fbpx
บางเสียงของ ‘แรงงาน’ ที่ไม่ถูกได้ยิน

บางเสียงของ ‘แรงงาน’ ที่ไม่ถูกได้ยิน

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

โลกของการงานแห่งยุคสมัยต่างถูกให้คุณค่าความหมายรายละเอียดยิบย่อย

‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ เป็นหนึ่งในคำอธิบายเล่าได้ไม่รู้จบในโลกของคนทำงาน

แต่งานบางงาน, แรงงานบางคนอาจให้มุมมองที่ต่างออกไป…

ยิ่งด้วยยุคสมัยที่โควิดกัดกร่อนงานจนหน้าตาและเนื้อตัวงานจำต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง การงานที่รักยังน่ารักอยู่ไหม

พอสถานการณ์วิกฤตเริ่มผ่อนคลาย ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาการทำงานละลายออกมาให้เห็นอะไรบ้าง

101 ชวนฟังทัศนะของบางแรงงานที่อาจไม่มีใครตั้งคำถามถึง ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’

กระทั่งว่าเสียงที่แผ่วเบาอยู่แล้วก็แทบไม่มีใครฟัง

 

นักดนตรีอาชีพ

 

นักดนตรีอาชีพ ‘ฮามีร อ่อนทอง’
ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

ก่อนจะมาเล่นดนตรีกลางคืน ‘ฮามีร อ่อนทอง’ เป็นครูสอนดนตรีระดับประถม สอนทุกอย่างที่วงสตริงควรมีความรู้พื้นฐาน

แต่ครูสอนยังไงมันก็ไม่เท่ากับการได้ออกลวดลายเอง เขาเลยตัดสินใจลาออกจากครูมาร่วมกับเพื่อน ตั้งวงทัวร์กลางคืนเล่นตามผับบาร์

น่าสนใจว่าสี่ปีกว่าบนเวทีแสงสี ควันบุหรี่และสุรา ฮามีรที่ยืนเล่นเบสมาทุกราตรีเห็นอะไรที่นักดนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็น-นายทุนไม่มอง สังคมไม่เรียกร้อง และอาจทำเฉย

อาชีพนักดนตรีกลางคืนไม่มีสัญญาจ้าง ด้วยความที่เป็นดนตรี นักดนตรีและคนทั่วไปก็จะมองว่าเป็นงานศิลปะ คนสร้างคือศิลปิน มองแบบนั้นถูกครึ่งเดียว แต่ไม่จริงทั้งหมด

“สังคมไปมองแบบหอคอยงาช้าง ไม่มองว่าเป็นงานที่ใช้แรง แต่นักดนตรีในความเป็นจริงก็เป็นแรงงานกลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างไปจากแรงงานในโรงงาน ต่างแค่สถานที่”

ที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนในทัศนะของฮามีรคือคนงานโรงงานส่วนใหญ่มีสัญญาจ้าง แต่นักดนตรีไม่มี

“สมมติผมไปออดิชันที่ร้านนึง พอเจ้าของร้านบอกให้ไปเล่นวันเสาร์ 4-5 ทุ่ม เราก็ไปเล่นปกติ ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดลูกค้าน้อย ฝนตก น้ำท่วม บางทีเขาก็โทรมาแคนเซิลกะทันหัน เราไปถึงร้านแต่ร้านปิด เจ้าของไม่บอกก่อนและไม่รับผิดชอบอะไร แค่ค่ารถบางทีเราต้องไปเจรจาขอเอง”

เขาเปรียบกับนักฟุตบอลอาชีพ ผลประกอบการของบริษัทหรือทีมจะแย่อย่างไรไม่รู้ แต่นักบอลยังได้เงินปกติเพราะมีสัญญาจ้าง แต่นักดนตรีไม่มี

