fbpx
ความน่าจะอ่าน กับการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจที่สุด’

ความน่าจะอ่าน กับการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจที่สุด’

‘ความน่าจะอ่าน’ เป็นซีรีส์ยาวต่อเนื่อง ตอนนี้เป็นตอนที่ 2 อ่านตอนที่ 1 ได้ ที่นี่

ในยุคที่ทุกคนหันมาเสพสื่อออนไลน์ และสิ่งพิมพ์ทยอยกันล้มหายตายจาก ‘หนังสือเล่ม’ ดูจะเป็นสิ่งพิมพ์ที่ยืนหยัดต่อสู้กับคอนเทนต์ออนไลน์ได้มั่นคงที่สุด บางคนบอกว่าอาจเป็นเพราะความรู้สึกของการอ่านหนังสือดีๆ ผ่านการละเลียดไปทีละหน้าๆ ยังไม่มีสื่อชนิดไหนที่สามารถทดแทนได้

 

ต่อให้อ่านหนังสือจาก Kindle ได้ ฟังหนังสือเสียงจาก Audible ได้ รับรู้ข่าวจาก Google หรือ Facebook, Twitter และสื่อสังคมอื่นๆ แต่ ‘หนังสือเล่ม’ ก็กลับยังคงอยู่

การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ กลับมีส่วนสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ในการเผยแพร่ โปรโมต รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นอันหลากหลาย เกี่ยวกับการอ่านด้วย

แต่น่าเสียดาย ที่พื้นที่เหล่านี้ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่นัก โดยเฉพาะกับคนทำหนังสือหรือสำนักพิมพ์ที่มีความตั้งใจ แต่ยังปรับตัวไม่ทันกระแสโลก ในแต่ละปีมีหนังสือมากมายที่ตกสำรวจ ไปไม่ถึงมือคนอ่านอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่คุณภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าบรรดาหนังสือเบสต์เซลเลอร์ตามร้านใหญ่ๆ เลย

ขณะเดียวกัน รางวัลด้านวรรณกรรมในประเทศนี้ก็ยังไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ต้องเป็นหนังสือภาษาไทยที่คนไทยเขียน หนังสือแปลที่มีคุณภาพจึงมักถูกละเลย และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนอ่าน

จากข้อสังเกตที่ว่ามา 101 จึงอยากลองทำ ‘โปรเจกต์พิเศษ’ เพื่อส่งเสริม ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ในแบบของเรา ด้วยการทำตัวเป็นเหมือน Curator ที่จะมา ‘คัดเลือก’ หนังสือที่ออกมาในปี 2016 ว่าเล่มไหน ‘น่าจะอ่าน’ บ้าง แบบเดียวกับที่สื่อต่างประเทศมักจะจัดอันดับ Notable Books ในแต่ละปี โดย ‘ความน่าจะอ่าน’ จะไม่ ‘แบ่ง’ ประเภทหนังสือใดๆทั้งสิ้น ขอให้เป็นหนังสือที่ ‘น่าอ่าน’ ในสายตากรรมการของเราก็พอแล้ว

ไม่น่าสงสัยเลยว่า-ทำไมโปรเจกต์นี้จึงมีชื่อว่า ‘ความน่าจะอ่าน’ !

‘ความน่าจะอ่าน’ คืออะไร?

‘ความน่าจะอ่าน’ เกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ผสมกันระหว่าง ‘การรีวิว’ และ ‘การให้รางวัล’ โดยมีคอนเซปต์ง่ายๆ ว่า ไม่ต้องซีเรียสจริงจังนั่งกอดอกพยักหน้า ไม่ต้องเกรงบารมีผู้ทรงคุณวุฒิใดๆ ทั้งสิ้น ใครจะเชื่อไม่เชื่อก็สุดแล้วแต่ ชอบไม่ชอบก็แชร์กันได้ โดยที่ 101 อยากทำหน้าที่เชื่อมระหว่างโลกจริงออฟไลน์ หรือโลกของหนังสือเล่ม เข้ากับโลกออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย

‘ความน่าจะอ่าน’ จึงจะกลายเป็นโปรเจกต์ ‘แนะนำหนังสือ’ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ ‘เอาแต่ใจที่สุด’

เริ่มต้นจาก…

การสรรหาคณะกรรมการผู้ (ไม่) ทรงคุณวุฒิ

101 ย่อมไม่อยากลุกขึ้นมาบอกใครตามลำพัง ว่าหนังสือเล่มไหนควรอ่านไม่ควรอ่าน เพื่อความน่าเชื่อถือ เราย่อมต้องมี ‘คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ’ แต่ในเมื่อตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจที่สุด’ ผู้ทรงคุณวุฒิก็ต้องเป็นคนที่เราถูกใจ (พูดง่ายๆ ก็คือ เป็น ‘คนกันเอง’ แต่เป็นคนกันเองที่เราคิดว่าเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือเยอะมาก) ได้แก่

