fbpx
ปรับตัว รับใช้สังคม : สื่อ-ศิลป์ ในวิกฤตโรคและการเมืองปี 2020

ปรับตัว รับใช้สังคม : สื่อ-ศิลป์ ในวิกฤตโรคและการเมืองปี 2020

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ในปี 2020 ที่ไวรัสครองโลก นอกจากประเทศไทยจะประสบกับสถานการณ์โรคระบาดที่พลิกโฉมการดำเนินชีวิตของผู้คนแล้ว สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงทะลุเพดานยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แพร่ระบาดไปพร้อมกัน ทั้งสองเรื่องนำประเทศไทยเข้าสู่โลกอีกใบที่ยากจะจินตนาการถึง – แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

ในหมู่มวลความผันผวนทั้งหลาย แวดวงสื่อสารมวลชนและแวดวงศิลปวัฒนธรรมพันเกี่ยวอยู่กับสถานการณ์ทั้งสองอย่างเลี่ยงไม่ได้ การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทำงานสื่อวารสารศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญถกกันเรื่องอนาคตของอุตสาหกรรมอย่างจริงจังอีกครั้ง ขณะที่ศิลปวัฒนธรรมหลายแขนงต่างจำต้องยกขบวนไปทำการจัดแสดงบนพื้นที่ออนไลน์หรือในดินแดนโลกเสมือน

ด้านสถานการณ์การเมืองไทยและการชุมนุมประท้วงตลอดปี 2020 ก็ทำให้วิชาชีพสื่อสารมวลชนถูกตั้งคำถาม และถูกคาดหวังให้เป็น ‘สื่อ’ ยิ่งกว่าช่วงเวลาไหนๆ พร้อมกันกับที่ศิลปะได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกของผู้ชุมนุม ขับเน้นบทบาท ‘การรับใช้สังคม’ ของศิลปะอย่างเด่นชัด

ในโอกาสรับปีใหม่ 101 ชวนคุณย้อนมองสื่อและศิลป์ผ่านผลงานในปี 2020 เพื่อทบทวนภาพกว้างของสถานการณ์อันท้าทายในปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจสะท้อนภาพพรางๆ ของอนาคตข้างหน้าว่า สื่อและศิลป์จะเดินทางต่ออย่างไรในปีที่ใครๆ ต่างหวาดกลัวว่าจะหนักหนาไม่แพ้กัน

 

#วารสารศาสตร์ต้องรอด ในวิกฤตโรคระบาด

 

‘ทางรอดของสื่อ’ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์โรคระบาดและเค้าลางของวิกฤตเศรษฐกิจก็สั่นสะเทือนจนผู้คนในแวดวงต้องตั้งคำถามต่อประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง

หนึ่งในคำตอบที่ถูกถอดบทเรียนมากที่สุดคือการปรับตัวของสื่อจากอีกมุมโลกอย่างนิวยอร์กไทมส์ กับการประกาศใช้ระบบสมาชิกตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมาจนถึงปี 2020 ที่สถานการณ์โควิดเริ่มตึงเครียด ระบบสมาชิกพานิวยอร์กไทมส์ผ่านวิกฤตด้วยยอดสมาชิกดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นกว่า 669,000 คน ในไตรมาส 2/2020

จากที่คุณค่าของสื่อถูกท้าทายโดยโมเดลรายได้ที่พึ่งพิงทุนและการโฆษณาเป็นหลัก นิวยอร์กไทมส์โมเดลจึงถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นทางรอดของสื่อยุคใหม่ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงคุณภาพ แต่ในความเป็นจริง ‘นิวยอร์กไทมส์โมเดล’ อาจมีไว้ให้นิวยอร์กไทมส์เท่านั้น เพราะตลาดสื่อในปัจจุบันเป็นตลาดที่ผู้ชนะหนึ่งเดียวเป็นผู้ครอบครองทุกอย่าง ดังที่สถาบันรอยเตอร์เพื่อวารสารศาสตร์ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Reuters Institute for the Study of Journalism) ศึกษากลุ่มผู้อ่านรายใหม่ที่สมัครระบบสมาชิกสื่อประเภทข่าวทั่วโลก 38 ประเทศ พบว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่สมัครเป็นสมาชิกสื่อข่าวออนไลน์เพียง 1 เจ้าเท่านั้น โดยในสหรัฐอเมริกา ผู้ชนะที่สามารถครองที่ว่างส่วนใหญ่ได้ก็คือนิวยอร์กไทมส์นั่นเอง

