fbpx
'เมือง เทคโนโลยี ความยั่งยืน' วัตถุดิบชั้นดีของ 'Trend' ปี 2018

‘เมือง เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ วัตถุดิบชั้นดีของ ‘Trend’ ปี 2018

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อพูดถึงเทรนด์ ภาพแช่มชัดที่แวบเข้ามาในสมองน่าจะเป็นภาพความเป็นเมือง ความทันสมัย รถวิ่งไปมา รถไฟฟ้าตัดทับซ้อนกันทั้งด้านบนดินและใต้ดิน คนเดินขวักไขว่เอาสมาร์ทโฟนแนบหู ใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่ออย่างไร้พรมแดนขณะเดินบนทางเท้าเพื่อไปขึ้นรถโดยสารขนส่งสาธารณะ

ภาพเหล่านั้นไม่ผิดจากความเป็นเทรนด์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมในปัจจุบันเท่าไหร่ แต่หากจะให้พูดกันอย่างจริงใจ ก็คงจะต้องรวมภาพเหล่านี้ไปด้วย…

ภาพรถที่ติดตอนเช้าสายบ่ายเย็น ภาพทางเดินที่มีน้ำหยดและมอเตอร์ไซค์ขับบนฟุตปาธที่กำลังซ่อม ภาพโต๊ะอาหารที่คนไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน แม้แต่ภาพขยะที่เกลื่อนกลาด หรือหากลองสูดหายใจเข้าลึกๆ ในช่วงขณะนี้ คุณก็จะได้สัมผัสกับลมหายใจที่สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเด็นสำคัญในศตวรรษนี้และก่อให้เกิดกระแสการรักษาทรัพยากรแบบยั่งยืนที่ถูกพูดถึงอย่างไม่รู้จบสิ้น

ด้วยเหตุนี้ เมือง เทคโนโลยี และความยั่งยืน จึงเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่รอบตัวเราอย่างชัดเจน เป็น ‘Trend’ ที่เราอยากชวนให้ผู้อ่านสำรวจผ่านบทความที่ผ่านมาของ The101.world ในปี 2018 ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งในสังคมของเราเอง หรือในต่างประเทศ แล้วความเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องจากเทรนด์จะนำเราไปสู่ภาพแบบไหนในอนาคต

 

มองเมือง

 

“…ข้างเคียงเธอ เงียบใบ้ไม่พูดไม่จาราวกับคู่รักเคยคบหามาแสนนาน ผ่านวงกตของตึกราม บานเฟี้ยมที่ปิดเรียงไล่หลังมาทีละบาน…ทีละบาน ผ่านบ่ายอบอ้าวที่ค่อยๆ ระเหิดหายในเงารางจันทร์ครึ่งดวง ผ่านโพธิ์เก่าแก่ริมแม่น้ำที่ยืนควงใบผลัดใหม่กรุ๊งกริ๊ง และโดยไม่อาจเข้าใจ…ชั่ววูบหนึ่งเขาก็รู้สึกเหมือนอยากจะเชื้อเชิญหญิงสาวเพิ่งพบพาน ยังไม่รู้จักกระทั่งชื่อเสียงเรียงนาม และกำลังเดินเคียงข้างช้าๆ ผู้นี้ให้นั่งลง ตรงไหนสักตรง…บนม้านั่งริมแม่น้ำ ริมราวสะพาน บนพรมหญ้า ใต้ต้นหางนกยูงที่โรยกลีบแตกร้าวพร่างลงในโพล้เพล้สีน้ำเงินจาง และฟังเขาพูดเล่า เล่าอะไรหรือ…ความรู้สึกนึกคิด ชีวิตเดียวดายที่เขาใช้มา…อาจจะ เรื่องนับล้านที่เคยพบผ่าน ทุกอย่าง ทุกอย่างที่เขาปกปิดเก็บงำไม่เคยเล่าให้ใครฟัง แต่แล้วในชั่วยามอันแปลกประหลาดนั่น เขาก็กลับทำได้เพียงเดินเคียงเธอไปราวกับเป็นเงาหนึ่งเงา “

ข้างต้นคือการบรรยายถึง ‘เมือง’ ของตัวละครในหนังสือเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดง กับทรงจำของทรงจำ ของแมวกุหลาบดำ’ การ ‘มองเมือง’ ในวรรณกรรม ไม่ได้ทำให้เราเห็นแค่ ‘เมือง’ (เหมือนการอ่านหนังสือแนว non-fiction ว่าด้วยเรื่องการออกแบบเมือง) แต่ถ้าเราสามารถมองเห็นถึง ‘เมือง’ ในเรื่องแต่งทำนองนี้ได้ เราจะเห็นลึกไปถึงอารมณ์ความรู้สึก การให้ความหมายต่อพื้นที่ต่างๆ ของผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ และน่าจะทำให้เรารู้ว่า การจัดการเมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนที่อยู่ในเมืองได้อย่างไร

การพิจารณาเมืองผ่านวรรณกรรมก็ทำให้เราพบลักษณะของเมืองในอุดมคติ ที่เราๆ ท่านๆ ตัวละครในพุทธศักราช 2561 มองหาเช่นกัน

ภาพการรวมกันของสิ่งที่ไม่น่าจะรวมกันได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีให้เห็นเท่าไหร่ในเมืองปัจจุบัน เช่น ตึกราม บานเฟี้ยม ริมแม่น้ำ พรมหญ้า ต้นไม้ใหญ่ คือเมืองที่มีลักษณะเป็นระเบียบ มีการดูแลจัดการ ไม่ใช่เมืองที่ปล่อยให้รกเรื้อหรือมีปัญหาต่างๆ ผู้คนจะต้องสามารถใช้เมืองเหล่านั้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ก่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างกันได้ และจะมีการผสมผสานของพื้นที่ (Mixed-use development) แบบ ‘มั่ว’ แต่เป็นระเบียบ

Mixed-use development คือการใช้พื้นที่หนึ่งในกิจกรรมหลายอย่างได้ ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เป็นย่านเพียงอย่างเดียว แต่อาจย่อยลงไปถึงระดับตึกหนึ่งตึกหรือกลุ่มอาคารเลยก็ได้ เช่น ในตึกหนึ่งตึก อาจเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย ทำการค้า อุตสาหกรรม เป็นออฟฟิศ เป็นองค์กรสถาบัน หรือใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองไม่จำเป็นต้องเดินทางมากนัก เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นในชีวิตล้วนอยู่ใกล้ๆ ในระยะเดินเท้าถึง เรียกว่าเป็นเมืองที่มี ‘ขนาด’ แบบ Human Scale

ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 ประเทศฝั่งตะวันตกกลับมาให้ความสนใจและบรรจุ Mixed-use development เป็นหนึ่งในคุณสมบัติ ‘เมืองที่ดี’ เพราะการสร้างเมืองแบบ ‘แบ่งโซน’ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบเดิมนั้น มักจะทำให้เกิด ‘เกาะ’ ของกิจกรรมอันโดดเดี่ยว เช่นว่า เป็นย่านการค้าที่คึกคักเฉพาะวันทำงาน แต่เสาร์อาทิตย์ก็ร้างไร้ชีวิตชีวา

เราจะเห็นว่าวิธีคิดแบบ mixed-use นั้น ปรากฏอยู่ในเมืองแบบตะวันออกมานานแล้ว เพียงแต่ว่า mixed-use แบบโบราณ เกิดขึ้นแบบสะเปะสะปะไม่มีทิศทาง และไม่มีการกำกับดูแล จึงอาจก่อปัญหาบางอย่างได้ เช่น การปล่อยไขมันในท่อน้ำทิ้ง การปล่อยมลพิษในด้านต่างๆ เช่น มลพิษทางเสียง ฯลฯ  mixed-use แบบใหม่ จึงเป็น mixed-use ที่มีการกำกับดูแลและมีการ ‘เลือก’ โดยผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ว่าจะให้พื้นที่ของตนมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง

 

“แต่ดึกดื่นคืนหนึ่ง ไม่ตั้งใจ เขาก็ให้พบตัวเองเดินทอดน่องเรื่อยเปื่อยในเมืองอีกฝั่ง แล้วถึงเห็นว่ามันออกจะเป็นย่านที่เงียบสงบไม่น้อย ร่มรื่นและดูกลมกลืนกันดีอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคนไทยกับคนจีน มีถนนกว้างขวางสะอาดสะอ้าน โรงเรียนสำนักงานราชการสร้างวางเป็นระเบียบเรียบร้อย สลับกับบ้านพัก ร้านค้า พื้นที่ว่าง ไม่อลหม่านพลุกพล่านเหมือนย่านร้านของเขาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า สกปรกรกรังทั้งท่าเรือ ท่ารถ ตลาดสด ร้านรวง โรงหนัง แล้วยังเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าเพ่นพ่านเข้าออกทุกทิศทุกทาง …”

การบรรยายด้านบนแสดงให้เราเห็น ‘ความสามารถในการเดิน’ (Walkability) หรือลักษณะของการเป็น ‘เมืองเดินได้’ อีกอุดมคติหนึ่งของเมืองที่เราใฝ่หาถึง และเป็นอีกคุณสมบัติของเมื่องที่ดี

ปัจจุบันนี้ Walkability เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ประเมินคุณภาพของเมือง การวางผังเมืองและชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการสัญจรด้วยการเดิน แม้กระทั่งการ ‘เดินเล่น’ เป็นเครื่องบ่งบอกถึงสุขภาวะของคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ความรื่นรมย์ของการอาศัยอยู่ในเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ไม่มีใครต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางยาวนานวันละหลายๆ ชั่วโมง เคร่งเครียดอยู่กับการต่อคิวแออัด หรือเสียเวลาและพลังงานไปเปล่าๆ ปลี้ๆ กับความวุ่นวายยุ่งเหยิงของเมืองใหญ่ที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ

การจะเปิดโอกาสให้คนสามารถ ‘เดิน’ ได้อย่างสะดวกมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการสร้างสาธารณูปโภคที่เหมาะสมกับการเดิน เช่น มีทางเท้ากว้าง มีต้นไม้ใหญ่ ทางเดินไม่ขรุขระกระเดิดหรือมีน้ำกระเซ็นไหลเปื้อนเปรอะ

หากไปอ่านดูงานที่ศึกษาเรื่องการสร้างสังคมแห่งการเดินในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือในยุโรป มีการศึกษาอย่างเข้มข้นว่าอะไรบ้างที่เป็นแรงจูงใจให้คนเราออกเดินจากบ้าน เขาจ้างนักมานุษยวิทยาและนักวางผังเมืองมาคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อเข้าใจถึงรูปแบบการเดินของคนยุคปัจจุบันเปรียบเทียบกับการเดินของคนในยุคก่อน ว่าจุดประสงค์ของคนยุคนี้ที่ออกเดินนั้นแตกต่างจากคนยุคก่อนอย่างไรและเพราะอะไร ผังเมืองส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเดินของคนที่อาศัยอยู่บ้าง

ปัจจุบันเมืองส่วนมากเมืองที่เดินสบาย คือเมืองที่ออกแบบให้เหมือนกับชุมชนสมัยก่อน หรือยังสืบทอดเอกลัษณ์ของเมืองสมัยก่อนไว้ได้ มีธุรกิจชุมชนที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน มีกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม พูดง่ายๆ คือการโซนนิ่งเมืองไว้อย่างดี รูปแบบเช่นนี้เอื้อให้เกิดการเดินขึ้น

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของความใส่ใจเรื่องการเดิน คงไม่มีที่ไหนที่ให้ความสำคัญเท่ากับ ‘สวนสนุก’

ดีสนีย์แลนด์ศึกษารูปแบบการเดินของมนุษย์เพื่อให้เข้าใจความต้องการของคนที่เข้ามาใช้บริการว่าต้องการอะไร ดีสนีย์นำเอาทฤษฎีการเดินที่เรียกว่า Lévy flight ของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Paul Lévy มาช่วยใช้ในการหารูปแบบการเดินและการออกแบบการสร้างสวนสนุก เพื่อสร้างจุดสนใจให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการเดินของมนุษย์มากที่สุด ฉะนั้นการตั้งซุ้มน้ำ ร้านของเล่น ผังการเดินในการวางเครื่องเล่นและการเข้าแถวต่อคิวต่างๆ ถูก ‘ออกแบบ’ มาหมดแล้วเพื่อให้การเดิน การรอ การหยุดพัก สามารถลดความเหนื่อยหน่ายได้ประมาณหนึ่ง หลักการนี้ว่ากันว่าเป็นหลักการเดียวกันกับที่สิงคโปร์พยายามใช้ในการออกแบบผังเมือง

หากเราตั้งต้นด้วยคุณสัมบัติ Walkability พร้อมกับข้อมูลจาก goodwalk.org เราจะพบว่าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ มีพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินจริงๆ แค่ 11% เท่านั้น คนกรุงเทพฯ ยังเดินกันไม่มาก แม้ว่าการมาถึงของ BTS และ MRT จะทำให้คนกรุงเทพฯ เดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 เมตรต่อปีก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับอเมริกา (5,700 ก้าวต่อวัน) ออสเตรเลียตะวันตก (9,695 ก้าวต่อวัน) สวิตเซอร์แลนด์ (9,650 ก้าวต่อวัน) หรือญี่ปุ่น (7,168 ก้าวต่อวัน) ก็ยังถือว่าน้อยมาก และไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเรื่องการเดินอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ทำฟุตปาธใหม่ทุกปี และไม่เคยสวยจริงๆ เพราะก่อสร้างแบบไม่จบไม่สิ้นสักที

ที่ผ่านมาการจัดระเบียบทางเท้าของรัฐบาล คสช. ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ มีทางเท้าโล่งๆ สวยๆ เหมาะกับการเดินของพลเมือง มีพ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบราว 17,000 แผง รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาไม่ได้มีหลักการทางสังคมศาสตร์หรือมานุษยวิทยาหรือคณิตศาสตร์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่ได้มีการวางแผนเรื่องการเติบโตของเมืองมาก่อน และแม้เราจะมีองค์ความรู้ในปัจจุบันแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชนชั้นปกครองจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้

ทางแก้ปัญหานี้อาจต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือ ‘เขา’ ต้องออกมาเดินบ้าง เพื่อให้เข้าใจบริบทของการเดินของคนในแต่ละย่าน เข้าใจความสัมพันธ์ของแผงลอยกับลูกค้ากับคนเดินถนนคนหนึ่ง และอาจทำให้เข้าใจว่าการย้ายแผงลอยออกไป เพื่อทางเดินกว้างขึ้น ให้ดูสะอาดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าการเดินนั้นจะมีความหมายมากขึ้น กลับกันมันอาจว่างเปล่าเสียจนเราไม่อยากเดิน อย่างตัวอย่างที่เอกศาสตร์ สรรพช่าง ได้ระบุไว้ในบทความว่า

