fbpx
เช็คสถานการณ์การเมืองโลก : การหวนคืนของประวัติศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่

เช็คสถานการณ์การเมืองโลก : การหวนคืนของประวัติศาสตร์และการจัดระเบียบโลกใหม่

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คำถามต้นปี: ปีแห่งการหวนคืนของประวัติศาสตร์

 

ในปี 1992 ฟรานซิส ฟูกูยามะ (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นได้นำเสนอแนวคิด ‘จุดจบแห่งประวัติศาสตร์’ ไว้ว่า ประวัติศาสตร์ของโลกได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยที่ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมจะกลายเป็นระบอบการปกครองหลักที่เอาชนะทุกระบอบการปกครองได้ เพราะเป็นระบอบที่รับประกันสันติภาพและความรุ่งเรืองของชาติต่างๆ ได้ดีที่สุด

ปลายปี 2017 ต่อเนื่องต้นปี 2018 จิตติภัทร พูนขำ ชี้ให้เห็นถึง 3 คำถามใหญ่ ที่กำลังกลายเป็นที่ถกเถียงของการเมืองโลกในขณะนั้น ได้แก่ (1) การสิ้นสุดของระเบียบโลกเสรีนิยม (2) การสิ้นสุดของสหภาพยุโรป และ (3) การสิ้นสุดของประชานิยมฝ่ายขวา สำหรับจิตติภัทร ปมปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่า โลกไม่ได้มาถึง ‘การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์’ อย่างที่ฟูกูยามะเคยเสนอไว้ เพราะโลกในปี 2018 อาจเป็นการ ‘หวนคืนของประวัติศาสตร์’ เสียมากกว่า เพราะ “โดยส่วนมากแล้ว ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นโจทย์ที่มีความต่อเนื่อง หรือเป็นคำถามค้างคาที่ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศต่างหาก”

แม้จะยังบอกไม่ได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์’ แบบไหนที่จะหวนคืน แต่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่า และคงไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การย้อนมองและทบทวนเรื่องราวต่างๆ เพื่อขบคิดกับมันอีกครั้ง

และนี่คือโลก 2018 ผ่านสายตาของ 101

 

ครึ่งปีแรก 2018: วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีของทรัมป์และคิม

 

ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2018 ประชาคมโลกต่างจับตาสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีอย่างไม่กระพริบตา เพราะเป็นประเด็นที่สามารถสั่นคลอนความมั่นคงของระเบียบโลกได้ภายในห้วงเวลาที่ตากระพริบ ในบริบทเช่นนี้ จิตติภัทร พูนขำได้นำเสนอบทวิเคราะห์วิกฤตการณ์นิวเคลียร์เกาหลีผ่านบทเรียนวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งช่วยให้เห็นทางเลือกและข้อจำกัดเชิงนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการรับมือกับเกาหลีเหนือได้เป็นอย่างดี

แม้สหรัฐอเมริกาจะมีทางเลือกเชิงนโยบายที่เป็นวิธีทางการทหาร อาทิ การลอบสังหารคิมจองอึน การโจมตีทางอากาศอย่างจำกัด และการพึ่งพิงระบบการป้องกันขีปนาวุธ แต่ถึงที่สุดแล้ว สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะใช้วิธีการป้องปรามและการเจรจามากกว่า (ต่อให้การทวิตเตอร์ขู่เกาหลีเหนือของประธานาธิบดีทรัมป์ จะผิดหลักการป้องปรามที่จำเป็นต้องลดทอนวาทศิลป์ที่สุ่มเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์โดยไม่จำเป็นก็ตามที)

หมุดหมายสำคัญของการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2018 เมื่อไมค์ ปอมปีโอ (Mike Pompeo) ผู้อำนวยการ CIA และว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เดินทางเข้าพบกับ คิมจองอึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ ซึ่งการพบปะกันครั้งนี้นำมาซึ่งการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และคิมจองอึนในเดือนมิถุนายน 2018

