fbpx
เมื่อสื่อต้องรายงานเรื่อง “คนโกหก”: บทเรียนจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายทฤษฎีสมคบคิด QAnon

เมื่อสื่อต้องรายงานเรื่อง “คนโกหก”: บทเรียนจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายทฤษฎีสมคบคิด QAnon

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

 

หัวใจสำคัญในการทำงานของสื่อวารสารศาสตร์ในสังคมประชาธิปไตยคือการรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งไม่เพียงหมายถึงการตอบคำถามว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพราะอะไร และอย่างไร เท่านั้น แต่รวมไปถึงการอธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์และผลที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยข้อมูลที่ถูกถ้วน รอบด้าน หลากมุมมอง และตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลเพียงพอ ไม่ใช่คิดเองเออเองหรือเชื่อตามคนโน้นคนนี้

แต่สื่อวารสารศาสตร์จะทำอย่างไรเมื่อต้องรายงานเรื่องโกหก

 

QAnon ชุมชนแห่งข้อมูลบิดเบือนอันเหลือเชื่อ (แต่ก็มีคนเชื่อ)

 

ในบรรดามวลชนผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากจะมีกลุ่มชาตินิยมผิวขาวและลัทธิคนผิวขาวสูงส่ง (White Supremacy) อย่างกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Proud Boys ซึ่งเพิ่งถูกเอ่ยถึงในการดีเบตของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้แล้ว ยังมีอีกเครือข่ายหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานเสียงเหนียวแน่นของทรัมป์ คือกลุ่มผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่เรียกว่า QAnon

ผู้ติดตามทฤษฎีสมคบคิด QAnon เชื่อว่ามีเครือข่ายกลุ่มผู้บูชาซาตานในหมู่นักการเมืองพรรคเดโมแครตและวงการฮอลลีวูดที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก (pedophile) หรือบริโภคเนื้อเด็กเป็นอาหาร นอกจากเครือข่ายนี้จะเป็นแก๊งค้าเด็กระดับโลกแล้ว ยังเป็น “รัฐพันลึก” (deep state) ที่วางแผนโค่นล้มประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะทรัมป์เป็นผู้กอบกู้ที่จะเข้ามาทลายเครือข่ายนี้

ผู้โพสต์ข้อมูลนี้เป็นคนแรกใช้นามแฝงว่า Q โดยโพสต์ลงในเว็บบอร์ด 4Chan ประมาณปี 2017 และย้ายมาที่ 8Chan ในเวลาต่อมา (ทั้ง 4chan และ 8chan (ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็น 8kun) เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนทั้งคู่ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งการสื่อสารและแพร่กระจายข้อความที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงและ hate speech) สิ่งที่โพสต์เป็นข้อความกับภาพที่เป็นรหัสเพื่อบอกใบ้ หรือที่เรียกกันว่า “Q drop” จากนั้นผู้ติดตามก็จะเข้ามาช่วยกันตีความว่าสารที่ Q ส่งมาคืออะไร และเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองหรือแวดวงบันเทิงคนไหน อย่างไร ก่อนจะส่งต่อเพื่อให้ขยายไปในวงกว้าง

ว่ากันว่าทฤษฎีสมคบคิดอาจมีข้อเท็จจริงประกอบอยู่บ้างเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ แต่สำหรับทฤษฎีสมคบคิด QAnon ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งที่ Q กล่าวอ้างเป็นข้อเท็จจริง เช่น การอ้างว่าฮิลลารี คลินตันเป็นโต้โผใหญ่ของเครือข่ายค้าเด็กและต้องกินเลือดกินเนื้อเด็กๆ เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน

ด้วยการสร้างเรื่องที่ดูเป็นข้อมูลลับสุดยอดแม้จะมหัศจรรย์พันลึกจนเหลือเชื่อ ผู้ติดตาม QAnon จึงเชื่อว่า Q เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ หรือ “คนวงใน” ของการเมืองระดับชาติ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าใครเป็นคนเริ่มโพสต์และใครเป็นมือโพสต์หลักคนปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงหนึ่งมีผู้ใช้จำนวนหนึ่งที่เข้าถึงพาสเวิร์ดของ Q ได้ เลยสวมรอยเป็น Q โพสต์ข้อความต่างๆ เสียเอง (มีรายงานว่าจนถึงวันนี้ พาสเวิร์ดของ Q ก็ยังเป็นชุดเดิมอยู่ ทำให้ไม่รู้ว่าโพสต์ไหนเป็น Q ออริจินัลหรือคนที่สวมรอยทีหลัง) มีผู้ตั้งสมมติฐานว่า พ่อลูกตระกูล Watkins ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม 8chan อยู่ตอนนี้น่าจะเป็น Q คนปัจจุบัน แต่ทั้งสองคนก็ไม่ยืนยันเรื่องนี้กับสื่อมวลชน

บรรดาผู้ที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด QAnon อาจจะไม่ได้สนับสนุนพรรคริพับลิกันมาก่อน แต่มักมีแนวคิดขวาจัดและเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ตัวยง (Trumpist) ประเภทที่ว่าทรัมป์พูดอะไรก็จริงไปหมด ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้มักจะมีฐานคิดเดิมที่ต่อต้านสถาบันหลัก (anti-establishment) เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด เคลือบแคลงระแวงสงสัยในหลักการวิทยาศาสตร์ สุขภาพ และการแพทย์กระแสหลัก รวมถึงไม่ไว้วางใจสื่อสถาบัน (legacy media) อยู่แล้ว

ดังนั้น ถึงไม่มีหัวขบวนชัดเจนก็ไม่เป็นไร เพราะการสร้างชุมชนของชาว QAnon ในช่วงแรกไม่ได้เน้นการรวมกลุ่มกันเองเชิงกายภาพ แต่มุ่งไปที่การสื่อสารเพื่อสร้างชุดข้อมูลว่าสถาบันหลักของสังคมไม่น่าไว้วางใจและต้องการล้างสมองประชาชนเพื่อครอบงำสังคมอเมริกันและโลก แม้เรื่องราวนั้นจะดูเกินจริงหรือเหลือเชื่อก็ตาม พวกเขาจึงต้องสนับสนุนทรัมป์ที่จะมาทลายอำนาจของสถาบันเหล่านี้อย่างสุดตัว

ทรัมป์เองก็เคยรีทวีตข้อความหรือมีมของกลุ่ม QAnon แม้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการตั้งเป็นคำถามหรือเชิญชวนให้ตรวจสอบ นอกจากนี้ เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่าสนับสนุนกลุ่มนี้หรืออย่างไร ทรัมป์ก็ปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าคนเหล่านี้เป็นใคร รู้แค่ว่าเป็นคนที่รักชาติและชอบเขา ซึ่งเขาก็พอใจ (ไม่ต่างจากท่าทีการไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์หรือปฏิเสธการสนับสนุนจากกลุ่ม Proud Boys แต่กลับโจมตีกลุ่มฝ่ายซ้ายและกลุ่ม Antifa ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านฟาสซิสม์ในการดีเบตที่ผ่านมา)

มีรายงานว่าผู้ติดตาม QAnon ก่อเหตุโจมตีเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นศัตรูของทรัมป์และ Q หลายครั้ง เช่นในปี 2018 มีชายคนหนึ่งขับรถบรรทุกที่บรรจุระเบิดไปขวางสะพานแห่งหนึ่งในรัฐแอริโซนาโดยบอกว่าทำไปในนามของ Q ขณะที่ปี 2019 ชายอีกคนหนึ่งยิงผู้ที่สงสัยกันว่าเป็นเจ้าพ่อแก๊งมาเฟียจนเสียชีวิต โดยอ้างว่าเป็นศัตรูของ Q

