fbpx

ความน่าจะอ่าน 2023 : หนังสือที่ดี อ่านกี่ที ก็ดีทุกหน

YouTube video


1.


เลข 7 เป็นตัวเลขน่าพิศวง

มันทรงอิทธิพลต่ออารยธรรมและชีวิตมนุษย์อย่างเงียบเชียบ แต่น่าเหลือเชื่อ คุณลองมองไปรอบๆ ตัวคุณสิว่ามีอะไรสัมพันธ์กับเลข 7 บ้าง อย่างแรกคือเวลาในแต่ละสัปดาห์ของคุณ ทำงาน เรียน และพักผ่อนวนเวียนกันไปภายใต้วันทั้งเจ็ด สิ่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยยุคเมโสโปเตเมียแล้วนะรู้ไหม นักดาราศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อนคริสตกาลใช้เวลาจ้องมองวัตถุบนท้องฟ้า แล้วนำบรรดาดาวเคราะห์ 5 ดวงที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า มาผนวกดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เพื่อใช้เรียกขานแบ่งเวลา จนจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมันนำมาประกาศใช้ในอาณาจักรพระองค์เอง เมื่อ ค.ศ.321 นั่นละ มันถึงได้เผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลก และดำรงมาถึงปัจจุบัน

ยังมีอีก คุณน่าจะคุ้นหูกับตำนานเล่าขานของคริสตศาสนาว่าพระผู้เป็นเจ้าใช้เวลาเนรมิตทุกสิ่งอย่างภายใน 7 วัน นับจากห้วงอวกาศ แสงสว่างความมืด ผืนน้ำ แผ่นฟ้า มาลงเอยด้วยการสร้างสิ่งมีชีวิตบนโลกเสร็จสิ้นในวันที่หก และถึงแม้วันที่เจ็ด พระองค์จะเลือกพักผ่อนอยู่เฉยๆ แต่การพักผ่อนก็ถือเป็นงานอย่างหนึ่ง (เรามีหน้าที่ดูแลกายใจตนเองด้วยไม่ใช่หรือ) การนับว่าพระเจ้าใช้เวลาทรงงานสิริรวม 7 วันจึงถูกต้องแล้ว

ทำนองเดียวกัน ฟากพุทธศาสนาเองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวพันกับเลข 7 ว่าเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประสูติ ทรงเดินบนดอกบัวได้ทันที 7 ก้าว แสดงนัยถึงอนาคตเมื่อตรัสรู้แล้วจะทรงเดินทางโปรดสัตว์ทั่ว 7 ดินแดน (ดังนั้นคำถามเรื่องก้าวที่แปดจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ) และอีกหนึ่งเรื่องราวที่โด่งดังไม่แพ้กัน คือเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร ทรงประกอบพิธีสัตตสตกมหาทานก่อนไปบำเพ็ญเพียรในป่า อันแปลว่าบริจาคทานครั้งใหญ่ 7 อย่าง ประกอบด้วย ช้าง ม้า โคนม อย่างละ 700 ตัว ราชรถ 700 คัน นางสนม ทาสหญิงและทาสชาย อย่างละ 700 คน

ไหนจะ 7 เทพเจ้าแห่งโชคลาภของญี่ปุ่น, 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หรือวรรณกรรมชื่อกระฉ่อนอย่าง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ของ เจ. เค. โรว์ลิง ‘ตำนานแห่งนาร์เนีย’ ของ ซี.เอส. ลิวอิส และ ‘มหาศึกชิงบัลลังก์’ โดย จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ตินที่ (วางแผนว่าจะ) มี 7 เล่มอีก – คุณจะบอกว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงความบังเอิญก็ย่อมได้ แต่ความบังเอิญเหล่านี้ ก็ช่างน่าจดจำ และชวนให้คนประหลาดใจเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเลข 7 จะมีแต่ชื่อเสียงด้านดีเสมอไป ในบางคราวเลข 7 ถูกใช้อ้างอิงถึงความชั่วร้ายและความอัปมงคล คุณคงเคยได้ยินเรื่องปีศาจ 7 ตนผู้เป็นขบถต่อพระเจ้า และล่อลวงให้มนุษย์ประพฤติผิดบาป 7 ประการตามความเชื่อของชาวคริสต์ แล้วทราบหรือไม่ว่าในทางโหราศาสตร์ไทย มองเลข 7 เชื่อมโยงถึงดาวเสาร์ ตัวแทนแห่งความทุกข์ อีกทั้งสังคมเรายังมีมุขปาฐะเกี่ยวกับอาถรรพ์ความรัก 7 ปี ที่ถ้าคู่รักฝ่าด่านตัวเลขนี้ไปไม่ได้ ก็อาจมีอันต้องเลิกรากันด้วย

