fbpx
ความยุติธรรมไทย 2018 : ปีแห่งสิทธิมนุษยชน (แค่ในกระดาษ)

ความยุติธรรมไทย 2018 : ปีแห่งสิทธิมนุษยชน (แค่ในกระดาษ)

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

‘ความเป็นธรรม’ เป็นสิ่งที่ผู้คนร่ำร้องเรียกหาทุกยุคสมัย เพื่อไปให้พ้นจากสังคมที่ลดทอนคุณค่าคนไม่ให้ยืนอย่างเสมอภาค สังคมที่กฎหมายถูกเลือกหยิบใช้อย่างไม่เสมอหน้า สังคมที่ความยุติธรรมถูกครอบครองโดยคนบางกลุ่ม และสังคมที่มีการล้อมฆ่ากลางเมืองแล้วไม่เอาผิดคนกระทำ

แม้จะเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากพยายามหาทางออก เพื่ออุดช่องว่างในระบบความยุติธรรมที่ทำให้คนไม่เท่าเทียม แต่ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ยังเติบโตอย่างแข็งแรงโดยมีคนในสังคมร่วมกันอุ้มชู

มองย้อนไปในปี 2018 ที่ผ่านมา บทความจำนวนมากใน 101 พูดถึงเรื่องความยุติธรรมในหลากหลายด้าน ทั้งในแง่กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม ในช่วงปีที่ 4 ของรัฐบาลทหารที่พูดซ้ำๆ เรื่องการปฏิรูปปัญหาหลายด้านในสังคมไทย รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และมีการยกสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติในเอกสาร แต่ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นผลงาน เมื่อเป็นรัฐบาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

มองผ่านบทความของ 101 จะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่หายไป คือการพยายามต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมโดยภาคประชาชน ทั้งจากคนตัวเล็กตัวน้อยหรือการรวมพลังกันในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังเป็นส่วนสำคัญที่จะเอื้อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมไทย การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 จึงอาจเป็นความหวังว่าจะทำให้ได้รัฐบาลที่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ยุติธรรมที่ขาดหาย

 

จากปี 2558 ที่ประมงไทยโดนใบเหลืองจาก IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) จนต้องเร่งรื้อปัญหามาแก้ แต่สิ่งที่ตามมาตอนนี้ คือข้อกำหนดกฎหมายหลายร้อยฉบับ ที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการลง กระทบต่อผู้ใช้แรงงานในธุรกิจเรือประมงที่เป็นงานหนักจนคนไทยไม่นิยมทำ เปิดโอกาสให้แรงงานเพื่อนบ้านได้เข้ามาทำแทน 101 พาไปสำรวจธุรกิจนี้อย่างรอบด้านในผลงานชุด ‘ชีวิตติดร่างแห’ ทั้งในแง่การจัดการทรัพยากรและปัญหาแรงงาน สำรวจความหวังในดวงตาแรงงานพลัดถิ่นกับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า

อีกกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาจากการไม่มีพื้นที่ในสังคม จนต้องเดินเข้าสู่อาชีพขอทาน คือคนพิการที่ถูกทำให้กลายเป็นวัตถุแห่งการทำบุญ และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ในประเด็นนี้ วันดี สันติวุฒิเมธี พาไปคุยกับ ต่อพงศ์ เสลานนท์กับภารกิจ และถ่ายทอดออกมาในบทความ ปลดล็อค ‘กรงขังความคิด’ ปิด ‘โรงงานขอทาน’ กับโครงการนำร่องสร้างอาชีพให้ครอบครัวคนตาบอด

“การแยกคนพิการออกมาอยู่ในสังคมของคนพิการด้วยกัน ทำให้คนพิการกลายเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมไทย ปัญหาต่างๆ จึงโยงใยกันไม่จบสิ้น อาทิ การถูกหล่อหลอมให้เป็น ‘ผู้รับบริจาค’ เพียงด้านเดียว หรือการถูกมองว่าเป็น ‘วัตถุแห่งการทำบุญ’ ในสายตาคนทั่วไป รวมไปถึงปัญหาการมองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง จนอาจนำไปสู่การก้าวข้ามพรมแดนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สู่อาชีพขอทานในที่สุด”

ยังมีสิทธิอันไม่เท่าเทียมในเรื่องดวงตาที่คนทั่วไปอาจนึกไม่ถึง คือกลุ่มของ ‘คนตาบอดสี’ บทความ สิทธิที่หายไป ใน ‘โลกต่างสี’ พาไปพบโลกต่างเฉดกับปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่ถูกแก้ เช่น เรื่องมาตรฐานการสอบใบขับขี่ และการออกแบบสัญญาณไฟจราจรให้เป็นมิตรกับคนตาบอดสี

