fbpx
เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น: กฎหมายไม่ใช่ทางออกในการกำกับดูแลสื่อในความขัดแย้ง

เสียงที่ไม่อาจปิดกั้น: กฎหมายไม่ใช่ทางออกในการกำกับดูแลสื่อในความขัดแย้ง

พรรษาสิริ กุหลาบ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งให้เกียรติมาสัมภาษณ์ขอความเห็นผู้เขียนต่อคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่มีการเผยแพร่ในช่วงเช้าวันนั้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและระงับเนื้อหาบางส่วนขององค์กรสื่อ ได้แก่ Voice TV, Prachatai.com, The Standard และ The Reporter รวมทั้งเพจ Free Youth ­ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เนื่องจากขัดต่อข้อกำหนดใน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้

ด้วยความที่ติดตามข่าวสารอันสับสนที่เกี่ยวข้องการออกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงมาตรการที่ตามมาเป็นระลอกมาตลอดวัน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งให้ปิดบัญชีของ Free Youth ในแอปพลิเคชัน Telegram การเดินทางไปตรวจค้นสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันและยึดหนังสือ 5 เล่มไปตรวจสอบ (ที่กลับทำให้หนังสือทั้ง 5 ขายหมดเกลี้ยงบางแผง) และแถลงการณ์จากฝ่ายต่างๆ ที่คัดค้านการออกคำสั่งปิดกั้นสื่อ ทำให้ไม่มีสติพอที่จะเรียบเรียงคำตอบที่สมเหตุสมผล และหลุดกล่าวออกไปประโยคหนึ่งว่า ถ้ารัฐจะกำกับดูแลสื่อ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายหมิ่นประมาทก็ได้

นี่สินะ ที่วัยรุ่นเขาเรียกว่า “บ้ง” อย่างรุนแรง

กว่าจะเรียกสติคืนมาได้ก็ชั่วโมงกว่า ต้องรีบโทรศัพท์กลับไปหาผู้สื่อข่าวท่านนั้นเพื่อแก้ไขและย้ำว่า รัฐไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายใดๆ เพื่อกำกับดูแลสื่อที่รายงานข้อเท็จจริงจากการชุมนุมเลย

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายที่อ้างไปข้างต้นก็ยังมีปัญหาการตีความที่กว้างและคลุมเครือ ขนาดในช่วงสถานการณ์ปกติก็ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดกั้นสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรายงานของสื่อ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งยังมีคำถามเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบและสืบสวนที่ประชาชนทั่วไปมักเข้าไม่ถึง

รายงานวิจัยที่จัดทำและเผยแพร่โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและ iLaw เมื่อปลายปี 2562 พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือที่เรียกกันว่าการฟ้องปิดปาก (strategic lawsuits against public participation: SLAPPs) อย่างน้อย 212 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีหมิ่นประมาทและเป็นคดีอาญา หนึ่งในสี่ของคดีเกิดจากการแสดงความเห็นออนไลน์เกี่ยวกับการร้องเรียนสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย การใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีโจทก์เป็นผู้ที่ถูกร้องเรียน

จำนวนคดีมาพุ่งช่วงรัฐประหารปี 2557 รายงานวิจัยพบว่ากลุ่มที่ถูกฟ้องมากที่สุดคือนักกิจกรรมทางการเมือง (27.06%) ตามด้วยกลุ่มชุมชนและนักเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการจากรัฐและกลุ่มทุนที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน (22.93%) ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีกลุ่มอื่นๆ คือผู้ที่นำเสนอข้อมูลในประเด็นเหล่านี้ เช่น นักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนาเอกชน สื่อมวลชนที่รายงานในประเด็นเหล่านี้ นักวิชาการ เป็นต้น

นี่ยังไม่นับรวมการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ที่ iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามมาตลอด รวมถึงการใช้กฎหมายอาญามาตรา 110 เพื่อดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม

ขนาดกฎหมายในสถานการณ์ปกติยังมีข้อกังขาว่าชอบธรรมหรือไม่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งมีข้อกำหนดห้ามเสนอข่าว ห้ามขายและเผยแพร่หนังสือ สิ่งพิมพ์ สื่ออื่นๆ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีข้อความที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ประกาศเมื่อ 15 ตุลาคม 2563) ก็ยิ่งแสดงว่าเป็นการลิดรอนสิทธิการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพสื่อในสังคมประชาธิปไตย จนชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าคล้ายกับกฎหมายที่มาควบคุมสื่อมวลชนและการสื่อสารในช่วงการก่อรัฐประหาร

ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เริ่มมีรายงานและการตั้งข้อสังเกตต่อการปิดกั้นองค์กรสื่อและช่องทางการสื่อสารแล้ว เริ่มจากการบอกกล่าวกันทางโซเชียลมีเดียว่าสถานีโทรทัศน์ BBC, CNN, Al Jazeera และ DW ที่ออกอากาศทางระบบโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก กลายเป็นจอขาวเมื่อรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ขณะที่ในช่วงหัวค่ำ เว็บไซต์ Change.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการรณรงค์ต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ (จนถึงวันที่เขียน – 20 ตุลาคม 63) โดยมีข้อความแปะว่าเนื้อหาถูกระงับเนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน 2478

ก่อนหน้านี้ วันที่ 14 ตุลาคม มีผู้ตั้งแคมเปญขอให้รัฐบาลและรัฐสภาเยอรมนีพิจารณาเรื่องการประทับในเยอรมนีของพระมหากษัตริย์ไทยเป็นภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน โดยบีบีซีไทยรายงานเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามแล้วเกือบ 1.5 แสนคน แม้จะมีการบล็อกการเข้าถึงในไทย

มาวันที่ 19 ตุลาคม การปิดกั้นสื่อกลายเป็นประเด็นร้อนของวัน ดังที่กล่าวไปข้างต้น ขณะที่องค์กรสื่อและผู้สื่อข่าวภาคสนามยังคงลงพื้นที่การชุมนุมที่แตกหน่อไปทั่วกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 20 ตุลาคม สื่อมวลชนรายงานว่ารองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงว่าศาลอาญามีคำสั่งปิดทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Voice TV ขณะที่สื่ออื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา

ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ออกมาชุมนุมอย่างสันติวิธีตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเสรีภาพที่พึงมีในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล จึงเป็นเรื่องน่าวิตกที่รัฐเลือกออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อตอบโต้และปราบปรามเสียงของประชาชน แทนที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พลเมืองผู้ได้รับผลกระทบและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐได้นำเสนอข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น เพื่อที่รัฐและสาธารณะจะได้รับฟัง และนำข้อมูลที่ได้มาช่วยกันคลี่คลายวิกฤตที่มีอนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน ไม่ใช่ตะโกนสื่อสาร (แบบไม่เข้าใจกัน) ผ่านพื้นที่สื่อมวลชนและช่องทางสื่อสารส่วนบุคคลอย่างทุกวันนี้

สิ่งที่สังคมต้องการในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งคือการสื่อสารด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลอย่างให้เกียรติกัน และการนำความจริงจากทุกมิติมาตีแผ่ แม้ว่าจะเจ็บปวดและทำให้รู้สึกละอาย เพื่อที่จะได้คิดต่อไปว่า เราจะหาข้อตกลงที่พอจะยอมรับร่วมกันได้อย่างไรโดยไม่ต้องใช้กำลัง กฎหมาย และความเกลียดชังเข้าห้ำหั่นกัน

การสื่อสารทางโซเชียลมีเดียมีศักยภาพในการนำความจริงมาคลี่ออกทีละประเด็น เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันทำความเข้าใจและถกเถียงได้ ขณะที่สื่อมวลชนต้องช่วยต่อจิ๊กซอว์ข้อมูลและเสริมส่วนที่ขาดไป เพื่อให้เราได้เห็นภาพใหญ่ของสังคมอันซับซ้อนเท่าที่จะทำได้

และแม้ประชาชนที่มีอำนาจน้อยกว่าจะสร้างข้อเรียกร้องและเงื่อนไขที่ฟังดูแล้วทำได้ยาก แต่เป็นหน้าที่ของรัฐและสถาบันทางสังคมการเมืองอื่นๆ ที่ต้องช่วยกันพิจารณาว่า แล้วจะมีกลไกหรือจัดเวทีให้เกิดการถกข้อเรียกร้องเหล่านี้อย่างไร ไม่ใช่ปัดตกไปในทันทีแล้วบอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงคำสั่งและมาตรการตรวจสอบการเผยแพร่เนื้อหาสื่อและหนังสือวิชาการ จึงเป็นการปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายต้องการข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและหลายมิติ เพื่อมาทำความเข้าใจ ทลายมายาคติ ประกอบการตัดสินใจ และสร้างพื้นที่ถกเถียงอภิปรายอย่างมีอารยะ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

