fbpx
ลัดพื้นที่ เลาะตะเข็บชีวิตคนไทย ปี 2018

ลัดพื้นที่ เลาะตะเข็บชีวิตคนไทย ปี 2018

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เวลาพูดถึงความลำบากของประชาชนหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แม้จะเห็นชัดในเชิงตัวเลขภาพรวม แต่ในบางครั้งเราก็ไม่อาจเห็น ‘คน’ ได้ชัดเจน  ความเจ็บช้ำในแววตา สภาพบ้านเรือนความเป็นอยู่ น้ำเสียงของความทุกข์ หรือแม้แต่เสื้อผ้าขาดวิ่นและกลิ่นเหม็นเน่าจากคลอง ก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นในปัญหาเชิงโครงสร้าง สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องลงไปสัมผัส จุดที่เล็กละเอียดของมนุษย์คือการใช้ชีวิต และสภาพชีวิตก็เป็นตัวบอกได้ว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยเป็นแบบไหน สุขสบาย ทุกข์เข็ญ หรือสนุกไปตามอัตภาพ

ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา 101 ได้ลงพื้นที่สำรวจชีวิตผู้คน นับตั้งแต่ย่านเมืองเก่าแถบพระนคร ไปจนถึงย่านที่คึกคักยามค่ำคืนอย่างสีลม-สุขุมวิท

ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เรายังลงไปดูชีวิตชาวประมงที่มหาชัย ต่อลงไปถึงภาคใต้ เห็นชีวิตกลุ่มลูกเหรียง ก่อนจะกลับมาดูพื้นที่ภาคอีสานที่มีกลุ่มคนกำลังพัฒนาการศึกษาอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง

ไม่จำเป็นต้องมัดเชือกรองเท้า หาที่เหมาะๆ แล้วนั่งลง เลาะตะเข็บชีวิตคนไทยไปด้วยกัน

 

เมืองเก่า : วิถี ผู้คน และความหวังที่สูญหาย?

 

หากเราผ่านไปทางเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนจะถึงร้านผัดไทประตูผี เมื่อมองผ่านกำแพงอิฐเข้าไปในป้อมมหากาฬ เราจะพบสนามหญ้าสีเขียวสดใสอันแสนเงียบเหงา จากแต่เดิมที่มีชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬอาศัยอยู่ บัดนี้วิถีชีวิตทั้งมวลถูกยุบเข้าไปเหลือแค่ป้ายเล็กๆ รอให้คนเดินมาอ่านแล้วจินตนาการเอาเอง

“แม้ชาวชุมชนจะต่อสู้มายาวนานกว่า 26 ปี แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกรุงเทพมหานคร ที่เข้ามารื้อไล่บ้านเรือน โดยอ้างว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงป้อมมหากาฬก่อนที่ชุมชนจะถูก ‘ไล่-รื้อ’ ออกไปภายในสิ้นเดือนเมษายน 2561 ชุมชนเก่าแก่อายุกว่าหลายร้อยปีที่มีบ้านเรือนกว่า 50 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลิเกแห่งแรกๆ ของกรุงเทพมหานคร ต้องกลายเป็นเพียงอดีตจากผลของแผนแม่บทการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ต้องการพัฒนาให้บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญของไทย ได้แก่ วัด วัง โบราณสถาน โดยจะไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ บ้านเรือน หรือชุมชนมารบกวนหรือบดบัง

“…แนวคิดของผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดคือคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2521 ว่า ภายในกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่อยากให้มีผู้คน ชุมชน สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุแห่งความแออัด เสื่อมโทรม ทำให้โบราณสถานภายในกรุงรัตนโกสินทร์ดูไม่งดงามตา…

“…ความงามทางด้านสถาปัตยกรรมในสายตาของคนเหล่านี้ คือ การเข้ามาท่องเที่ยวชมวัด วัง โบราณสถานอันงดงามภายในกรุงรัตนโกสินทร์ แบบเช้าเย็นกลับ โดยไม่มีชุมชนหรือบ้านเรือนปลูกอาศัยแบบแออัดให้เกะกะ รกสายตา

“กรุงรัตนโกสินทร์จะกลายเป็นเมืองที่สวยงาม มีพื้นที่เปิดโล่งให้คนมาเที่ยวพักผ่อน และบางจุดเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม มีการแสดง การละเล่นตามประเพณีวัฒนธรรมไทย…การมีผู้คนอาศัย มีหาบเร่ มีร้านค้าขายของ มีสถาบันการศึกษาภายในบริเวณนี้ เป็นสิ่งไม่สมควร หรือมีให้น้อยที่สุด”

ข้อความข้างต้นคือแนวคิดของผู้มีอำนาจในการจัดการบ้านเรือน แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของผู้คนไม่ได้ถูกนับเป็น ‘ความงาม’ ของเกาะรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่แค่ชุมชนป้อมมหากาฬเท่านั้น แต่ปากคลองตลาด ตลาดขายดอกไม้ที่มีชีวิตชีวาตลอดทั้งคืน มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ก็ถูกจัดระเบียบให้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

“แผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงอยู่ภายใต้แนวคิดของคนรุ่นเก่า ที่เชื่อว่าเมืองเก่าที่ดีคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากอดีต นิ่งสนิท ไม่ต้องมีชีวิตจากผู้คนจากชุมชน”

การตัดสินใจ ‘จัดการ’ พื้นที่ โดยมองคนเป็นเพียงเบี้ยที่ไม่มีลมหายใจ และกระทำโดยไม่เข้าใจความหมายของคำว่าวิถีชีวิต จึงเป็นการทำลายประวัติศาสตร์อย่างเหี้ยนเตียนโดยไม่รู้สึกรู้สา ทั้งที่หลายเมืองเก่าแก่ทั่วโลกก็ควบรวมเอาผู้คน สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ผสมผสานกับโลกยุคใหม่ได้อย่างงดงามลงตัว โดยไม่จำเป็นต้องกวาดต้อนผู้คนออกไป จนเหลือเป็นแค่ประวัติศาสตร์ผ่านตัวหนังสือไม่กี่บรรทัดบนป้ายในสวนสาธารณะที่ร้างไร้ผู้คน อย่างที่เราเห็นหลงเหลือทุกวันนี้

