ไม่ใช่เพราะแค่ไม่ชอบ: การคว่ำบาตรสื่อที่ไปไกลกว่าเหตุผลทาง “จริยธรรมวิชาชีพ”

ไม่ใช่เพราะแค่ไม่ชอบ: การคว่ำบาตรสื่อที่ไปไกลกว่าเหตุผลทาง “จริยธรรมวิชาชีพ”

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กระแสการคว่ำบาตรสื่อที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ การเรียกร้องให้สื่อมวลชนรายงานการชุมนุมที่นำโดยเยาวชนและการคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม รวมถึงการรณรงค์ไม่สนับสนุนคนในวงการสื่อที่สื่อสารโดยสร้างความเกลียดชัง เป็นการเคลื่อนไหวอีกระลอกหนึ่งที่แสดงถึงความขันแข็งของพลเมืองที่แสดงความคาดหวังให้สื่อทำหน้าที่และแสดงบทบาทที่ควรจะเป็นในสังคมประชาธิปไตย

แคมเปญนี้ยังรวมไปถึงการประกาศไม่ซื้อสินค้าและบริการที่ลงโฆษณาทางองค์กรสื่อนั้น พร้อมแจกแจงตัวเลือกของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน (แถมยังรุกไปถึงการขุดค้นเบื้องหลังของธุรกิจที่ยังคงมีโฆษณาทางองค์กรสื่อที่ถูกบอยคอตอีก) และการเชิญชวนให้สนับสนุนธุรกิจที่คนในแวดวงบันเทิงซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยเป็นพรีเซนเตอร์หรือเป็นเจ้าของ

หลายคนทึ่งที่การรณรงค์ครั้งนี้สร้างผลสะเทือนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการที่ธุรกิจส่วนหนึ่งแจ้งระงับหรือประกาศว่าไม่เคยลงโฆษณากับองค์กรสื่อที่ถูกคว่ำบาตร และการถอดพิธีกรที่แสดงการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกจากรายการ ไปจนถึงการที่องค์กรสื่อต้องออกแถลงการณ์และเครือข่ายของคนในวงการบันเทิงที่ถูกแบนมาขอความเห็นใจ ไม่อยู่นิ่งเฉยราวกับไม่สนใจเสียงที่กระหึ่มในโลกออนไลน์เหมือนที่ผ่านมา

 

เมื่อ “จริยธรรมวิชาชีพ” กับ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

 

จะว่าไปแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์และการกดดันองค์กรและสถาบันสื่อที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพมีมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อแวดวงวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคตระหนักว่าสื่อมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจประเด็นทางสังคมของประชาชน ผ่านการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสนับสนุนสื่อที่มีพฤติกรรมดังกล่าว ไปจนถึงการล่ารายชื่อและยื่นคำร้องเพื่อกดดันให้องค์กรวิชาชีพหรือองค์กรกำกับดูแลดำเนินการต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้

เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มักจะเป็นประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องกันว่าส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มเปราะบางและสังคมในภาพรวม จนไม่สามารถยอมรับได้ เช่น การละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในวงการบันเทิงหรือผู้ได้รับผลกระทบจากคดีอาชญากรรม การนำเสนอที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะต่อเด็กและสตรี รวมทั้งการรายงานแบบเหมารวมต่อกลุ่มทางสังคมต่างๆ ที่เป็นการเหยียดเพศ เชื้อชาติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ผลสะเทือนเชิงรูปธรรมจากการเรียกร้องและรณรงค์ที่ผ่านมา คือองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพ และองค์กรกำกับดูแลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็ก สตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชายขอบ รวมถึงถอดบทเรียนและกำหนดแนวทางการนำเสนอในสถานการณ์เกี่ยวกับสวัสดิภาพของประชาชน (และคนทำงานสื่อเอง) อย่างการฆ่าตัวตาย การกู้ภัย การกราดยิง หรือแม้กระทั่งการชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้มีกรอบจริยธรรมและแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการกำหนดทิศทางนโยบาย “ปฏิรูปสื่อ” ของรัฐเพื่อให้สื่อมวลชนมี “จริยธรรม” มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลจากการตรวจสอบสื่อและการพัฒนากรอบจริยธรรมวิชาชีพเพื่อรับมือกับสถานการณ์ท้าทายใหม่ๆ ก็เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และเนิบนาบ พอเกิดปัญหา (ซึ่งมักไม่ต่างจากเดิม) ขึ้นทีหนึ่ง บางคนหรือบางสำนักก็ให้เหตุผลว่าไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามีแนวปฏิบัติ ก็ทำต่อๆ กันมาไม่เคยมีใครคัดค้าน หรือจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้ในเมื่อผู้รับสารชอบการนำเสนอแบบนี้ อีกทั้งยังมีคนทำสื่อเกิดขึ้นใหม่ทุกวันทางโซเชียลมีเดีย ถึงสื่อ “มืออาชีพ” ไม่รายงาน คนในโซเชียลมีเดียก็ทำอยู่ดี