“เวลาร้านจะเลิกจ้างหรือไม่เอาเราขึ้นมาเพราะอยากเปลี่ยนวง นักดนตรีไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องแบกเครื่องดนตรีตะลอนไปหาร้านใหม่เล่น แต่ถ้ามีสัญญาจ้าง การให้ลาออกอาจยังมีค่าชดเชยให้ก็ว่ากันไปตามสัญญา

บางร้านเท่านั้นที่ทุนหนาจริง สายป่านยาวจริงที่มีการทำสัญญากับนักดนตรี ฮามีรเคยผ่านมาแล้ว

“ผมเคยเล่นวงประจำอยู่ที่โรงเบียร์แห่งหนึ่ง เขามีสัญญาจ้างแบบเดือนต่อเดือน ส่วนเงินที่ได้เป็นแบบรายวันบ้าง รายสัปดาห์บ้าง เป็นรายเดือนก็มี แต่ร้านแบบนี้ถือว่าน้อย ร้านเหล้าส่วนใหญ่ไม่มีระบบสัญญาจ้าง”

ช่วงโควิด ร้านเหล้าถูกสั่งปิด บางร้านต้องปิดตายถาวร เด็กเสิร์ฟ แม่ครัว นักดนตรีตกงานพร้อมหน้า ต่างเดินก้มหน้าคอตกกลับภูมิลำเนา

ฮามีรก็ไม่รอดเช่นกัน กว่าสามเดือนที่นักดนตรีกลางคืนอย่างเขาได้แต่นอนนิ่งอยู่บ้าน แต่ปัญหาใจกลางของเขาคืออะไร

นอกเหนือไปจากโควิดที่ทำให้ร้านเหล้าต้องเข้มงวดเรื่องความแออัด จัดโต๊ะให้มีระยะห่าง และวัดไข้ทุกคนที่อยากนั่งดื่มด่ำ

“ผมอยากให้มีสหภาพนักดนตรี คนอาชีพนี้ไม่เคยคุยกันเรื่องนี้เลย นักดนตรีส่วนมากชอบเห็นใจร้านหรือบริษัท ชอบบอกว่าเราไม่มีสิทธิ์ไปเรียกร้อง แค่เขาให้งานมาก็โอเคแล้ว และยังกดอาชีพตัวเองไว้ด้วยการบอกว่านักดนตรีตัดราคากันเอง ต้องเล่นให้เก่ง รักษามาตรฐานให้ดี

“เขาไม่ได้มองว่าในตลาดเสรี ถ้าผู้ประกอบการได้กำไร ลูกจ้างควรได้โบนัสด้วยซ้ำ แต่นี่ชอบอ้างว่าเวลาร้านขายไม่ดี นักดนตรีไม่ต้องรับผิดชอบอะไร พูดแบบนี้คือพูดมุมเดียว ก็มันเป็นค่าจ้างที่เราควรได้ปกติ แล้วต้องไปรับผิดชอบร้านเพิ่มทำไม

“เขามองแค่ว่าถ้าคุณอยากได้เงินเยอะ คุณต้องพัฒนาตัวเอง นี่คือปัญหาหลัก คำถามผมคือมาตรฐานของการพัฒนาอยู่ตรงไหนถึงจะมีการจ้างงานที่เป็นธรรมได้ เพราะผมเห็นวงที่เล่นเก่งๆ หลายวงถูกเลิกจ้างกะทันหันเยอะมาก”

ปัญหาอีกอย่างคือคนมักเข้าใจว่านักดนตรีได้เงินเยอะ แต่รายละเอียดเป็นอย่างไร

“ค่าแรงเล่นดนตรีคืนหนึ่งทุกวันนี้มีตั้งแต่ 150-200 บาทต่อหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง บางที่ก็จ่ายแพง ผมเคยได้ยินจากเพื่อนที่เล่นแถวทองหล่อ เอกมัย ชั่วโมงละประมาณ 1,000 บาท สำหรับวงที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเลยนะ

“ถ้าเอาเรตสูงสุด ฟังดูเหมือนได้เยอะจริง แต่ความจริงไม่ใช่ว่าได้เล่นทุกวัน บางครั้งอย่างมากเล่นสัปดาห์ละสองวันเท่านั้น ถ้าอยากได้เงินเพิ่ม คุณต้องหาที่เล่นต่อ เหมือนกรรมกรตามไซต์งาน ไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน ไม่มีสวัสดิการ เจ็บป่วยมาจ่ายค่ารักษาเอง”

เมื่อมองเห็นเข้าไปถึงใต้ภูเขาน้ำแข็ง ฮามีรมองเห็นทางออกไหม อะไรคือเพดานที่เขาจะออกแรงยกขึ้น

“การเป็นนักดนตรีมันเหมือนต้องลุ้นว่าใครจะมีโอกาสมากกว่ากัน แล้วค่อยมาลุ้นว่าเศษเงินที่เหลือจะหล่นมาหาใครบ้าง แต่จริงๆ โอกาสที่เท่ากันมันควรถูกสร้างขึ้น

“งานแบบนี้ไม่ควรไปมองแบบ ‘อเมริกันดรีม’ ไม่ใช่เรื่องใครเก่งกว่ากันแล้วได้งาน เพราะตราบใดที่คุณเล่นคัฟเวอร์เพลงตลาด มันมีมาตรฐานของมันอยู่ เช่น ร้องไม่เพี้ยน เล่นได้เนียนแบบต้นฉบับ และเอ็นเตอร์เทนลูกค้าได้ เก่งกว่านี้ก็พิสูจน์ยากแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องรสนิยมและความชอบส่วนตัว

“บางทีเจ้าของร้านชอบวงนี้มาก แต่ลูกค้าไม่ชอบ ถ้าเจ้าของร้านเอาตามใจตัวเอง คุณได้เล่นต่อ ถ้าเจ้าของร้านเอาใจตามลูกค้า คุณตกงาน เพราะฉะนั้นชี้วัดยากมากว่าใครเก่งกว่ากัน”

ฮามีรบอกว่าเขาเพิ่งคิดเรื่องสัญญาจ้างของนักดนตรีกลางคืนได้ไม่นาน ด้วยความที่ชอบดูฟุตบอล ทำให้เห็นว่าวงการฟุตบอลก้าวหน้าขึ้น นักบอลมีสัญญาจ้างเป็นเรื่องเป็นราว มีค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าลงเล่นเยอะก็ได้เพิ่ม ถ้าทำเกมดี ยิงประตูได้มีโบนัสต่างหาก สิ่งเหล่านี้คนวงการดนตรีไม่เคยเปรียบเทียบเลย

“นักดนตรีควรมีสัญญาจ้าง เวลาโดนออกกะทันหันจะได้ไม่เคว้งคว้างเกินไป ไม่ต้องคุยกันว่าเก่งหรือไม่เก่ง เพราะถ้าไม่เก่งคุณไม่ต้องจ้างแต่แรกก็ได้ ถ้าตัดสินใจจ้าง แปลว่าคุณยอมรับความสามารถแล้วระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นทำสัญญากันได้ไหม ขั้นต่ำสุดอย่างน้อยสัก 1-2 เดือนก็ได้ แต่ที่ผมเคยเจอบางร้านหลอกให้นักดนตรีไปออดิชันแล้วไม่ให้ค่าตัว เอาวงใหม่ๆ ขึ้นไปเล่นวนเรื่อยๆ ก็มี”

เล่นดนตรีกลางคืน ภายนอกอาจดูวิบวับศิวิไลซ์ไปตามแสงสีเสียง แต่เมื่อถามหาสิทธิขั้นต่ำที่นักดนตรีพึงได้รับ แสงไฟก็อาจดับลงในทันที

แม่บ้านรายวัน

‘พี่นก - ภคนิตย์ เพชรพีรดา’ แม่บ้าน
ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

