fbpx
ดร.วีระชาติ กิเลนทอง : ความป่วยไข้ของการศึกษาปฐมวัย และกับดักใน ‘สนามเด็กเล็ก’

ดร.วีระชาติ กิเลนทอง : ความป่วยไข้ของการศึกษาปฐมวัย และกับดักใน ‘สนามเด็กเล็ก’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เมื่อพูดถึงการพัฒนาเด็กปฐมวัย มิติแรกๆ ที่คนทั่วไปนึกถึงคงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษา ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ทว่ามิติที่กว้างกว่านั้น และอาจสำคัญไม่แพ้กัน คือมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ ในฐานะที่เด็กทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ในส่วนของประเทศไทย โจทย์ใหญ่ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือเราจะเชื่อมรอยต่อตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาอย่างไร ให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้ โดยหนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญที่ถูกยกขึ้นมา คือเรื่องการยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ควบคู่กับการแก้ไขร่างพระราชบัญญติการพัฒนาเด็กปฐมวัย

“การสอบเข้า ป.1 ไม่ใช่เชื้อโรค มันคืออาการป่วย เชื้อโรคมันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพ ถ้าผมเป็นผู้ปกครอง ผมควรจะรู้สึกว่า ถ้ามีอยู่ 100 โรงเรียน มันควรมีสัก 80 โรงเรียนที่ลูกผมเข้าได้แล้วผมโอเค มีแค่ 20 โรงเรียนที่ผมต้องหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม”

ข้างต้นคือทรรศนะของ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย และมุ่งศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยได้แรงบันดาลใจจากงานชิ้นโบว์แดงของ เจมส์ เจ. เฮกแมน (James J. Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนกับเด็กในช่วงวัยนี้ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในเชิงเศรษฐศาสตร์ และสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

 

 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดร.วีระชาติ ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการปลุกปั้น ‘โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ’ หรือไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Thailand) ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีต้นทุนชีวิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อสังคมที่เสมอภาคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยได้นำเอากระบวนการเรียนการสอนของหลักสูตร ‘High Scope’ มาส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์กว่า 40 แห่ง และกำลังขยายไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ

นอกจากนี้ ไรซ์ไทยแลนด์ยังได้เก็บข้อมูลครัวเรือนและเด็กปฐมวัยอย่างละเอียด กว่า 1,500 คน โดยข้อมูลชุดนี้ จะช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ กระบวนการและรูปแบบในการพัฒนาทุนมนุษย์ได้อย่างเป็นระบบ และจะมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต

ท่ามกลางข้อถกเถียงว่าแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยจะก้าวไปทางไหน 101 ชวน ดร.วีระชาติมาสนทนายาวๆ ว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ไล่ตั้งแต่ประเด็นของ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย การยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ไปจนถึงมิติที่เชื่อมโยงกันระหว่างการพัฒนาเด็กปฐมวัยกับการลดความเหลื่อมล้ำ

 

อเริ่มต้นจากนิยามคำว่า เด็กปฐมวัย’ คือเด็กในช่วงวัยไหน ในไทยกับต่างประเทศต่างกันหรือไม่

ถ้าว่าตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน ก็คือเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ แต่นานาชาติเขาไปถึง 8 ขวบแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันตอนร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย อยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เด็กปฐมวัยก็คือเด็กเล็ก ยังไม่พร้อมทำอะไรที่เป็นรูปแบบมากเกินไป แต่เริ่มพร้อมที่จะเรียนรู้ นั่นคือภาษาธรรมดาที่เข้าใจง่ายโดยไม่ต้องไปจำกัดด้วยอายุ

 

การกำหนดนิยามให้ครอบคลุมถึง 8 ขวบ มีความสำคัญยังไง

ปัญหาหลักคือช่วงรอยต่อระหว่างอนุบาลกับประถม ซึ่งนักวิชาการก็เริ่มพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่ผมได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เราพบว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากระดับอนุบาล กับช่วง ป.1 เป็นช่วงที่มีปัญหามาก และยังไม่มีแนวทางแน่ชัดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในบริบทประเทศไทย

ถ้าดูแค่ในระดับอนุบาล ผมว่าแนวทางการเรียนการสอนมันเริ่มชัดขึ้น รวมถึงผู้ปกครองที่มีความรู้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ที่พยายามแสวงหาการเรียนรู้ที่เป็นแบบ active learning เน้นลงมือทำ การทำกิจกรรม มากกว่าการอ่านเขียนโดยตรง

