fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ข้อความนอกหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’

ต้องเนรเทศ

โจทย์–เขาให้เขียนถึงหนังสือ

ผมจำได้

แต่มานั่งย้อนอ่าน ‘บทสนทนา’ กับ วัฒน์ วรรลยางกูร แล้วผมคิดเองเออเองว่าเอาอันนี้ดีกว่า หนังสือที่บรรณาธิการ ไอดา อรุณวงศ์ แห่งสำนักพิมพ์อ่าน ผลิตออกมานั้นผมไม่ต้องอภิปรายอะไรหรอก วรรณกรรมเอกของโลกทุกเรื่อง เปิดหน้าไหนมาก็อ่านได้ทั้งนั้น ดีงามทั้งนั้น สั่นสะเทือนสามัญสำนึกไม่สิ้นสุด ‘ต้องเนรเทศ’ จัดอยู่ในหมวดหมู่ความหมายเดียวกัน คุณลองพิสูจน์ดูสิ ของแบบนี้อย่าไปเสียเวลาสนใจน้ำลายนักโฆษณา

บทสนทนาที่ว่าไม่ใช่บทสัมภาษณ์ นักเขียนพูดในฐานะพี่น้อง พูดเป็นการส่วนตัว มันไม่มีมารยาทเท่าไร กับการนำสารส่วนตัวของคนตายมา ‘พับลิก’ เรื่องนี้คุณตำหนิประณามได้เต็มที่

ผมไม่หนีไปไหน ไม่ต้องรีบ และก่อนจะเทศนาวิชานิเทศศาสตร์เบื้องต้น ลองอ่านเรื่องราวข่าวสารเหล่านี้ดูก่อนก็ได้


01.11.2020

วัฒน์เขียนมาหาผมว่า..

“สุขภาพดีขึ้น ผลเช็คเลือด น้ำหนักตัวเพิ่ม ตอนนี้ฝรั่งเศสล็อกดาวน์อีกแล้ว ..งานไปช้าๆ เกลาเนียนขึ้น 570 จอแล้ว เหลือบทสุดท้าย จะถ่ายทำฉากจบยังไง คิดอยู่”

คำว่า ‘งาน’ หมายถึงหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’


02.11.2020

“เหงาปาก อยากตำจอก วันนี้ดีใจ โรงเรียนหยุดไม่มีกำหนด จะได้อยู่กับที่รักให้ถึงอวสานเสียที รักที่มีอุปสรรค”

ผมตอบเขาไปว่า “เต็มที่ครับพี่ ลุยที่รักให้หมอบคามือ”


05.12.2020

คุยกันเรื่องทำต้นฉบับให้สำนักพิมพ์สมมติ ว่าด้วย The King and I จบแล้วเขาเล่าสัพเพเหระ

“นาทีนี้หิมะกำลังตกเลย”

“เอาไวน์ราดมันพี่ ทำน้ำแข็งไส” ผมว่า

“เอาไม่อยู่ เว้นแต่ไวน์ร้อน vin chaud ต้นฉบับเล่มใหญ่น่าจะจบที่ 650 ตอนนี้ 637 จอ ถ่ายซีนสุดท้าย”

“กระแสการเมืองกำลังดีเลย” ผมชวนคุย

“กระแสมารับเอง เราเลยเขียนง่ายขึ้น”

“ครับพี่ บรรยากาศตื่นตัว ฝ้าเพดานทะลุ”

“อารมณ์คล้ายปี 1974 เด็กหนุ่มสาวอ่านแต่งานฮาร์ดคอร์ เหลือเชื่อ ตอนนี้รอโควิดสงบ”

“เบื่อโควิดมากเลย เมื่อไรจะจบๆ จะได้เดินทาง” ผมผัดผ่อนเขามาหลายรอบ

“ถ้าต้นปีโอเค เที่ยวฉลอง” เขาอยากพาเที่ยว

“งานพี่เสร็จพอดี จ๊าบเลย” ผมเชียร์มาตลอด

“จบคอร์สเรียนภาษา จบงาน เป็นปีที่ดีที่สุด นับแต่ออกมา รู้สึกว่าไม่แพ้”

..

“เสื้อผ้าหน้าหนาว เอาอยู่มั้ยพี่”

“พอได้ มันจะหนาวตอนเดินไปขึ้นรถเมล์ อยู่ห้องพอได้ นั่งรถก็อุ่น คิดถึงฤดูร้อน เดินเล่นวันละหลายกิโลฯ”

..

