fbpx
มองความจริงของสื่อ ผ่านข่าวลวงในยุคโควิด กับ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

มองความจริงของสื่อ ผ่านข่าวลวงในยุคโควิด กับ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

 

ในยุคสมัยของโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่ไหลบ่าในโซเชียลมีเดียคือข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ทั้งว่าด้วยเรื่องมาตรการการจัดการของรัฐ ข่าวทางการเมือง และความรู้เรื่องสุขภาพ ทั้งหมดนั้นมีข่าวจริง ข่าวลวง และข้อมูลบิดเบือนผสมปนเปกัน จนผู้รับสารต้องปรับตัวให้ทันว่าข่าวไหนควรเชื่อ ข่าวไหนควรตรวจสอบ

101 ชวน วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา สกสว. และนักวิจัยโครงการสำรวจองค์ความรู้ด้านข่าวลวง ข้อมูลบิดเบือน และข้อมูลผิดพลาด และกรณีศึกษาด้านสุขภาพของไทย (ร่วมกับ สสส.) มาคุยว่าด้วยเรื่องข่าวลวงในยุคโควิด และชวนมองการทำงานของสื่อไทยในปัจจุบัน ว่าแม้แต่สื่อเองก็อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงเองหรือไม่ รวมถึงประเด็นที่สื่อเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจริยธรรมในการทำงาน

ฟังรายการ 101 One-On-One Ep.135 : ‘มองความจริงของสื่อ ผ่านข่าวลวงในยุคโควิด’ – วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

 

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับโควิดจำนวนมากในออนไลน์ ซึ่งมีทั้งข่าวจริงข่าวลวง แต่ข่าวที่มีการเผยแพร่จำนวนมากคือเรื่องสุขภาพ เช่น ฟ้าทะลายโจร หรือกระเทียมช่วยรักษาโควิดได้ ข่าวลวงที่เกิดขึ้นมีต้นทางมาจากอะไร รูปแบบของข่าวลวงเป็นแบบไหน

ข่าวลวงมี spectrum อยู่ว่าข้อมูลที่มีปัญหามีอะไรบ้าง การที่เราบอกว่าข้อมูลนั้นคือข้อมูลแบบไหน เราจะดู 3 องค์ประกอบหลัก คือ หนึ่ง ข้อมูลนั้นมีข้อเท็จจริงเยอะมั้ย หรือลวงเลย

สอง ดูเจตนาว่าตั้งใจจะลวงมั้ย ลวงเป็นระบบรึเปล่า มีการจัดการข่าวลวงนั้นเพื่อผลประโยชน์บางอย่างหรือไม่ อาจจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์ทางการเงินก็ได้

สาม ใช้รูปแบบความเป็นวารสารศาสตร์ หรือความเป็นข่าวเข้ามาจับหรือเปล่า ใช้รูปแบบข่าวทำให้คนเชื่อถือมากขึ้นไหม เพราะถ้าเป็นแค่คนทั่วไป นาย ก. นาย ข. มาแพร่กระจายข้อมูลลวง เราจะเรียกว่า disinformation (ข้อมูลบิดเบือน) แต่ถ้านำรูปแบบของวารสารศาสตร์มาจับก็จะกลายเป็นเฟคนิวส์

ผมยกตัวอย่างอีกรูปแบบหนึ่งคือ ข้อมูลผิดพลาด (misinformation) คือมีการแพร่กระจายข่าวเพราะมีความเข้าใจผิดบางอย่างจริงๆ ไม่ได้มีเจตนาแพร่กระจายข่าวที่เป็นข้อมูลเท็จ เช่น กรณีที่มีการบอกว่าโรงพยาบาลนั้นนี้มีคนติดโควิด แล้วก็มีการมาบอกทีหลังว่าไม่จริง ถ้าไปดูเจตนา ส่วนมากก็คือเห็นว่าโรงพยาบาลนี้มีคนไปตรวจโควิด ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ได้เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ก็คิดว่าโรงพยาบาลนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว เป็นต้น

หรืออีกแบบคือข่าวลวงร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งใจลวงเลย เช่น ช่วงปลายมกราคม ช่วงต้นของการแพร่กระจายของโควิด-19 ตอนนั้นเรายังเรียกว่าโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีข่าวของเพจ SSBN ออกมาบอกว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงออกมาตรการสูงสุด อนุญาตให้เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมคนที่ไม่ปฏิบัติตามได้ ก็เป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริงเลย ไม่มีเกิดขึ้น แถมรูปภาพที่นำมาใช้ประกอบก็มาจากบริบทอื่นๆ