แต่ในทางกลับกัน ทุกคนยังคงประสบปัญหาเมื่อลูกจบอนุบาล มันเป็นช็อกที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับวัย จากที่เด็กได้ทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ได้เล่น ได้สนุกมาตลอดในช่วงอนุบาล พอเข้า ป.1 ปุ๊บ ส่วนใหญ่ต้องนั่งโต๊ะเรียนนิ่งๆ นี่คือช็อกที่เด็กต้องเจอ

ประเด็นนี้ผมว่าเป็นความท้าทายยิ่งกว่าการสอบหรือไม่สอบเข้า ป.1 ด้วยซ้ำ เพราะตราบใดที่นิยามใน พ.ร.บ.ยังขยายไปไม่ถึง 8 ขวบ เราจะแก้ปัญหาช่วงรอยต่อนี้ไม่ได้เลย โจทย์สำคัญที่หลายภาคส่วนต้องมาช่วยกันคิด คือจะทำยังไงให้ช่วงรอยต่อตรงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมสำหรับเด็กจริงๆ

ถ้าเป็นไปได้มันควรครอบคลุมไปถึง 8-9 ขวบให้ได้ เทียบง่ายๆ คือไปให้ถึง ป.3 หลังจากนั้นเราจะสบายใจมากขึ้น เพราะเด็กเริ่มโตขึ้น มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ถึงจุดนั้นถ้าเขาจะต้องถูกบังคับให้นั่งนิ่งๆ หรือทำอะไรที่เหมือนผู้ใหญ่ ก็เป็นวัยที่น่าจะเหมาะสมมากขึ้น ถ้า พ.ร.บ.ครอบคลุมไปถึงตรงนั้น มันจะทำให้การบริหารจัดการการเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้

 

ในทางปฏิบัติ เราจะสามารถเชื่อมรอยต่ออย่างที่อาจารย์บอกได้ยังไง

ทางออกอย่างหนึ่งที่ผมพบจากการไปคุยกับหลายๆ โรงเรียนคือ เอาครู ป.1 มาเรียนรู้การสอนแบบครูอนุบาล ให้ครูระดับประถม โดยเฉพาะ ป.1-ป.3 ปรับมาใช้วิธีของครูอนุบาลมากขึ้นในชั้นเรียน จากที่เด็กเคยเรียนแบบอนุบาลมา 100% อาจปรับให้เหลือสัก 60% ค่อยๆ ลดลงไป ดีกว่าเปลี่ยนจาก 100 เป็น 0 หรือหน้ามือเป็นหลังมือ

5 ปีที่ผ่านมาที่ผมเข้ามาทำเรื่องนี้ ผมยอมรับในการทำงานของครูอนุบาลมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการเรียนการสอนของเขาเท่าไหร่ แต่พอได้ลงไปสัมผัสจริงๆ ปรากฏว่ามันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจเด็กมากๆ ซึ่งครูก็ต้องมีเทคนิคที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ยืนสอนอยู่หน้ากระดาน แล้วก็คาดหวังว่าเด็กจะทำตาม

ฉะนั้น ถ้าครูในระดับประถม มีความเข้าใจมากขึ้น และพร้อมจะประยุกต์ใช้วิธีนี้ ก็น่าจะช่วยได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครทำได้เลย คนที่ทำได้คือโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่ใช้ทรัพยากรบุคคลที่ดีมากๆ และราคาแพงมาก ความท้าทายคือ แล้วโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศจะทำอย่างไร ครูอีกจำนวนมากจะทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะไปหาครูใหม่มาอีกสองแสนสามแสนคน ซึ่งไม่มีทางพอ แล้วครูประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะสร้างกันได้ชั่วข้ามคืน

โจทย์สำคัญคือเราจะเปลี่ยนวิธีการของเขาได้ยังไง เราจะพัฒนาเขาได้ยังไง ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาความรู้เขาด้วย แต่ต้องพัฒนาเขาโดยที่เขาช่วยเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้จริงๆ

 

 

หัวใจของการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมุมของอาจารย์คืออะไร

ผมคิดว่าการเรียนรู้ในวัยเด็ก มันต้องออกไปในรูปแบบการเล่น แต่ในช่วงปีกว่าๆ ที่่ผ่านมา ผมพยายามนำเสนอมุมที่ต่างออกไปจากที่เคยมีคนเสนอกันมาก่อนหน้านี้