ทางเลือกของคนที่ไม่อยากจ้างแม่บ้านประจำไว้ที่บ้าน ทำให้อาชีพแม่บ้านรายวันได้รับการต้อนรับอย่างคึกคัก ยิ่งมีระบบออนไลน์ให้ติดต่อแล้วยิ่งสะดวกไปใหญ่

เช่นเดียวกับ ‘พี่นก – ภคนิตย์ เพชรพีรดา’ ที่ควานหางานในโลกโซเชียลจนมาเจอเพจเฟซบุ๊กประกาศรับสมัครแม่บ้านรายวัน เธอเดินทางไปสมัครที่บริษัทพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน สำนาทะเบียนบ้าน แล้วจ่ายค่าเสื้อทีมงานและค่าตรวจประวัติอาชญากรรม 400 บาทให้บริษัท เขาก็การันตีงานให้เธอ

หลักการเบื้องต้น คือ เมื่อลูกค้าต้องการให้แม่บ้านมาทำความสะอาดแบบรายวัน ลูกค้าเข้าไปแจ้งความประสงค์ ตำแหน่งสถานที่และรายละเอียดขนาดพื้นที่ในกล่องข้อความทางเพจ จากนั้นระบบจะทำการแจกจ่ายงานให้สมาชิกแม่บ้านฟรีแลนซ์ที่รองานอยู่ – ใครพร้อมรับงานในวันเวลาตามเงื่อนไขลูกค้าได้ก็กดรับงาน งานก็มาทันที

สิ่งที่แม่บ้านต้องเตรียมคือน้ำยาทำความสะอาด ผ้าเช็ดถู และค่าเดินทาง – แน่นอนสิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในค่าแรงที่เจ้าของเพจหักค่าแรงให้พวกเธอแล้ว พูดอีกแบบคือสิ่งของเหล่านั้น แม่บ้านต้องไปซื้อหามาเอง แล้วหิ้วติดตัวไปด้วยเสมือนเครื่องมือทำมาหากินนั่นแหละ

ในเงื่อนไขแบบนี้ ย่อมไม่มีข้อผูกมัดระหว่างกัน ว่ากันแบบวันต่อวัน จบคือจบ ถ้าลูกค้าไม่พอใจสามารถแจ้งขอเปลี่ยนตัวแม่บ้านในครั้งหน้าได้ ถ้าแม่บ้านไม่พอใจลูกค้าคนเดิม แม่บ้านปฏิเสธรับงานได้เช่นกัน

แต่การมองด้วยความอิสระนั้นเพียงพอต่อการงานที่ยุคสมัยถามหาคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือไม่ เพราะโจทย์ใหญ่ก็คือฟรีแลนซ์ไทยยังไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับ ไม่มีวันลา วันหยุดชดเชย วันลาคลอด ฯลฯ กระทั่งค่ารักษาพยาบาลที่พึงได้ – ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เพียงแค่นั้น

ยังไม่นับว่าเมื่อโควิดเข้ามาถล่มสังคมไทยช่วง 3 เดือนแรก แม่บ้านรายวันหมดสิทธิ์รับงาน โจทย์แบบนี้จะให้ถามหาคุณภาพชีวิตที่ดีอาจเป็นเรื่องเพ้อฝัน

พี่นกเล่าว่าเธอทำงานประจำเป็นพยาบาลหลังเรียนจบอยู่ 14 ปี ตามความต้องการของผู้ปกครอง แต่หลังจากสูญเสียพ่อไป เธอลาออกมาเปิดร้านอาหารตามสั่งที่บ้าน ความที่มีธาตุของคนชอบทำอาหารอยู่แล้ว พี่นกย่อมทำด้วยความเบิกบาน

