บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill
Eyedropper Fill เรื่อง
โลกกำลังปรับตัวเองสู่ ‘Social Distancing’ ช่วงเวลาที่คนในสังคม ‘เว้นระยะ & ห่างกันซักพัก’ เพื่อลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เราต้องออกแบบวิถีชีวิตหลายด้านใหม่ พยายามทำทุกอย่างจากที่บ้านให้มากที่สุด ตั้งแต่ work from home เดทหรือสังสรรค์กัน from home ร้านค้าและบริการต่างๆ ที่ยังเปิดอยู่ก็ต้องปรับตัวเองให้มีบริการที่ ‘ไร้การสัมผัส’ ที่สุด ตั้งแต่การชำระเงินแบบไร้การสัมผัส เช่น ชำระด้วย QR Code แทนบัตรหรือแบงค์ ไปจนถึงการเสิร์ฟหรือส่งอาหาร เช่น ระบบ contactless delivery ที่ออกแบบบริการให้ผู้ส่งวางอาหารที่สั่งไว้หน้าบ้านแล้วค่อยออกไปรับเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวกัน
ดูเหมือนการปรับชีวิตให้มีระยะห่างซึ่งกันและกันมากขึ้น จะตามมาด้วยระยะห่างทางความสัมพันธ์ของผู้คน ลองจินตนาการว่า หากเราต้องมีชีวิตที่ไร้สัมผัสอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกเป็นปี จะพุ่งเข้ากอดเพื่อนที่ไม่ได้เจอนานก็ต้องยั้งใจ จะหอมแก้มหลานด้วยความมันเขี้ยวก็ต้องคิดแล้วคิดอีก หรือจะจูบแฟนสักทีก็ต้องทบทวนว่า 14 วันที่ผ่านมาเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือเปล่า ขนาดประเทศที่มีจุ๊บแก้มเป็นวัฒนธรรมการทักทาย ยังต้องปรับตัวเองโดยยืมการไหว้ไปใช้ ดูเหมือนโคโรน่าไวรัสจะทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ทางร่างกายของมนุษยชาติเปลี่ยนไปด้วย
Lucy McRae ศิลปินผู้นิยมสร้างงานศิลปะผสานกับร่างกายมนุษย์ จนนิยามตัวเองว่าเป็น Body Architect – เรียกภาวะนี้ว่า ‘Touch Crisis’ หรือวิกฤตการณ์โหยหาสัมผัส ในยุคสมัยที่มนุษย์ถูกรายล้อมด้วยเทคโนโลยีมากเกินไป

งานศิลปะชิ้นนี้มีชื่อว่า Compression Carpet เครื่องกอดจำลองนี้ถูกออกแบบด้วยผ้าและหนังโทนสีเดียวกับผิวคน เตียงตรงกลางมีหมอนนุ่มๆ ผู้ที่ต้องการกอดเพียงนอนลงระหว่างกลาง แล้วให้คนอีกคนหมุนมือจับเพื่อกระชับอ้อมกอดให้คนที่นอนบนเตียง จะกอดแน่นๆ นานๆ อย่างอบอุ่น หรือกอดหลวมๆ อย่างห่วงใยก็สามารถเลือกได้
ท่ามกลางเทคโนโลยี McRae ตั้งใจสร้างให้เครื่องนี้ปราศจากความเป็นดิจิทัล เพราะเธอเชื่อว่า Touch Crisis ที่เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีที่ล้นเกิน จนคนไม่มีเวลาให้การสัมผัสที่พิเศษทางร่างกาย เป็นต้นเหตุของความวิตกกังวลทั้งหลายทั้งปวง Compression Carpet จึงออกแบบให้คนที่โหยหาการสัมผัสได้มีโอกาสใช้เวลากับการถูกสัมผัสอย่างเต็มที่เพื่อคลายความกังวล

ในโลกปัจจุบันที่การแพทย์ก้าวหน้า ไม่บ่อยนักที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตทางสุขภาพอย่างไวรัสระบาด นักออกแบบ Elena Lasaite มองว่าวิกฤตที่คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญมากกว่ากลับเป็นวิกฤตทางจิตใจที่เกิดจากความเหงา เธอจึงออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Emotional First Aid Kit หรือชุดปฐมพยาบาลทางใจ สำหรับคนที่กำลังรู้สึกโดดเดี่ยว และต้องการเยียวยาด้วยกอดอุ่นๆ

ดีไซน์ของชุดกอดนี้ ตั้งใจให้ดูเผินๆ คล้ายเสื้อชูชีพ เพราะมันอาจสามารถช่วยชีวิตคนที่กำลังโหยหาการสัมผัสไว้ได้เพียงแค่เป่าลมให้พอง Elena ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่อง hug machine หรือ squeezebox ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการของผู้มีภาวะ hypersensitive หรือผู้ป่วยออทิสติกในทางการแพทย์ การมอบแรงกดเสมือนการกอดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและสงบลง


แม้ว่าเครื่องกอด Compression Carpet หรือชุดกอด Emotional First Aid จะโฆษณาฟังก์ชั่นของตัวเองว่าเป็น เครื่องมือสำหรับทดแทนการกอดของมนุษย์ก็ตาม แต่แท้จริงแล้ว ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะทั้งสอง กำลังชวนเราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ทางร่างกายของคนในยุคปัจจุบันต่างหาก
ทำไมเรากอดกับเครื่อง Compression Carpet แต่ไม่สามารถกอดคนข้างๆ ที่กำลังช่วยเราหมุนเครื่องได้? วิถีชีวิตที่ทำให้เราต้องดื่มด่ำอ้อมกอดจากเสื้อเป่าเพื่อทดแทนอ้อมกอดจริงๆ จากคนใกล้ตัว คือชีวิตที่เราต้องการจริงๆ หรือเปล่า?
Social Distancing ในช่วงไวรัสระบาดทำให้เราต้องรักษาระยะห่างทางกายภาพกันอย่างต่ำ 2 เมตรไปอีกสักพักใหญ่ มองอีกมุมหนึ่ง ช่วงเวลาที่เราไม่สามารถกอดและสัมผัสกันอย่างสนิทใจนี้อาจทำให้เรารู้สึกถึง Touch Crisis ที่กำลังเผชิญอยู่อย่างจริงๆ จังๆ และบางทีการอยู่ร่วมกันอย่างมีระยะห่าง อาจทำให้เราเห็นคุณค่าและอยากจะใกล้กันมากขึ้นในวันที่ทุกอย่างกลับเป็นปกติ