fbpx
รัฐ-คน-งาน: สำรวจโลกนโยบายรักษา ‘งาน’ ท่ามกลางวิกฤต

รัฐ-คน-งาน: สำรวจโลกนโยบายรักษา ‘งาน’ ท่ามกลางวิกฤต

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

เราทุกคนต้องทำงาน!!

 

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวไฟแรง ฟรีแลนซ์ผู้ปั่นงานตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต เด็กจบใหม่สู้งาน คนขับรถส่งของเดลิเวอรีสู้ชีวิต คนงานก่อสร้างที่อาบเหงื่อต่างน้ำ พนักงานทำความสะอาดห้างหรูในเมืองใหญ่ หรือแรงงานข้ามชาติผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงหาชีวิตที่ดีในต่างบ้านต่างเมือง ความจริงแท้แน่นอนสำหรับทั้ง ‘มนุษย์ประกอบการ’ และ ‘มนุษย์ทำงาน’ คืองานบันดาลเงิน – งานเป็นหนทางสู่ ‘เงินตรา’ หล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดต่อไป รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิต

หากกล่าวว่างานและเงินคือสิ่งชี้เป็นชี้ตายในชีวิตมนุษย์ ก็อาจไม่เกินความเป็นจริงเสียเท่าไรนัก แม้ว่านี่จะเป็นความเป็นจริงที่โหดร้ายก็ตาม

และ ‘ความจริง’ ที่ว่านี้ ก็ถูกเปลือยให้เห็นอย่าง ‘สมจริง’ กว่าที่เคย ในวันที่คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจติดไวรัสถาโถมซัดสาดใส่ผู้คนทั่วโลกอย่างไม่เลือกหน้า

ทราบกันดีว่าการปิดเมืองหนีไวรัสต้องแลกมากับราคามหาศาลที่ต้องจ่าย กิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจการในเครือบรรษัทใหญ่ กิจการของผู้ประกอบการ SMEs หรือกิจการสตาร์ทอัพ ต่างล้มหายตายจากเพราะรายได้จากธุรกิจลดลงจนแบกรับค่าใช้จ่ายให้ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ไหว หรือต่อให้ธุรกิจยังพอเดินหน้าต่อไปไหว เหล่าเจ้าของกิจการและนายจ้างก็ต้องกัดฟันรัดเข็มขัด ปรับลดค่าใช้จ่ายให้รัดกุม

พิษวิกฤตเศรษฐกิจไม่เพียงมาเยือนแค่ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังตกไปอยู่ที่คนทำงานด้วย เพราะเมื่อนายจ้างมีเงินในมือน้อยลง ต้องการแรงงานน้อยลง หรือจำต้องปิดที่ทำงานลง (ไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว) คน ‘ทำ’ งานจำนวนมหาศาลจำต้องกลายเป็นคน ‘ว่าง’ งาน หรือคน ‘ตก’ งาน

จากการประเมินขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) คาดว่าชั่วโมงทำงานของแรงงานทั่วโลกจะลดลงถึง 14% ในไตรมาสที่สองของปี 2020 หรือแม้กระทั่งแรงงานในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งเศรษฐกิจก้าวหน้าไปมากแล้ว ก็ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกัน โดยที่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในช่วง 3 เดือนแรกของการระบาดลดลงถึง 15% ร้ายแรงกว่าวิกฤตงานที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008 ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

และนี่ยังไม่นับว่าหากมีการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น ภาวะว่างงานจะรุนแรงและเรื้อรังกว่าที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่อย่างแน่นอน

เมื่อกิจการหาย งานหาย เงินก็หาย ทั้งชีวิตนายจ้างและคนทำงานกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

 

รัฐ: ความหวังสุดท้าย

 

ท่ามกลางความปั่นป่วนของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รัฐกลายเป็นความหวังและที่พึ่งสุดท้าย ไม่ว่าจะมองจากมิติของ ‘หน้าที่’ หรือ ‘ความสามารถ’ (capability)

ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ The Great Depression ปี 1929-1935 วิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 จนถึงวิกฤตเศรษฐกิจ The Great Lockdown ปี 2020 แม้ว่าต้นตอของวิกฤตทั้งสองครั้งก่อนจะต่างตรงที่หายนะทางเศรษฐกิจเริ่มต้นจากภาคการเงินการธนาคาร แล้วค่อยลุกลามไปกรีดรอยแผลในภาคเศรษฐกิจจริง ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ไวรัสปั่นป่วนเศรษฐกิจภาคเศรษฐจริงทั้งระบบจนกิจกรรมทางเศรษฐปกติต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย แต่ทั้งสามวิกฤตมีจุดร่วมคือ วิกฤตทิ่มแทงชีวิตผู้คนในระบบให้ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน

และจุดร่วมนี้เพรียกหาการยื่นมือเข้ามาของรัฐเพื่อพยุงและคืนเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจไม่ให้ดำดิ่ง ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อปกป้องชีวิตของเหล่าผู้คนไม่ให้ร่วงหล่น – และ ‘งาน’ ก็นับว่าเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตที่ขาดไม่ได้

ในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ รัฐบาลทั่วโลกต่างเข็นแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมาออกมา จนถูกเรียกว่าเป็น ‘บาซูก้าการคลัง’ ไม่ว่าจะเป็น

  • รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ทุ่มงบประมาณถึง 2 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบเท่า 11% ของ GDP ปี 2019
  • สหภาพยุโรปที่เพิ่งประกาศแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 7.5 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2020
  • รัฐบาลจีนที่วางงบประมาณไว้ 5.59 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบเท่า 4.6% ของ GDP ปี 2019
  • รัฐบาลสหราชอาณาจักรที่เพิ่งประกาศเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมจนมีมูลค่าสูงถึง 2.08 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 7.4% ของ GDP ปี 2019
  • รัฐบาลไทยก็มีการออกพระราชกำหนดเพื่อกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาท (รวมถึงมาตรการการให้เงินกู้พิเศษและการสำรองเงินทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดทุนอีกกว่า 9  แสนล้านบาท) เพื่อเตรียมอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

หัวใจของ ‘บาซูก้าการคลัง’ ไม่ใช่ขนาดเพียงอย่างเดียว แพ็คเกจเหล่านี้บรรจุไปด้วยเครื่องมือทางการคลังหลากหลาย มุ่งลดความไร้เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน – อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ก่อนเคลื่อนไปสู่การหาฉันทามติร่วมใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเมื่อมรสุมผ่านพ้นไป

คำถามสำคัญคือ เครื่องมือทางการคลังของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกจะแปลงออกมาเป็นนโยบายรักษา ‘งาน’ หน้าตาอย่างไรได้บ้าง?

 

รัฐ + ผู้ประกอบการ = งาน

 

ทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจและรัฐตัดสินใจให้เงินช่วยเหลือภาคธุรกิจ เสียงวิจารณ์ว่า ‘รัฐช่วยเหลือนายทุน’ หรือ ‘รัฐช่วยเหลือคนรวย’ จะดังขึ้นมาทันที

รัฐช่วยเหลือนายทุนหรือคนรวยหรือไม่ คงต้องไปว่ากันในรายละเอียดว่านโยบายถูกออกแบบอย่างไร เอื้อกลุ่มทุนใหญ่น้อยต่างกันแค่ไหน แต่ในเชิงหลักการแล้วการช่วยเหลือภาคธุรกิจมีความสมเหตุสมผลอยู่ เพราะนโยบายนี้ยึดโยงกับคำถามพื้นฐานที่ว่า “ใครเป็นคนสร้างงาน?”

ปฏิเสธไม่ได้ว่างานส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดสร้างโดยภาคเอกชน ไม่ว่าภาคเอกชนนั้นจะอยู่ในรูปแบบ โรงงาน ออฟฟิศ ห้างร้าน หรือธุรกิจ พวกเขาเหล่านี้คือนายจ้าง

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาเยือน ธุรกิจเปิดทำการตามปกติไม่ได้ นายจ้างอาจมีเงินในมือไม่พอที่จะจ้างคนทำงานต่อจนต้องปลดพนักงานออก หรืออย่างน้อยก็ให้คนทำงานพักงานชั่วคราว