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ การรณรงค์และถกเถียงเรื่องจริยธรรมสื่อก่อนหน้านี้มักชี้ให้เห็นผลกระทบต่อปัจเจกและกลุ่มสังคม/อัตลักษณ์ เช่น ผลกระทบต่อจิตใจของคนในข่าว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้รับสาร ผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชน การรับรู้และภาพจำของคนทั่วไปต่อคนในข่าวหรือกลุ่มทางสังคม/อัตลักษณ์ที่ถูกเหมารวม

แต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมามักขาดการย้ำให้เห็นความเชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตยซึ่งเป็นฐานคิดของปรัชญาวิชาชีพ ว่าการละเมิดจริยธรรมส่งผลต่อการถกเถียงอภิปรายประเด็นทางสังคมด้วยข้อเท็จจริงและอย่างมีอารยะเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมของกลุ่มคนที่ถูกตีตรา ส่งเสริมการจัดการความขัดแย้งด้วยความรุนแรง หรือรักษาสถานะทางสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ กระแสการคว่ำบาตรสื่อและคนในวงการสื่อรอบล่าสุดจึงแสดงให้เห็นความคาดหวังต่อบทบาทสื่อที่เกี่ยวพันกับแนวคิดประชาธิปไตยที่เด่นชัดขึ้น กล่าวคือ ไม่เพียงเห็นว่าจริยธรรมวิชาชีพเป็นการปกป้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ (ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) แต่ยังต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของพลเมืองต่อสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจมากกว่าด้วย

 

วัฒนธรรมการคว่ำบาตรคนดังในสหรัฐอเมริกากับการต่อรองอำนาจของผู้ถูกกดทับ

 

ในสหรัฐอเมริกา การที่คนในสังคมออกมาเรียกร้องให้คนในแวดวงสื่อและวงการบันเทิงแสดงความรับผิดรับชอบ (call out) ต่อพฤติกรรมและทัศนคติที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเพศสภาพและสีผิวเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นในช่วง 4-5 ปีมานี้ ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมจากการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่าง Me Too และ Black Lives Matter ที่ทำให้ประเด็นการคุกคามทางเพศ รวมถึงการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รวมถึงถูกชี้ว่าเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้เพราะไม่สอดคล้องกับคุณค่าประชาธิปไตยที่เป็นรากฐานของสังคมอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มก็โต้แย้งว่าการเรียกร้องให้บุคคลที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะออกมาขอโทษ และ “cancel culture” หรือวัฒนธรรมการคว่ำบาตรต่อคนในวงการบันเทิงและสื่อสารมวลชนที่มีพฤติกรรมและแสดงความเห็นที่เหยียดเพศและสีผิว เป็นการเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากคนคนหนึ่งที่ทำผิดพลาดได้ รวมถึงเป็นการลงโทษที่เกินพอดี เพราะทำให้คนเหล่านี้หมดอนาคตเพียงเพราะความพลาดพลั้ง ทั้งที่มากประสบการณ์และความสามารถ (แม้ว่าท้ายที่สุด คนดังบางคนจะได้หวนคืนสู่วงการอยู่ดี)