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่สื่อหลายเจ้าต้องเลิกจ้างและลดเงินเดือนพนักงานจำนวนมาก นิวยอร์กไทมส์กลับประกาศเลิกจ้างพนักงานเพียง 68 คน เท่านั้น และยังกว้านซื้อตัวบรรณาธิการและนักข่าวหัวกะทิในวงการจำนวนไม่น้อยมาเสริมทัพให้ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการนี้ยังสร้างคำถามว่า การดูดกลืนคนเก่งๆ เข้ามาร่วมกันไว้ในนิวยอร์กไทมส์ อาจกำลังทำให้ ‘การแข่งขันเชิงความคิดและวัฒนธรรมของสื่อ’ ย้ายจากพื้นที่ระหว่างองค์กรสื่อด้วยกัน มาอยู่ภายในนิวยอร์กไทมส์เสียเอง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณอันตรายของคุณภาพสื่อและประชาธิปไตย เพราะ ‘สื่อท้องถิ่น’ ที่มีขนาดเล็กกว่า และมีบทบาทสำคัญต่อประชาธิปไตย กลับไม่ใช่ผู้อยู่รอด สื่อท้องถิ่นไม่สามารถเลี่ยงที่จะแข่งกับนิวยอร์กไทมส์โดยตรงได้ และถึงแม้จะมีเนื้อหาท้องถิ่นที่แตกต่างจากนิวยอร์กไทมส์ แต่การมีฐานผู้อ่านที่แคบกว่า ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่านิวยอร์กไทมส์หลายเท่า และทำให้ค่าสมาชิกของสื่อท้องถิ่นส่วนใหญ่สูงมากจนผู้อ่านไม่อยากจ่าย

อีกหนึ่งบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาในสถานการณ์วิกฤต ถูกบอกเล่าไว้ในบทความ สร้างอนาคต ‘สื่อ’ อย่างไรในภาวะวิกฤต Sara Fischer ผู้สื่อข่าวด้านสื่อของเว็บไซต์ข่าว Axios ได้เสนอให้จับตาแนวโน้ม 4 ด้านที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางของแวดวงวารสารศาสตร์ คือ แนวโน้มทางวัฒนธรรม การกำกับดูแล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้านธุรกิจ

แนวโน้มทางวัฒนธรรม องค์กรวารสารศาสตร์ต้องกลับมาพิจารณาบทบาทที่ผ่านมาที่อาจเพิกเฉยต่อความไม่ยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อคุณค่าของสังคมประชาธิปไตย เช่น การเหยียดสีผิว และการคุกคามทางเพศ

แนวโน้มด้านการกำกับดูแล เกี่ยวโยงกับแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ใช้ช่องทางเหล่านี้ในการเผยแพร่เนื้อหาและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสาร โดยในอเมริกามีกฎหมายที่แก้ปัญหาการนำข้อมูลผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปหาประโยชน์โดยผู้ใช้ไม่ยินยอม ทั้งยังมีแรงกดดันให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นให้กับองค์กรสื่อและผู้เผยแพร่เนื้อหาที่น่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมไปถึงการทำให้ระบบอัลกอริทึมมีความโปร่งใส่ยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลเรื่องลิขสิทธิ์เพื่อทำให้องค์กรสื่อได้รับการคุ้มครองเนื้อหาที่ผลิตเองด้วย

สำหรับแนวโน้มด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์  Fischer ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต้องเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับสารเพื่อรักษาฐานผู้บริโภคให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ขณะที่แนวโน้มด้านธุรกิจเป็นแนวโน้มที่ Fischer มองว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิด ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือสื่อขนาดใหญ่จะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมธุรกิจขนาดเล็ก ขณะที่สื่อขนาดย่อมที่ยังใช้โมเดลการหารายได้จากโฆษณาอยู่ก็ต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อแย่งค่าโฆษณาอัตราต่ำ ในสนามการแข่งขันที่มีผู้ชนะรายใหญ่จำนวนไม่กี่เจ้า

