เท่าที่ดวงตาเล็กๆ ในวัยห้าสิบมองเห็น หนังสือเล่มนี้ไม่มีคำว่า ‘ม.112’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่อ่านไปจนจบก็พบว่า นี่คือบันทึกที่ว่าด้วยชีวิตและชะตากรรมของนักโทษทางความคิด คดีความ ม.112 โดยตรง
ทั้งเล่มใส่เกมบุกรุกหนักว่ากันเน้นๆ ประเด็นเดียว
เราไม่รู้ ว่ารัชจงใจเล่นกับอะไร ‘ที่ไม่พูด แต่คนฟังได้ยิน’ เอาว่าเธอเล่าเรื่องนี้แหละ เรื่องที่เป็นปัญหารุนแรงระดับชาติ ปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบกระเทือนสูงต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ทว่าวงการสื่อสารมวลชนบ้านเราก็ยังให้คุณค่าราคากับเรื่องนี้น้อย
ปีแล้วปีเล่า เคสแล้วเคสเล่า และคุกแล้วคุกเล่า 112 ยังเป็นความคลุมเครือ ไม่มีวันเข้าใจ อีกบางทีสาแก่ใจ กับผู้คนที่เลือกมีชีวิตอยู่ด้วยรักและปิดตา
คนในปีกความคิดหนึ่งเห็นว่ากฎหมายนี้ป่าเถื่อนโหดเหี้ยมมาก ขณะคนในอีกปีกความคิดมองว่าดีงาม ชอบธรรม และสมควรแล้ว โดยทั่วไป ความเห็นแตกต่างคือความปกติ มันเป็นเช่นนี้ในทุกประเด็น เห็นต่างก็โต้เถียงแลกเปลี่ยนกัน เพียงแต่ว่ากับกรณี 112 ฝ่ายหนึ่งพูดได้ อีกฝ่ายพูดแล้วติดคุก
ติดถึงขั้นตายคาคุกก็เคยมีมาแล้ว
หลายครั้ง–ติดด้วยโทษทัณฑ์ที่สาหัสสากรรจ์กว่าฆ่าคน
กระนั้น, ข่าวสาร 112 ก็ยังมีน้อย ความน่าสนใจประการแรก ‘ในแดนวิปลาส’ เลือกพูดเรื่องใหญ่ที่หาคนพูดไม่ค่อยได้ พูดในฉากและชีวิตที่เราๆ ท่านๆ เข้าไปไม่ถึง พูดให้ตรงกว่านั้นคือบางคนเบือนหน้าหนี แสร้งทำทีว่ามันไม่มีอยู่ และอีกหลายคน ไม่พยายามมากพอที่จะพาตัวเองเดินเข้าไปรู้เห็น และจดบันทึก
เนื้อหาข่าวสารชนิดนี้ไม่มีใครใส่พานป้อนให้ถึงปาก อยากได้ต้องออกแรงแสวงหา และแน่นอนว่าถ้าออกแรงน้อยก็อย่าหวัง
ไม่ต้องมองอื่นไกล ในอาชีพเดียวกันกับรัช ในวงเล็บว่าอายุงานมากกว่า ผมเคยเข้าไปคุยกับนักโทษในเรือนจำเพียงครั้งเดียว ครั้งที่ติดตาม ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ไปพบพ่อของเขา
ส่วนขั้นตอนการพิจารณาคดี 112 ในชั้นศาล ยังไม่เคยไปแม้แต่ครั้งเดียว
จริงอยู่ว่า ในปี 2011 ผมกับ ธิติ มีแต้ม เคยทำหนังสือ ‘ความมืดกลางแสงแดด’ ซึ่งชูประเด็น 112 เต็มๆ เช่นกัน แต่เทียบกับรัช ผมก็เป็นเพียงคนชายขอบที่เดินเข้ามาสู่ใจกลางของความเถื่อนชั่วระยะเวลาสั้นๆ และถอยออกไปจับประเด็นอื่น
