fbpx
ประท้วงอย่างไรให้เผ็ดและสร้างสรรค์? : Disobedient Objects สิ่งประดิษฐ์เพื่อการประท้วงจากทั่วโลก

ประท้วงอย่างไรให้เผ็ดและสร้างสรรค์? : Disobedient Objects สิ่งประดิษฐ์เพื่อการประท้วงจากทั่วโลก

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

 

การชุมนุมประท้วงในประเทศไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากจะขยายเพดานข้อเรียกร้องและเนื้อหาในการปราศรัยไปสูงในระดับที่หลายคนไม่คิดว่าจะได้เห็นในช่วงชีวิต การชุมนุมครั้งนี้ยังขยายเพดานของวิธีการไปถึงจุดที่หลายคนน่าจะคิดตรงกันว่า นี่คือการประท้วงครั้งที่มีสีสันและสร้างสรรค์เป็นอันดับต้นๆ ที่เคยเห็นมาในประเทศไทย

หลากหลายรูปแบบของการส่งเสียงตั้งแต่เพลงแฮมทาโรเวอร์ชันแปลงเนื้อ หุ่นไล่กาลอร์ดโวลเดอมอร์และไม้กายสิทธิ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ศาลเจ้าพ่อกระทิงแดง ฉายถ้อยคำด้วยเลเซอร์ คุกกี้หมุดคณะราษฎร โบว์ขาว กระดาษเปล่า ราดสีขาวใส่ตัว ไปจนถึงท่าชูสามนิ้วจากหนัง The Hunger Games ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หลักในการแสดงออกเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการในครั้งนี้ ล้วนเป็นวิธีการประท้วงที่สด แฝงความกวนตีน และ ‘innovative’

หากนวัตกรรมคือหลักฐานทางปัญญาของมนุษย์ นวัตกรรมการประท้วงก็คงเป็นเช่นนั้น สิ่งประดิษฐ์ ข้าวของ รวมไปถึงวิธีการที่ผู้ประท้วงใช้เพื่อส่งเสียงและแข็งข้อต่ออำนาจ สามารถเล่าเรื่องผ่านตัวมันเองได้ว่า ผู้คนในเวลานั้นคิดอย่างไร กำลังต่อสู้กับอะไร และอยู่ภายใต้บริบทสังคมและวัฒนธรรมแบบไหน จะเป็นอย่างไรหากภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกรวบรวมและส่งต่อให้ผู้ประท้วงรุ่นถัดไปในอนาคตสามารถถอดบทเรียนจากนวัตกรรมเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

Disobedient Objects คือนิทรรศการที่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการประท้วงและเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมาจัดแสดงรวมกันในพื้นที่จัดแสดงศิลปะและวัตถุประวัติศาสตร์อย่างพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert หรือ V&A ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทีมของเราเคยมีโอกาสชมนิทรรศการจริงด้วยตาตัวเองเมื่อปี 2014 และเมื่อมองย้อนกลับไปอีกครั้ง เราคิดว่านี่คือนิทรรศการที่เหมาะกับบ้านเราในปี 2020 เป็นอย่างยิ่ง

นิทรรศการประกอบไปด้วย วัตถุแห่งการไม่ยอมอ่อนข้อ’ 99 ชิ้น แบ่งหมวดหมู่จัดแสดงตามกลยุทธ์เบื้องหลังข้าวของ ได้แก่ ‘Direct action’ – การลงมือซึ่งหน้า ‘Making worlds’ – สร้างโลกที่ดีกว่า ‘Solidarity’ – สร้างความสามัคคี และ ‘Speaking out’ – ส่งเสียงของเราออกมา มีทั้งสิ่งประดิษฐ์ DIY ที่ทำง่ายด้วยเวลาไม่ถึงชั่วโมง ไปจนถึงชิ้นที่ต้องอาศัยการวางแผนและมีกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง

เริ่มด้วยของที่เราคุ้นตากันตามแนวหน้าของการประท้วงอย่างหน้ากากกันแก๊สน้ำตา ชิ้นที่จัดแสดงพิเศษตรงที่มันเป็นหน้ากากแบบ DIY ที่เคยใช้จริงในการประท้วงที่กรุงอิสตันบูลเมื่อปี 2013 จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องรับมือกับแก๊สน้ำตาจากรัฐบาลอย่างไม่ทันตั้งตัวจึงต้องประดิษฐ์มันขึ้นมาจากขวดพลาสติก หนังยางและโฟมเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่กลายเป็นว่าเวิร์กเพราะนอกจากจะทำได้รวดเร็วยังราคาถูกกว่าหน้ากากจริงที่ไม่ใช่ทุกคนจะซื้อหาได้ ไอเดียหน้ากากขวดน้ำเลยถูกยืมไปใช้ในการประท้วงที่เวเนซูเอล่าในปีเดียวกัน

 

 

แม้จะเป็นของที่ทำขึ้นเพื่อรับมือกับความรุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทิ้งความหมายและความคิดสร้างสรรค์ อย่างโล่ที่ทำจากกระดาษลัง (Book Bloc Shield) โฟมยาง และแผ่นพลาสติกใสที่นักเรียนในอิตาลีทำขึ้นเมื่อปี 2010 ในการประท้วงขับเคลื่อนประเด็นการศึกษา นั่นคือที่มาของดีไซน์แบบปกหนังสือที่มองเผินๆ ดูเหมือนม็อบกำลังแบกหนังสือเล่มยักษ์ที่เป็นอิทธิพลทางความคิดให้พวกเขา เดินดาหน้าเข้าใส่เจ้าหน้าที่ นักเรียนประเทศในยุโรปรวมถึงในอเมริกายืมไอเดียโล่หนังสือไปใช้ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาอีกหลายหน เพราะนอกจากจะทำง่าย ป้องกันได้จริง นักเรียนนักศึกษายังสามารถพูดผ่านปกหนังสือได้น่าคิดเหมือนกันว่าถ้าม็อบนักเรียนไทยยืมไอเดียนี้มาจะเลือกใช้ปกหนังสือเล่มไหน

 

 

สิ่งประดิษฐ์เพื่อการประท้วงหลายชิ้นสะท้อนลักษณะเฉพาะของสังคมนั้นๆ ได้อย่างสนใจ อย่างการประท้วงประเด็นสิ่งแวดล้อม COP15 Climate Summit เมื่อปี 2009 ผู้คนเมืองจักรยานอย่างโคเปนเฮเกน ได้ออกแบบการประท้วงที่เรียกว่า ‘Bike Bloc’ ใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการประท้วงโดยนำจักรยานเก่ามาตั้งขวางกลางถนน นำจักรยานมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ รวมถึงออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นไฮไลต์ในการประท้วงครั้งนั้นอย่าง ‘Bike bloc sound swarm’ โดยศิลปิน Filastine ที่นำจักรยานสองคันมาประกอบเข้าด้วยกันติดตั้งคอมพิวเตอร์และโทรโข่งเพื่อใช้เปิดเพลงขับเคลื่อนการชุมนุมเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ที่ดูแล้วเหมาะกับบ้านเราเพราะสามารถพาขบวนผู้ชุมนุมเข้าตรอกออกซอยได้สะดวก

 

 

นอกจากสะท้อนลักษณะเฉพาะของเมือง หลายชิ้นยังสะท้อนลักษณะเฉพาะของการเมืองในประเทศนั้นๆ อย่างธนบัตรเพื่อประชาธิปไตยที่ศิลปินในประเทศพม่าทำขึ้นในปี 1989 ธนบัตรปลอมมูลค่า 1 จัตที่พิมพ์ภาพนายพล อองซาน แต่หากยกขึ้นส่องกับแสง จะพบว่ามีใบหน้าอองซานซูจีซ่อนอยู่ในลายน้ำ ซึ่งในเวลานั้นรูปภาพของเธอเป็นสิ่งต้องห้าม ธนบัตรเหล่านี้ไม่ได้ใช้เพื่อการปะทะซึ่งหน้า แต่ช่วยแพร่กระจายสารของการประท้วงออกไปได้กว้าง และเทคนิคพิมพ์ลายน้ำยังเหมาะกับการสื่อสารเนื้อหาที่ต้องหลบซ่อน

