fbpx

[ความน่าจะอ่าน] เมื่อโลกซึมเศร้า: มันไม่ใช่ความผิดของคุณ

คุณอาจหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านในวันที่ทนทุกข์, วันที่รู้สึกว่าโลกไม่เป็นดั่งใจ ตัวคุณเองก็ถูกบีบบังคับจากมาตรฐาน – จากไม้บรรทัดที่โลกหยิบยื่นให้โดยไม่ไถ่ถาม คุณอาจจมอยู่กับความรู้สึกห้วงนั้น ห้วงที่ดิ่งลึกจนเหมือนจะไต่ขึ้นมาไม่ไหว แล้วอะไรสักอย่างก็ดลใจให้คุณหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากชั้น เริ่มอ่านมัน 

และหยุดไม่ได้

‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ เป็นผลงานของสรวิศ ชัยนาม แปลโดยสุชานาฎ จารุไพบูลย์ หนังสือเล่มนี้พูดถึงภาวะโรคร้ายและโลกร้ายไปพร้อมกัน โดยใช้กรอบของ Mark Fisher มามองโลกสัจนิยมแบบทุน และหยิบยืมภาพยนตร์ลัดดาแลนด์​มาเป็นเครื่องมือในการอธิบาย

ครั้งหนึ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงที่มีการเพิ่มพูนผลิตผลอย่างเอ่อล้น เคยมีคนวาดฝันว่า ในอนาคต ผลิตผลจะมากจนก้าวข้ามความจำเป็นในการบริโภค เราแต่ละคนจะต้องทำงานเพียงสัปดาห์ละ 15 ชั่วโมงเท่านั้น ช่างเป็นฝันที่หวานเสียเหลือเกิน เมื่อความเป็นจริงก็เป็นอย่างที่เราได้เห็น เราทำงานกันวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันหรือมากกว่านั้น แม้กระทั่งอย่างนั้น ก็ยังดูเหมือนว่าเราไม่เคยทำงานเพียงพอ 

เพราะทุนนิยมเป็นดังสัตว์ร้ายที่มีความกระหายเป็นอนันต์ – จะให้อาหารมันเท่าไร มันก็ไม่เคยอิ่ม

สัตว์ยิ่งร้ายเมื่อคิดว่า ‘อาหาร’ ที่ว่านั้นก็คือหยาดเหงื่อแรงงาน สุขภาพจิต และแรงใจของคนสมัยนี้

‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ อธิบายว่าภาวะการซึมเศร้ารวมหมู่อย่างที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนั้นไม่ได้เป็นผลจากความผิดพลาดเชิงปัจเจก แต่เป็นผลลัพธ์จากระบอบทุนนิยมต่างหาก “ทุนนิยมยุคปลายมีวิธีการทำให้ผู้คนป่วยอย่างเห็นเด่นชัดเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นวิธีรักษาที่สนใจแค่ระดับส่วนบุคคลอย่างเดียวจึงยังไม่พอ แต่จะต้องทำควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสังคมวงกว้าง” ฉะนั้นการโทษตัวเอง หรือเฆี่ยนตีตัวเองด้วยมาตรฐานของโลกทุนนิยมนั้นไม่ใช่ทางออก มันกลับจะฝังเราลงไปในหลุมปัญหาให้ลึกขึ้นจนฉุดไม่อยู่ต่างหาก

ที่ลึกลับซับซ้อนไปกว่านั้นคือ ทุนนิยมก็ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา มันกลับยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน และก็เพียงบอกเราว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว” และทุนนิยมย่อมเป็นความจริงเสมอไป

“ไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่มหาเศรษฐีอย่าง Bill Gates, Elon Musk และ George Soros ต่างก็วิจารณ์ทุนนิยม ในแง่นี้ถือว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ประหลาดอยู่เหมือนกัน ระบบอื่นๆ คงไม่ยอมให้อะไรแบบนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด”

ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จับหัวใจผมได้แน่นหนา – ความที่มันเข้ามาในชีวิตในวันที่ความไม่แน่ใจพลุ่งพล่าน เรากำลังทำอะไรอยู่ เราทำงานอย่างนี้ไปเพื่ออะไร เราโพสต์สเตตัสเฟสบุ๊กที่ดูฉลาดๆ ไปทำไม เราบริโภคของแบบนี้ไปได้อย่างไร ชีวิตเรามีเพียงเท่านี้จริงหรือ? เกิดขึ้นมา บริโภค แล้วตายไป? แล้ว – คำถามยอดฮิตก็เรืองโร่ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ – แล้วเราจะมีชีวิตไปทำไม

ผมไม่คิดว่า ‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ ชี้ทางออกแจ่มแจ้งให้เราเสียทีเดียวว่า ถ้าไม่ทุนนิยมแล้วจะอะไรกันแน่ (คำตอบนั้นชัดเจนในหนังสือเล่มอื่นของสรวิศ) แต่มันก็ทำหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กันกับผู้อ่าน นั่นคือมันขีดเส้นใต้คำถามที่เรามีอยู่ในใจทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าไม่ใช่ฉันที่มีคำถามนี้คนเดียว 

สำหรับบางคน เพียงการยืนยันคำถามก็สามารถเป็นเครื่องประคองใจที่จะทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวได้

และนั่นเอง ในสายตาของผม คือความน่าจะอ่านของหนังสือเล่มนี้

___

บาง ‘ประโยคแซ่บ แคปให้ด้วย’ จากหนังสือเล่มนี้ เผื่อคุณน่าจะอ่านมันมากขึ้น

  • เราได้เห็นกันแล้วว่าแม้ทุนจะพร่ำโอ้อวดเรื่องความแปลกใหม่และนวัตกรรม แต่วัฒนธรรมกำลังมีลักษณะเหมือนกันและคาดเดาได้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้นำไปสู่สถานการณ์ซึ่ง ‘ไม่มีใครรู้สึกเบื่อ แต่ทุกอย่างล้วนน่าเบื่อไปหมด’
  • ถ้าถามผม ความเพ้อฝันที่มีบทบาทสำคัญในทุกวันนี้คงไม่พ้นแนวคิดเรื่องการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจก… ซึ่งก็คือ ถ้าเราเป็นคนคิดบวก ไม่ย่อท้อ มีเป้าหมายที่อยากบรรลุอย่างจริงจัง ลงทุนกับตัวเราเองอย่างสมเหตุสมผล พัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไม่หยุด และอะไรอื่นๆ เราก็จะ ‘ได้ทุกอย่างที่ต้องการ’ และไม่ขาดเหลืออะไรอีก … พูดอีกอย่างก็คือ ใครก็แล้วแต่ที่เป็น ‘คนขี้แพ้’ จะไม่มีใครให้โทษนอกจากตัวเอง
  • นักศึกษาวัยรุ่นจำนวนมากของเขาประสบกับ ‘ความซึมเศร้าจากการไล่หาความสุข’ มันคือสภาวะที่ ‘ไม่ได้เกิดจากการที่คนคนนั้นไม่สามาารถหาความสุขได้ แต่เพราะคนคนนั้นไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากแสวงหาความสุข’
  • คนส่วนใหญ่ในโลกทุนนิยมยุคปลายรู้สึกว่าการทำงานคือ bukkake ที่ดำเนินไปไม่รู้จบ ใบหน้าอันอิดโรยของเราเปื้อนไปด้วยนำ้อสุจิเหนียวๆ แต่เราก็ต้องฉีกยิ้มและขอให้เจ้านายป้อนงานเราเพิ่มอีก สุโค่ยมั้ยล่ะ!

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save