หนึ่งในนโยบายรักษางานผ่านผู้ประกอบการที่หลายรัฐบาลทั่วโลกทุ่มงบประมาณลงไปคือการอุดหนุนค่าจ้าง เป็นการประกันว่านายจ้างจะยังคงมีเงินจ้างคนทำงานต่อไป แทนที่จะตัดสินใจเลิกจ้างแล้วปล่อยให้คนตกงาน ส่วนลูกจ้างก็ยังคงอุ่นใจว่าจะไม่เสียทั้งงานและรายได้ในวันที่ออกไปทำงานไม่ได้ – เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่ ‘วิน-วิน’ ทั้งสองฝ่าย

ประเทศหนึ่งที่มีนโยบายอุดหนุนค่าจ้างที่น่าสนใจคือสหราชอาณาจักร

ท่ามกลาง ‘วิกฤต 2 ต่อ’ ทั้งวิกฤตเบร็กซิทที่เรื้อรังมายาวนานและวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามา สหราชอาณาจักรดิ่งเข้าสู่วิกฤตงานที่อาจย่ำแย่กว่าที่เคยเกิดในช่วงทศวรรษ 1980 และเพื่อฉุดรั้งไม่ให้ถลำลึกไปมากกว่านี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงประกาศมาตรการรักษางาน (Job Retention Scheme) ตั้งแต่ช่วงประกาศปิดเมืองในเดือนมีนาคม สำหรับแก้วิกฤตงานและลดความวิตกกังวลของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

กระทรวงการคลังสัญญาว่าจะช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือนสูงถึง 80% (โดยจำกัดเพดานว่าเงินเดือนต้องไม่เกิน 2,500 ปอนด์) ให้กับลูกจ้างที่จำต้องพักงานชั่วคราว (furloughed) จนกว่าจะเริ่มกลับมาทำงานได้ และค่อยๆ เริ่มให้นายจ้างกลับมาจ่ายเงินเดือนของลูกจ้างพักงานเหล่านี้ด้วยตัวเอง 10% ในเดือนกันยายน และ 20% ในเดือนตุลาคมก่อนที่รัฐบาลจะพับแผนนี้เก็บเมื่อฟันเฟืองมนุษย์งานเริ่มกลับมาขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากแผนรักษางาน รัฐบาลยังออกโบนัสรักษางาน (Job Retention Bonus) เพิ่ม ให้ผู้ประกอบการช่วยดึงลูกจ้างกลับมาจากการพักงาน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้นายจ้าง 1,000 ปอนด์ต่อลูกจ้าง 1 คนที่นายจ้างเรียกกลับมาทำงานจนถึงปลายเดือนมกราคม 2021

อีกหนึ่งประเทศที่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการอันโดดเด่นคือเยอรมนี ซึ่งเลือกใช้นโยบายช่วยผู้ประกอบการที่ประสบกับความยากลำบากในนาม Kurzarbeit program หรือ ‘short-time working program’

เมื่อกิจการต้องเผชิญกับความลำเค็ญ แทนที่การไล่คนทำงานออกจะเป็นทางออกเดียวและทางออกสุดท้ายเพื่อรักษาธุรกิจ นโยบาย Kurzarbeit ได้เสนออีกทางเลือกหนึ่งคือ ส่งคนทำงานกลับบ้าน ลดเวลางานแล้วจ่ายเงินให้ โดยที่มีรัฐบาลช่วยออกค่าจ้างอีกแรง

Kurzarbeit ทำหน้าที่เป็นนโยบายฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำในเยอรมนีมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยเชื่อว่าการที่รัฐทุ่มเงินหนุนไม่ให้นายจ้างไล่ลูกจ้างออกจะลดความเสียหาย ความปั่นป่วน และความฝืดเคืองในระบบเศรษฐกิจจากการปล่อยให้มีคนตกงานได้ พร้อมฟื้นฟูและดำเนินกิจการทันทีหลังจากสถานการณ์กลับมาดีขึ้นโดยไม่ต้องหาแรงงานใหม่ ส่วนคนทำงานก็ไม่ต้องกลัวไม่มีเงินใช้จ่าย

ก่อนนโยบาย Kurzarbeit จะถูกนำมาใช้สู้วิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 อีกครั้ง นโยบายนี้เคยถูกนำมาใช้เมื่อครั้งวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ช่วยให้คนทำงานกว่า 1.44 ล้านคนไม่ต้องเสียงานไป หรือเพียงแค่ธุรกิจประสบความยากลำบากทางการเงินในสถานการณ์ปกติ ก็สามารถยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐได้

