หนังสือทำให้เราสุข
หนังสือทำให้เราเศร้า
หนังสือทำให้เรามีความหวัง
ในวันที่ชีวิตคนเราไม่(เคย)มีความแน่นอน การเมืองชุลมุน เศรษฐกิจผันผวน ลมฟ้าอากาศแปรปรวน เรายังเชื่อว่าหนังสือที่ดี อ่านกี่ที ย่อมมอบความรู้สึกน่าจดจำแก่ผู้อ่านได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
เราจึงกลับมาค้นหาสุดยอดหนังสือครบรสหลากอารมณ์อีกครั้ง กับกิจกรรม ‘ความน่าจะอ่าน’ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023 ในคอนเซปต์ ‘อ่าน 7 ที ดี7 หน’ โดยในปีนี้ 101 ร่วมกับ Jim Thompson Art Center และร้านหนังสือ Fathom Bookspace ชวนเจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือ รวมถึงนักวาดภาพประกอบ มาแนะนำหนังสือดี ทั้งหมดกว่า 100 เล่ม ครบรสทั้งการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา นวนิยาย รวมถึงการ์ตูน แก่คุณผู้อ่าน
และนี่คือรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 1 ซึ่งคนในแวดวงหนังสือเสนอกันเข้ามา พร้อมเหตุผลว่าทำไมเรา ‘น่าจะอ่าน’ เล่มนี้
ดูรายชื่อหนังสือ The Finalists ชุดที่ 2 ได้ ที่นี่
พิพัฒน์ พสุธารชาติ
สำนักพิมพ์ Illuminations Editions
เล่มที่แนะนำ :

1.เทวา มนตรา คาถา เกจิ: ไสยศาสตร์สมัยใหม่กับทุน (ไทย) นิยม
ผู้เขียน : Peter A. Jackson
ผู้แปล : วิราวรรณ นฤปิติ
สำนักพิมพ์ : มติชน
“หนังสือเล่มนี้จะช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ต่อการศึกษา ‘ไสยศาสตร์’ กับ ‘ความเป็นสมัยใหม่’ ในสังคมไทย ดังที่อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เขียนตอนหนึ่งในโพสต์รีวิวหนังสือของเขาว่า
‘ผู้เขียนได้เปิดให้เห็นถึงมิติใหม่ของความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลจากการขยายตัวของโลกสมัยใหม่ภายใต้กำกับของทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ หรือก็คือสภาวะสมัยใหม่ไม่ได้แค่ถอนความศักดิ์สิทธิ์ (แบบเดิม) ออกจากโลก แต่ยังสร้างความศักดิ์สิทธิ (ใหม่) ที่ผสานไปด้วยกันได้กับวิถีชีวิตสมัยใหม่แบบทุนนิยมอย่างไร้รอยต่อ’ (อ่านบทรีวิวฉบับเต็มของอรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ได้ที่ https://shorturl.at/nBDN5)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนที่เคยศึกษางานของมักซ์ เวเบอร์ มาก่อน มีคำถามหลายข้อต่อการใช้และวิจารณ์แนวคิดของเวเบอร์ในหนังสือเล่มนี้ แต่หนังสือที่ดี ไม่จำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องเห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้เขียนเสมอไป ถ้าหนังสือเล่มนี้สามารถกระตุ้นให้เราต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อโต้เถียงกับผู้เขียน ก็ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่มีค่าควรแก่การแนะนำได้แล้ว”

2.พุทธศาสนาแบบเป็นวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
ผู้เขียน : ทวีศักดิ์ เผือกสม
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิเพื่อการวิจัยสังคมเอเชีย
“ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เป็นหนังสือที่แต่งโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา มีเนื้อหาทั้งทางวิทยาศาสตร์และหลักการทางพุทธศาสนา จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อมรินทร์ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2549 หนังสือได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 40 ครั้ง ยอดพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 100,000 เล่ม ความนิยมในหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ไม่มีความขัดแย้งกัน แต่สามารถเข้ากันได้
หนังสือของทวีศักดิ์เล่มนี้เป็นการค้นคว้าทางถึงการเดินทางมาบรรจบกันของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในประวัติศาสตร์ความคิดของสังคมสยาม/ไทย
ทวีศักดิ์เสนอว่าต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่องพุทธศาสนาแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้น เกิดมาจากการที่มิชชันนารีชาวอเมริกันในสยามต้องการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการผลักดันวาระของตนในเรื่องการปฏิรูปสังคมของสยาม โดยจุดยืนที่ว่านี้เป็นแกนกลางในการถกเถียงสนทนาระหว่างมิชชันนารีนิกายโปรเตสแตนต์กับปัญญาชน/ชนชั้นนำสยาม กระทั่งในที่สุด การถกเถียงแลกเปลี่ยนเหล่านี้ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ปัญญาชน/ชนชั้นนำสยามผลิตสร้างวาทกรรมเรื่องความเป็นพุทธศาสนาที่มีเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนาขึ้นมา ซึ่งยังคงเป็นวาทกรรมที่ทรงพลังอยู่ในปัจจุบัน”