“วัดกันง่ายๆ สมมติว่าผมใช้รถไฟฟ้าหลังเลิกงาน ผมลงจากรถเพื่อเดินเข้าคอนโดฯ ซึ่งห่างออกไปสัก 700 เมตร ระหว่างเดินกลับบ้านผมคงต้องซื้ออะไรเข้าไปกิน ผมอาจกินบะหมี่รถเข็น กินร้านส้มตำข้างทาง เข้าร้านสะดวกซื้อหรือนานๆ ทีก็เข้าห้างฯ แต่การย้ายแผงลอยออกไปมันทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยน ผู้เล่นที่ได้ประโยชน์ อาจไม่ใช่คนเดินเท้า แต่อาจเป็นกลุ่มทุนอย่างห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่คนคงเข้ามากขึ้นเพราะคนมีทางเลือกน้อยลง”

คุณสมบัติข้อต่อไปของเมืองที่ดี คือ ‘Shared Space’ หมายถึงการจัดการให้มีการแบ่งปันพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ไม่ได้ถูกครอบครองโดยอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากัน เช่น พื้นที่ถนนที่ทางเท้าไม่ได้ถูก ‘เบียดขับ’ จนเหลือเล็กนิดเดียวเพราะเอาพื้นที่ไปให้รถยนต์หมด และในอีกความหมายที่เกี่ยวกับการจราจรในเมือง คือการ ‘เบลอ’ หรือลดความแตกต่างระหว่างพื้นที่สำหรับรถยนต์กับคนเดินเท้าและจักรยาน พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ถนนเกิดอาการ ‘มั่ว’ นั่นเอง

ฟังแค่นี้ คุณอาจคิดถึงเมืองในอินเดียหรือเมืองเล็กตามต่างจังหวัด ที่บนถนนอาจมีได้ทั้งรถยนต์ รถสามล้อ จักรยาน คนเดิน ไปจนถึงวัวหรือสัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่ในจินตนาการ ล้วนแต่เป็นเมืองแบบตะวันออก แต่รูปแบบการจราจรแบบนี้ กลับกลายมาเป็นแนวโน้มใหม่ในการจัดการพื้นที่ในเมืองแบบตะวันตก ด้วยปรัชญาที่ว่า ถ้าเราเอาป้ายสัญญาณทั้งหลายออกไปจากท้องถนน ไม่ต้องให้พื้นที่บนถนนถูกกีดกั้นว่าตรงไหนสำหรับรถยนต์ ตรงไหนสำหรับคน ตรงไหนเป็นเลนจักรยาน ตรงไหนเป็นทางเท้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ผู้ใช้พื้นที่ถนนตรงนั้น จะถูกควบคุมให้มีระเบียบไปได้เอง ด้วยปฏิสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ

ตัวอย่างของ Shared Space ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือเมืองอัมสเตอร์ดัม ที่ในบางจุดมีการกำจัดไฟเขียวไฟแดงทิ้งไป ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อปลอดจากป้ายสัญญาณทั้งหลายแล้ว มนุษย์ก็จะเกิดความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นมาได้เอง โดยสร้างความ ‘เท่าเทียม’ กันให้บังเกิดขึ้นกับยานพาหนะทุกชนิด

ฟังดูแล้ว หลายคนอาจคิดว่า Shared Space น่าจะเป็นสภาพการณ์ในอุดมคติที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงสร้างภาวะ ‘อนาธิปไตย’ บนถนนให้เปล่าๆ แต่จริงๆ แล้วเมืองแบบตะวันตกหลายแห่งได้สร้าง Shared Space ขึ้นมา อย่างเช่นในเมืองไบรท์ตันของอังกฤษ กับถนนชื่อ New Road ทั้งเส้น ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ทำให้รถแล่นผ่านถนนเส้นนี้น้อยลง 93% แต่มีจักรยานและคนเดินถนนเพิ่มขึ้น 93% และ 162% ตามลำดับ

ในอเมริกาก็มีเมืองที่ใช้ระบบ Shared Space เช่นกัน อย่างที่เวสต์ปาล์มบีช ในฟลอริดา มีการรื้อป้ายจราจรและป้ายถนนออกทั้งหมด เพื่อให้คนเดินถนนได้ ‘ชิดใกล้’ กับรถยนต์มากขึ้น บางคนอาจคิดว่าทำแบบนี้จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ผลกลับปรากฏว่า ทำให้รถยนต์แล่นช้าลง และเกิดอุบัติเหตุน้อยลง ที่สำคัญก็คือทำให้ ‘เวลา’ ที่ใช้ในการเดินทางเฉลี่ยแล้วลดลงด้วย

ขอตัดภาพแบบไวๆ กลับมาที่เมืองของเราอีกครั้ง ปัญหาโลกแตกที่แก้เท่าไหร่ แก้กี่รัฐบาลก็ไม่จบคือ ปัญหา ‘รถติด’ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปัญหาจราจรมากที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากเม็กซิโกซิตี้ โดยมีระดับความติดขัด (Congestoion Level) อยู่ที่ 61%

หากอ้างอิงจากบทความชื่อ Pay As You Drive – The Congestion Buster ของคุณแอนเดรีย วิลลิจ (Andrea Willige) วิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจ และเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งที่กำลังนิยมใช้กันในหลายประเทศ คือ การเก็บเงินค่าผ่านทาง หรือ Electronic Road Pricing (ERP) นั่นเอง

ERP ไม่ใช่การเก็บเงินด้วยการตั้งด่านเหมือนที่เราคุ้นเคยในไทย ทว่าใช้วิธีตั้งเป็น ‘ซุ้ม’ (Gantry System) อยู่ด้านบนของถนนตามจุดต่างๆ (ปัจจุบันนี้ในสิงคโปร์มีอยู่ 80 จุด) โดยภายในรถจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า In-Vehicle Unit (IU) ติดอยู่ตรงกระจกหน้าที่มุมล่างด้านขวาด้วย เพื่อเป็นเซนเซอร์คอยเก็บเงิน ทำงานคล้ายๆ กับบัตรขึ้นทางด่วนที่เก็บเงินโดยอัตโนมัติของบ้านเรา เวลารถแล่นไปไหนต่อไหน ก็จะถูกเก็บเงินไปเรื่อยๆ (เรียกว่า Road Pricing) ตามแต่ว่าจะแวะเข้าไปบริเวณไหนบ้าง

ข้อดีของวิธีนี้มีหลายอย่าง อย่างแรกก็คือไม่ต้องมีจุดหยุดเก็บเงินเหมือนด่านทางด่วนบ้านเรา ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถปรับเปลี่ยนค่าผ่านทางตามช่วงเวลาได้ เช่น ถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วน ค่าผ่านทางอาจจะแพงหน่อย แต่ถ้าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนที่รถน้อย เรตก็จะเปลี่ยนไปในแง่หนึ่ง การเก็บค่าผ่านทางที่ราคาผันแปรไป จึงช่วยให้เกิดการเฉลี่ยกระจายการใช้รถ และเป็นการควบคุมการจราจรอีกทางหนึ่งด้วย

สิงคโปร์เริ่มใช้ระบบ ERP ในปี 1998 และในทันทีทันใดนั้น ก็พบว่าอัตราการติดขัดลดลงมากถึง 45% ในแบบชั่วข้ามคืนกันเลยทีเดียว ทั้งยังลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ลงถึง 25% ด้วย (ดูบทความนี้) เมืองอย่างสต็อกโฮล์ม ก็เริ่มใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว โดยการเก็บเงินจากผู้ขับขี่รถยนต์ที่ผ่านใจกลางเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่ยกเว้นรถเมล์ แท็กซี่ และรถที่ใช้พลังงานน้อย ปรากฏว่าเมื่อใช้ระบบนี้ไปได้สองปี การจราจรลดลงราวหนึ่งในสี่ เทียบเท่ากับมีการใช้รถยนต์ในเขตเมืองน้อยลงวันละ 1 ล้านคัน จึงมีการใช้ระบบนี้ต่อเนื่องในเมืองอย่างโกเทนเบิร์ก อันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองด้วย

สหประชาชาติประมาณว่า ในปี 2050 ประชากรโลกกว่าสองในสามจะกลายเป็น ‘คนเมือง’ ซึ่งแปลว่าปัญหาจราจรอาจจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีแก้ปัญหาจราจรอย่างหนึ่งที่หลายเมืองเห็นพ้องต้องกันก็คือ สิ่งที่บางคนพูดขำๆ ว่าเป็นการ ‘แกล้งรถยนต์’ ซึ่งที่จริงก็คือการทำให้ผู้ที่ ‘เลือก’ ใช้รถยนต์ ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่เมื่อจ่ายแพงขึ้นก็ต้องเห็นผลด้วยว่าจ่ายแล้วเกิดประโยชน์จริง ไม่ใช่จ่ายเงินเพื่อไปรถติดอยู่บนทางด่วนดังที่หลายๆ คนประสบกันอยู่ทุกวันนี้

แล้วทางเลือกที่นอกเหนือไปจากรถยนต์คืออะไร?