ตามปกติ ไม่ว่าคนทำงานจะถูกลดเวลาทำงานกี่ชั่วโมง หรือถูกบอกให้หยุดทำงานโดยสิ้นเชิงก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล 60% ของเงินเดือนที่หายไป หรือถ้ามีลูก ก็จะได้รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 67%

แต่ล่าสุดหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ยืดเยื้อ รัฐบาลเยอรมนีก็ได้ประกาศ ‘แพ็คเกจคุ้มครองสังคม II’ (Social Protection Package II) ปรับแก้กฎหมายแรงงานให้ลูกจ้างที่ถูกลดเวลาทำงานมากกว่า 50% ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล 70% ของเงินเดือนที่หายไปในเดือนที่สี่ที่ลดเวลาทำงาน และ 80% ของเงินเดือนที่หายไปในเดือนที่เจ็ดที่ลดเวลาทำงานจนถึงสิ้นปี 2020 คาดว่าขณะนี้มีหลายบริษัททั่วประเทศและคนทำงานกว่า 7 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย Kurzarbeit ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ไม่เพียงแค่ในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้นโยบาย Kurzarbeit ช่วยเหลือผู้ประกอบการและคนทำงาน แต่ยังเป็นโมเดลที่หลายประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปใช้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ หรืออย่างในฝรั่งเศสที่เรียกนโยบายเช่นนี้ว่า ‘Activité partielle’

กลับมามองที่เอเชียตะวันออก ญี่ปุ่นประกาศใช้นโยบาย Employment Adjustment Subsidy ซึ่งให้ความสำคัญกับการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสนับสนุน SMEs ซึ่งเหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มี SMEs คิดเป็นกว่า 99% ของธุรกิจที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น และมีการจ้างงานคิดเป็น 67% ของการจ้างงานทั้งหมด

ภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจช่วยผู้ประกอบการจ่ายค่าแรงส่วนที่หายไปจากชั่วโมงทำงานที่ลดลง หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ รัฐบาลจะช่วยจ่ายค่าแรง 75% ของชั่วโมงทำงานที่หายไป โดยที่นายจ้างต้องประกันว่าจะไม่ไล่คนทำงานออก (รวมถึงคนทำงานคนอื่นๆ ในบริษัทด้วย) เพื่อให้ยังมีรายได้เข้ากระเป๋าและมั่นใจว่าจะยังได้กลับมาทำงานเมื่อสถานการณ์เข้ารูปเข้ารอย แต่หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยจ่ายเงินให้คนทำงานมากถึง 100% ของค่าแรงที่หายไปตามชั่วโมงการทำงานเลยทีเดียว ด้วยเงื่อนไขเดียวกันว่าต้องไม่ปลดคนทำงานออก

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ออกนโยบายรักษางานผ่าน ‘Job Support Scheme’

แน่นอนว่าแต่ละภาคส่วนในเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง (หรือที่ในสิงคโปร์เรียกว่า circuit breaker แทน lockdown) ต่างกันไป ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง หรือธุรกิจการบินอาจได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเช่นกัน แต่เมื่อเทียบแล้ว ก็อาจไม่สะเทือนเท่า

สิงคโปร์จึงออกแบบการช่วยเจ้าของกิจการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างตามสถานการณ์และความหนักเบาที่แต่ละธุรกิจต้องเผชิญต่างกัน

ช่วงที่มีการปิดเมืองอย่างเข้มข้น ทุกธุรกิจหยุดนิ่งในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือน 75% ของ 4,600 ดอลลาร์สหรัฐให้กับลูกจ้างท้องถิ่นแต่ละคน ไม่ว่าจะทำงานในธุรกิจภาคส่วนไหนก็ตาม

เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายในเดือนมิถุนายน ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ เริ่มมีเงินกลับมาหมุนแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์จึงลดเปอร์เซ็นต์ค่าจ้างที่ช่วยสนับสนุนเหลือ 25% ของ 4,600 ดอลลาร์สหรัฐ เว้นแต่ว่าเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้า และธุรกิจโรงภาพยนตร์ รัฐบาลจะช่วยนายจ้างจ่ายเงินให้คนทำงาน 50% และหากเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างธุรกิจการบินหรือธุรกิจท่องเที่ยวที่จำต้องถูกแช่แข็ง รัฐบาลก็จะยังคงช่วยเจ้าของกิจการจ่ายค่าจ้าง 75% จนถึงเดือนสิงหาคม 2020