ถัดจากชุมชนป้อมมหากาฬที่กลายเป็นอดีต เมื่อข้ามเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศมาฝั่งถนนนครสวรรค์ เราจะพบถนนที่เงียบสงบ ร้านรวงที่เคยขายหนังสือหรือสำนักพิมพ์ปิดประตูเงียบเชียบ มีเพียงเสียงเครื่องยนต์ของรถทัวร์นักท่องเที่ยวที่ดังสนั่นในช่วงบ่าย ถนนนครสวรรค์ไม่ได้ถูกกวาดล้างเพื่อสร้างทัศนียภาพสวยงามแต่อย่างใด แต่ความเงียบสงบเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลง รวมกับวิถีการอ่านหนังสือของผู้คนที่เปลี่ยนไป ถนนหนังสือสายนี้จึงเป็นเพียงทางผ่านของรถทัวร์ และในบางครั้ง ก็เป็นทางผ่านของรถม้าเพื่อมุ่งไปยังสนามม้านางเลิ้งที่สุดปลายถนน

ในสารคดี ใครใครค้าม้า ค้า – ใครใครเล่นม้า เล่น เขียนเล่าถึงประสบการณ์การไป ‘แทงม้า’  ในช่วงที่สนามม้านางเลิ้งกำลังจะกลายเป็นเพียงอดีตเช่นเดียวกับป้อมมหากาฬ

สนามม้านางเลิ้งจัดแข่งม้าเที่ยวสุดท้ายเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2561  จ๊อกกี้ คนขายโพย แม่ค้าขายเบียร์ พ่อค้าให้เช่ากล้องส่องทางไกล พนักงานขายตั๋ว แม่บ้าน คนครัว และเจ้าหน้าที่สำนักงานต่างต้องย้ายไปหาที่ทำกินที่อื่น สนามหญ้าที่เคยมีม้าควบกีบเหยียบย่ำ ทุกสายตาจับจ้องไปที่สนาม บัดนี้อาจไม่มีแม้แต่คนรดน้ำ  101 จึงขอพาย้อนอดีตเข้าไปในสนามม้าอายุกว่าร้อยปี ที่เป็นที่พบปะของเหล่าคนรักม้าและความระทึกใจทุกยุคทุกสมัย

 

แทงม้า ม้า

 

ฉันกำตั๋วราคา 50 บาทไว้แน่น ระหว่างทางเดินเข้าสนามมีร้านขายตารางแข่ง ปากกา บุหรี่ ลูกอม เบียร์ น้ำ และหวย เสียงคนขายร้องว่า “อีกสามวันรวย” แต่ได้ยินเหล่าเซียนม้าพูดเล่นกันว่า “จะรวยวันนี้”

ในยุครุ่งเรือง สนามม้ามีคนเข้ามากว่า 20,000 – 30,000 คน แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 5,000 คน เซียนม้ารุ่นเก๋าทยอยจากไป และไม่มีใครมาทดแทน แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ยังส่งกันรุ่นต่อรุ่นคือ ประธานอำนวยการแข่งขันม้า ที่ส่วนมากเป็นทหารยศใหญ่ ว่ากันว่า หากจะกุมอำนาจทางการเมืองให้เบ็ดเสร็จ ก็ต้องกุมสนามม้าได้ด้วย

…และเมื่อเวลามาถึง ม้าก็ถูกปล่อยจากคอก ทะยานออกมาด้วยความเร็ว เสียงเฮดังสนั่นหวั่นไหว ฉันยอมรับว่าดูไม่ออกว่าม้าที่เชียร์คือตัวไหน เพราะวิ่งตัดหน้าตัดหลังกันอย่างเมามัน คุณลุงบอกให้สังเกตที่สีเสื้อของจ๊อกกี้ ซึ่งสิ่งนี้มีเขียนบอกในโพย ในเวลาอันเร็วรวด ม้าหมายเลข 3 ก็เข้าเส้นชัยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

“เลี้ยงม้าเหมือนเลี้ยงลูก” คนดูแลม้าพูดกับฉัน ก่อนจะมาแข่งนั้น ที่คอกต้องปูฟางเป็นฟูกให้นอนอย่างดี ใช้ผ้าคลุมตาเพื่อกันแมลง พาไปเดินเล่นรับลมชมวิว และซ้อมวิ่งอย่างทะนุถนอม

“ม้าตัวนึงราคาเป็นล้าน พอมาแข่งมูลค่าของม้าก็เพิ่มขึ้นไปอีก”

มูลค่าที่ว่าคือเงินหมุนเวียนในสนาม กับความคาดหวังของเหล่าเซียนม้า

สนามม้านางเลิ้งเคยเป็นสถานที่พบปะเล่นกีฬาของชนชั้นสูง สะท้อนรสนิยมเอาอย่างตะวันตก ตอนนี้กลายเป็นความบันเทิงแบบไทยๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว

สิ่งที่ฉันเห็น สนามม้าไม่ใช่แค่พื้นที่ของการพนัน แต่เป็นลมหายใจของกาลเวลา – และเวลาของที่นี่ไม่เหมือนข้างนอก

ผู้คนที่เคยปรากฏและเวียนวนเข้ามาใช้สนามม้าทุกอาทิตย์ บัดนี้เหลือเพียงสนามฝรั่งที่อังรีดูนังต์ให้เข้าชมการแข่งม้า และแม้ผู้คนจะอยากดำรงลมหายใจของชีวิตต่อไปแบบเดิม แต่ทุกอย่างก็กลายเป็นเพียงอดีต

ออกจากสนามม้า ไม่ใกล้ไม่ไกล เราสามารถเดิน (ถ้าขยัน) หรือนั่งรถต่อมาที่สนามมวยราชดำเนิน หนึ่งในหมุดหมายของต่างชาติหลายต่อหลายคน ไม่ใช่แค่นั้น สนามมวยแห่งนี้ยังเป็นที่รองรับความหวังของนักมวยหนุ่ม พอๆ กับความหวังของนักพนันรุ่นแล้วรุ่นเล่า

ในสารคดี ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย ที่เดินต่อมาจากสนามม้าเพื่อมาดูมวย ฉายภาพให้เห็นว่าวัฒนธรรมเหล่านี้สะท้อนอะไรในสังคมไทย

 

มวย

 