หรืออีกข่าวหนึ่งที่ SSBN ผลิตแล้วมีคนเผยแพร่ต่อเยอะ คือข่าวที่บอกว่าไวรัสกลายพันธุ์ไปสู่ขั้นที่สอง สามารถปรับตัวให้หลีกเลี่ยงการตรวจวัดไข้ได้ด้วย และเชื้อจะแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้สังคมมากเกินจริง

สองข่าวนี้ไม่มีความจริงเลย เราก็พิจารณาว่าเป็นเฟคนิวส์ เพราะปั้นแต่งขึ้นทั้งหมด มีเจตนาหลอกลวงเพราะมีแรงจูงใจทางการเงิน ได้ประโยชน์จากการที่มียอดวิวเยอะๆ และใช้ฟอร์แมตข่าวในการนำเสนอ

เราจะเห็นว่ารูปแบบข้อมูลที่มีปัญหามีหลากหลายมาก เช่น เป็นข่าวลวง เป็นข้อมูลผิดพลาดที่คนไม่ได้เจตนา ในแง่นี้รัฐบาลอาจจะต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้าเป็นข้อมูลที่คนไม่มีเจตนา จะไปเอาผิดเขาถึงขั้นใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็อาจจะไม่ถูกต้องเท่าไหร่ อาจจะไปเพ่งเล็งคนที่มีเจตนาสร้างข่าวลวงมากกว่า

 

เวลาเราฟังข่าวลวงบางเรื่อง เช่น สีจิ้นผิงสั่งให้วิสามัญฆาตกรรมคนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ฟังดูก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีคนเชื่ออยู่ ในกรณีแบบนี้ผู้ผลิตข่าวลวงมีวิธีการทำให้คนเชื่ออย่างไร

เรามองได้ทั้งสองฝั่ง คือฝั่งผู้ผลิตและผู้รับสาร อย่างในฝั่งผู้ผลิตก็มีหลายเทคนิคในการล่อลวงเรา

กรณีสีจิ้นผิง เขาอาจจะเล่นกับความกลัวของคน เวลาคนอ่านข่าว มีสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือเราจะคิดวิเคราะห์ และมีอารมณ์ร่วมกับข่าว เทคนิคหนึ่งที่เขาชอบใช้ก็คือทำให้เรามีอารมณ์ก่อน เช่น กลัว ตื่นตระหนก สิ่งที่ตามมาก็คือเราจะคิดวิเคราะห์น้อยลง

หรือเทคนิคการใช้ภาพประกอบก็ทำให้คนเชื่อถือเหมือนกัน เช่น มีภาพสีจิ้นผิงจริงๆ เลย คนอ่านข่าวก็คิดว่ามีภาพแบบนี้ก็น่าจะจริง หรือทำราวกับว่าตัวเองเป็นสื่อจริงๆ อ้างอิงแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ เช่น ข่าวของ SSBN เรื่องไวรัสพัฒนาสู่เฟสสอง ก็ใส่ลิงก์ข่าวภาษาจีนเข้ามา ซึ่งเราอ่านไม่ออก เปิดเข้าไปก็ไม่รู้ เห็นลิงก์ก็คิดว่ามีการอ้างอิง คิดว่าน่าเชื่อถือ หรือเทคนิคการใช้ภาษา จับคู่ผิดบริบท เช่น เนื้อข่าวเป็นเรื่องหนึ่ง ใช้พาดหัวล่อเหยื่ออีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

ส่วนฝั่งผู้รับสาร ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เขาเชื่อ  บางคนรู้สึกว่าน่าเชื่อ เพราะเขารับรู้มาก่อนหน้านั้นแล้วว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในจีนที่ค่อนข้างโกลาหล การรับรู้แค่บางส่วนทำให้เกิด confirmation bias คือมีความเอนเอียงที่จะเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว หรือเชื่อข้อมูลที่เรามีโดยพื้นฐาน