หากรัฐมีความจริงใจในการคลี่คลายความขัดแย้ง แทนที่จะมาปิดกั้นการรายงานของสื่อมวลชนบางองค์กรและสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่งานวิชาการ ก็ควรไปพิจารณาตรวจสอบข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน และข้อมูลผิดพลาดที่แพร่กระจายอยู่ทั่ว (โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากช่องทางต่างๆ ของรัฐและสื่อมวลชนที่มีทีท่าสนับสนุนรัฐด้วย) รวมทั้งชี้แจงอย่างตรงไปตรงมาว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ และมีความไว้วางใจในการทำหน้าที่ของรัฐที่รับประกันสวัสดิภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

สังคมจะได้ถกเถียง อภิปราย และตัดสินใจกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่ใช่อ้างความเห็นความเชื่อส่วนตัว หรือการเบี่ยงประเด็นไปว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลไหนเคยทำอย่างไรแล้วลอยนวล ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ก็ทำได้เหมือนกัน เพราะเป็นผู้มาแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ทำไว้

ในการจัดการกับข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน ก็ต้องไม่ใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา แต่ใช้การตอบโต้ด้วยข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานสนับสนุน ผ่านกระบวนการตรวจสอบตามหลักการและโปร่งใส ไม่ใช่นำความเห็นส่วนบุคคลมาปั้นแต่งเป็น “ข้อเท็จจริงทางเลือก” หรือ “ข้อเท็จจริงอีกด้าน” เพื่อบอกว่านี่เป็นชุดข้อมูลที่ถูกต้องเพียงชุดเดียว

ทางเลือกหนึ่งที่เสนอไปคือ หากรัฐมีความจริงใจที่จะจัดการกับข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน และข้อมูลผิดพลาด หรือกระทั่งข้อมูลที่เห็นว่าขัดต่อกฎหมายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการหาทางออกจากวิกฤตสังคมอย่างมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย ก็ควรดำเนินตามกลไกการกำกับดูแลเนื้อหาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม โดยรายงานไปที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตรวจสอบว่าละเมิดนโยบายและมาตรฐานในการใช้แพลตฟอร์มหรือไม่ หรือเป็นข้อมูลเท็จ บิดเบือน ผิดพลาดหรือเปล่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพลตฟอร์มก็มีสิทธิจะพิจารณาว่าจะระงับหรือไม่ เช่นในการขอบล็อกเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เฟซบุ๊กกล่าวว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายคัดค้านคำร้องของรัฐบาลไทยในการบล็อกเพจดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและทำให้เกิด “บรรยากาศอันเย็นยะเยือก” (chilling effect) ที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

การคลี่คลายวิกฤตด้วยการทำหรือไม่ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในขณะที่ความขัดแย้งที่แบ่งขั้วและต่อเนื่องยาวนานยังดำรงอยู่ ดังนั้น ในขณะที่สื่อมวลชนทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและนำเสนอข้อค้นพบเชิงวิชาการ เพื่อแสวงหาคำตอบจากหลากมุมมองว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างไร รัฐก็ควรทำหน้าที่ที่พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยคาดหวัง คือใช้กลไกทางการเมืองในการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เพื่อให้รัฐและฝ่ายต่างๆ ได้สื่อสารกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ด้วยความเคารพต่อกันและเท่าเทียมกัน ไม่ใช้อำนาจเข้าข่มขู่ปราบปรามเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์เพราะคิดว่าเดี๋ยวเสียงที่ตะโกนอยู่จะเงียบหายไป

เพราะเสียงที่ประชาชน โดยเฉพาะคนที่เติบโตมากับสื่อดิจิทัล ส่งกันผ่านพื้นที่ออนไลน์ไม่มีทางจะเงียบลงได้ และจะยิ่งกึกก้องว่าเดิมจนอาจกลบเสียงของรัฐในเร็ววัน หากรัฐยังแข็งขืนที่จะใช้อำนาจและความรุนแรง.

 

อ้างอิง

รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

การรายงานกรณีบล็อกเพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส

Financial Times, 25 August 2020

CNN Business, 25 August 2020

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save