fbpx
คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง

คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ฤดูร้อนปี 2554 ขณะกำลังเดินอยู่บนถนนสายหนึ่งในลอนดอน มีลุงฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาทักอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกระเป๋าที่ผู้เขียนสะพายอยู่ มันเป็นกระเป๋าหนังวัวแบบมีขนสั้นๆ ที่ใครๆ ชอบมาขอลูบเล่น บทสนทนาในวันอากาศดีดำเนินเรื่อยเปื่อยไปถึงการถามไถ่ว่าผู้เขียนมาทำอะไรที่นี่ เมื่อตอบว่าเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลมาเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ลุงคนนั้นก็เล่าว่าเขาเป็น ‘gardener’ และเวลาว่างชอบไปดูรูปม้าที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Britain

ผู้เขียนเก็บเหตุการณ์นี้ไว้ในใจมาเนิ่นนาน จนกระทั่งกลุ่มศิลปะปลดแอกโทรมาชวนให้ไปขึ้นเวทีปราศรัยที่ Mob Fest  เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา (ขอบอกว่าแตกตื่นมากที่สุด เพราะถึงแม้ว่าจะพูดในที่สาธารณะมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง ก็ไม่เหมือนกับการพูดในที่ชุมนุมการเมืองซึ่งมีธรรมชาติที่แตกต่างออกไปจากการบรรยายหรือเสวนาที่คุ้นเคย ที่สำคัญคือ ผู้เขียนพูดอะไรสไตล์ “พี่น้องเอ๊ย” แล้วหยุดรอจังหวะให้คนฟังเฮไม่เป็น ผลก็คือกลายเป็นเลคเชอร์ความยาว 8 นาทีที่เพื่อนฝูงมาแซวกันยกใหญ่ในภายหลังว่า “นึกว่าจะเป็นลมคาเวทีเสียแล้ว”)

มีคำถามอมตะคำถามหนึ่งที่มักผุดโผล่ขึ้นมาอยู่เสมอคือ “ศิลปะรับใช้สังคมอย่างไร” (รูปคำอาจแปรเปลี่ยนไปบ้าง เช่น มีประโยชน์อะไรกับสังคม ตอบโจทย์อะไรในสังคม เกี่ยวข้องยังไงกับคนในสังคม หรือดูศิลปะแล้วได้อะไร) ผู้เขียนไม่ได้อยากจะตอบอะไรเป็นนามธรรมใหญ่โตประเภทศิลปะช่วยยกระดับจิตใจ กล่อมเกลาศีลธรรม ส่งเสริมภูมิปัญญา เป็นส่วนหนึ่งของความวัฒนธรรมและความเจริญของชาติ แสดงความเป็นไทย ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

คำตอบเรียบง่ายที่สุดอยู่ในบทสนทนากับลุง gardener คนนั้นเอง นั่นคือ ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกใช้เวลาว่างของคนในสังคม

ฟังดูไม่ยิ่งใหญ่เลยใช่ไหมคะ แต่อันที่จริงแล้ว การที่คนเราจะมีเวลาว่างไปใช้ตามที่ตัวเองสนใจได้ แสดงว่าคุณภาพชีวิตของเราต้องดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว การที่ลุง gardener (ทำสวนประเภทไหนก็ไม่ทราบ แต่นั่นไม่สำคัญ) มีเวลาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้ ก็หมายความว่าค่าตอบแทนการทำงานของเขาเพียงพอที่ดูแลตัวเองได้ ส่วนเพื่อนบ้านของลุงคนนี้อาจจะนอนอ่านนิยายในบ่ายวันเสาร์ หรือไปฟังดนตรีในสวนสาธารณะ ดูละครเวที หรืออาจจะไม่ชอบกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมใดๆ เลย บ่ายวันเสาร์อยากไปตีแบด ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าอะไร เป็นแค่ทางเลือกที่คนเราเลือกให้กับตัวเอง

เวลาว่างจึงเป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างหนึ่ง

ในประเด็นนี้ รัฐเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไหนๆ ในโลกก็คือการดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่เรื่องค่าแรง ระยะเวลาในการทำงาน การคมนาคม ขนส่งมวลชน การรักษาพยาบาล และการสนับสนุนงานศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการศึกษาในรูปแบบและช่องทางต่างๆ

