fbpx
เมื่อพื้นที่ศิลปะอพยพไปอยู่ในเกมออนไลน์

เมื่อพื้นที่ศิลปะอพยพไปอยู่ในเกมออนไลน์

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน ทุกอย่างโยกย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ร้านข้าวอยู่ในมือถือ อ่านหนังสือจำลองผ่านเว็บ เพราะไม่มีร้านหนังสือให้ไปเดินดู ไม่มีแกลเลอรีศิลปะให้หย่อนใจ ความบันเทิงหาได้แค่ในจอเพราะงดออกไปโลกจริง ในช่วงเวลานี้ พื้นที่ของดนตรี ศิลปะ หรือแม้แต่แฟชั่นก็ต้องย้ายหลักแหล่งไปยังพรมแดนใหม่กับเขาเช่นกัน และพรมแดนที่ว่าคือเกมออนไลน์

ไปดูคอนเสิร์ต Travis Scott มายัง?” คำถามจากเพื่อนโดนสวนทันทีด้วยคำตอบจากผมบ้าเหรอ จะไปดูคอนเสิร์ตไรตอนนี้ แล้ว Travis Scott มาไทยตั้งกะเมื่อไหร่?”

ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่า คอนเสิร์ตที่เพื่อนพูดถึงคือคอนเสิร์ตเสมือน’ หรือ Virtual Concert ของศิลปินฮิปฮอป Travis Scott ที่ไปจัดในพื้นที่ของเกมออนไลน์ Fortnite เกมแนวกัดฟันสู้เอาชีวิตรอดสไตล์ Battle Royale เปลี่ยนฟังก์ชั่นของสมรภูมิในเกม จากกระโดดร่มลงไปรบเป็นโดดลงไปมุงดูคอนเสิร์ตในโลกจำลอง แต่กลับมันเหมือนไปดูจริง เผลอๆ บันเทิงกว่า เพราะการออกแบบโลก หรือ World Building ในเกมที่ไม่มีขีดจำกัดเหมือนคอนเสิร์ตที่จัดในโลกกายภาพ ไม่จำเป็นต้องมีเวที เพราะ Travis Scott ตัวยักษ์ยืนตระหง่านกลางเกาะ เรื่องแสงสีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ไฟคอนเสิร์ตหรือจอ LED แต่สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์และวิชวลม้วนต้วนรอบตัวเราได้แบบ 360 องศา บางซีนพาไปไกลถึงอวกาศ ตลอด 5 วันของของคอนเสิร์ต รวมคนดูจากทั่วโลกไปได้ราว 28 ล้านคน เยอะที่สุดตั้งแต่ Travis Scott (ตัวจริง) เคยจัดคอนเสิร์ตมา

 

YouTube video

 

อีกหนึ่งเกมที่คนเล่นกันมากที่สุดในเฉพาะช่วงกักตัวอย่าง Animal Crossing: New Horizons – เกมแนวจำลองวิถีชีวิตและสร้างชุมชนบน Nintendo Switch ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โลกศิลปะถูกย้ายไปไว้ในโลกจำลองของเกม

 

ภาพ: Nintendo

 

รูปแบบของเกมเอื้อเหลือเกินให้คนที่กำลังใช้ชีวิตในพื้นที่จำกัดช่วงโควิด-19 ได้หลบหนีความจริงไปใช้ชีวิตบนเกาะกว้างแสนสงบ ตัวละครในเกมใช้ชีวิตบนเงินกู้จากนายทุนเกาะ สังคมเป็นไปตามระบบทุนนิยม แต่สโลว์ไลฟ์และสวยงามกว่า สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน ทำงานง่ายๆ ส่งผลผลิตขายให้นายทุน สลับด้วยกิจกรรมพักผ่อนชมนกตกปลา แต่งบ้าน ทำสวน จับแมลง รู้จักเพื่อนบ้าน ฯลฯ บนเกาะแสนสงบในโลกจำลอง แต่นอกจากนั้น Animal Crossing : New Horizons ยังให้เรามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศิลปะวัฒนธรรมในสังคมของเกมด้วย เพราะเกาะแห่งนี้มีหอศิลป์เป็นของตัวเอง!