3.วิธีวิทยาทางปรัชญา
ผู้เขียน/บรรณาธิการ : พิพัฒน์ สุยะ
สำนักพิมพ์ : ศยาม
“หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อนำว่า วิธีวิทยา ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Instrumental Rationality นั่นคือการแสวงหา วิธีการ (Mean) เพื่อไปสู่จุดหมาย (End) อย่างไรก็ตาม ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่การนิยาม ‘ปรัชญา’ ว่าคืออะไร? เพราะแม้ในปัจจุบัน ในหมู่บรรดาอาจารย์ที่สอนวิชาปรัชญาตะวันตกหรือนักปรัชญาที่ไม่ได้สอนหนังสือ ก็หาได้มีฉันทามติในเรื่องดังกล่าว แล้วถ้าเราบอกไม่ได้ว่า ปรัชญาคืออะไร? เราจะบอกจุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมของวิชาปรัชญาได้อย่างไร
แต่เราสามารถมองข้ามชื่อของหนังสือไปก่อน โดยกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้นำเสนอโปรเจกต์และผลงานของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงแต่ละคน โดยหนังสือแบ่งนักปรัชญาออกเป็นสองค่าย คือค่ายภาคพื้นทวีป และค่ายวิเคราะห์ แต่ละบทเขียนโดยนักวิชาการไทยที่ต้องศึกษางานของนักปรัชญาผู้นั้นอย่างจริงจัง และสรุปโปรเจกต์ของนักปรัชญาผู้นั้นออกมา ส่วนวิธีวิทยาในการทำโปรเจกต์ของนักปรัชญาแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของเอ็ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล แต่เขาก็ปฏิเสธวิธีวิทยาของฮุสเซิร์ลโดยสิ้นเชิง เป็นต้น และการแบ่งนักปรัชญาออกเป็นสองค่าย ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการทำปรัชญาของแต่ละค่าย แต่ในปัจจุบัน ช่องแคบระหว่างนักปรัชญาทั้งสองค่ายได้แคบลงไปมากแล้ว
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเอาแนวคิดของใครไปใช้ประโยชน์ เหมือนเป็นคู่มือสำหรับการวิจัย แต่ความน่าสนใจอยู่ที่โครงการของนักปรัชญาผู้นั้นในตัวของมันเอง ซึ่งสามารถเปิดมุมมอง หรือตั้งคำถามใหม่ๆให้กับเราได้ รวมทั้งช่วยให้เราสามารถเข้าใจงานของนักปรัชญาคนอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลจากงานของนักปรัชญาผู้นั้น”
ธนาพล อิ๋วสกุล
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
เล่มที่แนะนำ :

1.ต้องเนรเทศ
ผู้เขียน : วัฒน์ วรรลยางกูร
สำนักพิมพ์ : อ่าน
“วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นศิลปินที่มีผลงานทางวรรณกรรมหลากรูปแบบ เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี หรือแม้กระทั่งบทเพลง แต่อีกด้านหนึ่งของวัฒน์ วรรลยางกูร นอกจากการ เข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม และออกมาหลังป่าแตกแล้ว หลังรัฐประหาร 2549 และการกำเนิดขึ้นของกระบวนการเสื้อแดง วัฒน์ วรรลยางกูรก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญ จนเมื่อเกิดการรัฐประหาร 57 วัฒน์จำต้องเนรเทศ
หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนอัตชีวประวัติของผู้เขียน แต่ในฐานะผู้อ่านแล้ว ผมอ่านด้วยความคับแค้น ที่ระบบรัฐประหารได้เนรเทศผู้คนจำนวนมากที่เห็นต่างออกจากประเทศไทย สิ่งที่อยู่ในใจตลอดเวลาก็คือว่า แล้วเมื่อไหร่เราจะชนะ เพราะสภาพของผู้ลี้ภัย แทบไม่ต้องสู้รบกับรัฐบาลไทย แค่สู้รบกับชีวิตความเป็นอยู่ก็หมดพลังไปแล้ว และความเจ็บแค้นทบทวีคูณเมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วย้ายข้างทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2566 จากพรรคการเมืองหนึ่งที่วัฒน์เคยอุทิศแรงกายแรงใจให้ “

2.ราษฎรปฏิวัติ: ชีวิตและความฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่สมัยคณะราษฎร
ผู้เขียน : ณัฐพล ใจจริง
สำนักพิมพ์ : มติชน
“นี่คืออัตชีวประวัติของคนหนุ่มสาว ตั้งแต่คณะทหารหนุ่มที่เริ่มก่อกบฏเก๊กเม้ง ร.ศ.130 จนมาถึงคณะราษฎรที่ทำสำเร็จในปี 2475 หนังสือเล่มนี้ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วพลันนึกถึงบทกวีอันอมตะของ ‘ทวีปวร’ ที่เขียนขึ้น 20 ปีหลัง 2475 (อักษรสาส์น, มีนาคม 2495)
จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย
พลังใหม่เข้มแข็งแกร่งกล้า
พากเพียรเรียนรู้โลกา
เปลี่ยนแปลงสู่อาริยะยุค
แรงอรุณหนุนเนื่องเรืองล้ำ
แรงดรุณจักนำสันติสุข
มืดมนอนธกาลทานทุกข์
มือสองจักปลุกประกายพลัน
คนหนุ่มสาวไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็ยังเป็นความหวังของ สังคมไม่เปลี่ยนแปลง”

3.50 Years: The Making of the Modern Thai Economy
ผู้จัดทำ : กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และบริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด
“หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนถึงปี 2563 หรือปีแห่งวิกฤตการณ์โควิด นี่เป็นกรอบการอธิบายเศรษฐกิจไทยจากแง่มุมของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม โลกาภิวัตน์ และเทคโนแครตไทย จากมุมมองของการวิเคราะห์ปัญหาและทางออก ในแบบแผนหนึ่ง
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่นับว่ามีประโยชน์ เราจะเห็นเบื้องหลังกรอบคิดและทางออกของแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ สำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย นี่เป็นหนังสือที่จะมาเติมเต็มส่วนที่อาจจะไม่ได้บันทึกอย่างเป็นทางการ”
ภาคย์ มหิธิธรรมธร
สำนักพิมพ์ฮัมมิ่งบุ๊คส์
เล่มที่แนะนำ :