ด้วยเหตุนี้ FBI จึงขึ้นบัญชี QAnon ในกลุ่มผู้ก่อการร้ายในประเทศ ขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram และ TikTok ก็ประกาศแนวทางจัดการกับกลุ่มนี้ ทั้งลบบัญชีและเพจ รวมถึงบล็อกเนื้อหาและแฮชแท็กเกี่ยวกับ QAnon โดยชี้ว่าขัดกับนโยบายการไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการหารายได้จากเนื้อหาที่สนับสนุนแนวคิด QAnon เพื่อลดแรงจูงใจของผู้ผลิตที่อาจจะเป็นแนวร่วมหรือไม่ใช่ก็ได้

 

เมื่อชุมชนชายขอบแผ่ขยายสู่ชุมชนทางเลือก

 

แม้ดูเหมือนว่าไม่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนเท่ากับกลุ่มชาตินิยมผิวขาวหรือลัทธิคนผิวขาวสูงส่ง แต่ความเชื่อใน “ข้อมูลทางเลือก” เรื่องเหลือเชื่อ ความไม่ไว้วางใจสถาบันกระแสหลัก รวมถึงการย้ำประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างการลักพาตัวและค้าเด็ก กลับเป็นจุดแข็งที่ทำให้ QAnon ขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มคนที่ไม่ “ฮาร์ดคอร์” เท่ากับสองกลุ่มแรกที่มักเป็นชายฉกรรจ์ผิวขาว

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุดความคิดที่แพร่หลายในกลุ่มผู้สนับสนุน QAnon คือ “โควิด-19 เป็นเรื่องโกหก” รวมถึงการกล่าวหาว่าบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อ Wayfair เป็นหน้าฉากของการค้าเด็ก เพราะขายสินค้าราคาแพงลิ่วและตั้งชื่อรุ่นเฟอร์นิเจอร์เหมือนชื่อเด็กผู้หญิงที่หายตัวไปก่อนหน้านี้ ทำให้ชาว QAnon ลือกันว่านี่ไม่ใช่ราคาโต๊ะตู้เตียงธรรมดา แต่เป็นราคาซื้อตัวเด็กที่ถูกลักพาตัวมาค้าประเวณีมากกว่า จนบริษัทต้องต้องแถลงการณ์ปฏิเสธ

ความเชื่อว่าการค้าเด็กเป็นฝีมือของเครือข่ายชนชั้นนำในสังคมผู้ร้ายกาจที่วนเวียนอยู่ในชุมชน QAnon จึงนำไปสู่กระแสแฮชแท็ก #SaveTheChildren เพื่อเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองเด็กจากแก๊งลักพาตัวและค้าเด็กอันชั่วร้าย ซึ่งได้แนวร่วมจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นว่าต้องช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ (ภายหลังเปลี่ยนเป็น #SaveOurChildren เพราะแฮชแท็กเดิมซ้ำกับชื่อองค์กรไม่หวังกำไรที่รณรงค์ด้านสิทธิเด็ก จนองค์กรต้องมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับกระแสนี้)

ยังมีรายงานด้วยว่า อินฟลูเอนเซอร์ด้านการฝึกโยคะและการรักษาสุขภาพแบบทางเลือกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งมักสร้างชุมชนและสื่อสารกันผ่าน Instagram อยู่แล้ว ก็เข้าร่วมขบวนการพิทักษ์เด็กของ QAnon ไปด้วย เห็นได้จากการเผยแพร่ข้อความที่กลุ่มมักจะย้ำกันเสมอๆ เช่น “Where we go one, we go all” (หรือตัวย่อ WWG1WGA) “Covid-19 is a hoax” หรือติด #SaveOurChildren จนนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้เรียกว่าเป็นกลุ่ม “QAnon สีหวาน” (Pastel QAnon)

 

เมื่อคนโกหกจัดอีเวนต์ จะ “เป็นข่าว” ได้อย่างไร

 

การเคลื่อนไหวปกป้องเด็กจากการค้ามนุษย์ไม่หยุดอยู่เพียงโลกออนไลน์ แต่ได้ขยายไปสู่ท้องถนน เมื่อเดือนสิงหาคม เกิดการเดินขบวนต่อต้านการค้าเด็กในกว่า 200 เมืองทั่วสหรัฐฯ โดยผู้ร่วมขบวนต่างเปล่งเสียงว่า “save the children” ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ถือป้ายหรือใส่เสื้อยืดที่มีข้อความประจำของ QAnon ทั้ง WWG1WGA, #Pedowood, #SaveTheChildren และ #SaveOurChildren