ค้าขายมาหลายสิบปีจนส่งเสียลูกให้เรียนจบได้ เธอเริ่มจับตะหลิวน้อยลง อาจเหนื่อยบ้าง เบื่อบ้าง หลายเหตุผลทำให้เธอมองหางานอื่นเสริม งานที่พอทำได้

“รับงานแม่บ้านก่อนมีโควิดมาได้สองปี แม่บ้านรายวันแบบออนไลน์มันไม่ได้บังคับเราต้องทำทุกวัน เราเลือกได้จะทำมากน้อยแค่ไหน หรือทำแค่ 2-3 ชั่วโมงต่อวันก็ได้ ก็ทำสลับกันไปกับร้านตามสั่ง จะได้ไม่เบื่อ เมื่อเรายังทำไหว เผื่อจะได้มีเงินเก็บไว้ใช้ในวันที่ทำงานไม่ไหวบ้าง แต่จริงๆ ก็ไม่ค่อยเหลือเก็บหรอก” พี่นกยิ้มร่วน

สำหรับพี่นก ความเหนื่อยจากงานไม่เคยถูกตั้งคำถามว่าทำไปทำไม เธอบอกว่า “มันชินกับการเหนื่อย เพราะว่าเลี้ยงลูกเองมาสองคน ตอนนี้คนโตจบปริญญาตรี คนเล็กเรียนอยู่ราชภัฏปีสอง เราเลี้ยงคนเดียวมาตั้งแต่ลูกคนเล็กอายุได้สามขวบ ทำกับข้าวขายเราต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า ทำเองทุกอย่างจนเหมือนเราชินกับการอยู่เฉยไม่ได้”

ต่อคำถามว่าพออยู่เฉยไม่ได้แล้วยังอยากทำงานแม่บ้านด้วย พี่นกตอบตัวเองเรื่องความคุ้มค่ากับการออกแรงบ้างไหม กระทั่งว่าร่ำเรียนมาถึงระดับเป็นพยาบาลจะมาเป็นแม่บ้านทำไม

“งานแม่บ้านเป็นงานที่ดูเหมือนงานต่ำ แต่ในความรู้สึก งานทุกงานที่เราทำไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน มันไม่ใช่เป็นงานที่ต่ำ ถ้าเราทำแล้วใจเรารัก เพื่อนถามกันเยอะว่าเรียนจบมาแล้วมาทำงานแม่บ้านเนี่ยนะ ก็มันไม่ได้เดือดร้อนใคร ทำแล้วได้เงิน

“ส่วนจะคุ้มไหม บางทีไม่คุ้ม (หัวเราะ) ถ้าบ้านลูกค้าอยู่ไกลมากๆ หรือเราไม่รู้จักทาง ก็ต้องนั่งแท็กซี่ บางทีก็เข้าเนื้อ บางทีงานสองชั่วโมงได้สี่ร้อยบาท โดนแค่แท็กซี่ไปร้อยกว่าบาทแล้ว ไหนจะค่าน้ำยาทำความสะอาดอีก

“เอาจริงๆ เหนื่อยกายเราชิน แต่เหนื่อยใจมันชินยาก ลูกค้าบางบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงกลับไม่ได้แจ้งเราก่อน เพราะถ้าแจ้งเข้ามาบริษัทต้องคิดเงินเพิ่ม แต่เขาไม่แจ้ง พอเราไปถึงหน้างานเจอขนแมว ขี้แมวเต็มห้อง มันก็เครียด เพื่อนแม่บ้านบางคนเป็นภูมิแพ้ แพ้ขนแมว กลายเป็นทำงานไม่ได้เลยเพราะสุขภาพเสีย”

จะว่าไปแล้ว ในมุมของพี่นก ถ้าตัดปัญหากวนใจระหว่างทางไป อาจต้องยอมรับว่าการได้ทำงานที่ตัวเองเลือกย่อมเป็นความเบิกบานของชีวิตประการหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเรื่องความเป็นมืออาชีพที่มนุษย์พึงมีต่อกัน

