fbpx
เมื่อที่ทำงานไม่ได้มีแค่ออฟฟิศ มนุษย์ทำงานที่ไหนในภาพใหญ่เศรษฐกิจ

เมื่อที่ทำงานไม่ได้มีแค่ออฟฟิศ มนุษย์ทำงานที่ไหนในภาพใหญ่เศรษฐกิจ

วรรษกร สาระกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

เมื่อการทำงานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ ข้อมูลจากหนังสือ Happiness at Work บอกว่าคนใช้เวลาทำงานโดยเฉลี่ย 9 หมื่นชั่วโมงตลอดชีวิต ดังนั้นความสุขและคุณภาพชีวิตส่วนที่ใหญ่พอสมควรจึงขึ้นอยู่กับการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงอยากชวนย้อนสำรวจที่ทำงานของมนุษย์นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน และอาจช่วยเปิดมุมมองว่าเราจะสร้างที่ทำงานในอนาคตอย่างไร

คำว่า ‘งาน’ ตามนิยามของราชบัณฑิตยสถานคือ สิ่งหรือกิจกรรมที่ทำ หลายคนอาจนิยามคำว่า ‘งาน’ แตกต่างออกไป งานคือสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้ บางครั้งแสดงสถานภาพทางสังคม ที่ทำงานคือสถานที่ที่นอกเหนือจากการไปแลกแรงงานเป็นรายได้แล้ว เรายังต้องวางบทบาทบางอย่าง เช่น จากบทบาทความเป็นพ่อ แม่ หรือลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน ก็เปลี่ยนเป็นพนักงานหรือตามแต่ตำแหน่งนั้นๆ

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งสถานที่ทำงานและสภาพที่ทำงานก็เปลี่ยนไปอย่างมาก นิยามของคำว่า ‘ทำงาน’ และ ‘ที่ทำงาน’ มีหลายแนวคิดอยู่เบื้องหลัง และเมื่อพูดถึงคำว่า ‘ที่ทำงาน’ ภาพในหัวของคนมักจะเป็นสำนักงาน แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละคนจะมีภาพในหัวเรื่องที่ทำงานเป็นอย่างไร แต่ถ้าค้นภาพที่ทำงานในกูเกิล ภาพอันดับแรกๆ จะเป็นภาพสำนักงานที่มีโต๊ะเรียงเป็นแถวพร้อมอุปกรณ์สำนักงาน และหากลองค้นคำว่า ‘ที่ทำงาน’ เป็นภาษาต่างๆ ทั้งหมด 109 ภาษา (โดยใช้คำแปลจากกูเกิลแปลภาษา) พบว่า 67 ภาษา หรือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นภาพของการทำงานในสำนักงาน โดยภาษาที่มีผู้ใช้สูงสุด 10 อันดับแรกของโลกเป็นภาพออฟฟิศทั้งหมด แสดงว่าอย่างน้อยคนที่ใช้เสิร์ชเอนจินในภาษานั้นก็ให้ความสำคัญกับภาพของสถานที่ทำงานแบบสำนักงาน

คำถามต่อมา คือ แล้วภาพของที่ทำงานเริ่มเป็นแบบสำนักงานตั้งแต่เมื่อไหร่ และมันเป็นเช่นนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่หรือไม่

ประวัติศาสตร์ของการทำงาน

หากเรานิยามการทำงานว่าคือการทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อหาเลี้ยงชีพแล้ว ย้อนกลับไปช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การยังชีพคือการล่าสัตว์ หาของป่า มนุษย์เร่ร่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เมื่อล่าสัตว์มาได้ จึงนำมาปรุงอาหารในที่พัก การถนอมอาหาร การทำเครื่องไม้เครื่องมือ มักจะทำในที่พัก และในชุมชน ที่ทำงานในช่วงเวลานี้คือป่าและที่อยู่อาศัย ขอบเขตของที่ทำงานและบ้านนั้นพร่ามัว

