fbpx
Human of (Future) Workspace: มอง ‘อนาคต – คน – งาน’

Human of (Future) Workspace: มอง ‘อนาคต – คน – งาน’

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่า ในชีวิตของคนวัยผู้ใหญ่ ‘การทำงาน’ กลายเป็นสิ่งที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชีวิต กล่าวคือ ถ้ามองแบบหยาบๆ คนทำงาน (โดยเฉพาะคนทำงานในระบบ) ต้องทำงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับว่าเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน เพื่อทำงาน และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งคนทำงานและโลกของการทำงานจึงมีผลต่อกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนทำงานต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันกระแสการทำงาน ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องปรับเปลี่ยนองค์กรและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแนวคิดและวิธีการของโลกยุคใหม่ด้วย

ยิ่งเมื่อโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้คนตกงานนับล้าน เด็กจบใหม่จำนวนมากยังหางานทำไม่ได้ โลกการทำงานก็ยิ่งได้รับผลกระทบ แนวคิดการทำงานใหม่ๆ หรือแนวคิดที่เคยถูกพูดถึงมาก่อนแล้วถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ทุกองค์กรต่างต้องหาวิธีพยุงตัวเองให้รอดจากวิกฤต และเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคโลกหลังโควิดไปพร้อมๆ กัน

หลายครั้งที่วิกฤตก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน สร้างคำถามใหม่ และตอกย้ำคำถามเก่าที่มีอยู่เดิมให้ชัดเจนมากขึ้น โลกแห่งการทำงานก็เช่นกัน มีคำถามมากมายผุดขึ้นมา ทั้งคำถามในภาพใหญ่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจโลก ไปจนถึงการมองภาพอนาคตของที่ทำงานและคนทำงานว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

101 ชวนคุณหาคำตอบและสำรวจโลกการทำงาน ผ่านผลงาน spotlight ในชุด I LOVE MY JOB : คน (รัก) งาน และที่ทำงานในอนาคต – โลกการทำงานหลังโควิดจะเป็นอย่างไร คนทำงานและที่ทำงานในอนาคตน่าจะมีหน้าตาแบบไหน พร้อมทั้งชวนสำรวจจักรวาลคนทำงานที่ไปไกลกว่าภาพจำคนทำงานแบบ white collar

 

เมื่อ งานติดไวรัส

 

หากพูดให้ถึงที่สุด ปี 2020 อาจจะเป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุดปีหนึ่ง โดยเฉพาะกับ ‘คนทำงาน’ ที่ต้องเจอทั้งวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจ

บทความ ‘‘Good Jobs Economy’: สัญญาประชาคมใหม่ในยุค ‘The Great Reset’’ ได้ฉายภาพกว้างให้เราเห็นว่า ท่ามกลางวิกฤตและความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่คนพูดถึงและกระทบกับคนทำงานโดยตรงคือ ‘การตกงาน’ ไม่ว่าจะเป็นในระดับโลกหรือในประเทศไทย การประเมินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ชี้ว่า  ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในระบบทั่วโลกในไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงกว่า 14% หรือคิดเทียบเท่าได้กับงานเต็มเวลา 400 ล้านตำแหน่ง ที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ แรงงานนอกระบบอีกกว่า 1,600 ล้านคน กำลังอยู่ในความเสี่ยงที่ชีวิตจะพังทลายเพราะตกงาน ส่วนประเทศไทย  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานไทยกว่า 8.4 ล้านคนอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงาน ในขณะที่แรงงานจบใหม่กว่า 500,000 คนก็จะต้องประสบกับความยากลำบากในการหางาน

อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า ต่อให้ไม่มีโรคระบาด “เศรษฐกิจโลกที่ถูกขับเคลื่อนโดยทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ‘ป่วย’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนี้ หนึ่งในข้อเสนอที่ผุดขึ้นมาเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจคือ ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่างเพื่อเกลี่ยดอกผลทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรมกับคนทำงานมากขึ้น ซึ่งฟังดูก็เป็นข้อเสนอที่ดีไม่หยอก แต่ถ้าอิงตามความคิดของดานี รอดริก (Dani Rodrik)  นักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยและศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด แม้การปฏิรูประบบทุนนิยมจะทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนและเป็นธรรมขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหารากฐานที่สุดของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ คือ การปรับโครงการสร้างการผลิตในระบบเศรษฐกิจโลก เพราะสำหรับรอดริก ปัญหาของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์คือ ระบบนี้สร้าง ‘งานที่ดี’ ได้น้อยเกินไป – งานที่ดีและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองและคนกลุ่มน้อยของสังคม ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตก้าวหน้าที่อยู่บนฐานของความรู้และนวัตกรรม ส่วนคนที่เหลือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่าของสังคม ต้องอยู่กับงานที่ไม่ดี และไม่ค่อยมีส่วนสร้างนวัตกรรม อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากมันน้อยด้วย

