fbpx
‘Good Jobs Economy’: สัญญาประชาคมใหม่ในยุค ‘The Great Reset’

‘Good Jobs Economy’: สัญญาประชาคมใหม่ในยุค ‘The Great Reset’

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพถ่าย

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

หากว่ากันตามประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางความคิดและภูมิปัญญาที่นับเป็น ‘หมุดหมาย’ ให้คนจำ มักมีวิกฤตเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังเสมอ โลกแบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ในแง่หนึ่งก็คือผลลัพธ์ของการเจอวิกฤตใหญ่ การปรับตัวหลังวิกฤต เพื่อเจอวิกฤตอีกอัน แล้วปรับตัวอีกครั้ง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

ความหนักหนาของวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมาทำให้โลกอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางความคิดและภูมิปัญญาอีกครั้ง เมื่อผู้คนหลายพันล้านทั่วโลกต่างเผชิญความลำเค็ญทางเศรษฐกิจอย่างแสนสาหัส ในขณะที่ความปั่นป่วนและความวิตกกังวลต่อชะตาชีวิตกำลังแปรรูปเป็นความไม่พอใจที่สร้างเครื่องหมายคำถามใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจการเมือง

ในห้วงเวลาเช่นนี้ คำว่า ‘The Great Reset’ ก็ผุดขึ้นมากลายเป็นหัวข้อถกเถียงในแวดวงวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักคิด และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกแทบทุกวงการ เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ไม่ว่านักคิดสมาทานอุดมการณ์ หรือเชื่อในสำนักคิดแบบใดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มต้นกันใหม่’

อาจเป็นเรื่องไม่คาดคิดสำหรับหลายคนที่กระทั่งกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่าง สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ยังเรียกร้องการ ‘รีเซ็ตระบบทุนนิยมโลก’

“…The Great Reset คือ หน้าต่างแห่งโอกาสในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในอนาคต ทิศทางของเศรษฐกิจประเทศ การจัดลำดับความสำคัญของสังคม ธรรมชาติของภาคธุรกิจ และการจัดการสินค้าสาธารณะในระดับโลก…เพื่อสร้างสัญญาประชาคมใหม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน…”

นี่คือถ้อยคำที่ปรากฏในหน้าของเว็บไซต์ World Economic Forum ชั่วโมงนี้

ถนนข้าวสาร รถตุ๊กตุ๊ก ไม่มีคน

วิกฤตการว่างงาน ความไม่มั่นคงในชีวิต และข้อเสนอที่ไปไม่พ้นกรอบเดิม

ท่ามกลางความสาหัสทางเศรษฐกิจที่ผู้คนต้องเผชิญ การตกงานเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดประเด็นหนึ่ง รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เดือนมิถุนายน 2563 ประเมินว่า ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในระบบทั่วโลกในไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงกว่า 14% หรือคิดเทียบเท่าได้กับงานเต็มเวลา 400 ล้านตำแหน่ง ที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ แรงงานนอกระบบอีกกว่า 1,600 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั่วโลกถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง และกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่ชีวิตจะพังทลาย

สถานการณ์ในประเทศไทยก็น่ากังวลไม่แพ้กัน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานไทยกว่า 8.4 ล้านคนอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงาน ในขณะที่แรงงานจบใหม่กว่า 500,000 คนก็จะต้องประสบกับความยากลำบากในการหางาน หลายคนกังวลว่า สถานการณ์จริงอาจจะหนักกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมักจะประเมินสถานการณ์แบบไม่ให้เลวร้ายเกินไป มิพักต้องพูดถึงว่า ความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมสังคมนั้นเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ยิ่งกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ

แน่นอนว่า วิกฤตโควิด-19 คือชนวนสำคัญของความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน แต่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเห็นว่าต่อให้ไม่มีโรคระบาด เศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนโดยทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็ป่วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปัญหาพื้นฐานทางสังคมเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความไม่มั่นคงในชีวิตของผู้คน ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังตัวในระบบ

ควบคู่ไปกับการให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินในระยะสั้น ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่จึงถูกนำขึ้นมาวางบนโต๊ะ