1.ยักษ์
ผู้เขียน : Imamura Aya
ผู้แปล : อภิญญา เตชะบุญไพศาล
สำนักพิมพ์ : ปริซึม
“เป็นรวมเรื่องสั้นแนวลึกลับสยองขวัญที่สั่นประสาทมากๆ ด้วยความที่เป็นเรื่องสั้นจึงดำเนินเรื่องกระชับฉับไว แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงความลึกซึ้ง สะท้อนปัญหาครอบครัวและสังคมได้อย่างแยบคาย ตีแผ่ด้านมืดและความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ได้น่าขนลุก อ่านสนุกแบบวางไม่ลงจริงๆ ที่สำคัญคือหักมุมมาก เรื่องสั้นในเล่มที่ชอบมากเป็นพิเศษคือ…ดอกกุหลาบของอาจารย์เมย์, ฝันร้าย และบ้านดอกไซคลาเมน”

2.พินัยกรรมของแฟนเก่า
ผู้เขียน : Shinkawa Hotate
ผู้แปล : อิศเรศ ทองปัสโณว์
สำนักพิมพ์ : น้ำพุ
“เป็นนิยายแนวสืบสวนที่ฮอตฮิตมากในญี่ปุ่น ความสนุกโดยรวมอาจจะอยู่ในระดับกลางๆ อ่านเพลินๆ แต่จุดเด่นที่ชอบมากๆ ของเล่มนี้คือ พล็อตเรื่องมีความแปลกใหม่น่าสนใจ…มีอย่างที่ไหนคนตายประกาศยกมรดกมหาศาลให้แก่คนร้ายที่เป็นคนฆ่าตัวเอง การดำเนินเรื่องจึงเป็นไปในทิศทางที่คนอ่านคาดเดาไม่ค่อยถูก นอกจากเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควรแล้ว ยังมีทั้งแอ็กชันและตลก แถมตัวละครเอกก็ไม่ใช่นักสืบ…แต่เป็นทนายความ ใครที่เบื่อนิยายสืบสวนแบบเดิมๆ ที่เดาทางได้ ต้องลองอ่านเล่มนี้”

3.แผนที่ประเทศไทย 77 จังหวัด: ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยว
ผู้วาดภาพประกอบ : PearadaStyle
สำนักพิมพ์ : นานมีบุ๊คส์
“เป็นหนังสือแผนที่ที่สวยและทรงคุณค่ามาก รูปเล่มขนาดใหญ่ ควรค่าแก่การซื้อเก็บ ในแต่ละหน้าจะนำเสนอแผนที่ของแต่ละจังหวัด มีทั้งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน ของดีประจำจังหวัด และบุคคลสำคัญ ซึ่งทุกอย่างถูกนำเสนอผ่านการวาดภาพ (illustration) ที่ลายเส้นประณีตสวยงาม ดึงดูดใจให้ค่อยๆ ไล่สายตาอ่านตามไปเรื่อยๆ เหมาะกับผู้อ่านทุกวัย อีกทั้งศิลปินผู้วาดภาพเล่มนี้ ยังเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกมาแล้วมากมายหลายวงการด้วย”
อรรถ บุนนาค
สำนักพิมพ์ J-Lit
เล่มที่แนะนำ :

1.เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง : การก่อร่างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม
ผู้เขียน : เมาริตซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi)
ผู้แปล : วริศา กิตติคุณเสรี
สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน
“ผลงานเขียนของเปเลจจีที่ดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา แต่เป็นงานเขียนที่อ่านแล้วสนุกไม่น่าเบื่อ เป็นการนำเรื่องการนำเสนอและภาพแทนตัวของสถาบันกษัตริย์ไทยในยุคเปลี่ยนผ่านช่วงก้าวเข้าสู่กระบวนการเป็นสมัยใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนจากรัฐราชาธิปไตยเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช ทั้งปัจจัยภายนอกการเข้ามามีอิทธิพลของตะวันตกและปัจจัยภายในในการพิสูจน์ตัวตนภายใต้อำนาจของขุนนางเก่าก่อนหน้านั้น โดยการมองผ่านไลฟ์สไตล์ พื้นที่ นาฏกรรมแห่งอำนาจของสถาบันกษัตริย์โดยใช้คิงจุฬาลงกรณ์เป็นกรณีศึกษา ดูจากการบริโภคสินค้าในวิถีชีวิต ตั้วแต่เสื้อผ้า ของใช้ ในการแสดงถึงภาพลักษณ์ของตัวเองและส่งผ่านไปยังโลกนอกพระราชวังด้วยวิธีการถ่ายรูป นาฏกรรมทางการเมืองต่างๆ”

2.PULSE FICTION
ผู้เขียน : ยชญ์ บรรพพงศ์
สำนักพิมพ์ : Salmon Books
“เรื่องสั้นแนวทดลองสามเรื่อง เขียนโดยโฮสต์ของพอดแคสต์ชื่อดัง ซึ่งไม่นึกว่าจะมีฝีไม้ลายมือในการเขียนแบบนี้ ให้อารมณ์เรื่องสั้นหักมุมของ สรจักร ที่ห่างหายไปนาน แต่มีกลิ่นอายที่ร่วมสมัยกว่า มีส่วนผสมขงวรรณกรรมแปลหลากสัญชาติกับวรรณกรรมไทย และมาในแพคเกจที่น่าสนใจ”