“เอ้า หมดโควิดมาเจอกัน ได้คุยกันเต็มๆ พิมพ์เมื่อยตา ตัวมันเล็ก au revoir”


22.12.2020

ผมเขียนไปบอกเขาว่า–เมืองไทยตอนนี้เกือบๆ ตีสอง เพิ่งเลิกวง เตรียมงานพรุ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างคืบหน้าไปด้วยดี ไว้จะเล่าให้ฟังว่าบรรยากาศงานเป็นไงบ้าง

เขาเขียนตอบว่า “อิจฉาว่ะ”

“555 ยังไงพี่”

“ดื่มคนเดียวมานานมากแล้ว สมัยอยู่ลาวยังมีเพื่อนบ้านร้านค้าร่วมดื่ม”

“มันคนละอารมณ์จริงๆ คนเดียวบางทีดีมาก” ผมว่า

“ดี บางที”

“เมื่อวานดื่มถึงตีห้า วันนี้ก่อนงานตั้งใจว่านอนเร็ว อ้าว จะตีสอง” ผมสารภาพบาป

“ไม่ไหวแล้ว นานๆ ที ได้ เจอยืดเยื้อต้องน้ำชา ไปนอนเถอะ พรุ่งนี้ศึกหนักแน่” เขาหมายถึงงานเปิดตัวหนังสือ ‘ตอบแสงตะวัน’


06.02.2021

วัฒน์เขียนมาบอกว่าได้รับหนังสือ ‘เหยื่ออธรรม’ (Les Miserables) และ ‘ตอบแสงตะวัน’ แล้ว

มีภาพประกอบแสดงหลักฐาน หนังสือสองเล่มนอนเคียงกัน เล่มหนึ่ง เขารีเควสต์มาว่าอยากอ่าน อีกเล่ม ผมส่งมอบให้เขาอ่านเล่น

“เล่มขาว อ่านจบตอนเกือบตีสาม ทัศนะวิจารณ์ เก็บไว้นั่งคุยกัน หนังสือมาถึงเหมือนเพื่อนมาหา คิดถึง อยากออกเที่ยวแล้ว”


26.02.2021

“ต้นฉบับ 7 years in exile เสร็จแล้ว แต่ยังติดต่อไอดา สนพ.อ่าน ไม่ได้ ทักไปอาทิตย์นึงแล้วยังเงียบ คือติดต่อเขาไปทางเมล ต้นปี แล้วไม่ได้ติดต่ออีกเลย แบบนี้ถ้าเปลี่ยนมาที่ สนพ. สมมติ จะเหมาะมั้ย แต่ห่วงเรื่องกฎหมาย ใช้ชื่อสำนักพิมพ์ผีได้มั้ย เนื้อหาบางส่วนมันก็ระดับ The King and I นั่นแหละ ต้นฉบับตอนนี้ 694 จอ”

ผมเขียนตอบว่า “เดี๋ยวปรึกษากันอีกทีครับ ผมมาเดินทะลุฟ้ากับ ไผ่ ดาวดิน หายยุ่งจะติดต่อกลับครับ”


27.02.2021

“จริงๆ คือไม่เคยได้คุยกับไอดาตรงๆ เลย รอดู ช้าเร็วคงไม่เป็นไร ที่เห็นในเฟซฯ เขาก็ยุ่งเรื่องประกันผู้ต้องหา คิดว่าถ้าเขายุ่งอยู่ เราก็จะขอตรงๆ ว่าจะมาทำกับสมมติ ดูลุยๆ ดี ตอนที่เสนอไปทาง ‘อ่าน’ เพราะช่วงนั้นมองไม่เห็นเลยว่าจะมี สนพ.ไหนกล้าพิมพ์งานแบบนี้ พอได้คุยกับไอ้หนุ่มที่มาติดต่อขอต้นฉบับก็เลยชักสนุก”

“พี่ลองรอไอดาไปอีกหน่อย” ผมเสนอ

“ได้”

“จ๊อกบอก ไอดาคือ the best ถ้าพี่ได้พิมพ์ที่นั่นก็เยี่ยม” ผมเล่าทัศนะคนทางนี้

“ทีแรก เห็น ‘อ่าน’ ที่เดียวที่จะกล้าพิมพ์ จนมาเจอสมมติ เลยเห็นทางเลือก สรุป ได้หมด ถ้าใครพร้อม”

“ครับ ลองรอไอดาอีกสักเดือนก็ได้”