แม้ประสบการณ์ของสื่อฝั่งอเมริกาอาจไม่ตรงกับประเทศไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บทเรียนดังกล่าวก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพิจารณาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทั้งทางธุรกิจและความไว้วางใจจากสาธารณะเช่นกัน บทเรียนทั้งสองสะท้อนว่า ทางออกของสื่ออาจไม่ใช่การปะซ่อมโครงสร้างอันผุพังที่เป็นอยู่ด้วยการหาโมเดลธุรกิจใหม่แต่เพียงอย่างเดียว หากแต่คือการประกอบร่างสร้างสื่อที่มีคุณค่าขึ้นมาใหม่ บนฐานคิดที่รับผิดชอบต่อผู้อ่านและการเป็นเสาหลักให้ประชาธิปไตย ดังเช่นที่ อาจารย์ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ วารสารศาสตร์ต้องรอด ว่า

สื่อเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในการสื่อสาร และส่งเสริมสิทธิในการสื่อสาร สถาบันสื่อจึงถูกคาดหวังให้มีหน้าที่นำข้อมูลที่สำคัญมาให้ประชาชน การที่ ‘เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน’ ก็เพราะประชาชนต้องมีเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คิดเห็นอะไรก็สามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ในการสื่อสารไปยังรัฐ หรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมได้

 

สื่อบนหลักการประชาธิปไตยในสถานการณ์ความขัดแย้ง

 

เมื่อกระแสการชุมนุมลุกโชน ผู้คนร้องหาประชาธิปไตย แรงกระเพื่อมก็ส่งมาถึงแวดวงสื่อมวลชนอย่างน่าสนใจ ในระลอกแรก แรงกระเพื่อมมาในรูปแบบกระแสคว่ำบาตรสื่อที่ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ผู้คนมากมายติดแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียเพื่อแบนสื่อ รวมไปถึงสปอนเซอร์ผู้ซื้อโฆษณาในสื่อดังกล่าว ทั้งยังเชิญชวนให้สนับสนุนธุรกิจที่คนในแวดวงบันเทิงซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย

หากจับตาปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จะพบว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้ไม่ใช่เพราะแค่ความไม่ชอบ แต่ยังพ่วงด้วยเหตุผลที่ไปไกลกว่าเหตุผลทาง “จริยธรรมวิชาชีพ” เพราะผู้คนต่างคาดหวังต่อบทบาทสื่อที่เกี่ยวพันกับแนวคิดประชาธิปไตย กล่าวคือ ไม่เพียงเห็นว่าจริยธรรมวิชาชีพเป็นการปกป้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ (ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) แต่ยังต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของพลเมืองต่อสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจมากกว่าด้วย

ทั้งนี้ การประเมินว่าการแสดงออกและความคิดเห็นใดสอดคล้องหรือขัดกับหลักการประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยก็ถูกทำให้คุ้นชินกับการคุกคามรูปแบบต่างๆ และอยู่ในหลักการประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวไปจากแนวทางสากล โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะที่การถกเถียงเรื่องจริยธรรมวิชาชีพก็มุ่งไปที่มิติทางศีลธรรม แต่ถูกตัดขาดจากมิติทางการเมือง (de-politicise)

แต่เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการชุมนุมบนท้องถนน สื่อมวลชนก็ถูกคาดหวังให้รายงานความเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้รับสารได้ทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่าง รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการอภิปรายถกเถียงที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ ในห้วงยามเช่นนี้ Jay Rosen นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เสนอเสาหลัก 4 ประการในการเปลี่ยนแปลงให้การรายงานเรื่องการเมืองช่วยเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตยไว้ว่า

  • การปกป้องประชาธิปไตยถือเป็นพื้นฐานของงาน (วารสารศาสตร์)
  • การให้พื้นที่สื่อแก่ทุกฝ่ายเท่ากัน ขณะที่ในความเป็นจริงที่ทุกฝ่ายมีอำนาจไม่เท่ากัน ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ (malpractice)
  • กรอบการรายงานแบบ “การเมืองเป็นเกมยุทธศาสตร์” ถือเป็นการรายงานที่มีคุณภาพต่ำและมักง่าย
  • ผู้แสดงทางการเมืองที่มีประวัติการให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งข่าวและผู้ร่วมรายการสัมภาษณ์/สนทนา