แน่นอนว่าสื่อมวลชนท้องถิ่นต้องรายงานการเดินขบวนเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่สรุปว่าเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และเรียกร้องในสิ่งที่ต้องได้รับการป้องกันแก้ไข

ถึงผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางส่วนจะไม่ใช่ผู้สนับสนุน QAnon และต้องการปกป้องเด็กและเยาวชนอย่างจริงใจ แต่นักวิชาการและนักวารสารศาสตร์ที่ติดตามเครือข่ายทฤษฎีสมคบคิดเตือนว่า การนำเสนอเพียงว่านี่เป็นการรวมตัวกันตามสิทธิพลเมืองเพื่อเรียกร้องในประเด็นสาธารณะเท่านั้น อาจเป็นการให้พื้นที่กับผู้นิยมทฤษฎีสมคบคิดและยิ่งกระพือให้ข้อมูลบิดเบือนแพร่กระจายได้กว้างไกลขึ้น

เพราะแม้การชุมนุมจะพูดถึงหัวข้อที่เป็นปัญหาสังคมและเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับการทำความเข้าใของสาธารณะ คือการตรวจสอบว่าข้อกล่าวอ้างของผู้ชุมนุมเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบที่มาที่ไปของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะตัวผู้จัดว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเด็นมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ การย้ำข้อมูลชุดเดียวยังทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และการลักพาตัวเด็กซึ่งมีความซับซ้อนถูกเบี่ยงเบนไป เช่น การชี้ว่าการค้าประเวณีเด็กเป็นฝีมือของแก๊งลักพาตัวเด็ก สวนทางกับสถิติที่พบว่าเด็กและเยาวชนที่ค้าประเวณีมักเป็นผู้ที่หนีออกจากบ้านหรือครอบครัวอุปถัมภ์ (foster home) เพื่อหารายได้ประทังชีวิต ขณะที่การลักพาตัวเด็กมักเกิดขึ้นเมื่อผู้ปกครองแย่งชิงการเป็นผู้ดูแลเด็กและลักพาตัวลูกหลานของตัวเองไปจากคู่กรณี

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงความบกพร่องในกลไกและระบบสวัสดิการสำหรับสถาบันครอบครัวและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก มากกว่าความไม่มีประสิทธิภาพในการสืบสวนและปราบปรามขบวนการอาชญากรรมอย่างที่การเคลื่อนไหวของ QAnon อ้าง

ผู้ที่ทำงานเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และปกป้องสิทธิเด็ก รวมทั้งผู้สื่อข่าวที่เกาะติดปัญหานี้เห็นตรงกันว่า การเบี่ยงประเด็นและบิดเบือนข้อมูลเช่นนี้ไม่เพียงทำให้คนทั่วไปเข้าใจปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อเด็กอย่างผิวเผิน แต่ยังทำให้เกิดความตื่นตระหนกผิดจุด และอาจขัดขวางความพยายามร่วมกันของสองพรรคการเมืองในการแก้ปัญหา เพราะไม่เชื่อใจพรรคเดโมแครต

เมื่อสื่อมวลชนรายงานเพียงฉากหน้าว่าเป็นการชุมนุมเพื่อปกป้องเด็ก แต่ไม่สาวไปถึงทฤษฎีสมคบคิดที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมนี้ จึงกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ QAnon อีกทั้งยังรับรองว่าข้อมูลที่พวกเขานำเสนอเป็นข้อเท็จจริงและมีความสมเหตุสมผลพอที่จะปรากฏในพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนอื่นๆ ได้หยิบยกไปใช้ประกอบการตัดสินใจต่อ ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลที่หาหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ ให้ร้ายกับกลุ่มคนหรือสถาบันอื่น และไม่มีหลักการใดๆ รองรับ