“โอเค จะลองหาวิธีติดต่อที่ชัดเจนกว่านี้ เรื่องของเรื่องคือปกติไม่เคยคุยกันเลย งานไม่เสร็จ เราไม่อยากคุย เพราะจะกดดันตัวเองเกินไปในระหว่างทำงานค้างอยู่ ราเชลก็ออกปากจะเอาไปแปล แต่ยังไม่ได้ส่งให้เขาอ่านเลย ไปทีละ step”

ผมบอก “งานใหญ่พี่ ค่อยๆ ว่ากัน ผมว่าไม่มีไรน่ากังวล”


01.03.2021

“ไหนๆ ก็เปิดซิงต้นฉบับ ขอประทานเรียนเชิญท่านอ่านต้นฉบับเป็นคนแรก จริงๆ มีประเด็นขอคำปรึกษาว่าจะเพิ่มอะไรดีไหม ประมาณนั้น จะให้ส่งให้อ่านทางไหนดี มีประเด็นลังเลแบบว่า ใส่เข้าไปดีมั้ย หรือใส่มากกว่านี้เหมาะรึป่าว เอาไว้ต้องอ่านก่อน จึงจะคุยกันได้”

ผมตอบว่า “ส่งทางอีเมลนะครับ”


03.03.2021

“ส่งต้นฉบับ 7 years มาแล้ว” วัฒน์ส่งข่าว


04.03.2021

“รู้สึกจะส่งไม่สำเร็จ ช่วยดูด้วย ส่งใหม่ล่าสุด 707 จอ”


05.03.2021

ผมเขียนตอบว่า

“เปิดอ่านได้นะครับ เดี๋ยวเอาไปปรินต์ คงมีสมาธิอ่านหลัง 10 มีนาฯ ผมกับบินหลาเตรียมออกแถลงการณ์นักเขียน ว่าด้วยการบ้านการเมืองตอนนี้ โดยเฉพาะการขัง อานนท์ เพนกวิน ฯ ตั้งใจชวนพรรคพวกคนที่สนใจมาร่วมงาน /อ่านบทกวี”

“เห็นบินหลาขยับปีกแล้ว” วัฒน์ว่า

“ครับ คุยกันว่าพอทำอะไรได้ก็ทำ ไม่นิ่งเฉยดูดาย” ผมว่า

“ไม่มีอะไรช้าหรอก เกมยังยืดเยื้อ เริ่มทำวันนี้ดีแล้ว ห่วงอารมณ์คนหนุ่ม ถ้าเขารู้สึกโดดเดี่ยว เกมมันอาจถลำเข้าสู่ระดับระเบิดพลีชีพ”

“สองสามวันนี้ผมเตรียมงานกับบินหลา แล้วเข้ากรุงไปตามเดินทะลุฟ้าวันสุดท้ายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย / 10 มีนา จัดงานที่ กทม. รุ่งขึ้นกลับน่าน แพลนชีวิตไว้แบบนี้นะครับ หลังวันที่สิบได้นั่งอ่านแล้วจะส่งข่าวพี่”

วัฒน์ตอบว่า “ไม่ต้องห่วงเรื่องอ่าน ส่งไปเผื่อว่างๆ อ่าน ไฟกำลังไหม้ ไปดูไฟก่อน”

.

“ตอนนี้คุณหมอน สองขา เขาชวนเขียนวรรณกรรมเยาวชน สั้นๆ แบบมีการ์ตูนประกอบ ว่าจะทำให้เขาก่อนแล้วกลับมาทบทวนต้นฉบับ 7 years อีกที ไม่มีเงื่อนไขกดดัน ช่วงนี้อยู่สบายๆ เงินทองมีใช้อยู่ได้เป็นปี กดดันอย่างเดียว โควิด ออกเที่ยวไม่สะดวก”


08.03.2021

“เจอไอดาในม็อบเมื่อคืน เค้าบอกว่าตอบเมลพี่ไปแล้วครับ ถึงหรือเปล่าน้อ ยังไง วันที่สิบ ถ้าเจอกัน จะถามต่างๆ นานาเพิ่ม ถ้าข่าวสารยังไม่ถึงพี่ ..แล้วจะมารายงานความคืบหน้าครับ” ผมบอกวัฒน์


10.03.2021

“ต้นฉบับอัพเดท 712 หน้าจอ”  วัฒน์ดูตื่นเต้นกับต้นฉบับ เขาเล่ามาต่อเนื่อง


25.03.2021

“ติดต่อไอดาได้มั้ยครับ” ผมถาม

“ยังไม่ได้”