ถ้าจะให้ตรงตามภาพของ shared space เราคงต้องเริ่มพิจารณาพาหนะชนิดอื่น ๆ ได้แก่

(1) มอเตอร์ไซค์

ตอนนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน เกิดแนวคิดเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายแบบขึ้นมา โดยแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือมอเตอร์ไซค์แบบใหม่ที่เรียกว่ามอเตอร์ไซค์ลูกผสม (Hybrid Motorcycle) ซึ่งค่ายใหญ่ๆ อย่าง Honda Yamaha และ Piaggio ต่างก็มีรถมอเตอร์ไซค์ไฮบริดออกมาวางจำหน่ายกันแล้ว

และยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในแวดวงนักออกแบบและอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์ เช่น หน้าจอใหม่ที่เรียกว่า TFT display (Thin-Film-Transistor Liquid-Crystal Display) จะถูกใส่เข้ามาในมอเตอร์ไซค์ เป็นหน้าจอเหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือไอแพด กลายร่างไปเป็นเครื่องวัดความเร็ว (speedometer) ความเร่ง (tachometer) และตัวบอกถึงสถานะต่างๆ ในมอเตอร์ไซค์แบบที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด มองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางวัน แม้ว่าแสงจะส่อง resolution ก็สูงกว่าหน้าจอแอลซีดีธรรมดา ส่วนตอนกลางคืนก็สามารถปรับค่าแสงได้โดยอัตโนมัติ

ในช่วงแรกๆ หน้าจอ TFT มีอยู่ในมอเตอร์ไซค์ราคาแพงก่อน โดยเฉพาะบิ๊กไบค์ทั้งหลาย แต่ในอนาคต เราจะค่อยๆ เห็น TFT (หรือหน้าจอแบบอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่า แต่ให้ข้อมูลได้คล้ายๆ กัน) ปรากฏอยู่ในมอเตอร์ไซค์ราคากลางๆ ไม่ถูกเกินไป แต่ก็ไม่แพงเกินไป และเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับการออกแบบมาให้เป็นสกูตเตอร์ใช้ในเมืองมากกว่าจะเป็นบิ๊กไบค์

เทคโนโลยีใหม่ๆ พวกนี้ จะทำให้มอเตอร์ไซค์นั้น ‘น่าใช้’ สำหรับการสัญจร (commute) ในเมืองมากขึ้น และน่าจะสอดรับกับจริตของคนชั้นกลางมากขึ้น ด้วยการดีไซน์ ด้วยระบบต่างๆ ที่สร้างความปลอดภัยมากขึ้น (เช่นระบบเบรคเอบีเอส ระบบเตือนต่างๆ ฯลฯ) รวมไปถึงความประหยัดน้ำมัน (เพราะใช้เทคโนโลยีไฮบริดหรือไฟฟ้าไปเลย) ความเงียบ การเดินทางไปถึงที่หมายได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดนานๆ เหมือนการใช้รถยนต์

เป็นไปได้ไม่น้อย ที่มอเตอร์ไซค์แบบใหม่นี้ จะเข้ามากลายเป็นอีก ‘ภาพ’ หนึ่งของการใช้มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ นอกเหนือไปจากภาพของคนรวยๆ ขี่บิ๊กไบค์เป็นงานอดิเรก และภาพที่มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะสำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกในชีวิต คือจะซื้อรถยนต์ก็ยังไม่มีเงินมากพอ เลยต้องใช้มอเตอร์ไซค์ไปก่อน เช่นเดียวกับภาพของ ‘พี่วิน’ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

ปัญหามีอยู่อย่างเดียว นั่นก็คือการออกแบบเมืองและโครงสร้างเมืองอย่างกรุงเทพฯ มองเห็นถึงเทรนด์แบบนี้ล่วงหน้าหรือเปล่า และรัฐไทยสนับสนุนการใช้มอเตอร์ไซค์ไหม โปรดอย่าลืมว่า กระทั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถือได้ว่าเป็นการขนส่งมวลชน (แบบทีละคน) ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ก็ยัง ‘เกิดเอง’ โดยรัฐไม่ได้สนใจอะไรในตอนต้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเข้ามาควบคุมดูแล ดังนั้นคำถามก็คือ รัฐไทยอยากให้เกิด ‘คลื่น’ แห่งการใช้มอเตอร์ไซค์เพื่อการสัญจรไหม เรามองเห็นถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น การลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาเดินทาง ลดการเสียเวลาอันเกิดจากรถติด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมัน ฯลฯ

พาหนะทางเลือกถัดมา ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไม่น้อยไปกว่ากันคือ

(2) จักรยาน

คนทั่วไปที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ต้องพึ่งพาพึ่งพิงบริการขนส่งมวลชนมากเกินไป ซึ่งบริการเหล่านี้มักมีปัญหาหลายระดับ เช่น รถไฟฟ้าเสีย ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ตามที่ต้องการ รวมไปถึงเส้นทางไม่ครอบคลุม ทำให้ต้องเสียเวลาต่อรถหลายต่อ หรือในบางกรณี การเดินทางด้วยวิธีอื่นอาจจะเร็วกว่าด้วยซ้ำ และวิธีเดินทางที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ได้ ‘ดั่งใจ’ ที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการใช้จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้คนสามารถซอกซอนเข้าไปตรงนั้นตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันในต่างประเทศ ธุรกิจ ‘อูเบอร์’ เปิดให้บริการจักรยาน ด้วยบริการที่เรียกว่า Uber Bike เป็นบริการที่เรียกได้ว่าเป็น Bike-Sharing หรือการ ‘แบ่งจักรยานกันปั่น’ ด้วยวิธีการก็ง่ายๆ คือ สมัครเป็นสมาชิกผ่านแอปพลิเคชั่น แล้วนำโค้ดไปปลดล็อกจักรยานที่อยู่ตามที่ต่างๆ ในเมือง จักรยานเหล่านี้จะล็อกติดอยู่กับที่จอดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจุดจอดเฉพาะ ขอเพียงเป็นที่จอดจักรยานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น (เช่น Bike Rack ข้างถนน) หรือต่อให้ไม่ถูกกฎหมาย (มากนัก) เช่น ต้นไม้หรือเสา ก็สามารถปลดล็อกนำมาปั่นได้เหมือนกัน

