวัย เขายังมีสมาธิไม่เกินครึ่งชั่วโมงเลย แต่เราบังคับให้เขานั่งเขียนหนึ่งชั่วโมง มันเกินวัยเขาไปมาก แล้วเด็กเขามีพลังงานเหลือเฟือ แต่เรากลับให้เขาควบคุมพลังงานนั้นไว้ เพื่อมีสมาธิในการเขียน ดังนั้นการเร่งเกินวัยก็กลับกลายเป็นการลืมสิ่งที่สำคัญในวัยนั้น คือ การบังคับและใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ การพัฒนาการริเริ่มสร้างสรรค์ ก่อนที่จะไปเรียนรู้ตามระบบแล้วท่องจำ เราสร้างเด็กที่สามารถทำตามคำสั่งได้แต่ไม่สามารถสร้างเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความสุขกับการเรียนรู้ได้ แล้วเขาก็จะกลัวการเรียนรู้ เพราะว่า เรียนรู้ว่าไปถึงปุ๊บเขาต้องท่อง ต้องอ่าน เขาต้องเขียน ทำไม่ได้เขาก็โดนว่า โดนบังคับให้เขียนใหม่ เขาจะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยของเขา

ถึงแม้ว่าเขาจะทำได้ตามคำสั่งเราไประยะหนึ่ง แต่สุดท้ายเราจะได้เด็กที่ไม่ได้รักการเรียนรู้ เขาอาจจะเรียนรู้เพราะมันจำเป็น เด็กที่รักการเรียนรู้ไม่ได้แปลว่าเรียนหนังสือเก่ง แต่เขาจะอยากเรียน อยากรู้ และแสวงหา เขาอาจจะไม่ใช่เด็กที่เก่งที่สุด หรือว่าสอบโอลิมปิกได้ แต่เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมที่จะเรียนรู้ เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว พร้อมยืดหยุ่นกับสถานการณ์ต่างๆ

แล้วจริงๆ เราควรชวนเด็กเล็กทำอะไร

ถ้าในช่วง 0 – 6 ปี สิ่งที่เราสามารถสอนเขาได้คือ หนึ่ง การช่วยเหลือตัวเอง สอง การเล่น หลายคนมองว่าการเล่นเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ การเล่นเป็นตัวจุดประกายหลายๆ อย่างในชีวิตของคนคนหนึ่งเลย เช่น จะสอนเขาให้เรียนรู้เรื่องสี วิธีแรกคือให้เขาจำการ์ดสีต่างๆ เด็กก็ท่องไป สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า แต่อีกวิธีการคือ ให้ออกไปข้างนอก แล้วไปหากันสิว่าอันไหนนะที่ตรงกับสีเขียวบ้าง ในสวนของเรามีตรงไหนเป็นสีเขียวบ้าง เด็กที่เรียนรู้จากการ์ดเขาก็จะเรียนรู้แค่ว่าสีเขียวเป็นสีโทนนี้ แต่เด็กที่เรียนรู้สีเขียวจากการไปสัมผัสข้างนอก เขาจะเรียนรู้แล้วแผ่ขยายความรู้ไปสู่สีเขียวที่เป็นเขียวอย่างอื่นด้วย

มันคือการต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่จับต้องได้ เด็กปฐมวัยเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่น ผ่านการจับต้องของจริง เขายังไม่ได้เรียนรู้ในเชิงนามธรรมเช่น 1 + 1 เท่ากับ 2 หรืออันนี้เป็นตัวพยัญชนะ อันนี้สระ แต่เขาเรียนรู้ผ่านเรื่องราว หรือเขาได้สัมผัสมันว่า ใบไม้ใบนี้สีเขียว สีเขียวบนใบไม้มีหลายแบบเลย แต่มันก็เรียกสีเขียวเหมือนกัน

ถ้าให้แบ่งการเรียนรู้ตามขั้นบันไดของปฐมวัย เด็กจะมีพัฒนาการยังไง แล้วจะชวนเขาทำอะไรได้บ้าง

ทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญมากเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก คือทฤษฎีของนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget) เขาคิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก โดยแบ่งเป็นขั้น