คล้ายกับพีเทอร์ เทมิน (Peter Temin) นักเศรษฐศาสตร์แห่งเอ็มไอที ซึ่งเคยเปรียบเปรยภูมิศาสตร์ของเศรษฐกิจโลกไว้ว่า  “งานดี ค่าตอบแทนสูง เป็นดั่งเกาะที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลของงานที่แย่”

รอดริกจึงมองว่า เราต้องแก้ปัญหาที่รากของปัญหา ถ้าพูดให้ชัดเจนคือ เศรษฐกิจมหภาคต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นการสร้างงานที่ดี หรือสร้าง ‘good job economy’ ขึ้นมาแทน ซึ่งเป้าหมายที่ใหญ่เช่นนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และแรงงาน จะต้องถูกจัดวางใหม่เพื่อให้การกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจร่วมกันเป็นไปได้จริง เช่น รัฐที่เคยวางบทบาทตัวเองเป็นคนนอกการผลิต ควรจะเข้าไปแทรกแซงพื้นที่การผลิตโดยตรงผ่านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ หรือการออกแบบระบบและนโยบายในเรื่องต่างๆ ก็ควรจะเพิ่มเรื่องการสร้างงานที่ดีเข้าไปด้วย

เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างถึงแก่น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโลกและสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ไม่ว่า good job economy จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ ความจริงแน่แท้ที่เราคงปฏิเสธไม่ได้คือ ตอนนี้โลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง หรือที่หลายคนเรียกว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ‘The Great Lockdown 2020’ และ ‘รัฐ’ ก็ก้าวเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งในแง่การจัดการวิกฤตและการกอบกู้คนจากวิกฤต

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด “ท่ามกลางความปั่นป่วนของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รัฐกลายเป็นความหวังและที่พึ่งสุดท้าย”

เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่ทรุดหนัก รัฐทั่วโลกได้พยายามเข็นแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมา หรือที่เรียกว่า ‘บาซูก้าการคลัง’ ออกมา ทั้งนี้ หัวใจของบาซูก้าการคลังไม่ใช่แค่ขนาด แต่ต้องประกอบไปด้วย “เครื่องมือทางการคลังหลากหลาย มุ่งลดความไร้เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน – อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ก่อนเคลื่อนไปสู่การหาฉันทามติร่วมใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเมื่อมรสุมผ่านพ้นไป”

เพื่อให้เห็นภาพนโยบายการรักษางานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น บทความดังกล่าวได้ยกตัวอย่างนโยบายรักษางานผ่านทางผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลทั่วโลกเลือกทุ่มงบไปกับ ‘การอุดหนุนค่าจ้าง’ เพื่อประกันว่านายจ้างจะมีเงินจ้างและดูแลคนทำงานต่อไป และยังจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานในระบบ หรือฟรีแลนซ์ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงขยายนโยบายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปถึงคนกลุ่มนี้ พร้อมทั้งทิ้งคำถามที่น่าขบคิดไว้ว่า เมื่อตลาดแรงงานเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป คนเริ่มทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น รัฐจะมีนโยบายอะไรมาประกันคนทำงานเหล่านี้หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในตลาดแรงงานไม่ได้มีแค่คนทำงานหรือฟรีแลนซ์ แต่ยังมีกลุ่มเด็กจบใหม่หมาดที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่กลับต้องเจอกับวิกฤตที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว กลุ่มเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘คนรุ่นล็อกดาวน์’ (Generation Lockdown) ซึ่งก่อนจะเกิดวิกฤต คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มว่างงานกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ พวกเขาก็ยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นไปอีก รัฐบาลหลายประเทศจึงต้องออกมาตรการช่วยเหลือเด็กจบใหม่กลุ่มนี้ รวมถึงออกนโยบายที่ช่วยเหลือให้คนทำงานรุ่นใหม่และคนทำงานที่ตกงานได้มีโอกาสฝึกอาชีพและฝึกฝนทักษะใหม่ เพื่อพร้อมรับขบวนเศรษฐกิจแห่งโลกอนาคต

