fbpx
การเมืองของ 'ความหวัง' กับการเมืองของ 'ความจริง' : การเมืองไทย 2018

การเมืองของ ‘ความหวัง’ กับการเมืองของ ‘ความจริง’ : การเมืองไทย 2018

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อย่างรวบรัดที่สุด สังคมไทยอยู่กับเผด็จการ คสช. มาเข้าปีที่ 5 แล้ว และโดยข้อเท็จจริงก็มีทั้งคนรักและคนชัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งปลดล็อคให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ทั้งหมดต่างก็เฝ้านับถอยหลังที่จะได้เลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2019

หลังการเลือกตั้ง ใบหน้าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยังไม่มีใครสเก๊ตช์ภาพได้ชัดเจน

ทำได้เพียงวิเคราะห์ ประเมินจากต้นตอ สาเหตุและความพยายามของฝ่ายอำนาจนำในการวางรากฐานสืบทอดอำนาจของตัวเองและพวกพ้อง

ตั้งแต่คำสั่ง คสช. หลายฉบับที่แทบจะควบคุมลมหายใจเข้าออกของประชาชนไว้ทั้งหมด ไปจนถึงรัฐธรรมนูญ 60 ที่เสมือนกุญแจมือ

ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรา 44 ที่คล้ายกับไม้กายสิทธิ์เอาไว้ชี้สั่งซ้ายหันขวาหันได้ดั่งใจ ไหนจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เสมือน คสช. ฝังชิพคอนโทรลลงไปในกระดูกสันหลังสังคมไทยอีก

ถ้ายังพอเหลือแรงฮึดลุกขึ้นยืนอีกครั้งเพื่อก้าวผ่านสู่ปีใหม่ 101 อยากชวนผู้อ่านหันหลังกลับไปมองเส้นทางการเมืองไทยที่เราล้วนย่ำผ่านมา

ก้มลงมองที่เหยียบที่ยืนให้แจ่มชัด เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าอะไรคือลมหายใจที่รวยรินหรือสดชื่นในห้วงปี 2018

และอะไรคือใบหน้า จิตใจ ของการเมืองไทยที่เราอยากเห็นร่วมกันในอนาคต

 

มองตาเผด็จการและพลังอนุรักษนิยม
เข้มแข็งหรืออ่อนแอ

 

เกษียร เตชะพีระ จากสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกตัวไว้ใน 101 Round Table : อนาคตการเมืองไทยและประชาธิปไตยโลก ต่อคำถามที่ว่า มองวิกฤตการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไร

มันมีความพยายามเปลี่ยนผ่านให้ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด 10 ปี แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จ คือไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น durable non-democracy ได้ ทั้งที่พยายามทำครั้งแล้วครั้งเล่า

“ถ้าให้ผมลองคิดในแง่ดีที่สุด การที่เขาอยากเปลี่ยน ก็เพื่อแก้ปัญหาของประชาธิปไตยอำนาจนิยม (authoritarian democracy) แก้ปัญหาประชาธิปไตยไม่เสรีจากการเลือกตั้ง (illiberal electoral democracy) แต่กลับไปใช้วิธีแบบอำนาจนิยม ใช้วิธีแบบรัฐราชการ ซึ่งทำให้ปัญหาเก่าๆ ไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าปัญหาคอร์รัปชัน หรือปัญหาการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของนักการเมือง มิหนำซ้ำยังเพิ่มปัญหาของรัฐราชการเข้าไปอีก ซึ่งยิ่งทำให้เกิดทางตัน มองไม่เห็นอนาคตเลย”

และอย่างที่รับรู้ร่วมกัน คสช. กระทำการรัฐประหารเข้ามาโดยอ้างเรื่องความขัดแย้งแตกแยก และปัญหาคอร์รัปชัน แม้ว่าจะถูกโต้แย้งจากนักวิเคราะห์มากมายว่า เหตุผลที่แท้จริงคือประเทศไทยกำลังผลัดเปลี่ยนยุคสมัย และชนชั้นนำไม่ยอมให้ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นผู้คุมอำนาจนำในระยะเปลี่ยนผ่าน  คสช. จึงได้รับฉันทานุมัติจากฝ่ายอำนาจเก่าให้ควบคุมประเทศไทยแทน

คสช. อยู่มาครบ 4 ปี ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ครบ 1 เทอมพอดี เราควรประเมิน ‘ระบอบ คสช.’ อย่างไร?

101 ถามสองนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ และ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ในบทสัมภาษณ์ 4 ปี คสช. : การจัดดุลอำนาจใหม่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ

สมชายมองว่า คสช. เป็นระบอบอำนาจนิยมที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งในเชิงอำนาจนำและอำนาจบังคับ

“วันที่ พล.อ.ประวิตร พูดว่า ‘เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์’ นี่ถูกด่าและถูกโต้แย้งจนกระเจิงเลย และถ้าสังเกตให้ดี พล.อ.ประยุทธ์จะใช้คำว่า ‘ให้เป็นไปตามกฎหมาย’ ค่อนข้างบ่อย ซึ่งหมายความว่า คสช. ไม่ได้ใช้อำนาจด้วยตัวเอง แต่ใช้ไปตามกลไกและระบบที่มีอยู่ พูดอีกแบบคือ คสช. ไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ แต่ต้องพึ่งสถาบันการเมืองแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น อัยการ ศาล หรือบางเรื่องก็ต้องทำผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

ส่วนอรรถจักร์ ชวนมองไปที่ความแตกเป็นฝักเป็นฝ่ายในสังคมไทยขณะนี้ว่า เวลานี้เป็น ‘สังคมแยกย่อย’ (fragmented society) ซึ่งเกิดขึ้นชัดเจนมากในการเมืองภาคประชาชน โดยแยกออกเป็นอย่างน้อย 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มผู้นำหรือเครือข่ายของการเมืองภาคประชาชนเดิมที่ยังไม่ปฏิเสธ คสช. แต่ก็ค่อยๆ ถอยห่างออกมาบ้างแล้ว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายค่อนข้างแน่นหนากับเอ็นจีโอไทย

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เคยอยู่ข้าง คสช. แต่ทนไม่ไหวและถอยห่างออกมาแล้ว กลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นเอ็นจีโอระดับกลางที่เคลื่อนไหวในประเด็นปากท้องและทรัพยากร