 

ภาพ: V&A

 

บางชิ้นดูเผินๆ อาจคิดว่าเป็นงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่าของที่ใช้ประท้วง อย่างก้อนหินเป่าลมที่ทำโดย Eclectic Electric Collective ที่เคยใช้ประท้วงในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ถูกออกแบบมาให้ผู้ชุมนุมสามารถปาหินใส่เจ้าหน้าที่ได้โดยไม่มีใครเสียเลือดเนื้อ เพราะเมื่อปาหินเป่าลมก้อนยักษ์นี้ไป นอกจากจะไม่เจ็บ ยังช่วยกีดขวางเส้นทางและตั้งแนวเขตการชุมนุม ฟังก์ชันคล้ายแท่งแบริเออร์ ทว่าน้ำหนักเบาและสามารถพับเก็บเพื่อเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่า ถ่วงเวลาเจ้าหน้าที่ที่เคลื่อนกำลังเข้าหาผู้ชุมนุม เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ที่เจอมันครั้งแรกมักไม่แน่ใจว่าจะจัดการกับมันอย่างไร บางคนถึงกับยืนดูเฉยๆ อยู่นานก่อนจะรู้ว่าควรเข้าไปปล่อยลมออก

 

ภาพ : ORIANA ELIÇABE-ENMEDIO

 

วัตถุเพื่อการประท้วงในยุคหลังมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เทคโนโลยีอย่างเลเซอร์คัตและสมาร์ตโฟนทำให้ผู้ชุมนุมสามารถผลิตโดรนแบบ DIY ที่ราคาถูกเพื่อใช้บินไปถ่ายภาพฝั่งเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ประยุกต์มัลติมีเดียอย่างฉายโปรเจ็กเตอร์หรือการใช้ขบวนประท้วงแบบโฮโลแกรมที่สเปน

 

 

มันคืองานออกแบบที่ไม่ได้ทำโดยนักออกแบบ

Catherine Flood ภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 99 ชิ้นในนิทรรศการ

Gavin Grindon ภัณฑารักษ์อีกคนของนิทรรศการใช้คำว่า ‘improvise’ นิยามวิธีการที่ผู้คนออกแบบวัตถุเพื่อการประท้วงเหล่านี้ ไม่มีใครเป็นศิลปินหรือนักออกแบบอาชีพ ทว่าภูมิปัญญาแห่งการด้นสดนี้เองที่ทำให้พวกเขาบิดมุมมองที่มีต่อของธรรมดา พลิกฟังก์ชันของมันเพื่อตอบจุดประสงค์ใหม่ บางชิ้นต้องแก้โจทย์ภายใต้ข้อจำกัดที่โหดอย่างที่นักออกแบบบางคนยังกุมขมับ เรามองว่านักออกแบบต่างหากที่ควรเรียนรู้ลีลาการด้นสดจากข้าวของพวกนี้

หลังจบชิ้นที่ 99 Disobedient Objects เว้นที่ให้วัตถุชิ้นที่ 100 เพื่อถามคนดูกลับว่านวัตกรรมเพื่อการประท้วงของเราล่ะ จะเป็นแบบไหนและนิทรรศการก็ยังไม่ได้จบแค่นี้ เพราะ Disobedient Objects ไม่ได้มีจุดประสงค์แค่รวบรวมไอเดีย แต่ยังผลักดันให้เกิดการประท้วงที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต หนังสือชื่อเดียวกันกับนิทรรศการจึงถูกออกแบบโดยสตูดิโอ Barnbrook เพื่อทำหน้าที่ส่งต่อภูมิปัญญาของผู้ประท้วงในอดีตไปสู่ผู้ประท้วงคนต่อไปในอนาคตในรูปแบบของฮาวทูที่ผู้ประท้วงสามารถทำเองได้ง่ายราวประกอบเฟอร์นิเจอร์อิเกีย