ขั้นที่ 1 ในวัย 0 – 2 ปี คือขั้นที่เด็กเรียนรู้ได้ดีผ่านประสบการณ์ และประสาทสัมผัสทั้งห้า รับรู้แสง สี เสียง กลิ่น รส  สัมผัส ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย เขาเรียนรู้ว่าพื้นแข็งจากการกระทืบมัน เขาเรียนรู้ว่าสำลีนิ่มจากการสัมผัสมัน แต่เขาคงไม่เรียนรู้จากการ์ด หรือจากหนังสือที่เขามองแน่นอน ถ้าเรากักเขาไว้ในห้องสี่เหลี่ยม ก็จะไม่ตรงกับพัฒนาการของวัยนี้

ขั้นต่อมาคือวัย 2 – 4 ปี จะเป็นเรียนรู้ผ่านสัญลักษณ์ หรือ symbolic เช่น เขาจะค่อยๆ เรียนรู้เชื่อมโยงว่าสัญลักษณ์ภาพคนก็คือคน แต่คนจริงๆ เป็นยังไง เขาเริ่มวาดรูปได้แล้ว อาจจะวาดภาพแอปเปิ้ลที่ไม่เหมือนแอปเปิ้ล แต่เขาเริ่มใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้บ้างแล้ว และเขาก็เริ่มเชื่อมโยงลักษณะของสิ่งที่คล้ายคลึงกันว่าเป็นสิ่งเดียวกันไหม เริ่มเรียนรู้ว่าวัตถุมีอยู่จริง ไม่ได้หายไปไหน ถึงขั้นว่าถ้าพ่อแม่ไปส่งที่โรงเรียน พ่อแม่จะกลับมารับ ไม่ได้หายไปจากโลกใบนี้ ไม่ได้เห็นพ่อแม่ไม่ได้แปลว่าหายไป

วัยถัดมาคือวัยตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จนถึง 7 ปี เขาจะเริ่มเรียนรู้ผ่านการเข้าใจหลักเหตุและผลบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องของนามธรรม จะเป็นลักษณะที่ว่าถ้ากดปุ่มอันนี้แล้วไฟเปิด เป็นเพราะว่าฉันกดปุ่ม ไม่ใช่ไฟเปิดขึ้นมาเองแบบมหัศจรรย์ เขาจะเรียนรู้ว่าถ้าน้ำมีสองแก้ว ถ้าเขาเทไปแก้วอื่น น้ำก็ยังปริมาณเท่าเดิม เขาจะเริ่มเรียนรู้ว่าของที่คล้ายคลึงกัน แม้รูปร่างมันจะไม่เหมือนกันก็ยังเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น ตัวอักษร คุณครูเขียน ก.ไก่ บนกระดาน เด็กเริ่มรู้แล้วว่าอักษรบนการ์ดก็ ก.ไก่ เหมือนกันแม้ว่าจะไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ถ้าเราไปสอนก่อนวัยนั้น เช่นสอนในวัย 2 – 3 ปี เขาก็จะไม่เข้าใจว่า ก.ไก่ ตัวนั้นจะมาเป็น ก.ไก่ ตัวนี้ได้อย่างไร

ตั้งแต่ 4 ปี 5 ปี ขึ้นไป การเล่นยังจำเป็นอยู่ไหม

จริงๆ การเล่นจำเป็นไปจนถึงวัยเด็กโต แต่ก็จะมีการเล่นที่ซับซ้อนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ และลักษณะกติกาที่เอามาให้ โจทย์อาจจะท้าทายเขามากขึ้น ดังนั้นเด็กที่พัฒนาสมองได้ดีมาจากการได้รับโจทย์ที่ท้าทายแล้วก็สมวัยกับเขา

ถ้าในเด็กเล็กก็ให้เขาเล่นในเชิงว่าเล่นเพื่อเรียนรู้โลก ให้ร่างกายเขาได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ให้เขาได้ทดลอง การเล่นเป็นไปตามวัยของเขา มีความละเอียดอ่อนต่างกันไป

พ่อแม่บางคนเริ่มเป็นห่วงลูกวัยเล็กว่า ต้องเล่นแบบไหนลูกถึงจะเข้ากับเพื่อนได้

ต้องอธิบายคุณพ่อคุณแม่ก่อนว่าเด็กก่อนวัย 3 ปี เขายังเล่นเป็นลักษณะคู่ขนานอยู่ หรือก่อนหน้าคู่ขนานก็เล่นแบบที่ต้องมีคนเอนเตอร์เทนเขา