นิวัต พุทธประสาท

นักเขียนสาย Alternative ผู้ผ่านโลกแห่งงานวรรณกรรม ‘สายแข็ง’ มานักต่อนัก

สฤณี อาชวานันทกุล

นักคิดนักเขียนและนักแปล ผู้ทั้งคิด เขียน แปล (และเล่นบอร์ดเกม) ได้ด้วยอัตราเร็วที่น่าทึ่ง ทั้งงานเขียนแนว Non-Fiction และ Fiction หลากแบบ

ทราย เจริญปุระ

นักแสดงที่เป็นนักอ่านตัวแม่ กับงานเขียนแนะนำหนังสือมากมายที่บ่งบอกว่าเธอรักการอ่านมากแค่ไหน และอ่านหนังสือ ‘หลากหลาย’ เพียงใด

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการแห่ง The Matter กับการ ‘ผ่านหนังสือ’ แนว Non-Fiction โดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าแห่งอนาคตและเทคโนโลยีมาแล้วมากมาย

และสุดท้าย 101 ส่ง โตมร ศุขปรีชา

บรรณาธิการเซกชัน Life เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย

 

ขั้นถัดไป กรรมการแต่ละคนจะเลือกหนังสือจากปี 2016 ที่ตัวเองอ่านแล้ว ‘ชอบ’ แนวไหนก็ได้ จำนวนกี่เล่มก็ได้ มาแนะนำให้กรรมการคนอื่นๆ ได้ลองอ่านกัน เป็นการเลือกที่กรรมการแต่ละคนสามารถ ‘เอาแต่ใจตัวเอง’ ได้เต็มที่

จากนั้น เราจะให้กรรมการแต่ละท่านมาหารือกันบนโต๊ะประชุม เพื่ออภิปรายกันว่าเล่มไหนดี ไม่ดี อย่างไร ก่อนจะเฟ้นหา ‘หนังสือที่ดีที่สุด’ ที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเห็นพ้องต้องกัน

สุดท้ายแล้ว จะมีหนังสือที่ผ่านการคัดเลือกจำนวนกี่เล่มก็ได้ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เราไม่สน

เพราะสิ่งที่เราสน คือบทสนทนาบนโต๊ะกรรมการ

‘วงใน’ เขาบอกมาว่า…

เมื่อกรรมการแต่ละคนได้สิทธิ์ในการเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบเข้ามาแล้ว ในขั้นตอนของการคัดเลือก แต่ละคนสามารถ ‘เชียร์’ หนังสือของตัวเองได้เต็มที่ แต่กรรมการคนอื่นจะเห็นดีด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่อง

ในขั้นตอนนี้ เราจะปล่อยให้กรรมการทุกท่านได้โน้มน้าวและถกเถียงกันอย่างเต็มอิ่ม จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ แต่ปกติแล้ว บทสนทนาที่เกิดขึ้นบนโต๊ะกรรมการ ไม่ว่ารางวัลไหนๆ มักจะถูกเก็บเป็นความลับสุดยอด จะมีก็แต่ ‘วงใน’ เท่านั้นที่จะนำความลับไปเผยแพร่ได้

ทว่ากับโปรเจกต์นี้ เราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเรามองว่าขั้นตอนของการถกเถียง อภิปราย แท้แล้วคือหัวใจสำคัญยิ่งกว่าผลการตัดสินในขั้นสุดท้ายเสียอีก

เพราะฉะนั้น เราจะเปิดเผยให้ท่านผู้อ่าน-ผู้ชม ได้ร่วมติดตามกระบวนการคัดสรรในขั้นทุกตอน และไม่ว่าท่านจะเห็นด้วย เห็นต่าง หรือมีข้อสงสัย ก็สามารถร่วมแชร์ความคิดความเห็นได้ทันทีโดยไม่ต้องเกรงบารมีของกรรมการ…

บูรณาการ ‘การอ่าน’ อย่างยั่งยืน

เมื่อได้หนังสือที่ผ่านการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว เราจะยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพื่อให้เป็นการส่งเสริมการอ่านอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม เราจะนำหนังสือที่ได้รับคัดเลือกไปจัดกิจกรรมต่อยอด เช่น จัดบุ๊คคลับเสวนาในหัวข้อที่ยึดโยงกับหนังสือ หรือทำสกู๊ป-สัมภาษณ์นักเขียนและคนที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นต้น

โดยครั้งแรกของการเสวนาที่จะนำพากรรมการทุกคนมาเถียงกันซ้ำอีกรอบ ได้กำหนดวันและสถานที่เรียบร้อยแล้ว โปรดเตรียมตัวเข้าร่วมแต่เนิ่นๆ

และในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมนี้ เราจะประกาศรายชื่อหนังสือที่กรรมการ ‘ความน่าจะอ่าน’ ได้คัดเลือกกันเข้ามา

โปรดอย่ารอคอย แต่ลองทายกันดู-ว่าหนังสือที่คุณชอบ จะได้เข้ารอบมาด้วยหรือเปล่า!

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save