fbpx
The Bottom Blue_s

The Bottom Blue_s

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

ภาพประกอบ กฤตพร โทจันทร์

 

ภาพถ่ายโดย กันต์ แสงทอง ขอขอบคุณ iLaw และประชาไท

 

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนไปถึง สน.สำราญราษฎร์ราวสิบโมงครึ่ง เพื่อสังเกตการณ์การรายงานตัวของผู้ถูกกล่าวหาคดีชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้เวลาอยู่ที่นั่นประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนจะรีบกลับไปที่มหาวิทยาลัยเนื่องจากมีนัดตอนบ่าย ไม่ได้รู้เรื่องกับใครเขาเลยว่ามีเหตุชุลมุนสาดสีเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเช้าก่อนผู้เขียนจะไปถึง

ที่จริงก็เห็นแอมมี่ นักร้องนำวง The Bottom Blues (ซึ่งยุบวงไปเมื่อปี 2556) เดินตัวเลอะสีอยู่ แต่ก็ไม่ได้ฉุกใจสงสัยเพราะนึกว่ามาจากคืนก่อนหน้าที่เขามีงานอะไรต่อมิอะไรกันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กว่าจะรู้ว่ามีดราม่าชุดใหญ่ก็เย็นมากแล้ว

ประเด็นใหญ่ของดราม่าสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจนี้มีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรก การสาดสีเป็นการแสดงออกที่รุนแรงเกินไปไหม? เรื่องที่สอง การสาดสีเป็นศิลปะหรือไม่?

เห็นโพสต์ต่างๆ ของฝ่าย so-called ประชาธิปไตยแล้วควันออกหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหล่า ‘ผู้รู้’ ทางศิลปะ เกทับกันใหญ่ด้วยการหยิบยกเหล่าศิลปินในประวัติศาสตร์ศิลปะ ด้วยการขุดขบวนการศิลปะในอดีต ด้วยการคร่ำเคร่งแยกแยะประโยค “นี่ไม่ใช่คำขู่ หากยังคุกคามพวกเราอยู่ ผมจะคุกคามคุณกลับด้วยวิธีที่เป็นศิลปะ” (ที่จุดชนวนให้คนมาเถียงกันว่าที่ทำไปเป็นศิลปะหรือไม่?) เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะถอดความหมายตามตัวอักษรแบบทื่อๆ อยู่ดี…

นั่งคิดอยู่เล็กน้อยว่าจะเขียนถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยท่าทีอย่างไรดี สุภาพ เปี่ยมสติ ทรงภูมิ เพราะโตแล้วต้อง behave? หรือมาในสไตล์ “ฉันเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบเกรียน” อย่างที่เคยใส่ไว้ในช่อง Describe who you are ในเฟซบุ๊กเมื่อซักสิบปีก่อน?

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว คงไม่ต้องเฉลยว่าเลือกแบบไหน 🙂

 

ความรุนแรง?

 

ยังไงและแค่ไหนที่เรียกว่ารุนแรง? แล้วรุนแรงแค่ไหนที่เกินรับได้?

ผู้เขียนคิดว่าเรื่องที่เห็นตรงกันยาก คือ สัดส่วนและระดับของความรุนแรง เพราะมันไม่มีมาตรวัดตายตัว ทั้งยังมีความสัมพันธ์อย่างมากกับบริบทเฉพาะของเหตุการณ์ ความเฉพาะหน้า และอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย แต่ในกรณีที่เห็นๆ อย่างนี้มันก็ไม่ได้ยากนะ สาดสีจะไปเท่ากับสาดกระสุนได้ยังไง ใครที่ว่าสองอย่างนี้เท่ากัน ก็ลองทำใส่สัตว์เลี้ยงแสนรักที่บ้านของท่านดู

ย้อนกลับไปช่วงก่อนที่ผู้เขียนยังอยู่ที่ สน. ขณะแหงนหน้ามองตัวอาคารที่เป็นกล่องสีขาว มีเส้นสายที่แข็งตรง เป็นระเบียบ และบรรดาเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบยืนเรียงซ้อนกันขึ้นไปตามขั้นบันได สองมือกุมอยู่ด้านหน้า (ก็ท่ายืนกุมเป้าน่ะแหละ) ตัดกับผู้ชุมนุมที่ยืนบ้าง นั่งบ้าง ฟังปราศรัย ตะโกน สลับร้องเพลงอยู่ด้านล่างที่ลานด้านหน้า ไหลลามถึงไปใต้ถุนตึกแล้วก็ยังนึกอยู่ว่าฉากนี้มันช่างสะท้อนความกลับตาลปัตร ความหน้าไหว้หลังหลอกของสังคมไทยเสียจริง นั่นคือความ ‘ดูดี’ ซึ่งเกิดจากระเบียบบังคับที่เห็นเป็นเปลือกนอกนี้ ไม่บ่งบอกถึงเนื้อในว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

หากเอาความถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์ การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แล้วทำไมถึงมีคนต้องมารายงานตัวที่สถานีตำรวจล่ะ? ตกลงว่าเป็นคนในเครื่องแบบหรือคนในเครื่องแต่งกายหลากหลาย ไร้ระเบียบในชุดดำ ชุดแดง ชุดข้ามเพศ ชุดเครื่องแบบนักศึกษา ผมเผ้าหนวดเครายาวเฟื้อย ปะปนกันอย่างไม่มีแบบแผนเหล่านี้กันแน่ที่เป็นปัญหา?

และก็เพราะอย่างนั้นแหละ ในหลากหลายการชุมนุมที่ผ่านมาจึงเปี่ยมไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ‘ท่าที’ จากถ้อยคำที่ไม่รื่นหูบ้าง จากท่าทางการแสดงออกบางอย่างที่ไม่ถูกใจบ้าง ส่วนมากเป็นการกล่าวถึงเปลือกที่ห่อหุ้มสารมากกว่าตัวสารนั้นเอง

อันที่จริงก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากข้อวิจารณ์ดังกล่าวมาจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนแต่แรก (แม้ว่าจะมองบน) แต่ในกรณีของ ‘ฝั่งเรา’ นี่สิ (เรียกรวมๆ ว่า ‘ฝั่งเรา’ ไปอย่างง่ายๆ ถือเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงฝ่ายต่อต้านเผด็จการ โปรประชาธิปไตยแบบสากลโลก) งงมากๆ ว่ามันจะอะไรนักหนา คำหยาบโผล่มานิดก็สะดุ้ง ก้าวร้าวหน่อยก็ครั่นเนื้อครั่นตัว กลัวไม่เป็น ‘ม็อบที่สง่างาม’

ฮัลโหล? คิดว่าถ้านั่งพับเพียบ กราบเบญจางคประดิษฐ์แล้วจะได้รับการเห็นหัวงี้เหรอ?

ผู้เขียนเพิ่งคุยเล่นกับ นศ.ว่าคราวหน้าถ้าตำรวจเอารั้วมากั้นไม่ให้เข้า สน. (ทำไมจะเข้าไม่ได้ งง) ก็ให้ลองเหมาพวงมาลัยที่บ้านเค้าขายสักสองร้อยพวงไปจัดม็อบคลานเข่าให้ช่วยเปิดรั้วดู แต่ข้อหาก็คงเปลี่ยนจากรุนแรงก้าวร้าว (สาดสีใส่เจ้าหน้าที่) ไปเป็นกวนตีนแทนอยู่ดีอ่ะนะ

นศ. ตอบว่าพร้อมขายพวงมาลัย แต่ก็ดันไปเห็นรูปนี้มาด้วย

 

 

ที่งงสุด (เอ ทำไมงงเยอะจังนะ) คือไอ้ฝั่งเรานี่แหละ แทนที่จะช่วยกันขยับเพดานการแสดงออกให้สูงขึ้น ดันไปตั้งหน้าตั้งตาหาจุดที่จะไปกดให้เพดานมันต่ำลงอยู่นั่น ทำงี้เดี๋ยวภาพลักษณ์การชุมนุมเสียหาย ทำงี้เดี๋ยวเสียแนวร่วม ทำงี้เดี๋ยวไปกระตุ้นให้รัฐใช้ความรุนแรง เอ้า ก็ที่ทำอยู่เนี่ยแหละที่ไปชี้ช่อง เปิดทางให้รัฐใช้ความรุนแรงด้วยการไปบอกว่า ‘ทำงี้’ ไม่ได้

‘ทำงี้’ ที่ว่า คือ ความก้าวร้าวเลเวลพูดคำหยาบ ล้อเลียนเสียดเย้ย สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ ยังไม่ได้ถึงขั้นสาดขี้หรือขว้างก้อนหินเลย