เล่นคู่ขนานคือ เด็กสามารถนั่งอยู่บริเวณเดียวกับเด็กคนอื่น แต่เขาก็จะเล่นของที่เขาสนใจ คือไม่ได้สนใจจะไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ยกเว้นแต่ว่าเขาอาจจะสนใจสิ่งเดียวกันกับเพื่อนเขาถึงจะเดินเข้าไปหา เด็กบางคนก่อนวัยนั้นเขาจะมองเพื่อนเหมือนต้นไม้ เหมือนสภาพแวดล้อม เขายังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเขาอาจยังไม่พร้อมรับฟังความเห็นใคร หรือปฏิสัมพันธ์อะไรกับใครขนาดนั้น

การเล่นในวัยนี้จึงไม่ใช่การร่วมกันเล่นหรือการตั้งกติกา แต่เป็นการเล่นในสิ่งที่เขาสนใจ เล่น Cause and Effect Play เช่น เทน้ำแล้วน้ำกระเซ็น โยนทรายแล้วทรายฟุ้ง กดปุ่มแล้วมีไฟ เด็กเลยชอบเล่นอะไรที่ทำแล้วเกิดรีแอค การเอานิ้วจิ้มแม่แล้วแม่กรี๊ด หรือเล่นจ๊ะเอ๋ ก็เป็นการเล่นแบบ Cause and Effect Play เหมือนกัน

ในเด็กบางคนที่กล้าเล่นกับเพื่อน เขาอาจจะชินกับครอบครัวใหญ่ เป็นเด็กที่มีพี่น้อง หรือมีเด็กวัยเดียวกันอยู่ใกล้ๆ เขาเลยจะชิน แต่เด็กที่อยู่กับพ่อแม่มาโดยตลอด เขายังรู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นสิ่งใหม่ เป็นสภาพแวดล้อมใหม่ ต้องใช้เวลาในการปรับตัวหน่อย ถ้าเด็กบางคนเข้าเรียนตั้งแต่เนิร์สเซอร์รี่ มันก็เป็นปกติที่เด็กจะเล่นกับตัวเองก่อน ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับอายุ แต่ถ้าอายุถึงแล้วลูกยังไม่เล่นกับเพื่อน เช่น อายุ 5 – 6 ปี ก็อาจจะต้องตั้งข้อสังเกตว่า ลูกเรามีความรู้สึกอย่างไรกับการที่ต้องเล่นกับเพื่อน เพื่อนอาจจะสนใจในสิ่งที่เขาไม่สนใจหรือเปล่า เพื่อนอยากเล่นขายของแต่เขาอยากเล่นเป็นซูเปอร์แมนหรือเปล่า

ดังนั้นก็ไม่ผิดที่ลูกเราไม่อยากเล่นกับเพื่อนเพราะเขาอยากเล่นแบบนี้ เพราะอย่าลืมว่าก่อน 7 ปีเขายังมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้ ดังนั้นเขาจะมองทุกอย่างผ่านมุมมองตัวเอง

การที่พ่อแม่โพสต์รูปลูกลงโซเชี่ยลบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง          

ตอนนี้การเลี้ยงลูกด้วยการแชร์รูปกำลังเป็นกระแส อันนี้อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าเราควรใช้เวลาอยู่กับลูกโดยที่ไม่มีอะไรกั้นระหว่างเรากับลูกเลย ให้สายตาเราเป็นตัวที่บันทึกความทรงจำนั้นไว้ดีกว่า ต้องถามตัวเองว่า การที่เราโพสต์รูปลงโซเชียลบ่อยๆ เราทำเพื่อตอบสนองตัวเราเอง หรือตอบสนองต่อลูก ถ้ามันไม่ทำให้เกิดผลดีอะไรกับลูกเรา ก็ละมันบ้างก็ได้ แต่ถ้าเราทำเพื่อที่จะส่งให้คุณปู่คุณย่าเห็น บางทีการส่งกันส่วนตัวก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นจะต้องโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นหลักฐานที่อยู่ในนั้นไปตลอด ถ้าเด็กโตขึ้นมาแล้วไม่โอเคกับรูปนี้ พ่อแม่จะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ รูปบางรูปพ่อแม่มองว่าน่ารักแต่สำหรับเด็กมันอาจจะกลายเป็นการโดนกลั่นแกล้งในอนาคต เช่น  เพื่อนไปขุดเจอรูปแก้ผ้าอาบน้ำ มันอาจจะกลายเป็นความรู้สึกแย่ๆ ได้ ดังนั้นก่อนจะโพสต์อะไรลองถามลูกก่อน แต่ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กที่เลือกไม่ได้เนี่ย พ่อแม่ควรจะปกป้องสิทธิของลูก ถ้าเราโฟกัสกับการเลี้ยงลูกที่แท้จริงเราจะลืมสิ่งเหล่านี้ไปเกือบหมด และใช้ช่วงเวลาที่มีความสุขกับเขา

