fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

[ความน่าจะอ่าน] การศึกษาของกระป๋องมีฝัน (ผู้ไม่รู้อะไรเลย)

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 

 

เรื่องเริ่มต้นแบบนี้

ยังไม่รู้หรอกว่าความรู้คืออะไร ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยินคำว่าการศึกษาด้วยซ้ำ แต่ผมก็ถูกแม่พามาที่นี่ พูดประโยคบอกลาที่จะได้ยินไปอีกหลายครั้ง “ตั้งใจเรียนนะลูก อย่าซนกับครู”

แล้วมือของแม่ก็ค่อยๆ ปล่อยมือของเด็กน้อยให้ไปเผชิญโลกที่เขาไม่เคยรู้จัก – โลกของการศึกษาในโรงเรียน

นี่เป็นปฐมบทของหนังสือ ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ เรื่องเล่าชีวิตในโรงเรียนของสะอาด และอาจจะเป็นปฐมบทของพวกเราทุกคนที่ต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา ในวัยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการศึกษาคืออะไร

 

 

1

 

ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกทึ่งและขื่นขำ – ทึ่งที่ผู้เขียนคลี่ความทรงจำวัยเด็กออกมากาง แล้วพูดถึงมันด้วยสายตาที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง ทิ่มแทงหัวใจอย่างยิ่ง และกวนตีนความทุกข์ของตัวเองได้สุดติ่งกระดิ่งแมวยิ่ง

ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย การ์ตูนให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนมานั่งล้อมวงคุยกัน แล้วเริ่มต้นประโยคสนทนาว่า “มึงจำได้มั้ย สมัยก่อนที่เรา…” แล้วความทรงจำต่างก็พรั่งพรูออกมา เล่าถึงการโดนบังคับให้นอนกลางวัน ย้อนคิดถึงการโดนทำโทษเพราะเล่นรถแข่งกระดาษ คิดถึงการลอกข้อสอบ การโดนบังคับให้ระบายสีให้ตรงกรอบ และการแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ

เรื่องเล่าเหล่านี้ล้วนเป็นความทรงจำร่วมเมื่อทุกคนต้องเข้าไปในระบบการศึกษา แม้จะอยู่คนละโรงเรียน คนละจังหวัด ต่างยุคสมัย แต่น่าแปลกที่เจอเหตุการณ์คล้ายกัน คล้ายว่าเราต่างเป็น ‘นักเรียนกระป๋อง’ ที่หลุดออกมาจากสายพานการผลิตที่เรียกว่าโรงเรียน เหมือนที่สะอาดเขียนไว้ในการ์ตูนเรื่องนี้

หนังสือแบ่งเรื่องเล่าออกเป็น 5 บทหลัก คือ ความกลัว ความเป็นเลิศ ความคิด ความหมาย และความฝัน ฉันยิ้มในใจด้วยความขำขื่นว่าเหตุใดเราจึงเริ่มต้นชีวิตการศึกษาด้วยความกลัว

หนังสือไล่เรียงไปตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าโรงเรียน ต่อสู่กับกฎระเบียบต่างๆ อย่างที่เขาเขียนไว้ว่า “ใครหลายคนบอกว่าเด็กต้องไปโรงเรียนเพื่อที่จะได้รู้จักการเข้าสังคม แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันมีข้อห้ามและบทลงโทษพิสดารเยอะมาก จนต่างกับสังคมจริงๆ เหมือนคนละโลก ราวกับครูทุกคนมีภาพของสุดยอดนักเรียนตัวอย่างอยู่ในใจ สรรพคุณ เรียบร้อย/เชื่อฟัง/ตั้งใจเรียน”

 

 

เมื่อไหร่ที่เราแปลกแยก เมื่อไหร่ที่เราโดนทำโทษ ก็ยิ่งทำให้หัวจิตหัวใจของเราถูกบ่มเพาะความกลัวไว้ข้างใน เราก้มหน้าฟังคำสั่ง ทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยไม่เคยตั้งคำถามว่ากฎระเบียบนั้นสมเหตุสมผลแค่ไหน และจำเป็นแค่ไหนกับการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง เรื่องเล็กๆ เช่น เราสวมชุดนักเรียนมาในวันที่เพื่อนทุกคนสวมชุดลูกเสือก็รุนแรงพอจะทำให้เด็กคนหนึ่งร้องไห้อยากกลับบ้าน และจำฝังใจว่าเป็นวันเลวร้ายที่สุดของชีวิต