แต่จักรยานของอูเบอร์ไม่ใช่จักรยานธรรมดา มันจะเป็นจักรยานไฟฟ้าสีแดง ทำให้ผ่อนแรง ไม่ได้ต้องออกแรงปั่นกันจริงจังมากนัก โดยเฉพาะเวลาขึ้นเนินชันๆ ทีนี้เมื่อได้จักรยานแล้ว ก็แค่ปั่นจากที่หนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางของคุณ หรือจะปั่นไปไหนก็ได้ตามใจ สุดท้ายก็จะมีการเก็บเงินผ่านบัตรเครดิตเหมือนบริการอูเบอร์แท็กซี่ แล้วพอคุณใช้เสร็จ ก็เอาจักรยานไปจอดไว้ที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ แต่ถ้าคุณยังใช้จักรยานไม่เสร็จ ก็สามารถตั้งค่าเป็นโหมด Hold เอาไว้ก่อนก็ได้ เผื่อจะกลับมาใช้ต่ออีก

หลายเมืองทั่วโลก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างเห็นความสำคัญของบริการนี้ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่แออัดและความแออัดนั้นทำให้การเดินทางของผู้คนทั่วไปยากลำบาก โดยบริการจักรยานแบบนี้จะมีสองลักษณะใหญ่ๆ คือเป็นแบบที่มี Dock หรือมีสถานีหรือจุดจอด อย่างที่ระบบจักรยานปันปั่นของกรุงเทพฯ เป็น กับอีกแบบหนึ่งคือ Dockless คือไม่จำเป็นต้องมีสถานีหรือจุดจอด สามารถจอดที่ไหนก็ได้ (แบบเดียวกับจักรยานของอูเบอร์ หรือในไทย คือ Mobike, Ofo และ Obike แต่เป็นการให้บริการในสถานศึกษาเป็นหลัก) ซึ่งก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่า แบบไหนจะเหมาะสมกับเมืองนั้นๆ มากกว่ากัน อย่างในปักกิ่ง ก็มีกรณีจอดจักรยานทิ้งๆ ขว้างๆ ทำให้เกะกะกีดขวางทางเท้าไปทั่วเมืองมาแล้ว

อย่างไรก็ดี Bikesharing หรือ Scooter-Sharing ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะถ้าไม่มีฐานเป็นการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการใช้งานจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ก็แทบจะพูดได้เลยว่าเปล่าประโยชน์ เนื่องจากคนไม่สามารถนำจักรยานหรือสกู๊ตเตอร์มาใช้ได้

 

ดูเทคโนโลยี

 

ในปี 2018 เราจะเห็นภาพของ ‘ชีวิต’ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยๆ ก็มองเห็นภาพอนาคตว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยนไปบ้าง เนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี การดำเนินชีวิตของเราถูกรายล้อมไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งก่อทั้งผลดี และบางครั้งก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าแปลกใจไปพร้อมกัน

สิ่งหนึ่งที่เราคงเคยได้ยินจนเบื่อคือ “เดี๋ยวนี้บนโต๊ะอาหาร คนเล่นแต่มือถือ” ประโยคนี้หากพิจารณาให้ดี จะพบว่าเทคโนโลยีส่งผลกับ ‘ความสัมพันธ์’ อย่างแนบเนียน แต่จะให้ปฏิเสธอย่างไรในเมื่อเทคโนโลยีอาจเป็น ‘เพื่อน’ ที่แสนมีประโยชน์ให้เราได้ในสักวัน

งานวิจัยแทบทุกชิ้นยืนยันตรงกันว่า คนที่ใช้เวลาวันละมากกว่าสองชั่วโมงไปกับโซเชียลมีเดีย (หรือแช็ตบ็อต) จะมีความรู้สึกแยกขาดจากสังคมมากกว่าคนที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีทำกิจกรรมแบบเดียวกัน แช็ตบ็อตจึงทำสองอย่าง คือแยกเราออกจากสังคมมนุษย์ และดึงเราให้อยู่กับอุปกรณ์ที่เลียนแบบมนุษย์

เราเริ่มเห็นคนสนทนาพาทีกับสิ่งไม่มีชีวิตกันมากขึ้น ตัวอย่างที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยทำ ก็คือการไปกระเซ้าเย้าแหย่กับ ‘Siri’ ในไอโฟน (หรือคู่สนทนาแบบ Chatbot ทั้งหลายในที่ต่างๆ) โดยการตั้งคำถามสนุกๆ (ที่จริงๆ แล้วเป็นคำถามที่มีความซับซ้อนทางอัลกอริธึมสูงมาก) เช่น ถามว่า “อะไรคือความหมายของชีวิต” กับ Siri แล้ว Siri ก็จะตอบอะไรบางอย่างออกมา

A.I. Based Chatbot อย่าง Siri เป็นแช็ตบ็อตที่มีกลไกปัญญาประดิษฐ์ซ่อนเป็นฐานอยู่ โดยเป้าหมายของแช็ตบ็อตเหล่านี้ก็คือการพยายาม ‘เลียนแบบ’ (Simulate) วิธีที่มนุษย์จะตอบสนองกับคู่สนทนา เช่น เมื่อถูกถามว่าอย่างนี้ ควรจะตอบว่าอย่างไร เราอาจรู้สึกว่าพวกแช็ตบ็อตเหล่านี้ไม่ได้ ‘เข้าใจ’ จริงๆ หรอกว่าเรากำลังถามอะไร มันเพียงแต่ถูกตั้งโปรแกรมมาเท่านั้น ว่าถ้าถูกถามแบบนี้ ให้เลือกคำตอบในหมวดนี้ๆ มาตอบ ดังนั้นคำตอบของ Siri จึงฟังดูเก้ๆ กังๆ ฟังแล้วรู้เลยว่า Siri ไม่ได้ ‘คิด’ มันแค่ตอบสนองตามอัลกอริธึมเท่านั้นเอง จึงไม่มีความเป็นมนุษย์สักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม หลายคนบอกว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แช็ตบ็อตแบบ A.I. Based นั้น จะเริ่มมี ‘ฐานข้อมูล’ มากพอที่จะสร้างบทสนทนาที่ ‘มีความหมาย’ (Meaningful Conversation) ขึ้นมาได้แล้ว A.I. Based จะสร้างความบันเทิงให้เรา เช่น เล่าเรื่องให้ฟัง เป็นเพื่อนพูดคุย เล่านิทานให้เราฟังก่อนนอนก็ได้ด้วย เป็น ‘ครู’ คอยสอนเรื่องต่างๆ ให้เรา และสามารถหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาตรวจสอบคัดง้างกันได้ตลอดเวลาด้วย

นอกจากสร้างความบันเทิงและเป็นครูแล้ว แช็ตบ็อตยังเป็น ‘หมอ’ ได้อีกด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเกิดมีคนเป็นอะไรขึ้นมากะทันหัน เช่น หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก มันจะประมวลผลต่างๆ (จากฐานข้อมูลทั่วโลก) เปรียบเทียบดูว่าควรต้องให้การดูแลผู้ป่วยนั้นๆ อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงฉุกเฉินก่อนที่แพทย์จะมาถึง

การพัฒนาของแชทบอทอาจทำให้ในอนาคต เราจะมีชีวิตคล้ายๆ กับหนังเรื่อง ‘Her’ ที่ตัวเอกพูดคุยกับแช็ตบ็อต และถึงขั้นอยากมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย แม้ว่าแช็ตบ็อตเหล่านั้นจะไม่ได้คุยกับเขาคนเดียว และไม่สามารถที่จะ ‘รัก’ เขาได้เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์แบบดั้งเดิมก็ตามที

แต่ก่อนจะไปถึงความรักที่มีให้ A.I. เทคโนโลยีก็ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์แบบคนรักไปเรียบร้อยแล้ว