ต่อมามนุษย์เริ่มเปลี่ยนจากการล่าสัตว์เก็บของป่ามาเป็นเกษตรกรรม มนุษย์อยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น และชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น การทำการเกษตรในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นสร้างผลผลิตส่วนเกินได้ไม่มาก และ การที่ประชากรยังน้อยและอยู่ห่างกัน จึงอนุมานได้ว่าส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ประชากรส่วนใหญ่จึงใช้เวลาที่ไร่นาและในป่าเพื่อล่าสัตว์ แม้ว่าในช่วงหลังของยุคก่อนประวัติศาสตร์จะมีการทำเครื่องมือจากโลหะและมีการทำเหมือง แต่ก็ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าแรงงานทำเหมืองเต็มเวลาแล้วนำสินค้าโลหะมาแลกเปลี่ยนหรือไม่ และแรงงานเหล่านี้มีสัดส่วนเท่าใด

จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ เชื่อว่าการมีเครื่องมือโลหะ และผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินเป็นรากฐานสำคัญของชลประทาน ซึ่งยิ่งทำให้ผลิตภาพทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจนสามารถมีคนบางกลุ่มในสังคมไม่ต้องทำงานในไร่นาและล่าสัตว์อีกต่อไป และเกิดชนชั้นใหม่ขึ้น ในช่วงยุคโบราณ เช่น บริเวณเมโสโปเตเมีย ชลประทานทำให้อาหารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดชนชั้นปกครองที่จัดการจัดสรรน้ำและทรัพยากรอื่นๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันการโจมตีแย่งชิงผลผลิต นอกจากนี้ยังทำให้คนรวมตัวเข้าเป็นเมือง เกิดช่างฝีมือ พ่อค้า และทาส อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปว่าสภาพการทำงานของคนในยุคนี้เป็นอย่างไร

ในยุคกลาง เกษตรกรรมกลับไปสู่การระดับพอยังชีพอีกครั้ง นอกจากไพร่ติดที่ดิน ส่วนคนที่อยู่ในเมืองจะทำการค้าหรือเป็นช่างฝีมือ ช่างฝีมือจะรวมตัวเป็นกลุ่มซึ่งมีมาสเตอร์เป็นหัวหน้าสูงสุด ส่วนชนชั้นแรงงานอื่นๆ เช่น คนทำขนมปัง ช่างเย็บผ้า ช่างทำรองเท้า จะทำงานที่บ้านโดยพื้นที่อยู่อาศัยและทำงานจะรวมอยู่ในห้องเดียว นอกจากเกษตรกรรมและงานฝีมือ อุตสาหกรรมในยุคกลางก็ค่อยๆ ขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าขนสัตว์ เนื่องจากในยุโรปสมัยนั้นไหมมีราคาแพง ส่วนฝ้ายก็ปลูกได้ในปริมาณไม่มาก ขนสัตว์จึงเป็นวัตถุดิบหลักในการทำเครื่องแต่งกาย ไพร่จะนำขนสัตว์มาตัดเย็บเสื้อผ้าเองซึ่งคุณภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ แต่เมื่อการค้าค่อยๆ ขยายตัว ชนชั้นที่สูงกว่าไพร่ต้องการเสื้อผ้าที่คุณภาพดีและดูดีกว่านั้นจึงเกิดอุปสงค์ของเสื้อผ้าขนสัตว์ทำให้เกิดการผลิตเชิงอุตสาหกรรมขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบการผลิตเป็นแบบ putting-out system ลูกจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นไพร่จะรับวัตถุดิบมาทำที่บ้าน นายจ้างจึงไม่สามารถควบคุมจังหวะการผลิตหรือคุณภาพการผลิตได้ตลอดเวลา แนวคิดของที่ทำงานแบบสำนักงานที่เราเข้าใจยังไม่เกิดในยุคนี้เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงทำงานที่บ้าน

หลังจากยุคกลาง ในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 18 การค้าจากต่างแดนรวมถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้เกิดชนชั้นกลางที่ต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ สังคมรวมกันเป็นหน่วยใหญ่ขึ้น เป็นราชอาณาจักรซึ่งรัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลจากส่วนกลาง ทำให้เกิดที่ทำการของรัฐที่รวมห้องเก็บเอกสาร ศาล และที่ทำการบริหารไว้ในตึกเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของออฟฟิศนั่นเอง 

การเข้ามาของเครื่องจักรบวกกับความรุ่งเรืองทางการค้าทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การผลิตแบบอุตสาหกรรม มีการจัดการเป็นระบบ พนักงานจะถูกจัดวางไว้ที่แต่ละขั้นตอนการผลิต ให้ทำงานเท่าที่จัดสรรไว้เท่านั้น เป็นการทำงานตามจังหวะของเครื่องจักร จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานนอกบ้านแบบที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ 