นี่ไม่ใช่การต่อรองระหว่างอำนาจที่เท่าเทียมกัน มีอะไรที่ผู้กดขี่จะใช้เป็นเครื่องมือได้บ้าง? ทำอย่างไรอีกฝ่ายถึงจะเห็นหัวเราในภาวะแบบนี้? ทำไมมีแต่ฝ่ายประชาชนที่ต้องอดกลั้น? (สันติวิธีไม่ได้มีแต่การอดข้าวนะ) การเรียกร้องควรต้องเป็นในทางกลับกัน คือ ไม่ใช่ไปบอกผู้ประท้วงให้พินอบพิเทา รัฐต่างหากที่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ระหว่างการสาดสีของแอมมี่กับการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริงไม่หยุดหย่อน+กั้นรั้วใส่ผู้ประท้วงของฝ่ายรัฐ อันไหนที่เรา-ฝ่ายโปรประชาธิปไตย-ควรรับไม่ได้?

สังคมไทยอาจจะอยู่กับความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สยบยอมต่ออำนาจมายาวนานจนเป็นความเคยชินที่ยากจะสลัดให้หลุด แม้ในหมู่คนที่เลือกต่อสู้กับการกดขี่ ความน่าเศร้าจึงอยู่ตรงที่ว่า ในการต่อสู้กับอำนาจที่มีไม่เท่ากันนี้ ผู้ถูกกดขี่ที่พยายามลุกขึ้นมากลับถูกกดจากผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเองอย่างไม่รู้ตัว

คำอธิบายเรียบง่ายที่สุดคือ ถ้าเรายืนยันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ก็ต้องดีเฟนด์ให้การสาดสีใส่ตำรวจในเครื่องแบบที่มากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปที่ สน. (ทุกคนทราบใช่ไหมคะว่าเขาไม่ได้จะบุกขึ้นไปบนตึก สน. แค่จะไปตรงลานหน้าตึก) สีที่สาดออกไปไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บล้มตาย การกระทำของแอมมี่ชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ action ในการประท้วงต่อสถาบันทางสังคมที่เป็นคู่กรณีในเหตุการณ์นี้โดยตรง คือ สถาบันตำรวจ ซีเควนซ์ของเหตุการณ์ปะทะกันนี้ก็คือ (ตาม iLaw นะ เพราะว่าผู้เขียนไปไม่ทันช็อตนี้)

 

เวลา 9.35 น. ที่หน้าสน.สำราญราษฎร์ ตำรวจวางแผงเหล็กกั้นหน้า สน. มีตำรวจในเครื่องแบบยืนประจำการ 20 นาย นอกเครื่องแบบ 2 นาย ภายในด้านหน้าอาคารมีแผงเหล็กกั้นอีกชั้นหนึ่ง มีตำรวจในเครื่องแบบประจำการ 16 นาย มีรถกระบะติดตั้งเครื่องขยายเสียง 1 คัน

เวลา 9.40 น. ที่ประตูทางเข้าฝั่งถนนบำรุงเมือง ตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นเช่นกัน มีตำรวจในเครื่องแบบประจำการอยู่ไม่น้อยกว่า 10 นาย โดยตำรวจแจ้งว่า เป็นตำรวจประจำการอยู่ที่ สน.อื่น ไม่ใช่สำราญราษฎร์

เวลา 9.50 น. ทนายความคนหนึ่งเดินทางมาถึง ตำรวจขอบัตรประจำตัวเพื่อตรวจสอบตัวตน ก่อนจะอนุญาตให้เข้าไปภายใน

เวลา 9.55 น. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำเดินขบวนมาถึง ตำรวจแจ้งว่าขอตรวจบัตรประชาชนทุกคนก่อนเข้าไป จตุภัทร์แย้งว่า ทำไมต้องตรวจ แค่เป็นคนก็เพียงพอแล้ว ผู้ชุมนุมร้องถามว่า ประชาชนเข้าโรงพักไม่ได้หรือ

เวลา 9.56 น. ผู้ชุมนุมผลักดันรั้วเข้าไปภายใน สน.สำราญราษฎร์ ระหว่างที่ผู้ชุมนุมผลักดันเข้ามา มีบุคคลไม่ทราบฝ่ายสาดสีน้ำเงิน ทำให้เลอะเนื้อตัวทั้งผู้ชุมนุม นักข่าวและตำรวจ สอบถามตำรวจว่า ใครเป็นผู้สาดสี ตำรวจบอกว่า ไม่ทราบ ผู้ชุมนุมก็สอบถามกันว่า ใครกันที่สาดสีเมื่อสักครู่ เพราะเลอะกล้องของนักข่าวด้วย