3.ไม่เชื่องแล้วไปไหน
ผู้เขียน : Aoko Matsuda
ผู้แปล : เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ
สำนักพิมพ์ : EKA
“รวมเรื่องสั้นแปลของญี่ปุ่นที่เอาคติชนวิทยา ตำนาน เรื่องเล่า นิทาน มาใส่ไว้ในบริบทของสังคมร่วมสมัย จึงมีความแปลก และยังใส่มุมมองของแว่นตาเฟมินิสต์ลงไปในเรื่อง เลยทำให้มีความแปลกใหม่ในรสชาติ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องภูติผีปีศาจที่เรารู้จักกันดี โดยเลือกแต่เพศหญิงขึ้นมาทวงคำถามสิทธิของความเป็นเพศหญิง แม้ในสังคมของปีศาจหรือปรภพก็ตาม”
ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์
ร้านหนังสือ Fathom Bookspace
เล่มที่แนะนำ :

1.Resto Qui หยัดยืน
ผู้เขียน : Marco Balzano
ผู้แปล : สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์
สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี
“นิยายจากอิตาลีเล่าเรื่องคนและหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ชายแดนอิตาลีและเยอรมนี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากจุดที่เป็นหมู่บ้านชนบท แล้วค่อยๆ มีทั้งฟาสซิสต์ นาซี เข้ามากระทำการต่างๆ ราวกับว่าจะทำอะไรกับใครก็ได้ อำนาจที่ไม่ได้สนใจว่าผู้คนจะเป็นอย่างไร ใช้สงคราม การทำลายล้าง และผลประโยชน์ของนายทุนและอำนาจ
ในเรื่องหลักที่เข้มข้นทั้งหมดนี้ กลับถูกเล่าง่ายๆ ด้วยจดหมายของแม่ที่เขียนถึงลูกสาวที่เลือกจากไปจากหมู่บ้านที่ไม่เห็นอนาคต เต็มไปด้วยความรู้สึก ความฝัน เรื่องราวสามัญ ของครอบครัวที่ยังยืนหยัด เป็นหนังสือที่สร้างและแบ่งปันประสบการณ์ เป็นวรรณกรรมที่งดงาม”

2.แฮมเล็ต (Hamlet)
ผู้เขียน : William Shakespeare
ผู้แปล : ศวา เวฬุวิวัฒนา
สำนักพิมพ์ : เม่นวรรณกรรม
“หนึ่งในหนังสือที่คนทั่วโลกยังคงอ่านครั้งแล้วครั้งเล่า และรุ่นแล้วรุ่นเล่า
โศกนาฏกรรมที่ถูกวิเคราะห์และตีความหลากแง่มุมตลอดเวลา 400 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งทางจิตวิเคราะห์ การเมือง สังคม เพศสภาพ และปรัชญา ผ่านธีมของเรื่องที่พาเราค้นหาความจริง เจอความหลอกลวง การแก้แค้น ความรัก และความตาย
ไม่ใช่ปมขัดแย้งของเรื่องที่ตรึงคนอ่านไว้ เท่ากับประโยคเล็กประโยคน้อย ที่อ่านครั้งหนึ่งจำประโยคหนึ่งได้ตลอดไป แล้วพอเราอ่าน 7 ครั้ง… “

3.บอด
ผู้เขียน : Jose Saramago
ผู้แปล : กอบชลี
สำนักพิมพ์ : ไลบรารี่เฮ้าส์
““หล่อนเองก็น่าจะต้องตาบอดด้วยเช่นกันเพื่อที่จะเข้าใจว่าคนปรับตัวให้ชินกับทุกสิ่งได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพวกเขาเลิกเป็นคนแล้ว”
น่าจะเป็นหนึ่งในประโยคที่เล่าเนื้อหาในเล่มนี้ได้ดีที่สุด
โลกที่จู่ๆ คนก็ค่อยๆ ตาบอดจนเห็นทุกสิ่งเป็นสีขาว ในความแพร่ระบาด การตาบอด และการเอาตัวรอด อำนาจรัฐยื่นมือเข้ามาจัดการอย่างเพิ่มวิกฤติ ผู้คนหนีจากความตาบอดด้วยความชัง ความโลภ ความรุนแรง และความตาย
เป็นวรรณกรรมที่เข้มข้น สนุก อ่านติดพัน และคลี่ความเป็นมนุษย์”
ปฏิกาล ภาคกาย, ธีรภัทร เจนใจ และชนัดดา ตันนพรัตน์
สำนักพิมพ์ Salmon Books
เล่มที่แนะนำ :

1.แม่ง โคตรโฟนี่เลย : การเมือง วรรณกรรม ในยุคที่สุนัขไม่ใช่หมาเสมอไป แต่ประชาชนยังเป็นควายเหมือนเดิม
ผู้เขียน : ไอดา อรุณวงศ์
สำนักพิมพ์ : Bookscape
“แม้จะมีคำว่า การเมือง และ วรรณกรรม ประดับอยู่บนชื่อ หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้จำกัดผู้อ่านอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราเชื่อว่าใครก็อ่านเล่มนี้ได้ เพราะต่อให้ประเด็นหลักๆ จะข้องเกี่ยวกับวรรณกรรมและการเมือง แต่หลังจากลัดเลาะอ่านไปจนจบเล่ม เราพบว่าเรื่องที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันเป็นเรื่องของคนอย่างเราๆ คนธรรมดาสามัญที่มีความสำคัญไม่แพ้ใคร”

2.ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (ฉบับปรับปรุง)
ผู้เขียน : คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
สำนักพิมพ์ : มติชน
“ฉายให้เห็นภาพพัฒนาการของประเทศไทย อีกทั้งบันทึกบรรยากาศทางสังคม-การเมือง จนเห็นความเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อเรื่องราวที่เกิดในปัจจุบัน จำนวนครั้งที่ตีพิมพ์ซ้ำพอจะบอกได้คร่าวๆ ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจมากเพียงใด แต่ความพิเศษของฉบับนี้ที่ปรับปรุงและเพิ่มเรื่องราวในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ทำให้ควรค่าแก่การอ่านซ้ำอีกครั้ง”