เท่าที่ผมเข้าใจ สังคมจะมีความเข้าใจว่ามีกลุ่มที่เน้นวิชาการ กับกลุ่มที่ไม่เน้นวิชาการ ผมไม่อยากมองแบบนั้นเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายการจะพัฒนาเด็ก เราต้องให้วิชาการกับเขาในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มที่เล่น จะไม่ให้วิชาการแทรกอยู่เลย

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นธงอันเดียวกัน คือทุกคนต่างต้องการให้เด็กมีความรู้ มีความคิด ตอนที่เราเริ่มโครงการ RIECE Thailand แล้วทุกคนถามว่าผมทำอะไร ผมบอกทุกคนสั้นๆ ว่า ผมอยากให้ลูกหลานเขาโตมาแล้วคิดเป็น ผมไม่รู้หรอกว่าคิดอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การสื่อสาร ทำนิตยสาร หรือเป็นชาวนา สิ่งสำคัญคือเขาต้องคิดเป็น

ถามว่าการจะคิดเป็น ต้องทำยังไง เขาก็ต้องมี analytical skill รู้จักตั้งคำถาม ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้ด้านวิชาการ ประเด็นที่ผมจะบอกคือ เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธวิชาการ แต่ต้องถามว่าจะให้วิชาการกับเด็กอย่างไร วิธีการที่ผมใช้คือให้วิชาการกับเด็กผ่าน active learning ผ่านกระบวนการเล่น กระบวนการที่เป็นกิจกรรม

เราไม่ใช่กลุ่มที่ไม่สนใจวิชาการ เราสนครับ แต่แทนที่จะเร่งให้เด็กเรียนวิชาการ เราจะให้วิชาการกับเขาผ่านกิจกรรม หน้าที่ของครู หน้าที่ของนักวิชาการ คือต้องมาช่วยกันคิดหากระบวนการหากิจกรรมให้เด็กสามารถเข้าร่วมได้อย่างมีชีวิตชีวา อย่างสนุกสนาน อย่าง active แล้วเด็กได้วิชาการด้วย

ในทางกลับกัน ทำไมเราไม่อยากยัดเยียดเขาในแบบที่เร่งอ่าน เร่งเครียด มาถึงก็จับดินสอเลย ถ้าถามผมแบบนักเศรษฐศาสตร์ ก็เพราะมันไม่ได้ผล ถามว่าดูยังไง ก็ถ้าได้ผลป่านนี้เด็กไทยเราก็คงโตมาแบบไม่ต้องกุมหัว อาจารย์มหา’ลัยก็คงสอนสบายๆ ข้ามไประดับ advance ได้เลย แต่ในความเป็นจริง เราต่างเห็นกันอยู่ว่ามันไม่เคยได้ผล

 

แล้วอาจารย์คิดยังไงกับประเด็นการยกเลิกการสอบเข้า ป.1

ผมเข้าใจว่าเป็นความพยายาม เป็นความหวังดี จากการที่นักวิชาการหรือผู้มีความรู้มากมายเล็งเห็นว่าการศึกษาปฐมวัยในประเทศไทย มันออกไปในทิศทางที่เร่งให้เด็กทำอะไรที่เป็นรูปแบบมากเกินไป

ตามความเข้าใจของผมคือ ทุกวันนี้เด็กต้องไปแข่งกันสอบเข้า ป.1 ในโรงเรียนดังๆ เขาก็เลยคิดว่าจะสกัดตรงนี้ อย่างที่บอกว่าเป็นความพยายามที่ดี แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมดไหม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสอบอย่างเดียว

จริงๆ เรื่องสอบนี่น่าขำอย่างหนึ่ง พอเราบอกว่าจะไม่ให้เด็กสอบ ก็มีคนที่บอกว่าให้สอบผู้ปกครองแทน ผมว่ามันประหลาด วนเข้าลูปเดิมอีก ผู้ปกครองก็ต้องเตรียมตัว ทำนั่นทำนี่กับลูก ไปเตรียม portfolio สุดท้ายถ้าเรายังยึดกับรูปแบบการสอบ อาจเหมือนหนีเสือปะจระเข้หรือเปล่า

ถามว่าถ้าจะไม่ให้สอบ แล้วจะทำยังไง หนึ่งคือให้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน สองจับสลาก ผมว่ามันไม่มีอะไรแฟร์เท่าการจับสลาก