ในบทความเรื่อง ‘คงมีแต่ทรัมป์ที่ไปเกาหลีเหนือได้? : ความไว้เนื้อเชื่อใจในการเมืองโลก’ จิตติภัทรได้ชี้ให้เห็นถึงจุดแข็งของการทูตแบบสนทนาตัวต่อตัวในการรักษาเสถียรภาพและสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี โดยหากทรัมป์และคิมจองอึนสามารถสังเกตเห็นถึงท่าทีและเจตนาใฝ่สันติซึ่งแสดงออกมาในการประชุมร่วมกันในเชิงประจักษ์ ก็อาจจะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจบังเกิดขึ้นได้ และพัฒนาไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนอัตลักษณ์ และภาพลักษณ์ของความเป็นศัตรูระหว่างกัน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของวิกฤตการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือคือ การรักษาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพราะทั้งโดนัล ทรัมป์ และคิมจองอึน ต่างถูกมองว่าเป็นผู้นำที่คาดการณ์ไม่ได้และไม่ได้ตัดสินใจบนฐานของข้อมูลมากเท่าใดนัก อีกทั้งมีวาทศิลป์และพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทวีความขัดแย้ง หรือต่อให้ทั้งคู่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันไว้ได้ แต่เมื่อบริบทการเมือง (ทั้งภายในและภายนอกประเทศ) เปลี่ยนแปลงไป เช่น ฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีการเปลี่ยนผู้นำ หรือได้รับแรงกดดันจากการเมืองในประเทศจนทำให้มีการปรับทิศทางนโยบาย ก็ย่อมมีโอกาสที่ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจพังทลายลงได้

โจทย์ใหญ่ของสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นพัฒนากลายเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงสถาบันทั้งในระดับภายในและระหว่างประเทศ

 

ครึ่งปีหลัง: สงครามการค้าของทรัมป์และสีจิ้นผิง

 

ครึ่งปีหลังของ 2018 กลิ่นของความขัดแย้งตลบอบอวลไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเปิดฉากทำสงครามการค้ากับจีนในเดือนกรกฎาคม โดยประกาศใช้มาตรการทางการค้าในสินค้าหมวดต่างๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นข้อพิพาทที่รุนแรงที่สุดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในรอบหลายทศวรรษ

ในมิติเศรษฐกิจ ปิติ ศรีแสงนาม สำรวจงานวิจัยล่าสุดที่ศึกษาผลกระทบของสงครามการค้าครั้งนี้ ว่าสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจต่างๆ อย่างมหาศาล โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือญี่ปุ่น มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสงครามการค้าเอง ก็ได้รับความเสียหายกว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในบทความเรื่อง ‘ประชาคมอาเซียนท่ามกลางสงครามการค้า : 5 ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2019’ ปิติแสดงความกังวลว่า ความเสี่ยงสำคัญของสงครามการค้าคือ การเกิดลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่ (Neo-Mercantilism) ที่ทุกประเทศหรือหลายๆ ประเทศ มุ่งแต่จะสร้างความมั่งคั่งของตนเองโดยการทำลายล้างผู้อื่น ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมในระยะยาว เช่นเดียวกับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ปิติเสนอว่า ระเบียบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในระยะยาวของชุมชนระหว่างประเทศ

หากมองผ่านแว่นตาภูมิศาสตร์การเมือง (geo-politics) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอาจไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลกใหม่ จิตติภัทร พูนขำเคยนำเสนอไว้ในบทความเรื่อง “กับดักธูสิดีดิส” แห่งศตวรรษที่ 21 : การเปลี่ยนผ่านอำนาจโลกอย่าง(ไร้)สันติ? ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเดิมกับมหาอำนาจใหม่มักติด “กับดัก” ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ จนสงครามกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง กล่าวคือ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก เรามักเห็นการเปลี่ยนผ่านที่ไร้สันติ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อรูปลักษณ์หรือการจัดระเบียบโลกที่ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

มโนทัศน์เรื่อง ‘กับดักธูสิดีดิส’ ช่วยให้มองเห็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ในมิติที่กว้างขวางขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จีนเข้ามาสร้างระเบียบโลกใหม่เป็นคู่ขนานและอาจจะ bypass ระเบียบโลกดั้งเดิมแบบเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากการสร้างกลไกระหว่างประเทศใหม่ขึ้นมาใหม่ของจีน ไม่ว่าจะเป็นความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางสายไหม (Silk Road Infrastructure Fund: SRIF) รวมทั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ภายใต้กลุ่ม BRICs เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่สั่นสะเทือนระเบียบโลกแบบเสรีนิยมแบบเดิม รวมทั้งอำนาจนำของสหรัฐฯ