3.ยอดมนุษย์วายป่วง (Anxious People)
ผู้เขียน : Fredrik Backman
ผู้แปล : โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล
สำนักพิมพ์ : Merry-Go-Round
“หนังสือที่หยิบอ่านถูกช่วงเวลาชีวิตและมันโอบอุ้มเราไว้ เรื่องราวสองวันก่อนปีใหม่ มนุษย์คนหนึ่งตัดสินใจไปปล้นธนาคารและจับตัวผู้คนในธนาคารเป็นตัวประกัน พล็อตราบเรียบแต่รายละเอียดที่ถูกใส่ไว้กับตัวละครปลอบเราที่กำลังใช้ชีวิตได้อย่างพอดี ได้ทบทวนตัวเองที่ผ่านมาว่าการอยู่บนโลกนี้ไม่เป็นไรเลยถ้าเราจะไม่สมบูรณ์แบบ ไม่เป็นไรที่จะเป็นแค่คนที่ดีพอใช้ การผ่านพ้นแต่ละวันมาได้นี่ก็เก่งมากแล้ว อนุญาตให้ตัวเองหายใจลึกๆ เพราะมันยังมีพรุ่งนี้อีกหลายวันให้ใช้ชีวิตและอ่านหนังสือเล่มถัดไปนะ”
พรชัย วิริยะประภานนท์ (นรา)
นักเขียน นักอ่าน นักดูหนังและซีรีส์ ดีเจ และคอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์
เล่มที่แนะนำ :

1.Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์
ผู้เขียน : กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่
สำนักพิมพ์ : มติชน
“เป็นหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยา ที่มุ่งศึกษาหัวข้อว่าด้วย ‘ชาวต่างชาติ’ ทั้งชาวตะวันตกและเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง บอกเล่าตั้งแต่เหตุผลในการมาเยือน การปักหลักตั้งถิ่นฐาน ความสัมพันธ์ทางการค้า การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม บทบาทเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ รวมถึงการจดบันทึกซึ่งกลายเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญในปัจจุบัน แง่มุมต่างๆ เหล่านี้ เคยปรากฏในหนังสือเกี่ยวกับอยุธยาเป็นจำนวนมาก แต่งานชิ้นนี้ของอาจารย์กำพล จำปาพันธ์ ก็โดดเด่นตรงที่มีการนำเสนออย่างเป็นระเบียบในการจำแนกแยกแยะหัวข้อประเด็น กระชับรัดกุม ครอบคลุมในทางกว้าง มีการค้นคว้าอ้างอิงหลักฐานข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วน จนเกิดมิติความลึก ที่สำคัญคือ เป็นงานวิชาการที่มีชีวิตชีวา ชวนติดตาม และจุดประกายความคิด ได้รับทั้งความกระจ่างควบคู่ไปกับการเกิดคำถามใหม่ๆ”

2.How to Read Literature Like a Professor วิชาอ่านโลกระหว่างบรรทัด : คู่มือถอดรหัสวรรณกรรมอย่างลุ่มลึกและรื่นรมย์
ผู้เขียน : Thomas C. Foster
ผู้แปล : สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
สำนักพิมพ์ : Bookscape
“ผมอ่านเล่มนี้ด้วยความรู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งในชั้นเรียนเกี่ยวกับการอ่านวรรณกรรม และพบเจออาจารย์ที่สอนเก่ง สอนสนุก ได้เห็นหลายๆ แบบอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการอ่านของผม ไม่ว่าจะเป็นการจับสังเกตสัญลักษณ์ ตัวอย่างเกี่ยวกับวิธีการตีความ และที่สำคัญคือ ต้นทุนพื้นฐานที่นักอ่านสายแข็งควรและจำเป็นต้องมีอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิล เทพปกรณัมกรีก เทพนิยายและนิทานพื้นบ้าน
ที่ชอบที่สุดคือ การหยิบยกนิยาย เรื่องสั้น และบทกวีจำนวนมากมาบอกเล่า เพื่อสาธิตอธิบายการอ่านความหมาย ผมไม่ได้ชอบในเชิงของการเฉลยข้อสอบหรอกนะครับ แต่ชอบตรงที่ทำให้ผมเจอะเจอหนังสืออีกมากมายที่เข้าข่าย ‘ความน่าจะอ่าน’”

3.ถ้ำ : A Caverna
ผู้เขียน : Jose Saramago
ผู้แปล : กอบชลี
สำนักพิมพ์ : ไลบรารี่เฮ้าส์
“พูดได้ด้วยความสบายใจเลยนะครับว่า ผมนั้นยังห่างไกลจากความเข้าอกเข้าใจแก่นสารสาระในนิยายของฌูเซ่ ซารามากู และยังไม่มีเวลาได้ไตร่ตรองอย่างละเอียด แต่เท่าที่ได้อ่านเรื่อง ‘บอด’ และ ‘ถ้ำ’ ผมประทับใจกับวิธีการเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ย่อหน้ายาวๆ, การเขียนบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร โดยปราศจากเครื่องหมายคำพูด, การแทรกความคิดเห็นของผู้เขียนปะปนไปกับการเล่าเรื่อง ซึ่งโดยปกติทั่วไปจะทำให้นักเขียนเหมือนพระเจ้าผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้ผู้อ่านติดตามเหตุการณ์ด้วยความกระจ่างชัด แต่ในงานเขียนของฌูเซ่ ซารามากูกลับไม่เป็นเช่นนั้น เป็นการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนรู้เหตุการณ์ แต่ไม่รู้ถึงความคิดเบื้องลึกของตัวละคร น้ำเสียงการเล่าเรื่องของเขาจึงมีทั้งการตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต เสนอแง่มุมซับซ้อนชวนคิด รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่กำลังบอกเล่าไปพร้อมๆ กัน จนเกิดผลรวมเป็นอรรถรสที่แปลก สดใหม่ และไม่เหมือนใคร”
ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์
สำนักพิมพ์ Bookscape
เล่มที่แนะนำ :