แต่ประเด็นคือจะให้มืออาชีพกันอย่างไร คุณภาพชีวิตของฟรีแลนซ์จะดีขึ้นได้แค่ไหน ถ้ายุคสมัยไม่เรียกหาและบัญญัติไว้ให้เป็นรูปธรรมของทุกชนชั้น

ใช่หรือไม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วแรงงานนอกระบบต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกันไปเอง

รปภ.ไร้สังกัด

‘ประเสริฐ คงไพร’ รปภ
ภาพโดย ธิติ มีแต้ม

พูดแบบตรงไปตรงมา ในความหมายถ้าเป็นโจรอาชีพอยากวางแผนย่องเบาเข้าหมู่บ้านทาวน์เฮาส์เก่าคร่ำครึ สภาพอายุอานามไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก็ไม่น่ายาก ตีนแมว-มิจฉาชีพลูบปากลูบคางได้สบาย

แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘ประเสริฐ คงไพร’ รปภ.ไร้สังกัดวัยเกษียณจะไม่ทำหน้าที่

กว่า 10 ปีที่ลุงเสริฐเฝ้ายามรักษาความปลอดภัยให้หมู่บ้านมา ก็ต้องยอมรับว่าเขาพยายามทำให้ดีที่สุด

แต่ดีที่สุดของคนไร้สังกัด ไม่มีกำลังเสริมด้วยชายฉกรรจ์ ไม่มีบริษัทต้นสังกัดคุ้มครอง มีเพียงไม้กระบอง เอ่อ..​ จริงๆ เรียกไม้หน้าสามทั่วไปดีกว่า ไม่ใช่กระบองตามมาตรฐานของงาน รปภ. ทั่วไป ก็อาจต้องเรียกว่าเป็นความปลอดภัยแบบตามมีตามเกิด

“ไม้วางไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้หรอก โจรเดี๋ยวนี้มันยิงเปรี้ยงเดียว เราก็ตายแล้ว” ลุงเสริฐว่าราวกับเข้าถึงสัจธรรมลูกปืน

หากทำความเข้าใจ พ้นไปจากข้อเปรียบเทียบของคนวิชาชีพเดียวกัน หน้าที่ลุงเสริฐตอนนี้ทำอะไร

เขาบอกว่าหลักๆ คือเฝ้ายาม ดูคนเข้าคนออกเหมือน รปภ. ทั่วไป แต่หมู่บ้านนี้ใครมาใครไปไม่ต้องแลกบัตร แม้เมื่อก่อนเคยมีแต่เดี๋ยวนี้ลูกบ้านเขายกเลิกไปเพราะมันแพง

อย่างที่ทราบกันบ้าง ระบบแลกบัตรเข้าออกหมู่บ้านถ้าไม่นับระบบคีย์การ์ดที่หมู่บ้านแพงๆ มี นอกเหนือจากนั้นก็จำเป็นต้องใช้กำลังคนและอุปกรณ์พอสมควร คนหนึ่งยืนรับแลกบัตร แจ้งเลขทะเบียนรถที่วิ่งเข้าวิ่งออก อีกคนคอยจดบันทึกลงตารางเวลา ยังไม่นับการตรวจตราภายในหมู่บ้านทุก 15 นาที ฯลฯ

ใช่, แพงกว่าจ้างลุงวัยเกษียณ

นอกจากเฝ้ายามดูแลความปลอดภัย ซึ่งนานทีปีหนอาจมีเหตุบ้าง ลุงเสริฐบอกว่าตั้งแต่อยู่มามีบ้านเคยถูกโจรขึ้นแค่ครั้งเดียว