เช่นเดียวกับกรณีการรายงานเรื่องกลุ่ม Proud Boys ที่กลับมาได้รับความสนใจหลังจากที่ทรัมป์เอ่ยถึงในการดีเบตที่ผ่านมา Joan Donovan ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Shorenstein Center on Media, Politics and Public Policy แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งศึกษาเรื่องกลุ่มขวาจัดเสนอว่า การที่สื่อมวลชนกระแสหลักเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ผู้สนับสนุนลัทธิคนผิวขาวสูงส่ง” เพื่ออธิบายกลุ่ม Proud Boys อย่างตรงไปตรงมา และเสนอเฉพาะเวลามีเหตุการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ากลุ่ม Proud Boys ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่มีแนวคิดต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ นิยมความรุนแรง และสร้างความเกลียดชัง (hate groups)

ทั้งนี้เพราะกลุ่ม Proud Boys ให้นิยามตนเองว่าเป็น “ผู้ส่งเสริมอารยธรรมแบบตะวันตก” หรือเป็นกลุ่มหนุ่มๆ ผู้มีอารมณ์ขันเพราะชอบใช้มีม “ขำๆ” เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ต่างจากกลุ่ม alt right ที่แสดงความคิดสุดโต่งหรือ Klu Klux Klan ที่ทำร้ายคนผิวสี ทั้งๆ ที่มีพฤติกรรมและสัญลักษณ์หลายอย่างที่สะท้อนแนวคิดเดียวกัน รวมทั้งสื่อสารข้อมูลบิดเบือนและสร้างความเกลียดชัง (ซึ่งสั่นคลอนกระบวนการประชาธิปไตย) ไม่ต่างกัน

ไม่เพียงการตรวจสอบการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดจาก QAnon หรือกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้เห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามปกติเท่านั้น Jay Rosen นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กชี้ว่า สื่อมวลชนต้องตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของผู้แสดงสำคัญทางการเมืองอย่างประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานที่ให้ข้อมูลเท็จและสร้างความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนของเขาเป็นการกระทำอย่างเป็นรูปแบบ และเป็นแนวทางการบริหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเพียงผู้นำคนหนึ่งที่เผอิญมีบุคลิกโผงผาง พูดจาเพ้อเจ้อเรื่อยเปื่อย หรือให้ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐานเท่านั้น

Rosen ยังเสนอเสาหลัก 4 ประการในการเปลี่ยนแปลงให้การรายงานเรื่องการเมืองช่วยเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตย ได้แก่

  • การปกป้องประชาธิปไตยถือเป็นพื้นฐานของงาน (วารสารศาสตร์)
  • การให้พื้นที่สื่อแก่ทุกฝ่ายเท่ากัน ขณะที่ในความเป็นจริงที่ทุกฝ่ายมีอำนาจไม่เท่ากัน ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ (malpractice)
  • กรอบการรายงานแบบ “การเมืองเป็นเกมยุทธศาสตร์” ถือเป็นการรายงานที่มีคุณภาพต่ำและมักง่าย
  • ผู้แสดงทางการเมืองที่มีประวัติการให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งข่าวและผู้ร่วมรายการสัมภาษณ์/สนทนา

หากพิจารณาตามแนวทางที่ Rosen และ Donovan เสนอมา การอ้างว่าการรายงานว่าใครพูดอะไรก็เป็นการรายงานข้อเท็จจริงแล้ว (เพราะเขาพูดอย่างนั้นจริงๆ) โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ขยายความบริบท หรือชี้ให้เห็นปัญหาต่อกระบวนการประชาธิปไตย ก็ไม่นับเป็นงานวารสารศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคมประชาธิปไตย

 

จากผู้พิทักษ์ทรัมป์สู่ผู้พิทักษ์รัฐไทย

 

ย้อนกลับมาดูที่ไทย ในห้วงยามที่ความขัดแย้งทางการเมืองปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการชุมนุมบนท้องถนนและสถานที่สาธารณะ รวมถึงการทำกิจกรรมของผู้แสดงทางการเมืองต่างๆ สื่อมวลชนก็ถูกคาดหวังให้รายงานความเคลื่อนไหวเหล่านี้เพื่อให้ผู้รับสารได้ทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่าง รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการอภิปรายถกเถียงที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้