เลข 7 เป็นตัวเลขน่าพิศวงเช่นนี้แหละ – ธรรมชาติของตัวมันเองเต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งด้านดีและลบ ขึ้นและลง เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมมันจึงเกี่ยวพันกับอารยธรรมมนุษยชาติอย่างแนบแน่นมาเนิ่นนาน ทั้งเราทั้งเลข 7 ต่างข้ามผ่านช่วงเวลาแต่ละยุคสมัยอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในวันที่คิดว่าจะมีแต่เรื่องดีๆ ก็มีเรื่องไม่คาดฝันแทรกเข้ามา ในวันที่ประเทศคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเดินไปข้างหน้า เรากลับคาดเดาไม่ได้เลยว่าบทสรุปสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

ปัญหาปากท้องจะได้รับการแก้ไขไหม ค่าแรงขั้นต่ำจะขยับขึ้นเท่าไหร่

เสียงของประชาชนจะอยู่ในสมการของผู้มีอำนาจบ้างหรือไม่

ที่โบราณเขาว่าไว้ ว่าชีวิตมีทั้ง ‘ชั่ว 7 ที ดี 7 หน’ ไม่เกินจริงเลย


2.


ตลอดเส้นทางการเอาตัวรอดจากความ ‘เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย’ ในชีวิต หนังสือสักเล่มจะมีที่ทางในความทรงจำของเรามากน้อยแค่ไหน

ถ้าคุณเป็นนักอ่านตัวยง การจดจำเนื้อหาหนังสือที่เคยผ่านตามาทั้งหมดอาจเป็นเรื่องยาก (ใช่ไหม?) เหมือนกับเวลาที่ถูกถามว่า ‘ชอบหนังสือเล่มไหนมากที่สุด’ เราส่วนใหญ่ก็ตอบไม่ได้ทันทีหรอก ต้องครุ่นคิดกันบ้างละ เพราะเราอ่านมาตั้งมากมายหลายเล่มนับแต่เด็กจนโต อ่านจบหนึ่งเล่ม ก็คว้าเรื่องใหม่มาเปิดต่อ ความทรงจำของเราจึงถูกบันทึกทับถมปนเปไปมา เหมือนการก่อพีระมิดที่ยังไม่เห็นยอด แต่คุณก็ลืมไปแล้วว่าก่อฐานมาด้วยหินกี่ก้อน แต่ละก้อนหน้าตาแน่ชัดเป็นอย่างไร

ถ้าคุณไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นนักอ่าน – จะด้วยเพราะคุณไม่พิศวาสการอ่านหนังสือนานๆ  หรือคุณแค่ไม่มีเวลาอ่านอย่างสม่ำเสมอ จึงเลือกผันตัวไปเป็น ‘นักดอง’ อย่างจำใจ – นั่นก็ยิ่งแล้วใหญ่ ช่วงเวลาที่ห่างเหินจากการอ่าน อาจทำให้คุณหลงลืมหนังสือที่เคยอ่านไป จนเหมือนไม่เคยพบพาน ใช้เวลาร่วมกันมาก่อนเลยก็เป็นได้

แล้วอะไรล่ะ ที่จะทำให้หนังสือสักเล่มติดตรึงในความทรงจำของเรา ท่ามกลางชีวิตอันแปรปรวน เหตุการณ์บ้านเมืองพลิกกลับไปมา ดราม่าเกิดใหม่ในโซเชียลมีเดียได้ทุกวัน มันคงต้องพิเศษเหมือนประสบการณ์อกหักครั้งแรก พิเศษเหมือนตอนที่เราสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พิเศษเหมือนตอนที่เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

มันคงต้องพิเศษ จนเราไม่มีวันลืมว่า ‘รู้สึก’ อย่างไรตอนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น

เราโกรธ กับความอยุติธรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชนใน ‘ตาสว่าง’ ของ เคลาดิโอ โซปรานเซตติ

เราหัวเราะ กับมุกเสียดสีการศึกษาไทยในการ์ตูน ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ ของ สะอาด

เราเศร้า กับคำบอกเล่าชีวิตผู้ต้องขัง มาตรา 112 และผู้ถูกบังคับให้สูญหาย จาก รัช ‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’

เราประหลาดใจ กับคำอธิบายโรคซึมเศร้าซึ่งสอดคล้องไปกับสังคมทุนนิยมของ สรวิศ ชัยนาม ใน ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’