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีพอจะรักษางานไว้ได้ท่ามกลางความยากลำบากเช่นนี้

 

รัฐ x คนทำงาน

 

ในโลกการทำงานปัจจุบัน ไม่ใช่คนทำงานทุกคนที่มีชีวิตการทำงานบนสัญญาจ้างงานประจำแบบดั้งเดิม หรือมีนายจ้างประจำเป็นหลักเป็นแหล่งอีกต่อไป

ในบรรดามนุษย์งานทั้งหลาย ยังมีคนทำงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง (self-employed) ที่รู้จักกันในนามฟรีแลนซ์ (freelance) รับงานมาทำจบเป็นชิ้นๆ ไป คนทำงาน part-time ที่ยืนอยู่บนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างมีงาน-ว่างงาน หรือมนุษย์งานยุคดิจิทัลอย่าง gig workers ที่คอยรับงานจากแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันออนไลน์

แม้ว่ามนุษย์งานเหล่านี้จะได้เปรียบเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่อิสระทางเวลาก็มีราคาที่ต้องจ่าย แลกมากับรายได้ที่ไม่มั่นคง – ยิ่งมีงานมากฉันใด ยิ่งได้เงินมากฉันนั้น แต่ในทางกลับกัน ถ้างานหาย เงินก็หายเช่นกัน แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป สถานะทางการเงินของมนุษย์งานที่เป็นนายตัวเองนั้นก็ยังถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่บางกว่าลูกจ้างประจำ เพราะมีรายได้น้อยกว่าถึง 18% โดยเฉลี่ยตามสถิติของ Eurostat ในปี 2018

นี่ยังไม่นับว่าคนทำงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคมเท่ากับคนทำงานเต็มเวลา แม้ว่าจะตกอยู่ในสภาวะ ‘เสมือนตกงาน’ เพราะไม่มีงานอยู่ในมือ แต่ก็เรียกว่าตกงานได้ไม่เต็มปาก เพราะไม่ได้มีสัญญาจ้างแต่แรก ต่อให้ตกงานก็ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน (unemployment benefits) เมื่อปี 2017 แม้แต่ฝรั่งเศสและเบลเยียมก็ยังไม่ปรับเงื่อนไขให้คนทำงานอิสระเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากประกันการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ

ยิ่งเมื่อเกิดมหาวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาที่ต้องจ่ายกลับทวีคูณเพิ่มขึ้น ความเปราะบางและความไม่มั่นคงของมนุษย์งานเหล่านี้ถูกตอกย้ำให้หนักหนาสาหัสขึ้น หากมีนายจ้าง คนทำงานเหล่านี้อาจได้รับประโยชน์เมื่อรัฐบาลออกแพ็คเกจรักษางาน-รักษาเงินผ่านผู้ประกอบการอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไว้ แต่เมื่อชั่วโมงการทำงานไม่แน่นอน ไม่มีนายจ้าง ไม่มีงาน แล้วจะอยู่รอดรอวันทำงาน-ทำเงินได้อย่างไร?

หลายรัฐบาลใช้วิธีการปรับเกณฑ์ ขยายนโยบายความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปถึงคนทำงานเหล่านี้ด้วย ประเทศในยุโรปที่ใช้นโยบาย Kurzarbeit ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ หรือออสเตรเลียที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็พยายามช่วยให้พวกเขาได้รับค่าจ้างแม้ว่าจะถูกลดเวลางาน แม้ว่าชั่วโมงทำงานหรือประวัติการทำงานที่ไม่แน่นอนก็ยังคงยังเป็นปัญหาอยู่บ้างก็ตาม หรืออย่างแคนาดาก็เลือกที่จะขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพื่อให้คนทำงานได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 เหรียญดอลลาร์แคนาดา ในระยะเวลา 1 เดือนเช่นเดียวกับลูกจ้างในระบบ