เมื่อเทียบกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตรพัฒนาค่อนข้างช้ากว่าในช่วงแรก แต่ผลิตภาพทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความก้าวหน้าทางเครื่องจักรการเกษตร เช่น เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว การปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ในที่สุดการผลิตการเกษตรในครอบครัวน้อยลงและเปลี่ยนเป็นการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม จึงเกิดการไหลบ่าของแรงงานจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นครั้งแรกที่แรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรในหลายประเทศ

ต่อมาอุตสาหกรรมพัฒนาไปสู่การผลิตแบบ mass production เน้นการผลิตครั้งละมากๆ ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกแบ่งเป็นขั้นย่อยๆ ให้แรงงานมาประจำแต่ละขั้นตอน แรงงานที่มาประจำนี้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะ และการผลิตที่ขยายใหญ่ขึ้นมากทำให้ต้องมีการจัดการองค์กรแบบมีลำดับขั้น เกิดตำแหน่งระดับ managerial level เช่น ผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย ฝ่ายการตลาด และเมื่อโทรศัพท์ โทรเลข และรถไฟพัฒนามากขึ้นทำให้การบริหารจัดการไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกับโรงงานอีกต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นของอาคารสำนักงานตั้งอยู่ในกลางย่านธุรกิจแบบที่เราคุ้นเคย

ต้นศตวรรษที่ 20 ในหลายประเทศที่เข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว แรงงานจะทำงานนอกบ้านถ้าไม่ใช่ที่ออฟฟิศก็เป็นในโรงงาน สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้หญิงซึ่งเดิมทำงานที่บ้านออกมาทำงานในโรงงานแทนผู้ชายที่ออกไปรบ ทำให้สัดส่วนของแรงงานหญิงเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานในสหรัฐอเมริกา 

วิธีการจัดการแบบอุตสาหกรรม และการบริหารแบบเป็นลำดับชั้นแสดงออกผ่านทางสถานที่ทำงาน ที่ทำงานในยุคนี้จะประกอบด้วยโต๊ะทำงานเรียงกันเป็นแถวติดกัน  ส่วนผู้จัดการจะมีห้องทำงานส่วนตัวที่มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่คอยสอดส่องการทำงานของลูกน้อง แนวคิดการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งมีแนวคิดว่าทุกกระบวนการทำงานสามารถทำให้เป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และจัดการแบ่งซอยย่อยงานออกมาให้พนักงานแต่ละคนทำเฉพาะงานของตัวเองไม่ได้ส่งผลแค่การทำงานในโรงงานเท่านั้น แนวคิดนี้ยังส่งผลต่อการจัดการงานในสำนักงานอีกด้วย พนักงานถูกคาดหวังให้จดจ่อทำงานของตัวเอง

จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1960 แนวคิดที่มีต่อการทำงานเริ่มเปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับอำนาจในการตัดสินใจของพนักงานมากขึ้นมาบ้าง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ไม่ได้มองพนักงานเหมือนเครื่องจักรเช่นที่ผ่านมา 

แนวคิดของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง ปี 1990 ถึง 2001 เพราะการก้าวเข้ามาของธุรกิจ IT อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีแนวคิดของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ และแนวคิด work from home อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจแห่งความรู้ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดจากการสร้างความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การจัดที่ทำงานต้องสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ร่วมงานเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่เปิดจึงเริ่มมีพื้นที่ในสำนักงาน รวมถึงการถือกำเนิดของ coworking space 

และนี่เป็นประวัติคร่าวๆ ของการทำงานและที่ทำงาน จากป่าสู่ออฟฟิศสเปซแบบสร้างสรรค์

มีคนจำนวนเท่าไหร่ในที่ทำงานแบบที่เราพูดถึง

จากตัวเลขสัดส่วนแรงงานอาชีพต่างๆ ทั่วโลกที่เผยแพร่โดย International Labour Organization ซึ่งจัดทำตั้งแต่ปี 1990 ได้แบ่งอาชีพออกเป็น ผู้จัดการ, ผู้เชี่ยวชาญ (professionals),  ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน, เจ้าหน้าที่ธุรการ, พนักงานบริการและพนักงานขาย, ช่างฝีมือ, พนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักร และกลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน เกษตร ป่าไม้ และประมง พบว่าเพียงไม่นานมานี้คนเกือบครึ่งหนึ่งของโลกยังคงทำอาชีพขั้นพื้นฐาน การเกษตรและประมงอยู่โดยดูสัดส่วนได้จากกราฟด้านล่าง