 

หากพิจารณาตามเสาหลักดังกล่าว การรายงานแบบสรุปเหตุการณ์ว่าใครพูดอะไรตามมาตรฐานเบื้องต้นของการนำเสนอข่าวทั่วไป จึงไม่เพียงพอต่อการรายงานข่าวในความขัดแย้งแบ่งขั้ว ที่จำเป็นต้องคลี่ให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้แสดงต่างๆ พูดออกมานั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการใด และมีที่มาที่ไปอย่างไร การอ้างว่าการรายงานว่าใครพูดอะไรก็เป็นการรายงานข้อเท็จจริงแล้ว (เพราะเขาพูดอย่างนั้นจริงๆ) โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ขยายความบริบท หรือชี้ให้เห็นปัญหาต่อกระบวนการประชาธิปไตย ก็ไม่นับเป็นงานวารสารศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคมประชาธิปไตยเช่นกัน

นอกจากกระแสการแบนสื่อที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนคาดหวังบทบาทสื่อที่เกี่ยวพันกับแนวประชาธิปไตยแล้ว อีกหนึ่งปรากฎการณ์สื่อที่เกิดขึ้นในบรรยากาศการเมืองคุกรุ่น คือสถานการณ์ที่สื่อถูกปิดกั้น จนเกิดการติดแฮชแท็ก #saveสื่อเสรี ขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยในเดือนตุลาคม ปี 2020 มีการออกคำสั่งจากหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและระงับเนื้อหาบางส่วนขององค์กรสื่อที่รายงานการชุมนุม ได้แก่ Voice TV, Prachatai.com, The Standard และ The Reporter รวมทั้งเพจ Free Youth ­ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เนื่องจากขัดต่อข้อกำหนดใน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ที่ประกาศใช้ในช่วงก่อนหน้า

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมาตรการของรัฐที่ขัดต่อสิ่งที่คนในสังคมต้องการในห้วงเวลาความขัดแย้งทางการเมือง ดังที่บทความ ‘เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น: กฎหมายไม่ใช่ทางออกในการกำกับดูแลสื่อในความขัดแย้ง’ ระบุว่า รัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายใดๆ เพื่อกำกับดูแลสื่อที่รายงานข้อเท็จจริงจากการชุมนุมเลย กล่าวคือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงคำสั่งและมาตรการตรวจสอบการเผยแพร่เนื้อหาสื่อและหนังสือวิชาการ เป็นการปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายต้องการข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและหลายมิติ เพื่อมาทำความเข้าใจ ทลายมายาคติ ประกอบการตัดสินใจ และสร้างพื้นที่ถกเถียงอภิปรายอย่างมีอารยะ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

“หากรัฐมีความจริงใจในการคลี่คลายความขัดแย้ง แทนที่จะมาปิดกั้นการรายงานของสื่อมวลชนบางองค์กรและสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่งานวิชาการ ก็ควรไปพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน และข้อมูลผิดพลาดที่แพร่กระจายอยู่ทั่ว (โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากช่องทางต่างๆ ของรัฐและสื่อมวลชนที่มีทีท่าสนับสนุนรัฐด้วย) รวมทั้งชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ และมีความไว้วางใจในการทำหน้าที่ของรัฐที่รับประกันสวัสดิภาพของประชาชนอย่างแท้จริง”

จากความเห็นข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นข้อมูลเท็จมักเป็นปัจจัยล่อแหลมให้รัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อในสถานการณ์การเมือง ทั้งนี้เมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์ทับซ้อนอย่างการแพร่ระบาดของโควิด ห้วงเวลาที่คนต้องการข้อมูลในมือเพื่อดำรงอยู่ในสภาวะความไม่แน่นอน ปี 2020 จึงเป็นเหมือนชนวนชั้นดีที่ข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและเท็จจะไหลบ่าเป็นจำนวนมาก

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “มองความจริงของสื่อ ผ่านข่าวลวงในยุคโควิด” วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สกสว. และนักวิจัยโครงการสำรวจองค์ความรู้ด้านข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน และข้อมูลผิดพลาด และกรณีศึกษาด้านสุขภาพของไทย (ร่วมกับ สสส.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า