เราเพลิดเพลินไปกับถ้อยสำนวนของวัฒน์ วรรลยางกูร และขมปร่าในคอกับเรื่องจริงที่ปรากฏผ่าน ‘ต้องเนรเทศ’

และอีกมากมาย ที่เรื่องราวในหนังสือได้ทิ้งร่องรอยอารมณ์ในตัวเรา นั่นละที่ทำให้เราหวนระลึกถึงมันได้เสมอ ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม

แต่ความอัศจรรย์ใจที่สุดของการอ่านหนังสือคืออะไรคุณรู้ไหม คือถึงแม้ว่าคุณจะอ่านหนังสือเล่มเดิม – เป็นการอ่านซ้ำหลายๆ ที หรือนานๆ กลับมาอ่านสักที – ก็ไม่แน่ว่าคุณจะรู้สึกเช่นเดิมเสมอไป คุณอาจจะเคยตื่นตาตื่นใจกับนวนิยายดิสโทเปีย มาวันนี้คุณอาจเศร้าซึมเพราะโลกความเป็นจริงช่างดิสโทเปียไม่แพ้กัน หรือถ้าคุณเคยง่วงงุนกับหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง ไม่แน่ว่าตอนนี้คุณอาจตื่นเต้นที่จะกลับไปพลิกดูเรื่องราวทับซ้อนกันกับเหตุการณ์ในอดีตก็เป็นได้

หนังสือเล่มโปรดของคุณอยู่ตรงนั้น มันสั่นสะเทือนอารมณ์ของคุณ และจะช่วยสะท้อนภาพให้คุณเห็นว่าตนเองเปลี่ยนไปแค่ไหน สังคมและยุคสมัยแปรผันไปอย่างไร

คุณรู้ ว่าคุณจะกลับไปอ่านมันได้เสมอ คุณ อยาก จะกลับไปอ่านมันเสมอ

เพราะหนังสือที่ดี อ่านกี่ที ก็ดีทุกหน

จริงไหม


3.


ขออภัยที่ใช้เวลาเกริ่นมาเสียเยิ่นยาวขนาดนี้ เราแค่อยากเล่าให้คุณฟังว่าคอนเซ็ปต์ ‘อ่าน 7 ที ดี 7 หน’ ของความน่าจะอ่าน ประจำปี 2023 มีที่มาเป็นอย่างไร และถ้าคุณไม่ถือสา เราอยากย้อนความหลังเกี่ยวกับความน่าจะอ่านปีที่ผ่านมาอีกสักนิด

จุดเริ่มต้นของเราเกิดจากการชวนนักเขียน นักอ่าน และบรรณาธิการ 5 คน ได้แก่ นิวัต พุทธประสาท, สฤณี อาชวานันทกุล, ทราย เจริญปุระ, ทีปกร วุฒิพิทยามงคล และโตมร ศุขปรีชา มานั่งล้อมวงแนะนำหนังสือน่าอ่านแก่คนทั่วไปที่สนใจจะรับฟัง ดังนั้นเราจึงเรียกความน่าจะอ่านสองครั้งแรก (ปี 2017-2018) ว่าเป็นการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจ’ ที่สุด

ครั้งที่สาม (ปี 2019) เป็นปีที่มีการเลือกตั้งระดับชาติ หากคุณยังจำกันได้ คราวนั้นพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่คนที่นั่งเก้าอี้นายกฯ กลับกลายเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหารเสียอย่างนั้น เราจึงคิดปรับเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ เพราะไม่อยากให้ใครว่าเรา ‘เอาแต่ใจ’ เหมือนผู้นำประเทศ ด้วยการเชิญชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ กว่า 50 คน มาช่วยเลือกหนังสือคนละ 3 เล่ม ภายใต้คอนเซปต์ ‘การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก!’ เสียเลย

ผลปรากฏว่าหนังสือของภรณ์ทิพย์ มั่นคง ชื่อ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ได้รับการแนะนำจากคนในแวดวงหนังสือมากที่สุด

แต่เราไม่หยุดแค่นั้น

ในปีต่อๆ มา (2020-2021) ปีที่เรานิยามว่า ‘แสนสาหัส’ และ ‘แสนสาหัสยิ่งกว่า’ เพราะเจอวิกฤตหนักทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด นอกจากเราจะชวนคนในแวดวงหนังสือมา ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัส’ และ ‘อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า!!’แล้ว ยังชวนพวกคุณทุกคนมาแนะนำหนังสือในดวงใจในหมวดหมู่ ‘ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน’ ด้วย ซึ่งผลตอบรับก็น่าประทับใจอย่างยิ่ง เราได้รายชื่อหนังสือดีๆ อย่าง ‘ตาสว่าง’ ของ Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri และ Chiara Natalucc (ความน่าจะอ่าน 2020) ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ ของ สะอาด (ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2020) ‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’ ของ รัช (ความน่าจะอ่าน 2021) และ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’ ของ สรวิศ ชัยนาม (ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน 2021) มาแนะนำกับคุณผู้อ่าน และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกันในงานเสวนาความน่าจะอ่านอย่างคึกคักทีเดียว