ในสหราชอาณาจักรพบว่า 1 ใน 3 ของการหย่าร้างปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการนอกใจที่มาจากเฟซบุ๊ก ที่น่าสนใจคือการติด ‘หนังโป๊’ มากเกินไป ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดการหย่าร้างได้เช่นกัน

ในโลกยุคดิจิทัลก็เริ่มมีการถามถึง ‘ขอบเขตใหม่ของการนอกใจ‘ ว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่านอกใจ กิจกรรมที่ทำบนอินเทอร์เน็ต บนแอปพลิเคชันหรือบนแท็บเล็ตของเรา ถือเป็นการนอกใจไหม แค่ไหนกันล่ะที่เราเรียกว่านอกใจ

หากนิยามตามความหมายเดิม เป้าหมายหนึ่งของการนอกใจนั้นอยู่ที่การได้มาซึ่งความสัมพันธ์ทางกาย ได้มีเซ็กซ์ กอด จูบ ลูบไล้กัน ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการนอกใจก็ว่าได้ แต่อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปมาก การพูดคุยกับเพื่อนใหม่ที่เราเจอบนทินเดอร์หรือการดูกิจกรรมการช่วยตัวเองของเพื่อนใหม่ที่เราเจอบนอินเทอร์เน็ต แม้ว่าจะไม่มีการสัมผัสหรือจับต้องกันทางกาย อาจทำให้เส้นขอบของคำว่า ‘นอกใจ’ เบลอขึ้น และทำให้เราต้องตีความกันใหม่อีกครั้ง

ปลายปีที่แล้ว dessertnews.com ทำรายงานเชิงลึกสำรวจความคิดเห็นเรื่องของการนอกใจของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกว่า 1,000 คน คละศาสนาและความเชื่อ (ในจำนวนนั้นมีคนที่นับถือศาสนามอร์มอนที่แสนเคร่งครัดจำนวน 250 คนรวมอยู่ด้วย) แบบสอบถามนี้ถามคนในช่วงอายุตั้งแต่ Baby Boomer ไปจนถึง Millennials และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้

 

  • 51% ของกลุ่มตัวอย่างมองว่าการส่งข้อความที่ส่อไปในเรื่องเพศ ถือเป็นการนอกใจ
  • 61% มองว่าการคงความสัมพันธ์ทางออนไลน์ถือว่าเป็นการนอกใจ
  • 16% บอกว่าการที่คู่รักของตัวเองตามดูแฟนเก่าผ่าน social media ต่างๆ ถือว่าเป็นการนอกใจ
  • 71% ของผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่าง มองว่าการมีความสัมพันธ์กันบนออนไลน์ถือเป็นการนอกใจ ขณะที่ตัวเลขของผู้ชายอยู่ที่ 50%

 

การเติบโตขึ้นของแอปพลิเคชันอย่าง Tinder หรือเว็บไซต์หาคู่ต่างๆ เปิดโอกาสให้เราได้เจอคนใหม่ๆ มากขึ้นกว่าเดิมมาก และมันตอกย้ำถึงความต้องการลึกๆ ของมนุษย์เราว่า เราเป็นสัตว์สังคมและต้องการรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากกว่าแค่แบบเดียว และมีคนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเสี่ยงลองดู เมื่อมีโอกาสให้นอกใจ

ไม่แน่ว่าอนาคตภาพของครอบครัวสมัยใหม่ อาจเปลี่ยนภูมิศาสตร์เรื่องเซ็กซ์และความสัมพันธ์ของคนเราไปได้ เพราะเมื่อเราไม่ต้องการมีลูก ไม่ได้อยากสืบทอดเผ่าพันธุ์ จำนวนชาย-หญิงมีสัดส่วนไม่เท่ากัน การแพทย์ที่ช่วยการมีลูกก้าวหน้าขึ้น ไปจนถึงการมีเซ็กซ์เพื่อ ‘หน้าที่’ ไม่มีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นเซ็กซ์เพื่อความสำราญมากขึ้น ก็เป็นไปได้มากว่าความหมายของการนอกใจก็จะเปลี่ยนไปได้อีกมาก

นอกจากความสัมพันธ์ที่เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ในอนาคตเทคโนโลยีอาจทำให้การดำรงอยู่ของเราเปลี่ยนไป โดยเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือ และทดแทนการดูแลชีวิตของเราในบางขั้นตอน โดยการผนวกหรือควบรวมเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ทำให้ ‘บ้าน’ ในอนาคต อาจเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

(1) ประชากรสูงวัย

เทคโนโลยีหลายอย่างได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คนสูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ (Independently) แต่ก็ยังปลอดภัย (Safely) เช่น ในญี่ปุ่น มีการออกแบบหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เรียกว่า Carebots ซึ่งมีตั้งแต่หุ่นยนต์ตัวใหญ่ มีรูปลักษณ์แบบมนุษย์ (เรียกว่า Humanoid Bots) ที่สามารถยกผู้ป่วย ช่วยการเดิน หรือย้ายข้าวของ ย้ายเฟอร์นิเจอร์ได้ คือทำตัวเป็นผู้ช่วยได้เหมือนคนจริงๆ เลย ไปจนถึงเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ เช่น บริษัท Philips คิดค้นระบบ Philips HomeSafe Auto Alert System ขึ้นมา โดยให้ผู้สูงวัยใส่จี้ห้อยคอที่คอยส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายเอาไปวิเคราะห์ ถ้าหากมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ก็จะมีสัญญาณเตือน รวมไปถึงการเตือนให้ไปพบแพทย์ตามกำหนดด้วย

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงวัยยังจำเป็นต้องกินยาเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็มีเทคโนโลยี Pill Bottle หรือขวดยาที่คอยบอกว่าผู้สูงวัยนั้นๆ ถึงเวลากินยาหรือยัง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อกินไปแล้ว จะรู้ด้วยว่าไม่ต้องกินอีก เพราะผู้สูงวัยบางคนจะจำไม่ค่อยได้ว่ากินยาไปแล้วหรือยัง Pill Bottle ที่อยู่ในบ้านจึงช่วยเรื่องนี้ได้

(2) วิเคราะห์ร่างกาย

ในอนาคตอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านของเรา จะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้เราไปด้วย เพราะบ้านคือที่ที่เราใช้เวลาอยู่นานที่สุดในแต่ละวัน ถ้าจะเก็บข้อมูลสุขภาพต่างๆ ที่บ้าน ก็น่าจะสามารถทำได้สะดวก

ตัวอย่างของเทคโนโลยีในบ้านที่จะคอยเก็บข้อมูลของเราไปวิเคราะห์นั้นมีหลายอย่าง อาทิ ‘กระจก’ ที่พอส่องดูหน้าตาของเราแล้ว มันจะบอกได้เลยว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไร โดยเทคโนโลยี Face Detection ที่ละเอียด (และราคาถูกลง) จะบอกได้ตั้งแต่ความแห้งของผิว การดื่มน้ำ ไปจนถึงอัตราการหายใจ สีผิว การไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงการตรวจวัดรูปร่าง แล้วก็ให้คำแนะนำต่างๆ กับเรา

หรือเครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะที่บอกข้อมูลหลายอย่างได้ ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ของไขมัน น้ำ หรือค่า BMI (Body Mass Index) เพื่อให้เราไปดูแลตัวเองต่อ แต่ในอนาคต เครื่องชั่งน้ำหนักธรรมดาๆ ในบ้านของเราจะเชื่อมโยงข้อมูลเอาไปเก็บไว้ให้คุณหมอหรือโรงพยาบาลคอยวิเคราะห์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ รวมไปถึงความดันโลหิตหรือระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ก็คือแปรงสีฟัน เทคโนโลยีล่าสุดทำให้แปรงสีฟันประเภทแปรงสีฟันไฟฟ้านั้น สามารถติดตั้งเซนเซอร์ต่างๆ เอาไว้ที่แปรงได้ แล้วก็เชื่อมโยงเข้ากับ app ต่างๆ ในมือถือของเรา ข้อมูลที่ได้จากแปรงสีฟันนี้ จะบอกได้ว่า สุขภาพฟันและเหงือกของเราเป็นอย่างไร แถมยังส่งข้อมูลไปให้ทันตแพทย์ของเราคอยวิเคราะห์และจับตาดูสุขภาพฟันของเราได้อีกด้วย