ทางนิเทศศาสตร์ มีคำว่า ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ (echo chamber) คือพอเราสนใจเรื่องนี้ เชื่อเรื่องนี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะได้เห็นข่าวแบบนี้เยอะขึ้น ผมยกตัวอย่างกรณีที่เป็นรูปธรรมหน่อย เช่น สำนักข่าวหนึ่งลงพาดหัวว่ารัฐบาลไทยจะต้องไปรับคนไทยจากอู่ฮั่น แล้วคุณอนุทิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่าจะไปรับด้วยตัวเอง แต่พอใกล้เวลาไปรับ รัฐมนตรีก็ให้ข่าวว่าเขาไม่สามารถไปรับได้แล้ว เพราะถ้าไปรับ กลับมาเขาจะต้องกักตัว 14 วัน ทำให้ทำงานไม่ได้ เลยเป็นเหตุว่าเขาไม่ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือข่าวพาดหัวว่าคุณอนุทินไม่ไปรับคนไทยแล้ว แต่เนื้อหาข้างในมีรายละเอียดว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลยังไปรับอยู่นะ แต่คุณอนุทินไม่ได้ไป พอเป็นแบบนี้ก็ไม่ใช่การโกหก ไม่ใช่การปั้นแต่งขึ้น แต่พาดหัวทำให้คนเข้าใจผิดว่าคุณอนุทินไม่ไป รัฐบาลก็ไม่ยอมไปรับด้วย

กรณีแบบนี้เราใช้คำว่า poor journalism คือเป็นการทำงานของนักข่าวหรือองค์กรสื่อที่นำเสนอข่าวที่มีคุณภาพไม่ดีพอหรือคุณภาพต่ำ แทนที่จะยึดหลักวิชาชีพ ซึ่งวิชาชีพของคุณไม่ควรจะพาดหัวกับเนื้อหาต่างกันขนาดนั้น

แต่ถ้ามองเจตนา สำนักข่าวอาจมีแรงจูงใจทางการเงิน พาดหัวให้ตื่นเต้น หรืออาจมีแรงจูงใจทางการเมืองที่มีจุดยืนโจมตีฝ่ายการเมืองใดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็จะมีกลุ่มคนอ่านที่ตามอยู่แล้ว ซึ่งก็อาจทำให้เกิดห้องแห่งเสียงสะท้อน คือเขารับข่าวแบบนี้ ก็ยินดีจะเชื่อแบบนี้อยู่แล้ว เพราะคนที่ติดตามสำนักข่าวนี้อาจจะไม่ชอบรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นต้น

 

ในฐานะที่เราเป็นคนรับสื่อทั่วไป เราจะรับมือกับข่าวลวง ข้อมูลผิดพลาด และข้อมูลบิดเบือน เหล่านี้อย่างไรได้บ้าง

เวลาเราพูดถึงปัญหาระยะยาว ก็มักกลับไปเรื่องเดิมๆ เช่น เราควรมีการศึกษาที่ดีขึ้น เราควรมีหลักสูตรที่สอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ หรือเพิ่มทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เราควรมีหลักสูตรที่บอกว่า ในแง่จิตวิทยา เรามีจุดอ่อนอะไรบ้าง เรามาสำรวจตัวเองก่อนว่าการรับข้อมูลข่าวสารบางอย่างที่เราเชื่อแบบผิดๆ เป็นเพราะจุดอ่อนทางจิตวิทยาอะไรของเราบ้าง

เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลล้นหลามมากๆ ทักษะพวกนี้มีความสำคัญเพื่อคุณจะตรวจเช็คว่าข้อมูลนี้เชื่อถือได้รึเปล่า มีแหล่งวิจัยรึเปล่า หรืออาจจะมีการพิสูจน์ เช่น ต้องมีคอนเฟิร์มจากสามแหล่งเราถึงจะเชื่อ อันนี้ก็เป็นพื้นฐาน

จริงๆ ก็มีความพยายามเยอะขึ้น เช่น มีเครื่องมือใหม่ๆ มีให้เราดาวน์โหลดปลั๊กอิน พอไปอ่านบางข่าว มันก็จะช่วยบอกเราว่าข่าวนี้อยู่ในช่วงที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจริงหรือไม่จริง เพราะฉะนั้นคุณควรจะหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่คุณจะเชื่อหรือแชร์ ก็ช่วยเราในระดับหนึ่ง หรือมีหลายๆ กลุ่มที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น เอาข้อมูลเกี่ยวกับโควิดมาเผยแพร่เพื่อให้คนไปตรวจเช็คได้

 

ก่อนที่จะมีโควิด คนส่วนมากมักจะเสิร์ชข้อมูลเรื่องสุขภาพในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่พอเสิร์ชแล้วมักจะเจอความคิดเห็นที่หลากหลายและมีข้อมูลเท็จจำนวนมาก จนสร้างความวิตกกังวลให้ผู้อ่าน ในประเด็นนี้เป็นปัญหาไหม

