fbpx
สร้างอนาคต ‘สื่อ’ อย่างไรในภาวะวิกฤต

สร้างอนาคต ‘สื่อ’ อย่างไรในภาวะวิกฤต

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกและเค้าลางของวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ซึ่งเป็นผลจากโรคระบาด เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนทำงานสื่อวารสารศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในตะวันตกมาถกกันเรื่องอนาคตของอุตสาหกรรมอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังจากที่มีการพูดคุยและลองผิดลองถูกมาตลอด เพื่อพยุงธุรกิจที่ระส่ำระสายจากการลดลงของรายได้โฆษณาจนหลายแห่งต้องปรับลดขนาดหรือปิดตัว

ในการประชุมออนไลน์ Newsrewired ที่จัดโดยองค์กร journalism.co.uk เมื่อปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Sara Fischer ผู้สื่อข่าวด้านสื่อของเว็บไซต์ข่าว Axios เสนอให้จับตาแนวโน้ม 4 ด้านที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางของแวดวงวารสารศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในอนาคต คือ แนวโน้มทางวัฒนธรรม ด้านการกำกับดูแล ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้านธุรกิจ

แม้นักวิชาชีพส่วนใหญ่มักพยายามหาทางรอดโดยพูดถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจ แต่ Fischer เห็นว่าแนวโน้มทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างการเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบและการคุกคามทางเพศ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สังคมและองค์กรวารสารศาสตร์ต้องกลับมาพิจารณาบทบาทที่ผ่านมาที่เพิกเฉยต่อความไม่ยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติซึ่งขัดต่อคุณค่าของสังคมประชาธิปไตย

ตัวอย่างที่เด่นชัดก่อนหน้านี้คือการให้ผู้ประกาศข่าวหรือผู้ดำเนินรายการชายที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมคุกคามทางเพศออกจากงานแม้จะมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับว่ามีฝีมือมายาวนานก็ตาม หรือเมื่อเร็วๆ นี้ บรรณาธิการบทความแสดงความคิดเห็น (opinion editor) ของ The New York Times ประกาศลาออก หลังตีพิมพ์บทความจากวุฒิสมาชิกที่สนับสนุนนโยบายใช้กองทัพปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบจากการชุมนุมในหลายเมืองของสหรัฐฯ จนผู้สื่อข่าวทั้งในและนอกองค์กรวิจารณ์อย่างหนักว่าส่งเสริมการใช้ความรุนแรงและทำให้ผู้สื่อข่าวที่เป็นคนกลุ่มน้อยต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่การถกเถียงเรื่อง ‘ความเป็นภววิสัย’ (objectivity) ขององค์กรสื่อและนักวารสารศาสตร์ในสภาวะการแบ่งขั้วทางความคิดและความไม่เท่าเทียมในสังคมอย่างกว้างขวาง

ความเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาชีพเหล่านี้ชี้ว่า ฐานคิดและแนวปฏิบัติที่ทำต่อๆ กันมาและเชื่อว่าเป็นเสาหลักของวงการกำลังถูกตรวจสอบและตั้งคำถาม เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันสื่อด้อยคุณภาพและถูกลดทอนความน่าเชื่อถือ

แนวโน้มด้านการกำกับดูแล เป็นอีกเรื่องที่ Fischer เห็นว่าจะมาเป็นกรอบกำหนดทิศทางการดำเนินงานของสื่อวารสารศาสตร์ แม้กรอบการกำกับดูแลที่เกิดขึ้นใหม่จะเกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่ก็จะมีผลต่อการดำเนินงานขององค์กรสื่อที่ต้องพึ่งพาช่องทางเหล่านี้ในการเผยแพร่เนื้อหาและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารเช่นกัน

ประเด็นแรกคือการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Consumer Privacy Act: CCPA) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการนำข้อมูลผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปหาประโยชน์โดยผู้ใช้ไม่ยินยอม และได้อิทธิพลจากระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation: GDPR) ของสหภาพยุโรป อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่ารัฐอื่นๆ รวมถึงรัฐบาลกลางเตรียมจะออกกฎหมายลักษณะคล้ายกัน แนวทางการกำกับดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัวผ่านกฎหมายนี้จะมีผลต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดีย (ซึ่งผู้ให้บริการรายใหญ่จำนวนไม่น้อยมีฐานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) รวมถึงการทำการตลาดทางออนไลน์ ที่ต้องมีความโปร่งใส โดยทำให้ผู้ใช้รับรู้ เข้าถึง และปรับเปลี่ยนการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตนเองได้ ดังนั้น องค์กรสื่อที่พึ่งพาแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี และกลยุทธการตลาดที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้ก็ต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้