เหลียวกลับมามองประเทศไทยที่ค่าแรงขั้นต่ำของการทำงานรายวันต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่วนคนทำงานรับเงินเดือนก็ยังต้องมีงานเสริมอย่างที่สอง อย่างที่สามไม่งั้นไม่พอกิน (ค่าเทอมลูก ค่าหาหมอเวลาเจ็บป่วย แล้วยังมีพ่อแม่แก่เฒ่าที่เบี้ยคนชราเดือนละ 600 บาทไม่มีทางพอใช้ อ๊ากกก) ใช้เวลากันวันละสามสี่ชั่วโมงไปกับการขึ้นรถต่อเรือ ขึ้นเรือต่อรถ กลับถึงบ้านก็สลบ… แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปหาความบันเทิงนอกจากดูละครเพราะเข้าถึงง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ง่วงก็กดปิดมือถือแล้วหลับไป ก่อนจะตื่นมาวนลูปเดิมใหม่

ไม่ใช่ว่าดูละครไม่ดีค่ะ แต่ปัญหาคือเราไม่มีทางเลือกอื่น พูดให้ชัดไปกว่านั้นก็คือ ไม่มี ‘โอกาส’ ที่จะเลือกทางอื่นเพราะความจำเป็นในชีวิตบีบบังคับให้เราใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องใช้

สิ่งที่สังคมไทยขาดจึงเป็นทั้งสิทธิในการเลือก (ชอบจิตรกรรมส้มหยุดที่วัดหนองเต่าไม่ได้เหรอ ทำไมกลุ่มชาวพุทธต้องโวยวายแล้วมีหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.อุทัยธานี มาสั่งให้แก้ด้วยล่ะ) โอกาสที่จะได้เลือก และทางเลือกที่หลากหลาย เรื่องที่ดูเหมือนเล็กอย่างจะทำอะไรในเวลาว่างจึงสะท้อนปัญหาขนาดใหญ่ ที่ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนต่างจังหวัดก็ประสบร่วมกันคือบทบาทของรัฐในการดูแลเรา และทั้งหมดนี้สะท้อนกลับไปที่คำเดียว “ภาษีกู”

คิดว่าผู้เขียนเปรียบเทียบอะไรไกลตัวไปไหมเมื่อพูดถึงอังกฤษ? ไม่เลยค่ะ ในสมัยคณะราษฎร ยุคที่จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐนิยม ฉบับที่ 11 เรื่องกิจประจำวันของคนไทยระบุว่า

ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนา ปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้ โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

ประกาศเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2484

หากเรานึกถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร (เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) ในฐานะนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่ประกาศไว้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็จะพบว่ามันคือหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำงานโดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่การดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนนั่นเอง เวลาว่าง (เอาไปดูงานศิลปะหรือทำอย่างอื่น) จึงเป็นผลพวงจากการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์นี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลในประเทศไทยไม่เคยคิดเรื่องนี้ อย่างน้อยรัฐบาลสมัยคณะราษฎรก็เคยคิด (เราอาจจะรู้สึกตลกเมื่อนึกถึงรัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับของจอมพล ป. ที่เข้ามากำหนดทั้งเรื่องการแต่งกาย การพูดจา สรรพนามที่ใช้ระหว่างกัน และอะไรอีกหลายอย่าง แต่การระบุถึงการใช้เวลาว่างไปกับงานศิลปกรรมที่ปรากฏอยู่ในรัฐนิยม ฉบับที่ 11 นี้เป็นอะไรที่กินใจมาก)

หากกำหนดขอบเขตการพูดถึงบทบาทรัฐให้แคบลงเหลือเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับข้องกับงานศิลปวัฒนธรรม หลังจากการสถาปนากระทรวงวัฒนธรรมในปี 2545 (ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งกองวัฒนธรรม สังกัดกรมศิลปากร เมื่อปี 2481 ต่อมาได้กลายเป็นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติในปี 2485 และกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2495 ก่อนจะถูกยุบกลับไปเป็นกองวัฒนธรรมเมื่อปี 2501) เราพบความเหลื่อมล้ำในการสนับสนุนการทำงานศิลปวัฒนธรรมอย่างชัดเจน