“ช้าจริง ไว้ผมช่วยตามครับ”

“ดีเลย”

“ถ้าช้าๆๆๆ ไว้ย้ายค่ายกันพี่ /ฮา”

“นั่นสิ ใจมาสนุกกับพวกหนุ่มๆ เขาละ”

“ใจผมเชียร์ให้พิมพ์กับไอดาครับ เขาสุดยอดจริง แต่ถ้าช้ามากก็ไว้พิณากัน คือเขาก็ยุ่งจริง ไม่ได้แกล้ง แต่งานพี่ก็ไม่น่ารอนานเกิน มันควรเป็นเสียงที่ต้องรีบส่งเสียงในสังคมไทย”

“ถ้าเอาจริงก็คุยกับไอดาโดยตรงเองเลย สถานการณ์เหมาะ” วัฒน์ว่า

“พี่ลองหาวิธี ถ้ามี ..ถ้าไม่มี ผมช่วยคุยได้ครับ เบื้องต้นผมไม่ควรก้าวล่วง”

“อนุมัติ มอบฉันทะให้เลย เพราะพี่ต่อไปแล้วเงียบ เป็นเดือนแล้ว” เขาคงเริ่มร้อนใจจริงๆ

“โอเคพี่ ผมช่วยตาม เข้าใจ ใจคนคอย”

“มีตรงไหนควรปรับแก้ ช่วยดูด้วย” วัฒน์กำชับ


03.04.2021

“ไอดายังเงียบครับ ส่งข้อความไปก็ยังไม่อ่าน” ผมรายงานผล

“นั่นสิ” วัฒน์ตอบ

สักพักเขาพิมพ์มาใหม่ “เอ้า ไอดาติดต่อมาแล้ว นาทีนี้เอง”

(เขาแปะข้อความจากไอดาให้ดูสั้นๆ)

ผมตอบไปว่า–โอเค โล่งใจ

“โล่งใจเหมือนกัน จะได้ทำงานใหม่ไป”

ผมตอบว่า “อ่านไปกว่าครึ่งแล้วครับ ‘ต้องเนรเทศ’ ถือว่าช้ามากเพราะต้องดูคนป่วย อย่างไรก็ตาม มันทำให้เกิดแรงฮึดอย่างยิ่งว่าอยากทำงานเขียน ปล่อยให้พี่โซโลเจ็ดร้อยหน้าคนเดียวไม่ได้ครับ”

“อ่านช้าๆ เหมาะแล้ว เล่มมันหนา”

“ของแบบนี้มันต้องอิจฉา และพยายามดิ้นรนสร้างงานตามอย่างรุ่นพี่” ผมพูดจากใจ

“อิจฉาแบบนี้ ดี”

“ครับ”

“ยังเดาใจบินหลา ว่าเห็นต้นฉบับแบบนี้จะกระชุ่มกระชวยขึ้นไหม” เขาคิดถึงนักเขียนรุ่นน้อง

“ผมว่าถ้าไม่ ก็ใจหินไปหน่อย”

“พลังความเป็นหนุ่มฟื้นคืน เงินซื้อไม่ได้ แม้แต่หญิงงามก็มาสร้างแรงบันดาลใจให้ไม่ได้”

“ครับ อำนาจศิลปะ วรรณกรรม มันแรงจริง” ผมว่า

“ยกเว้นหญิงงามอย่างรุ้ง, มายด์, อั๋ว ทำให้ลุงๆ สดชื่นขึ้น”

“55 ก็จริง” งามที่ว่า เขาหมายถึงสมอง หัวใจ ความรู้ ความกล้าหาญ ไม่ใช่เรื่องเพศ

“เฮ้อ อยากตำจอกไวน์คุยกันบนเกาะเจิร์นซี่ย์”

เขาชอบ วิกตอร์ อูโก เอ่ยปากหลายครั้งว่าอยากชวนผมและพรรคพวกเราไปเยือนที่นั่นสักครั้ง


02.05.2021

“ผมอ่าน ‘ต้องเนรเทศ’ จบแล้วนะครับ ยินดีกับพี่ที่ทำงานชิ้นใหญ่สำเร็จ ในวันเวลายากลำบาก รอเห็นรูปเล่มจากไอดา อยากสัมผัสจับต้อง ส่งความคิดถึงมาพร้อมกับกำลังใจ ขอให้พี่แข็งแรง และแฮปปี้กับการทำงานสร้างสรรค์ครับ”