ในยามวิกฤตและยากลำบากที่สุดเช่นนี้ ‘มนุษย์งาน’ มักถูกเรียกร้องให้อดทนและปรับตัวเป็นกลุ่มแรกๆ โดยไม่ต้องเปิดตำราที่ไหน การบอกให้แรงงานต้องเตรียมพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่และความเปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับการบอกให้ภาครัฐยกระดับการศึกษาและลงทุนในโครงการฝึกอบรมแรงงาน ก็ทำให้คนส่วนใหญ่พยักหน้าเห็นด้วยได้ไม่ยาก

เอาเข้าจริง ข้อเสนอเช่นนี้ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แรงงานทักษะสูงย่อมสามารถเข้าถึงโอกาส งาน และค่าตอบแทนที่ดีได้ ในขณะที่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงก็เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการพัฒนาแรงงาน นโยบายเช่นนี้หากทำได้จริงก็ย่อมมีส่วนทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไปพร้อมๆ กับการยกระดับผลิตภาพของบริษัท และเศรษฐกิจในภาพรวม เป็นสถานการณ์ ‘วิน – วิน’ ที่ทุกฝ่ายแฮปปี้

แต่โลกจริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น คนทำงานที่สามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีและสร้างทักษะที่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงมีสัดส่วนน้อยกว่าคนที่ปรับตัวได้ช้าหรือไม่ได้อย่างมาก ส่วนการฝากความหวังไว้กับการลงทุนด้านการศึกษาของภาครัฐ ก็เป็นการมองโลกดีเกินจริง ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูประบบสวัสดิการและสังคมให้ครอบคลุมประชาชนอย่างถ้วนหน้าจึงกลายเป็น ‘สูตรยอดนิยม’ ในกลุ่มนักคิดหัวก้าวหน้าทั่วโลก พูดให้ครอบคลุมกว่านั้น นโยบายเหล่านี้มักมาพร้อมกับข้อเสนอให้มีการปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การออกนโยบายต่อต้านการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขัน การกำหนดมาตรฐานแรงงาน การออกแบบสถาบันเพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถต่อรองและร่วมมือกันได้มากกว่าเดิม หรืออาจไปไกลถึงขั้นการมีนโยบาย ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ (Universal Basic Income – UBI) ทั้งหมดนี้เพื่อเกลี่ยดอกผลทางเศรษฐกิจใหม่ให้เป็นธรรมกับคนทำงานมากยิ่งขึ้น

แต่นั่นก็อาจจะยังไม่เพียงพอ

งานที่ดีมีน้อยเกินไปในเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ดานี รอดริก (Dani Rodrik) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาฮาร์วาร์ด นักเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดคนหนึ่งวิจารณ์ว่า แม้การปฏิรูประบบทุนนิยมให้คำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจมีความเป็นธรรมและยั่งยืนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่แนวทางนี้ไม่ได้แก้ปัญหารากฐานที่สุดของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ นั่นคือ การปรับโครงสร้างการผลิตในระบบเศรษฐกิจโลก (reorganizing production)

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา โครงสร้างเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยตรรกะของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neoliberal) หรือ ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ที่เชื่อมั่นว่าตลาดและการตัดสินใจของภาคเอกชนเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุด ในขณะที่มองว่ารัฐคือบ่อเกิดของความไร้ประสิทธิภาพและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดกว่า 40 ปี โลกถูกเชื่อมให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรม การค้า และการลงทุน คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ (ซึ่งมักตีความให้แคบเหลือแค่คำว่า ‘ต้นทุนต่ำที่สุด’) ได้กลายเป็นคีย์เวิร์ดหลักในการตัดสินใจของภาคเอกชน

สำหรับรอดริก ปัญหาของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์คือ ระบบนี้สร้าง ‘งานที่ดี’ ได้น้อยเกินไป เพราะการแบ่งงานกันทำอย่างเข้มข้นในระดับโลกทำให้เกิดภาคการผลิตแตกตัวเป็น 2 ภาคการผลิตได้แก่ ‘ภาคการผลิตก้าวหน้า’ ที่อยู่บนฐานของความรู้และนวัตกรรม ภาคการผลิตนี้มีผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มสูง ทว่าผลประโยชน์กระจุกตัวในพื้นที่เมืองและกลุ่มคนที่จำกัด ส่วนอีกภาคการผลิตหนึ่งคือ ‘ภาคการผลิตที่เหลือของสังคม’ ที่มีผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าภาคการผลิตแรกอย่างเทียบไม่ได้ ไม่ค่อยมีส่วนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและก็ได้ประโยชน์จากนวัตกรรมน้อย ทว่าครอบคลุมพื้นที่และคนส่วนใหญ่ของสังคม