 

ภาพ: Nintendo

 

กิจกรรมในเวอร์ชันใหม่ของเกมคือการซื้องานศิลปะจากตัวละคร Jolly Redd จิ้งจอกนายหน้าสายอาร์ต เพื่อนำไปบริจาคให้พิพิธภัณฑ์หรือตกแต่งบนเกาะอันเป็นกิจกรรมหนึ่งในสังคมของ Animal Crossing ความท้าทายของผู้เล่นคือต้องเลือกซื้อชิ้นงานศิลปะที่เป็นของแท้ จากจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ที่ผสมทั้งงานจริงงานเก๊มาหลอกขายเรา โดยงานศิลปะทุกชิ้นในเกมล้วนเป็นผลงานระดับตำนานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภาพเขียนหญิงสาวเทนม The Milkmaid โดย Vermeer, ประติมากรรม The Thinker โดย Auguste Rodin  ฯลฯ

 

ภาพ: Nintendo

 

ขนาดภาพวาด Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci ที่ทุกคนต้องเคยผ่านตาแน่ๆ แต่ถึงคราวต้องแยกว่าแท้หรือเก๊ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สายเกมทั้งหลายจึงต้องผันตัวเป็นสายอาร์ตชั่วคราว เปิดเว็บเปรียบเทียบ ส่องรายละเอียดฝีแปรง ไปจนถึงเค้าโครงหน้าของบุคคลในชิ้นงานเพื่อจับผิด เลือกงานศิลปะชิ้นที่ถูกต้อง ผ่าน QC ของพิพิธภัณฑ์กลับไป อย่างโมนาลิซ่ารูปด้านบนนี้ หากสังเกตตรงคิ้วดีๆ จะเห็นว่าเป็นของเก๊นะคร้าบ ห้ามซื้อ

 

ภาพ: Here’s How To Collect Rare Museum Art With NookLink In Animal Crossing: New Horizons

 

เว็บไซต์คลังภาพยักษ์ใหญ่อย่าง Getty ก็มาจอยกับ Animal Crossing เปิดให้ผู้เล่นซื้องานศิลปะระดับโลกไปติดฝาบ้าน (ในเกม) ชาวเกาะใน Animal Crossing สามารถซื้อภาพเขียนของ Vincent van Gogh, Claude Monet หรือ Édouard Manet ผ่านเว็บไซต์  แถมยังนำภาพวาดเหล่านั้นไปแปลงเป็นลายแพทเทิร์น ทำเป็นเสื้อผ้าหรือวอลเปเปอร์บ้านก็ได้

ทั้งสองกิจกรรมใน Animal Crossing : New Horizons นอกจากจะทำให้กิจกรรมศิลปะ อย่างการซื้องานศิลป์ หรือเดินเล่นแกลเลอรีซึ่งเป็นวิถีชีวิตจริงของคน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในเกมแบบไม่แยกขาดจากกัน (โดยเฉพาะในช่วงกักตัวที่คนไม่สามารถย่างกรายไปหอศิลป์ได้) ยังทำให้โลกศิลปะใกล้ชิดคอเกมมากขึ้น บางคนที่ไม่เคยอินกับประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือไม่เคยชายตามองจิตรกรรมระดับตำนาน ก็ได้ใช้เวลาเพ่งพินิจรายละเอียดจนอาจเกิดเป็นโมเม้นต์แห่ง art appreciation ขึ้นมาก็ได้