ต่อมาผู้สังเกตการณ์ได้แจ้งว่า ผู้สาดสีน้ำเงินใส่เมื่อสักครู่นั้น คือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ นักร้องนำวงเดอะบอททอมบลูส์

เวลา 10.10 น. แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ ประกาศว่า ขอโทษสื่อมวลชนทุกคนเรื่องสีที่สาดกระจายเมื่อสักครู่ ระบุว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้านตำรวจถอยมาตั้งแถวกั้นที่ชานบันได สน.สำราญราษฎร์ ขณะที่ผู้ชุมนุมไปปักหลักที่ใต้ถุนตึก

 

ตกลงรั้วเปิดได้ก็เพราะสาดสีใช่ป่ะ 555

การประท้วงทุกแห่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยกิจกรรมเชิง performative ที่ร่างกายของผู้ประท้วงเป็นทั้งพื้นที่และตัวกระทำเพื่อสื่อสารบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะในเฉดของการต่อต้านอำนาจ หรือเฉดของการเสนอข้อเรียกร้อง action เพื่อการต่อสู้มีหลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นวิ่งแฮมทาโร่ ยกมือชูสามนิ้วหลังเพลงชาติ หรือการสาดสีใส่เครื่องแบบ เหล่านี้ล้วนไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ปัจเจกบุคคลคนใดเป็นการเฉพาะ แต่เป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนอำนาจของสถาบันทางสังคมต่างๆ

ร่างกาย perform สารถูกส่ง อ่าน และตีความ เหตุบังเอิญที่วงของแอมมี่มีชื่อว่า The Bottom Blues พอดี ชวนให้คิดเชื่อมโยงการสาดสีเพื่อเปิดทางของเขาเข้ากับการเล่นคำ เมื่อตัด s ออกไป ความหมายของคำก็เปลี่ยนจากประเภทของดนตรี (Blues) ไปเป็นสีน้ำเงิน (Blue) ทั้งยังฉกฉวยนัยยะของสีที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นการสาดขึ้นไปจากเบื้องล่าง (Bottom)

ชั่ววินาทีสาดสีของแอมมี่ The Bottom Blues เป็นเสมือนการโต้กลับต่ออำนาจของสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่โยงใยกันเป็นร่างแห

ผู้เขียนไม่อ่าน text “นี่ไม่ใช่คำขู่ หากยังคุกคามพวกเราอยู่ ผมจะคุกคามคุณกลับด้วยวิธีที่เป็นศิลปะ” แบบเฉิ่มๆ ว่าการคุกคามของศิลปะมัน equal การคุกคามของรัฐเหมือนที่มีคนหาว่าข้อความนี้ย้อนแย้งหรอก ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอะไรก็รู้ว่าการคุกคามของศิลปะในที่นี้มันคือการเล่นคำ เป็นโวหาร ไม่สามารถทำใครบาดเจ็บล้มตาย เทียบไม่ได้กับการคุกคามของรัฐตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาที่เต็มไปด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพผู้คิดต่าง การทำให้บาดเจ็บ เสียชีวิต หรือสูญหาย

 

ศิลปะ?

 

ในเมื่อสิ่งที่สำคัญ คือ เสรีภาพในการแสดงออก จะเป็นศิลปะหรือไม่ศิลปะนี่แล้วไงอ่ะ? Great art or not, WHO CARES?

แต่เอาล่ะ จะลองคุยกันถึงข้อถกเถียงนี้กันดูก็ได้ค่ะ เข้าใจว่าที่มันเป็นประเด็นมากเพราะประโยคที่แอมมี่พูดนั่นแหละ พอมีคำว่า ‘ศิลปะ’ ผู้คนก็เลยต้องมากระจองอแงถกกันว่ามันเป็นศิลปะหรือไม่

คำถามคือเมื่อไหร่และอย่างไรที่อะไรบางอย่างกลายเป็นศิลปะ? งานศิลปะเป็นศิลปะแต่แรก หรือต้องผ่านกระบวนการการกลายเป็นศิลปะ? ใครบ้างเป็นคนให้สถานะงานศิลปะ?

ดูแล้วเหมือนเขาไม่ได้คิดตั้งใจมาก่อน เป็นการกระทำตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ก็เลยไม่เป็นศิลปะ?

การทำงานศิลปะให้พื้นที่กับการด้นสด (improvisation) ไปกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างมาก ไม่ได้มีแต่สิ่งที่ถูกคิดคำนวณมาล่วงหน้าอย่างดีแล้วเท่านั้นถึงเป็นศิลปะ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นฉับพลัน สิ่งที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อนก็มีที่ทางในงานศิลปะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำ performance)

งึมๆ แต่ถ้าไม่ได้คิดมาก่อน แล้วกระป๋องสีมันงอกมาจากไหน?