ฉันกับเพื่อนยืนงงในดงมวย มองผู้คนอออยู่หน้าสนามก่อนมวยต่อย เซียนมวยสองสามคนจับกลุ่มยืนดูใบฟอร์ม คุยราคาว่าตัวไหนน่าแทง และสูบบุหรี่ไปด้วย บางคนแอบเอาเบียร์กระป๋องยัดในเสื้อเผื่อไปกินข้างใน การ์ดตัวสูงใหญ่ยืนคุมหน้าทางเข้า ตำรวจจอดรถคุมเชิงอยู่หน้าสนาม มองขึ้นไปบนป้าย มีรายชื่อโปรโมเตอร์ เจ้าของค่ายและนักมวย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นชายล้วน

มวยไทยถูกยกให้เป็นศิลปะประจำชาติ และทำเงินมหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดูมวยไทย

จากฉากหน้า ดูเหมือนว่าใครๆ ก็สามารถเดินเข้าไปดูได้ แต่ฉากหลังยังมีเบื้องลึกอีกมากมายที่เรายังไม่รู้

วงจรของนักมวยไม่มีผู้ชนะเสมอไป ไม่มีใครยืนอยู่เหนือผู้อื่นได้ตลอดกาล เหมือนคำที่ว่า  ‘มวยฝีมือแพ้มวยเข่า มวยเข่าแพ้มวยหมัด มวยหมัดแพ้มวยฝีมือ’  ถ้าหากนักมวยกลับมาเจอคู่ต่อสู้ที่แพ้ทาง เขาก็อาจกำชัยชนะไว้ได้ (และด้วยการสนับสนุนราคาจากเซียนมวย) แต่ถ้าวันไหนที่เจอตัวโหดเข้าก็อาจพ่ายแพ้ และกลับไปฝึกมาใหม่อีกครั้ง

“ต่อจากนี้ ผมนอนพักอาทิตย์นึง ไม่ทำอะไรเลย อีกเดือนนึงเดี๋ยวขึ้นสังเวียนใหม่ครับ” นักมวยที่แพ้น็อคพูดกับฉันก่อนกลับบ้าน

ความหวังของผู้คนที่ไหลเวียนอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยไม่ได้มีอยู่ในสนามม้าและสนามมวยเท่านั้น หากแต่ยังมีความหวังในรูปแบบที่แพร่หลายกว่า และมีวิธีการเล่นที่เรียบง่ายเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย นั่นคือ ‘หวย’​

ในสารคดี พรุ่งนี้ใครรวย? – หวย ความหวังในช่องว่างของชนชั้น เขียนเล่าถึง ‘ความหวัง’ ของคนไทย ที่ใครต่างก็รู้ว่ามีโอกาสหนึ่งในล้านที่เราจะถูกรางวัล แต่ก็นั่นแหละ หวยอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่คนเราจะขยับเลื่อนชั้นฐานะขึ้นมาได้ เพราะการทำงานหนักอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างประเทศไทย

 

หวย

 

“พรุ่งนี้รวย” คำคลาสสิกตลอดกาลที่เราได้ยินกันจนชินหูก่อนถึงวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

ฉันเห็นภาพจำลองสังคมไทย ในสนามม้าและสนามมวย จนเมื่อเดินมาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตรงราชดำเนิน ก็พอจะเห็นภาพสังคมไทยที่ใหญ่ขึ้นได้อีก

หลังจากย้ายกองสลากไปที่สนามบินน้ำ ที่เก่าตรงราชดำเนินก็ดูเหมือนจะยิ่งเงียบเหงา แต่ก็ยังมีแม่ค้าพ่อค้าขายหวยมาตั้งแผงขายอยู่พอสมควร ทุกวันที่ 7 และ 22 ของเดือน กองสลากฯ จะแบ่งลอตเตอรี่ล็อตใหม่ออกขายสำหรับคนขายหวย ช่วงอาทิตย์ก่อนหวยออกจึงมีเหล่าคอหวยมาออแน่น กลายเป็นแหล่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนเลขกัน

“อย่างแรกก็คงใช้หนี้ให้หมดก่อน” คำตอบของคุณลุงคุณป้า ที่วางเป้าหมายไว้ว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 แล้วจะเอาเงินไปทำอะไร นอกนั้นก็ไม่พ้นเรื่องซื้อบ้าน ซื้อรถ และเอาเงินไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ

เงินรางวัลที่ได้จากหวย กลายเป็นเงินก้อนที่ลอยอยู่ในอนาคตและอากาศ จับต้องไม่ได้ แต่หวังว่าสักวันต้องเข้ามาในชีวิต

“ป้าหาเช้ากินค่ำ จะหาเงินก้อนได้จากไหน จะซื้อรถเข็นมาขายของสักคันป้าก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เอาเงินมาซื้อหวย ก็ยังพอได้หวังบ้างว่าจะมีเงินก้อนเข้ามา”

ไม่ใช่แค่ป้าขายน้ำคนเดียวที่พูดแบบนี้ หลายคนที่หาเช้ากินค่ำ และถูกจัดว่าเป็นชนชั้นล่างเมื่อวัดจากรายได้ ก็คิดแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าไม่ขยัน ไม่ใช่ว่านอนอยู่บ้านรอรัฐมาช่วย ไม่ใช่ว่าไม่ประหยัด แต่ทำทุกอย่างแล้ว ขวนขวายทุกอย่างแล้ว สถานะทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้เลื่อนขึ้นมาง่ายๆ

หวยจึงกลายเป็นความหวัง ถึงแม้พวกเขาจะรู้ว่าไม่มีหวังก็ตาม

ถ้าเดินตามถนนหนทางหรือฟังข่าว เราอาจรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีคนจนอยู่มาก แต่ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2531-2556 บอกว่าสถานการณ์ความยากจนในไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ในด้านความเหลื่อมล้ำทางรายได้ สถานการณ์กลับแย่ลง ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรที่รวยที่สุดและจนที่สุดมีสูงถึง 34.9 เท่าในปี 2556

มีข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่า เงินฝากในธนาคารที่มีเงินในบัญชีต่ำกว่า 50,000 บาทมีจำนวนกว่า 80 ล้านบัญชี คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์จากบัญชีทั้งหมด เงินฝากในธนาคารประมาณกึ่งหนึ่งของเงินฝากทั่วประเทศ มาจากประมาณ 122,000 บัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทต่อบัญชี คิดเป็น 0.13% ของบัญชีทั้งหมดในประเทศ (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2561)