ล่าสุด Shing Yin Khor ศิลปิน (ในโลกจริง) เกิดอยากท้าทายหอศิลป์ใน Animal Crossing ที่ให้อารมณ์แบบหอศิลป์แห่งชาติขรึมๆ เครียดๆ ด้วยการตั้งโจทย์ขำๆ ว่าฉันทำ MoMA (The Museum of Modern Art) ในนั้นบ้างได้มะเธอจัดแจงสร้างงานศิลปะร่วมสมัยชื่อดังหลายชิ้นด้วยการใช้ฉากและข้าวของในเกมนั่นแหละ แสบที่สุดน่าจะเป็นชิ้น ‘The Artist Is Present’ ที่สร้างตามต้นฉบับจากศิลปิน Performance art อย่าง Marina Abramoviç เอาซะเหมือน!

 

ภาพ: Shing Yin Khor

 

ภาพ: Andrew Russeth /  Museum of Modern Art, New York

 

นอกจากพื้นที่ของเกม Animal Crossing: New Horizons จะกลายเป็นแกลเลอรีศิลปะสุดยียวน เร็วๆ นี้ อาจมีรันเวย์แฟชั่นบนเกาะก็เป็นได้ เพราะล่าสุดแบรนด์ไฮแฟชั่นอย่าง Marc Jacobs และ Valentino ได้ออกชุดแฟชั่นให้คนรับไปใส่เดินเชิดชิคในเกมกันแล้ว โดยร่วมมือกับ Animal Crossing Fashion Archive Instagram ที่เรียกตัวเองว่าเป็น ช่างภาพแฟชั่นช่วง Social Distancing เก็บภาพชุดแฟชั่นใน Animal Crossing ใครแต่งตัวโดดเด้งเตะตาจะถูกนำมารวมไว้ใน Instagram

 

ภาพ: Marc Jacobs

 

ภาพ: Animal Crossing Fashion Archive Instagram

 

ในขณะที่เกมใช้ชีวิตอย่าง Animal Crossing จัดสรรพื้นที่เล็กๆ ไว้สำหรับศิลปะและแฟชั่น อีกฟากหนึ่ง มีเกมที่สร้างมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มศิลปะแห่งอนาคต’ โดยเฉพาะ และช่างเหมาะเหม็งกับสถานการณ์ที่แพลตฟอร์มปัจจุบันของศิลปะอย่างแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะต้องปิดชั่วคราวอย่างตอนนี้

 

ภาพ: Occupy White Walls

 

Occupy White Walls เกม Multiplayer ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Virtual Exhibition ผู้เล่นทั้งหลายสามารถเข้าไปสร้างแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ศิลปะของตัวเอง Yarden Yaroshevski ผู้บริหารใหญ่ของบริษัท StikiPixels ผู้สร้างเกมเล่าว่า เกมนี้มาจากความสงสัยว่าโลกนี้มีเกมเกี่ยวกับทุกอย่างมาหมดแล้ว แม้แต่เกมทำความสะอาดถนนยังมี แต่ทำไม๊ทำไมไม่มีเกมว่าด้วยศิลปะเลยสักเกมเกมที่เป็นเสมือน Minecraft ผสม The Sims แห่งโลกศิลปะเกมนี้จึงเกิดขึ้น

ผู้เล่นสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมของอาร์ตสเปซของตัวเองได้หลากหลายแนวตามรสนิยม ชดช้อยอลังการแบบ Baroque เก๋แบบ Art Deco หรือจะดิบกร้าวแบบ Brutalism เมื่อได้พื้นที่แสดงศิลปะที่ตัวเองชอบแล้ว ก็จัดการเลือกผลงานศิลปะในคลังที่มีให้เลือกกว่า 7,000 ชิ้นมาแขวนไว้ในแกลอรี่ของตัวเอง