บางประเทศยังมองไกลไปถึงการสร้างงานที่ยั่งยืนหรือ ‘งานสีเขียว’ โดยมีโจทย์เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นทั้งการฟื้นฟูหลังวิกฤต และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรียกได้ว่าเป็นอะไรที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ตั้งแต่คนทำงานไปจนถึงสิ่งแวดล้อม

ถ้าขยับเจาะจงลงมาที่ประเทศไทย 101 Policy Forum #6 : นโยบายแรงงานในยุค The Great Disruption ได้ฉายภาพนโยบายด้านแรงงานในยุคที่ทุกอย่างถูกดิสรัปต์ได้อย่างน่าสนใจ – กลุ่มพรรคการเมืองตีโจทย์นโยบายด้านแรงงานอย่างไร อะไรคือโจทย์ใหญ่ของคนทำงานในยุคโรคระบาด รวมถึงแรงงานไทยในยุคของการเปลี่ยนแปลงและการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี

นอกจากบทบาทของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ โดยบทความ ‘ในความมืดมีแสงสว่าง : คุยกับ 2 ผู้ประกอบการที่พา ‘คนทำงาน’ และ ‘ธุรกิจ’ สู้วิกฤตไปด้วยกัน’ ได้พาเราไปสำรวจธุรกิจเอกชน 2 แห่งในประเทศไทย ที่ช่วยพยุงทั้งคนทำงานและธุรกิจของตนผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมกัน

ธุรกิจแรกคือ ‘โรงแรมศิวาเทลกรุงเทพ กรีนโฮเทล ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีว่า ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมประสบปัญหาสาหัสที่สุดครั้งหนึ่ง ทำให้ศิวาเทลที่มีทั้งส่วนที่เป็นสำนักงานให้เช่า โรงแรม และอพาร์ทเมนต์ ต้องรวมทั้งสามส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการแชร์ฐานลูกค้าและเน้นการขายอาหารมากขึ้น ซึ่งตามปกติ โรงแรมจะเน้นใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากชุมชนในการทำอาหารอยู่แล้ว ทำให้มีความผูกพันกับชุมชนเป็นทุนเดิม ผู้บริหารศิวาเทลจึงวางแผนจะเปิดฟาร์มทริปโดยร่วมมือกับชุมชน พาลูกค้าที่มาทานอาหารไปรู้จักกับเกษตรกรถึงแหล่งที่มาด้วย

อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือ ‘Once Again Hostel’ ย่านประตูผี และ ‘Luk Hostel’ ย่านเยาวราช ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่เช่นกัน ทีมทำงานจึงตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มใหม่ คือ ‘Locall Thailand’ ซึ่งให้บริการเดลิเวอรีร้านอาหารในชุมชน ทำให้ร้านในชุมชนได้เข้าสู่แพลตฟอร์มการส่งอาหารเดลิเวอรี และเป็นการกระจายต้นทุนสู่ทุกคนผ่านทางเครือข่ายชุมชน

จะเห็นว่า ภาคเอกชนเองก็มีการปรับตัวและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อผ่านวิกฤต รวมทั้งทิ้งโจทย์สำคัญไว้กับภาครัฐว่า ในระยะยาว ภาครัฐจะแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างระบบป้องกันและสวัสดิการสำหรับคนทำงานที่ครอบคลุมได้อย่างไร

 

อนาคตคน(ที่ทำ) งาน

 