อีกประเด็นร้อนเรื่องสุขภาพในปี 2018 คือเรื่อง ‘บัตรทอง’ ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากคนที่มองว่าโครงการนี้เป็นภาระของประเทศชาติ และทำให้ชาวบ้านไม่ดูแลตัวเองเมื่อมีการรักษาฟรี

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ บอกเล่าผ่านคอลัมน์หลักประกันสุขภาพที่รัก ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ว่าด้วยสิ่งที่สังคมได้รับผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และท่ามกลางสังคมที่พร้อมจะสร้างคนป่วย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งเดียวที่เข้ามาช่วยประกันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่เรื่องอื่นยังมีรอยรั่วอยู่มาก

“เป็นที่ประจักษ์ว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้คนยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีเงินเหลือไปช่วยเรื่องอื่นๆ ของครอบครัว คนไทยทุกคนควรดีใจที่เรามีสังคมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คิดดีๆ ว่าหากสังคมมีคนยากจนมากกว่าที่เป็นอยู่ คนที่พอมีจะมีความสุขได้อย่างไร

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้ชนชั้นกลางที่ทำงานหนักทั้งชีวิตไม่ยากจนเฉียบพลัน ชนชั้นกลางในประเทศนี้กว่าจะผ่อนรถและบ้านเสร็จก็อายุ 50 ปีแล้ว ป่วยด้วยเส้นเลือดสมองแตก โรคไต หรือมะเร็ง เงินที่สะสมทั้งหมดหายได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อีกข่าวใหญ่ในแวดวงสุขภาพที่เกาะติดกันมาทั้งปี จนมีข่าวดีช่วงปลายปีนี้ คือการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้ในการแพทย์  ธิติ มีแต้ม พาไปสำรวจเส้นทางการแก้กฎหมายใน ฝุ่นตลบ ‘กัญชา’​ และ ‘ปฏิกิริยา’​ จากโลกเก่า ที่มีข้อสังเกตถึงปฏิกิริยาจากแวดวงต่างๆ รวมถึงท่าทีทางการเมืองที่น่าสนใจ

ไม่ง่ายที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมายที่จะยกระดับสิทธิและความเป็นธรรมในสังคมได้ หากไปกระทบกับระบบที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย ที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายประชาชน ที่จะส่งผลให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดต่อการกระทำนั้นด้วย

“การซ้อมทรมานเป็นนรกโลกันต์ที่ใครได้สัมผัสแล้วจะเข้าใจ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครถูกกระทำจะรู้ได้ว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจในการละเมิดประชาชนแบบนี้อยู่ เรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว ‘อ๋อ ตำรวจซ้อมประชาชนเหรอ มันก็ทำกันทั้งนั้น’ อย่ายอมรับว่านี่เป็นวิถีชีวิตหรือเป็นอัตลักษณ์ของประเทศเรา”

ปัญหา ‘อุ้มหาย’ ไม่ใช่อาชญากรรม ‘ซ้อมทรมาน’ ไม่มีคนผิด เป็นรอยด่างพร้อยในระบบความยุติธรรมไทยมาเนิ่นนานที่น่าจะถึงเวลาสร้างทางออก

เรื่องนี้เกี่ยวพันกับกรณีการส่งตัวกลับผู้ลี้ภัย จากอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนาม ซึ่งระบุห้ามส่งตัวกลับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทรมานและอุ้มหาย แต่สิ่งที่เราทำมาตลอดคือ การจับผู้ลี้ภัยขังแล้วส่งกลับให้ไปเผชิญอันตรายในประเทศที่เขาหนีมา เช่นล่าสุดที่มีการส่งตัวกลับผู้ผลิตสารคดีเรื่องค้าประเวณีในกัมพูชา และการควบคุมตัวนักฟุตบอลบาห์เรนที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมือง และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลียแล้ว

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ในฐานะเพื่อนของผู้ลี้ภัย พาไปพบโลกที่หลบซ่อนอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ชาติต่างๆ ที่หวังหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่กลับพบความทุกข์ทรมานซ้ำจากการที่ประเทศไทยไม่ให้การรับรองผู้ลี้ภัย นำไปสู่การจับกุมในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่บางรายมีโอกาสถูกขังไปตลอดชีวิตโดยไม่ได้ก่ออาชญากรรม

“ผมเชื่อว่าถ้าไทยมีกฎหมายรับรอง ผู้ลี้ภัยจะอยู่ง่ายขึ้น แต่เมื่อเขาทำงานได้ จะมีคนไทยพูดว่าผู้ลี้ภัยมาแย่งงานทำ ประเด็นคือผู้ลี้ภัยไม่ได้มีเป็นล้านคน ไม่ได้ทำให้คนไทยตกงานระนาว ผมคิดว่าจะดีกับไทยด้วยซ้ำ เหมือนแรงงานพม่า ลาว เขมรที่มาทำงานในไทย”