ในอีกมุมหนึ่ง โรงเรียนก็ไม่ควรต้องเลือกเด็กมาก ผมอยากท้าทายโรงเรียนที่ดีๆ ว่า ถ้าคุณเก่งจริง ทำไมคุณต้องเลือกเด็ก อันนี้พูดแบบนอกคอกเลย โรงเรียนคุณเก่งหมายความว่าไง ไม่ได้หมายความว่าเด็กจบไปแล้วเก่ง แต่ต้องหมายความว่าถ้าเด็กเข้ามาเท่านี้ จบออกไปแล้วยกระดับขึ้นมาได้ ถ้าโรงเรียนคุณดีจริง คุณต้องยกระดับเขา ไม่ใช่รับคนที่เก่งอยู่แล้วเข้ามา ผมรู้สึกว่าการคัดเลือกไม่ควรจะเป็นประเด็นตั้งแต่ต้น

 

ทำไมการสอบคัดเลือกถึงเป็นประเด็นใหญ่ในประเทศไทย

ผมว่ามันสะท้อนอาการของความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ผมเองก็เป็นผู้ปกครองคนหนึ่งในกรุงเทพฯ พบว่าการจะเอาลูกเข้า ป.1 นี่มันยากมาก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ โรงเรียนของรัฐในบริเวณกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นทางเลือกมากเท่าที่ควร ไม่ได้บอกว่าโรงเรียนเอกชนไม่ดีที่ทำให้เป็นแบบนี้ ก็ดีที่เขามีทางเลือกให้ผู้ปกครอง แต่มันน่าเศร้าตรงที่โรงเรียนของรัฐที่คนสนใจจะไปเรียน กลับมีอยู่ไม่กี่ที่ เช่น โรงเรียนสาธิตต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริง โรงเรียนเหล่านี้แหละที่คนไปสอบแข่งเยอะๆ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักการการศึกษาของประเทศนี้ ถ้าบอกว่าการสอบเข้า ป.1 ผิด โรงเรียนกลุ่มนี้แหละคือคนที่กำลังทำผิดที่สุด

คำถามง่ายๆ คือ ถ้าเรายอมรับในหลักวิชาการว่าการสอบแข่งขันเข้า ป.1 เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำไมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับนี้ จึงไม่เป็นที่แรกที่ยืนหยัดขึ้นมา แล้วก็บอกว่าเราจะไม่ทำ

เวลาคุณสอนหนังสือ คุณก็บอกอย่างหนึ่ง เชิงนโยบายคุณบอกอย่างหนึ่ง พอถึงเวลาปฏิบัติ คุณก็ทำอีกอย่างหนึ่ง ทำไมคุณถึงไม่ทำให้เป็นตัวอย่าง ถ้าคุณเก่งอยู่แล้ว ถ้าคุณมีวิธีสอนที่ดี ไม่ต้องคัดหรอกครับ ไม่ว่าใครที่ไหนมาเรียน คุณก็ต้องสอนเขาให้เก่งได้

 

ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ แง่หนึ่งคุณภาพของโรงเรียนก็ต้องเท่าเทียมกัน

ถูก ผมเลยคิดว่าการสอบเข้า ป.1 ไม่ใช่เชื้อโรค มันคืออาการป่วย เชื้อโรคมันอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพ

พูดง่ายๆ คือคุณภาพมันต่างกันมาก ตั้งแต่คุณภาพวิชาการ คุณภาพการดูแลเอาใจใส่เด็ก ต่างกันลิบลับ สมมติถ้าจะแก้ แทนที่จะแก้เรื่องการสอบเข้า ป.1 เราควรมาแก้ด้วยการหาวิธีลดช่องว่างของคุณภาพตรงนี้ดีกว่า ถ้าทำได้ ผมว่าไม่มีผู้ปกครองคนไหนอยากเห็นลูกตัวเองร้องห่มร้องไห้เตรียมสอบ และไม่มีใครอยากจะเสียเงินเพื่อไปเรียนพิเศษเพื่อจะสอบหรอกครับ

ปัญหานี้มันสะท้อนเลยว่าคนมีความรู้สึก ผมไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วแต่ละโรงเรียนมีคุณภาพแค่ไหน แต่ในแง่การรับรู้ของผู้ปกครอง ผมว่าโรงเรียนที่เขามั่นใจมันมีไม่เยอะ ถ้าผมเป็นผู้ปกครอง ผมควรจะรู้สึกว่า ถ้ามีอยู่ 100 โรงเรียน มันควรมีสัก 80 โรงเรียนที่ลูกผมเข้าได้แล้วผมโอเค มีแค่ 20 โรงเรียนที่ผมต้องหลีกเลี่ยง