 

ภาพ: barnbrook.net

 

การประท้วงที่ได้รับชัยชนะอาจไม่สำคัญไปกว่าการส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นต่อไปว่า ทำอย่างไรเราถึงชนะ กลยุทธ์ของเราคืออะไร เราส่งเสียงด้วยวิธีการใด แผนไหนที่ทำแล้วได้ผล แผนไหนเสี่ยงเกินไปที่จะทำ

น่าดีใจที่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่รวบรวมความรู้เรื่องนี้ ในชื่อ Beautiful Rising ให้คนสามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์

ในเว็บไซต์ประกอบด้วยเนื้อหาตั้งแต่เรื่องราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในอดีตจากทั่วโลก กลเม็ดในการจัดชุมนุมพร้อมถอดบทเรียนว่าอะไรที่เวิร์กและอะไรที่เป็นความเสี่ยง หลักการพื้นที่ของการสื่อสารสังคม บทเรียนทฤษฎีสังคมและการเมืองเพื่อปูพื้นฐานก่อนออกไปชุมนุมไปจนถึงแนวทางการวางแผนว่าหากวันนี้เราอยากลุกขึ้นเคลื่อนไหวการเมืองเราต้องทำอย่างไร

 

 

แพลตฟอร์มนี้อาจยังไม่สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้องค์ความรู้เรื่องการประท้วงและเคลื่อนไหวทางการเมืองจากทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ ผู้ชุมนุมในอิสตันบูลสามารถส่งต่อแท็กติกที่เคยใช้ให้ผู้ชุมนุมในอีกทวีป นักศึกษาในไต้หวันสามารถแบ่งปันกลยุทธ์การชุมนุมให้คนในตะวันออกกลาง วัยรุ่นไทยสามารถบอกวัยรุ่นประเทศอื่นได้ว่า เราสามารถประท้วงได้ด้วยการทำคุกกี้หรือคอสเพลย์เป็นแฮร์รี่ และการร้องเพลงแปลงแฮมทาโรช่วยทำให้การชุมนุมของเรามีสีสันและดังไปทั่วโลกได้อย่างไร ภายในเว็บมีส่วนที่ให้คนทางบ้านกรอกแท็กติกการประท้วงของตัวเองหรือที่ตัวเองเคยพบเจอ เพื่อให้องค์ความรู้ถูกอัพเดตตลอดเวลา ยิ่งนานวันการประท้วงทั่วโลกก็จะยิ่งมีกลยุทธ์ ยิ่งสร้างสรรค์ และยิ่งได้ผล

ทั้งนิทรรศการ Disobedient Objects และแพลตฟอร์ม Beautiful Rising ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าถ้าการเมืองดีเราคงไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เรายิ่งมีความหวังเพราะในวันที่ผู้คนรู้ว่าจะต้องส่งเสียงของตัวเองออกมาอย่างไรพวกเขาจะยอมอ่อนข้อน้อยลงและมั่นใจที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมามากขึ้น

 

–––––––––––––––––––––––––

 

วันที่ 10 ตุลาคมที่จะถึงนี้ พวกเรา Eyedropper Fill จะมีเวิร์กช็อปถ้าการเมืองดี.. คงไม่ต้องมี workshop” ตอน ห้องโสตขยายเสียง เราจะนำประสบการณ์และความรู้ด้านการสื่อสารผ่านมัลติมีเดียไปแบ่งปันกับนักเรียนนักศึกษาที่อยากจะส่งเสียงของตัวเอง โดยจะหยิบอุปกรณ์สามัญที่มีในห้องโสตฯ โรงเรียนมาพลิกมุมมองการใช้งานใหม่ เพื่อติดอาวุธทางความคิดให้น้องๆ ทุกคนส่งเสียงเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมได้อย่างมีพลังและสร้างสรรค์

เวิร์กช็อปฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

จำนวนจำกัดเพียง 30 คน

สมัครหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Ground Control : https://www.facebook.com/GroundControlTh/

 

อ้างอิง 

‘Disobedient objects’ chart history of protest at V&A

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save