1.พยานไม่รู้เห็น (Testimone inconsapevole)
ผู้เขียน : Gianrico Carofiglio (จันริโค คาโรฟิลโย)
ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี
“ในบรรดานิยายสืบสวนแนวคล้ายๆ กันที่แข่งขันกันสูงในตลาดหนังสือแปลตอนนี้ เราว่าเรื่องนี้ให้รสชาติที่แตกต่างและกลมกล่อมลงตัวดี เรื่องราวป่วงๆ ของอัยการที่เผชิญวิกฤตวัยกลางคน ลำพังปัญหาชีวิตตัวเองก็เต็มไม้เต็มมือแล้ว ดันไปรับคดีที่ไร้แววชนะมาแบกไว้บนบ่าอีกก้อน ผู้เขียนแบ่งน้ำหนักให้เรื่องราวทั้งฝั่งชีวิตและฝั่งคดีความได้พอเหมาะพอดีเหลือเกิน ฉากว่าความในศาลก็สาดบทสนทนาที่ปรุงมาเข้มๆ ตีโต้กันแบบไม่ยั้ง ส่วนฉากชีวิตโอละพ่อของนายอัยการก็เหยาะมุกตลกร้ายไว้ได้แบบอร่อยลิ้น
นอกจากความตลกร้ายของชีวิตตัวเอกแล้ว เรายังติดใจแนวทางการสู้คดีแบบเน้นฟาดฟันด้วยตรรกะ อ่านแล้วสะท้อนใจถึงสังคมบ้านเราที่ค้อนแห่งความยุติธรรมกลวงเปล่าและน้ำหนักของตรรกะเบาหวิวเหลือเกิน”

2.ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต
ผู้เขียน : สะอาด
สำนักพิมพ์ : ไก่3
“งานของสะอาดคือลายเส้นที่มีชีวิต เราไม่ได้รู้สึกเหมือนกำลังอ่านเรื่องราวของตัวละคร แต่คล้ายกำลังเฝ้ามองชีวิตของผู้คนที่อาจเดินสวนกับเราในบางวัน ขณะเดียวกันก็เห็นเงาตัวเองในอดีตและปัจจุบันสะท้อนในเรื่องราวเหล่านั้น เหมือนได้กลับไปเปิดลิ้นชักความทรงจำที่ปล่อยทิ้งไว้จนฝุ่นจับ วันคืนที่เคยมีประกายความฝัน ความคาดหวังที่เพิ่มพูนและลดทอนตามขวบปีของชีวิต ความสัมพันธ์ที่งอกงามและร่วงโรยไปตามกาลเวลา ตอนอ่านเล่มนี้เราเลยไม่ได้แค่เสียน้ำตาให้ตัวละคร แต่เป็นน้ำตาจากการหวนนึกถึงตัวเองที่ข้ามผ่านบทกวีสุขเศร้าเหล่านั้นมา
เราเชื่อเสมอว่าเรื่องราวที่เขียนจากหัวใจจะส่งต่อถึงหัวใจ และคอมิกเล่มนี้โอบกอดหัวใจได้อย่างอ่อนโยนจริงๆ”

3.Like Water for Chocolate : ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา
ผู้เขียน : Laura Esquivel
ผู้แปล : โสภณา เชาว์วิวัฒนกุล
สำนักพิมพ์ : Merry-Go-Round
“เรื่องรักพิศวาสมหัศจรรย์ สัจนิยมหฤหรรษ์ของหนุ่มสาวที่ต้องมนตร์ความรักแต่ถูกผูกมัดด้วยคำสาปที่ชื่อว่าประเพณี เมื่อสาวน้อยติตาตกหลุมรักหนุ่มเปโดร แต่ผู้เป็นแม่ยื่นคำขาดว่าเธอต้องอยู่ดูแลแม่จนตายในฐานะลูกสาวคนสุดท้อง ส่วนเปโดรจะต้องกลายเป็นสามีของพี่สาวเธอ ติตาจึงแปรเปลี่ยนหยดน้ำตา เพลิงสิเน่หา และความคับแค้นเป็นอาหารจานแล้วจานเล่าที่บรรจุอารมณ์รักโลภโกรธหลงของเธอไว้เต็มเปี่ยม และอารมณ์เหล่านั้นก็ส่งต่อผ่านตัวอักษรถึงคนอ่านอย่างเราได้ครบถ้วนทั้งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส เหมือนได้กิน Chef’s table ฝีมือติตาที่เราพร้อมจะดื่มด่ำ (และปล่อยจอย) ไปกับจินตนาการพรึงเพริดตามแต่ชะตากรรมของตัวละครจะนำพา
เป็นมื้อที่รสชาติหวานล้ำฉ่ำชื่น ขื่นขมเค็มปร่า ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตาสมชื่อจริงๆ”
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด
เล่มที่แนะนำ :

1.ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ
ผู้เขียน : Tamara Loos
ผู้แปล : ไอดา อรุณวงศ์
สำนักพิมพ์ : อ่าน
“ชะตากรรมสุดโลดโผนของเจ้านายนอกคอกผู้จงรักภักดีผู้หนึ่ง ชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (2394-2477) ที่ช่างผันผวนและน่าสนใจนัก จากเจ้านายชั้นปลายแถวทว่าโดดเด่นขนาดได้เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกของสยามประจำยุโรปและสหรัฐฯ ในห้วงยามที่สยามกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก จากผู้ที่ได้ชื่อว่า “กระดูกสันหลังของกษัตริย์” สนับสนุนระบอบกษัตริย์โดยเสมอต้นเสมอปลาย กลับกลายมาเป็นบุคคลที่รัชกาลที่ 5 ขุ่นเคืองจนสิ้นรัชสมัย ถูกฉีกหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์”