และแน่นอน การช่วยเหลือของศักดิ์ดาเป็นเพียงปลายเหตุ การออกจากสภาพที่ทำให้คนถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมนี้ต้องมุ่งไปที่ต้นเหตุคือการแก้ไขกฎหมาย

 

ยุติธรรมในเพศ

 

ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกยังคงพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ที่เริ่มจากกระแส #metoo ต่อเนื่องมาจากปี 2017 ที่จุดขึ้นมาจากการคุกคามทางเพศในฮอลลีวู้ด ซึ่งบทความของเอกศาสตร์ สรรพช่าง ได้พาไปสำรวจความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลก

หันกลับมามองสถานการณ์ในไทย แม้จะมีการรณรงค์ให้ทำความเข้าใจปัญหาจากการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ทัศนคติการกล่าวโทษเหยื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุ ก็ยังคงมีอยู่ เช่นที่ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปพบกับเรื่องเล่าของ ‘พลอย’ ใน “ก็เธอไปหาเขาเอง” เมื่อเหยื่อถูกข่มขืนซ้ำในกระบวนการยุติธรรม หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ ที่เมื่อตัดสินใจเดินเข้ากระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการลงโทษคนผิด แต่กลับต้องเจอการสร้างบาดแผลซ้ำๆ จากเจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอนจนถึงการข่มขืนซ้ำผ่านสื่อมวลชน จนทำให้เหยื่อ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่กล้าเดินเข้ากระบวนการยุติธรรม

“ทันทีที่ผู้หญิงคนนั้นเข้ามาแจ้งความหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาถูกตีตราทันทีเลยว่าเป็นคนไม่ดี ตามมาตรฐานที่สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้นชุดคำถามที่พอไปถึงโรงพัก ก็จะมาด้วยคำถามที่เป็นลักษณะกล่าวโทษเหยื่อ …กลายเป็นว่าเหยื่อก็ยังถูกตำหนิ แล้วก็มุ่งว่าสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นเพราะคุณเป็นหญิงไม่ดี”

นอกจากผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว ยังมีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กรูปแบบใหม่จากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นโลกดิจิทัล กลายเป็นความท้าทายใหม่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีการตามหาเบาะแสบนโลกดิจิทัล ใน เด็ก และ อาชญากรรมที่เกิดบนก้อนเมฆ รวมถึง การใช้ตุ๊กตาในการสืบสวน เพื่อลดผลกระทบทางจิตใจของเด็ก

แต่สิ่งที่จะทำให้เหตุร้ายบรรเทาลงได้ คือการป้องกันให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัย เช่น ที่จอดรถผู้หญิง อันนำมาสู่ข้อถกเถียงใหม่ว่าการสร้างที่จอดรถผู้หญิงนั้นเป็นการเหยียดเพศหรือไม่ จนนำมาสู่ความเห็นที่ว่าควรสร้างที่จอดรถซึ่งปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการทุกเพศ แนวโน้มการสร้างลานจอดรถในอนาคตจึงควรเป็น ‘ที่จอดรถที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน’ จึงจะเรียกได้ว่าเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

พื้นที่ความเท่าเทียมเพื่อมนุษย์ทุกเพศสภาพ เป็นสิ่งที่ อันธิฌา แสงชัย พยายามสร้างให้เกิดขึ้น ผ่านลูกฟุตบอลที่คนมองว่าเป็นกีฬาของเด็กผู้ชาย และยิ่งเป็นความท้าทายในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เกิดภาพเด็กหญิงสวมฮิญาบเตะฟุตบอล ในบทสัมภาษณ์ เมื่อความรักครองบอล : ฟุตบอลสนทนากับอันธิฌา แสงชัย

เมื่อพูดถึงความตื่นตัวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศของไทยช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นที่มาแรงคือเรื่อง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เป็นความหวังของเพศหลากหลายว่าจะช่วยทำให้มีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับเพศชายหญิงในสังคมไทย แต่เมื่อร่างฉบับล่าสุดออกสู่สายตาสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน กลับสร้างความผิดหวัง เมื่อมันกลายเป็นกฎหมายที่มุ่งจัดการทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต มากกว่าจะทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

ขนมหวานจาก คสช. ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ คนเท่ากันแต่ยังไม่เท่าเทียม พาไปดูข้อถกเถียงในแวดวงนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ที่มองกฎหมายฉบับนี้ว่าอาจเป็นเพียงการหยิบยื่น ‘ขนมหวาน’ จากรัฐบาลทหาร โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้แล้ว