มีหลายกรณีเหมือนกันที่คนเชื่อข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แล้วผลกระทบที่แย่ที่สุดคือเสียชีวิต แต่เวลาเราพูดถึงเทคโนโลยีก็มีความเป็นกลางอยู่ คือคุณจะใช้มันอย่างไร มีทั้งข้อดีข้อเสีย ในแง่หนึ่งคนที่ผูกขาดความจริงเรื่องทางการแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานทางการแพทย์เท่านั้น อาจจะมีแพทย์แผนทางเลือกอื่นๆ แล้วข้อมูลพวกนี้ บางทีคนธรรมดาแชร์ข้อมูลกัน ในแง่หนึ่งก็มีประโยชน์ เช่นคนนี้ไปรักษาแบบนี้แล้วดีขึ้น แต่ปัญหาก็คือเป็นคำให้การของคนคนเดียว อาจจะไม่ได้มีงานทดลองทางการแพทย์ที่ใช้ได้ผลจริงก็ได้ เพราะฉะนั้น ไม่อยากจะบอกว่าอินเทอร์เน็ตนำสิ่งที่ไม่ดีมาให้ เพราะระบบที่ไม่รวมศูนย์ ระบบที่กระจายตัวก็มีความดีความงามเยอะ มีข้อมูลแพร่กระจายเยอะขึ้น เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น บางทีไม่ได้มีแค่ข้อมูลอย่างเดียว แต่เป็นการซัพพอร์ตทางอารมณ์ด้วย

อย่างมีกลุ่มไลน์ที่พูดถึงการใช้กัญชารักษามะเร็ง ก็อาจจะมีข้อมูลเท็จด้วย แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ซัพพอร์ตกันเองด้วย ข้อที่แย่ก็คือว่า ข้อมูลเหล่านี้อาจมีทั้งบิดเบือน เช่น พวกขายของ และข้อมูลผิดพลาด เพราะเราอาจจะเชื่อ โดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ความจริงแล้วแชร์ไป เพราะอยากให้คนใกล้ตัวได้รู้เรื่องนี้ ก็มีอันตรายของมันอยู่

อย่างของไทย มีกินยาลดความอ้วนแล้วเสียชีวิต ทายาผิวขาวก็มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น หรือกรณีเมืองนอกก็มี เช่น ตอนนี้มีกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มนึง เขาก็ให้ข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนทำให้เกิดอะไรบ้าง เด็กจะเป็นออทิสติกนะ หรือระยะยาวจะเป็นนั่นเป็นนี่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนฉีดวัคซีนให้เด็กน้อยลง แล้วทำให้โรคที่เคยป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เช่น โรคหัด กลับมาระบาด

จริงๆ ต้องกลับไปว่า ถ้าเป็นข้อมูลสุขภาพ ควรจะต้องหาข้อมูลที่รอบด้านกว่านี้ ดูด้านเดียวไม่ได้ แต่ถามว่าควรจะเซนเซอร์ทุกอย่างมั้ย คงไม่ใช่ บางอย่างก็อาจจะมีประโยชน์ของมันอยู่

 

ขยับมาที่ประเด็นของสื่อเอง ในช่วงหลังมีข่าวออนไลน์เกิดขึ้นเยอะ แม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ขยับมาเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทุกสื่อ ซึ่งมักจะมีข้อถกเถียงหรือการตั้งคำถามในเรื่องการทำโฆษณาในรูปแบบเนื้อหา ทั้งโฆษณาโดยตรง และโฆษณาแฝง ลักษณะการนำเสนอเนื้อหาแบบนี้ถือว่าเป็นปัญหาไหม ควรจะมีการวางเส้นการนำเสนอข่าวกับการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นโฆษณาอย่างไรบ้าง

โมเดลในการหาโฆษณาหรือการหารายได้ของสื่อสมัยก่อน กองบรรณาธิการกับฝ่ายโฆษณาค่อนข้างแยกกัน เนื้อหากับโฆษณาจะไม่ปนกัน แต่ทุกวันนี้ทำยากขึ้น เพราะโฆษณาไปผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กหรือกูเกิล สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการทำเนื้อหาให้เป็นโฆษณาไปเลย