กลุ่มที่สาม คือชนชั้นกลางที่เข้ามาสนใจการเมือง โดยอิงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องเขื่อน หรือบ้านป่าแหว่ง เป็นต้น คนกลุ่มที่สามนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เป็นชนชั้นกลางเมืองที่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นพลังประชาธิปไตยได้

“ถ้าถามว่า คสช. จะเริ่มอ่อนแอเมื่อไหร่ คำตอบก็คือ เมื่อคนกลุ่มใหญ่เหล่านี้เริ่มสูญเสียความเชื่อมั่นและผิดหวัง กล่าวคือ เป็นการเปลี่ยนจากการเมืองแห่งความหวัง (politics of hope) ไปสู่การเมืองของการผิดหวัง (politics of losing hope) คนจำนวนมากหวังว่า คสช. จะเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่ในช่วงสองปีหลัง เริ่มปรากฏชัดว่า คสช. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้ามองโลกในแง่ดีคือ ภาคประชาชนเริ่มปรับเปลี่ยนและขยับตัวกันอีกครั้ง” อรรถจักร์กล่าว

เพื่อให้ภาพชัดขึ้นว่า คสช. เข้มแข็งหรืออ่อนแอกันแน่ ในบทสัมภาษณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สัญญาประชาคมใหม่ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า เผด็จการก็มีจุดอ่อนบางอย่างที่มันจะกินตัวเองไปด้วย ถ้าเป็นเผด็จการที่มั่นคงอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักลงทุนก็ไม่หวั่นเกรง คาดการณ์ได้ อย่างน้อยก็พอหาทางเอาทุนคืนได้ ได้กำไรตามสมควร แต่ถ้าเป็นเผด็จการหน่อมแน้ม – ในความหมายที่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลทหารจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าประชาชนเดินขบวนคัดค้าน ในที่สุดก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ – จะเป็นเผด็จการที่แย่ที่สุด เพราะคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย

แล้วในการเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน สังคมไทยจะสร้างฉันทมติใหม่หรือสัญญาประชาคมใหม่ได้อย่างไร

นิธิมองว่า “เมื่อพูดถึงฉันทมติ เรากำลังหมายถึงตัวละครหลากฝ่ายหลายกลุ่ม (multi-party) ที่มีความเห็นตรงกันในเรื่องประโยชน์ต่างๆ ที่ตนจะได้ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างสังคมไทยเป็นสังคมที่หาฉันทมติได้ยาก ประชาธิปไตยดีตรงนี้ คุณอาจจะไม่ต้องมีฉันทมติขนาดนั้นก็ได้ สิ่งที่เสนอจะถูกตัดถูกทอนถูกลดจนกระทั่งฝ่ายต่างๆ พอจะยอมรับได้ ไม่มีทางที่จะใช้อำนาจแบบมาตรา 44 ตลอดไปได้”

การใช้มาตรา 44 ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายต่อต้านเท่านั้น แต่กลับเหวี่ยงทุกพื้นที่ทางการเมือง แม้แต่องค์กรอิสระอย่าง กกต. ก็ยังถูกเซ็ตซีโร่ และสุดท้ายระหว่างที่กระบวนการสรรหา กกต. ชุดใหม่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ กกต. อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ถูกจดจำว่าเป็นคนที่เกียร์ว่างกับการจัดการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2557 มากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกปลดฟ้าผ่าด้วยมาตรา 44 เช่นเดียวกัน

ในบทสัมภาษณ์ ก่อนเซ็ตซีโร่ กกต.”ไม่มีใครสั่งผมได้” : สมชัย ศรีสุทธิยากร นั้นสะท้อนถึงอำนาจนิยมของ คสช. ได้เป็นอย่างดี

สมชัยเล่าว่า “การเซ็ตซีโร่ทำให้ทุกอย่างนิ่งและไม่มีใครตั้งใจทำงาน แม้ผมจะตั้งใจทำงานแต่ก็ไม่มีใครเอากับผมด้วย แล้วก็ทุกคนสติแตกหมดแล้ว ทุกคนเตรียมตัวหยุดงานหมดแล้ว ดังนั้นการเซ็ตซีโร่คือการตัดสินใจที่ผิดที่สุด”

“…ปัญหาคือคุณคิดผิดตั้งแต่เริ่มต้น ที่คิดว่าคนใหม่มาจะทำงานได้ดีกว่าคนเก่าเลยทันที จริงๆ แล้ว เขาอาจจะต้องการเอาผมออกคนเดียว แต่ไม่รู้จะเอาออกอย่างไร”

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ฟ้าถึงผ่าลงที่ กกต. สมชัยตอบทันทีว่า “พูดตามตรงคือผมสั่งไม่ได้ ไม่มีใครสั่งผมได้ หลายคนอยากให้เงียบๆ แต่ก็สั่งผมไม่ได้ใช่ไหม ผมคิดว่าถ้าคุณไม่ปรารถนาจะอยู่ในอำนาจต่อ ก็ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องมากังวลอะไร แต่ถ้าปรารถนาอยู่ในอำนาจต่อ แปลว่ามันต้องใช้กลไกของ กกต.ในการจัดการบางเรื่อง จึงต้องการคนของ กกต. ที่สั่งการได้ ใช่ไหม”

วันรุ่งขึ้นหลังจากบทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ สมชัยก็ถูกปลด … ด้วยมาตรา 44

ถ้ามาตรา 44 เป็นอาวุธของ คสช. แล้วอะไรคือหัวใจของกฎหมายเผด็จการนี้

เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน ให้สัมภาษณ์กับ 101 ไว้ใน David Streckfuss : การเมืองผิดเพี้ยน ในประเทศผุพัง ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ระบบการเมืองในสังคมไทยตอนนี้ผิดเพี้ยนไปหมด ฉะนั้น ถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหาการเมืองในประเทศไทยตอนนี้ยังไง ผมก็จะบอกว่าตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics ด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics”

สเตร็คฟัส มองว่าสิ่งที่ คสช. ทำอยู่ตอนนี้ มีแต่ความ ‘absurd’ เป็นระบบที่คนทั่วไปเข้าถึงยาก อธิบายยาก และไม่เมคเซนส์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐตอนนี้ การขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของทรัมป์คือ absurd politics แปลตรงตัวคือ ‘ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน’ ความผิดเพี้ยนของการเมืองไทยมีส่วนประกอบดังนี้

