fbpx
แด่ผีและปีศาจ : เมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 2018

แด่ผีและปีศาจ : เมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในปี 2018

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในช่วงปีที่ผ่านมา 101 ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงศิลปะ-วรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่อง กินขอบเขตตั้งแต่เรื่องราวในแวดวงหนังสือ ภาพยนตร์ และดนตรี

จุดที่น่าสนใจคือ หากนำเนื้อหาในหมวดนี้ในปี 2018 มามัดรวมกัน เราจะเห็นจุดร่วมบางอย่างสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ตั้งใจ ทว่ากลับสะท้อนให้เห็นภาพสังคมไทยใน พ.ศ.นี้ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง ต้องยอมรับว่าเป็นภาพที่ไม่ค่อยมีหวังหรือมองเห็นอนาคตสักเท่าไหร่ แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะย้อนสู่ไปอดีตเสียมากกว่า

 

การเกิดใหม่ของ ‘นายผี’ และ ‘ปีศาจ’

 

ในส่วนของแวดวงวรรณกรรม เป็นความบังเอิญที่ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของสองนักเขียนคนสำคัญอย่าง ‘นายผี’ (อัศนี พลจันทร) และ เสนีย์ เสาวพงศ์ เจ้าของนวนิยายเรื่อง ‘ปีศาจ’

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

ข้างต้นคือวรรคอมตะจากนวนิยายเรื่อง ‘ปีศาจ’ เป็นคำพูดของตัวละครเอกนามว่า สาย สีมา ที่ตอบโต้ ‘ท่านเจ้าคุณ’ บิดาของสาวคนรักต่างฐานันดร หลังจากถูกท่านเจ้าคุณและเหล่าเพื่อนชนชั้นสูงดูถูกเหยียดหยาม และสั่งสอนในความ “ไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา”

เสนีย์ใช้นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมไทยในเวลานั้น ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่เงื่อนปมแห่งกาลเวลา เมื่อคุณค่าเก่า เช่น การให้คุณค่ากับสายเลือด ฐานันดร และประเพณี ปะทะกับการเปลี่ยนแปลงสู่สมัยใหม่ เช่น การที่ชนต่ำชั้นมีโอกาสยกระดับฐานะทางสังคมผ่านการศึกษา รวมถึงการให้คุณค่ากับความเท่าเทียมและศักยภาพของมนุษย์

มองเผินๆ แม้จะผ่านเวลามากว่า 60 ปีจากการตีพิมพ์ครั้งแรก ทว่านิยายเรื่องนี้กลับยังสะท้อนภาพสังคมไทยที่ยัง ‘เปลี่ยนไม่ผ่าน’ อยู่เช่นเดิม ดังที่ธร ปีติดล ได้เขียนไว้ในบทความ ‘ปีศาจ’ ความเหลื่อมล้ำ และกาลเวลา

นอกจากบทความที่ว่ามา ในแง่ของการจัดงานเสวนาในวาระครบรอบ 100 ชาตกาลเสนีย์ เสาวพงศ์ ก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน โดยนวนิยาย ‘ปีศาจ’ ถูกนำมาอ่านและตีความใหม่อย่างหลากหลาย ภายใต้บริบทสังคมปัจจุบันที่น่าจะทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ๆ รู้สึก ‘อิน’ กับงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตเล่มนี้ได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกันในปีนี้ ก็มีการประกาศผล ‘รางวัลปีศาจ’ รางวัลวรรณกรรมใหม่เอี่ยมที่เพิ่งจัดประกวดเป็นปีแรก โดยรับผลงานประเภทนวนิยายที่ยึด ‘คุณค่าประชาธิปไตย’ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งที่มาที่ไปของรางวัลนี้ ก็ตั้งต้นมาจากนวนิยายเล่มดังกล่าวนั่นเอง

ข้ามฝั่งมาที่ ‘นายผี’ หรือ อัศนี พลจันทร ก็มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 100 ปีชาตกาลเช่นเดียวกัน หมุดหมายสำคัญคือ ‘โครงการอ่านนายผี’ ของสำนักพิมพ์อ่าน ที่เริ่มรวบรวมและชำระต้นฉบับของนายผี มาตั้งแต่ปี 2553 และทำออกมาครบชุด 20 เล่ม ตามที่ตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน และผู้อยู่เบื้องหลังโครงการอ่านนายผี กล่าวว่า สิ่งที่คุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทของนายผี กำชับเสมอคือ ไม่ว่าจะในวาระไหนก็ตาม ขอให้เน้นที่เรื่องหนังสือและตัวบทเป็นหลัก ซึ่งเป็นคำสั่งที่สืบต่อมาจากเจตจำนงของนายผีและภรรยา (วิมล พลจันทร) อีกทีหนึ่ง