(3) อาหารการกิน

ครัวถือเป็นหัวใจของบ้าน และในอนาคต ครัวก็จะพัฒนาล้ำยุคไปไกลกว่าที่เราคาดคิดในหลายเรื่อง

อย่างแรกสุดที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือเครื่องล้างจาน ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องล้างจานที่คอยดูแลตั้งแต่การไหลของน้ำที่เหมาะสม และอาจใช้น้ำยาล้างน้อยลงมากจนไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็ได้ เครื่องล้างจานยุคใหม่ยังสามารถเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ด้วย และบางรุ่นก็อาจเป็นเครื่องล้างจานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานให้เราได้อย่างที่เราอาจคิดไม่ถึง

อย่างที่สองที่สำคัญมากก็คือตู้เย็น ซึ่งถือเป็นหัวใจของครัวอีกต่อหนึ่ง ปัจจุบันนี้เรามีตู้เย็นที่เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต และใช้เทคโนโลยี Internet of Things ทำให้ตู้เย็นสามารถ ‘พูดคุย’ กับอุปกรณ์อื่นๆ ได้แล้ว แต่ตู้เย็นในอนาคตจะรู้ด้วยว่า ตอนนี้ในตัวมันมีอาหารแบบไหนเก็บอยู่ แล้วอาหารแต่ละอย่างมีปริมาณเท่าไหร่ อาหารชนิดไหนหมดแล้ว ควรต้องเติมอะไรอีก อาหารแบบไหนหมดอายุแล้ว ต้องนำไปทิ้ง บริโภคไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำโดยการสแกนบาร์โค้ด ซึ่งถ้ามีการเชื่อมต่อกับซูเปอร์มาร์เก็ตเอาไว้ ข้อมูลของต่างๆ ที่เราซื้อมา ก็จะวิ่งไปที่ตู้เย็นเลยโดยตรง ทำให้ตู้เย็นสามารถคอยดูแลการกินอยู่ของเราได้เลย

เทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหารยังลงลึกไปถึงระดับโมเลกุล คือจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตรวจสอบส่วนผสมเครื่องปรุงต่างๆ เช่น สแกนบิสกิตที่กำลังจะกิน ดูว่ามีสารอาหารที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้หรือเปล่า สแกนดูได้ว่า ผลไม้ที่กำลังจะกินนั้น สุกแค่ไหนแล้ว อาหารที่ปรุงอยู่บนเตา มีอุณหภูมิเท่าไหร่ สุกหรือไม่สุกอย่างไร ทำให้การทำอาหารสะดวกขึ้นมาก

(4) รถยนต์

เขยิบออกมาจากตัวบ้าน ‘รถยนต์’ บนท้องถนนแห่งอนาคต อาจพลิกโฉมการขับขี่ของเราไป ปัจจุบันเริ่มมีเทคโนโลยีที่พัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างรถแต่ละคัน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และอาจพัฒนาไปไกลจนเข้าสู่ระบบ ‘ไร้คนขับ’ ในสักวันหนึ่ง

รายงานของ The Economic Forum บอกว่า ทุกวันนี้คนในเมืองอย่างมอสโคว์ อิสตันบูล เม็กซิโกซิตี้ หรือริโอเดอจาเนโร เสียเวลาไปกับรถยนต์ปีละกว่า 100 ชั่วโมง และมีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่า 200,000 คน จากมลพิษทางอากาศ (ที่เกิดจากรถยนต์) ในขณะที่อุบัติเหตุก็คร่าชีวิตคนไปถึง 1.25 ล้านคนในแต่ละปี รถยนต์ยังเป็นตัวการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 30% ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบดิจิทัลที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยียานยนต์ จึงจะช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ลงได้

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ Internet of Things ที่จะทำให้รถยนต์สื่อสารกับรถยนต์ด้วยกันเอง และกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาตัวเองได้ มีงานวิจัยของ Machina Research ที่บอกว่าในปี 2020 รถยนต์ของคุณจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น เช่นในอังกฤษ มีการเก็บข้อมูลต่างๆ (เช่น การเร่งเครื่อง การเบรค การเลี้ยว และความเร็วของรถยนต์) เพื่อนำไปคำนวณเป็นค่าประกันภัย ซึ่งจะทำให้คำนวณค่าประกันได้ละเอียดยิ่งขึ้น หรือรถยนต์บางแบรนด์ ก็จะใส่ระบบ Self-Learning Intelligence เข้าไปในรถยนต์ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของคนขับ แล้วนำมาปรับพฤติกรรมของผู้ขับขี่รวมถึงผู้โดยสารด้วย

รถยนต์ในอนาคตจะเป็นรถยนต์ที่ ‘เชื่อมต่อ’ ตลอดเวลา (Connected Car) ซึ่งประโยชน์อย่างหนึ่งของมันคือ จะสามารถสร้างความต้องการเฉพาะ (Personalization) ขึ้นมาให้ผู้ขับขี่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจเกิดปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับโซเชียลมีเดียในปัจจุบันด้วย

 

แลความยั่งยืน

 

ในขณะที่เทคโนโลยรังแต่จะเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรก็น่าเป็นห่วงว่าจะหมด และเสื่อมโทรมลงไป ดังนั้น เทรนด์ที่จะไม่มีวันตกยุคในอนาคตคือการใช้ทรัพยากรอย่าง ‘ยั่งยืน’

การพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้นเริ่มตั้งแต่ภาคส่วนเล็กๆ อย่างการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงภาพใหญ่อย่างระดับอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ

เริ่มต้นจากภาพเล็ก วิถีการดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด การบริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของเรา โดยไม่ไปลิดรอนสิทธิในการสนองความต้องการของคนในอนาคต เราต้องบริโภคอะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด

ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หนึ่งคือ ความตระหนักรู้ (awareness) ว่าสินค้ามาจากไหน ส่งผลกระทบอะไรบ้าง ข้อต่อมาคือ facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งอาจมาในรูปแบบของกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแม้แต่บรรยากาศของสังคม และ infrastructure โครงสร้างที่เกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น พกขวดน้ำ แต่ไม่มีน้ำให้เติม สุดท้ายก็ต้องซื้อน้ำขวดอยู่ดี หรืออยากให้คนสัญจรโดยจักรยาน แต่ไม่มีทางที่ดีพอ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้

หนึ่งกิจกรรมที่ใกล้ตัว เป็นที่พูดถึงมาก และลดภาระให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยอดเยี่ยมคือการ ลดใช้พลาสติก วิกฤติขยะพลาสติกล้นโลกโดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) กลายเป็นวาระสำคัญร่วมกันของนานาชาติ เพราะมีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าขยะพลาสติกไม่เพียงส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์ทะเลและมหาสมุทร แต่ยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ สุขอนามัย และภาระในการจัดการกำจัด

ปัจจุบันเริ่มมีมาตรการเก็บเงินหรือการตัดแต้มสะสมในห้างสรรพสินค้าเมื่อใช้ถุงพลาสติก เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้คนมีความต้องการซื้อของลดลง เพราะมีต้นทุนค่าถุงพลาสติกเพิ่มเข้ามา ตามแนวคิดแบบเศรษฐกิจสีเขียว แน่นอนว่ายอดขายก็ลดลงตามไปด้วย แต่การเก็บค่าถุงพลาสติกเป็นเพียงทางเลือก เพราะถ้าคนไม่อยากจ่ายค่าถุง ก็ต้องหิ้วกลับไปเอง