ไม่ใช่แค่หวยเท่านั้นที่หล่อเลี้ยงผู้คน แต่ใกล้ๆ กับกองสลากฯ ยังมีคลองหลอดที่หล่อเลี้ยงกลุ่มคนไร้บ้านและหญิงขายบริการอยู่มาอย่างยาวนาน ในสารคดี เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด  พาเข้าไปเห็นชีวิตของผู้คนที่แม้จะยังไม่ถูกกวาดล้าง แต่ก็ไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย ชีวิตของหญิงขายบริการในคลองหลอดยังมีอีกหลายมุมที่ยังไม่ถูกหยิบมาพูดถึงอย่างเปิดเผย

 

ตีหม้อ คลองหลอด

 

หากเดินเข้าไปในคลองหลอด เราอาจต้องหลีกทางให้เสื่อที่ปูบนฟุตปาธ บนโคนต้นไม้บางต้นมีหมอนใบเก่าวางอยู่อย่างเจียมตัวและเป็นธรรมชาติ ข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระจกหรือหวี วางไว้ใกล้กัน บ่งบอกว่าที่แห่งนี้มีเจ้าของที่ และเราเป็นเพียงคนนอกที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของคนอื่น

หลังจากมีการเคลียร์พื้นที่สนามหลวง คนไร้บ้านจำนวนมากต้อง ‘ย้ายบ้าน’ ของพวกเขาไปอยู่ที่อื่น คลองหลอดเป็นหนึ่งในทำเลยอดนิยมที่คนไร้บ้านยึดเป็นที่หลับที่นอน

ม่ใช่แค่คนไร้บ้านเท่านั้นที่จำเป็นต้องย้ายที่ แต่หญิง-ชายขายบริการข้างสนามหลวงก็ต้องขยับที่ทางออกมาด้วย จากแต่เดิมที่มีอยู่แล้ว คลองหลอดก็กลายเป็นซ่องอิสระขนาดใหญ่ ที่ผู้คนหลากหลายเข้ามาใช้บริการ

คลองหลอดถือเป็นตลาดโสเภณีชรา มีหญิงอายุมากหลายคนขายบริการที่นี่

“ป้าหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 14” ป้าแก้ว (นามสมมติ) เริ่มเล่าเรื่องให้ฉันฟัง “จนตอนนี้ 60 กว่า ก็ไม่คิดจะกลับบ้าน”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้าแก้วเข้าสู่การขายบริการ เกิดขึ้นในช่วงวัย 20 กว่า กำลังเป็นสาวสะพรั่ง มีคนรู้จักเข้ามาขอนอนด้วยแลกกับเงิน ป้าแก้วบอกว่า เลือกรับเฉพาะคนที่รู้จัก ไม่ได้เปิดขายอย่างเป็นทางการ ป้าแก้วทำอยู่พักใหญ่ แล้วก็เลิกไป เหลือเพียงขายน้ำอัดลมและเบียร์กระป๋องอย่างเดียว

นอกจากสาววัยแรกรุ่นและไม้ใกล้ฝั่งแล้ว ยังมีกลุ่ม ‘แม่บ้าน’ ที่เข้ามาขายบริการที่นี่กันเป็นจำนวนมาก

ปรกติลูกค้าจะจ่ายค่าตัวและค่าห้องให้ ค่าห้องนั้นมีตั้งแต่ระดับ 40 บาทไปจนถึง 500 บาท

ห้อง 40 บาท เป็นแค่เพิงสังกะสีพอหลบฝน ในห้องเป็นผนังปูนเปลือยขึ้นรา ผ้าปูลายการ์ตูน มีโอ่งไว้ล้างตัวตั้งอยู่ ถ้าจะล้างก็ล้างกันตรงนั้น พัดลมตัวเล็กไม่มีกรอบ หมุนเป็นจังหวะ ถ้ามองในสายตาของคนที่นอนห้องติดแอร์ คงไม่มีทางเกิดอารมณ์ในห้องนี้ได้แน่ๆ

การจะยกระดับเตียงนอนให้บรรยากาศดีขึ้นมาหน่อย ต้องใช้เงิน ถ้าลูกค้ามีเงินไม่พอต่อการเข้าม่านรูดดีๆ หญิงขายบริการหลายคนก็ต้องยอมเข้าไปใช้ห้อง 40 บาท แต่ถ้าใครโชคดีเจอคนรวย ก็อาจได้ไปห้องหับที่ดีขึ้น

หญิงขายบริการต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งทางอาชญากรรม โรคติดต่อ การถูกเอาเปรียบทางการค้า ฯลฯ โดยที่ไม่มีใครเข้ามาดูแล แน่นอนว่าตอนนี้อาชีพโสเภณีผิดกฎหมาย แต่เมื่อเปิดตาให้ครบทั้งสองข้าง จะพบว่ามีผู้หญิงกว่าพันคนในคลองหลอดที่อยู่ในวงจรการขายบริการทางเพศ ไม่นับบริเวณอื่นในกรุงเทพฯ ที่มีอีกหลายหมื่นคน เราจะทำอย่างไรให้การขายบริการที่ไม่มีทางปราบปรามได้ เข้าสู่การจัดการอย่างเป็นระบบ

ตลอดเส้นทางตั้งแต่ถนนราชดำเนินไปจนสุดเส้นนครสวรรค์ที่นางเลิ้ง ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ต้องรอคอยความหวัง เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในย่านพระนครก็ส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่น สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน อาหารการกิน และวัฒนธรรมต่างๆ ยังมีหลงเหลือให้เห็น แม้ในบางส่วนจะถูกลบล้างไปบ้าง

เมื่อขยับมาที่วิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่รถยนต์กลายเป็นพระรอง เพราะไม่อาจแทรกเข้าไปในตรอกซอกซอยขนาดเล็ก ใน ล่องไหล ลัดเลาะ ลึกลับ คลองสาน-กะดีจีน ที่พาไปเดินดูชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีหลายสถานที่ที่รักษาไว้อย่างดี ให้เรามองเห็น ‘อดีต’ ได้ถนัดตา

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในชุมชนริมน้ำคลองสานคือ ที่นี่มีทางเดินและผังเมืองเป็นของตัวเอง หากอยากเข้ามาต้องจอดรถไว้ข้างนอก เตรียมขาให้พร้อม แล้วลัดเลาะในเมืองแห่งนี้ บ้านเมืองที่เริ่มต้นจากริมน้ำ แล้วค่อยขยับเข้ามาสู่ถนน