  1. เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง หมายถึงโครงสร้างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ผิดเพี้ยน มั่วซั่วไปหมด และเส้นแบ่งที่ว่าก็ถูกลบหายไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง
  2. ถ้าเรานิยาม politics ว่าคือการใช้อำนาจสาธารณะ ก็หมายความว่าประเทศไทยตอนนี้ไม่มีการเมือง เพราะแนวคิดในการปกครองของ คสช. ได้ยึดความเป็นสาธารณะ (publicness) ในสังคมไทยไปแล้ว
  3. เพราะไม่มีการเมืองและไม่มีอำนาจสาธารณะ จึงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสังคมได้ จะมีเพียงแค่ปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่อเนื่องแต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ คสช. ‘แสดง’ ให้ประชาชนรับรู้รับชมเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ พูดอีกแง่หนึ่งคือสังคมไทยถูกแช่แข็งแล้ว
  4. การกระทำของ คสช. ไม่เพียงแต่เป็นการทำตามอำเภอใจ (act arbitrarily) อย่างเดียว แต่เป็นการกระทำแบบไร้จุดหมาย (act randomly) ด้วย
  5. สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คสช. ไม่เคยโกหก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประหลาดๆ ที่เขาพูดและทำเป็นเรื่องจริง

นอกจากกฎหมายที่เสมือนท่อนไม้ไว้โบยตีสังคมตามอำเภอใจผู้มีอำนาจ ยังมีภาษาที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองปกติกลายเป็นพลเมืองดี คำถามคือถ้อยคำที่ คสช. คิดค้นขึ้นนั้นยังใช้งานได้จริงไหม

อิสระ ชูศรี จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยตีแผ่นประเด็นดังกล่าวด้วยแว่นตานักภาษาศาสตร์ไว้ใน จาก ‘คืนความสุข’ ถึง ‘ประเทศกูมี’ : ชำแหละวาทกรรมการเมืองยุค คสช. กับ อิสระ ชูศรี

เขามองว่า คสช. ชอบใช้ใหญ่ๆ เช่นคำว่า แผ่นดิน ประเทศชาติ ความเป็นไทย ซึ่งพบว่ามันเป็นสิ่งไม่มีชีวิต การห่อหุ้มแบบนี้ แง่หนึ่งคือการคลุมไว้ไม่ให้เห็นความแตกต่างภายใน เป็นการใช้ในลักษณะเหมารวม เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ

“สมมติมีคำทำนายว่า อีกห้าปีโลกจะแตก พอห้าปีผ่านไปมันไม่แตก คำพูดนั้นก็ไม่มีความหมายแล้ว พลังไม่เหลือแล้ว นี่คือปัญหาของคำพูดกับความจริง ถ้าพูดแล้วไม่ตรงความจริงบ่อยๆ สุดท้ายก็ไม่มีใครเชื่อ ยิ่งเวลาผ่านไป คำว่าสงบ คำว่าคืนความสุข คำว่าขอเวลาอีกไม่นาน ยิ่งตรงข้ามกับความจริง เริ่มไม่มีความหมาย ทุกวันนี้ เขาไม่เปิดเพลงนี้แล้ว เพราะเปิดแล้วมันตลก”

ในทางกลับกัน นักภาษาศาสตร์ผู้นี้มองว่า ถ้าไปฟังฝั่งที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือความเท่าเทียมกันของคน เขาจะใช้คำอธิบายคนละแบบ ประเทศคือประชาชน ชาติคือประชาชน เพราะประชาชนอยู่ในประเทศ ฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุด คือคนแต่ละคนที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศ

คุมสังคมด้วยกฎหมายและวาทกรรมแล้ว ก่อน คสช. จะแปลงร่างจากทหารไปเป็นนักการเมืองเต็มตัว หลายคนมองว่าสังคมไทยยังถูกรัดไว้ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในบทความของ สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ได้ตอบประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

จากความตั้งใจที่ คสช. อยากเห็นไทยมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่สฤณีมองว่า “น่าสังเกตว่าไม่มีเนื้อหาใดๆ ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่พูดถึงการแก้ปัญหาและพัฒนากองทัพ โดยเฉพาะการยกระดับ ‘ความโปร่งใส’ (transparency) เช่น ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง, การยกระดับ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการใช้ทรัพยากร (resource efficiency) เช่น จำนวนนายพล หรือการยกระดับกลไก ‘ความรับผิด’ (accountability) เป็นต้น”

“ในเมื่อแผนความสามารถในการแข่งขันเน้นนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม (industrial policy) อย่างเฉพาะเจาะจง (แต่ก็หลากหลายกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก) มากกว่าการวางกลไกพัฒนาสนามแข่งขัน และลดทอนความล้มเหลวของรัฐ ผู้เขียนจึงไม่เห็นว่ายุทธศาสตร์ในแผนนี้จะสอดรับสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้าน ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ ดังระบุในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม”

“เนื้อหายุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่พูดถึงการสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ โดยใช้กลไกเชิงบวกหรือ ‘โลกสวย’ อาทิ “ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” หรือ “มุ่งเป้าสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคเอกชน” โดยแทบไม่พูดถึงกลไกเชิงบังคับ เช่น การยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การนำร่องใช้ภาษีคาร์บอน การตั้งเป้าเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน”

จะว่าไปแล้ว ดูเหมือนสังคมไทยจะมองไม่ออกว่ามันสมองของเหล่านายพลนั้นครุ่นคิดสิ่งใดกันแน่ หรือเอาเข้าจริงแทบไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะเมื่อยกปืนขึ้น ทุกอย่างก็ง่ายดาย

แล้วเราควรทำความเข้าใจหัวจิตหัวใจชายชาติทหารจากมุมมองไหนอีกดี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน จากทหารถึงทหาร คำเตือนจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร “ยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น” ว่า “กองทัพพัฒนาการช้า สิ่งสำคัญคือเรื่องศรัทธาในประชาธิปไตย ต้องไปทำให้ทหารเข้าใจ รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง ต้องเป็นทหารอาชีพ ไม่ใช่ทหารการเมือง พอคุณเข้ามา คนตั้งข้อสงสัยเรื่องความเสียสละว่าใช่หรือเปล่า พอยึดอำนาจเสร็จ คุณเพิ่มอัตรา เงินทองก็เพิ่ม แล้วไปรบกับอริราชศัตรูที่ไหน”