แต่สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มันตรงกันข้าม คือมีไม่กี่โรงเรียนที่คนประสงค์จะไปเรียน ส่วนที่เหลือก็ไม่รู้จะเรียกว่าจำใจหรือยังไงดี แต่โลกมันเป็นแบบนี้ ด้วยระบบต่างๆ ที่สั่งสมมา และไม่เอื้อต่อการพัฒนา

 

ปัญหาที่ว่ามา ภาครัฐสามารถช่วยอะไรได้ไหม

ที่รัฐควรทำคือ Financing กับ Monitoring แล้วก็สนับสนุนเรื่องวิชาการ ผมว่ามันทำได้ แต่ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญ และคงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ

มันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อรัฐเปลี่ยนระบบโครงสร้างแรงจูงใจ ถ้าถามผม ผมโปรแบบ extreme เลย ก็คือต้องใช้ระบบคูปองการศึกษา ระบบที่โรงเรียนไหนทำดี เด็กก็มีงบประมาณติดตัวไปด้วยเลย แล้วงบประมาณนี้รวมเงินเดือนครูด้วยนะ

ผมเชื่อว่ารัฐยังทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่คงต้องกระจายอำนาจ ต้องหาวิธีที่จะปรับระบบแรงจูงใจให้ได้ หรือถ้าจะให้ extreme ขึ้นไปอีก สุดท้ายครูต้องไม่ใช่ข้าราชการส่วนกลาง ครูต้องเป็นพนักงานของโรงเรียน อันนั้นจะทำให้แรงจูงใจมันเข้มข้นขึ้น

ปัญหาที่ผ่านมาคือ รัฐเข้ามาครอบงำ (dominate) มหาศาลมาก สังเกตว่าถ้ารัฐครอบงำภาคส่วนไหนก็ตาม มักจะเป็นอย่างนี้เสมอ มันไม่มีการแข่งขัน แล้วคนอื่นก็แข่งกับมันไม่ได้ด้วย เพราะรัฐเข้าไปควบคุมจนไม่สามารถสร้างการแข่งขันได้โดยตรง

 

 

ทราบมาว่าอาจารย์เชื่อมโยงการพัฒนาเด็กปฐมวัยเข้ากับการลดความเหลื่อมล้ำด้วย อยากรู้ว่าสองเรื่องนี้มันสัมพันธ์กันยังไง

เหตุผลที่ผมตัดสินใจทำเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย และผมก็เคลมว่ามันเป็นการพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ผมอ้างอิงจากงานวิจัยของ เจมส์ เจ. เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่บอกว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยมันคุ้มค่านะ ขณะเดียวกันมันยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาว ถ้าเราสามารถช่วยให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน

โครงการที่อาจารย์เจมส์ทำชื่อว่า Perry Preschool ทำขึ้นที่สหรัฐอเมริกา โดยสอนเด็กปฐมวัยภายใต้หลักสูตรที่ชื่อว่า High Scope ที่มุ่งให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ

วิธีที่เขาทำคือตามเก็บข้อมูลเด็กจำนวน 123 คน ต่อเนื่องเป็นเวลา 40-50 ปี แล้วเอามาวัดผล โดยดูผลจากเงินเดือน อัตราการก่ออาชญากรรม อัตราการติดยาเสพติด อัตราการท้องก่อนวัยต่างๆ สุดท้ายสรุปออกมาได้ว่า ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินคิดเป็น 7 เท่าของต้นทุน

ถามว่าทำไมอาจารย์เจมส์ถึงมาผลักดันเรื่องนี้ ก็เพราะมันได้ประโยชน์ทั้งสองกลุ่ม เด็กที่ได้รับการเรียนการสอนแบบนี้ ได้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ขณะที่สังคมก็ได้ประโยชน์ จากการที่ปัญหาสังคมหลายๆ อย่างลดน้อยลง เพราะคนเหล่านี้มีทุนมนุษย์มากพอ เห็นคุณค่าในตัวเองและดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นบ่อเกิดปัญหาสังคม

เขาพบว่าเวลาเราลงทุนในเด็กปฐมวัย มันได้ผลตอบแทนระยะยาวที่สูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในระดับอื่นๆ อันนี้มาจากงานวิจัยทั่วโลก หมายความว่า ถ้ายิ่งมีความต่างในช่วงเด็กเล็กมากเท่าไหร่ มันจะกลายเป็นความต่างที่เท่าทวีคูณในอนาคต

ฉะนั้น วิธีที่จะหลีกเลี่ยงความต่างไม่ให้มันเกิดขึ้นในอนาคตมากจนเกินไป เราต้องลดตั้งแต่ตอนนี้ แล้วในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมรู้สึกว่าทำไมเราไม่ใช้โมเดลนี้บ้าง สุดท้ายจึงเป็นที่มาของโครงการ RIECE Thailand