นอกจากนี้ วัฒนธรรมคว่ำบาตรยังปิดกั้นการแสดงมุมมองแบบอนุรักษนิยม เพราะทำให้ผู้ที่มีแนวคิดฝ่ายขวาไม่กล้าแสดงความเห็นเนื่องจากเกรงว่าจะถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ทั้งยังกลายเป็นการส่งเสริมให้ “ทัวร์ลง” เพียงเพราะคนดังไม่ทำตามความต้องการของแฟนคลับหรือกระแสสังคม (ออนไลน์)

กระทั่งในการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกันที่แต่งตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ปราศรัยหลายคนรวมถึงทรัมป์เองก็โจมตีวัฒนธรรมการคว่ำบาตร โดยกล่าวว่าเป็นวัฒนธรรมของ “ชนชั้นนำ” ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเป็นอันตราย

นอกจากนี้ยังมีการออกมติที่ประชุมเพื่อจัดการกับวัฒนธรรมคว่ำบาตรโดยเฉพาะ ซึ่งระบุว่า

“เสรีภาพในการพูดถูกเหยียบย่ำอยู่ทุกวัน จากแนวคิด ‘political correctness’ แผนการที่จะกำจัดสิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech)’ และการส่งเสริม ‘วัฒนธรรมการคว่ำบาตร’ ที่กลายเป็นการลบล้างประวัติศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดสภาพการณ์ที่ไร้กฎหมาย ปิดปากพลเมือง และละเมิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด ความเห็น และการพูดอย่างเสรี”

อย่างไรก็ตาม Anne Charity Hudley นักวิชาการภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตา บาร์บารา อธิบายในรายงานพิเศษของ Vox ว่า วัฒนธรรมการคว่ำบาตรนั้นมีรากมาจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในทศวรรษ 1950-1960 โดยวิธีการคว่ำบาตร (boycott) นั้นส่งเสริมแนวคิดที่ว่าคนผิวสีมีอำนาจที่จะปฏิเสธวัฒนธรรมประชานิยม (pop culture) ที่เผยแพร่ความคิดความเชื่อที่เป็นอันตราย กล่าวคือ เมื่อไม่มีความสามารถที่จะหยุดแนวคิดหรือการกระทำแบบนี้ผ่านกระบวนการทางเมืองในระบบได้ ก็จงปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับมัน

Charity Hudley ชี้ว่าการคว่ำบาตรเป็นหนทางในการแสดงออกว่าเราเพียงคนใดคนหนึ่งอาจไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้าง หรือเปลี่ยนความเห็นของสาธารณะ แต่เมื่อปัจเจกมาอยู่รวมกัน เรามีอำนาจที่จะเพิกเฉยและยกเลิกความนิยมที่เคยมีต่อคนหรือสถาบันที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนให้มีอำนาจได้ หรือมองอีกแง่หนึ่ง วัฒนธรรมการคว่ำบาตรคนดังจึงเป็นแนวทางการแก้ไขด้วยวัฒนธรรมป๊อปเพื่อจัดการกับความรู้สึกไร้อำนาจที่หลายคนมี

แม้จะมีเสียงวิพากษ์ว่าวัฒนธรรมการคว่ำบาตรบุคคลสาธารณะยิ่งทำให้สังคมแบ่งขั้วมากขึ้น เนื่องจากเอื้อให้เกิดการต่อว่าด่าทอคนดังที่เป็นเป้าโจมตีแทนที่จะคุยกันอย่างมีอารยะ แต่ Charity Hudley มองว่าวัฒนธรรมการคว่ำบาตรเป็นโอกาสที่กลุ่มคนผิวสี ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิได้ส่งเสียงเป็นครั้งแรก ที่สำคัญ กลุ่มคนที่รวมตัวกันเรียกร้องหรือคว่ำบาตรก็ยังมีอำนาจทางสังคม การเมือง และอาชีพที่น้อยกว่าบุคคลหรือองค์กรที่เป็นเป้าหมายอยู่ดี