เมื่อทหารด้วยกันยังเห็นว่า คสช. กำลังเปลือยกายล้อนจ้อน และการหาผ้าผ่อนมาสวมให้มิดชิดก็คงไม่ง่ายแล้ว ดังที่พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร มองว่า “คณะรัฐประหารยิ่งลงช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีวิบากกรรมมากเท่านั้น ความชอบธรรมเริ่มต้นก็ไม่มีอยู่แล้ว เหมือนเราเดินขึ้นบันไดสูงขึ้นเรื่อยๆ ความคาดหวังก็สูงขึ้น มันเลยเส้นที่เหมาะสมของการลงแล้ว ถ้าเกิดตกลงมาจะเจ็บมาก”

 

จากล้มลงและลุกเดิน : บทเรียนของภาคประชาชน

 

บนถนนของสามัญชน เมื่อก้าวเดินเพื่อยืนยันเจตจำนงตัวเองแล้วว่า ไม่ต้องการอยู่ในการปกครองของ คสช. ดาบแรกที่พวกเขามักเจอคือการป้ายสีว่ารับเงินนักการเมืองมาเคลื่อนไหว

ในบทสัมภาษณ์ พลังป้าแห่ง MBK 39 รู้จักแล้วจะรักป้ามากขึ้น เรื่องราวของ ป้านก – นภัสสร บุญรีย์  ก็สะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ว่าเธอไม่ยี่หระ

“บางคนบอกว่าเรามีท่อน้ำเลี้ยง ตั้งแต่ปี 2549-2553 ป้าทำจิวเวลรี ทำงานมาเงินเดือนแทบไม่ได้ใช้ ลูกค้าจิวเวลรีแต่ละเจ้า ปีหนึ่งๆ สั่งเจ้าละสิบกว่าล้าน ป้าเป็นลูกจ้างเขาแต่กิจการเขาดี เราก็ได้ส่วนแบ่ง แล้วส่งลูกชายเรียนคนเดียว ป้าก็ออมมาเคลื่อนไหว แต่ช่วงเคลื่อนไหวมากๆ ปี 2553 ป้าทิ้งงานไป เจ้านายเลยให้ป้าออก ตอนนี้ป้าไม่ได้ทำอะไรค่ะ ลูกทำงานแล้วก็ให้เงินกินบ้าง แฟนก็ขับมอเตอร์ไซค์บ้าง นิดๆ หน่อยๆ พอได้เคลื่อนไหว ไม่เยอะ เงินในบัญชีป้า 2-3 แสน แล้วก็ทองอีก 8 บาท หมดไปกับการใช้เคลื่อนไหว”

ชัดเจนว่าเมื่อถูกป้ายสีทางการเมือง ดาบต่อมาที่สามัญชนมักถูกฟาดฟัน หนีไม่พ้นการถูกเลิกจ้าง อย่างเช่น บุญยืน สุขใหม่ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และแกนนำสมัชชาคนจน ได้สะท้อนไว้ในบทสัมภาษณ์ เสียงก้องของแรงงาน-สตาร์ทอัพไทยในเถื่อนถ้ำ

เขามองว่า การสู้กับทุนว่ายากแล้ว ยิ่งบวกกับอำนาจทหารเข้าไปอีกยิ่งยากทบทวีคูณ พูดง่ายๆ ว่ายุครัฐประหาร แรงงานไม่มีเครื่องมือต่อรอง

เพื่อภาพที่ชัดขึ้น เขาเปรียบว่าตราบใดที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แรงงานไม่มีทางเรียกร้องสิทธิอะไรได้เลย เช่น ถ้าเป็นการถูกเลิกจ้างในภาวะปกติ สหภาพแรงงานจะร้องเรียนมาที่กระทรวงแรงงาน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่พอเป็นยุครัฐประหาร กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างตายหมด

“ในกรณีการถูกเลิกจ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ยังมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แรงงานจะนัดเคลื่อนไหวหยุดงานได้ปกติ แต่พอยุค คสช. แรงงานกระดิกอะไรไม่ได้เลย เพราะเจอ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่ง คสช. 3/2558 ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่ากระสุนด้านไปเลย เราไม่มีสิทธิที่จะง้างหมัด ขบวนการแรงงานหมดสภาพ เวลาคุณจะยื่นข้อเรียกร้อง แต่เจอนายจ้างอ้างกฎหมาย อ้างทหารปุ๊บ คุณหมดสิทธิชุมนุม พอสภาพเป็นแบบนี้ มันเลยเอื้อให้นายจ้างกล้าที่จะละเมิดสิทธิของแรงงานทุกรูปแบบ

เลเวลของอำนาจรัฐที่กระทำต่อประชาชนค่อยๆ เพิ่มขึ้น คล้ายเป็นเงาตามตัวของคนที่ออกมาชุมนุมต่อต้าน รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ ประสิทธิชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวชาวพัทลุง ตอบคำถามที่ว่าการคุกคามที่เคยเจอในช่วงรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหาร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ในบทสัมภาษณ์ เช็กเสียงประชาธิปไตยของคนใต้ ในสายตา ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ว่าจริงๆ ในรัฐบาลเลือกตั้ง ภาคใต้เกิดเม็กกะโปรเจกต์ที่จะทำลายธรรมชาติหลายโครงการเหมือนกัน แต่ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งไม่มีใครต้องถูกจับ ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารที่จับไว้ก่อน

“เทคนิคของการจับไว้ก่อนได้ผลหลายเรื่อง เป็นการยับยั้งไม่ให้ขบวนการชุมนุมขยายตัว ใครจะลุกขึ้นมาประท้วงอีกก็ต้องคิดเยอะ แต่พวกผมไม่กลัวอะไร เพราะเราคิดว่าถ้ารัฐบาลทหารทำโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ คนใต้ก็เจ๊งครับ ผมคิดว่าทหารรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เกิดมลพิษขึ้นจุดหนึ่ง โดยนิเวศทางทะเล ทั้งอันดามันจะได้รับผลกระทบถึงกันหมด แต่เขาแค่ทำไร้เดียงสา ทำเป็นไม่รู้”