 

อยากให้ขยายความหน่อยว่า หลักสูตร High Scope มีแนวทางการเรียนการสอนที่ต่างออกไปอย่างไร

หัวใจของมันคือ plan / do / review คือเวลาเด็กจะทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างที่เด็กทำเวลามาโรงเรียน คุณครูจะมีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กทำสามอย่างนี้

หนึ่ง ‘plan’ ก่อนจะทำอะไรวางแผนก่อน ในกิจกรรมหลักๆ จะมีชั่วโมงหนึ่งที่ให้เด็กวางแผนในการเล่น วางแผนว่าจะเล่นอะไร เช่น จะไปต่อไม้บล็อก ต่อยังไง เป็นรูปอะไร ขั้นต่อไป ‘do’ คือไปทำตามที่วางแผนไว้ พอทำเสร็จ จะมีข้อตกลงว่าเด็กต้องเก็บของเล่นเอง พอเก็บเสร็จ ก็ปิดท้ายด้วยการ ‘review’ ให้เขาออกมารีวิวหรือทบทวนการเล่นของเขาให้เพื่อนฟัง

ในสามขั้นตอนที่ว่ามา เราจะเน้นเรื่องปฏิสัมพันธ์มาก ระหว่างที่เด็กวางแผน ครูก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก คุยกับเด็กว่าตกลงจะทำอะไร จะวาดอะไร ระดับคำถามก็ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ซึ่งตรงนี้เขาจะได้ทักษะทางภาษาด้วย

ระหว่างที่เด็กเล่นอยู่ หน้าที่ของครูคือไปเล่นกับเด็ก ไม่ใช่นั่งอยู่บนโต๊ะแล้วตรวจการบ้าน อันนั้นคือสิ่งที่เราพยายามเปลี่ยนมาตลอด ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะนั่นคือวัฒนธรรมเก่าๆ ของคุณครู แต่ในหลักสูตรนี้ บทบาทของคุณครูต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ ไปช่วยเด็กแก้ปัญหา ไปดู ไปสังเกต ไปคุย ไปตั้งคำถามกับเขา ชวนเขาคิด

 

ถ้ามองในมุมของครู ขั้นตอนไหนที่ยากสุด

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ขั้นตอน ‘review’ ยากที่สุด เพราะครูไทยอยากรีบสอนเอง ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้กันเอง แต่หลักการของเราคือ แทนที่คุณครูจะคอยตอบ ครูจะทำหน้าเป็นโค้ชให้เด็กได้เล่า ได้พูดถึงสิ่งที่เขาทำ

ทางออกคือต้องใช้เวลา เวลาผ่านไปถ้าครูยังยึดมั่นในหลักการ ครูก็จะเริ่มเปลี่ยนได้เอง เพราะเขาจะเริ่มเชื่อมั่นในตัวเด็ก แล้วเด็กเองก็จะรอด้วย แรกๆ เด็กจะไม่กล้าถามไม่กล้าพูด เพราะครูไทยเคยใช้แบบการสอนเดิมๆ มาตลอด อ้าวนักเรียน ทำตาม เงียบๆ ตั้งใจฟัง แต่ระบบนี้จะไม่ใช้วิธีแบบนั้น

 

แล้วพอคุณเริ่มทำ RIECE Thailand จนถึงตอนนี้ผ่านมาประมาณ 5 ปี มีแง่มุมไหนที่น่าสนใจบ้าง

ผมพยายามรีวิวตัวเองเหมือนกันว่าเราทำอะไร คำตอบคือเราให้ know-how มากกว่า knowledge และผมว่าการให้ know-how มันเวิร์กด้วย เราให้ knowledge กันมานานแล้ว แต่ลำพังแค่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ

ผมคุยกับโรงเรียนเอกชนหลายแห่งที่ร่วมงานกับเรา เขาก็เอาวิธีการของเราไปใช้ ถามว่าถ้าเป็น ป.1 จะให้เขาทำยังไง ผมก็บอกว่าต้องขอเวลาอีกหน่อย เพราะเมื่อเราบอกว่าจะเปลี่ยน หรือปรับนโยบายใหม่ สุดท้ายก็ต้องมองกลับไปที่ครู แล้วครูจะปรับยังไง เหมือนบอกให้ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คำถามคือแล้วต้องทำยังไง

