fbpx
[ความน่าจะอ่าน] เมื่อดวงตาฉันมืดมิด ฉันกลับ 'ตาสว่าง'

[ความน่าจะอ่าน] เมื่อดวงตาฉันมืดมิด ฉันกลับ ‘ตาสว่าง’

บุญเลิศ วิเศษปรีชา เรื่อง

 

ตาสว่างไปกับ ‘นก’

 

ผมอยากจะเริ่มต้นด้วยการสารภาพว่า ผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบลงด้วยความรู้สึก ‘ตาสว่าง’ ไปพร้อมกับ ‘นก’ เป็นอาการตาสว่าง ในแง่มุมที่ต่างไปจากที่ผมคาดคิดไว้ก่อนอ่าน

เรียกว่าหนังสือเล่มนี้ แม้จะเล่าเรื่องโดยมีโครงเรื่องที่ผู้สนใจทางการเมืองน่าจะรับรู้อยู่แล้ว แต่ในตอนท้ายยังมีเซอร์ไพรส์เล็กๆ ให้ขบคิด

ระยะหลังคำว่า ‘ตาสว่าง’ มักถูกนำมาใช้ในความหมายทางการเมือง ในลักษณะที่ว่า ใครที่เพิ่งค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อหรือเข้าใจมาโดยตลอดนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด มักจะใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ ดังนั้นคำว่าตาสว่างจึงเป็นคำที่อิงอยู่กับบริบทไม่น้อย ว่า ‘ใคร’ คือผู้มีอาการ ‘ตาสว่าง’ ในสถานการณ์เช่นใด ฝ่ายไหนคือผู้ถืออำนาจ ฝ่ายใดเป็นผู้ต่อต้าน

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงอาการตาสว่างของ ‘นก’ ที่ดั้นด้นเข้ากรุงเทพฯ เพื่อคาดหวังชีวิตการงานที่ดีกว่าที่บ้านเกิดชนบทในจังหวัดอุดรธานี นกเคยระหกระเหินไปขายแรงงานไกลถึงภูเก็ต จนเกือบจะพลัดหลงหาทางกลับไม่เจอ ก่อนจะวกมาตั้งหลักที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ทำมาหากินด้วยการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อาชีพที่ทำให้นกเรียนรู้ว่า อำนาจรัฐ ระบบการเมือง การเลือกตั้ง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรมล่องลอยไกลตัว หากแต่เปรียบเหมือนลมที่กระทบปีกของ ‘นก’ อยู่เสมอ เป็นลมที่บางครั้งทำให้ชีวิตของนกพอจะทะยานปีกขึ้นบ้าง บางคราวลมการเมืองทำให้ชีวิตนกตกต่ำเรี่ยดินได้เช่นกัน

มากกว่านั้นความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศทางการเมือง โดยเฉพาะพายุมรสุมนอกระบบนอกฤดูกาล ยังพัดพาให้รัฐนาวาที่นกเคยคาดหวังว่า จะพาชีวิตของคนเล็กคนน้อยได้ลืมตาอ้าปากขึ้นบ้างต้องอับปางลง กระทั่งนกและผองเพื่อนกลายเป็นฝูงนกสยายปีกสีแดง ต้านพายุอำนาจนอกระบบเพื่อคาดหวังถึงสังคมที่เสียงของคนธรรมดาเช่นนกนับล้านคนจะเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจต้องรับฟัง

พายุการเมืองนอกฤดูกาลมีพลังแรงเกินต้าน เมื่อแปลงกลายเป็น แก๊สน้ำตา ห่ากระสุนยาง กระทั่งฝูงกระสุนจริง ทำให้นกต้องสูญเสียดวงตาไปในเหตุการณ์ความรุนแรงปี 53 แต่นั่นยังไม่ทำให้นกได้ ‘ตาสว่าง’ เท่ากับการปราศรัยของคนแดนไกล ที่ทำให้นกต้องถามตัวเองว่า การที่เขาต่อสู้จนต้องสูญเสียดวงตากลายเป็นชายตาบอดขายลอตเตอรี พี่หงส์ที่คอยประคับประคองช่วยเหลือเขาต้องเสียชีพ เหลือชีวิตที่ต้องอยู่กับ ‘ไก่’ เมียรักอย่างยากลำบากนั้น เขากำลังต่อสู้เพื่อใครกันแน่ ใครคือมิตรของผองคนเล็กคนน้อยเช่น ‘นก’ ‘พี่หงส์’ ‘ไก่’ ชื่อสมมติที่ล้วนเป็นสัตว์ปีก ราวกับจะสื่อถึงเจตจำนงโบยบินหาเสรีภาพ