ตั้งแต่ใส่ร้ายว่ารับใช้นักการเมือง เลิกจ้างงาน จับกุมคุมขัง มากกว่านั้นอำนาจรัฐที่ปราศจากการควบคุมตรวจสอบยังมองประชาชนเป็นผักปลา ดั่งตัวอย่างที่เกิดกับ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามฯ เมื่อปี 2553 เหตุการณ์ผ่านมาย่างเข้าปีที่ 9 แล้ว กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกดเล่าไว้ใน In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด ถึงบรรยากาศการเรียกร้องความเป็นธรรมในยุค คสช. ว่า “แค่เรื่องรูกระสุนที่ฝ่ายความมั่นคงโกหกเรื่องเดียว แม่ของกมนเกดยอมรับว่า มันได้เปลี่ยนตัวตนไปทั้งชีวิต เพราะการตายของลูกกำลังถูกอำพราง”

ไม่ใช่แค่การอำพราง แต่การเดินหน้าชนของเธอยังทำให้เธอติดแบล็คลิสต์จากฝ่ายความมั่นคงไปด้วย เพราะวันดีคืนดีก็มีรถฮัมวี่มาจอดหน้าบ้าน หรือแม้กระทั่งการออกไปเรียกร้องในที่สาธารณะ เธอกลับถูกฟ้องข้อหาชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต

“ประเทศนี้ทำอะไรต้องขออนุญาตหมด ยกเว้นตอนยิงลูกของฉัน” พะเยาว์เปรียบเปรยให้ภาพได้สั่นสะเทือนที่สุด

ถ้าที่ผ่านมาเป็นห้วงเวลาที่ คสช. ผยองที่สุด คำถามคือประชาชนสรุปบทเรียนไว้อย่างไร หนึ่งในตัวอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธคือเสียงของ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เอ็นจีโอภาคประชาชนที่เคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดช่องเอ็นบีที และถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ได้เล่าไว้ใน 1 วีรกรรม 1 คำสารภาพ 2 ความหวังและความห่วงใย : ‘ไผ่’ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

เขาบอกว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าสังคมนิยมอยู่ในขั้นที่สูงกว่าประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ถ้าดูบริบท มันแทบเป็นไปไม่ได้ เขาสรุปได้ว่าต่ำที่สุดของเราต้องมีประชาธิปไตย ห้ามต่ำกว่านี้

“ก่อนหน้านี้เราไม่เอารัฐประหารก็จริง แต่เรามองข้ามการเมืองมวลชนที่ไปทำลายระบบนิติรัฐ ผมได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าเราต้องมีประชาธิปไตย และกระบวนการเพื่อให้ได้มาก็ต้องเป็นประชาธิปไตย”

เขาได้ถกเถียงกับตัวเองในคุก และได้บทสรุปชีวิตการเดินทางรวมถึงการทำงานแบบย่นย่อที่สุด จากการอ่านหนังสือของ เนลสัน แมนเดลา ที่ว่า “เราจะต้องไม่ยอมทำสิ่งอยุติธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการยุติความอยุติธรรม จุดหมายอันสูงส่งไม่ควรเดินไปบนหนทางอันต่ำช้า”

การสรุปบทเรียนของภาคประชาชน ค่อยๆ ผลิดอกกลายเป็นรวมตัวกันในโครงการ ‘ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ’ ตั้งแต่ปลายปี 2017

มีการล่ารายชื่อของประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร (หลังการเลือกตั้ง) เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในผู้สร้างแคมเปญดังกล่าว อธิบายถึงเจตจำนงข้างต้นในบทสัมภาษณ์ “ถึงเวลาคืนอาวุธให้ประชาชน” ว่า

“เรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูเหมือนกับว่าเรากำลังกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แต่ปรากฏว่ายังมีการใช้อำนาจตามคำสั่งและประกาศคสช. ที่มีอยู่ห้าร้อยกว่าฉบับ เช่นเดียวกับการใช้มาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับหัวหน้า คสช. อยู่

“นี่เป็นการข้ามระบบกฎหมายปกติของสังคม และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คำสั่งและประกาศหัวหน้า คสช. บางฉบับ กลับระบุว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน”

เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คืออะไร จอนบอกว่า “อยากเห็นการกลับมาสู่ระบบนิติธรรม เราอยากจะกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวและมีบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่รออย่างสิ้นหวัง หรือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม เราอยากให้ประชาชนกลับมามีความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของประเทศ”

 

เสียงจากพรรคการเมือง : คิกออฟในเกมประชาธิปไตย

 

โดยไม่ต้องปิดบังอำพราง เราๆ ท่านๆ ย่อมผ่านพบความพยายามในการดึงสังคมไทยให้กลับไปอยู่กับอดีต มีผู้หลักผู้ใหญ่ปกครองดูแล

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นักรัฐศาสตร์อาวุโสก็เป็นบุคคลหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดความคิดดังกล่าวมาไม่น้อยกว่า 10 ปี เขาพยายามชี้ให้เห็นรากแก้วของเมืองไทยที่อาจนำพาประชาชนหลุดพ้นจากวิกฤตในห้วงเวลาที่ผ่านมา หนึ่งในรากแก้วที่ชัดที่สุดที่เขานำเสนอคือ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’

ในวันที่สนามเลือกตั้งเปิด เขาออกหน้าอีกครั้งในนามผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ต่อยอดมาจากฐานมวลชน กปปส. เอนกเคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน การเมืองไฮบริดแบบ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ว่า เรายังต้องการประชาธิปไตยนั่นแหละ แต่เราต้องกล้าคิดประดิษฐ์ กล้าผสมหาความลงตัวให้มากขึ้น จะไปอ้างว่าควรเป็นแบบประเทศนั้นประเทศนี้ไม่ได้ แต่ฉันทมติในการเลือกก็ต้องให้ประชาชนได้เลือกร่วมกัน ประชาธิปไตยที่จะเหมาะสมกับสังคมไทยไม่มีบลูปริ้นท์ ต้องลองผิดลองถูกกันไป

“ผมเห็นความเป็นไฮบริด เหมือนรถที่ใช้ได้ทั้งแก๊สและน้ำมัน ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนจากแก๊สเป็นน้ำมันหรือเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นแก๊ส รถก็ไม่ดับ”