สัดส่วนแรงงานโลกที่ทำอาชีพต่างๆ

เมื่อลองจัดกลุ่มอาชีพที่น่าจะทำงานในที่ทำงานในลักษณะสำนักงาน โดยให้พนักงานบริการและพนักงานขาย ช่างฝีมือ พนักงานที่ทำงานกับเครื่องจักร กลุ่มอาชีพขั้นพื้นฐาน เกษตร ป่าไม้ และประมง อยู่ในกลุ่มที่สถานที่ทำงานไม่ใช่สำนักงาน พบว่า แม้ว่าสัดส่วนของคนที่ทำงานในสำนักงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั่วโลกอยู่ในที่ทำงานที่ไม่ใช่สำนักงาน

ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่ต่างจากทั่วโลกมากนัก จากกราฟด้านล่าง ประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นของคนทำงานในภาคบริการและการขายมากกว่าแรงงานโลก มีบางปีที่แรงงานขั้นพื้นฐาน เกษตรกร และประมงเพิ่มขึ้นในขณะที่เทรนด์ของโลกจะลดลงทุกปี ส่วนที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแรงงานไทยเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่ในที่ทำงานแบบสำนักงาน

สัดส่วนแรงงานที่ทำอาชีพต่างๆ ของไทย

สัดส่วนแรงงานไทยที่ทำงานในออฟฟิศ

แล้วภาพการทำงานออฟฟิศมาจากไหน คำตอบของคำถามนี้พอจะเห็นได้จากสัดส่วนอาชีพของประเทศกลุ่ม G7 จากกราฟด้านล่าง ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จำนวนผู้เชี่ยวชาญ (professionals) เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 17 เปอร์เซ็นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มอาชีพที่มีแรงงานมากที่สุด และตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีแรงงานกลุ่มที่ทำงานในสำนักงานเกิน 50 เปอร์เซ็นต์และเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นอกจากสัดส่วนแรงงานที่ทำงานในออฟฟิศจะเยอะแล้ว กลุ่มประเทศ G7 เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้มีเสียงดังกว่าคนอื่นๆ ในการวาดภาพของการทำงานและแนวคิดของที่ทำงาน แม้ว่าแรงงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะคิดเป็นเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานโลกก็ตาม

สัดส่วนแรงงานของประเทศกลุ่ม G7 ที่ทำงานในออฟฟิศ

นอกจากนี้ จากข้อสังเกตของผู้เขียน ตั้งแต่เริ่มมีแนวคิดของการออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้กำหนดลักษณะของที่ทำงานที่ดีแทบจะเป็นนายจ้างหรือนายทุนเกือบทั้งสิ้น ตั้งแต่การเปลี่ยนจากการจัดการให้คนเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของเครื่องจักรจนไปสู่การจัดการออฟฟิศเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์มีแรงผลักดันใหญ่คือการสร้างกำไร

จากทั้งหมดที่กล่าวมา แนวคิดของที่ทำงานที่ดี ทั้งที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต รายการโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ล้วนแต่พูดถึงการทำงานแบบสำนักงานที่มีประวัติศาสตร์สั้นมากในช่วงเวลาของมนุษยชาติ และตัดคนอีกค่อนหนึ่งของโลกออกจากบทสนทนา การสร้างที่ทำงานที่ดีสำหรับทุกคนจึงเกิดได้ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้ส่งเสียงและสร้างสรรค์ที่ทำงานที่ดีในแบบของเขาเอง


อ้างอิง

แหล่งข้อมูลประวัติที่ทำงาน

– A short history of the office

– A brief review of the history of work

– The Complete History of Working from Home

– History of the organization of work

– A retrospective on The History of Work

แหล่งข้อมูล Dataset

– International Labour Organization. “Employment distribution by occupation (by sex) — ILO modelled estimates.” ILOSTAT.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save