การต่อลมหายใจให้แก่กลุ่มคนทำงานเหล่านี้ที่ง่ายที่สุดและให้ความช่วยเหลือถึงมือรวดเร็วที่สุด คือการที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ในครั้งนี้ รัฐบาลทั่วโลกต่างออกมาจ่ายเงินช่วยเหลือฟรีแลนซ์อย่างที่ไม่เคยทำในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งไหนมาก่อน เช่น รัฐบาลเดนมาร์กกางแผนจ่ายเงิน 75% ของรายได้ที่หายไปเป็นเวลา 3 เดือนให้กับแรงงานหากเสียรายได้มากกว่า 30% ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลออสเตรียก็จะชดเชย 80% ของรายได้ที่เสียไปโดยเทียบกับรายได้ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รัฐบาลออสเตรเลียก็เสนอที่จะจ่ายเงิน 969 เหรียญสหรัฐฯ ทุก 14 วันเป็นเวลา 6 เดือนให้แก่ฟรีแลนซ์ที่รายรับลดลง 30% หรือมากกว่า หรืออย่างรัฐบาลสิงคโปร์ก็จ่ายเงินช่วยคนทำงานจำนวน 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม และตุลาคม 2020 ภายใต้ Self-Employed Person Income Relief Scheme

แต่การต่อลมหายใจอย่างทันท่วงทีด้วยความช่วยเหลือทางการเงินเช่นนี้ก็นำมาสู่หลายคำถามอีกว่า หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในวันข้างหน้า รัฐจะช่วยเหลือมนุษย์ฟรีแลนซ์และ gig workers ต่อเมื่อผู้คนเหล่านี้กำลังจะขาดอากาศหายใจแล้วเท่านั้นหรือไม่? หรือรัฐจะต้องคำนึงถึงตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและคิดไปข้างหน้า หานโยบายที่โอบอุ้มแรงงานยืดหยุ่นเหล่านี้ได้หรือไม่? อะไรที่จะเข้ามาประกันว่าคนทำงานเหล่านี้จะมีงาน? รัฐต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ในอนาคตอันใกล้

Generation Lockdown

 

คนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นล็อกดาวน์ (Generation Lockdown) ที่เพิ่งจบการศึกษาพร้อมเข้าตลาดแรงงานก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในวันที่ตลาดงานซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจ ตำแหน่งงานกลายเป็นสิ่งหายากมากยิ่งขึ้นในขณะที่ตนก็ยังด้อยประสบการณ์การทำงาน

ก่อนวิกฤต คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีแนวโน้มว่างงานมากกว่าแรงงานผู้ใหญ่ 3 เท่าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้งานในตลาดทั่วโลกมีโอกาสหายไปตั้งแต่ 5 ล้านจนถึง 25 ล้านตำแหน่ง หากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่มีงานทำเมื่อเรียนจบทันที วิกฤตอาจฝากรอยแผลเป็นทิ้งไว้ ทำให้พวกเขาก้าวหน้าในอาชีพและก้าวหน้าทางการเงินช้าไปหลายก้าว อย่างที่ในอดีต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็เคยส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ มีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะได้ถึง 10% ในปีแรกที่เริ่มงานและผลกระทบนี้ยังเรื้อรังต่อไปอีก 7 ปี

นี่คือความกังวลร่วมกันทั่วโลก หนึ่งในรัฐบาลที่ออกนโยบายสร้างงานช่วยอนาคตของระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจนคือรัฐบาลสหราชอาณาจักร

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2020 กระทรวงการคลังสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะทุ่มเงินจำนวน 2 พันล้านปอนด์ในนาม ‘Kickstart Jobs Scheme’ เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีงานทำ รัฐบาลจะช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนของค่าจ้างขั้นต่ำจำนวน 25 ชั่วโมงหากจ้างคนรุ่นใหม่อายุ 16-24 ปีเข้าทำงาน โดยจะใช้แผนนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ที่จะถึงนี้ ยาวจนถึงสิ้นปี 2021 เพื่อประกันว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ต้องกังวลกับการวุ่นหางานที่มีน้อยอยู่แล้วในตลาด