แต่ความคิดแบบ ‘เอนก’ หรือ ‘พรรครวมพลังประชาชาติไทย’ จะเข้ากันได้กับประชาชนอีกมหาศาลหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงกำลังบอกว่าคนภูมิภาคกำลังเติบโต เมืองขยายตัว และออกมาเรียกร้องในการกำหนดอนาคตตัวเอง

แม้ว่าการเลือกตั้งอาจเป็นหนทางในการพิสูจน์ได้ แต่น้ำเสียงที่มาจากฝ่ายที่อยากให้สังคมไทยกลับไปสู่อดีตกลับไม่เชื่อ และยืนยันว่าคนต่างจังหวัดไม่เข้าใจประชาธิปไตย

ประเด็นดังกล่าว ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ คนรุ่นใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวไว้ใน คุยการเมืองไทย ไออาร์ และกาแฟ กับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ว่า “ดูถูกมาก อย่างน้อยคุณอาจจะบอกว่าเขาตัดสินใจผิดได้ แต่คุณไปบอกว่าเขาไม่เข้าใจประชาธิปไตยไม่ได้ มันเจ็บมากเลย มันไม่ควรเป็นอย่างนั้น”

เขาอธิบายว่า เราไปเอาสิทธิเอาเสียงเขามาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ เสียงที่เขามีโอกาสเดียวในการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้เขาไม่มีแล้ว เราในฐานะชนชั้นกลางต้องให้โอกาสเขา ถ้าคิดว่าเขาเลือกผู้นำที่ผิด เราต้องเป็นคนออกไปหาเขา เพื่อที่จะปรับทัศนคติเข้าหากัน ไม่ใช่อยู่กันเฉยๆ อยู่ในกรุงเทพฯ กันแค่นี้ เราต้องเดินทางออกไป แต่ทุกวันนี้พวกเราคนกรุงเทพฯ เหมือนอยู่ในเมฆ

เช่นเดียวกับ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ไว้ใน “ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัวงานผู้ภักดีของประชาธิปัตย์

“ผมไม่เชื่อว่าเสียงคนจะมีคุณภาพต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคนภูมิภาค ก็มีเสียงคุณภาพเหมือนกัน ความคิดของคน คุณไปตัดสินไม่ได้หรอกว่ามีคุณภาพน้อยหรือมาก แต่คนที่แสดงความคิดเห็นแบบนั้นก็เป็นสิทธิของเขา ผมไม่เชื่อ แต่ผมเคารพทุกเสียง ทุกความคิด และการตัดสินใจของแต่ละคน”

ประเด็นคือเมื่อปี่กลองเลือกตั้งดังขึ้น และทิศทางการเลือกตั้ง 2019 ดูเหมือนจะปราศจากความโปร่งใสที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นอกจากประเด็นการหมิ่นแคลนประชาชนที่เกิดขึ้นมาแล้ว คนประชาธิปัตย์มองการเลือกตั้งอย่างไร

องอาจมองว่าเราไม่สามารถจะเอาชนะทางการเมืองโดยที่ประเทศชาติพ่ายแพ้ได้

“เราชนะแต่ประเทศกลายเป็นซากปรักหักพัง ทิ้งไว้ให้ลูกหลานในอนาคตรับผิดชอบ แบบนี้ไม่ใช่พวกผม วันนี้เราต้องทำให้คนรู้สึกว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของเก่า เพราะชีวิตเราอยู่กันได้เพราะมีความหวัง เราอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ”

เมื่อพูดถึงความหวังทางการเมือง พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกสปอตไลท์ฉายจับเป็นพิเศษ เพราะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคฯ ล้วนแต่เป็นคนหน้าใหม่ในเวทีทางการเมืองที่เคยออกมาวิพากษ์สังคมไทยอย่างถึงแก่น

ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน คำต่อคำ : “การเมืองแห่งอนาคต” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงประเด็นความต่างจากพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมว่า ถ้าเรายืนหยัดในหลักการที่ชัดเจน นอกจากจะทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องแล้ว ยังแก้ไขระบบอุปถัมภ์ได้อีกด้วย

เขาบอกว่างานการเมืองของเขาไม่ได้ตัดสินบนฐานอำนาจ ฐานเศรษฐกิจ หรือฐานการรักษาความสัมพันธ์ว่าเราจะได้อะไร แต่ตัดสินใจบนจุดยืนและหลักการ

“เรามีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เราต้องการสร้างอนาคตใหม่ที่คนทุกคนมีส่วนร่วม คนทุกคนสามารถฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าในระดับปัจเจกบุคคลได้ เราอยากเห็นอย่างนั้น”

นอกจากการประกาศเรื่องจุดยืนทางประชาธิปไตย อีกพรรคการเมืองที่สร้างสีสันได้ทุกช่วงเวลา หนีไม่พ้น ‘พรรคเกียน’ ของ สมบัติ บุญงามอนงค์

คำขวัญส่วนตัวที่บอกว่าเขาเป็น “ผู้นำความบันเทิงสู่การเมืองไทย” และสโลแกนของพรรคฯ ที่ประกาศว่า “ไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง” คืออะไร เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้แล้วใน กระดูกสันหลังของ ‘เกียน’ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติบอกว่า ระบบพรรคการเมืองต้องเป็นระบบเปิดให้มีความเห็นหรือข้อเสนอได้ เราเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มก้อนที่เป็นภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อที่จะถ่ายเทประเด็นให้เข้าสู่ระบบในสภาและฝ่ายบริหารได้

“ผมคิดว่าต้องทำให้มี think tank ไม่อย่างนั้นจะผลิตความคิดขึ้นมาอย่างไร ต้องทำการเมืองเหมือน open source เปิดให้คนอื่นมาร่วมได้จริงๆ เพราะว่าโดยหลักการ พรรคการเมืองเป็นองค์กรของประชาชน แต่ที่เป็นอยู่มีพรรคไหนไหมที่เดินเข้าไปในพรรคเมื่อมีประเด็นขึ้นมา แล้วเข้าไปใช้กลไกพรรคการเมืองขับเคลื่อนได้จริงๆ –ไม่มี”