การยืนยันเฝ้าติดตาม และจับเรื่องนี้แบบกัดไม่ปล่อยของรัชจึงคู่ควรได้รับคำชื่นชม โค้งคารวะ
ในทัศนะผม สังคมไทยเรายังอ่อนด้อยต่อการแยกแยะและให้คุณค่า อะไรเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก แยกไม่ค่อยออก เปรียบประหนึ่งคนสร้างถนนซึ่งออกแรงแทบตาย คนสร้างสนาม เพียรพยายามเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้สาธารณะใช้สอย สัญจรทางความคิด กลับถูกด้อยค่าเพียงเพราะว่าตอนขึ้นป้าย (เล็กๆ) เขาสะกดบางคำผิด
บางทีนักวิจารณ์ผู้เปี่ยมศีลธรรมศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมืองนี้มันก็เป็นซะแบบนี้ เรื่องใหญ่ระดับช้างยืนอยู่ในห้อง ไม่พูด กระทั่งบางวันนำอาหารไปเลี้ยงช้าง แต่ละเอียดเหลือเกินกับการจับผิดรอยขีดข่วนบนกำแพง
รัชไม่ใช่คนชนิดนั้น ไม่หยุมหยิม รัชซัดไปที่ใจกลางของปัญหา
ข้อน่าสนใจประการถัดมา ‘ในแดนวิปลาส’ ไม่ใส่ชื่อจริงของใครเลย
หน้าปกจั่วหัวว่าเป็น ‘บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’ ถ้าตีความง่ายๆ นี่ย่อมหมายถึงงาน non fiction ยังไม่ต้องพูดว่าเกี่ยวข้องกับกฎหมายและคดีความที่เกิดขึ้นจริง แต่รัชเลี่ยง ไม่ระบุว่าใครเป็นใคร ที่ใส่ก็เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเอง รู้เองอยู่คนเดียว
ไม่ว่าผู้เขียนจะตั้งใจทำให้มันลอยๆ เน้นอารมณ์เอนไปทางกึ่งเรื่องแต่ง แต่กับคนสนใจการเมืองไทยอ่านไปก็พอนึกหน้าออก ว่านี่ป้าน้อย ภรรยาสุรชัย นั่นไผ่ ดาวดิน ส่วนผู้หญิงใจเด็ดคนนั้นจะเป็นใครไปเสียมิได้ นอกจาก ดา ตอร์ปิโด ฯ
อีกบางคนพอเดาได้ แต่ก็ไม่มั่นใจ ความรู้สึกนี้มาๆ หายๆ ตลอดเวลาของการอ่าน มันเป็นบุคลาธิษฐานที่แง่หนึ่งก็คล้ายลองภูมิผู้อ่าน ว่าใครเข้าถึงข่าวสารความเป็นไปแค่ไหน โดยเฉพาะในโลกรั้วของนักโทษ ‘ผู้พูดความจริง’
แล้วก็ดูสิ แม้แต่รัช ซึ่งเป็นผู้เขียนเองแท้ๆ เธอก็บอกเราเท่านี้
ไม่มีรูปภาพ ไม่ใส่ชื่อจริง ไม่อวดอ้างสรรพคุณประวัติ ผลงาน
ถามว่าพอรู้มั้ยว่ารัชคือใคร อ่านแล้วก็พอรู้ แต่มันก็เป็นความรู้ที่เราคิดเอาเองซึ่งอาจจะผิด
ตัวละครทั้งหมดจึงดำรงสถานะเป็น ‘ที่ว่าง’ ที่แต่ละคนมีสิทธิจะคิดและจินตนาการ
ทุกเคสที่รัชเปิดกระเป๋าเทออกมาบอกเล่า–ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องคอขาดบาดตาย ทว่าจงใจเขียนแบบไม่มีชื่อ ผมเห็นว่าไม่ใช่เพราะกลัว เพลย์เซฟ ระมัดระวังความปลอดภัยของตัวเองและแหล่งข่าว ตรงกันข้ามเลย นี่เป็นชั้นเชิงวรรณศิลป์ที่ตอกย้ำว่าทุกโศกนาฏกรรมทั้งสิ้นทั้งปวงนั้น พวกเขาและเธอล้วนเป็นคนไม่มีใบหน้า ไม่มีความเป็นมนุษย์ ใช่, เป็นความใจร้ายของฝ่ายรัฐที่ยัดเยียดและทำให้ไม่มี