ภายใต้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ประเทศไทยควรมีท่าทีเช่นไร? ในบทความเรื่อง ‘อ่านยุทธศาสตร์ในช่วงเวลา’ ศุภมิตร ปิติพัฒน์ชี้ให้เห็นว่า โจทย์ยุทธศาสตร์ไทยต่อจีนและต่อสหรัฐฯ จะต้องตอบโจทย์อย่างน้อย 2 ข้อ โจทย์แรกคือ ยุทธศาสตร์จัดการกับเงื่อนไขภายในที่ทำให้ไทยไร้พลังในเวทีระหว่างประเทศมานานนับทศวรรษเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโจทย์ที่สอง คือยุทธศาสตร์จัดการสภาพแวดล้อมภายนอกคือความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสอง รวมทั้งจัดการผลกระทบที่เกิดจากพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรที่กำลังพลิกเข้าหาความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ในการเมืองภายใน โดยการวางยุทธศาสตร์จะต้องไม่หยุดนิ่ง คล้ายกับการซีรีส์ละครที่ต้องเล่นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เปลี่ยนตัวผู้เล่น เปลี่ยนพล็อต เปลี่ยนสถานการณ์ไปเมื่อตอนใหม่ของฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้น และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และอีกครั้ง

อันที่จริง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องจัดการเงื่อนไขภายในประเทศเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่ทุกประเทศล้วนแต่มีโจทย์ภายในประเทศตัวเอง และการทำความเข้าใจโลกคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศมหาอำนาจ

 

การโต้กลับของฝ่ายเสรีนิยมในสหรัฐอเมริกา?

 

จากปี 2017 ต่อเนื่อง 2018 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เขียนบทความหลายชิ้นที่สะท้อนสภาพความปั่นป่วนและความโกลาหลภายในทำเนียบขาวภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะปัญหา ‘ความเป็นประธานาธิบดี’ (the presidency) ของทรัมป์เองที่แตกต่างจากขนบ มารยาท และปทัสถานทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาอย่างสิ้นเชิง  เช่น การไม่เคารพความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เสรีภาพของสื่อมวลชน ความเป็นอิสระของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ประณามการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มขวาสุดขั้ว ไม่ประณามผู้นำเผด็จการในประเทศอื่นๆ คุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลและทำเนียบขาว ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างส่วนตัวและครอบครัวกับตำแหน่งประธานาธิบดี สุดท้ายคือการไม่ยึดถือในความจริง

ปี 2018 นับเป็นปีสำคัญของการเมืองอเมริกา เพราะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งมีนัยสำคัญคือ การเป็นตัววัดคะแนนเสียงและความนิยมที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกัน โดยประเด็นหลักที่เป็นที่ถกเถียงกันในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ เรื่องเศรษฐกิจ ผู้อพยพคนเข้าเมือง คนกลุ่มน้อย การรักษาพยาบาล ไปถึงความสุภาพหรือมารยาททางการเมือง (civility) ที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าขาดหายไป

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเดโมแครตกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ ส่วนวุฒิสภายังตกเป็นของพรรครีพับลิกัน ในรายการ 101 Round table “อนาคตการเมืองสหรัฐหลังการเลือกตั้งมิดเทอม” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และปกป้อง จันวิทย์ ล้อมวงวิเคราะห์ไว้ว่า แม้พรรคเดโมแครตจะได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อพิจารณาจากกระแส ‘Blue Wave’ ที่มาแรงอย่างมากในช่วงก่อนเลือกตั้งแล้วอาจประเมินได้ว่า พรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะการไม่สามารถช่วงชิงเสียงข้างมากในวุฒิสภาคืนมาได้ ผลการเลือกตั้งนี้จึงอาจมีนัยว่า การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมยังคงก้ำกึ่งมาก และการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020  จะมีความสำคัญทั้งต่อการเมืองอเมริกาและการเมืองโลก

นอกจากการเลือกตั้งกลางเทอมแล้ว การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดก็เป็นอีกหนึ่งสนามการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยมต่อสู้กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวที่ผู้พิพากษาเบร็ตต์ คาวานอห์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกคริสตีน บลาซีย์ ฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา  กล่าวหาว่า เขาพยายามข่มขืนเธอ จนทำให้มีการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฝ่ายยุติธรรม แม้ท้ายที่สุด คาวานอห์จะได้รับการรับรองจากวุฒิสภาไปตามคาด ด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 48 อย่างไรก็ตาม ธเนศมองว่า กรณีคาวานอห์นับเป็นวิกฤตของระบบยุติธรรมที่กระแทกวุฒิสภาอย่างแรง และการรับรองคาวานอห์ย่อมทำให้ความเชื่อถือในวุฒิสภาอเมริกันเสื่อมถอยลง

 

อนาคตสหภาพยุโรปกับ Brexit ที่ไร้ทางออก

 

วิกฤตสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่การจัดการเงื่อนไขภายในประเทศส่งผลต่อยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ และการที่ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศโดยตรง พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ เขียนจดหมายจากยุโรปตลอดทั้งปีเพื่อติดตามกรณี Brexit อย่างใกล้ชิดและเป็นกังวล ในบทความเรื่อง Five Days Of Mathematical Impossibility In The Parallel Universe Of Brexit พีเทอร์เปรียบปัญหา Brexit ว่าเป็นสมการที่ไม่มีวันแก้ได้ เพราะข้อเรียกร้องหลักที่สหราชอาณาจักรต้องการนั้นขัดแย้งกันเอง เช่น การต้องการให้พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ยังคงไร้รอยต่อเหมือนเดิม แต่ต้องการควบคุมการข้ามแดนของผู้คน เป็นต้น หรือการต้องการมีอำนาจในการเจรจาการค้าเป็นของตัวเอง แต่ยังต้องการประโยชน์จากการอยู่ในสหภาพศุลกากร เป็นต้น

กระทั่งปัจจุบัน วิกฤต Brexit ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีทางออก มิหนำซ้ำยังมีโอกาสพัฒนากลายมาเป็นวิกฤตการเมืองภายในสหราชอาณาจักรอีกด้วย ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2019 รัฐบาลของเทเรซา เมย์ ได้ขอให้สภาโหวตรับรองแผน Brexit ที่ใช้เวลากว่า 2 ปีในการเจรจา แต่ผลกลับปรากฏว่า รัฐบาลกลับแพ้โหวตอย่างขาดลอย และนับเป็นการแพ้ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหราชอาณาจักรสมัยใหม่

รายงานข่าวชี้ว่า ในบรรดา ส.ส. ที่ลงมติไม่รับแผน Brexit ของรัฐบาลเมย์ ประกอบด้วย คนที่ไม่เห็นด้วยกับ Brexit เลย คนที่คิดว่าแผน Brexit ของเมย์แรงเกินไป (too soft) คนที่คิดว่าแผน Brexit ของเมย์แรงเกินไป (too strong) และคนที่ต้องการให้สหราชอาณาจักรออกมาแบบไม่ต้องมีดีลอะไรเลย

ในจดหมายส่งท้ายปี 2018 พีเทอร์บอกไว้ว่า แม้เขาจะพยายามทำความเข้าใจ Brexit อย่างถึงที่สุด แต่สิ่งที่รออยู่ข้างหน้ามีแต่ความไม่แน่นอน สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ การเลือกตั้งใหม่ การทำประชามติใหม่ การยกเลิกการออกจากอียู หรือการออกไปแบบไม่มีแผนรองรับอะไรเลย ล้วนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และสำหรับพีเทอร์ “มีแต่คนโง่เท่านั้นที่กล้าวางเงินเดิมพันว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตในกรณี Brexit”

นี่ความความยุ่งเหยิงและมืดมนที่รออยู่ในปี 2019

 

รัสเซียกับการจัดระเบียบโลกแบบอเสรีนิยม

 

อีกหนึ่งเหตุการณ์รูปธรรมที่สะท้อนความขัดแย้งและความหวาดระแวงบนเวทีการเมืองโลกปัจจุบันคือ ความตึงเครียดระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ซึ่งหลายคนมองว่า สาเหตุสำคัญคือวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมียในปี 2014

อย่างไรก็ตาม ในบทความเรื่อง ‘ผิดที่ไว้ใจ? รัสเซียกับสหภาพยุโรปในภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวง’ จิตติภัทร พูนขำ นำเสนอมุมองแหลมคมชวนคิดว่า วิกฤตการณ์ใหญ่อย่างเช่นวิกฤตการณ์ยูเครน/ไครเมีย อาจเป็นเพียงแค่อาการของโรคเท่านั้น ส่วนต้นเหตุที่แท้จริงมาจาก ความแตกต่างร้าวลึกระหว่างสองมหาอำนาจ ทั้งในด้านคุณค่า ปทัสถานและอัตลักษณ์ รวมทั้งผลประโยชน์ซึ่งก่อตัวและทวีความสลับซับซ้อนตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา

กล่าวอย่างถึงที่สุด สหภาพยุโรปและรัสเซียเห็นต่างกันในขั้นพื้นฐานว่าระเบียบระหว่างประเทศในยุโรปควรมีหน้าตาเป็นเช่นใด ในด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปมุ่งส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่มีคุณค่าปทัสถานทางการเมืองแบบเสรีนิยม ตลาดเสรี รวมทั้งสิทธิมนุษยชน โดยหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่สหภาพยุโรปส่งออกคุณค่าเหล่านี้คือประเทศยุโรปตะวันออกที่แยกตัวออกมาหลังสหภาพโซเวียตแตก ในขณะที่รัสเซียมุ่งหมายที่จะสถาปนาระเบียบที่ตนเป็นมหาอำนาจที่มีสิทธิยับยั้งเหนือเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และแสวงหาการยอมรับระหว่างประเทศเหนือเขตอิทธิพลในบริเวณประเทศจอร์เจีย ยูเครน  และคีร์กีสถาน ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็น ‘หลังบ้าน’ ของตน ความไม่ลงรอยกันดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นแรงขับเคลื่อนของภูมิรัฐศาสตร์แห่งความหวาดระแวงระหว่างสหภาพยุโรปและรัสเซีย

ในการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับสหภาพยุโรป จิตติภัทรชี้ให้เห็นว่า รัสเซียเลือกใช้การสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มประชานิยมขวาจัดในยุโรปเป็นแนวนโยบายสำคัญ โดยระบบพันธมิตรใหม่จะคอยทำหน้าที่ผลิตซ้ำเรื่องเล่าชุดใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเมืองแบบอำนาจนิยมและนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวของรัสเซีย พร้อมๆ กับการทำให้นโยบายดำเนินนโยบายร่วมของยุโรปแตกแยก ไม่มีเอกภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อยุทธศาสตร์หลักของรัสเซีย

กระนั้น ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมของรัสเซียเองก็ยังต้องเผชิญกับบททดสอบจากการเมืองภายในประเทศเอง แม้ ‘ระบอบปูติน’ จะครองอำนาจมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบสองทศวรรษ แต่เริ่มมีสัญญาณบางประการที่ชี้ให้เห็นถึงการเสื่อมอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผลการสำรวจโพลที่คะแนนนิยมของปูตินเริ่มตกต่ำลง หรือการที่ผู้สมัครที่ใกล้ชิดระบอบปูตินแพ้การเลือกตั้งในระดับภูมิภาคหลายแห่ง

 

ความฝันของสีจิ้นผิง = ความฝันของจีน?

 

หมุดหมายสำคัญที่สุดของจีนในปี 2018 คือ การที่สีจิ้นผิงประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจีนเพื่อให้ตนเองครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ฉีกทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำจีนต้องลงจากตำแหน่งหลังครบ 10 ปี ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้สีจิ้นผิงกลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจและอิทธิพลแบบโชว์เดี่ยว คล้ายกับยุคของเหมาเจ๋อตง

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์ว่า การกระชับอำนาจของสีจิ้นผิงสอดคล้องกับสะท้อนเทรนด์การเมืองโลกที่หมุนไปในทิศทางอำนาจนิยม ชาตินิยม และเผด็จการมากขึ้นทั่วโลก โดยอาร์มยังชี้ให้เห็นด้วยว่า จีนยุคสีจิ้นผิงเป็นตัวแบบของเผด็จการพันธุ์ใหม่ที่สามารถอยู่และปักหลักได้อย่างยืนยาว แถมยังอาจจะได้รับเสียงเชียร์จากคนไม่น้อยในสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม ระบอบนี้ยังมีความเสี่ยงภายในสูง โดยเฉพาะการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย เพราะจริงอยู่ว่าทุกวันนี้ประชาชนชาวจีนอาจจะไว้ใจสีจิ้นผิง แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันสำหรับอนาคต

สีจิ้นผิงเคยตั้งเป้าความฝันของจีน หรือ “Chinese Dream” ไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2021 (พรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศที่กินดีอยู่ดีพอสมควร และในปี ค.ศ. 2049 (สาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 100 ปี) จีนจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ โดยหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยให้จีนบรรลุฝันได้คือ นวัตกรรมและเทคโนโลยี

งานหลายชิ้นของอาร์มในปี 2018 ช่วยฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีจีนได้อย่างสนุกและน่าสนใจ เช่น การเปรียบเทียบจุดแข็งและจุดอ่อนของจีนและสหรัฐอเมริกาในด้าน A.I. ที่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรม A.I. และภาพใหญ่ของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในจีนและสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดี หรือ การนำเรื่องราวของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการจีนคิดค้นขึ้นมาเล่าต่อก็ช่วยให้เห็นพลวัตการปรับตัวของภาคเอกชนจีนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นมิติสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยี จีนเป็นประเทศที่ต้องจับตามองอย่างไม่กระพริบตา

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save