ปัญหาที่ผ่านมาคือ คนพูด คนกำหนดนโยบาย ไม่เคยมีความชัดเจน และนั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่า RIECE Thailand แตกต่างมากๆ เพราะเรามีความชัดเจน เราให้ know-how เลย ซึ่งนักการศึกษาบางคนก็จะไม่ชอบ พูดง่ายๆ คือเราบอกเลยว่า เดินไปทางซ้ายสองก้าวนะ เดินไปข้างหน้าสองก้าว แล้วเดินไปทางขวาอีกก้าวหนึ่ง เดี๋ยวคุณก็ถึงจุดหมาย

สิ่งสำคัญที่สุดคือครูไม่รู้จะทำตัวยังไง เพราะเขาเคยชินกับการทำแบบนี้มา อย่างครูปฐมวัยที่ผมเข้าไปเปลี่ยน ก็ต้องใช้เวลา แต่โชคดีว่าด้วยวิธีการและอะไรหลายอย่าง พอเราแปลงเป็น know-how บอกเขาชัดๆ ว่าต้องเดินยังไง สุดท้ายเขาก็ทำได้ ไปต่อได้

แต่กับระดับประถม ตอนนี้ผมคิดว่ายังไม่มีใครบอกเขาได้ว่าคุณควรจะทำอย่างนี้นะ แค่รู้ว่ามีหลักการ 10 ข้อ เอาไปปฏิบัติ ไปประยุกต์เอานะ ถามว่าเขาจะทำมั้ย (หัวเราะ) คนมันไม่อยากเปลี่ยนอยู่แล้ว แล้วพอมีต้นทุน ต้องไปนั่งคิดอีก ยิ่งยาก

 

 

อีกกระแสที่ช่วงหลังได้รับความนิยมคือโฮมสคูล อาจารย์มองว่าเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไหม

ก็คงต้องมีอิสระให้เขาทำ แต่ถ้าถามผม ส่วนตัวผมไม่แนะนำให้ใครทำ เพราะผมเชื่อใน social skill คือโฮมสคูลเขาก็พยายามอุดช่องโหว่นี้ จากการมีกลุ่มของเขา เอาเด็กมาเจอกันเพื่อให้เด็กมีเพื่อน แต่ผมยังเชื่อว่ามันเป็นกลุ่มที่มี setting อยู่ดี ไม่ใช่กลุ่มที่เป็นไปตามธรรมชาติ สุดท้ายก็เป็นเด็กแบบเดียวกันมาเจอกัน ขาดความหลากหลายอยู่ดี

ถามว่าผมค้านมั้ย คิดว่าต้องแบนมั้ย ไม่ เพราะนั่นคือทางเลือกหนึ่ง แล้วคนต้องมีสิทธิเลือก แต่ถ้าใครก็ตามปรึกษาผมในฐานะนักวิชาการ หรือปรึกษาแบบส่วนตัว ผมไม่เชียร์ ผมยอมให้ไปโรงเรียนที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบดีกว่า เพราะสุดท้ายโลกนี้ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ถูกไหมครับ (หัวเราะ) แน่นอนว่าเราไม่ได้จะส่งลูกไปนรก แต่โลกมันก็เป็นเช่นนี้ มีเพื่อนเกเร มีครูใจร้าย ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนควรจะมีครูใจร้ายนะ แต่เราต้องเจอบ้าง สิ่งที่เขาควรเจอคือ setting ของการอยู่ในสังคมที่ปกติ

จริงๆ คนที่ suffer ที่สุดในโฮมสคูลคือแม่ ต้องระวังให้ดี ถ้าใครมีครอบครัวผมไม่เชียร์ให้คุณแม่ลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก เพราะเขาจะ suffer มากเมื่อลูกโต เขาจะอยู่กับใคร เขาจะทำอะไร ความหมายของชีวิตเขาจะอยู่ตรงไหน เพราะสุดท้ายชีวิตเด็กต้องมีอิสระ เพราะถ้าไม่มีอิสระก็ไปซวยที่เด็กต่อ

 

ปัญหานี้ของแม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นโฮมสคูลอย่างเดียวหรือเปล่า เช่นบางคนพอมีลูก มีครอบครัว ก็ออกมาเลี้ยงลูกเป็นแม่บ้านเลย

สุดท้ายก็กลับไปที่ปัญหาที่ผมพูด ก็คือในเมื่อเรามีโรงเรียนแค่ 20% ที่เราอยากให้ลูกเราเรียน มันเลยเป็นปัญหา ถ้าโรงเรียนที่เราอยากให้เรียนมี 80% ก็ไม่มีปัญหา ผมว่ามันเป็นภาวะที่ประหลาดมาก คือโรงเรียนก็กลัวไม่มีเด็กเรียน พ่อแม่ก็กลัวลูกไม่มีที่เรียน