แต่ก่อนเราจะเห็น product placement ก็คือการวางของ ซีรีส์ทุกเรื่องต้องมีร้านขายของชำ มีโฆษณาบนตึกตอนเปิดเรื่องขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เขาทำกัน แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็รู้ว่าเป็นโฆษณา แต่มันไม่หยุดแค่นั้น ผมไม่แน่ใจว่าใครเป็นต้นคิดเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เขาพยายามทำโฆษณาให้เป็นเนื้อหาที่เนียนมากขึ้น อีกคำหนึ่งที่คนใช้กันคือ native advertising คือทำให้โฆษณานั้นเป็น native ราวกับเป็นเนื้อหาที่อยู่ในเว็บไซต์นั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเยอะ

จริงๆ ก็ไม่ค่อยมีปัญหานะครับ ถ้าจะบอกว่านั่นเป็นเนื้อหาที่ได้รับการสนับสนุน เพียงแต่ควรจะกล่าวให้ชัดเจนหน่อย คนอ่านจะได้รู้ว่าสิ่งที่เขากำลังอ่านอยู่ไม่ใช่ข่าว ซึ่งนักวิชาชีพที่ควรจะผลิตเนื้อหาโดยปราศจากอิทธิพลเชิงพาณิชย์ หรืออิทธิพลทางการเมือง พอเป็นโฆษณาแฝงในลักษณะที่ไม่ยอมบอกด้วย ก็สร้างความสับสนว่าตกลงเนื้อหานั้นผลิตโดยสื่อมืออาชีพที่มีจริยธรรมวิชาชีพกำกับหรือไม่

การใช้รูปแบบข่าวมาจับ แล้วมาปั้นแต่งเป็นโฆษณา ผมคิดว่าก็เป็นการพยายามหลอกลวงคน แทนที่จะบอกไปว่านี่เป็นโฆษณา คนจะได้อ่านด้วยความเข้าใจแบบหนึ่ง ตอนนี้ไม่ใช่ พยายามหลอกคนว่าไม่ใช่โฆษณานะ ทั้งที่เป็นโฆษณา ผมคิดว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นความตั้งใจที่จะหลอก อันนี้เจตนาชัดเจนนะครับ การตั้งใจหลอกคนว่าคือข่าว ทั้งๆ ที่คือโฆษณา ผมว่าอันตราย

องค์กรสื่อควรจะทำอะไรมากกว่านี้ ควรเรียกร้องให้ชัดเจนว่าสิ่งนี้ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ทางผู้บริโภคหรือคนที่รับสารก็ควรจะเรียกร้องเหมือนกัน เขาไม่ควรจะแฮปปี้กับเนื้อหาแบบนี้

เราโอเคกับการโฆษณา ถ้าเราอยากอ่าน แต่อย่ามาหลอกกันว่าสิ่งนี้คือข่าวหรือเป็นเนื้อหาที่คนที่ควรจะเป็นสื่อมวลชน มีจริยธรรมวิชาชีพกำกับเป็นคนผลิตขึ้นมา เพราะคุณกำลังเอาความเชื่อถือของสังคมไปห่อมันไว้ แล้วหลอกลวงประชาชนอยู่แบบนี้

 

ถ้าคนที่ทำ native advertising ออกมาอธิบายว่าเขานำเสนอความจริงอยู่ แค่เป็นความจริงที่มีคนมาบอกอีกทีว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้น แล้วเขาเลือกหยิบมาเล่า เช่น สมมติมีมีบางพรรคการเมืองทำกิจกรรม แล้วสื่อก็ไปทำข่าวกิจกรรมนั้น ซึ่งได้ข่าวมาจากการที่พรรคการเมืองบอกมา ในกรณีแบบนี้เราจะมองอย่างไร

หนึ่ง คุณมีเจตนาอยู่แล้ว คุณนำเสนอความจริงก็จริง แต่ในฐานะคนทำวิชาชีพสื่อ สิ่งที่จะมากำกับอีกที คือคุณต้องตรวจสอบใช่ไหม คุณบอกความจริง ความจริงของใคร คุณปล่อยให้คนคนหนึ่งมานำเสนอความจริงอย่างเดียว ถ้าคุณเป็นสื่ออาชีพ คุณต้องตั้งคำถามเขาได้ ต้องตรวจสอบเขาได้ว่าสิ่งที่เขาพูดจริงหรือไม่จริง อ้างอิงจากอะไร รวมถึงคุณต้องนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ของคู่แข่งหรือพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามด้วยซ้ำ