2.ไตรภาคแก่งคอย (ลับแล แก่งคอย, ลักษณ์อาลัย, จุติ)
ผู้เขียน : อุทิศ เหมะมูล
สำนักพิมพ์ : จุติ
“สามผลงานที่ใช้เวลาถึงสิบปีในการพากเพียร คร่ำเคร่ง โลดโผนผ่านกาลเวลา แหวกว่าย เผชิญวิบาก ทั้งสุขทุกข์และสำราญทางการประพันธ์ อันเป็นช่วงเวลาและชีวิตในการสร้างสรรค์งานที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของ อุทิศ เหมะมูล
เขาทั้งเล่นล้อ ท้าทาย และตั้งคำถามกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของมนุษย์ที่ส่งทอดกันรุ่นต่อรุ่น เสนอการพลิกผันและกลายกลับของตำนานพงศาวดาร ความเชื่อ ที่ถูกสร้างและเขียนทับทบกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชีวิตและหัวจิตหัวใจของผู้คนสามัญถูกถ่ายทอดออกมาอย่างละเอียดลออ หมดจด และน่าทึ่ง”

3.ลุกไหม้สิ! ซิการ์
ผู้เขียน : ชัชชล อัจฯ
สำนักพิมพ์ : P.S.
“เกรี้ยวกราด ฮึกเหิม มีจังหวะและอิสรเสรี นี่คือบทใหม่ของกวีนิพนธ์ที่ผิดไปจากขนบ รวมบทกวีนิพนธ์ร่วมสมัยโดย ชัชชล อัจฯ กวีรุ่นใหม่ ผู้สนใจวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ร้อยเรียงและบันทึกสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 ด้วยถ้อยคำสามัญ เป็นบทกวีสามัญ เพื่ออิสระ เสรีภาพ และเพื่อสามัญชน”
อนุรุทธ์ วรรณพิณ และนัฏฐกร ปาระชัย
ร้านหนังสือออนไลน์ Readery
เล่มที่แนะนำ :

1.Crying in H Mart พื้นที่ให้เศร้า
ผู้เขียน : Michelle Zauner
ผู้แปล : C.S.
สำนักพิมพ์ : Salmon Books
“เวลาคิดถึงบ้าน หลายคนก็คงคิดถึงอาหารฝีมือแม่ รสชาติอันคุ้นเคย กินที่ไหนก็อร่อยไม่เหมือนกินที่บ้าน เมนูซึ่งแม่ก็เรียนต่อมาจากแม่ของแม่อีกที มิเชล สาวอเมริกันเต็มตัวที่มีพ่อแม่เป็นคนเกาหลีอพยพ เริ่มตั้งคำถามว่าเธอคือใครกันแน่ แล้วเธอค่อยๆ รู้จักตัวเองเอาตอนที่ต้องทำอาหารดูแลแม่ผู่ซึ่งกำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง
การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าและความรักในอาหารที่เรากินที่บ้านขึ้นเยอะเลย”

2.I KNOW WHY THE CAGED BIRD SINGS ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน
ผู้เขียน : Maya Angelou
ผู้แปล : ไอริสา ชั้นศิริ
สำนักพิมพ์ : ไลบรารี่เฮ้าส์
“ในที่สุดเราก็ได้อ่านงานมาสเตอร์พีซของ มายา แองเจิลลูกันเสียที ถึงมันจะเป็นหนังสือที่พูดถึงชีวิตของเด็กผู้หญิงผิวดำคนหนึ่ง แต่มันกลับสะท้อนถึงการต่อสู้ในสิทธิมุษยชนของคนผิวสีได้ครบถ้วนมาก ความเลวร้าย การถูกกดขี่ และความยากจน
เสียงเพลงของคนยากไร้เหล่านี้ อัดแน่นไปด้วยความคับแค้นกับความหวัง และมันกำลังสอดประสานราวกับบทเพลงคอรัสเสียงสวรรค์ เข้ากันกับบทเพลงในหัวใจของเราคนไทย ณ ช่วงขณะนี้เลย”

3.ปาจิงโกะ Pachinko
ผู้เขียน : Lee Min Jin
ผู้แปล : ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ
สำนักพิมพ์ : แพรว
“ผู้เขียน มิน จิน ลี เป็นคนคลั่งประวัติศาสตร์เกาหลีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ชาวเกาหลีที่อพยพไปอยู่ที่อื่น ใช่แล้ว ความเป็นคนอื่นคือหัวใจของนิยายชีวิตของคนสี่รุ่นที่สนุกมากกก
ประโยคแรกของหนังสือที่ว่า “ประวัติศาสตร์ทำให้เราผิดหวัง แต่ไม่เป็นไร” มันทรงพลัง ในนิยายตัวละครชาวเกาหลีซึ่งต้องหนีความอดอยากจากสงครามไปในดินแดนอื่นมันลำบากมาก แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเขาจะมีชีวิตที่ดีให้ได้ ยิ่งอ่านก็ยิ่งนึกถึงความผุพังในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเราสัญญากับตัวเองว่าจะต้องมีชีวิตที่ดีให้ได้ ไม่ว่าจะถูกกดขี่จากกลุ่มอำนาจเก่ามากแค่ไหนก็ตาม”
อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา
สำนักพิมพ์ OMG
เล่มที่แนะนำ :