วัฒน์ตอบว่า “ต้องเนรเทศกำลังอัพเดตอีกรอบนึง บก. ไอดายังนัวเนียกับการประกันผู้ต้องหา กำหนดหนังสือออก ตุลาคม ..อ่านที่หนึ่งเขียนเรื่องบินหลาคืนสังเวียนแล้ว ได้แรงใจ”


06.05.2021

“วันนี้ครบรอบสองปีแล้วนะครับ ที่พี่ได้ laissez-passer” ผมชวนคุยย้อนอดีต

“ช่วงชีวิตดี มีพลัง Made in France” เขาตอบ

“เป็นไงบ้างครับ ดื่มได้ปกติมั้ย”

“พักตับก่อน ตั้งใจว่าเจอเพื่อนมาเมื่อไรค่อยดื่ม”

“กุศโลบายชั้นเลิศ” ผมว่า

“เป็นไม่มาก ก้อนเนื้อตับที่ผิดปกตินิดเดียว กินยาอยู่ ปลายเดือนเจอหมออีกที”

“ครับ เจอเร็วและระบบการแพทย์ดี ไม่น่ากังวล”

“รพ. บริการดีมาก หมอถาม นิยายที่เขียนมีแปลฝรั่งเศสมั้ย”

“ชนชาตินักอ่านครับ อ่านทุกอาชีพ” ผมพูดตามที่เคยเห็น

“มีความหวังกับหนุ่มสาวไทย gen นี้ เรื่องการอ่านหนังสือ” เขาดูมีพลังจริงๆ ช่วงนี้


20.05.2021

“อียูเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ฉีดวัคซีนครบ มาได้” วัฒน์ชวนอีกแล้ว

“ครับพี่ ไม่รู้จำกัดยี่ห้อมั้ย”

“แอสตร้าเซเนก้าได้ ซิโนแวคไม่ได้”


21.05.2021

“พร้อมเมื่อไร บินมาเลย เห็นเมืองไทยแล้วไม่รู้จะพูดยังไง”


27.05.2021

“กลับมาดื่มหรือยังครับ หรือยังรักษาวินัยดีเยี่ยม” ผมทัก

“พัก รอเพื่อนมา ค่อยฉลอง”


28.05.2021

“พอดี บก.บี เขาติดธุระ มวลชนคนคุก จะเริ่มอ่านต้นฉบับสิ้นเดือน พ.ค. เลยได้อัพเดทงานอีกรอบ เพลินๆ พอละทีนี้ ต้นเดือน มิ.ย. จะออกเที่ยวแถวนี้ นั่งเรือเล่น และเริ่มอุ่นตับด้วยไวน์อัลซาด เริ่มน้อยๆ ก่อน สรุปต้นฉบับที่ 717 จอ เลขสวย”

ผมถามว่า “เตรียมเขียนเรื่องใหม่หรือยัง อยากไปหาพี่มาก ปีนี้ หวังว่าจะไม่พลาด เหมือนที่แล้วๆ มา”

วัฒน์ตอบว่า “เบรกด้วยเรียนภาษาสักเดือน เรียนเองที่บ้าน แล้วค่อยเคาะงานใหม่ อากาศวันนี้สิบกว่าองศา แดดจ้า เดินเล่นเพลินเลย เดินทางไกลต้องรอเรื่องวัคซีน และเรื่องค่าตั๋วว่ากลับมาปกติหรือยัง”

ผมตอบ “ครับ ค่อยดูไป เกิดเป็นคนไทยมันยาก”


09.06.2021

“ตอนนี้ร้านอาหารในฝรั่งเศส เปิด 100% แล้ว”


12.06.2021

วัฒน์ส่งรูปบ้านมาให้ชม เขียนเล่าว่า

“บ้านใหม่ อยู่เอง อิสระ รับแขกสะดวก ราคาประหยัดมาก ช่วยคนจน เดือนละ 46 ยูโร (เข้าอยู่วันอังคารนี้)”

ผมบอก “เพื่อนจองโมเดอร์นาให้ คิดว่าคงได้ฉีดราวตุลาฯ ช้าฉิบหาย ได้วัคซีนเมื่อไร น่าจะได้เวลาเดินทางครับพี่”

เขาตอบ “พอดี ได้มาร่ำ vin chaud ..เดือนตุลาฯ เริ่มหนาว”


23.06.2021

“หนึ่งป่วยกับเขาด้วยป่าว”

“ไม่ๆ ครับพี่”


06.07.2021

“พี่จรัลอยากได้หนังสือ ไพบูลย์ บุตรขัน มาเมื่อไรก็ค่อยถือมา”