ที่ล้ำไปกว่านั้น เกมยังมีผู้ช่วยภัณฑารักษ์ (Assistant Curator) ที่ประมวลผลด้วย AI คอยช่วยแนะนำงานศิลปะที่เจ้าของแกลเลอรีน่าจะชอบ ช่วยสรุปข้อมูลให้ว่างานศิลปะสไตล์ไหนถูกเลือกจากแกลเลอรีอื่นมากหรือน้อย และงานแนวไหนที่เข้ากันกับชิ้นที่มีอยู่แล้วในแกลเลอรีของเรา หรือถ้าผู้เล่นอยากเปลี่ยนบทจากภัณฑารักษ์เป็นศิลปิน ทำงานศิลปะของตัวเองในเกมแบบ Pixel art ก็สามารถทำได้

หลังจากสร้างแกลเลอรีตัวเองเสร็จ ผู้เล่นสามารถทำกิจกรรม Gallery Hopping แวะเวียนไปเยี่ยมชมแกลเลอรีอื่นๆ แลกเปลี่ยนบทสนทนาเกี่ยวกับศิลปะกันได้ผ่านระบบแชท เรียกได้ว่ายกวงการศิลปะมาไว้ในโลก Virtual และทำให้ใครๆ ก็เป็นเจ้าของอาร์ตสเปซของตัวเองได้

 

ภาพ: Occupy White Walls

 

ดูคอนเสิร์ต แต่งตัว ไปจนถึงเสพศิลป์ กิจกรรมถูกเพิ่มเติมเข้ามาในเกมยุคนี้ ยิ่งสะท้อนว่าเกมทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขันหรือความสนุก แต่กลายเป็น Virtual World หรือโลกเสมือนที่ปรับตัวเข้ากับโลกจริงมากขึ้นทุกขณะ และหลายครั้งพื้นที่ในเกมจึงเป็นพื้นที่ที่ระบายออกของการกระทำหรือทดแทนความรู้สึกที่เราไม่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

เกมอย่าง Occupy White Walls แม้ว่าเปิดตัวนานแล้ว แต่กลายเป็นฮิตมากในช่วงแกลเลอรีปิด หรือเกมอย่าง Animal Crossing สะท้อนว่าคนเราหาทางจะมีปฏิสัมพันธ์กันในช่วงกักตัว อยากแต่งชุดสวยๆ ออกไปอวด อยากมีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน อยากชมความงามของศิลปะเหมือนคราวชีวิตปกติ นอกจากนี้ยังสะท้อนว่า เราทุกคนอยากจะ ‘escape’ จากชีวิตประจำวันที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยข่าวชวนปวดหัว ไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแสนสงบ ในชุมชนสโลว์ไลฟ์ ไม่มีอะไรต้องทำมากไปกว่าชมนกชมไม้และงานอดิเรกง่ายๆ เหมือนวิถีชีวิตยุคก่อร่างสร้างชุมชนมนุษย์ในโบราณกาล แม้ว่าในโลกจริงเราจะกลับไปเป็นแบบนั้นไม่ไหว แต่ขอแค่ได้หนีไปสักสองสามชั่วโมงต่อวันก็อาจจะดีต่อใจพอแล้ว

แม้ว่าการกักตัวในช่วงโควิด-19 จะทำให้พื้นทางดนตรี ศิลปะ และแฟชั่นมีข้อจำกัด แต่จากคอนเสิร์ต Travis Scott ใน Fortnite หอศิลป์และแฟชั่นเซ็ตในเกม Animal Crossing ไปจนถึงแพลตฟอร์มหอศิลป์แห่งอนาคตอย่าง Occupy White Walls ก็ทำให้เห็นว่ากิจกรรมศิลปะภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ได้ทลายข้อจำกัดที่เราคุ้นเคยไปหลายอย่าง โดยเฉพาะการสร้างที่ทางของศิลปะขึ้นมาบนแพลตฟอร์มที่อาจไม่เคยมีมาก่อนอย่างเกมออนไลน์ ไอเดียเหล่านี้อาจเปิดความเป็นไปได้อีกหลายทางให้พื้นที่ของศิลปะบนโลกจริงในอนาคต

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save