“มันขโมยจักรยานเขาไป ไม่รู้ว่ามันเอาไปตอนไหน เพราะกลางคืนผมหลับ” ลุงเสริฐเผยออารมณ์ขันและว่าปกติลูกบ้านใช้จักรยานกันหลายคน เขามาเฝ้าแรกๆ จำไม่ได้หรอกว่าบ้านไหน-ใครขี่คันไหนบ้าง คนขี่เข้าขี่ออกตลอดเวลา

“ที่เจอบ่อยคืองูเข้าบ้าน ผมก็ไปช่วยลูกบ้านจับ แต่จับเองไม่ได้หรอก ไม่มีอุปกรณ์ ผมจับมือเปล่าไม่เป็น ต้องให้พวกกู้ภัยมาช่วย บางครั้งถ้าตีให้ตายได้ก็ง่ายดี”

ดูเหมือนหน้าที่ของลุงเสริฐไม่ได้ถูกเรียกร้องความเป็นมืออาชีพตามมาตรฐาน รปภ. เท่าไหร่ เขายอมรับว่าตัวเองคือคนวัยเกษียณที่ลูกบ้านอยากช่วยเหลืออุปถัมภ์มากกว่า

ว่าไปเงื่อนไขแบบนี้ก็วิน-วินทั้งสองฝ่าย จ่ายสิบได้สิบ ไม่ใช่จ่ายสิบได้ร้อย

ลุงเสริฐว่าพลางแซวตัวเองว่าถ้าเขาไปหางานที่อื่นก็อาจจะอยู่สบายกว่านี้ แต่ถึงไปก็ไม่มีใครจ้างอยู่ดี เพราะไม่ได้เรียนหนังสือมา และอายุก็แก่เกินแกงแล้ว ยิ่งโควิดฉุดให้เศรษฐกิจทรุดลงอีก บริษัทที่ไหนจะจ้าง

“ผมทำงานก่อสร้างตั้งแต่อายุ 13 รับจ้างตัดอ้อยก็ทำ กรีดยางก็ทำ รับจ้างทำนาก็ทำ ขับรถปูนก็ขับมาแล้ว แต่ตอนนี้สังขารผมมันไม่ให้แล้ว มานั่งเฝ้ายามนี่แหละไม่เหนื่อยเกินไป

“โชคดีที่ผมไม่มีครอบครัว ไม่มีภาระแล้ว ได้ค่าจ้างกับเบี้ยคนชราก็พออยู่ได้ แต่มันจะไม่พอบ้างถ้าอยากดื่มเหล้า ยิ่งช่วงที่รัฐบาลห้ามขายยิ่งเบื่อมาก ไปไหนมาไหนลำบากแล้วยังหากินไม่ได้อีก” ลุงเสริฐหัวเราะ

ถามแบบไม่เกรงใจ ทั้งที่เข้าสู่วัยชราแล้วทำไมยังต้องทำงาน

ลุงเสริฐเปลี่ยนน้ำเสียงจากคนขบขันมาตอบแบบคนขึงขังว่า “ผมไม่ชอบขอใครกิน ถ้ายังพอทำงานได้ ไม่ลำบากมาก ทำแล้วมันสบายใจกว่า”

โจทย์แบบลุงเสริฐ ว่าไปก็ไม่พ้นเรื่องคนสูงวัยที่ยังอยากทำงาน แต่เงื่อนไขใหม่ๆ ของโลกการทำงานกลายเป็นเรื่องเทคโนโลยี AI บิ๊กดาต้า ระบบออนไลน์ ฯลฯ ยังไม่มีที่ว่างให้คนประเภทนี้เข้าไปแทรกมีส่วนร่วม

แต่ถ้าไม่มีที่ดิน ไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัวดูแล ศักยภาพหลงเหลือตามวัยและสังขาร สังคมไทยอาจมีคำตอบแค่เพียงบ้านพักคนชรา – แต่ไม่ได้แปลว่าคนชราทุกคนอยากเข้าไปอยู่ในนั้น

คำถามคือโลกอนาคตแบบไหนจะแก้โจทย์เหล่านี้


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save