10.07.2021

Il fait beau aujourd’hui. เขาทักด้วยสำเนียง soundtrack

“น่านฝนพรำทั้งวันครับ สวยดี แต่ชักจะยาวนานจนเริ่มหิวแสง” ผมพากย์ไทย

“ที่นี่แสงพอแล้วช่วงนี้ หิวเมรัยมากกว่า”

นั่นไง

“รีเทิร์นสู่วงการสุราหรือยังพี่ หรือยังอยู่ในศีลในธรรม”

“ฟิตร่างกาย อากาศดี กลับมาวิ่ง สุราไว้รอมิตรสหาย อีกเหตุผลหนึ่งคือคำเตือนจากหมอตั้งแต่ปีที่แล้ว”

“ครับ พักมานาน น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น”

“ตรวจเลือดประจำ ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่าเลือดปกติแล้ว (ต่อเนื่องจากป่วยที่ลาว) ตับเสื่อมโทรม ส่งผลต่อระบบการสร้างเลือด”

“ค่าเช่าบ้าน ราคายังเหมือนเดิมมั้ยครับ”

“เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยเขาบอก อยู่ไปได้เรื่อยๆ เป็นอพาร์ทเมนต์สามชั้น ห้องเราอยู่ชั้นสอง เนื้อที่ 37 ตารางเมตร สองคนอยู่สบาย ถ้าไฟไหม้ก็ทิ้งตัวลงทางหน้าต่างได้”

ผมบอก “ไม่ไหม้หรอกพี่ พระสยามเทวาธิราชคุ้มครอง”

เขาตอบ “ไหม้สิ เพราะไม่แขวนรูปพ่อ”

.

“บินหลาเริ่มนิยาย ‘ควายของพ่อ’ รึยัง” เขาเคยอ่านเจอในบทสัมภาษณ์และถามถึงน้องนุ่งเสมอ

“น่าจะนะครับ ดูมีแรงพลังขึ้นมาก” ผมตอบแบบเดาๆ

วัฒน์ทิ้งวรรคทอง “การเขียนนิยายได้คือยาวิเศษ”


20.07.2021

“โควิดมาใหม่อีกรอบ ในยุโรป ย้อนกลับมาคุมเข้มอีกแล้ว”


13.08.2021

“พักฟื้นผ่าตัดตับแข็งอยู่ ยี่สิบวันแล้ว แผลหาย แต่ยังยอกๆ ทุกอย่างผ่านด้วยดี แต่มาพบใหม่ว่ามีน้ำบวมท้อง อันเป็นผลของตับแข็งขั้นต้น รักษาด้วยยาได้ หรือไม่ก็ใช้เข็มดูดน้ำออกมา เลยต้องพักแผนเที่ยวใต้ ระหว่างนอนพัก คิดตอนจบเพิ่มอีกหนึ่งหน้า (7years) แล้วก็นอนคิด มีนิยาย บทเพลง ไหลผ่านหัวสมองทุกเช้า เยอะแยะเยอะแยะไปหมด”

กลับมาอ่านอีก ถึงวรรคนี้ผมก็ร้องไห้ออกมาอีก

เฮ้ย คนอะไรวะ นอนอยู่คามีดคาเตียง ภาพและเสียงในใจก็มีแต่งานศิลปะ วรรณกรรม

“เนื้อตับแข็งถูกตัดทิ้งไปราวหนึ่งกระป๋องนมเล็ก พร้อมถุงน้ำดี แผลผ่ายาวหนึ่งคืบจากลิ้นปี่ถึงชายโครงซี่ล่างสุดขวา สรุป รอดตายอีกหน ข่าววงในนะ ใกล้ตายที่สุดเวลาตีสองตีสาม ในคืนที่สองหลังผ่า เจ็บจนขยับตัวไม่ได้ หายใจลึกไม่ได้ เสลดหางวัวมาจุกที่คอ หายใจไม่ออก สุดท้ายกดเรียกพยาบาล เอาสเปรย์มาพ่นให้”

“ครับ ตอนนี้ดีขึ้นแล้วเนาะ”

เขาส่งรูปรถมาให้ดู ประมาณว่าไม่ได้มั่ว มีภาพประกอบด้วยนะ

“รถส่งกลับบ้าน ของโรงบาล ฟรี นอน รพ. สองอาทิตย์”