หลายครั้งที่วิกฤตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โลกการทำงานกับวิกฤตโควิด-19 ก็เช่นกัน เพราะเมื่อโลกเจอกับโรคระบาดที่รุนแรงเข้าไปเช่นนี้ ภาคการทำงานต้องเผชิญกับทั้งการพยุงตัวเองให้รอดจากวิกฤต รวมทั้งปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือ แนวคิดการทำงานแบบ ‘ยืดหยุ่น’ (flexible working) ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ (working from anywhere) ซึ่งถ้าพูดกันตามจริง หลายองค์กรเริ่มใช้การทำงานแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว แต่เมื่อโรคระบาดเกิดขึ้นและบังคับให้เราต้องเว้นระยะห่างจากกัน  การทำงานแบบยืดหยุ่นเริ่มกลายเป็น ‘new normal’ ในโลกการทำงานปัจจุบัน ขณะที่คนทำงานก็ถูกเรียกว่า ‘Generation Flex’ สะท้อนภาพกลุ่มคนที่มีทักษะ เป็นอิสระ และมองว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องเป็นตารางเวลาที่เข้มงวด ยืดหยุ่นไม่ได้อีกต่อไป

ตรงนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ธนา เธียรอัจฉริยะ CMO ธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ abc ที่มองว่า “หัวใจการทำงานยุคปัจจุบันคือ flexible working hours และ work from anywhere” แต่ธนาก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า สวัสดิการแบบดั้งเดิมก็ยังมีความสำคัญอยู่ เช่น สวัสดิการลาคลอด การมีห้องละหมาด หรือการให้ลาพักร้อนได้ยาว เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าองค์กรใส่ใจพนักงาน

แม้จะมีผลสำรวจแล้วว่า ทั้งคนทำงานและองค์กรต่างรู้สึก ‘วิน-วิน’ กับกลยุทธ์การทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งครอบคลุมเรื่องการทำงานที่บ้านด้วย แต่เราต้องไม่ลืมว่า หลายครั้งที่การทำงานที่บ้านทำให้เส้นแบ่งของชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานพร่าเลือนลง โดยเฉพาะถ้าคนทำงานไม่สามารถแบ่งเวลาออกจากกัน ประกอบการมีเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อทุกคนเข้าหากันตลอด 24 ชั่วโมง ‘การจัดตารางเวลา’ และการที่หัวหน้างานเข้ามาพูดคุยกับลูกน้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกที่การทำงานยืดหยุ่นเช่นนี้

อีกข้อพิจารณาที่สำคัญคือ สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานในสำนักงาน เช่น กลุ่มที่ทำงานในโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรม ความยืดหยุ่นสำหรับพวกเขาไม่ได้หมายถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับนายจ้างในการนำแนวคิดการทำงานแบบยืดหยุ่นเข้ามาปรับใช้กับพนักงานกลุ่มนี้ เช่น การให้พนักงานเลือกตารางเวลาเริ่มงานได้เอง หรือการมีสถานที่ดูแลบุตรหลานของพนักงานที่ต้องเข้ากะช่วงกลางคืน เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มที่

เมื่อคนทำงานมีมุมมองเปลี่ยนไป คำถามที่น่าสนใจคือ ที่ทำงานในอนาคตจะเป็นแบบไหน ออฟฟิศแบบไหนที่พวกเขาใฝ่ฝัน หรือถ้ามองให้ไกลกว่านั้น ออฟฟิศแบบไหนที่จะรองรับสภาพสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้?

บทความ ‘ที่ของคนสูงวัย – ที่ของ AI – ที่ของครอบครัว : ที่ทำงานในอนาคต’ ได้พาเราไปสำรวจที่ทำงานรูปแบบต่างๆ ได้อย่างสนใจ โดยที่ทำงานแบบแรกคือที่ทำงานสำหรับ คนสูงวัย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคต ผู้สูงวัยจะกลายเป็นประชากรหลักในหลายประเทศ ที่ทำงานจึงต้องปรับวิธีคิดของตนเองและของคนทำงาน เพราะการมีผู้อาวุโสในออฟฟิศไม่ใช่ข้อเสีย และความคิดที่ว่า ‘ยิ่งแก่ยิ่งทำงานแย่ลง’ ก็เป็นความคิดที่ผิดถนัด เราจึงเห็นหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุค่อนข้างสูง เริ่มสร้างนโยบายเพื่อตอบรับสังคมสูงวัยมากขึ้น ในอนาคต เราจึงอาจจะเห็นเทรนด์การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานเพื่อให้สอดรับกับคนสูงวัยมากขึ้นด้วย