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงยึดถือคำสั่งของคุณวิมลมาลีเป็นแนวทางว่า ให้เน้นไปที่ตัวงาน เพราะเราถือว่ามันคือหลักฐานที่คุณอัศนีตั้งใจฝากไว้ ไม่ใช่เพื่อจะฝากชื่อตัว หรือฝากเพื่อให้ใครมารำลึกถึงตัว แต่ฝาก เพราะเขาถือว่ามันเป็นพันธกิจ แม้จะเป็นพันธกิจในยุคสมัยที่อาจจะดูไกลโพ้นไปแล้วสักหน่อย…

“แต่ชะรอยกรรมคงเป็นว่า สภาพสังคมการเมืองไทยของเรา ประหนึ่งมีนาฬิกาของตัวเอง ที่ไม่ผูกพันกับกาลสมัย ประเดี๋ยวเราจึงก้าวไปข้างหน้า จนเราเผลอนึกไปว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ประเดี๋ยวเราก็ถอยหลังกลับไป ไกลจนถึงจุดที่เรายืนกลับหลังกันอยู่ในทุกวันนี้ ฉะนั้นการพูดถึงงานของคุณอัศนีในบางแง่ อาจเป็นการพูดถึงสภาพการณ์ความคิดอันพ้นสมัย ที่บางด้านอาจยังร่วมสมัยอยู่ในที”

ในวาระนี้ 101 ได้นำเสนอรายงานจากวงเสวนา ‘วรรณกรรมของนายผี กับความยุติธรรมของอัศนี พลจันทร’ ที่ชวน  รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมวิเคราะห์และตีความผลงานของนายผี จากมุมของ ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ และ ‘นักกฎหมาย’

นอกจากนี้ยังนำได้เสนอบทสัมภาษณ์ขนาดยาวของ ไอดา อรุณวงศ์ ซึ่งต้องผันตัวจากบรรณาธิการ มาเป็น ‘นายประกัน’ แบบจับพลัดจับผลู สะท้อนให้เห็นความสับสนในการดำรงอยู่ของ ‘วารสารอ่าน’ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัย รวมถึงขัดแย้งกับสภาพสังคมที่ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการ

“ถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นวารสารเกี่ยวกับการวิจารณ์ แต่คุณดันอยู่ในประเทศที่เป็นเผด็จการไปแล้ว พูดไปมันก็กระดากปาก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าเราไม่หยุดเขา เราก็ต้องหยุดตัวเอง เพราะสองสิ่งนี้มันขัดแย้งกัน มันต้องมีใครผิดสักคนหนึ่ง”

นอกจาก นายผี และ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ครบรอบ 100 ปีชาตกาลในปีนี้แล้ว ยังมีศิลปินอีกหลายคนในยุคเดียวกันที่ครบรอบ 100 ปีชาตกาลเหมือนกันในปีนี้ อาทิ มงคล อมาตยกุล, อิงอร รวมถึง ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงในยุคแรกเริ่ม โดยมีหนังสือ ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ เขียนโดย วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำโดยสำนักพิมพ์ The Writer’s secret ในปีนี้ พร้อมๆ กับการจัดงานเปิดตัวหนังสือที่มีนักเขียน-ศิลปินเข้าร่วมอย่างคึกคัก

101 ได้นำเสนอบทความสองชิ้นในวาระดังกล่าว คือ ‘โลกนี้นี่ดูช่างดูยอกย้อน’ และ ‘น้ำเหลืองในน้ำนม’ โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือประเด็นที่บินหลา สันกาลาคีรี เจ้าของสำนักพิมพ์ The Writer’s secret พูดไว้ในงานเปิดตัวหนังสือ ว่า

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยในวันนี้ อาจไม่ต่างจากช่วง 80-90 ปีที่แล้วนัก คือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนหนุ่มคนสาวเรียนรู้และเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม แล้ววันหนึ่งที่เขาเติบโตทางความคิดอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นอะไรดีๆ จากคนรุ่นนี้เช่นกัน”

 

จาก ‘ประเทศกูมี’ ถึง ‘10 Years Thailand’

 