นอกจากบริบทของความเท่าเทียมทางเพศ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ยังพาไปสำรวจ ความหมายของความรักในกฎหมาย ผ่านคำพิพากษา ซึ่งทำให้เข้าใจนิยามความรัก ชีวิตคู่ และเพศวิถีในมุมมองของตุลาการด้วย

 

ยุติธรรมในระบบ

 

อีกข่าวใหญ่ในแวดวงตุลาการช่วงปีที่ผ่านมา คือการยื่นรายชื่อผู้พิพากษา 1,700 คนทั่วประเทศ เพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รายหนึ่ง นำมาสู่การลงมติของผู้พิพากษาทั่วประเทศเห็นชอบให้ถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิชั้นฎีการายดังกล่าว หลังจากที่ปีก่อนนั้นมีเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง อันทำให้เกิดตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา’ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

คอลัมน์ของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ใน 101 ช่วงปีที่ผ่านมา พาไปมองความยุติธรรมในกฎหมายโดยเฉพาะแวดวงตุลาการ เริ่มตั้งแต่ การเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาของนักศึกษากฎหมาย ที่บากบั่นยากเย็นราวกับลอดรูเข็มเพื่อให้ได้มาซึ่งการเปลี่ยนสถานะทางสังคม ผ่านกระบวนการคัดเลือกที่ให้น้ำหนักบุคคลที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศมากกว่า และเมื่อก้าวสู่แวดวงตุลาการได้แล้ว เป้าหมายขั้นต่อไปคือตำแหน่งสูงสุดทางอาชีพ อันมี ระบบการให้คุณให้โทษ ‘แบบปิด’ ที่มี ก.ต. เป็นผู้ทำหน้าที่หลัก และถูกแทรกแซงจากอำนาจภายนอกได้น้อย ซึ่งมีคำอธิบายว่า “เพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่” นอกจากนี้ยังมีข้อชวนคิดเรื่องความสัมพันธ์กับอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยเฉพาะที่ปรากฏในศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากบทบาทของตุลาการแล้ว ยังมีบทความของ ประเทศอันอุดมสมบูรณ์ด้วย “คณะยอดมนุษย์” ของ อิสร์กุล อุณหเกตุ ชี้ชวนมองบทบาทของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำในคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดอยู่ในกฎหมายแทบจะทุกฉบับ โดยเฉพาะในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ 130 คณะ อันนำมาสู่คำถามถึงเบี้ยประชุมและการใช้เวลาราชการอย่างคุ้มค่า

อิสร์กุลยังเขียนถึง ผลประโยชน์ทับซ้อน : จากหลักการถึงร่างกฎหมายแบบไทยๆ จากกรณีเมื่อต้นปีที่กระทรวงสาธารณสุขห้ามเจ้าหน้าที่ในสังกัดชาร์จไฟมือถือส่วนตัวเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ต้องออกประกาศยกเลิกตามหลังเพราะโดนต่อต้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการจัดการปัญหาทุจริตของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเรื่องนาฬิกาหรูรองนายกฯ เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งคดีนี้ในมือของ ป.ป.ช. ก็ทำงานอย่างเชื่องช้า

ความย้อนแย้งในการจัดการ ‘ปัญหาคอร์รัปชัน’ ของรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ให้ไว้เมื่อครั้งยึดอำนาจปี 2557 กลับกลายเป็น ‘เรื่องโจ๊ก’ เมื่อมีการทำคลอด พ.ร.ป. ป.ป.ช. อันเป็นมิติใหม่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน จากเดิมที่กำหนดแค่นักการเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ก็กำหนดให้ข้าราชการต้องยื่นเพิ่มด้วย หวังจะเห็นการ ‘ปราบโกง’ อย่างเด็ดขาดราบคาบ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนในรัฐบาลต้องแห่กันลาออกจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ กระทั่ง มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นคนร่างกฎหมายนี้เองก็โบกมือลาตำแหน่ง จน คสช. ต้องใช้ ม.44 ยกเว้นให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยและกรรมการในองค์กรมหาชนไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ปัญหาคอร์รัปชันที่แทรกซึมในสังคมไทย มีความพยายามหาวิธีแก้ไขอย่างหลากหลาย บทความ มองคอร์รัปชันด้วยสายตาใหม่ ‘โกงแบบไทยๆ’ ที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการพยายามมองคอร์รัปชันในมุมใหม่ จากงานวิจัยที่ไปศึกษาคอร์รัปชันเชิงพื้นที่ และค้นพบมุมใหม่ของ ‘การโกงแบบไทยๆ’ คลิปวิดีโอ ทำไมคนไทยขี้โกง ? อธิบายภาพดังกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กลายเป็นอีกความหวังในการเข้ามาจัดการปัญหานี้ ด้วยการทำให้เกิดความโปร่งใสผ่านบล็อกเชนและโอเพ่นดาต้า จนกลายเป็นหนึ่งในนโยบายแก้คอร์รัปชันที่หลายพรรคการเมืองพูดตรงกันในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่จะทำได้เฉพาะในระดับนโยบายภาครัฐเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือให้ภาคประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยรวมพลังให้เกิดการตรวจสอบ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติได้