คน=ฝุ่น
เพราะแท้จริงมนุษย์ย่อมเกิดมาพร้อมกับสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อถูกกระทำให้ไม่มีเสียแล้ว เขียนชื่อสกุลไปก็เท่านั้น มนุษย์ที่ไม่มีเสรีภาพ ย่อมหมายถึงมนุษย์ที่ไม่มีใบหน้า, ไม่มีชื่อ ไม่มีชีวิต
ในนามของนักสื่อสารมวลชน เรื่องเล่าของรัชทำหน้าที่ประกาศ เรียกร้อง กู่ตะโกน ว่าพวกเขาและเธอทุกคนที่เกี่ยวข้องหรือต้องคดี112 ล้วนมีใบหน้า มีชื่อ มีชีวิต มีสิทธิเสรีภาพอันแสนสามัญ แต่ถ้าเราไม่ได้ยิน มันก็ไม่มีความหมายใด
หนังสือบางเฉียบเล่มนี้ รัชใช้การเขียนที่น้อย และปล่อยที่ว่างมาก
มันเป็นรสนิยมแบบหนึ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับวัฒนธรรมฮอลลีวูด เล่าเท่าที่ต้องเล่า ใช้น้ำเสียงธรรมดา ไม่บิลด์ ไม่บดขยี้ แม้มีโอกาสมากมาย คนจะทำเช่นนี้ได้ต้องใจหินและชั่วโมงบินสูง
เปรียบเป็นนักบอล รัชไม่ใช่สายบ้าพลังที่วิ่งพล่าน เธออ่านเกมช้าๆ หาตำแหน่งยืนให้แม่น จับและจ่ายบอลทุกครั้ง หวังผล
เปรียบกับการทำงานของจิตรกร รัชเลือกวิธีสเก็ตช์ ใช้เส้นน้อย อะไรรุงรังไม่เอาเข้าเฟรม ทุกเส้นมีความหมาย เหนืออื่นใดคือใช้ที่ว่างเล่าเรื่อง
ใครชอบคนพูดมากๆ อย่าเสียเวลามาอ่านหนังสือเล่มนี้
ทัศนะประการสุดท้าย ผมเห็นคล้ายๆ ตอนอ่าน ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง คือแค่เห็นก็โกรธเกลียด–หมายถึงเกลียดต้นทางที่มาของหนังสือ
งานเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ควรดำรงอยู่ ด้วยว่ามันเป็นหลักฐานสะท้อนโดยตรงถึงความบัดซบป่าเถื่อนของกฎหมาย เป็นหลักฐานน่าอับอายที่อธิบายว่าบ้านเมืองของเราไม่มีสิทธิเสรีภาพ แม้เพียงการคิด การพูด
‘ด้วยรักและปิดตา’ สภาวะนี้ยังแข็งแรง unique และไม่น่าเชื่อว่ามาจนป่านนี้แล้ว ไดโนเสาร์ก็ยังไม่คิดจะเดินออกมาจากถ้ำ
แต่ก็นั่นแหละ บนแผ่นดินนี้ สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่ควรดำรงอยู่ สัจจะคือมันก็มีอยู่ เป็นอยู่ ทำร้ายผองเราอยู่โดยไม่แคร์ความเปลี่ยนแปลงโลก ไม่สนอารยะวิถี และไม่มีความละอายใจ
ถ้ามีคำถาม ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้
รัชก็บอกแต่แรกแล้ว ว่าเราอยู่–ในแดนวิปลาส.