 

เรื่องของคนธรรมดา

 

‘ตาสว่าง’ เล่าเรื่องอย่างไม่ซับซ้อน ไม่มีลูกเล่นแพรวพราวเหมือนวรรณกรรมที่ผู้เขียนใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ผูกเงื่อนให้ชวนติดตาม แต่ความเป็นธรรมดาของเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจโดยไม่ต้องเติมแต่ง

ผมชอบการเล่าเรื่องของนก เรื่องราวของคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้นำ ไม่ใช่ฮีโร่ ไม่มีคำคมมากมายพรั่งพรูจากปากของเขา แต่ถ้อยคำธรรมดาที่เขารู้สึกจากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงนั้นเองที่ทำให้ผมอ่านและตาสว่างไปพร้อมกับนก ดังความรู้สึกที่ว่า “ผมเสียใจที่สูญเสียดวงตา แต่เสียใจแทนเมืองไทยมากยิ่งกว่า ประเทศของเราต่างหากที่ตกอยู่ในมุมมืดไร้ความอยุติธรรม” (น.201)

มากกว่านั้น ในฐานะคนทำวิจัยและเขียนหนังสือ ‘อยู่กับบาดแผล’ ของเหยื่อจากความรุนแรงทางการเมือง (อันนี้มิใช่โฆษณาแฝงนะครับ) ผมยิ่งชอบเป็นพิเศษที่ ‘ตาสว่าง’ เล่าถึงชีวิตของคนธรรมดาที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง เรารู้เรื่องของพวกเขาและเธอน้อยมาก เราอาจไม่รู้เลยว่า ชายตาบอดที่เดินขายลอตเตอรีผ่านเราไป อาจเป็นชายผู้เคยใฝ่ฝันถึงอุดมคติพื้นฐานที่หลายคนกลับไม่เชื่อมั่นแล้ว นั่นคือความเสมอภาคเท่าเทียม

การช่วยกันเปิดพื้นที่ให้กับชีวิตเรื่องเล่าของคนธรรมดาเหล่านี้ เป็นการทำให้สังคมหันมาตระหนักในชีวิต และการสูญเสียของคนอย่างนกและเพื่อน โดยเฉพาะการต้องเจ็บปวดกับการสูญเสีย ดังความรู้สึกของนกที่ว่า “กระสุนปืนทำให้ผมสูญเสียดวงตา แต่การหักหลังของเขาทำให้ผมแหลกสลาย” (น.204)

การเล่าเรื่องของคนธรรมดาออกมาอย่าง ‘สมจริง’ อีกอย่าง คือ การไม่ฉายให้เห็นแต่ด้านที่งดงามของนก เป็นการไม่โรแมนติไซส์คนจน นกคือสามัญชนคนหนึ่งเหมือนกับอีกหลายๆ คนที่กระเสือกกระสนดิ้นรน มีเส้นทางชีวิต ทั้งในและนอกขนบ เคยบวชเรียน เคยจับพลัดจับผลูไปใช้ยาเสพติด คณะผู้เขียนฉายภาพในชั่วขณะนี้ได้อย่างดีว่าทำไมคนทำงานขายแรงจึงเริ่มต้นเข้าสู่การใช้ยากระตุ้นที่เรียกว่า ‘ยาม้า’ ก่อนที่จะถูกแปลงชื่อเป็น ‘ยาบ้า’ เหมือนตอนนี้

 

ความเป็นเรื่องเล่า

 

น่าสนใจที่บรรณาธิการเลือกที่จะเรียกเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ว่า ‘เรื่องเล่า’ ส่วนปกในของหนังสือบอกว่า ตาสว่างเป็นนิยายภาพ (graphic novel) ที่ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง พร้อมแจกแจงว่า ข้อมูลประกอบการเขียนมาจากการค้นคว้าทางด้านมานุษยวิทยาถึงสิบปี รวมกับบทสัมภาษณ์อีกกว่าร้อยชั่วโมง และยังมีการค้นคว้าภาพถ่ายและพิมพ์ภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งจากหอสมุดแห่งชาติ หอภาพยนตร์ และของสะสมส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อนำมาวาดภาพประกอบให้สมจริง สอดคล้องกับยุคสมัยและสถานที่

จากวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลข้างต้น ไม่สงสัยว่า คณะผู้เขียนสามารถนำเสนองานเขียนในรูปแบบงานวิชาการที่หนักแน่นออกมาได้ไม่ยาก ดังที่ คลาวดิโอ โซปรันเซ็ตติ หนึ่งในคณะผู้เขียน มีผลงานหนังสือเล่มออกมาถึงสองเล่ม คือ Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok (2017) ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล Margaret Mead Award รางวัลที่มีชื่อเสียงของสมาคมนักมานุษยวิทยาอเมริกัน (American Anthropologist Association) ประจำปี 2019 อีกเล่มคือ Red Journeys:  Inside the Thai Red-Shirt Movement (2012) และบทความของเขาชื่อ Owners of the Map: Mobility and Mobilization among Motorcycle Taxi Drivers in Bangkok ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ในปี 2014 ในวารสาร City & Society ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำในแวดวงมานุษยวิทยาเมือง โดยได้รับรางวัล SUNTA Graduate Essay มาก่อน

ดังนั้นการที่คณะผู้เขียนเลือกที่จะฉีกรูปแบบการนำเสนอจากงานวิชาการมาเป็นรูปแบบนิยายภาพ จึงมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า เป็นการขยายกลุ่มผู้อ่านที่อยู่นอกแวดวงวิชาการให้เข้าถึงเนื้อหาง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็ไม่ต้องพะวงกับการนำเสนอประเด็นข้อโต้แย้ง (argument) ตามขนบของงานวิชาการ หากแต่ใช้สายตาของนกและผองเพื่อน บอกเล่าความเป็นมา ความขัดแย้ง และความเป็นไปผ่านสายตาของชีวิตคนธรรมดาท่ามกลางสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ดังสะท้อนให้เห็นภาพทางด่วนพาดข้ามหัวของคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งพวกเขาไม่มีสิทธิใช้ ทำนองเดียวกับทางด่วนในเมืองหลวง ที่คนจนไม่ได้ใช้

ขณะเดียวกันการนำเสนอในรูปเรื่องเล่า ทำให้เราเห็นชีวิตชีวาของผู้คนในเรื่องเล่า เห็นบรรยากาศของสถานที่หลายแห่งทั้งบ้านของนกที่อุดรธานี ย่านสลัมสมัยที่นกเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้างที่ภูเก็ต

ถึงที่สุดแล้วผมคิดว่าเป้าหมายของงานมานุษยวิทยา คือการนำเสนอเรื่องราวเพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากการนำเสนอด้วยรูปแบบเรื่องเล่า ทำให้คนในสังคมรู้จักเข้าใจเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันมากขึ้น จึงเป็นความพยายามที่น่าชื่นชม

อีกประการ ผมชอบที่บรรณาธิการบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่า – เรื่องเล่าที่มีภาพประกอบ – ดูเหมาะกว่าคำว่านิยายภาพ เพราะคำหลังให้ความรู้สึกถึงการเป็นเรื่องแต่งมากกว่าคำว่าเรื่องเล่า ที่ให้ความรู้สึกว่าผู้คนในเรื่องเล่านั้นมีชีวิต มีตัวตน มีความรู้สึกดังที่เรื่องเล่านั้นนำเสนอ

ท้ายที่สุด ผมคิดว่า หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราอาจไม่เพียงตาสว่างไปพร้อมกับนกที่เรื่องราวของเขาจบลงเมื่อปี 2554 เท่านั้น

หากหัวใจของเราไม่มืดบอดเกินไป การเปิดใจให้กว้าง ยอมรับรู้รับฟังเรื่องราวของคนอื่นๆ ที่ต่างจากแง่มุมที่เรารับรู้เป็นประจำ โดยเฉพาะเสียงและการเคลื่อนไหวของเยาวชนร่วมสมัย

บางที เราอาจจะ ‘ตาสว่าง’ ร่วมกันอีกครั้งในปี 2563

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save