จากผลงานของศิลปินในอดีต ตัดภาพมาที่ผลงานของศิลปินในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ามีงานชิ้นเด่นๆ ที่เล่นกับประเด็นสังคมออกมาในปีนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในกระแสเพลงแร็ปที่ได้รับความนิยมมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก่อนจะเดือดถึงขีดสุดเมื่อเพลง ‘ประเทศกูมี’ โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม ก่อนจะกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน จากมิวสิควีดิโอที่จำลองภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

101 นำเสนอบทสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้แต่งเพลงนี้อย่าง ‘Liberate P’ ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่เพลงนี้ยังไม่ถูกปล่อยออกมา รวมถึงผู้กำกับมิวสิควิดิโอรุ่นใหญ่อย่าง ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ซึ่งเผยความในใจถึงที่มาที่ไปของเอ็มวีนี้ ที่ถูก ‘คนเดือนตุลา’ กลุ่มหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า ‘เกิดไม่ทันแล้วจะไปรู้อะไร’

“ผมได้แต่ถามตัวเองในใจว่า อ้าว แล้วพวกพี่เกิดทัน ทำไมพวกพี่ถึงลืมล่ะ มีคนตาย ถูกแขวนคอ ถูกเก้าอี้ฟาดต่อหน้าต่อตา พี่ไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ เพื่อนๆ พี่ทั้งนั้นไม่ใช่เหรอที่ตายไปในเหตุการณ์วันนั้น แล้วถามจริงๆ ว่าพี่จำชื่อคนตายได้บ้างไหม”

นอกจากมุมมองของศิลปิน 101 ยังได้ชวน อิสระ ชูศรี มาร่วมวิเคราะห์เพลงนี้ในมุมของนักภาษาศาสตร์ เทียบเคียงกับเพลงอย่าง ‘คืนความสุขประเทศไทย’ และวาทกรรมอื่นๆ ของ คสช. ด้วย

“แล้วยิ่งเวลาผ่านไป คำว่าสงบ คำว่าคืนความสุข คำว่าขอเวลาอีกไม่นาน มันยิ่งตรงข้ามกับตัวเนื้อหาของคำพูด กลายเป็นว่าคำพวกนั้นไม่มีความหมายอีกแล้ว สุดท้ายเขาก็เลยเลิกพูด เราจะพบว่าทุกวันนี้เขาไม่เปิดเพลงนี้แล้ว เพราะเปิดแล้วมันตลก”

ขยับจากแวดวงแร็ปเปอร์ มาสู่แวดวงของ ‘กวี’ ที่ใช้ภาษาเป็นอาวุธเหมือนกัน ในปีนี้ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่าง ‘Nan Poesie’  เทศกาลบทกวีแห่งเมืองน่านที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ชโลมใจ ชยพันธนาการ เป็นตัวตั้งตัวตี โดยวรพจน์อ้างว่านี่น่าจะเป็น ‘เทศกาลบทกวี’ ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้

“เท่าที่เห็นในเมืองไทย ความหมายของบทกวีสำหรับบุคคลทั่วไป โดยค่าเฉลี่ย บทกวีแปลว่าคำคล้องจอง ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ถามว่าบทกวีคล้องจองมีไหม มี แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยมาก เป็นแค่แขนงหนึ่งเท่านั้น บทกวีไม่ได้แปลว่าคำคล้องจองอย่างที่นักเรียนภาษาไทยทั่วประเทศเข้าใจ

“เราเชื่อมั่นในศิลปะ ศิลปิน เราเชื่อมั่นในอำนาจของหนังสือ เราเชื่อมั่นในการอ่าน ถ้าประเทศมีคนอ่านหนังสือจริงจัง มีคนเสพศิลปะวรรณกรรมอย่างจริงจัง มีคนสนใจบทกวีอย่างจริงจัง ประเทศที่มันมี poetic ไม่มีทางเป็นประเทศที่ล่มจม ต่อให้อยู่ในวันเวลาที่แย่ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิด ธุรกิจใหม่ๆ จะเกิด แต่ปัญหาของแผ่นดินนี้คือ นอกจากไม่มีสนามบอลแล้ว ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ ยังไล่เอาโซ่มาล่ามขานักบอลไว้ด้วย นอกจากคุณไม่สร้างสนามบอลแล้วเนี่ย คุณยังมาทำลายอาชีพ ทำลายจินตนาการของนักบอลด้วย”

สำหรับภาพใหญ่ในแวดวงกวีระดับโลก ชลธร วงศ์รัศมี ได้นำเสนอเรื่องราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกวีที่น่าสนใจ ไว้ในคอลัมน์ที่ชื่อว่า Poetic 