 

ยุติธรรมด้วยมือเรา

 

การแก้ปัญหาด้านความยุติธรรมคงเป็นจริงได้ยากและเชื่องช้า หากรอเริ่มจากภาครัฐ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีของ ‘ป้าขวานทุบรถ’ ที่ใช้ความรุนแรง ทำให้สังคมเห็นว่าเธอตกเป็นเหยื่อความอยุติธรรม จากบทสัมภาษณ์ ป้าขวานกับจักรวาลความรุนแรงในสายตานักสันติวิธี จันจิรา สมบัติพูนศิริ ชวนมองประเด็นการใช้ความรุนแรงจากในุม ‘เหยื่อของระบบ’

“ถ้าพูดอย่างแฟร์ๆ สันติวิธีไม่ได้อยู่ตรงข้ามความรุนแรง สันติวิธีอยู่ตรงข้ามกับความจำนน การไม่ทำอะไรเลย และการยอมแพ้ ถ้าลองดูกรณีตัวอย่างของคุณป้า สิ่งที่คุณเห็นก็คือเส้นทางยาวๆ ที่แกเลือกใช้สันติวิธีแล้ว ก่อนต่อเนื่องไปใช้การทุบรถ”

ขยับมาในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของการรวมตัวกันในชุมชนเพื่อเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัย ที่ดำเนินยืดยาวมา 26 ปีคือ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ชุมชนเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์อันถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ จากแผนแม่บทการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ที่มุ่งอนุรักษ์โบราณสถานจนชีวิตของผู้คนถูกมองข้าม

แม้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬจะพยายามปรับตัวสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ โดยสัญญาว่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แต่ก็ไม่อาจต้านทานอำนาจรัฐที่ต้องการเพียงโบราณสถานที่ไม่มีสิ่งมีชีวิต และปิดฉากการต่อสู้ลงด้วยการทุบทำลายบ้านเรือนทั้งหมดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ มองป้อมมหากาฬผ่านเมือง Chania ประเทศกรีซ แหล่งอารยธรรมโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่ ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและชาวบ้าน จนมีแผนแม่บทในการอนุรักษ์เมืองเก่าและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลก พร้อมตั้งคำถามกับแนวคิดแผนแม่บทที่จะทำให้เกาะรัตนโกสินทร์กลายเป็นเมืองอนุรักษ์ที่ไม่มีชีวิต ย่อมหมายถึงอีกหลายโครงการที่จะกระทบวิถีชีวิตคนจำนวนมาก

อีกหนึ่งเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนที่ วันชัย ยกมา คือเรื่อง กรรมกรผู้กล้าฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเรียกร้องธรรมชาติกลับคืนมา เรื่องราวของลุงเฉลียว ยันสาด กรรมกรรับจ้างที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ที่ดินสาธารณะถูกบุกรุกจับจองเป็นที่ดินส่วนบุคคลอย่างไม่เป็นธรรรม กว่า 20 ปีในการต่อสู้ สุดท้ายพื้นที่ชุ่มน้ำก็กลับมาเป็นของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เห็นถึงพลังของคนธรรมดา

“ลุงทำสำเร็จอย่างเงียบๆ ไม่มีใครมาให้เกียรติยศหรือรางวัลใดๆ ทุกวันนี้ลุงยังเป็นกรรมกร ทำงานรับจ้างเหมือนเดิม ผมถามลุงว่า ทำไมต้องเสี่ยงชีวิต มาทำเรื่องแบบนี้ “ทำก่อนตาย ตายแล้วไม่ได้ทำ” แววตาผู้ชายตัวเล็กๆ ทำให้คนถามรู้สึกอายขึ้นมาทันที ตอนไปพวกผมตั้งใจไปให้กำลังใจลุงเฉลียวที่ทำงานเสียสละ พอฟังเรื่องของลุงแล้ว เรารู้สึกว่าลุงเฉลียวให้กำลังใจพวกเรามากกว่า”

การเรียกร้องความยุติธรรมของชุมชนจะเป็นไปอย่างยากลำบาก หากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องมาตอบโต้ เช่นการทำงานของ สมพร เพ็งค่ำ : เสียงของชุมชนกับผลกระทบเรื่องสุขภาพ คนแรกๆ ที่เริ่มจัดทำ ‘การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน’ เพื่อให้ชุมชนได้ส่งเสียง และมีศักยภาพในการประเมินผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง

“ที่ผ่านมาการตัดสินใจนโยบายโครงการต่างๆ ใช้ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แต่ความรู้ชุมชนมักจะถูกนิยามว่า เป็นความคิดเห็นและข้อห่วงกังวล แต่ชุมชนคือคนที่รู้เรื่องบ้านตัวเองดีที่สุด รู้เรื่องระบบนิเวศ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกอธิบายออกมาอย่างเป็นระบบ ไม่ได้เอามาใช้ร่วมกับข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะรู้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นคือทางไหน ตรงนี้ต่างหากที่มันขาด”

อีกหนึ่งผู้อยู่ในบทบาทสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรม คือ ‘ไอดา อรุณวงศ์’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์และวารสานอ่าน ที่เปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์ ความในใจที่ ‘นายประกัน’ ไม่เคยบอก ว่าด้วยการรอคอยความยุติธรรมที่ไม่มีหมุดหมาย เหน็ดเหนื่อยยืดเยื้อเหมือนชีวิตของคนภายใต้ระบอบการปกครองปัจจุบัน จากชีวิตคนทำหนังสือ จึงต้องจับพลัดจับผลูมารับหน้าที่ ‘นายประกัน’ ให้ผู้ที่ถูกจับจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหลังการยึดอำนาจของ คสช.

“ตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เริ่มที่สถานีตำรวจ แต่เริ่มที่ค่ายทหาร เมื่อเขาจับใครสักคนไป เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรต่อจากนั้น มันไม่อยู่ในระบบหรือตำราปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น จะเอาไปกี่วัน จะให้ทนายเข้าพบไหม เอาไปไว้ตรงไหน กระทั่งว่าพอจับไปแล้ว ก็ยังหลอกล่อเรา บอกว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เราก็วิ่งตามเหมือนคนบ้า”

“เมื่อมีคนแสดงออกว่าเขาไม่ยอมรับ และเขาถูกดำเนินคดี เราเห็นว่ามันมีช่องโหว่อยู่จุดหนึ่งคือ ในขั้นแรกสุดก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดี มันต้องประกันตัว เพื่อไม่ให้เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำ ตรงนี้ยังไม่มีองค์กรอะไรรองรับ มีแต่กลุ่มวิชาชีพทนายที่รองรับแต่ในเรื่องคดี พอมันมีช่องว่างตรงนี้ ตอนแรกๆ เขาก็ขอให้เราไปช่วยประกันหน่อยได้ไหม เราก็ไป ไปแบบไม่คิดอะไร แต่พอมีเหตุเกิดขึ้นบ่อยเข้า เราก็กลายเป็นนายประกันเจ้าประจำไปโดยปริยาย”

แม้กำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่ไอดามองว่าไม่ได้ทำให้เกมเปลี่ยนไป เพราะเป็นเกมที่ประชาชนไม่ใช่ผู้ควบคุม จนอาจมองได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์

 

ยุติธรรมในการลงทัณฑ์

 

ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากจากทุกฝ่ายการเมือง เหตุการณ์หนึ่งที่เป็นความรุนแรงก่อนการรัฐประหาร 2557 คือคดี ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ที่มีการพิพากษาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิบายการลงทัณฑ์ครั้งนี้ผ่านบทความ ‘อาชญากรไม่ได้หล่นมาจากฟ้า แต่ผุดขึ้นจากเนื้อนาดินของสังคม’ มองย้อนความรุนแรงทางการเมืองในทศวรรษ 2550 ที่มีการสร้างความเกลียดชัง เปลี่ยนฝ่ายตรงข้ามให้เป็นสัตว์จนเปิดทางการใช้ความรุนแรงถึงชีวิต

เขาตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สม่ำเสมอของแนวคำพิพากษาระหว่างศาลทั้งสามชั้น อันเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับความเสมอหน้าของกระบวนการทางกฎหมายในกรณีการเสียชีวิตที่เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนอย่างใกล้ชิด เช่นกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่จนถึงปัจจุบันก็สำแดงท่าทีว่าจะหาตัวผู้กระทำผิดไม่พบ

“อาชญาวิทยาแนววิพากษ์ (Critical Criminology) สำนักหนึ่ง ได้เสนอว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่กลไกในการจัดการความขัดแย้งระหว่างผู้คนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หากเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำในการกำกับควบคุมผู้คนที่อยู่ภายใต้อำนาจปกครอง การบัญญัติความผิดทางกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายในความเป็นจริง จะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นก็เฉพาะกับสามัญชนทั่วไป แต่ขณะที่การกระทำในลักษณะเดียวกันของบุคคลที่มีอำนาจในกลไกของรัฐ อาจไม่เป็นความผิด หรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นก็ได้”