เมื่อพูดถึงที่ทำงานในอนาคต ภาพที่ใครหลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น ‘AI’ หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะเข้ามามีบทบาทในโลกของการทำงานมากขึ้น โดยบทความดังกล่าวได้ฉายภาพว่า ในอนาคต AI อาจจะมีบทบาทเป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน ผู้ช่วย หรือแม้กระทั่งเจ้านายคนใหม่ กล่าวคือ AI จะเข้ามามีบทบาทในการสำรวจตรวจสอบพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านประสิทธิภาพการทำงาน หรือด้านสุขภาพร่างกาย หรือจะเป็นบทบาทในการคัดกรองคนสมัครงาน และถ้ามองให้ไกลกว่านั้น เราอาจเห็น AI กลายเป็นพี่เลี้ยงสอนงานให้พนักงานใหม่ เป็นคนช่วยออกแบบพื้นที่ทำงาน และเข้ามาช่วยมนุษย์ทำงานบางส่วน

โจทย์ใหญ่ในโลกอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ทำอย่างไรจึงจะสร้างสมดุลระหว่างพนักงานกับการใช้ AI ก็เป็นได้

อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของคนทำงานคือ เรื่องครอบครัว เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานยากที่จะแยกออกจากกันได้ ดังนั้น หลายองค์กรจึงมีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการครอบครัว ไล่เรียงตั้งแต่สวัสดิการที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างการลาคลอด ที่อาจจะถูกเปลี่ยนเป็นการ ‘ลาได้ทั้งพ่อและแม่’ หรือเรื่องการทำงานแบบยืดหยุ่นที่จะช่วยให้คนมีครอบครัวจัดตารางเวลาได้ดีขึ้น ไปจนถึง ‘สวัสดิการฝากไข่’ หรือการให้เงินพนักงานในการจ้าง ‘แม่อุ้มบุญ’ ซึ่งสวัสดิการแบบหลังนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงกลุ่มพนักงานที่เป็น LGBTQ รวมถึงในอนาคต เราอาจจะเห็นสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงาน LGBTQ เช่น ประกันสุขภาพคุ้มครองคู่รักเพศทางเลือก หรือสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

เพราะครอบครัวยุคใหม่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้นิยาม ‘พ่อ-แม่-ลูก’ อีกต่อไป ที่ทำงานที่คนใฝ่ฝันจึงย่อมเป็นที่ทำงานที่จัดหาสวัสดิการที่ครอบคลุม เท่าเทียม และไม่ทิ้งพนักงานคนใดไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

 

มองจักรวาลคนทำงาน

 

เมื่อพูดถึงการทำงาน ภาพจำของคนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นหนุ่มสาวในชุดสูทสีสวย เดินหิ้วกระเป๋าเอกสารเข้า-ออกตึกสูงระฟ้า นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ หรือที่เรามักเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ ที่แม้จะดูเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง มีนายจ้าง และมีสวัสดิการรองรับ แต่หลายครั้งที่เราจะเห็นข้อความ ประโยค หรือมุกตลก (ปนเศร้า) ที่พูดถึงชีวิตของมนุษย์เงินเดือน หรือระบายความในใจเกี่ยวกับงานออกมาเสมอ

“งานมันหนัก เหนื่อย ท้อ” “พรุ่งนี้วันจันทร์อีกแล้ว ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ (?)” และถ้อยคำอีกมากมายที่แทนความในใจของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากงานจริงหรือไม่ และถ้าไม่ใช่แค่งาน มนุษย์เงินเดือนกำลังต่อสู้กับอะไรอื่นอีก?

คลิปวิดีโอ ‘The Invisible Battle มนุษย์เงินเดือนและการต่อสู้ที่มองไม่เห็น’ พาเราไปสำรวจชีวิตคนที่ถูกเรียกว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ ไล่เรียงตั้งแต่เด็กจบใหม่ไม่กี่ปีที่ต้องควบงานหลายบทบาท ผู้หญิงที่ต้องทำงานขณะตั้งครรภ์จนอาจไม่ปลอดภัยกับลูกในท้อง หรือคนที่ประสบปัญหาการทำงานกับคนต่างวัย

เพราะชีวิตของทุกคนคือการต่อสู้ และสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ถูกมองว่า ‘มั่นคง’ เราทุกคนก็ต่างต่อสู้กับบางสิ่งที่มองไม่เห็นเสมอ