ขณะที่ครั้งล่าสุด (ปี 2022) จากการระดมพลคนในแวดวงและคนรักการอ่าน มาร่วมเลือกหนังสือแทนการกู่ก้องร้องตะโกนว่า ‘โลกใบนี้น่ะ ยังไม่สิ้นความหวังหรอก!’ สุ้มเสียงจากคนทำงานลงมติให้ ‘ต้องเนรเทศ’ ของ วัฒน์ วรรลยางกูร คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้และกระตุ้นเตือนถึงการหล่อเลี้ยงความหวัง ด้านทีมนักอ่านต่างเห็นว่า เพื่อที่จะมีความหวัง เราต้องติดอาวุธให้ตนเองผ่านการอ่าน ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ของ อาสา คำภา ด้วย

มาถึงครั้งนี้ — ความน่าจะอ่านครั้งที่ 7 เกิดขึ้นในปีที่จัดการเลือกตั้งระดับชาติอีกครา (แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งแล้วนะ) เป็นปีที่ขึ้นชื่อว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านสังคมไทย อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็จะได้เห็น อะไรที่ไม่เคยรู้ ก็จะได้รู้ เราจึงคาดหวังอย่างยิ่งว่าเลข 7 จะนำพาสิ่งใหม่ๆ – อย่างน้อยก็หนังสือสนุกๆ เล่มใหม่ มาสู่ความน่าจะอ่านเช่นเดียวกัน

จากการคัดสรรโดยเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบ เราได้รายชื่อหนังสือครบรสทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา นวนิยาย และการ์ตูน จำนวนกว่า 100 เล่มมาไว้ในมือแล้ว – แต่ไม่พอ เร็วๆ นี้เราจะเปิดให้คุณได้โหวตหนังสือในดวงใจ ที่อ่าน 7 ที (หรือเกิน 7 ที) ก็ยังนับว่าดีทุกหน ผ่านกิจกรรมความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน ด้วย

ผลสรุปสุดท้าย หนังสือ Top Highlights จากคนในวงการ รวมกับหนังสือเล่มโปรดของคุณคืออะไร

นี่คงเป็นความไม่แน่นอนหนึ่งเดียวที่เราเฝ้ารอจะได้เห็น ตลอดเดือนกันยายน ปี 2023 นี้


ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 1 ได้ ที่นี่

รู้จัก ความน่าจะอ่าน มากขึ้น ที่นี่





:: ความน่าจะอ่านขวัญใจมหาชน 2023 ::


ขอเชิญนักอ่านทุกท่าน ร่วมสนุกกับกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน ขวัญใจมหาชน’ เพื่อค้นหาหนังสือยอดนิยมประจำปีนี้ ที่จะอ่าน 7 ที หรือมากกว่า 7 ที ก็ดีไปเสียหมด

ไม่ว่าดีในแง่สนุกครบรสทุกอารมณ์ ดีในแง่เนื้อหาสาระ หรือดีแบบไหน อย่าเก็บไว้เพียงคนเดียว มาแนะนำหนังสือเล่มโปรดพร้อมความในใจได้ที่ : https://bit.ly/popularvote2023

กติกา

1. โหวตหนังสือที่คุณคิดว่า ‘น่าอ่าน’ ที่สุดแห่งปี จำนวน 1 เล่ม โดยต้องเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของไทย ตีพิมพ์ภายในปี 2565-2566 เป็นฉบับพิมพ์ซ้ำก็ได้ และไม่จำกัดประเภทหนังสือ

2. เขียนเหตุผลสั้นๆ ว่าทำไมจึงเลือกหนังสือเล่มนี้

เจ้าของความเห็นถูกใจทีมงาน จะได้รับเซ็ตหนังสือ Top Highlights – หนังสือที่ได้รับการแนะนำจากสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ รวมถึงนักวาดภาพประกอบ ของโปรเจกต์ความน่าจะอ่าน 2023 จำนวน 1 ชุด (จำกัด 1 รางวัล)

โหวตได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 29 กันยายน 2566

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save