ชื่อเสียงบางอย่างมันเกิดมาพร้อมกับเขามาตั้งแต่แรกเกิด แต่ถ้าเขาถึงวัยที่อยากจะได้ชีวิตส่วนตัวกลับคืนมา คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือกับมันไหม จะคุยกับลูกอย่างไร ตรงนี้ก็ต้องคิดตั้งแต่เด็กว่าเราควรจะทำมันไหม ถ้าเราไม่พร้อมรับมือกับมันก็ควรที่จะเก็บชีวิตส่วนตัวของเขาไว้กับเขา เราต้องเก็บรักษาตัวเลือก เก็บรักษาชีวิตวัยเยาว์ของเขาไว้บ้างค่ะ

เด็กที่สังคมยกย่องว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ เด็กมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็ก ในระยะยาวส่งผลดีหรือผลเสียกับเด็กหรือไม่ อย่างไร

ต้องมองว่าความมั่นคงทางจิตใจที่พ่อแม่สร้างให้ลูกอยู่ในระดับไหน ถ้าพ่อแม่มองลูกเป็นเด็กคนหนึ่ง ไม่ว่าจะอัจฉริยะหรือฉลาดกว่าวัย ยังไงเขาก็ยังเป็นเด็กในทางวุฒิภาวะ ยังต้องได้รับสิ่งที่เขาต้องการช่วงวัยเยาว์ อัจฉริยะไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการความสุขในชีวิต ดังนั้นพ่อแม่ควรจะหยิบยื่นโอกาสในการให้ความรัก แล้วก็มองเขาเป็นเด็กธรรมดาที่ต้องสอน ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะแล้วไม่ต้องทำงานบ้าน เขาก็คือเด็กที่ต้องได้รับการสอนวินัย การจัดการ การเรียงลำดับความสำคัญ และต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ อย่าขโมยเวลานั้นจากเขาไป ด้วยการที่เห็นความสำคัญของความสามารถ จนลืมวัยเยาว์ของเขา

เมื่อไหร่ที่พ่อแม่ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือนักบำบัด

ข้อแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบพัฒนาการเด็กในเบื้องต้นก่อนว่า มีอะไรที่น่าสงสัยหรือเปล่า มีอะไรที่เขาผิดไปจากวัยของเขาที่ควรจะเป็นไหม ถ้าตรวจจับได้ก็สามารถไปพบคุณหมอได้ เช่น ลูกยังไม่สามารถพูดได้เมื่อถึงวัย หรือลูกไม่เข้าใจคำสั่งอย่างง่าย ให้ไปหยิบช้อนส้อมมาก็ไม่เข้าใจ

ข้อที่สองคือ เด็กบางคนมีพัฒนาการสมวัยแต่มีพฤติกรรมบางอย่างที่ขัดขวางชีวิตประจำวันของเขา เช่น ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ยอมแปรงฟัน ลงไปร้องกรี๊ด เป็นความยากลำบากในทุกวันที่จะต้องจัดการกับเขา ทำให้พ่อแม่เครียดได้ แล้วลูกก็อาจจะเครียดด้วย หากไม่รู้วิธีการที่จะจัดการกับเขาก็สามารถปรึกษาได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าต้องมีโรคภัยอะไร หรือว่าพัฒนาการล่าช้าเท่านั้น แค่มีพฤติการณ์ที่ทำให้เรากับลูกไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็สามารถปรึกษาได้

พัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องใหญ่ที่บางทีพ่อแม่ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด แต่อาจต้องมีนโยบายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ครูเมมีข้อเสนออะไรไหมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ

คงเป็นเรื่องที่เราจะทำยังไงให้ความรู้เข้าถึงทุกคนจริงๆ และเรื่องของการมีวิชาชีพหรือผู้ที่มีความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กเข้าไปในทุกๆ ส่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือวิชาชีพที่ทำงานกับเด็กไปจนถึงคุณครู แต่ต้องมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ทำให้ทุกองค์กรให้ความสำคัญว่าจะต้องมีวิชาชีพนี้เข้าไป ไม่ใช่แค่กับเด็กแต่กับคน ทุกวันนี้หลายองค์กรมีเรื่องของโรคซึมเศร้า เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็จะมีบทบาทหนึ่งพ่วงมาเสมอ ไม่เป็นพ่อแม่ ก็เป็นลูกของใครสักคน เรามีบทบาทนี้แน่ๆ ในทุกๆคน ดังนั้นวิชาชีพนี้ควรเข้าไปอยู่ในทุกๆ องค์กร รวมไปถึงให้ความรู้ตั้งแต่พ่อแม่จะตั้งครรภ์ ไปสู่คลอดออกมา และโรงเรียนที่สอนเด็กๆ ก็ควรมีวิชาชีพนี้เข้าไป เมื่อจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอน หรือทดสอบอะไรก็ควรเป็นไปตามพัฒนาการเด็ก

เหมือนกับการตรวจจับสัญญาณก่อนเกิดปัญหา?

จะเรียกว่า early intervention หรือการแทรกแซงก่อนเกิดปัญหาใหญ่ก็ได้ โรคบางโรคถ้าเราแทรกแซงตั้งแต่ระยะเนิ่นๆ คือพอมีอาการปุ๊บ ยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค แต่เข้าไปแทรกแซงก่อนเพื่อป้องกันคนๆ นึง ก่อนเข้าสู่ลูปของการเป็นโรค

โรคทางจิตเวชต้องยอมรับว่าเป็นโรคที่รักษายังไม่หาย คือมีสิทธิกลับไปเป็นได้อีกเมื่อจิตใจอ่อนแอ แล้วจริงๆ ยาแพงมากนะคะ การแอดมิทคนไข้จิตเวชคนนึงก็ใช้บุคลากรมากมาย ดังนั้นถ้ามีหน่วยงานที่คัดกรองเบื้องต้นเช่น เด็กคนนึงมีปัญหาเรื่องพ่อแม่หย่าร้าง ถึงแม้เด็กอาจจะยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต แต่โรงเรียนสามารถตรวจจับได้ว่า เด็กคนนี้กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ แล้วเราก็ส่งคนเข้าไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’

คิดอย่างไรกับการสอบเข้า ป.1 ถ้าไม่ใช้วิธีสอบเข้า มีทางเลือกไหนที่น่าสนใจและสอดคล้องกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยบ้าง

จริงๆ ภาครัฐหรือว่าระบบใหญ่ควรเข้ามาดูแลในการกระจายคุณภาพให้กับทุกๆ โรงเรียน ลดการสอบไม่ได้หมายความว่าจะเข้าโรงเรียนไหนก็ได้ พ่อแม่ก็จะเลือกอีก เพราะคุณภาพโรงเรียนไม่เท่ากัน สุดท้ายก็จะแห่ไปจับฉลาก มีปัญหาเรื่องใต้โต๊ะตามมาอีก ดังนั้น ภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ก็ต้องช่วยเข้ามาดูแลการกระจายคุณภาพให้มันใกล้เคียงกัน แต่มันก็ยังเป็นแค่ความฝันของเราประเทศไทยใช่ไหมคะ

อีกประเด็นนึง โรงเรียนแต่ละโรงเรียน ถึงแม้ว่าจะใช้หลักสูตรกระทรวงหรือมีหลักการเรียนการสอนที่คล้ายคลึง แต่แนวทางของโรงเรียนน่าจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นพ่อแม่ควรจะมีเวลามาอบรมกับโรงเรียน หรือมาดูแนวคิดโรงเรียน อาจจะทำกิจกรรมร่วมกับคุณครูและโรงเรียนเพื่อสังเกตการณ์ สังเกตความสุขของเด็ก  นอกจากพ่อแม่ได้ความรู้แล้ว โรงเรียนยังได้รู้จักผู้ปกครองด้วย

ส่วนลูกใช้การทดสอบ เช่น เรื่องของการช่วยเหลือตัวเองว่าเด็กพร้อมขึ้น ป.1 ไหม เช่นการกินข้าว อาบน้ำแต่งตัว ถามว่าจะเห็นในวันที่สอบหรือวันที่เขามาอบรมได้อย่างไร ก็ต้องให้เขาทำกิจกรรมกับเพื่อน แล้วดูว่าเขามีการตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ อย่างไร กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของเขาเป็นอย่างไร