“บางทีข่าวลวงก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เช่น เวลาที่ทรัมป์ไม่พอใจสื่อไหน ก็บอกว่าสื่อนี้เป็นข่าวลวง กลายเป็นว่าข่าวลวงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐไป”

“ทำอย่างไรที่คำนี้จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการแทรกแซงสื่อ หรือแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น สุดท้ายเรื่องนี้เราต้องใช้การจัดการปัญหาอย่างรอบด้าน ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเข้ามาช่วยกัน แล้วก็ต้องมาช่วยกันดูว่ามีคุณค่าทางสังคมอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบจากข่าวลวง แต่การไปออกกฎหมายที่โหดมากๆ กับแพลตฟอร์มหรือกับประชาชน อาจจะกลายเป็นการละเมิดคุณค่าบางอย่างที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ”

 

ศิลปะในโลกที่ผู้คนเว้นระยะห่างทางสังคม

 

ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้า เมื่อโรคระบาดร้ายแรงเข้าเขย่าภาวะปกติ แวดวงศิลปะต้องเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ นิทรรศการศิลปะ อีเวนต์ การแสดงคอนเสิร์ต และกิจกรรมอีกมากมายที่เคยเป็นศูนย์รวมความรื่นรมย์ของผู้คน ต้องกลายร่างไปปรากฎบนโลกออนไลน์ แม้จะไม่ถูกใจหลายคนในเริ่มแรก แต่สถานการณ์กล่าวก็ทำให้ได้เห็นความชาญฉลาดในการออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ศิลปวัฒนธรรมยังคงดำเนินต่อไปได้

ในปี 2020 มีตัวอย่างการปรับตัวของศิลปวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น ในบทความ อีเวนต์และคอนเสิร์ตต้องปรับตัวอย่างไรในวันที่ไม่มีใครอยากออกมาจอยกัน ได้นำเสนอคำว่า ‘Virtual Event’ คียเวิร์ดสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกและทางรอด โดยยกตัวอย่างผ่านงานคอนเสิร์ต AT HOME Festival ที่จัดโดย Fungjai คอนเสิร์ตที่ชวนศิลปินถ่ายทอดดนตรีสดจากบ้านศิลปินไปสู่คนดูที่กำลังนั่งเหงาอยู่ที่บ้านผ่านไลฟ์ทาง YouTube และ Facebook และนำรายได้จากการสนับสนุนของผู้ชมส่งต่อให้ศิลปินนักดนตรี เป็นการช่วยเหลือศิลปินอีกทางในช่วงที่งานโชว์หด คอนเสิร์ตดังกล่าวได้ยอดสนับสนุนไปไม่น้อย และฝั่งคนดูเองก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดนตรีช่วยเยียวยาความรู้สึกในช่วงนี้ได้มาก

AT HOME Festival ใส่ลูกเล่นไว้หลายอย่างเพื่อคงอรรถรสของการดูคอนเสิร์ต เช่น การมีพิธีกรสนุกๆ ชวนทำกิจกรรมคั่นรายการ การที่ผู้ชมสามารถโต้ตอบกับศิลปินผ่านช่องคอมเมนต์ และยังสามารถสั่งอาหารได้ระหว่างการชมไลฟ์ โดยสแกน QR Code บนหน้าจอ ให้ความรู้สึกเหมือนร้านอาหารในเทศกาลดนตรีที่ช่วยให้เราอิ่มท้องได้โดยไม่ต้องพักความสนุก

นอกจากคอนเสิร์ตแบบ Virtual แล้ว ศิลปะยังไปปรากฎในเกมออนไลน์ยอดฮิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั่นคือ Animal Crossing : New Horizons โดยเกาะซึ่งเป็นโลเคชันหลักในเกมจะมีหอศิลป์เป็นของตัวเอง โดยเกมจะมีกิจกรรมให้ซื้องานศิลปะจากตัวละคร Jolly Redd จิ้งจอกนายหน้าสายอาร์ต เพื่อนำไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์หรือตกแต่งบนเกาะ ความท้าทายของผู้เล่นคือต้องเลือกซื้อชิ้นงานศิลปะที่เป็นของแท้จากจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ ที่ผสมทั้งงานจริงงานเก๊มาหลอกขายเรา โดยงานศิลปะทุกชิ้นในเกมล้วนเป็นผลงานระดับตำนานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภาพเขียนหญิงสาวเทนม The Milkmaid โดย Vermeer, ประติมากรรม The Thinker โดย Auguste Rodin ไปจนถึงภาพ Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci ฯลฯ