ความเห็นนี้สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ Brandon Tensley คอลัมนิสต์ด้านการเมืองและวัฒนธรรมของ CNN ที่ชี้ว่า การถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมการคว่ำบาตรมักมุ่งไปที่การกระทำซึ่งดูเหมือนจะเป็นการคุกคามผู้ที่ไม่ทำตามสิ่งที่สังคมเห็นว่าเหมาะสม แต่การดีเบตในประเด็นนี้กลับละเลยเรื่องการรักษาอำนาจของผู้ที่เคยมีอิทธิพล และการต่อรองอำนาจของผู้ที่พยายามเรียกร้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ

Tensley ยังมองว่าประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการคว่ำบาตรอย่างดุเดือด กลับเป็นผู้ใช้การแบน คว่ำบาตร และไล่ออกผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเขาเสียเอง ซึ่งแสดงถึงความไม่รับผิดรับชอบต่อการใช้อำนาจของเขามากกว่า

 

ไม่ได้แบนเพราะเห็นต่าง แต่เพราะไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตย

 

เมื่อสังคมไทยก็ถูกทำให้คุ้นชินกับการคุกคามรูปแบบต่างๆ และหลักการประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวไปจากแนวทางสากล โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงไม่แปลกที่เกณฑ์การพิจารณาว่าการแสดงออกและความคิดเห็นใดสอดคล้องหรือขัดกับหลักการประชาธิปไตยก็เพี้ยนตามไปด้วย ขณะที่การถกเถียงเรื่องจริยธรรมวิชาชีพก็มุ่งไปที่มิติทางศีลธรรม แต่ถูกตัดขาดจากมิติทางการเมือง (de-politicise)

หากพิจารณาเพียงรูปแบบของการรณรงค์ กระแสการคว่ำบาตรองค์กรสื่อและคนวงการสื่อในไทยครั้งล่าสุดอาจเป็นวิธีการหนึ่งของการทำให้อับอายต่อธารกำนัล (public shaming) ที่กดดันให้ผู้ที่กระทำสิ่งที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมต้องรู้สึกละอายและทบทวนแก้ไข ด้วยมุมมองนี้ ท่าทีในการสื่อสารที่ดุเดือดจึงอาจถูกวิจารณ์ได้ว่าเป็นการรุกล้ำจนเกินพอดี

แต่หากไม่พิจารณาเลยว่าเพราะอะไรองค์กรและบุคคลเหล่านี้จึงถูกแบน เราก็อาจมองข้ามบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดว่าพฤติกรรมและทัศนคติแบบใดที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ (ซึ่งอาจสอดคล้องหรือขัดแย้งกับแนวคิดประชาธิปไตย) และมองเห็นเพียงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงการข่มขู่คุกคามบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นในโลกออนไลน์

อย่าลืมว่า นักวิชาชีพและองค์กรสื่อที่แสดงจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนก็เคยถูกโจมตีว่าไม่รักชาติหรือแปะป้ายว่าเป็น “สื่อเทียม” ขณะที่คนในวงการบันเทิงที่มีแนวคิดเดียวกันก็ถูกยกเลิกงานจนเกือบจะหมดหนทางเติบโตในอาชีพ ในยุคที่การถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยยังไม่กว้างขวางและเข้มข้นเท่าปัจจุบัน

ดังนั้น การตีความการคว่ำบาตรองค์กรสื่อและคนในแวดวงสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคม เนื่องจากมีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของสังคมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง (bully) หรือไม่เป็นประชาธิปไตย อาจเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนักนัก

เพราะการบุลลี่หมายถึงการที่คนมีอำนาจอยู่แล้วมาข่มขู่คุกคามผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า แต่กรณีที่สถาบันและบุคคลที่มีอิทธิพลกลับใช้อำนาจในทางที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตย จนถูกตรวจสอบ วิจารณ์ เรียกร้องให้รับผิดชอบ และถูกคว่ำบาตรจากผู้บริโภคที่โดยปกติมีอำนาจน้อยกว่า ไม่ถือเป็นการกลั่นแกล้ง

(อย่าเพิ่งทัวร์ลง ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าการต่อว่าด่าทอให้เจ็บช้ำน้ำใจเป็นสิ่งที่ชอบธรรม แต่ก่อนจะชี้ว่าฝ่ายคว่ำบาตรหัวร้อน ไม่สุภาพ หรือเห็นแก่ความต้องการของตัวเองฝ่ายเดียว หันไปมองก่อนว่าการที่เขาต้องเกรี้ยวกราดขนาดนั้นเป็นเพราะไม่เคยได้พูดหรือถูกรับฟังเลยหรือเปล่า)

ตรงกันข้าม นี่เป็นโอกาสที่มีไม่มากนักของคนธรรมดาที่จะมีช่องทางให้แสดงว่าตนเองมีสิทธิมีเสียงหรือมีอำนาจต่อรองกับสถาบันที่มีอิทธิพลในการกำหนดโครงสร้างและโลกทัศน์ในสังคมบ้าง ถือเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยสมควรมี

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง มักมีเสียงแย้งว่า ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐควรจะฟังเสียงที่เห็นต่างด้วย อย่าเรียกร้องอยู่ฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผู้เสนอข้อโต้แย้งให้กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐใจเย็นๆ และฟังคนอื่นบ้างมักจะลืมไปว่า พวกเขาฟังคุณมาทั้งชีวิตแล้วโดยแทบจะไม่มีโอกาสได้อธิบายหรือตอบโต้ พอถึงเวลาที่พวกเขาเรียกร้องให้คุณฟังเขาบ้าง คุณกลับใช้เสียงดังกลบ เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และตีตราผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผีปีศาจและศัตรูของชาติ

การกระทำเช่นนี้ต่างหากที่ไม่สะท้อนการ “ฟัง” หรือทำความเข้าใจต่อความเห็นต่างขั้ว และไม่สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตยที่เห็นคุณค่าของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนการให้เหตุผลว่า แม้จะไม่ได้ทำสิ่งที่กระแสคว่ำบาตรเรียกร้อง แต่สื่อก็ตรวจสอบประเด็นปัญหาหรือทำประโยชน์ให้กับสังคมในด้านอื่นๆ อยู่แล้ว ก็เป็นเหตุผลที่ไม่ตอบโจทย์ เพราะการมุ่งตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาโดยไม่เชื่อมโยงให้เห็นความผิดปกติในโครงสร้างอำนาจ ก็เป็นเพียงการรับมือที่ปลายเหตุ ไม่ใช่จัดการกับรากเหง้าของปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หนำซ้ำจะใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโยงหาสาเหตุแบบหลงทิศผิดตรรกะอีก

ที่สำคัญ การประกาศตนทำหน้าที่ปกป้องสถาบันต่างๆ อย่างชัดเจน ก็สะท้อนว่าสื่อไม่ได้ยึดถือในปรัชญาวิชาชีพวารสารศาสตร์ในสังคมประชาธิปไตยที่ต้องทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเป็นธรรม เพื่อปกป้องประโยชน์ของสาธารณะและส่งเสริมอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มากกว่าที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างล้นเหลือในสังคม

 

อ้างอิง

การประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน RESOLUTION UPHOLDING THE FIRST AMENDMENT TO THE
CONSTITUTION OF THE UNITED STATES OF AMERICA IN THE
RESPONSE TO THE CORONAVIRUS PANDEMIC AND THE CANCEL
CULTURE MOVEMENT

รายงานพิเศษ Why we can’t stop fighting about cancel culture จากเว็บไซต์ Vox.com

บทวิเคราะห์ Cancel culture is about power — who has it and who wants to be heard จากเว็บไซต์ cnn.com

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save