สาเหตุที่คนในวงการศิลปะมักพูดกัน คือ หน่วยงานภาครัฐตามความเคลื่อนไหวในการทำงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไม่ทัน – -> มีความเข้าใจทางศิลปะที่คับแคบ – -> จำกัดการให้ความสนับสนุนทั้งในแง่งบประมาณและอื่นๆ

เรื่องเหล่านี้เป็นความจริงอย่างแน่นอน แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวอาจไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าจะ “ทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐเข้าใจงานศิลปะ” (ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคนในวงการเองก็ใช่ว่าจะตามทันกันทุกคน) แต่อยู่ตรงที่ว่าจะ “ทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐเข้าใจว่าหน้าที่ของตนคือการรับใช้ประชาชน” ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมไม่เข้าใจว่าน้ำแก้วหนึ่งในแกลเลอรีเป็นศิลปะได้อย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าใจว่าข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน/คนทำงานศิลปะทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค (มันกลับมาหลอนอีกแล้ว “ภาษีกูๆๆ”) ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่คับแคบของรัฐเป็นปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง

ผู้เขียนพูดถึงน้ำแก้วหนึ่งที่เป็นงานศิลปะในการปราศรัยครั้งนั้นด้วย อันนี้ไม่ได้เล่นมุก แต่มันมีจริงๆ เป็นผลงานของศิลปินชื่อ Michael Craig-Martin ประกอบด้วยน้ำแก้วหนึ่งวางอยู่บนชั้นใสติดผนังห้อง และป้ายคำอธิบายว่าทำไมวัตถุชิ้นนี้ไม่ใช่แก้วน้ำ แต่เป็นต้นโอ๊ก

 

Michael Craig-Martin, An Oak Tree, 1973, Glass, water, shelf and printed text ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern (On long term loan, lent from a private collection) ภาพจาก Wikimedia Commons 

 

An Oak Tree จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern คนละแห่งกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Britain ที่ลุง gardener ชอบไปดูรูปม้า พิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร เข้าชมฟรีทั้งคู่ (ยกเว้นนิทรรศการพิเศษตามวาระ) ใครชอบแบบไหนก็ดูแบบนั้น การดูงานศิลปะในหอศิลป์เอกชนทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องเสียเงินเช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของงานศิลปะก่อนถึงจะเสพมันได้ ยกเว้นงานสะสมในพิพิธภัณฑ์ของรัฐที่เราผู้เสียภาษีจะถือตนเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของได้

สิ่งที่เรื่องนี้บอกกับเราก็คือ พิพิธภัณฑ์ในฐานะพื้นที่เพื่อการเรียนรู้แบบหนึ่งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล และประชาชนผู้เสียภาษีนั้นสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ง่ายๆ ความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์ก็ตอบสนองความหลากหลายของผู้คน กล่าวเฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เอาแค่ Tate Britain กับ Tate Modern ก็จัดแสดงงานศิลปะที่แตกต่างกันมาก (คงไม่ต้องบอกว่าโดยส่วนตัวผู้เขียนชอบอันไหน ยกตัวอย่างงานแก้วน้ำนี่มาเป็นร้อยๆ ครั้งแล้วในวาระต่างๆ กัน)

ถามว่าคนทำงานในพิพิธภัณฑ์ หรือรัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องเข้าใจและชื่นชอบงานทุกชิ้นไหมในการพยุงให้โครงสร้างนี้ดำรงอยู่? คำตอบคือ “ไม่เลย” ศิลปินและคนดูงานศิลปะทุกคนเข้าใจงานทุกชิ้นเหมือนกันหมดไหม? “ไม่อีกเช่นกัน” ผู้เขียนเองเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะ ยังไม่คิดว่าตัวเองเข้าใจงานทุกชิ้นในโลกเลย

ก็แล้วจะเป็นไรไป

ทั้งหมดที่เราต้องเข้าใจและพยายามไปให้ถึงคือการเรียกร้องให้สถาบันทางสังคมต่างๆ หน่วยงานรัฐรวมทั้งที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมปรับตำแหน่งแห่งที่และบทบาทหน้าที่ของตัวเองใหม่ให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนผู้เสียภาษี

ภาษีกู!!!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save