ศิลปะยังปรับตัวโดยตั้งตนจากความต้องการหรือความโหยหาของคนในช่วงการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ‘เครื่องกอด’ งานศิลปะที่ฟ้องว่าคนต้องการ ‘ชุดปฐมพยาบาลทางใจ’ ในช่วง Social Distancing Lucy McRae ศิลปินผู้นิยมสร้างงานศิลปะผสานกับร่างกายมนุษย์ สร้างงานศิลปะที่มีชื่อว่า Compression Carpet เครื่องกอดจำลอง เป็นการออกแบบด้วยผ้าและหนังโทนสีเดียวกับผิวคน มีเตียงตรงกลางที่เป็นหมอนนุ่มๆ ให้ผู้ที่ต้องการกอดนอนลงระหว่างกลาง แล้วให้คนอีกคนหมุนมือจับเพื่อกระชับอ้อมกอดให้คนที่นอนบนเตียง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้นิทรรศการออนไลน์กลายเป็นภาคบังคับของพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และศิลปินทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความสำคัญของวัตถุจริงที่มีตัวตนในโลกกายภาพจะลดลง ในบทความ ภาพปรากฏของนิทรรศการ ได้ชี้ให้เห็นว่า ความโหยหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและระหว่างมนุษย์กับวัตถุต่างๆ รวมทั้งการทำกิจกรรมนอกบ้านเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า โลกออนไลน์ (ไม่ว่าในปัจจุบันจะมีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์มากเพียงใด) ไม่สามารถทดแทนประสบการณ์อันเกิดขึ้นจริงกับตัวได้อย่างหมดจด

แต่ในขณะที่มันไม่ ‘แทนที่’ เพราะโลกออนไลน์นำเสนอประสบการณ์ ‘อีกแบบหนึ่ง’ โดยสิ้นเชิงนั้น โลกออนไลน์ก็เปิดประตูบางบานที่เราไม่สามารถสัมผัสจริงได้ด้วยตัวเองให้เราด้วย

“อาจไม่มีอะไรใหม่สำหรับการจัดนิทรรศการออนไลน์ เพราะมีการทำกันมาตั้งแต่โลกยังไม่มี COVID-19 แต่ก็เป็นวิกฤต COVID-19 นี้เองที่มาสะกิดให้เราได้ตระหนักว่า ความสัมพันธ์ระหว่างออนไลน์กับโลกภายนอกซับซ้อนนั้นกว่าที่เคยคิด สำหรับงานศิลปะที่การมองเป็นผัสสะสำคัญเสมอมา การมองที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกรองคือการรับรู้ผลงานเดิมในอีกแง่มุมหนึ่ง ระหว่างการเห็นวัตถุจริงที่จับต้องได้กับภาพของวัตถุผ่านหน้าจอที่ย่นย่อ-ขยายทั้งมิติและขนาดให้เป็นอื่น เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าอะไรดีกว่าอะไร ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาพถ่ายอันเป็นประดิษฐกรรมของศตวรรษที่ 19 ไม่ได้นำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของภาพเขียน…”

 

ศิลปะในการประท้วงทางการเมือง

 