อีกตัวอย่างของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่พยายามวาดหน้าตาสังคมไทยให้น่ามองขึ้น คือ ‘พรรคประชาชาติ’ ที่มีอดีตข้าราชการน้ำดีอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคฯ

เขาเล่าถึงการทำงานทางการเมืองไว้ใน Exclusive : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับภารกิจชักธงพหุวัฒนธรรมขึ้นสู่ยอดเสา ว่าเราต้องมองว่าวัฒนธรรมคือความเป็นมนุษย์ พูดง่ายๆ คือความเป็นคนต้องมาก่อน คนต้องเท่ากัน เราต้องทำให้ทุกศาสนาเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เท่าเทียมเพราะจำนวนคน แต่ต้องเท่าเทียมในทางปรัชญา

“ทำไมประชาชนกับรัฐถึงต้องหวาดระแวงกันเป็นหลายสิบปี” พ.ต.อ.ทวี ตั้งคำถามใหญ่ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอาการเรื้อรัง

และแม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะพูดการกระจายอำนาจ แต่เขามองว่านั่นเป็นแค่กระบวนการ ทว่าเป้าหมายจริงๆ คือคนมีความสุข อยู่ดีกินดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ คนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง

“สำหรับเด็กชาติพันธุ์ ต้องให้เขาได้เรียนภาษาแม่ เช่น คนมลายู ต้องให้เขาเริ่มเรียนภาษายาวี ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กัน ไม่น่าเชื่อว่าทุกวันนี้หนังสือที่สอนตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 ในภาคใต้ ไม่มีคำว่าปัตตานีสักคำเลย”

ในสนามการเมืองไทย ที่หลายฝ่ายกำลังแสดงจุดยืนกันอย่างออกรส ไม่ได้มีแค่พรรคที่อยากเห็นสังคมไทยย้อนกลับไปอยู่ในอดีตกาล หรือวาดฝันถึงอนาคตเท่านั้น ยังมีพรรคการเมืองที่ไม่แสดงเจตจำนงว่าอยากพาสังคมไทยไปอยู่ในห้วงเวลาไหน ‘พรรคชาติไทยพัฒนา’ คือหนึ่งในพรรคดังกล่าว

วราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคฯ ให้สัมภาษณ์ใน สังคมไทยไม่ได้มีแค่ซ้ายกับขวา” วราวุธ ศิลปอาชา : มือ Blend แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า “สังคมไทยไม่ได้มีแค่ซ้ายกับขวา ยังมีคนตรงกลางที่เขาไม่อยากพูด เราเป็นทางเลือกให้กับคนตรงกลางนี้ได้ ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังมีคนอีกหลายกลุ่ม คนที่อยู่ขวาหรือซ้ายคือคนที่พูดออกมา แต่คนที่อยู่ตรงกลางคือคนที่ไม่อยากเห็นคนทะเลาะกันอีกแล้ว”

เมื่อความรู้สึกถึงความต้องการปรองดองส่งเสียงขึ้น พรรคไทยรักไทยที่เคยชนะการเลือกตั้งในประวัติศาสตร์อย่างถล่มทลายมากที่สุด ทั้งยังเป็นส่วนสร้างและถูกคลื่นแรงเหวี่ยงจากความขัดแย้งมากที่สุด ก่อนกลายร่างมาเป็นพรรคเพื่อไทย คิดอ่านถึงอนาคตอย่างไร

ในบทสัมภาษณ์ เปิดใจ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ถูกบีบจากอำนาจเก่า – ถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่ การทบทวนความผิดพลาดในอดีตที่ภูมิธรรมเผยออกมาคือ การให้ประชาชนรับรู้และตัดสินใจว่าเขาจะเลือกวิธีการในการจัดการปัญหาอย่างไร อันนี้คือบทเรียน ฉะนั้นครั้งต่อไปไม่ว่าจะเรื่องใดๆ การเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะที่กระทบความเข้าใจของพี่น้องประชาชน หรือกระทบความเห็นที่แตกต่างกัน ยิ่งต้องทำให้เป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกฝ่ายทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ มีกระบวนการที่จะหาความยอมรับร่วมกันของสังคม

และแม้ว่า “ความยากลำบากที่สุดคือ เราสู้กับระบบอนุรักษนิยมที่ยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก” แต่เขาก็มองว่า เวลาและความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ สอนคนในสังคมให้เข้าใจความเป็นจริง ซึ่งเป็นโจทย์ของทุกพรรคการเมือง

 

ก้าวสู่ 2019 ก้าวสู่ความมืดหรือแสงสว่าง

           

เป็นไปได้ว่าการเมืองไทยในอนาคตอาจทำนายยากกว่าแทงหวย คงไม่มีใครยืนยันได้ว่าภาพที่ชัดที่สุดที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

หนทางเดียวที่อาจช่วยให้พอคาดการณ์และกำหนดอนาคตสังคมไทยร่วมกัน คือการมองกลับไปยังอดีตที่ทุกคนย่ำเดินมา

หนึ่งในบทสัมภาษณ์การเมืองของ 101 ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในปี 2018 คือ “วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว” – คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เรื่องอดีตของไทยรักไทย ปัจจุบันของหมอเลี้ยบ และอนาคตของการเมืองไทย

ไม่ใช่เพราะหมอเลี้ยบทำนายอนาคตได้ แต่เพราะการตกผลึกของเขาและเปิดเปลือยออกมาอย่างซื่อสัตย์ หาได้อยากในบรรดานัการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

การเมืองในฝันของคุณหมอเป็นอย่างไร หมอเลี้ยบเล่าว่า “ในหนังสือวิถีแห่งเต๋าบอกว่า ผู้ปกครองที่แย่ที่สุดคือผู้ปกครองที่ประชาชนเกลียดชัง ดีขึ้นมาหน่อยคือผู้ปกครองที่ประชาชนกลัว ต่อมาคือผู้ปกครองที่ประชาชนรัก แต่ผู้ปกครองที่ดีที่สุดคือคนที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่ามีผู้ปกครองอยู่”