แม้คดีมือปืนป๊อปคอร์นจะยุติลงที่คำตัดสินของศาลฎีกา แต่สำหรับผู้กระทำผิด การถูกพิพากษาจำคุกไม่ใช่ ‘ปลายทาง’ แต่เป็นการเริ่มต้นสู่ความเปลี่ยนแปลง

หากสังคมเชื่อว่าการจำคุกเป็นการลงโทษ เพื่อให้ผู้กระทำผิดพบความเลวร้ายอย่างสาสม เมื่อนั้นคนที่ออกจากคุกจะไม่ได้เรียนรู้ และมีโอกาสทำผิดซ้ำหลังถูกปล่อยตัวหากชีวิตไม่เหลือทางเลือกที่ดีกว่า คุกจึงควรเป็นสถานที่ที่แก้ไขและฟื้นฟูให้ผู้กระทำผิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

ภาพชุด แสงเรื่อเรืองในเรือนจำ จาก ธิติ มีแต้ม สะท้อนภาพเรือนจำที่ควรเป็นตามมาตรฐานสากล เพื่อยืนยันว่าการถูกจองจำไม่ได้ทำให้ผู้ต้องขังสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ และเห็นโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมโดยไม่เดินย้อนกลับมาอีก สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ ผู้หญิง แม่ และเด็ก: ‘เหยื่อ’ ที่ระบบยุติธรรมไทยมองไม่เห็น – ชลธิช ชื่นอุระ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเรือนจำที่เหมาะกับเพศสภาพ โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบไปถึงเด็กที่แม่ต้องเข้าคุก กระทั่งคลอดในคุก

“เมื่อเราคิดถึงคุก เรามักคิดถึงผู้ชาย เพราะคุกถูกออกแบบโดยผู้ชาย สร้างโดยผู้ชาย และเพื่อผู้ต้องขังชาย ไม่ใช่ผู้ต้องขังชายทั่วไปแต่เป็นวัยหนุ่ม เพราะฉะนั้น กระบวนการเหล่านี้สร้างความไม่เท่าเทียมให้คนอื่นในตัวของมันเองแล้ว การที่เราไปช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้หญิงจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมอย่างแท้จริง”

การให้โอกาสเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งสำหรับผู้ก้าวพลาด ซึ่งจะเริ่มต้นจากการมีความหวังในตัวมนุษย์ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นแนวคิดที่ ทิชา ณ นคร หรือ ‘ป้ามล’ นำมาใช้ผ่าน วิชาชีวิตบ้านกาญจนา คืนเยาวชนผู้ก้าวพลาดสู่สังคม ที่มุ่งบำบัดเยาวชนผู้กระทำผิด มากกว่าการลงโทษให้หลาบจำ ด้วยหลักคิดที่ว่า มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีหลายปัจจัยผลักดันให้เขากระทำความผิด ก็ต้องมีปัจจัยผลักดันให้เขากลับไปเป็นคนทำถูกได้เช่นกัน

“สิ่งที่คนอื่นบอกว่า เขาเปลี่ยนไม่ได้ ตอนนี้เราไปสั่นคลอนความเชื่อเก่าๆ เดิมๆ ที่พัดพาเขาไปอยู่ในที่มืดมิด แล้วจากนั้นเราก็เริ่มผลิตซ้ำรูปธรรมของคุณค่าหลากหลายรูปแบบให้เขาซึมซับไปเรื่อยๆ จนเขาเชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนดีได้เหมือนกัน”

ผลผลิตจากบ้านกาญจนาฯ สร้างผลลัพธ์อันน่ามหัศจรรย์ เช่นเรื่องราวของ ‘ใหญ่’ และ ‘เล็ก’ ใน มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น จากความมุ่งมั่นหวังตามเข้าไปแก้แค้นถึงชีวิต กระบวนการขัดเกลาด้วยใจ เปลี่ยนคู่กรณีที่ฆ่าพ่อตัวเองให้กลายเป็นเพื่อน

“ผมก็ให้เพื่อนหาเหล็กแหลมให้ ผมไม่ได้ต้องการมาแค่กระทืบเล็กแล้วถูกย้ายไปที่อื่น ผมต้องการชีวิตเขา” เป็นความคิดแรกของใหญ่ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ่งแวดล้อมรอยตัวทำให้เขารู้ว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ “บ้านกาญจนาฯ เขาให้ความอบอุ่น ที่เคยเชื่อว่าไม่มีที่ไหนไม่ใช้ความรุนแรง และโลกมีแค่คนถูกกระทำกับคนกระทำคืน ผมก็เปลี่ยนความคิด รู้ว่าเราเลือกได้ ชีวิตมีทางเลือก เราไม่ต้องฆ่ากันก็ได้”