ในทางเศรษฐศาสตร์มันไม่ควรเป็นแบบนี้ มันมีดีมานด์ กับซัพพลาย ซึ่งเป็นไปได้แค่สามแบบ หนึ่งคือพอดีกัน สองคือดีมานด์มากกว่าซัพพลาย สามคือซัพพลายมากกว่าดีมานด์ แต่กับเรื่องนี้นี่แปลกมาก ในฝั่งหนึ่งก็ดีมานด์เกิน ในฝั่งหนึ่งก็ซัพพลายเกิน เป็นปรากฏการณ์ที่ amazing มาก

อีกเรื่องที่ผมว่าประหลาดมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือเวลาไปซื้ออะไรก็ตาม service หรือของในโลกนี้ เราหยิบของใส่มือเราก่อนแล้วค่อยจ่ายเงิน ขนาดเวลาไปโรงพยาบาล หมอยังต้องรักษาเราก่อน แล้วเราค่อยจ่าย แต่เวลาจะไปโรงเรียนทำไงครับ จ่ายก่อนถูกไหม ถามว่ามันมีอะไรบ้างที่เป็นอย่างนี้

อาจคล้ายๆ เราจ้างผู้รับเหมา ถ้าคุณเคยรีโนเวทบ้านตัวเอง จะรู้ว่ามันปวดหัวที่สุด เวลาก่อสร้างเราเรียกผู้รับเหมามา พอเขาต่อรองเสร็จ จ้างเสร็จ เรากลายเป็นทาสเลย (หัวเราะ) เพราะว่ามันจ้างไปแล้ว เงินก็จ่ายไปแล้วบางส่วน

เรื่องโรงเรียนก็ปัญหาเดียวกัน มันประหลาด เราไม่สามารถเปลี่ยนโรงเรียนลูกได้ทุกวัน เฮ้ย โรงเรียนนี้ไม่ดี เปลี่ยนไปอีกโรงเรียนหนึ่ง ไปหาหมอเป็นไง ผมไปโรงพยาบาล A ผมไม่ชอบ ผมไปโรงพยาบาล B ไม่ชอบอีก ก็ไปโรงพยาบาล C เปลี่ยนมันได้ทุกวันเลย แต่โดยธรรมชาติโรงเรียนมันมีข้อจำกัดเยอะมาก ที่ไม่สามารถผลักดันให้คนในระบบต้องทำในสิ่งที่ควรทำ

 

สังเกตว่าไม่ค่อยมีนักเศรษฐศาสตร์มาจับประเด็นหรือทำเรื่องการศึกษาเท่าไร ทำไมอาจารย์สนใจเรื่องนี้และทำเรื่องนี้

หนึ่ง มาจากชีวิตของผมเอง ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดในอุบลฯ ไม่ได้อยู่ในอำเภอเมืองด้วย และผมก็รู้สึกว่าผมมาอยู่ที่นี่ได้เพราะการศึกษา ผมสนใจเรื่องการศึกษามานานตั้งแต่ผมเรียนปริญญาเอกแล้ว และมีความฝันอยู่เสมอว่าอยากทำเรื่องการศึกษา เมื่อมีโอกาส มีทุนพร้อม ผมก็ไม่ลังเลที่จะทำ

สอง ผมว่าสิ่งที่ผมอยากจะนำมาสู่วงการการศึกษามากขึ้น คืองานวิจัยและความรู้ในด้านการศึกษาที่เป็นเชิงปริมาณ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่หลักการล่องลอย

ผมรู้สึกว่าคนในแวดวงการศึกษาเขามีหลักการอยู่มากมาย แต่บางอย่างมันควรจะยึดข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่านี้ ใช้ตัวเลขมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าเราจะเชื่อตัวเลขอย่างเดียว แต่มันต้องมีมากขึ้น

ผมอยากจะเห็น evidence-based education policy หรือการถกเถียงในเชิงการศึกษาที่ไม่ใช่แค่อุดมคติ ไม่ใช่แค่ว่าฉันชอบแบบนี้ คุณชอบแบบนั้น แต่อะไรที่วัดได้ เอามาวัดกันหน่อยไหม โดยที่ตระหนักว่าสิ่งที่เราวัดนั้นไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป แต่มันจำเป็นต้องมี อันนี้น่าจะเป็นเป้าหมายที่ผมอยากจะทำมากขึ้นเรื่อยๆ ถัดจากนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save