การที่คุณบอกว่านำเสนอความจริงของคนนั้นที่พูดออกมา ไม่ได้โกหก ในแง่นี้ก็ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อเหมือนกัน เราถึงเรียกว่า poor journalism คือเป็นการผลิตข่าวที่มีคุณภาพแย่ ถ้าอยากมีคุณภาพดี คุณต้องนำเสนอความจริงสองด้าน ต้องซักค้านเขาได้ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น คุณจะบอกว่าเป็นข้อเท็จจริงก็จริง แต่คุณกำลังโฆษณาให้เขา เพราะฉะนั้นคุณก็เลยไม่พยายามซักค้านเขาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่นำเสนอข้อมูลรอบด้านอย่างที่ควรจะเป็น

 

การทำข่าวที่มีผลประโยชน์ทางพาณิชย์ กับผลประโยชน์ทางการเมือง ความร้ายแรงเท่ากันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ประเด็นไหนต้องซีเรียสมากกว่ากัน

ผมซีเรียสทั้งหมด แต่ถ้ามองจากมุมนักข่าว ทางการเมืองเขาอาจจะซีเรียสน้อยกว่า อย่างที่คุณพูดถึงว่าอาจเป็นการนำเสนอความเห็นของอีกฝั่งหนึ่ง แล้วเวลาเราพูดถึงเรื่องการเมือง มันมีความเป็นสีเทาอยู่ ไม่ใช่ขาวหรือดำ เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถทำได้ ก็เป็นความคิดเห็นของฝั่งการเมืองหนึ่ง เพียงแต่คุณนำเสนอโดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามค้านให้สังคม อันนี้นักข่าวก็อาจจะรู้สึกสบายใจที่จะทำมากกว่า เพราะคุณทำในรูปแบบข่าวได้เลย คนนี้พูดอย่างนั้น คนนั้นพูดอย่างนี้ แล้วพอเป็นเรื่องการเมือง ก็เป็นเรื่องความเห็นเยอะ

แต่ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ สมมติผมอยากโฆษณายาลดความอ้วนของผม ผมโทรไปหานักข่าว แล้วบอกว่า เฮ้ย ช่วยลงอันนี้ให้หน่อย นักข่าวเขาก็จะกังวลแล้วว่าเขาจะลงแบบที่เป็นลักษณะโฆษณายาก จะต่างจากเรื่องการเมือง นักข่าวอาจจะต้องขอว่าคุณมีงานวิจัยไหม อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้เล่าให้เหมือนว่างานวิจัยนี้บอกอย่างนั้นอย่างนี้

มีกรณีฟ้าทะลายโจร ที่สื่อหนึ่งเอาไปลงแล้วให้ข้อมูลว่ามีหน่วยงานบอกว่าฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นก็แปะฟ้าทะลายโจรยี่ห้อหนึ่งท้ายข่าว เราก็จะสงสัยแล้วว่าอย่างนี้คือลักษณะหนึ่งของการทำ native advertising รึเปล่า พอไปอ่านดู เนื้อหาก็ไม่ได้พยายามอ้างว่ามีคนเห็นต่างอย่างไรบ้าง หรือมีงานวิจัยสนับสุนนจริงๆ คุณไม่ได้พยายามตั้งคำถาม แต่ใช้วิธีการเล่าแบบข่าว อันนี้น่ากลัวกว่าอีก เพราะคุณพยายามจับนู่นนี่มาใส่ แต่คุณไม่ได้พยายามนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านเลยจริงๆ

หน้าที่สำคัญของสื่อคือการ verify หรือตรวจเช็คข้อมูล สื่อมักจะใช้ข้ออ้างว่า พอมีแหล่งข่าวพูดว่าอย่างโน้นอย่างนี้ เขาไม่ได้นำเสนออะไรที่ผิด คนพูดต่างหากที่พูดผิด แต่เขาอาจจะลืมไปว่าวิชาชีพสื่อต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณต้อง verify ข้อมูลหรือแหล่งข่าวของคุณด้วยว่าจริงรึเปล่า ไม่ใช่บอกว่าแหล่งข่าวพูดอย่างนี้แล้วคุณจะนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ อันนี้ผิด เพราะอย่างนั้นก็ทำให้คุณเป็นแค่กระบอกเสียง เป็นแค่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อย่าเรียกตัวเองว่านักข่าว ถ้าคุณไม่ตรวจสอบความจริง

 

อาจมีสองกรณี คือนักข่าวไม่รู้ว่าเรื่องนั้นคือความเท็จ คิดว่าแหล่งข่าวพูดถูกแล้วโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบ กับอีกกรณีหนึ่งก็คือรู้อยู่ว่าเป็นโฆษณาหรือไม่ใช่ความจริง แต่ก็ต้องทำเพราะต้องหาเงิน เขาอาจจะให้เหตุผลเรื่องความอยู่รอด เราจะทำอย่างไรให้องค์กรสื่ออยู่รอดได้ด้วย แล้วก็ยังคงเส้นจรรยาบรรณได้อยู่