ข้อคิดหนึ่งจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการค้ามนุษย์ของ QAnon คือ แม้จะเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจและเป็นกิจกรรมที่แสดงถึงการใช้สิทธิพลเมือง แต่ข้อกล่าวอ้างต่างๆ ก็ควรถูกตรวจสอบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงอย่างไร ไม่ใช่เพียงรายงานไปโดยอ้างว่าใครๆ ก็มีสิทธิจะพูด จะคิด จะเชื่ออย่างไรก็ได้ อย่างการบอกว่าชาวอเมริกันเรียกร้องให้ทหารมาปฏิวัติเพื่อให้บ้านเมืองสงบ หรือนำทฤษฎีสมคบคิดมาเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ

นั่นหมายความว่า การรายงานแบบสรุปเหตุการณ์ว่าใครพูดอะไรตามมาตรฐานเบื้องต้นของการนำเสนอข่าวทั่วไป ไม่เพียงพอต่อการรายงานข่าวในความขัดแย้งแบ่งขั้ว ที่จำเป็นต้องคลี่ให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้แสดงต่างๆ พูดออกมานั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สอดคล้องกับหลักการใด และมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่เช่นนั้น สื่อมวลชนก็จะกลายเป็นพื้นที่ให้ข้อมูลบิดเบือนและ hate speech ยิ่งแพร่กระจายต่อได้ แถมยังรับรองว่าข้อมูลนั้นถูกต้องเชื่อถือได้เพราะสื่อสถาบันเป็นผู้รายงาน

หน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ควรตกอยู่กับผู้รับสารซึ่งมักถูกอ้างว่ามีวิจารณญาณ ตัดสินเองได้อยู่แล้ว หรือปล่อยให้ชาวเน็ตชาวทวิตภพต้องไปค้นคว้าหาข้อเท็จจริง (ที่บางเรื่องก็เป็นเรื่องพื้นฐานมาก) มาแก้ไขตอบโต้เพื่อให้ความกระจ่างกันเอง ไม่เช่นนั้น สื่อสถาบันก็ไม่ต่างจากการเป็นเครื่องบันทึกเสียง-ภาพ ที่ไม่ต้องใช้ความรู้และทักษะอะไรมากกว่าการกดปุ่ม record และถอดเทปเท่านั้น ไม่ใช่แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นอิสระอย่างที่สังคมประชาธิปไตยคาดหวังและต้องการ.

 

อ้างอิง:

เกี่ยวกับ QAnon

https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2020/06/qanon-nothing-can-stop-what-is-coming/610567/

https://www.npr.org/2020/08/20/904237192/journalist-enters-the-world-of-qanon-it-s-almost-like-a-bad-spy-novel

https://slate.com/technology/2020/09/qanon-identity-revealed-explained.amp

https://www.msnbc.com/podcast/transcript-rise-qanon-during-pandemic-n1237524

https://gimletmedia.com/shows/reply-all/llhe5nm/166-country-of-liars

 

เกี่ยวกับการชุมนุม Save The Children

https://www.nbcnews.com/tech/tech-news/qanon-looms-behind-nationwide-rallies-viral-hashtags-n1237722

https://www.nytimes.com/2020/08/12/technology/qanon-save-the-children-trafficking.html

https://www.wnycstudios.org/podcasts/otm/episodes/on-the-media-the-wrong-fires

https://twitter.com/jayrosen_nyu/status/1297332649091096585

 

เกี่ยวกับ Pastel QAnon

https://slate.com/news-and-politics/2020/09/qanon-women-why.html

https://www.wnycstudios.org/podcasts/otm/episodes/on-the-media-spheres-of-influence

 

เกี่ยวกับข้อเสนอของ Jay Rosen

https://pressthink.org/2020/09/you-might-not-like-it-but-its-smart-politics/

 

เกี่ยวกับการรายงานเรื่องกลุ่ม Proud Boys

https://www.wnycstudios.org/podcasts/otm/episodes/covering-proud-boys-platforming-on-the-media

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save