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เสี่ยงตกงาน ยิ่งไปกว่าความพยายามออกนโยบายสร้างงาน ยังมีนโยบายช่วยให้ทั้งคนทำงานรุ่นใหม่และคนทำงานที่ตกงานมีโอกาสได้ฟื้นคืนชีวิตใหม่ผ่านการฝึกอาชีพ และฝึกฝนทักษะใหม่ นโยบายเช่นนี้คือการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ดึงคนทำงานจากภาคเศรษฐกิจที่กำลังจะตกขบวนเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจแห่งอนาคตอย่างเศรษฐกิจดิจิทัล หรือช่วยให้คนทำงานในภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจได้อย่างชำนาญมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์ออกนโยบาย SGUnited Traineeships Program’ เพื่อตอบโจทย์ทั้งช่วยเหลือคนทำงานที่ตกงาน และช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีแรงงานคุณภาพ โดย Workforce Singapore ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานโดยเฉพาะจะช่วยสนับสนุนองค์กรต่างๆ จ่ายเงินค่าฝึกอาชีพให้กับคนทำงานหน้าใหม่ในประเทศที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสายวิชาชีพในช่วงปี 2019-2020 กว่า 21,000 คน เป็นระยะเวลา 12 เดือน และที่น่าสนใจคือ ยังเปิดโอกาสให้คนทำงานวัยกลางคนที่อยากเปลี่ยนสายอาชีพกลางคันฝึกทักษะอาชีพใหม่อีกกว่า 4,000 คน ซึ่งรวมถึงการฝึกทักษะดิจิทัลเพื่อให้คนทำงานเกาะกระแส Digital Transformation ที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจสิงคโปร์ในอนาคตได้อีกด้วย

อีกรัฐบาลหนึ่งที่มีนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานคือนิวซีแลนด์

งบประมาณ 320 ล้านเหรียญดอลลาร์นิวซีแลนด์บนหน้าตักรัฐบาลจะประกันว่า คนทำงานที่กำลังประสบกับความลำบากทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร จบการศึกษาระดับไหน หรือมีเหตุให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันก็ตาม หากต้องการฝึกอาชีพในภาคเศรษฐกิจสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤต อย่างภาคการผลิต ก่อสร้าง วิศวกรรมเครื่องกลไกและไฟฟ้า หรือเทคโนโลยี รัฐบาลจะสนับสนุนการฝึกอาชีพให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อให้คนทำงานได้ ไม่ถูกระบบทอดทิ้ง

หากมองไกลไปในอนาคตอีกสักนิด การสร้างงานที่ยั่งยืนโดยผสานโจทย์รักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต ช่วยเหลือให้คนมีงานทำไปพร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสกัดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิม – หากทำสำเร็จ ทั้งสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ คนทำงาน ก็จะ วิน-วิน-วิน-วิน พร้อมกันทั้งหมด

‘งานสีเขียว’ ที่ว่านี้ รัฐสามารถลงไปสร้างได้ทั้งในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด การขนส่ง หรือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือส่วนหนึ่งของแนวคิด ‘Green New Deal’ ที่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้บีบให้หลายรัฐบาลทั่วโลกต้องนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวนี้กลับไปขบคิดพิจารณา

รัฐบาลเกาหลีใต้คือรัฐบาลที่ประกาศเตรียมสร้างงานให้แก่คนทำงานผ่าน Green New Deal แล้ว

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ทางฝั่งรัฐบาลเกาหลีประกาศเตรียมใช้งบประมาณ 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำ การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการจัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งจะตามมาด้วย ‘งานสีเขียว’ ที่พร้อมเปิดรับคนทำงานใหม่ๆ อย่างรวดเร็วในอนาคต

อีกประเทศที่ภาคประชาสังคมผลักดันให้รัฐบาลออก Green New Deal อย่างเข้มข้นคือแคนาดา แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ประกาศให้มีแผนดังกล่าวทั้งชุด แต่รัฐบาลก็มีการออกนโยบายสร้าง ‘งานสีเขียว’ และโอกาสฝึกงานในภาคพลังงาน ป่าไม้ ธรณีวิทยา และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รองรับคนทำงานรุ่นใหม่ที่ศึกษามาในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า STEM โดยทุ่มงบประมาณทั้งสิ้น 15.8 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนาดา เพื่อปรับทักษะแรงงานให้พร้อมกับการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต

 

ท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์ประกอบการและมนุษย์งานทั้งหลายต่างก็แค่ต้องการ ‘รัฐที่ดี’ ที่ช่วยให้พวกเขาดำรงชีวิตในระบบเศรษฐกิจได้ มีชีวิตที่ดี และไม่ล้มลงในวันที่วิกฤตโหมกระหน่ำก็เท่านั้น

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save