จินตนาการโลกที่ไม่มีรถขับ ไปมาหาสู่กันด้วยเรือ แค่นี้ก็เดินสนุกขึ้นอีกเป็นกอง

คลองสานเป็นสถานที่บรรจุประวัติศาสตร์ไว้ในบ้าน ผู้คน วัด มัสยิด ไว้มากมาย โดยทั้งหมดทั้งมวลย่อมได้มาจากการเดิน เพราะไม่มีทางให้รถผ่าน อาทิ วัดทองนพคุณ ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดินลึกเข้าไปริมแม่น้ำมีมูลนิธิจีจินเกาะซ่อนอยู่ด้านใน เห็นถะเจดีย์จีนสูงใหญ่และเสามังกรสูงเทียมฟ้าสีแดงตัดกับต้นไม้สีเขียว

ลึกเข้าไปในซอยมีบ้านเก่า ดูลึกลับน่าค้นหา ได้ยินเขาเรียกกันว่า ‘วังค้างคาว’ หรือ ‘บ้านกระดูกช้าง’ อาคารทรงเก๋งจีนที่มีอายุกว่าร้อยห้าสิบปี เดินต่อไปอีกพบศาลเจ้าซำไนเก็ง ศาลเจ้าของชาวจีนแคะ เป็นที่นับถือศรัทธาของชาวจีนในย่านนี้

ใกล้ๆ กันเป็นท่าเรือท่าดินแดง ฝั่งตรงข้ามกับตลาดเยาวราช มีตรอกเล็กๆ ริมน้ำให้เดินเข้าไป มีอาคารสองแถวที่ยาวขนานหันหน้าออกสู่แม่น้ำใกล้กับท่าน้ำท่าดินแดง ด้านบนอาคารเขียนว่า S.K. BUILDING หรือ โกดังเซ่งกี่ เป็นของชาวจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินของกลุ่มแขกตึกขาว จัดตั้งเป็นโกดังค้าหนังวัวหนังควาย ซึ่งเป็นกิจการค้าที่รุ่งเรืองมากของชาวจีนเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ปัจจุบันเป็นโกดังขายส่งสมุนไพรและยา

ในตรอกที่แคบขนาดเดินได้คนเดียว มีป้ายเล็กๆ เขียนติดไว้ว่า ‘มัสยิดเซฟี’ เปิดประตูไม้สีเขียวสวยเข้าไปพบอาคารสีเหลืองนวลตัดสีเขียว มีต้นไม้ปลูกร่มรื่น รอบข้างเงียบสงบ และเมื่อเดินออกจากมัสยิดเซฟีมาทางริมน้ำ มีโรงเกลือแหลมทองที่มีอายุประมาณ 80 ปี มีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจบเส้นทางคลองสานที่อุทยานสมเด็จย่าฯ บรรยากาศโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ ซากอิฐสีส้มสวยถูกตัดด้วยสีเขียวของเฟิร์นและมอส

ข้ามมาที่ฝั่งกะดีจีน – ส่วนผสมวัฒนธรรม ฝรั่ง แขก จีน ไทย ตั้งแต่สะพานด้วน วัดประยุรวงศาวาส โบสถ์ซางตาครู้ส บ้านหลุยส์ วินด์เซอร์ ศาลเจ้าเกียนอันเกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร มีขนมธนูสิงห์แกล้มการเดินทาง กับสายน้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงผู้คนมานานหลายชั่วอายุคน

 

บ้านหลุยส์ วินด์เซอร์
บ้านหลุยส์ วินด์เซอร์

 

ในปี 2018 มีผู้คนที่เปลี่ยนไป บางวิถีชีวิตถูกทำลายถอนราก บางวิถียังดำรงอยู่ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และในบางที่ กาลเวลามิอาจทำลายล้างผู้คน

 

 กลางกรุง : แสงสี สายลม แสงแดด

 

ในสีลม แม้จะเป็นย่านพลุกพล่านเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว มองไปเห็นแต่แสงสี เสียงเพลงและความสนุกสนาน แต่เบื้องหลังความบันเทิงเหล่านั้น สีลมเป็นแหล่งใหญ่ของชายขายบริการ ที่มีผู้คนหลากหลายแบบเข้ามาซื้อบริการ สารคดี เส้นทางที่เลือกไม่ได้ของผู้ชายขายตัว ของวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ ฉายภาพให้เห็นเบื้องหลังของชายขายบริการ เข้าไปคลุกคลีถึงหลังม่าน ถ่ายทอดออกมาเป็นงานเขียนและภาพถ่ายที่น่าสนใจ

ยังมีพนักงานบริการชายจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย บางคนมีลูกมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากพนักงานบริการที่เป็นชาวไทยแล้ว ยังมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวต่างชาติด้วย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำอาชีพนี้ ทั้งจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แม้ส่วนใหญ่พนักงานบริการชายจะเข้าสู่อาชีพนี้ความสมัครใจ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธุรกิจการค้าบริการทางเพศเช่นนี้จะปราศจากการค้ามนุษย์อย่างสิ้นเชิง บนหน้าหนังสือพิมพ์ยังปรากฏให้เห็นการลอบค้ามนุษย์ของผู้มีอิทธิพลอยู่เป็นระยะ ยังไม่นับการโดนกดขี่เหยียดหยาม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 

บาร์โฮสต์

 

ผู้ชายขายตัว ย่อมถูกมองจากสังคมด้วยสายตาในแง่ลบ หลายคนมองว่า เป็นผู้ชายน่าจะมีทางเลือกไปทำอาชีพอื่น ไม่จำเป็นต้องมาทำอาชีพแบบนี้ แต่ชีวิตคนก็เช่นนี้ บางครั้งเราไม่อาจคิดแทนคนอื่นได้ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวเหล่านี้

ในย่านท่องเที่ยวถัดไปไม่ไกล เพียงรถไฟฟ้าไม่กี่สถานี จากสีลม เราข้ามไปที่ทองหล่อ-เอกมัย ย่านเมืองใหม่ที่มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่จำนวนมาก และว่ากันว่า ค่าครองชีพที่นั่นจะแพงเท่าอังกฤษอยู่แล้ว

ชลธร วงศ์รัศมี พาไปเดินชมทองหล่อ-เอกมัยฉบับคนเดินเท้า พาเดินตั้งแต่กลางวัน ไปจนถึงกลางคืน และพบว่าชีวิตในทองหล่อไม่ได้มีแต่ความหรูหรา และ ‘แพง’ ไปเสียหมด เพราะยังมีตลาดที่ขายอาหารเช้า ร้านขายอาหารบนทางเท้า และร้านขายอาหารมื้อสาย (Brunch) ที่มีให้เห็นจำนวนมากในทองหล่อในราคาที่เอื้อมถึง รวมถึงมีพื้นที่สาธารณะให้คนในพื้นที่มาใช้ชีวิต