“ผมวิเคราะห์ด้วยหลักไสยศาสตร์แล้วพบว่า พี่เป็นอมตะแน่นอน” ผมเหมือนคนไม่รู้กาลเทศะเท่าไร พูดหวังฮาในเวลาที่ไม่มีอะไรน่าขำสักนิด

“เครือข่าย K ไทย ลืมมาฝังบาตรแตกที่หอไอเฟล”

“555” ยังไม่หยุด

“หัวเราะมาก เจ็บมาก หมอผ่าตัดกล่าว”

“555 พักครับ”

“จงอดทนและรอคอยวันที่คุณจะได้หัวเราะ ..พยาบาลทำแผลกล่าว ซีสสสสส ฮ้า”

คุณทนได้ไหม กับหัวใจ ไหวพริบและความเอาเถิดเอาล่อกับชีวิตเช่นนี้

คุณไหวจริงๆ เหรอวะ ที่ประเทศเหี้ยนี่แม่งทำกับนักเขียนของประชาชน


18.09.2021

“สนพ. อ่าน ปกติเขามีฝ่ายศิลป์ประจำมั้ย น่าเกลียดมั้ย ถ้าเราจะเสนอชื่อให้ทองธัช ทำปก”

เขาไม่จำเป็นต้องพูดอะไรแบบนี้เลย ที่คิดที่พูด ผมว่าก็ด้วยน้ำใจและความรักมิตรสหาย อยากให้ศิลปินในปีกเดียวกันมามีผลงานร่วมกันในมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ ..ดูขนาดหัวใจของเขา

“น่าจะมีครับ แต่ผมว่าพี่ใช้สิทธิ์นำเสนอได้”

“เจ๊บีบอกมาวานซืนนี้–งานพี่เล่มใหญ่ ต้องใช้เวลา ไม่ทัน 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ แน่ และว่า อย่างระดับพี่น่ะ ไม่ต้องมารอวาระเดือนตุลาฯ หรอก แกงหม้อใหญ่ต้องใจเย็นๆ เลยต้องสงบอยู่ในที่ตั้ง”

ผมตอบ “เข้าใจได้ครับ เจ๊มีเหตุผล”


02.10.2021

“หนึ่ง หาบรรณาธิการประจำตัวให้พี่สักคนได้ไหม (คิดระยะยาว) เตยงานยุ่งมาก พึ่งไม่ได้”


08.10.2021

“หนึ่ง จะเขียนอะไรให้นะ พอมีกำลังแล้ว”


10.10.2021

“ส่งต้นฉบับ ‘กะลาปารีส’ มาให้”

ไม่มากชั่วโมงถัดมา เขียนมาอีกว่า

“ทำให้ใหม่ดีกว่า ถ้าไม่รีบ ทำเป็นจดหมาย ยังนอน รพ. เวลาเยอะ”


15.10.2021

“ออกจาก รพ. แล้ว”


05.11.2021

“ปรับชื่อเรื่องเป็น ‘กะลาลอยวน’ นะหนึ่ง” วัฒน์ส่งข้อความมาพร้อมไฟล์ต้นฉบับล่าสุด

“เรียกมันว่าจดหมายหรือเรื่องสั้นครับ” ผมถาม

“จดหมาย”

นอกจากใช้งาน ยังวานผู้ป่วยลี้ภัยอีกว่า “ถ้าสะดวก หารูปประกอบให้หน่อยได้มั้ยครับ พอให้เห็นร่องรอยรูปเงา คนไม่มีแผ่นดินจะอยู่”

ไม่นานเกินรอ เขาส่งรูปมาตามคำขอบรรณาธิการสื่อบ้านนอก


07.11.2021

“หนึ่ง ฉีดวัคซีนครบยัง คิดถึงว่ะ”

ใต้คำพูดมีภาพเครื่องทำความอุ่น และแคปชั่นว่า “ตัวเดียวอุ่นทั้งห้อง ถูกมาก ตัวละ 760 บาท”

ผมผู้เลื่อนการเดินทางมาครั้งแล้วครั้งเล่า (โควิดก็มีส่วน) คิดได้ แต่ทำไม่ได้ตามที่คิด จนเริ่มละอายใจ เฉไฉเปลี่ยนเรื่อง แจ้งข่าวเขาว่า–จดหมายพี่ เอาลง nan dialogue วันศุกร์ที่ 19 Nov. นะครับ


14.11.2021

“ราเชล แฮริสัน บอกเดือนธันวาฯ มหาลัยปิดเทอม จึงจะมีเวลาอ่านต้นฉบับให้ ไอดาก็กำลังจัดรูปเล่มอยู่มั้ง แต่เขาอ่านต้นฉบับแล้ว ก็ว่าโอเค (ฉบับอัพเดต เดือนตุลาฯ)”