สุดท้ายแล้วการสอบไม่ควรจะมุ่งผลไปที่จัดอันดับเด็ก แต่เป็นการประเมินว่าจะช่วยเหลือเด็กคนนี้ได้ไหม จะเติมเต็มอะไรให้เขาได้บ้าง ถ้าเราไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้เพิ่มเติม เช่น เขามีความต้องการพิเศษบางอย่าง ก็คุยกับผู้ปกครองให้ชัดเจนเลยว่า เด็กมีความต้องการพิเศษซึ่งโรงเรียนให้ไม่ได้ ถ้ารับลูกคุณพ่อคุณแม่เข้ามาอาจจะเป็นการตัดโอกาสเด็กในการเติมเต็มส่วนอื่น

และสุดท้าย ถึงแม้ว่าพ่อแม่ทุกคนพร้อมที่จะเข้าโรงเรียนนี้ เราก็อาจจะต้องใช้วิธีการจับฉลาก ดูคิวที่มาสมัคร ดูระยะทางบ้าน บางคนอาจจะกังวลเรื่องใต้โต๊ะ มันก็ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ โรงเรียนต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่างๆ พ่อแม่ที่มีเงินสามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ เราพอมองเห็นทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับเด็กปฐมวัยหรือไม่อย่างไร

เวลาพูดถึงเรื่องการศึกษา เราจะชอบเพ่งเล็งถึงเทคโนโลยีหรือเรื่องสิ่งของที่เงินซื้อได้ แต่ลืมมองไปว่าการศึกษาปฐมวัยต้องการความเรียบง่าย ต้องการคนที่เข้าใจ ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำที่ง่ายที่สุดคือการให้ความรู้กับบุคลากรที่จะเข้าไปสร้างครู และทำอย่างไรให้ของใกล้ตัวกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีไอแพดทุกโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ชายแดนมีบางอย่างที่ในเมืองไม่มี เอามาทำเป็นจุดหลักให้เด็กได้เรียนรู้ตรงนั้นได้ไหม เด็กบางคนอยู่ใกล้ชายป่าเราสามารถให้เขาเรียนรู้บางอย่างจากธรรมชาติได้ไหม หรือเด็กในเมืองที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์ในการซื้อเทคโนโลยี เราสามารถให้เด็กเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ง่ายๆ ได้ไหม จริงๆ ปฐมวัยคือความเรียบง่าย มันคือการเรียนรู้กลไกที่ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อน

ครูเมอยากจะบอกอะไรกับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเผชิญยุคสมัยที่สภาพสังคมลำบาก เศรษฐกิจแย่ แต่ก็ต้องเลี้ยงลูกด้วย

คงให้กำลังใจมากกว่าค่ะ ว่าเรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ทุกคนรู้สึกว่ามันเหนื่อย มันหนัก เวลาที่ต้องเลี้ยงเด็กสักคน ขอให้คุณพ่อคุณแม่มองว่า ถ้าวันนี้เราลงทุนลงแรงไปในวัยที่เขายังเป็นเด็กเล็ก มันจะคุ้มค่าเมื่อเขาโตขึ้นแน่นอน แต่ถ้าเลือกที่จะปล่อยปะละเลยเขาในช่วงวัยนี้ มันก็จะมีดอกเบี้ยย้อนหลังที่เราจะต้องตามไปแก้ปัญหาแน่นอน

การเลี้ยงเด็กคนนึงขอให้มองว่าเราค่อยๆ ไปทีละสเต็ป อย่ามองไกลไปว่า ลูกจะเป็นหมอ หรือลูกจะเป็นครู ขอแค่มองว่าทุกวันนี้เรากับลูกมีความสุขหรือยัง เรากับลูกสามารถทำอะไรร่วมกัน มีช่วงเวลาดีๆ ได้มากกว่าช่วงเวลาที่ไม่ดีบ้าง อย่ามองว่าความสำเร็จคือการที่เลี้ยงเด็กให้เอาชนะใครสักคน หรือสอบแข่งขันได้ระดับโลก ขอแค่เพียงลูกมีความสุข เรามีความสุข ใช้ชีวิตทุกวันไปทีละสเต็ปได้ก็โอเคแล้ว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save