การชุมนุมประท้วงในประเทศไทยในปี 2020 นอกจากจะขยายเพดานข้อเรียกร้องและเนื้อหาในการปราศรัยไปในระดับที่หลายคนไม่คิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิตแล้ว การชุมนุมครั้งนี้ยังขยายเพดานของ ‘วิธีการ’ หลากหลายรูปแบบของการ ‘ส่งเสียง’ ตั้งแต่เพลงแฮมทาโรเวอร์ชันแปลงเนื้อ หุ่นไล่กาลอร์ดโวลเดอมอร์และไม้กายสิทธิ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ศาลเจ้าพ่อกระทิงแดง ฉายถ้อยคำด้วยเลเซอร์ คุกกี้หมุดคณะราษฎร โบว์ขาว กระดาษเปล่า ราดสีขาวใส่ตัว ไปจนถึงท่าชูสามนิ้วจากหนัง The Hunger Games ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หลักในการแสดงออกเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการในครั้งนี้ ล้วนเป็นวิธีการประท้วงที่แสดงออกถึงความเป็นยุคสมัย และแฝงความ ‘innovative’ ประยุกต์เรื่องราวในชีวิตมนุษย์มาถ่ายทอดได้เป็นอย่างดี อย่างที่คอลัมน์ Third – Eye View โดย Eyedropper Fill อธิบายไว้ว่า

“หากนวัตกรรมคือหลักฐานทางปัญญาของมนุษย์ นวัตกรรมการประท้วงก็คงเป็นเช่นนั้น สิ่งประดิษฐ์ ข้าวของ รวมไปถึงวิธีการที่ผู้ประท้วงใช้เพื่อส่งเสียงและแข็งข้อต่ออำนาจ สามารถเล่าเรื่องผ่านตัวมันเองได้ว่า ผู้คนในเวลานั้นคิดอย่างไร กำลังต่อสู้กับอะไร” 

ในหลากรูปแบบการประท้วง ‘ศิลปะ’ กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญ และจุดกระแสการถกเถียงให้ลุกลาม โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ แอมมี่ The Bottom Blues สาดสีใส่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เป็นการตอบโต้ด้วยศิลปะ หลังประชาชนถูกป้ายสีในช่วงการชุมนุม การกระทำดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากบางกลุ่มคนว่า การขีดเขียน พ่นสี หรือสาดสีใส่พื้นที่สาธารณะเป็นการ ‘ทำลาย’ สมบัติสาธารณะหรือไม่

โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ – อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เสนอคำอธิบายที่เรียบง่ายไว้ว่า

“ถ้าเรายืนยันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ก็ต้องดีเฟนด์ให้การสาดสีใส่ตำรวจในเครื่องแบบที่มากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่ สน. (ทุกคนทราบใช่ไหมคะว่าเขาไม่ได้จะบุกขึ้นไปบนตึก สน. แค่จะไปตรงลานหน้าตึก) สีที่สาดออกไปไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บล้มตาย การกระทำของแอมมี่ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ action ในการประท้วงต่อสถาบันทางสังคมที่เป็นคู่กรณีในเหตุการณ์นี้โดยตรง คือ สถาบันตำรวจ”

นอกจากนี้ยังอธิบายจุดร่วมระหว่างศิลปะกับม็อบไว้ว่า ทั้งสองสิ่งเป็นพื้นที่ของความโกลาหล ความวุ่นวายไร้ระเบียบ การแหวกกรอบ การแหกเกณฑ์ การละเมิด เป็นพื้นที่ที่พลังงานบางอย่างบังเกิดและปะทะกัน ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ศิลปะขับเคลื่อนไปผ่านการทำลายล้มล้างตัวเอง ควบคู่ไปกับการท้าทายสถาบันทางสังคมต่างๆ

ศิลปะไม่เชื่อง มันเป็นสัตว์เถื่อน ไม่ใช่สัตว์คอก ไม่ใช่ว่าการติ๊กเครื่องหมายถูกใน check list ครบหมดแล้วจะได้เข้ากรอบเป็นศิลปะ ตรงกันข้าม คำอธิบาย ‘ไล่ตามหลัง’ ปรากฏการณ์เสมอ เพื่อที่มันจะดิ้นหลุดออกไปอีกครั้ง และอีกครั้ง”

 