ประเด็นที่สองคือแรงกดดันให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นให้กับองค์กรสื่อและผู้เผยแพร่เนื้อหาที่น่าเชื่อถือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แทนที่จะเน้นการสร้างรายได้จากยอดการมีส่วนร่วมเป็นหลักซึ่งไม่ส่งเสริมการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ รวมถึงการทำให้ระบบอัลกอริทึมมีความโปร่งใส่ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่บริษัทแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียรายใหญ่จะใช้วิธีซื้อบริษัทสื่อเพื่อเลี่ยงการแบ่งรายได้และครอบครองส่วนแบ่งในตลาดได้มากขึ้นแทน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรสื่ออยู่ดี

ประเด็นสุดท้ายคือการกำกับดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ที่อาจทำให้องค์กรสื่อได้รับการคุ้มครองเนื้อหาที่ผลิตเอง (original content) มากขึ้น โดยนำโมเดลจากสหภาพยุโรปมาใช้ อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐฯ กระแสการอภิปรายในประเด็นนี้ยังไม่เด่นชัดนักเนื่องจากยังไม่ปรากฏผลกระทบในวงกว้างเท่ากับสองประเด็นแรก

สำหรับแนวโน้มด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นประเด็นร้อนของคนทำงานวารสารศาสตร์นั้น Fischer ชี้ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต้องเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับสารเพื่อรักษาฐานผู้บริโภคให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยอาจใช้แนวทางเดียวกับบริษัทสื่อประเภทอื่นๆ เช่น การสมัครสมาชิกแบบมัดรวม (bundle subscription) สำหรับสื่อขนาดใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์หลายประเภทหรือองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทที่มีผลิตภัณฑ์อื่น การผูกพันธมิตรกับบริษัทสื่ออื่นๆ เช่น การสตรีมเนื้อหาผ่านทางซอฟต์แวร์เกม Fortnite หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยผลิตและเผยแพร่เนื้อหาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของกลุ่มผู้รับสารอย่างที่ The Washington Post และ Vox Media หันมาลงทุน

ส่วนแนวโน้มด้านธุรกิจนั้น Fischer มองว่าควรจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากขึ้นอยู่กับการขยับของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียที่เป็นผู้นำในตลาดอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือบรรษัทสื่อขนาดใหญ่จะมุ่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมธุรกิจขนาดเล็ก ขณะที่สื่อขนาดย่อมที่ยังใช้โมเดลการหารายได้จากโฆษณาอยู่ก็ต้องดิ้นรนแข่งขันเพื่อแย่งค่าโฆษณาอัตราต่ำ ในสนามการแข่งขันที่มีผู้ชนะรายใหญ่จำนวนไม่กี่เจ้า และธุรกิจรายเล็กมากระจุกกันอยู่ในตลาดแบบ ‘หางยาว’ (long tail) ที่แคบและเจาะผู้บริโภคกลุ่มย่อย ดังที่ Rasmus Kleis Nielsen ผู้อำนวยการของ Reuters Institute แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม Fischer ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียเริ่มเห็นว่าบริการของตนก็ต้องพึ่งพา ‘ข่าว’ เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนมาปฏิสัมพันธ์และอภิปรายกัน หากจะทำให้แพลตฟอร์มมีคุณภาพและสร้างสรรค์ ก็ต้องทำให้อุตสาหกรรมสื่ออยู่รอดคู่กันไปด้วย ผู้ให้บริการรายใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มเข้าถึงเนื้อหาคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการจากผู้ผลิตในพื้นที่

อีกประเด็นคือ หากองค์กรสื่อไปเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมเนื้อหาขนาดใหญ่ ก็ควรดูว่าความสัมพันธ์นั้นเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็อาจลงเอยแบบเดียวกับรายได้จากโฆษณาทางออนไลน์ที่ได้มาเพียงน้อยนิดและกระทบต่อคุณภาพของงานอีก

 

สำหรับสื่อวารสารศาสตร์ในไทย ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมของเพื่อนร่วมงานในประเทศตะวันตกไม่อาจนำมาเทียบกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าสิ่งใดได้ผล (หรือไม่ได้ผล) ในต่างประเทศก็น่าจะมีประสิทธิภาพในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม มิติทั้ง 4 ด้านที่ Fischer เสนอไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพิจารณาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศที่กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทั้งทางธุรกิจและความไว้วางใจจากสาธารณะเช่นกัน โดยเฉพาะมุมมองต่อคุณค่าของสังคมประชาธิปไตยที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับบทบาทของสื่อวารสารศาสตร์

นอกจากนี้ การได้เรียนรู้นโยบายของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและโซเชียลมีเดียซึ่งส่งผลต่อผู้ผลิตงานวารสารศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงความเคลื่อนไหวในการจัดการกับนโยบายเหล่านี้ ก็น่าจะเป็นหนทางให้องค์กรวารสารศาสตร์และผู้ใช้สื่อในไทยสร้างพลังต่อรองและร่วมกำหนดอนาคตของพื้นที่สาธารณะได้บ้าง แทนที่จะให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการพูดขึ้นอยู่กับการกำกับของสถาบันที่ทรงอำนาจที่มีไม่กี่กลุ่มเพียงอย่างเดียว[/et_pb_text][/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save