“ครับ เชียร์ให้ต้นฉบับในมือไอดาคืบหน้า” ผมตอบ


21.11.2021

“ไอดาแจ้งมา เริ่มจัดรูปเล่มแล้ว หนา 800 หน้าเป๊ะ และยังจะตรวจสอบต้นฉบับต่อไป” วัฒน์เล่า

“เยี่ยมเลยครับ ช่วยลุ้นว่ากุมภาฯ มีนาฯ คงใกล้สู่เส้นชัย”

“ว่างั้น”

ผมแจ้งเรื่องเงิน “ค่าเรื่องพี่ (ต้นฉบับจดหมาย) จะให้ผมฝากไว้กับตุ๋ย หรือแปะรอไว้ไปให้กับมือที่ฝรั่งเศสดีครับ”

“อ้าว มีด้วยหรือ ไม่ต้อง”

“จริงๆ ก็ไม่มีหรอกพี่ แต่พยายาม..”

“ไม่เอา เขียนให้เป็นกรณีพิเศษ จะเขียนให้เรื่อยๆ จนกว่าการเงินจะได้ที่”


01.12.2021

“ทั้งฝน ทั้งหิมะ ขาวโพลนไปหมด วันนี้ไปหาหมอนัดท้ายสุด จบเคสผ่าตับ เจาะน้ำออกจากท้อง จบหมด ดี จะได้เดินงานต่อ ช่วงไหนมีตังค์จะชวนธีร์มาร้องเพลงที่ปารีส คิดไว้แบบฝันหวาน เมื่อหิมะโปรย”

ผมตอบ “สวยงามครับ”

ในประเทศไทย ถ้าจะมีใครสักคนที่ร้องเพลงของ วัฒน์ วรรลยางกูร ได้อย่างเข้าถึง เข้าใจ และไพเราะที่สุด คนคนนั้นก็คือ ธีร์ อันมัย ทั้งผมและเขา เราต่างเติบโตมาจากการบริโภคตัวหนังสือและสปิริตของนักเขียนผู้ลี้ภัย เราเป็นหนี้เสรีภาพที่ทำอะไรได้น้อยเต็มที ขณะที่เขาขุดคัดเอาทุกต้นทุนมาจ่าย รอบแรกตั้งแต่ 6 ตุลาคม 1976 ถัดจากนั้นก็ควักจ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อหล่อเลี้ยงพวกเราและคนรุ่นลูกหลาน คุณเห็นเหงื่อและเลือดของเขาหรือเปล่า เกร็งข้อมือที่กำปากกา หันไปหาปลายกระบอกปืน ยืนยันว่าไม่ยอมก้มหัว จิ้งหรีดตัวที่บอกรักดวงดาวแห่งความคิดอิสระ


14.12.2021

“ฉีดวัคซีนเข็มสองเรียบร้อย” ผมเขียนไปบอกเล่า


15.12.2021

เขาตอบว่า “เดินทางได้แล้วสิ”


12.01.2022

วันคล้ายวันเกิดของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผมส่งข้อความถึงเขา

“แข็งแรงๆ นะพี่ และขอให้โควิดบ้าๆ จบไปซะที”


13.01.2022

เขาตอบมาว่า–โอเค


‘ระหว่างเรา’ นี่เป็นข้อความสุดท้ายที่ยังตกค้างอยู่ในกล่อง

สองเดือนต่อมา เขาเสียชีวิต

และถัดมาอีกสองเดือนคือพฤษภาคม 2022 หนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ โดย ไอดา อรุณวงศ์ แห่งสำนักพิมพ์อ่าน ก็ถูกส่งออกสู่บรรณพิภพ โดยหนึ่งในสองภาพปกเป็นจิตรกรรมฝีมือ วนะ วรรลยางกูร ลูกชายคนโตที่เคยพูดกับพ่อว่าชีวิตผู้ลี้ภัยก็เหมือนปลาในกระชัง สุดแท้แต่วันนี้จะถึงทีใคร

นานมาแล้วที่ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจของประเทศนี้มันเหี้ย ปัจจุบันเหี้ย และยังจะเหี้ยได้อีก

เหี้ยแค่ไหน อย่างไร เหี้ยแล้วมีความหวังหรือเปล่า วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนบอกเล่าไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วด้วยข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์จริง.



ดูรายชื่อหนังสือ Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2022 เล่มอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save