ถ้าไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องข่าวทุกวันนี้ การจะมี native advertising เกิดขึ้นหลายทาง ทางแรกคือฝ่ายโฆษณาไปหามา บางที่ปล่อยให้ฝ่ายนี้โพสต์ข่าวประชาสัมพันธ์ได้เลย กับอีกทางหนึ่งคือไปขอให้ฝ่ายเนื้อหาพยายามผลิตเนื้อหารองรับเรื่องนั้น หรืออีกทางหนึ่งคือนักข่าวทำเองเลย แทนที่จะไปผ่านฝ่ายประชาสัมพันธ์ เลขาฯ นักการเมืองก็อาจโทรหานักข่าวได้เลยว่าช่วยลงข่าวนี้ให้ที แล้วก็ให้เงินไป

ในแง่หนึ่งก็เห็นใจนักข่าว เพราะนักข่าวทุกวันนี้ไม่ได้เงินเดือนขึ้น อาจจะได้เบี้ยเลี้ยงน้อยลง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าองค์กรสื่ออาจจะปิดตาข้างหนึ่งไปเลย โอเค คุณทำได้ เป็นช่องทางหารายได้ของคุณ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

พอมาสู่คำถามว่าควรจะทำอย่างไร เป็นคำถามยากเหมือนกัน บางทีเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของเขา แต่ถ้ามองในเชิงหลักการก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เมืองนอกอาจจะทำก็คือเปลี่ยนโมเดล คำถามก็คือทำอย่างไรที่สื่อจะกลับมาได้ หรือสื่ออาชีพมีความสำคัญมากขึ้น

ข่าวลวงอาจถือเป็นข่าวดีสำหรับคนทำสื่ออาชีพ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่คุณกำลังจะบอกว่าคุณต่างจากคนทำคอนเทนต์อื่นๆ คนทำคอนเทนต์อื่นๆ จะผลิตอะไรก็ได้ ไม่ต้องตรวจสอบความจริงก็ได้ แต่อาชีพของคุณทำให้ข้อมูลของคุณมีคุณภาพแตกต่างจากคนอื่น แล้วข้อมูลของคุณมีความจำเป็นในยุคที่มีข่าวลวง มีข้อมูลบิดเบือนแพร่กระจายในโลกโซเชียลเต็มไปหมด

เพราะฉะนั้นคุณต้องกลับมาทำให้สังคมไว้วางใจคุณมากขึ้น ทำเนื้อหาที่มีคุณภาพ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทำตัวเองให้แตกต่าง ทำกลไกผลิตการเนื้อหาของคุณให้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เปิดช่องให้คนบอกว่า เฮ้ย การเสนอข่าวของคุณไม่รอบด้านนะ มีข้อมูลผิดตรงนั้นตรงนี้ คุณสามารถแก้ไขได้ นี่คือสิ่งที่กำกับอาชีพของคุณ แล้วทำให้คุณแตกต่าง

เราก็หวังว่าสังคมจะเชื่อว่าสิ่งที่สื่อน้ำดีกำลังทำอยู่มีคุณค่ากับสังคม พอคนสนใจมาก ในแง่ทางเศรษฐกิจ อาจจะมีโฆษณาเข้ามา ซึ่งโฆษณาก็ไม่ได้มีลักษณะแทรกแซงการทำเนื้อหา ในแง่หนึ่งเราก็บอกว่าสื่อควรจะเปลี่ยน แล้วนี่คือโอกาสที่จะทำให้เห็นว่าคุณแตกต่างจากสื่ออื่นๆ เพราะคุณมีจริยธรรมวิชาชีพกำกับ คุณมีกลไกเชิงบรรณาธิการที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณควรจะแตกต่างจากที่อื่นได้

แต่ในแง่หนึ่ง ผมก็อยากให้สังคมโดยรวมเชื่อ และให้คุณค่ากับสื่อที่ทำแบบนี้ด้วย เพราะเวลาเราพูดถึงองค์กรวิชาชีพเป็นเสือกระดาษ เพราะสังคมไม่สนใจ เหมือนว่าสื่อไม่ต้องสังกัดองค์กรวิชาชีพ เพราะสังกัดองค์กรวิชาชีพไปก็ไม่มีใครสนใจ อยากให้สังคมกลับมาตั้งคำถามด้วยว่า ถ้านี่คือสิ่งที่คุณให้คุณค่า สิ่งที่คุณอยากเห็นในสังคม คุณอยากเห็นสื่อดีๆ ผลิตเนื้อหาดีๆ ที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน ให้เราสามารถตัดสินใจทางการเมือง ตัดสินใจทางธุรกิจ ตัดสินใจจะซื้ออาหารเสริมสักอย่าง เรามีข้อมูลที่ดีจริงๆ ผมคิดว่าประชาชนควรจะให้ค่ากับเขา แล้วบอกเขาว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น