“…เรายังได้เห็นการพัฒนาพื้นที่สาธารณะร่วมกันระหว่างเอกชนและชุมชนอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ของสวนครูองุ่น มาลิก ข้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ทองหล่อซอย 3 ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ท่ามกลางสวนเขียวสด หรือพื้นที่สาธารณะในตึกโปร่งสถาปัตยกรรมแบบยุคอุตสาหกรรมในซอย 17 ของคอมมูนิตี้มอลล์ ‘The Common’ ซึ่งเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าไปใช้งานได้ โดยจะซื้อสินค้าจากโซนขายสินค้าหรือไม่ก็ได้ นับว่าเป็นที่นั่งพักและพื้นที่พบปะยอดนิยมของชาวทองหล่อในเวลานี้”

 

ตึก

 

ยังมีการพูดคุยกับหนุ่มที่ทำงานในออฟฟิศย่านนี้ และทองหล่อ-เอกมัย สำหรับคนมีครอบครัว ย่านนี้ต้องใช้การเดิน จึงจะพบเจอกับร้านอาหารที่ซ่อนอยู่ บ้านเรือน พื้นที่สาธารณะ รวมถึงวัดเกาหลีที่เป็นศูนย์รวมคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ย่านนี้ เมื่อถึงยามค่ำคืน ก็ยังมีสถานที่ให้ผู้คนมาแฮงค์เอ้าท์ บาร์ลับ รถเข็นขายบะหมี่เกี๊ยว รวมถึงร้านอาหารยามค่ำคืนจำนวนมาก เช่นร้านลาบชื่อ ‘แซ่บสุดใจ’ ที่กลายเป็นที่พึ่งของ ‘ชาวบาร์’ หลังค่ำคืนอันสุดเหวี่ยง

“ตี 3 ถนนหนทางของทองหล่อยังคงเดินง่าย มีไฟส่องสว่าง …รอยต่อของทองหล่อกลางวันใกล้จะเข้ามา หลายคนกำลังจะออกจากย่านนี้ไปพักผ่อนที่บ้าน และหลายคนกำลังจะกลับเข้ามา เติมเต็มชีวิตชีวาถนนสายสั้นแค่ 2 กิโลเมตร แต่มีซอกเล็กซอยน้อยมากมาย ที่ซุกซ่อนไว้ซึ่งการดำรงอยู่ของผู้คน”

 

ผู้คน สังคม รถ

 

ภายใต้ภาพที่ฉาบหน้าว่าเป็นย่านของความหรูหรา แต่เมื่อขยายมองให้ชัด จะพบว่าวิถีชีวิตในทองหล่อ-เอกมัย เป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมือง และคุณภาพชีวิตที่ดีย่อมมาพร้อมค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แม้ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงในไทยจะมีความคล่องตัวทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันภาพเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นมหานครที่บรรจุผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางชนชั้น และวิถีชีวิตเข้าไว้ด้วยกันอย่างสุดโต่ง ซึ่งปัญหาหลักมาจากความเหลื่อมล้ำอันมีที่มาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

 

“มนุษย์ถูกทำลายได้ แต่ไม่อาจพ่ายแพ้”

 

ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ และผู้คนต่างมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่ในต่างจังหวัดก็มีหลากอาชีพ หลายชะตากรรมของมนุษย์

ในสารคดี ชีวิตในโรงพยาบาล : เมื่อความป่วยไข้ไร้สิทธิพิเศษ 101 ลงไปสำรวจชีวิตของผู้คนในโรงพยาบาลรัฐ พบเรื่องราวสะเทือนใจจำนวนมาก ภาพผู้คนอมทุกข์นั่งรอการรักษาอย่างเบื่อหน่าย ชายหนุ่มที่ป้อนไส้กรอกจากร้านสะดวกซื้อให้แฟนสาวบนรถเข็น คุณป้าจากสกลนครรอเฝ้าลูกสาวที่เสียลูกไปจากการคลอด คุณป้าจากนครสวรรค์รอคุณลุงผ่าตัดต่อมลูกหมาก หลังทรมานจากปัสสาวะขัดมายาวนานกว่า 16 ปี แม่ที่ร้องไห้ปิ่มใจจะขาดเมื่อลูกชายวัย 11 ขวบจมน้ำเสียชีวิตในอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ

ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนจนเยอะ และมีผู้ป่วยจำนวนมากอย่างไทย ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิยังเป็นเรื่องถกเถียงและพยายามแก้ปัญหากันมาอย่างยาวนาน ในเชิงโครงสร้างเรารู้กันดีว่า ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ ไม่สอดคล้องกับรายรับที่ได้จริง และผู้ป่วยที่รอรับการรักษาก็ยังมีจำนวนมาก

ก็อย่างที่รู้กัน สังคมไทยมีต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่ลงลึกถึงราก นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยเขียนไว้ว่า “จำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเกิดจากสังคมที่เปราะบาง สังคมของเราสร้างผู้ป่วยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เริ่มตั้งแต่คุณแม่วัยเด็กที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทารกขาดผู้ดูแลหลัก การศึกษาปฐมวัยทำลายสมองและสุขภาพจิตเด็กเล็ก ครูไม่มีคุณภาพ ครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่าย อุบัติเหตุบนท้องถนน โภชนาการเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  บุหรี่และยาเสพติดมากมาย กลายเป็นสังคมตัวใครตัวมัน ที่ไม่มีตาข่ายความปลอดภัย (safety net) รองรับ

แม้เราจะรู้สาเหตุแห่งความป่วยไข้ แต่ก็ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะรักษาตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยของสุขภาพดีได้เสมอไป เช่น กลุ่มชาวประมงที่ต้องลงเรือหาปลา โต้คลื่นลมกลางทะเลเพื่อหาอาหารทะเลมาให้ผู้คนรับประทาน แต่คุณภาพชีวิตของพวกเขาเองกลับไม่ได้ลิ้มรสความเอร็ดอร่อยเช่นนั้น

แน่นอนว่าแววตาของการรับรสแห่งความอร่อย ย่อมแตกต่างไปจากแววตาของการรับรสแห่งความขมขื่น แล้วรสแห่งความหวังและความฝันของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยเป็นอย่างไร