แอมมี่ไม่ได้เป็นศิลปินทัศนศิลป์ เลยไม่เป็นศิลปะ?

นักดนตรีก็ perform บนเวทีนะ 55 จะไม่นับว่าเค้าเป็นศิลปินเหรอ? อีกอย่างคือคนทำ performance แต่โบราณนานมาก็ merge กันระหว่างทัศนศิลป์ ดนตรี กวี ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ

ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือก่อนถึงจะนับว่าเป็นศิลปะ เช่น มีความตั้งใจในการใช้สีน้ำเงินอย่างไร? ทำไมไม่เทใส่ตัวเองแทนสาดใส่ตำรวจ? ต้องการสื่อสารอะไร? กลุ่มผู้ชมคือใคร?

โดยทั่วไป ศิลปินจะเลือกตอบหรือไม่ตอบคำถามพวกนี้ก็ได้ค่ะ เพราะถือว่าทำงานออกมาแล้ว หรืออาจจะตอบแบบกวนประสาทก็ได้ แล้วถ้าตอบไม่ถูกใจ แปลว่าไม่ให้เป็นศิลปะเหรอ?

มีวัตถุ กระบวนการ และ action มากมายที่ใช้เวลายาวนานกว่าได้รับสถานะเป็น ‘ศิลปะ’ หลังการปรากฏขึ้นครั้งแรก

ศิลปะกับม็อบเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ตรงที่มันเป็นพื้นที่ของความโกลาหล ความวุ่นวายไร้ระเบียบ การแหวกกรอบ การแหกเกณฑ์ การละเมิด เป็นพื้นที่ที่พลังงานบางอย่างบังเกิดและปะทะกัน ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ศิลปะขับเคลื่อนไปผ่านการทำลายล้มล้างตัวเอง ควบคู่ไปกับการท้าทายสถาบันทางสังคมต่างๆ

ศิลปะไม่เชื่อง มันเป็นสัตว์เถื่อน ไม่ใช่สัตว์คอก ไม่ใช่ว่าการติ๊กเครื่องหมายถูกใน check list ครบหมดแล้วจะได้เข้ากรอบเป็นศิลปะ ตรงกันข้าม คำอธิบาย ‘ไล่ตามหลัง’ ปรากฏการณ์เสมอ เพื่อที่มันจะดิ้นหลุดออกไปอีกครั้ง และอีกครั้ง

หากไม่เข้าใจ core ที่มีลักษณะเป็น revolutionary มากๆ นี้ ต่อให้อ่านมาอีก 100 ism ทางศิลปะแล้วมาเล่าต่อได้ก็ไม่มีความหมาย

ว่าแต่ Dada ที่หลายคนชอบแห่แหนก็ไม่เป็น art แต่เป็นขบวนการ anti-art นะ รู้ยัง?

และไม่จำเป็นต้องตอบคำถามให้รู้เรื่อง

 

Dada world war without end, dada revolution without beginning, dada, you friends and also—poets, esteemed sirs, manufacturers, and evangelists. Dada Tzara, dada Huelsenbeck, dada m’dada, dada m’dada dada mhm, dada dera dada, dada Hue, dada Tza.

How does one achieve eternal bliss? By saying dada. How does one become famous? By saying dada. With a noble gesture and delicate propriety. Till one goes crazy. Till one loses consciousness. How can one get rid of everything that smacks of journalism, worms,         everything nice and right, blinkered, moralistic, europeanised, enervated? By saying dada.

บางส่วนจาก Dada Manifesto โดย Hugo Ball (1916)

 

ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นศิลปะ Dada ก็อยู่ในตำราประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปินน้อยคนที่จะไม่รู้จัก Dada

ก้าวร้าวรุนแรงไม่เป็นศิลปะ?

ศิลปะไม่ใช่โลกของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ถึงแม้จะมีงานศิลปะประเภทสะอาด สว่าง สงบ ปริ่มล้นด้วยพุทธปัญญา แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของงานศิลปะ เป็นเพียงหมวดหมู่หนึ่งในล้านแปดหมวดหมู่ของงานศิลปะ ไม่เชื่อก็ลองมานั่งในชั้นเรียนของผู้เขียนดูค่ะ อย่าลืมเตรียมยาลม ยาดม ยาหม่องไว้ให้ตัวเองด้วยก็แล้วกัน 🙂

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save