ในต่างประเทศมีมาตรการบังคับที่ทำให้การลดถุงพลาสติกประสบความสำเร็จ เช่น ในประเทศเดนมาร์ก เวลาไปซื้อของ เขาจะไม่ให้ถุงเลย และมีกฎหมายกำหนดว่าต้องซื้อถุงราคาสี่โครนเดนมาร์ก ขณะที่ประเทศจีนต้องซื้อสิบหยวน หรือยี่สิบบาท มาตรการอีกแบบในต่างประเทศคือ บ้านเรือนเขาจะมีขยะสองแบบ เมื่อไหร่ทิ้งผิด เวลาเขามาเก็บขยะจะมีการถ่ายรูปไว้ คุณใส่ขยะเปียกปนขยะแห้ง รูปถ่ายจะฟ้องทันที แล้วจะเสียค่าปรับในเดือนถัดไปตามบัญชี ซึ่งแพงด้วย ฉะนั้นคุณหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสิงคโปร์เองจะมีกล่องแยกขยะให้ทิ้ง บางถุงแทบจะระบุบ้านเลขที่ เพราะเขาฟ้องไปตามซองจดหมาย คือมีบทลงโทษที่ชัดเจน ส่วนออสเตรเลียไม่มีถุงก๊อบแก๊บให้ แต่จะใช้ถุงผ้าใบใหญ่แทน ลืมเมื่อไหร่ก็ซื้อถุงผ้าแค่เหรียญเดียว ซึ่งเหรียญเดียวเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนเสียอีก แต่เพื่อให้คนเสียเงินเหรียญเดียวดีกว่าใส่ถุงก๊อบแก๊บ

อีกหนึ่งการลดพลาสติกที่น่าสนใจคือการใช้ ‘ผ้าอนามัยซักได้’ ของผู้หญิง การมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นต้องยอมรับว่านำไปสู่การสร้างขยะมหาศาลผ่านผ้าอนามัยทั่วไป ที่กว่าจะย่อยสลายได้ก็อาจใช้เวลาหลายร้อยปี เพราะวัสดุที่ประกอบไปด้วยกระดาษ พลาสติก และโพลิเมอร์ น่าคิดว่าถ้าคนเรามีประจำเดือนเฉลี่ยเดือนละ 5 วัน ถ้าใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งวันละ 5 ชิ้น หนึ่งเดือนก็จะใช้ 25 ชิ้น หนึ่งปีใช้ 300 ชิ้น แล้วช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งจะใช้ทั้งหมดกี่ชิ้น เมื่อปลายทางคือขยะ แล้วมูลค่าทั้งหมดที่แท้จริงคือเท่าไหร่

ในปัจจุบันจึงมีกระแสการใช้ผ้าอนามัยที่ซักได้ เพื่อลดปริมาณขยะ โดยเป็นผ้าอนามัย ทำจากผ้าฝ้ายที่มีสัมผัสนุ่ม สร้างความนุ่มนวลและอบอุ่นให้กับคนใช้ และยังสามารถซักล้างได้ และเมื่อซักล้างได้ก็ทำให้ผู้ใช้ได้สังเกตเลือดที่ออกมาจากร่างกายของตัวเอง ว่าสะท้อนถึงสุขภาพอย่างไรได้อีกด้วย

ภาพที่ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับถัดมา คือการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน  การออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ แทนการผลิต ใช้ แล้วทิ้ง ตามรูปแบบอุตสาหกรรมแบบเดิมที่เน้นกำไรเป็นตัวตั้ง Circular Economy ยังเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด คล้ายกับการลอกเลียนระบบอันมีประสิทธิภาพของธรรมชาติ เพราะถ้าสังเกตดูจะพบว่า ไม่เคยมีของเหลือของเสียเกิดขึ้นเลยในธรรมชาติ แต่มีกลไกในการนำทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน หมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์จนน่าทึ่ง

ปัญหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็คือระบบการผลิตแบบตรง (linear) ที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง หมายความว่าเศรษฐกิจยิ่งโตขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นเท่านั้น จึงนำมาสู่การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเพิ่มขึ้นอย่างผิดธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​ และก๊าซมีเทน

จุดเริ่มต้นที่สำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล การออกแบบที่ชาญฉลาด หรือการก่อสร้างด้วยวัสดุทางเลือก ระบบขนส่ง ที่เปลี่ยนผ่านไปใช้ระบบไฟฟ้า ระบบการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม เพื่อลดขยะที่เป็นอาหาร ระบบเกษตรกรรมแบบธรรมชาติ ระบบการให้บริการแทนการจำหน่ายสินค้า เช่น การให้บริการแสงสว่าง แทนการขายหลอดไฟ การให้บริการซักรีด แทนขายเครื่องซักผ้า และระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (เช่น AirBNB, Uber)

รูปแบบถัดมาที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือคือ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ หรือ การพัฒนากรอบแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในบริบทของประเทศไทย

ปัจจุบัน พบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เช่น การจับปลาเกินขนาดที่เหมาะสม (overfishing) ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีในการจับปลาที่ก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับการกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพ มีการประเมินว่า ปัจจุบันมีการจับปลาแบบผิดกฎหมายประมาณ 11-26 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10-22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เช่นเดียวกับปัญหาความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาชายฝั่งอย่างไร้ทิศทาง การทำลายป่าชายเลน การทำเหมือง และการปล่อยมลพิษ และปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำทะเลและนิเวศวิทยาในท้องทะเลโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ที่ทำให้อุณหภูมิและสภาพความเป็นกรดของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบต่อชีวิตใต้ท้องทะเลอย่างมีนัยสำคัญ

เศรษฐกิจสีน้ำเงินเป็นการคำนึงถึงและรักษาธรรมชาติทางทะเล และการตระหนักเห็นคุณค่าและมูลค่าที่แท้จริงของผลประโยชน์นี้ โดยแบ่งเป็นสองนัยยะ คือ หนึ่ง ‘Blue Ocean Wealth’ หรือการมองในเรื่องความยั่งยืน การพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เช่นการมองในแง่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดของเสียน้อยสุดหรือไม่มีของเสียเลย เพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

สอง ‘Blue Ocean Economy‘  คือการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยเน้นไปที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การเป็นแหล่งอาหาร แร่ ทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ เช่น ข้อบังคับให้โรงงานแถบชายฝั่งมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล เพื่อให้ได้น้ำที่สะอาด หรือการรณรงค์การท่องเที่ยวแบบ Eco Tourism การท่องเที่ยวที่ลดใช้ขนะพลาสติก พาไปปลูกประการัง หรือปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ เป็นต้น

 

ทั้งสามภาพสามประเด็นที่ร้อยเรียงอยู่ด้วยกันด้านบนนี้ คือภาพของเทรนด์ในปี 2018 ที่กำลังส่งเสียงบอกเราถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ และจะข้องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเราในทางใดทางหนึ่ง หากอ่านมาถึงตรงนี้เราอาจเห็นภาพของอนาคต (อย่างน้อยๆ ก็เป็นภาพอุดมคติที่เราอยากให้เกิดขึ้น) กันอย่างชัดแจ้งขึ้น ส่วนภาพในปี 2019 จะเป็นไปตามที่เราเห็นไหมนั้น โปรดรอติดตามก้าวต่อไปของเทรนด์ได้ที่ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save