ตั้งแต่ลูกเรือประมงที่พลัดพรากจากครอบครัว สาวโรงงานปลากระป๋องที่ฝันจะเรียนกฎหมาย ครูของบรรดาเด็กๆ ที่พ่อแม่ต้องใช้เวลาไปกับการใช้แรงงาน ชายหนุ่มโรงงานลูกชิ้นที่หวังจะให้ลูกของเขาเป็นหมอ และเด็กหนุ่มที่หลงใหลในฟุตบอลและสนใจร่ำเรียนด้านประวัติศาสตร์ พวกเขาใช้ชีวิตเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในเมืองมหาชัย จ.สมุทรสาคร พื้นที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏในสารคดี Human of Seafood และทุกชีวิตมีเรื่องเล่า อาทิ

17 ปีของเหมี่ยน นาย ในการจากบ้านเกิดมา เขาไม่เคยได้กลับไปอีกเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือนรั้วบ้านของเขาก็อาจเป็นท้องทะเลไกลสุดลูกหูลูกตา มีหลังคาหลบแดดฝนเป็นหลังคาเรือ มีสมาชิกครอบครัวกว่าสามสิบคนเป็นชายฉกรรจ์เพื่อนร่วมชาติผู้ใช้แรงงานเฉกเช่นเดียวกับเขา อยู่กินกันบนเรือประมง 4-5 วันต่อการออกเรือ 1 ครั้ง

หากอยู่บนเรือ เขาบอกว่าไม่มีโอกาสได้เหงา แม้จะคิดถึงครอบครัวเพียงใด แต่นอกจากรีดเม็ดเหงื่อออกไปกับงานประมงแล้ว ครอบครัวลูกเรือประมงก็จะได้นั่งคุยหรือร้องเพลงร่วมกันเพื่อพักผ่อน-ฆ่าเวลา เพื่อรอเวลาใช้แรงต่อไปจนกระทั่งเรือขึ้นฝั่ง “ไม่ใช่ว่าเราคนเดียวที่ห่างเหินครอบครัวมา ทุกคนมันก็เหมือนๆ กันทั้งนั้น ไอ้เหงาก็มีบ้าง แต่ทำงานแล้วก็ไม่มีเวลาเหงา”

 

ชาวประมง บนเรือ

 

เรื่องจริงของแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยยังมีอีกหลายมุม และหลากชีวิต เช่นใคลิปสารคดี  “The Calling Home” – ตามฝันจากบ้าน บันทึกชีวิตแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย และ Photo Essay เสียงกระซิบจากทะเล “มนุษย์ถูกทำลายได้ แต่ไม่อาจพ่ายแพ้” บันทึกห้วงเวลาบนเรือประมงที่ปัตตานี และ กุ๊งกิ๊งในเกลียวคลื่น วิถีหาปลาของชาวประมงแห่งบ้านพังสาย ตามรอยการจับหมึกสายด้วยภูมิปัญญาที่พวกเขาเรียกว่า ‘กุ๊งกิ๊ง’ โดยธิติ มีแต้ม

 

ชางประมง บนเรือ

 

เรื่องเล่าเหล่านี้ชวนให้เรา “ฟังเสียงของพวกเขา ความฝันของพวกเขา สัมผัสชีวิตของผู้เป็นหนึ่งในต้นทางผลิตอาหารให้แก่เรา” อ่านรายละเอียดของผู้คนในท้องเลทั้งหมดได้ใน Spotlight ชีวิตติดร่างแห

ที่ภาคใต้ไม่ได้มีแค่น้ำทะเลซัดสาดเท่านั้น แต่ในบางพื้นที่ก็เต็มไปด้วยไฟ เช่น พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสกู๊ปเรื่อง  ‘กลุ่มลูกเหรียง’ เมล็ดพันธุ์งอกงามท่ามกลางไฟใต้ ของ วันดี สันติวุฒิเมธี เล่าเรื่อง ‘สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้’ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ที่จังหวัดยะลา

อาจกล่าวได้ว่าไฟความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปี ได้สร้างบาดแผลฝังลึกอยู่ในหัวใจของผู้คนในพื้นที่จนยากจะลืมเลือน โดยเฉพาะหัวใจของเด็กกำพร้ามากกว่าหกพันคน ที่ต้องพลัดพรากจากบุพการีไปอย่างไม่มีวันหวนคืนความอบอุ่นได้อีกต่อไป

เด็กส่วนใหญ่เหลือเพียงแม่ที่ต้องหาเลี้ยงลูกๆ อีกหลายชีวิตเพียงลำพัง เมื่อภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้ไม่พอเลี้ยงลูกทุกคน พี่คนโตจึงมักต้องเสียสละออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อช่วยแม่เลี้ยงน้องและทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กหลายคนมีโอกาสก้าวสู่เส้นทางที่พลาดพลั้งได้ง่ายขึ้นเพราะขาดผู้นำครอบครัวชี้ทางเดินที่ถูก และขาดโอกาสทางการศึกษาที่จะนำทางไปสู่ความฝันที่สวยงาม

จากสถานการณ์ดังกล่าว วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือ ‘ชมพู่’ หญิงสาวผู้เผชิญกับความสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปถึงสี่คน จึงเริ่มหาทางช่วยเยียวยาหัวใจของเด็กกำพร้าเหล่านี้ ด้วยการก่อตั้ง ‘สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้’ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ที่จังหวัดยะลาเมื่อสิบหกปีก่อน มีเป้าหมายเพื่อจัดหาทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยาเยาวชนให้ก้าวข้ามความเจ็บปวด สู่ชีวิตใหม่ที่มีความหวังมากขึ้น

 

เด็ก

 

มีหลายชีวิตที่เกือบจะเหไปอีกทาง ก่อนมาเจอกลุ่มลูกเหรียง จนเปลี่ยนชีวิตพวกเขา

เอฟ (นามสมมติ) หนึ่งในเยาวชน 16 คนที่ได้รับทุนจากกลุ่มลูกเหรียงรุ่นแรกตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่งจนจบปีสี่ ปัจจุบันอายุ 27 ปี ได้ทำงานด้านไอทีตามที่ฝันไว้ เล่าย้อนถึงชีวิตที่เกือบเดินผิดทางหลังจากสูญเสียพ่อไปอย่างกะทันหันให้ฟังว่า