ถ้าประชาชนอยากเห็น ผมคิดว่าในแง่ของการเงิน เพื่อความอยู่รอดก็น่าจะช่วยตาม เพราะคงไม่มีบริษัทเอกชนที่ไหนอยากไปลงโฆษณากับสื่อที่ไม่ดีในสายตาของประชาชน หรืออาจมีโมเดลอื่นๆ ก็ได้นะ เช่น บริจาคเงิน หรือการสมัครสมาชิก เราเห็นสื่อนี้ดี เรายินดีที่จะจ่ายเงิน เพราะไม่อยากเห็นเนื้อหาที่เป็นโฆษณาอีกต่อไป

 

นอกจากคนรับสื่อต้องเท่าทันสื่อ และคนทำสื่อต้องผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพแล้ว ในภาพรวม การแก้ปัญหาในเชิงระบบควรจะเป็นอย่างไร

สุดท้ายสังคมก็อาจจะต้องเรียกร้องให้มีการจัดการปัญหาข่าวลวงอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำได้ ในแง่หนึ่งเราบอกว่ากลับไปที่คน อาจจะดีที่สุดก็ได้ ถ้าเรามีทักษะในการตรวจสอบข่าวและข้อมูล แต่เราก็คงหวังว่าในเชิงโครงสร้างของสังคมน่าจะมีอะไรซัพพอร์ตกว่านี้ แพลตฟอร์มอาจจะต้องทำอะไรมากกว่านี้มั้ย อาจจะไม่มองตัวเองเป็นแค่ตัวกลางที่ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป แต่ในฐานะที่เป็นคนควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารได้ คุณทำอะไรมากขึ้นได้มั้ย เช่น คุณอาจจะต้องเพิ่มความโปร่งใสของคนผลิตข่าว ซึ่งตอนนี้เฟซบุ๊กก็ทำแล้ว

คุณอาจจะเปิดให้ประชาชนสามารถไปติดธงข้อมูลที่มีปัญหาเพื่อให้คนตรวจสอบได้ หรือคุณอาจจะตัดท่อน้ำเลี้ยงของเพจที่ได้ประโยชน์จากการผลิตข่าวลวง แพลตฟอร์มต้องทำงานกับนักข่าวมากขึ้นมั้ย หรือทำงานกับภาควิชาการ ให้คนไปตรวจสอบได้ว่า อัลกอริทึมของคุณทำงานอย่างไร สร้างห้องแห่งเสียงสะท้อนอย่างไรบ้างซึ่งเป็นการสนับสนุนข่าวลวง

ภาคสื่อมวลชนเราก็พูดถึงเยอะแล้วว่าควรจะต้องทำอย่างไร โดยพื้นฐานแล้ว อาชีพของเขาคืออาชีพที่ต่อต้านข่าวลวง ทำอย่างไรที่เขาจะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้

รัฐก็เช่นกัน จะทำอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจให้ฝ่ายต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น แต่ลักษณะการออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์ม หรือเปิดโอกาสให้รัฐไปเซนเซอร์ได้ ก็อาจจะต้องระวังเหมือนกัน ทำอย่างไรสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะบางทีข่าวลวงก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เช่น เวลาที่ทรัมป์ไม่พอใจสื่อไหน ก็บอกว่าสื่อนี้เป็นข่าวลวง กลายเป็นว่าข่าวลวงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐไป

ทำอย่างไรที่คำนี้จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการแทรกแซงสื่อ หรือแทรกแซงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น สุดท้ายเรื่องนี้เราต้องใช้การจัดการปัญหาอย่างรอบด้าน ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเข้ามาช่วยกัน แล้วก็ต้องมาช่วยกันดูว่ามีคุณค่าทางสังคมอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบจากข่าวลวง แต่การไปออกกฎหมายที่โหดมากๆ กับแพลตฟอร์มหรือกับประชาชน อาจจะกลายเป็นการละเมิดคุณค่าบางอย่างที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save