1.1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น
ผู้เขียน : อ้าย เว่ยเว่ย
ผู้แปล : ดรุณี แซ่ลิ่ว
สำนักพิมพ์ : สวนเงินมีมา
“บันทึกชีวิตของศิลปินนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของจีน เส้นทางชีวิตของเขาและครอบครัวแยกไม่ออกจากความเป็นไปในช่วงสำคัญของจีน หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ “บันทึกความทรงจำ” ของชีวิตปัจเจก แต่มีหลายมิติผูกโยงกันอย่างมีพลังและน่าติดตาม ตั้งแต่ชีวิตส่วนตัว วิถีศิลปะ การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมสมัยของจีน รวมถึงคำถามต่อยุคสมัย แค่มีแปลออกมาเป็นภาษาไทยก็น่าทึ่งมากแล้ว”


2.มหากาพย์ อิเลียด + มหากาพย์ โอดิสซี (Homer Box Set)
ผู้เขียน : โฮเมอร์
ผู้แปล : เวธัส โพธารามิก (อิเลียด) และสุริยฉัตร ชัยมงคล (โอดิสซี)
สำนักพิมพ์ : ทับหนังสือ
“เรื่องราวอมตะที่นานแค่ไหนก็ไม่ล้าสมัย ตื่นตาตื่นใจ สุดทุกห้วงอารมณ์ อ่านได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นครั้งแรกที่ทำออกมาสวยงามเป็นชุดเดียวกัน เป็น box set ที่ต้องสะสมจริงๆ”

3.คัมภีร์สุขภาพดี Healthy Life Bible
ผู้เขียน : นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และ พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต
สำนักพิมพ์ : –
“หนังสือที่ให้องค์ความรู้ที่สำคัญและเป็นพื้นฐานอย่างยิ่งเกี่ยวกับสุขภาพและการดูแลสุขภาพ รวมถึงให้หลักคิดและวิธีดูแลตัวเองยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นโรค คุณหมอเขียนอย่างเป็นระบบ น่าเชื่อถือ ไม่ฉาบฉวย ให้ข้อมูลสำคัญมากมาย แถมมีภาพประกอบสี่สีตลอดทั้งเล่มที่ผู้เขียนวาดเอง เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาคุณภาพสูงมากที่น่ามีติดไว้ทุกบ้าน”
โตมร ศุขปรีชา
สำนักพิมพ์ Salt
เล่มที่แนะนำ :

1.On Earth We’re Briefly Gorgeous เราต่างงดงามแล้วจางหาย
ผู้เขียน : Ocean Voung
ผู้แปล : วรรษชล ศิริจันทนันท์
สำนักพิมพ์ : Salmon Books
“ความโดดเด่นของ On Earth We’re Briefly Gorgeous คือเป็นหนังสือแนว Memoir ซึ่งเป็น Non-Fiction แบบหนึ่ง แต่เล่าด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้และลีลาภาษาที่เป็นธรรมชาติ แปลกใหม่ งดงามล้นเหลือ และให้รสชาติแบบกวีนิพนธ์ที่ล้ำลึกในความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้เขียนกับแม่ของเขา บอกเล่าความแปลกแยกจากรุ่นสู่รุ่น จากความเข้าใจในเพศสภาพที่แตกต่าง ในฐานะชาวเวียตนามที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา จึงให้ความหมายของความสัมพันธ์หลายชั้น และผู้เขียนสามารถทำให้จักรวาลของตัวเองสั่นสะเทือนจักรวาลของผู้อ่านได้แทบทุกย่อหน้า”
จักรกฤต โยมพยอม
บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อะโวคาโด บุ๊กส์
เล่มที่แนะนำ :

1.ลานเพชรพร่าง
ผู้เขียน : ชมัยภร แสงกระจ่าง
สำนักพิมพ์ : คมบาง
“นิยายเล่มนี้เล่าเรื่องอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยจิตเมตตา ซึ่งความเมตตา (empathy) นี้ ในปัจจุบันกำลังถูกพูดถึงบ่อยครั้งว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หลายอย่างประสบความสำเร็จ เช่น การสื่อสาร การตลาด ฯลฯ นิยายเรื่องลานเพชรพร่างทำให้เห็นว่าหากบุคลากรในแวดวงการศึกษามี empathy ก็จะส่งผลดีมากๆ ต่อกระบวนการพัฒนาบุคคล”

2.จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้
ผู้เขียน : ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์
สำนักพิมพ์ : ผจญภัย
“นี่คือกวีนิพนธ์ที่นำเสนอมุมมองแนวคิดความเป็นไปของสังคมด้วยสายตาการมองด้วยความจริง การเสียดสีปรากฏการณ์บางอย่างของไทยก็ทำให้เราได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยชื่นชม เช่น รายการโทรทัศน์ประเภทประกวดชิงทุน หรือการชื่นชมความงามของสังคมชนบท เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วกวีนิพนธ์เล่มนี้ยังเป็นฉันทลักษณ์ที่คนไทยคุ้นเคย ยิ่งเหมาะมากๆ สำหรับคนที่อยากลองอ่านงานประเภทกวีนิพนธ์”

3.วิหารความจริงวิปลาส
ผู้เขียน : นทธี ศศิวิมล
สำนักพิมพ์ : ประพันธ์สาส์น
“นิยายเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นปมปัญหาภายในจิตใจมนุษย์ที่เป็นโรคจิตเวชรูปแบบต่างๆ และทั้งหมดนั้นก็ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาภายในครอบครัวที่หลายครอบครัวอาจจะกำลังเผชิญกันอยู่ ผู้เขียนเรียงร้อยประเด็นต่างๆ ผ่านเรื่องเล่าของตัวละครอย่างกลมกลืน และตอนจบก็คลายปมได้น่าตื่นตาตื่นใจจนทำให้กลับไปอ่านซ้ำทันทีเมื่ออ่านจบ”