“ถ้าถามว่าการเมืองในฝัน รัฐในฝัน ในอุดมคติเป็นอย่างไร คำตอบคือรัฐที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกเจ้ากี้เจ้าการ ถูกบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ประชาชนสามารถจัดการชีวิตตนเองได้ตามศักยภาพของตนเอง เขาสามารถมีส่วนร่วมกันกับเรื่องต่างๆ ได้เองโดยไม่มีใครมาคอยชี้นิ้วออกคำสั่งว่าต้องทำอย่างไร ทุกคนมีศักยภาพเต็มที่ แต่ปัญหาคือมีกฎที่ปิดโอกาสไม่ให้คนเท่ากัน”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่คุณหมออยากบอกพรรคการเมืองในวันนี้มากที่สุด หมอเลี้ยบเผยรอยยิ้มก่อนตอบว่า “วันนี้หมดเวลาของพวกเราแล้ว ได้เวลาที่คนรุ่นต่อไปจะเข้ามาทำการเมืองที่สร้างสรรค์ การเมืองแบบที่เราเคยอยากทำแต่ทำไม่ได้ วันนี้เราไม่มีพลังแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ที่มีพลังได้เข้าไปออกแบบและกำหนดอนาคตของพวกเขาเองเถอะ”

นอกจากถ้อยคำตกผลึกของนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว ความคิดและจิตใจของผู้คุมอำนาจอย่าง คสช. เป็นอย่างไร พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช. เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน อนาคตสังคมไทยยามไร้ คสช. : พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ โฆษก คสช. ต่อประเด็นที่ว่าภาพสังคมไทยที่ คสช. อยากเห็นในอนาคต กับสังคมไทยที่เป็นจริง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

พล.ต.ปิยพงศ์ ตอบทันทีว่า คสช. มองเรื่องบ้านเมืองต้องสงบ สถาบันทุกสถาบันของชาติต้องมีความมั่นคง พี่น้องประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี และมีความสุขที่ยั่งยืน นี่เป็นภาพที่ คสช. อยากเห็น

แล้วเมื่อวันเวลาของ คสช. กำลังถอยหลัง สังคมไทยที่ไร้ คสช. จากนี้จะเป็นอย่างไร คนที่ยังเชียร์ คสช. ต้องทำอย่างไร

เขาบอกว่า “ที่ผ่านมาสี่ปีก็อาจจะเป็นความรักความผูกพันในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงครับว่า คสช. เข้ามาเพราะมีความจำเป็นที่ต้องมา และเมื่อเข้าสู่กระบวนการของความเป็นประชาธิปไตยแล้ว คสช. ก็ต้องจบภารกิจภายใต้กรอบกฎหมาย ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจ”

ก่อนที่สังคมไทยจะก้าวผ่านไปสู่อนาคตที่ยังคาดเดาไม่ได้ อีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วตั้งแต่ปี 2475

แต่ทว่าปัจจุบัน หมุดคณะราษฎร หนึ่งในสัญลักษณ์ของฝ่ายที่ทำการอภิวัฒน์สยามกลับหายไป ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับสภาพสังคมการเมืองไทยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ประชาธิปไตยไม่มี แล้วจะมีหมุดฯ ได้อย่างไร

ในสารคดีชีวิตเรื่อง เกียรติยศของคนดื้อ สมยศ พฤกษาเกษมสุข มีตอนหนึ่งที่พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า ต่อให้สัญลักษณ์ของคณะราษฎรหายไป แต่หมุดที่หายไปจากที่แห่งนั้นก็กลับมาปักอยู่กลางใจผู้คนจำนวนมาก

“การเปลี่ยนแปลงจาก 2475 วันนี้ได้เข้าไปสู่การรับรู้ของคนระดับล่างจำนวนมากในสังคมไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะปัญญาชน เราควรจะดีใจนะ กรณีหมุดหาย แต่มีคนไปแจ้งความไว้ ถ้าเป็นก่อนปี 2549 คงไม่มี”

สมยศมองว่า เราอยู่ในสังคมที่เป็นผลผลิตตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ของการปะทะกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม คำถามว่าทำไมการรัฐประหารยังมีอยู่ ก็ต้องไปดูที่จุดเริ่มต้นว่าเกิดความผิดพลาดตรงไหน

และต่อคำถามว่าการอภิวัฒน์ 2475 ยังจำเป็นต่อการนำมาอ้างอิงการต่อสู้ ณ วินาทีนี้หรือไม่ เขาบอกว่าจำเป็น ไม่เช่นนั้นเราจะไม่หลุดพ้นจากวงจรเผด็จการนี้เลย

“คุณจะไม่สามารถถอนรากถอนโคน คสช.ได้ เพราะที่เราเห็นกันอยู่นี้มันแค่ลำต้น แต่โคนและรากมันยังอยู่ เนื้อดินก็ยังอยู่ ต้นไม้เผด็จการจึงเติบใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ถ้าเราไม่สามารถนำเสนอภาพสังคมที่ดีกว่า มีอุดมการณ์ดีกว่าของเก่า เราจะไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และเราจะอยู่ในวังวนนี้ไปอีกนาน”

ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าถ้ามีคนบางกลุ่มต้องการลากสังคมไทยกลับไปอยู่ในห้วงอดีตกาล การอภิวัฒน์ 2475 ก็อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอยู่ดี เพราะความเป็นจริงโลกหมุนไปข้างหน้า ต่อให้ดึงกลับหลัง ยังไงโลกก็ต้องเคลื่อนไปอยู่ดี

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปาฐกถา 2475 : อดีต ปัจจุบัน อนาคต เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2018  คำถามสำคัญอันหนึ่งคือ 2475 ยังมีอนาคตอยู่หรือไม่ ?

เขามองว่า ปฏิวัติ 2475 คืออดีตที่เป็นแสงนำทางต่อการสร้างอนาคตประเทศชาติของเรา ด้วยแนวทางประชาธิปไตยสากลคนเท่ากัน การเลือกตั้งทุกระดับ ด้วยแนวคิดสำคัญของคณะราษฎรที่ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่ไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับรัฐ และสัมพันธภาพระหว่างสถาบันต่างๆ ของสังคม ประชาชนทุกคนร่วมสร้างประเทศชาติของเรา (The Nation We Build Together)

ทั้งหมดนี้เป็นความเข้มข้นบนเส้นทางการเมืองของปี 2018 ที่ The101.world ชวนมองย้อนกลับไป เพื่อเตรียมตัวก้าวไปในเส้นทางของปี 2019 ร่วมกัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save