ถ้าลองขยับออกมาดูภาพกว้างกว่านั้น แน่นอนว่า โลกการทำงานไม่ได้มีแค่กลุ่ม white collar ดังที่ภาพตัวเลขสัดส่วนแรงงานอาชีพต่างๆ ทั่วโลกแสดงให้เราเห็นว่า กลุ่มอาชีพทั่วโลกมีหลากหลาย ไล่เรียงตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ธุรการ ไปจนถึงพนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักร และกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน เกษตร ป่าไม้ และการประมง ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ คนทำงานมากกว่า 70% ไม่ได้ทำงานอยู่ในสำนักงาน

แล้วภาพจำของการทำงานในออฟฟิศมาจากที่ไหน? บทความดังกล่าวตอบคำถามด้วยภาพสัดส่วนอาชีพของกลุ่มประเทศ G7 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก) ที่มีสัดส่วนแรงงานกลุ่มที่ทำงานในสำนักงานเกิน 50% และเพิ่มขึ้นมาตลอด นับตั้งแต่ปี 1990 และด้วยความที่ประเทศเหล่านี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ ทำให้เสียงสะท้อนภาพการทำงานและแนวคิดที่ทำงานของพวกเขาดูจะดังกว่าคนอื่น

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผลงานชุด ‘Better Workspace: จักรวาลคนทำงาน’ ได้ลงพื้นที่สำรวจจักรวาลของคนทำงานที่หลากหลาย ไล่เรียงตั้งแต่แม่บ้าน คนทำงานอิสระ คนขับแท็กซี่ หรือพนักงานออฟฟิศที่โดนโควิดบีบให้ต้อง work from home เพื่อรับฟังว่าเรื่องราวของพวกเขาเป็นอย่างไร และที่ทำงานที่ดีในความคิดของพวกเขาควรมีหน้าตาเป็นแบบไหน หรือจะเป็นการรับฟังเสียงของแรงงานที่อาจไม่เคยมีใครได้ยิน อย่างนักดนตรีกลางคืนที่ฝีมืออาจไม่ได้สะท้อนความมั่นคงในชีวิต แม่บ้านรายวันที่รับงานผ่านแอปพลิเคชัน และยามในหมู่บ้านที่ยังคงต้องทำงานแม้เลยวัยเกษียณไปแล้ว

 

“เมื่อก่อนป้าเคยเป็นแม่บ้านคอนโด ก็ไปนั่งอยู่ใต้บันไดกับทางหนีไฟนี่แหละ แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็ดีขึ้นนะ…สำหรับป้าแค่นี้ก็พอแล้ว”

– ไพวรรณ์ อรัญทม แม่บ้านหอศิลป์กรุงเทพ

 

จากตู้ยามขนาด 1 คนอยู่จนถึงถนนในเมืองใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันทุกวันเพื่อส่งผู้โดยสาร ใช่หรือไม่ว่า ที่ทำงาน (workplace) ไม่เท่ากับจักรวาลการทำงาน (workspace) เพราะในจักรวาลที่กว้างใหญ่นี้ ทุกมุม ทุกตารางนิ้ว ต่างมีเหล่าคนทำงานที่กำลังง่วนกับการทำงานภายในพื้นที่ของตนเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ว่า ไม่ว่าคนทำงานจะเป็นใคร ทำงานที่ไหน หรือมีอาชีพอะไร สิ่งที่พวกเขาล้วนต้องการเหมือนกันคือ การมีพื้นที่ทำงานที่ดี มีคุณภาพ และเหมาะสมกับงานของตัวเอง

หากมองด้วยแว่นตาของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ เรื่องราวของคนจำนวนมากอาจถูกมองว่าเป็นแรงงานไร้ทักษะ หรือไม่สามารถพัฒนาทักษะได้อย่างเพียงพอที่จะหางานที่ดีได้ แต่หากมองย้อนกลับไปถึงข้อเสนอเรื่อง ‘good job economy’ สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจสรุปกันง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของบุคคล เสียงของคนทำงานจำนวนมากทิ้งโจทย์ใหญ่ที่แหลมคมและน่าขบคิดไว้ว่า อนาคตหน้าตาแบบไหนที่จะโอบอุ้มคนเหล่านี้ไม่ให้ต้องร่วงหล่นจากระบบอีกต่อไป และโลกการทำงานรูปแบบไหนที่เสียงของทุกคนจะถูกรับฟัง

เพื่อที่จะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาสมดุลในชีวิตไปได้พร้อมกัน

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save