“ผมสูญเสียพ่อตอนเรียนอยู่ชั้น ม.1 ผมเป็นลูกคนโต มีพี่น้องสี่คน ตอนนั้นน้องคนสุดท้องเพิ่งอายุได้ 14 วันเท่านั้น หลังพ่อเสีย แม่ต้องดูแลลูกๆ คนเดียว ชีวิตตกต่ำมาก คนในชุมชนก็ไม่อยากคบ เพราะเขามองว่าพ่อเป็นคนสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ช่วงเป็นวัยรุ่นชีวิตผมก็เหลวแหลกเหมือนกัน เวลาเห็นบ้านคนอื่นที่มีทั้งพ่อและแม่ ลูกอยากได้อะไรก็ได้ แต่เรามีแม่คนเดียวแล้วมีน้องอีกสามคน อยากได้อะไรก็ต้องรอนานมาก ผมเลยเกเร หนีเรียน แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนลูกเหรียงครั้งแรกตอนอยู่ ม.5 ทำให้รู้ว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่เสียพ่อไป คนอื่นร้ายแรงกว่าเราอีก ผมเข้มแข็งมากขึ้น เก็บความสูญเสียไว้เป็นอดีต และมีความหวังในชีวิตมากขึ้น”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคน และเปลี่ยนชีวิตคนมาแล้วจำนวนไม่ถ้วน ที่กาฬสินธุ์มีการนำนวัตกรรมแบบใหม่มาใช้แก้ปัญหาการศึกษา ที่มีรากของปัญหามาจากทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว

ท่ามกลางข้อถกเถียงมากมายถึงทางออกจากปัญหาการศึกษาไทย แรงกระเพื่อมจากมิตินโยบายแก้ปัญหาโรงขนาดเล็กกำลังปลุกเร้าบุคลากรทางการศึกษากลุ่มเล็กๆ ในกาฬสินธุ์ให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมห้องเรียนของตัวเอง

อุทัย แก้วกล้า ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ และประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ บอกว่าการศึกษาของ จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในเกณฑ์คุณภาพต่ำ เอาเฉพาะเขตประถมศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 180 เขต กาฬสินธุ์อยู่ในอันดับท้ายๆ และอยู่ในจังหวัดที่คุณภาพต่ำ 8 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและต้องเร่งพัฒนา

“ภาษาอีสานจะบอกว่า เหาหลายบ่คัน หมายถึงว่าเหาเยอะจนไม่รู้สึกอะไร ปัญหาการศึกษาก็เป็นอย่างนี้ อุทัยสรุปรากเหง้าของปัญหาอย่างสั้นกระชับที่สุด

ในฐานะที่อุทัยเคยทำงานเอ็นจีโอมา ทำให้เขาคิดการใหญ่และบอกกับคนอื่นว่าต้องเริ่มจากเล็กๆ ก่อน หากทำโรงเรียนสัก 2-3 โรงเรียนให้เป็นต้นแบบ มีคุณภาพ มีองค์ความรู้ สักพักจะต้องกลายเป็นนโยบายประเทศ

“ผมเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาต้องพัฒนาที่ชั้นเรียนและโรงเรียน พัฒนาจากฐานล่าง เพราะคุณภาพมันอยู่ที่ข้างล่าง ถ้าพัฒนาจากข้างบนสำเร็จ ประเทศไทยสำเร็จไปนานแล้ว แต่เราเปลี่ยนนโยบายเปลี่ยนรัฐมนตรีมากี่รอบแล้ว หัวใจคือคนที่อยู่ในชั้นเรียน นักเรียน ครู ผู้บริหาร”

อุทัยเล่าว่าขณะนี้ในกาฬสินธุ์มีโรงเรียนที่พร้อมจะพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน 18 โรงเรียน ครูทุกคนไปเข้าคอร์สมา เปลี่ยนวิธีสอน ส่งไปอบรมที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ครูกับผู้บริหารเห็นแนวคิดใหม่ พอได้หลักคิดและวิชามาแล้ว ก็มาถ่ายทอดให้นักเรียน

นวัตกรรมที่พวกเขาได้รับมามี 3 แบบ คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning), จิตศึกษา, ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community)

“พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ทางเขตการศึกษาเห็นด้วย สพฐ.เห็นด้วย ผู้ว่าฯ เอาด้วย ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่าถ้าเป็นว่าวก็อยู่ในช่วงที่ติดลมบน ครูใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียน ทำให้เด็กมีสมาธิ อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนตั้งใจฟัง พร้อมที่จะเปิดใจรับ เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ คุยเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว”

อุทัยบอกว่าหลังจากนักเรียนใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียน เด็กๆ ก็มีกระบวนการคิดหาคำตอบเอง นี่แหละคือการสร้างปัญญา ถ้าครูตั้งคำถามว่า พูดถึงสี่เหลี่ยม นักเรียนคิดถึงอะไร ต่างคนก็ต่างอธิบายในมุมของตัวเอง

“มันได้วิธีคิด เด็กหาวิธีคิดที่ต่างจากมุมที่เด็กคนอื่นตอบไปแล้ว แสดงว่าเด็กคนอื่นได้เรียนรู้วิธีคิดว่าคำถามเดียวกันตอบได้หลายแบบ ผมว่ามันเป็นทิศทางสำคัญในการพัฒนา ครูส่วนหนึ่งก็ยังไม่เชื่อว่ามันเปลี่ยนจากเดิม พอเขาใช้วิธีการเรียนแบบมีส่วนร่วม มีการสรุปบทเรียนทุกอาทิตย์ จากเดิมที่ครูแต่ละวิชาจะไม่ให้คนอื่นรู้ด้วย ซ่อนปัญหาไว้กับตัวเอง ไม่ให้คนอื่นยุ่ง ตอนนี้เห็นได้ว่าเขาวิพากษ์การเรียนการสอนได้ทุกวิชา คนที่ทำไอทีไม่เก่ง คนที่เก่งก็มาช่วยทำ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนชัดเจน” 

 

เด็ก นักเรียน

 

ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มีส่วนกับการพัฒนากาฬสินธุ์โมเดลนี้ ครูและนักเรียนต่างพยายามเดินเข้าสู่การศึกษาที่ดีขึ้น เพราะนั่นหมายถึงอนาคตที่ดีขึ้น

ในทุกพื้นที่ต่างมีปัญหา มีความสุขทุกข์ที่แตกต่างกันไป แต่การได้เข้าไปสัมผัสความแตกต่างนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ และการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ย่อมนำมาสู่การยอมรับความแตกต่างและยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนอื่น

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save