ในมุมกลับกัน ถ้าย้อนกลับไปวันที่เล็กเผลอลงมือ เป็นวันที่ผู้คนใช้เฟซบุ๊คกันสนุกมือ แทนที่เขาจะได้เข้าบ้านกาญจนาฯ ไปขัดเกลาใหม่ ก็อาจถูกประหารจากความคิดของผู้คนไปก่อนแล้ว

“โลกโซเชียลเหมือนภาพสะท้อนว่าสังคมทำตามๆ กันไป มึงพิมพ์ กูพิมพ์ แต่โลกมันมาไกลแล้ว มันไม่ใช่ยุคที่เราจะตัดหัวเสียบประจานกันอีกต่อไป”

วิธีโต้ตอบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จากเสียงเชียร์ในโซเชียลมีเดียที่ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย หวังให้มีการประหารชีวิตผู้ก่อเหตุในคดีรุนแรง กลายเป็นแนวทางปกติที่สังคมไทยเชื่อว่าเป็นทางออกเดียวที่จะใช้จัดการผู้กระทำผิด และคิดว่าครอบครัวเหยื่อต้องการเพียงความตายที่เท่าเทียมกันของอีกฝ่าย

เหตุการณ์ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมช่วงปีที่ผ่านมา คือการประหาร ‘มิก หลงจิ’ หลังไม่มีการใช้วิธีการนี้มา 9 ปี จนประเทศไทยเกือบถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่มีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติ อันเป็นแนวทางที่นานาชาติกำลังมุ่งหน้าไป

เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้สนับสนุนโทษประหาร กับผู้รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหาร แต่ในระบบความยุติธรรมที่มีจุดบกพร่องจนเกิดแพะซ้ำแล้วซ้ำเล่า วิธีการลงโทษถึงชีวิตอันขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ไม่น่าใช่หนทางแห่งความยุติธรรม

บทความ ความจริงที่ถูกประหาร อรสม สุทธิสาคร – โทชิ คาซามะ บอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่ได้คลุกคลีกับเหยื่อ เจ้าหน้าที่ และนักโทษประหาร จนเห็นจุดอ่อนของระบบที่ทำเกิดการประหารผิดคน

ในฐานะคนที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน โทชิเลือกที่จะไม่จมอยู่ในความเกลียดชังและเชื่อในการเยียวยามากกว่าการลงโทษ

“ลูกสามคนมาเยี่ยมผมที่ห้องไอซียู ผมไม่เคยเห็นหน้าลูกหวาดกลัวมากมายเช่นวันนั้นมาก่อน ผมบอกลูกว่าจงโกรธอาชญากรรม แต่อย่าโกรธและเกลียดอาชญากร จากการเดินทางพบครอบครัวเหยื่อทั่วโลก ผมพบว่าความโกรธ ความต้องการแก้แค้น ไม่ได้ทำลายเหยื่อคนเดียว แต่จะดึงให้ครอบครัวป่วยไปด้วย”

ขณะที่ อรสม เล่าผ่านสายตาที่เห็นการประหารผิดคนมาหลายกรณี จนน่าจะถึงเวลาที่กฎหมายไทยควรปฏิรูปโดยคำนึงถึงการเยียวยาผู้เสียหายด้วย

“เราควรให้ความรู้กับผู้คนในสังคม ว่ามีความเป็นจริงอะไรเกิดขึ้นบ้างในกระบวนการยุติธรรมไทย…ทำอย่างไรจึงจะมีระบบเอื้อที่ให้ทุกฝ่ายทำงานได้เต็มความสามารถมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะนี่คือชีวิต คือความเป็นความตายของคน…เราควรมีการทบทวน ให้ความรู้ว่าสังคมไทยยังมีการประหารผิดคน ไม่ใช่เพื่อให้คนในสังคมเอนเอียง แต่เพื่อให้เขาเข้าใจว่ามันยังมีเรื่องราวอย่างนี้อยู่ รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายซึ่งขาดการเหลียวแลมานานไปพร้อมๆ กัน”

การชี้ชวนให้มองหลากปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การขับเน้นว่าสังคมจมอยู่ในความไม่เป็นธรรมที่ไม่มีวันแก้ไข แต่ในแง่หนึ่ง เป็นการมองเห็นความหวังในระบบความยุติธรรมว่ายังสามารถพัฒนาได้

นี่อาจเป็นโจทย์ต่อไปในปี 2019 ที่สังคมไทยต้องช่วยกันผลักดันหลากประเด็นในระบบความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ให้กลายเป็นสังคมที่เห็นความสำคัญในความเป็นมนุษย์ และพร้อมเอื้อความเป็นธรรมแก่คนทุกกลุ่ม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save