ขณะที่บทความ การประท้วงทางการเมือง VS ทำลายของสาธารณะ โตมร ศุขปรีชา ได้กล่าวถึงการสาดสีซึ่งบางคนมองว่าเป็นการทำลายข้าวของสาธารณะ (vandalism) ไปจนถึงอาชญากรรม ไว้ว่า vandalism เป็นอาชญากรรมหรือไม่ รับได้หรือไม่ เป็นเรื่องเชิงกฎหมายและบรรทัดฐานของแต่ละสังคม และขึ้นอยู่กับความเข้าใจร่วมต่อ ‘นิยาม’ ของคำว่า ‘หยาบคาย’ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและนวัตกรรมทางภาษา แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่าการถกเถียงเรื่อง vandalism และความหยาบคาย คือการมองให้เห็นและเข้าใจให้ได้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากความปั่นป่วนภายใน การถูกกดทับ การปิดปากห้ามพูด ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ความพยายามถือไม้เรียวกระหนาบเด็กของผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า มันก็กลายเป็นแรงอัดอั้นที่ระเบิดออกมาพร้อมๆ กัน

จากบทบาทของศิลปะในสังคมไทยในปี 2020 ที่มีส่วนร่วมกับประเด็นเรียกร้องของมวลชนอยู่ตลอดทาง ก่อให้คำถามอมตะคำถามหนึ่งขึ้นเสมอคือ “ศิลปะรับใช้สังคมอย่างไร” ตอบโจทย์อะไรในสังคม เกี่ยวข้องยังไงกับคนในสังคม ไปจนถึงดูศิลปะแล้วได้อะไร คำถามอมตะเช่นนี้อาจมีคำตอบเรียบๆ อย่าง “ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกใช้เวลาว่างของคนในสังคม” ดังเช่นที่ธนาวิได้อธิบายไว้ว่า

“อันที่จริงแล้ว การที่คนเราจะมีเวลาว่างไปใช้ตามที่ตัวเองสนใจได้ แสดงว่าคุณภาพชีวิตของเราต้องดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว …เวลาว่างจึงเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างหนึ่ง

ในประเด็นนี้ รัฐเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไหนๆ ในโลกก็คือการดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่เรื่องค่าแรง ระยะเวลาในการทำงาน การคมนาคม ขนส่งมวลชน การรักษาพยาบาล และการสนับสนุนงานศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการศึกษาในรูปแบบและช่องทางต่างๆ

เหลียวกลับมามองประเทศไทยที่ค่าแรงขั้นต่ำของการทำงานรายวันต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่วนคนทำงานรับเงินเดือนก็ยังต้องมีงานเสริมอย่างที่สอง อย่างที่สามไม่งั้นไม่พอกิน (ค่าเทอมลูก ค่าหาหมอเวลาเจ็บป่วย แล้วยังมีพ่อแม่แก่เฒ่าที่เบี้ยคนชราเดือนละ 600 บาทไม่มีทางพอใช้ อ๊ากกก) ใช้เวลากันวันละสามสี่ชั่วโมงไปกับการขึ้นรถต่อเรือ ขึ้นเรือต่อรถ กลับถึงบ้านก็สลบ… แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาความบันเทิงนอกจากดูละครเพราะเข้าถึงง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ง่วงก็กดปิดมือถือแล้วหลับไป ก่อนจะตื่นมาวนลูปเดิมใหม่”

จากคำกล่าวข้างต้น แม้ศิลปะและบทบาทของศิลปะจะถูกตีความแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไปกว่าการทำความเข้าใจจุดหมายของศิลปะคือ การเรียกร้องให้สถาบันทางสังคมต่างๆ หน่วยงานรัฐรวมทั้งที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ปรับตำแหน่งแห่งที่และบทบาทหน้าที่ของตัวเองใหม่ให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนผู้เสียภาษี

 

จากเรื่องราวของสื่อและศิลป์ สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงของสังคม – โควิดและการเมือง – เป็นสิ่งที่เข้ามาสะกิดให้ทั้งสองแวดวงเกิดการปรับตัว และกลับสู่คำถามสามัญอย่างนิยามและความหมายของวิชาชีพ

แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ดูจะท้าทายมากกว่าส่งเสริม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์เช่นนี้เปิดบทใหม่ เพดานใหม่ มาตรฐานใหม่ (หรือที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว) อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งสื่อและศิลป์ที่ล้มลุกคลุกความผันผวนมาแล้วในปีที่ผ่านมา จึงน่าจะเป็นสองวงการที่จะ ‘มัน’ และเข้มข้น จนไม่ควรคลาดสายตา ในปี 2021 ที่เขาว่าสาหัสไม่แพ้กัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save