ความกลัวฝังลึกในใจ จนแม้แต่การขอครูไปเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องยากลำบาก สะอาดเล่าให้ฟังถึงช็อตที่เด็กชายธนิสร์ – เขาในวัยเด็ก ไม่กล้าขอครูไปเข้าห้องน้ำจนอึราดและโดนเพื่อนล้อทั้งห้อง

“ผมได้แต่โทษตัวเองว่าทำไมถึงไม่กล้าขอครู แต่ไม่เคยเอะใจว่าทำไมส้วมโรงเรียนถึงน่ากลัวกว่าส้วมที่บ้านไปได้”

เขาเผชิญกับข้อบังคับและการทำโทษตลอดการศึกษาวัยเด็ก เขาเล่าถึงตอนที่เด็กทุกคนนั่งฟังครูด้วยความตื้นตัน เมื่อครูบอกว่าทำโทษเพราะอยากให้นักเรียนได้ดี แล้วขอให้ทุกคนทำการบ้านอย่างตั้งใจ “เธอช่วยทำเพื่อครูได้มั้ย” ครูว่า แล้วนักเรียนทุกคนก็ขานรับ ครับ/ค่ะ ด้วยความเต็มใจและรู้สึกผิด

“ตอนนั้นพวกเราต่างโง่เขลา โง่เกินกว่าจะคิดว่าครูเองก็มีเรื่องที่ไม่รู้ ไร้เดียงสาเกินกว่าจะคิดว่าครูผิดได้ เป็นเพียงพวกเราเท่านั้นที่ผิดเอง”

 

2

 

เราผ่านวัยเด็กด้วยความกลัว ก่อนจะต้องทะยานสู่ความเป็นเลิศ เพราะสายพานการแข่งขันไม่เคยปราณีใคร เราเรียนหนังสือเพื่อเป็นผู้ชนะ ชัยชนะที่หล่อหลอมมาด้วยความกลัว

เด็กชายธนิสร์เริ่มรู้จักการเขียนการ์ตูน เมื่อต้องเรียน เขาเรียนด้วยความขยันขันแข็ง เรียนพิเศษเพื่อให้ได้เคล็ดลับวิชาในการทำข้อสอบ ขณะเดียวกันก็วาดการ์ตูนเพื่อโลกแห่งความสุขของตัวเอง การ์ตูนทำให้เขาผ่านช่วงเวลาในห้องเรียนไปได้ จนเมื่อโตขึ้นถึงวัยมัธยมปลาย เขาเรียนกวดวิชาเพื่อจะสอบเข้าคณะที่เกี่ยวกับการวาดรูป ก่อนจะพบว่าการเรียนวาดรูปเพื่อสอบไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขาโดนครูไล่ไปหาจิตแพทย์ เมื่อเขาตั้งคำถามกับการสอนวาดรูปแบบนี้

ชีวิตของเขาระหกระเหินมาตลอดชีวิตการศึกษา ตั้งเป้าจะเป็นครูสอนศิลปะ เพราะไม่อยากให้เด็กเจอครูแบบที่เขาเจอ แต่เมื่อสอบเข้าไปได้ เขาก็ต้องเจอกับการรับน้องในมหาวิทยาลัย เขาตั้งคำถาม ตอบตัวเองจนแน่ใจ และเลือกลาออกมาเรียนคณะวารสารศาสตร์ที่ไม่มีระบบโซตัสและเปิดโอกาสให้เขาพอจะวาดการ์ตูนได้ระหว่างเรียน จากเด็กชายธนิสร์ เติบโตมาเป็นนายธนิสร์ที่ประสบพบเจอเรื่องราวมากมายจนทำให้เขาเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการศึกษาและชีวิต

หากมองด้วยสายตาคนนอก ชีวิตของเด็กชายธนิสร์แม้จะมีตะกุกตะกักอยู่บ้าง แต่ก็เป็นชีวิตที่เข้ารูปเข้ารอย ได้ทำตามความฝัน แม้ต้องกัดฟันอดทนเพื่อต่อสู้กับปัญหา แต่ก็ใช่ว่าจะลำบากยากเข็ญชนิดแร้นแค้น แต่ก็อีกนั่นแหละ แม้จะไม่ได้ลำบากยากเข็ญ แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมเด็กไทยต้องเจอกับระบบการศึกษาที่ปิดช่องว่างของความฝันคนขนาดนี้ ทำไมการทำตามสิ่งที่เด็กคิดจึงเป็นเรื่องยากนัก ทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ คำถามนี้ก้องดังอย่างเข้มข้นในครึ่งแรกของหนังสือ

เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของเรื่อง หนังสือเล่มนี้พาเราไปไกลกว่าเรื่องการก่นด่าระบบการศึกษา แต่พาเราไปเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านเรื่องเล่าชีวิตของผู้เขียนเอง ในช่วงที่เป็นนักศึกษาเขามีโอกาสไปเห็นโรงเรียนในชนบทห่างไกล เริ่มเห็นว่าการศึกษานอกห้องเรียนเป็นอย่างไร และเป็นไปได้แค่ไหน นอกจากนั้นเขายังมีเรื่องราวเปลี่ยนชีวิตอย่างการทำข่าวตีแผ่คอร์รัปชันในมหาวิทยาลัยลงหนังสือพิมพ์ฝึกหัดของคณะ

เขาพบปะ พูดคุย สบตา ถกเถียง หาความหมาย และเจออะไรกระทบความคิดความเชื่อเดิมที่มีมาทั้งหมด

นักศึกษาหนุ่มผู้มุ่งหวังจะเขียนการ์ตูนเท่านั้น เจอชีวิตของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกลิดรอนสิทธิ เขาเฝ้ามองและตั้งคำถามว่า “เรายังมีสิทธิที่จะฝันว่าเราจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้เหมือนกันได้ใช่ไหม”

ความหวังความฝันของผู้คนยังเป็นจริงได้ใช่ไหมในสังคมของเรา

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงแค่การศึกษาของเด็กน้อยคนหนึ่ง แต่เชื่อมโยงไปไกลถึงชีวิตของเราทุกคน ที่ล้วนอยู่บนสายพานนี้ สายพานที่ทำให้เราตั้งคำถามกับความฝันของตัวเอง สายพานที่ทำให้เราไม่รู้ว่าเราไม่ต้องเป็นกระป๋องก็ได้

มีประโยคหนึ่งที่สะอาดหยิบมาเล่า ท่ามกลางวงล้อมบทสนทนาในชนบทห่างไกล วิทยากรพูดกับนักศึกษาที่ตั้งคำถามกับอาชีพของตัวเองในอนาคตว่า “ถ้าหากจำเป็นต้องทำงานให้กับองค์กรที่แย่จริงๆ ก็ขออย่าให้ความคิดเรายอมจำนน เป็นเหมือนคนเล่นหมากรุกในคุก ต่อให้ร่างกายถูกกักขัง แต่อย่างน้อยในหัวเรายังเป็นอิสระ”

‘ต่อให้ร่างกายถูกกักขัง แต่อย่างน้อยในหัวเรายังเป็นอิสระ’ นี่มิใช่ฝันของกระป๋องหรอกหรือ

 

3

 

การศึกษาของกระป๋องมีฝัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนนั่งคุยกับเพื่อน หัวเราะร่าน้ำตารินไปกับความทุกข์สุขที่เราคุ้นชิน ติดหน่อยตรงที่เพื่อนคนนี้มันชอบตบหัวสะกิดไหล่เราแรงๆ แล้วบอกว่า “มึงดู พวกเราผ่านอะไรกันมา” และเราก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ อย่างเห็นด้วย

สะอาดเขียนถึงเรื่องการศึกษา แต่ไม่มีบทที่ว่าด้วย ‘ความรู้’ ฉันคิดเอาเองว่าหากไม่ใช่เพราะความตั้งใจเสียดสี ก็คงเกิดจากการหลงลืมไป อาจเพราะการศึกษาไม่ได้ช่วยให้เรามีความรู้เท่าที่เราคิด หรือถ้าจะรู้อะไรสักอย่างก็คือการรู้ว่าเราเรียนจบมาด้วยการไม่รู้อะไรเลย

 

อ่านบทสัมภาษณ์ของสะอาดได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save