ย่างเข้าช่วงปลายปี อีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่มีคนให้ความสนใจไม่น้อย คือโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ’10 Years Thailand’ ที่เป็นการรวมตัวกันของผู้กำกับรุ่นใหม่ ที่มาร่วมกันทำหนังเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

หลังจากเปิดตัวและเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ (World Premiere) ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 10 Years Thailand ก็ได้ฤกษ์เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่โรงหนังสกาลา มีนักการเมือง ศิลปิน นักเคลื่อนไหว หลายร้อยชีวิตเข้าร่วมชมรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561

101 มีโอกาสสัมภาษณ์ทีมโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ 10 Years Thailand ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม ว่าด้วยความคิดเบื้องหลังในการทำหนังของแต่ละคน รวมถึงมุมมองที่พวกเขามีต่อประเทศไทยในอีกสิบปี

“เรารู้สึกว่าเวลาที่คนในสังคมเจอวิกฤตอะไรบางอย่าง เขามักจะย้อนกลับไปหาความยิ่งใหญ่ในอดีต หรือเรื่องราวบางอย่างที่เคยดี แล้วก็จุดเป็นกระแสขึ้นมาทั้งบ้านทั้งเมือง เพื่อหลีกหนีความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ แต่กลับไม่ค่อยมองอนาคตกันเท่าไหร่” คือความเห็นของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้ร่วมปลุกปั้นโปรเจ็กต์นี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคนอื่นๆ ที่บอกว่า ณ เวลานี้ เรามองไม่ค่อยเห็น ‘อนาคต’ ของประเทศนี้สักเท่าไหร่นัก

ในทำนองเดียวกัน เมื่อตามไปดูบทความวิจารณ์จากสื่อต่างๆ ที่ทยอยเขียนกันออกมา เราจะพบจุดร่วมทำนองว่า “นี่คือหนังที่พูดถึงอนาคต ของประเทศที่ไม่มีอนาคตเอาเสียเลย”

 

จาก ‘รุ่นใหญ่’ ถึง ‘รุ่นใหม่’ 

 

นอกจากความเคลื่อนไหวเด่นๆ ที่ว่ามา ซึ่งยึดโยงอยู่กับภาพปัจจุบัน อดีต และอนาคตของสังคมไทย ยังมีข่าวคราวและความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในปีนี้ที่น่าบันทึกไว้อีกจำนวนหนึ่ง

เริ่มต้นจากแวดวงวรรณกรรม ที่วีรพร นิติประภา สามารถคว้ารางวัลซีไรต์ได้เป็นสมัยที่ 2 จากนวนิยายเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงในทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ นับเป็นนักเขียนคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่ได้ ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’ ต่อจาก ชาติ กอบจิตติ และ วินทร์ เลียววาริณ

101 ได้นำเสนอบทวิเคราะห์นวนิยายเรื่องดังกล่าวหลายชิ้น ทั้งในมุมของคนจีนโพ้นทะเล โดย ธร ปีติดล และในมุมของการวิเคราะห์ผังเมือง โดย โตมร ศุขปรีชา รวมถึงการชวนวีรพรมาพูดคุยสดๆ ในรายการ 101 one-on-one

ในฝั่งของหนังสือต่างประเทศ ไฮไลท์สำคัญของปีนี้คงหนีไม่พ้น ‘Sapiens’ ซึ่งแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ยิบซี โดย 101 ได้ชวนดร.นำชัยมาพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้แบบเจาะลึก รวมไปถึงบทวิเคราะห์จาก วรากรณ์ สามโกเศศ และ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ 

ส่วนในภาพรวมของวงการหนังสือ 101 ได้ตระเวนสัมภาษณ์ ‘ตัวจริง’ ในวงการ ตั้งแต่คนทำสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ นักแปล และนักวิจารณ์  ที่ช่วยฉายภาพสถานการณ์ปัจจุบันในแวดวงได้อย่างแจ่มชัด

“สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจรู้ว่าตัวเองมีอำนาจ และคนที่อยู่ใต้อำนาจก็รู้ว่าตัวเองถูกอำนาจอะไรบางอย่างสั่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้แม้กระทั่งแต่การอ่าน คนทั่วไปก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทางเลือก แต่อ่านเพราะถูกทำให้เชื่อว่ามันดี มันมีประโยชน์ อ่านเพราะเป็นหน้าที่มากกว่าความสมัครใจ…” คือมุมมองของ สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดใจไว้ในบทสัมภาษณ์ ความในใจจาก ‘นักวิจารณ์วรรณกรรม’ ในประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอ

ในแง่ของเทรนด์ด้านการอ่านการเขียน 101 ก็มีบทความและสกู๊ปหลายชิ้น ที่บันทึกกระแสและความเคลื่อนไหวในแวดวงเอาไว้ อาทิ ความยั่งยืนของร้านหนังสืออิสระ การบูมขึ้นมาของ ‘นิยายวาย’ รวมถึงหนังสือประเภท Brainy Books ที่โตมร ศุขปรีชา เขียนบทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ

“หลายคนคิดว่า หนังสือแนวนี้คือหนังสือที่เอา ‘ความรู้’ มาย่อยให้อ่านง่าย อ่านสนุกๆ ข้อมูลอาจไม่ต้องลึกซึ้งอะไร แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่า แนวโน้มที่คนหันมาหา Brainy Books นี้ ทำให้หนังสือประเภทที่ ‘ยากจริงๆ’ แต่อาจเคลือบไว้ด้วยน้ำตาลบางอย่าง กลายเป็นหนังสือยอดนิยมขึ้นมาได้เหมือนกัน

“เดอะการ์เดี้ยนวิเคราะห์ไว้ว่า คนในศตวรรษที่ 21 พบว่าตัวเองอยู่ในท่ามกลาง ‘ทะเลข้อมูล’ ที่ไว้ใจไม่ได้จนจะจมตายอยู่แล้ว พวกเขาจึงต้องการคนที่คัดสรร พิถีพิถัน และ ‘เลือกเล่า’ เรื่องที่สำคัญๆ ต่อพวกเขาจริงๆ คนสมัยนี้กระหายหาทั้ง ‘ข้อมูล’ (Information) และ ‘ข้อเท็จจริง’ (Facts) ที่ต้องมีวิธีถักทอร้อยเรียงสนุกสนานด้วย ดังนั้น หนังสือประเภทนี้ที่จริงจัง มีข้อมูล แต่เล่าด้วยวิธีที่น่าอ่าน จึงกลายเป็นหนังสือที่กำลัง ‘มา’ อย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน”

ยังมีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงละครเวทีโรงเล็ก คือละครเรื่อง ‘ปรารถนา : ภาพเหมือนของการเข้าสิง’ ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย ‘ร่างของปรารถนา’ ของ อุทิศ เหมะมูล ที่ได้ผู้กำกับมือดีอย่าง โทชิกิ โอคาดะ และทีมงานชาวญี่ปุ่น มาช่วยรังสรรค์เป็นละครเวทีที่น่าตื่นตะลึง และหลุดพ้นไปไกลจากละครเวทีในขนบเดิมๆ

ที่สำคัญคือ นอกจากการแสดงในประเทศไทยแล้ว ละครเวทีเรื่องนี้ยังไปสร้างชื่อไกลถึงฝรั่งเศสเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และถัดจากนี้จะตระเวนทำการแสดงในอีกหลายประเทศ ทั้งในเอเชียและยุโรป

ปิดท้ายด้วยแวดวงดนตรี ในปีที่ผ่านมา 101 ได้สัมภาษณ์ศิลปินนอกกระแสที่มีผลงานโดดเด่นอย่าง เยนา, รัสมี อีสานโซล, เพทาย VKL รวมไปถึงเจ้าของเพจ ‘แจ๊สแจ๋’ ที่เล่าเรื่องแจ๊สได้ถึงแก่น ซึ่งให้ภาพสะท้อนร่วมกันอย่างหนึ่งว่า ศิลปินที่หนักแน่นชัดเจนในแนวทางของตัวเอง แม้จะไม่ได้โด่งดังหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็สามารถสร้างกลุ่มผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ ที่เหนียวแน่นของตัวเอง โดยมีช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งหลายเป็นตัวช่วย

 

หากมองในภาพกว้าง แม้ที่ทางของเหล่าศิลปินตัวเล็กๆ จะไม่ได้อยู่ในแสงสปอตไลท์ ห่างไกลจะคำว่ากระแสหลัก แต่ในมุมของผู้เขียนเองที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินจำพวกนี้อยู่เนืองๆ กลับรู้สึกว่า เสียงเล็กๆ ผลงานเล็กๆ จากศิลปินตัวเล็กๆ เหล่านี้ คือกุญแจที่มีส่วนขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าผ่านงานศิลปะที่พวกเขาสร้างขึ้นมา–อย่างมีนัยสำคัญ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save