ควรกล่าวด้วยว่า ‘งานที่ดี’ ในที่นี้หมายถึง งานที่ได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับมาตรฐานค่าครองชีพ เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ มีความมั่นคงพอสมควร มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ชัดเจน สภาพแวดล้อมในการทำงานปลอดภัย คนทำงานมีอำนาจในการต่อรองและมีกลไกป้องการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง รวมไปถึงการมีโอกาสที่จะออกแบบชีวิตตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แม้ลักษณะของ ‘งานที่ดี’ ของแต่ละสังคมอาจแตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วสังคมแต่ละสังคมสามารถบอกได้โดยใช้สามัญสำนึกร่วมกันได้ว่า ‘งานที่ดี’ กินความกว้างและลึกขนาดไหน

แม้นักคิดเสรีนิยมใหม่จะพร่ำบอกว่า ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์คือการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่ แต่สำหรับรอดริกแล้วนี่คือ ‘ความล้มเหลวของตลาดขนานใหญ่’ (massive market failure) เพราะการที่ตลาดไม่สามารถสร้างงานที่ดีอย่างเพียงพอนำมาซึ่งต้นทุนทางสังคมและการเมืองอย่างมหาศาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาครอบครัว อาชญากรรม การแบ่งขั้วแยกข้างและความไม่ไว้วางใจระหว่างกลุ่มคนในสังคม ความขัดแย้งทางการเมือง หรือกระทั่งการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ล้วนมีความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญ

ไม่ใช่แค่ผลกระทบทางสังคมและการเมืองเท่านั้น กระทั่งมองจากแว่นตาแบบเศรษฐศาสตร์ รอดริกก็ยังมองว่า ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์เป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะทำให้เทคโนโลยีกระจุกตัวอยู่แค่กับไม่กี่บริษัทและบางกลุ่มคน แทนที่จะกระจายออกไปยังสังคมวงกว้างและมีส่วนในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

สกายวอร์ค แม่บ้าน ไร้ผู้คน

‘Good Jobs Economy’ ในฐานะสัญญาประชาคมใหม่

สำหรับรอดริก การแก้ปัญหาในตลาดแรงงานจำเป็นต้องอาศัยยาแรงในระดับที่เปลี่ยนวิธีคิดอย่างถึงราก กล่าวคือ เป้าหมายของเศรษฐกิจมหภาคควรเปลี่ยนจากการเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมาให้ความสำคัญกับ ‘การสร้างงานที่ดี’ แทน เขาถึงขั้นเสนอว่าสังคมควรมอง ‘งานที่ดี’ เหมือนการมอง ‘น้ำสะอาด’ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี ไม่ควรและไม่สามารถเลือกที่จะมีน้อยเกินไปได้

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ คำถามที่ว่าใครควรจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร การลงทุนควรเป็นไปในทิศทางไหน และใครควรจะเป็นคนตัดสินใจในกระบวนการทั้งหมดนี้ จะต้องถูกคิดใหม่ทั้งหมด

ข้อเสนอของรอดริกอาจชวนให้หลายคนนึกถึงแนวคิดแบบเคนส์ (Keynesian Economics) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานเป็นเป้าหมายหลักทางเศรษฐกิจ โดยหวังพึ่งบทบาทของภาครัฐในการสร้างงาน แต่ต้องพูดให้ชัดว่า รอดริกไม่ได้คิดจะกลับมาหาแนวคิดแบบเคนส์ เพราะเศรษฐกิจ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และลักษณะงานในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากโลกในยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นยุคของเคนส์อย่างสิ้นเชิง โดยความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจในปัจจุบันซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูงจนรัฐไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ (ยกเว้นเทคโนโลยีด้านความมั่นคงและสงครามที่รัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่)

อีกแนวคิดหนึ่งที่ดูคล้ายกับ ‘เศรษฐกิจที่สร้างงานที่ดี’ คือ ‘Stakeholder Capitalism’ หรือ ‘ทุนนิยมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่เรียกร้องให้ภาคเอกชนทำธุรกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงกำไรของเจ้าของเพียงอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ลูกจ้าง ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแล รวมไปถึงชุมชนและสังคมด้วย แนวคิดนี้เชื่อว่า การลงทุนของภาคเอกชนโดยคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายจะทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

ศาสตร์ด้านการบริหารการจัดการใหม่ๆ ก็ออกมาสนับสนุนแนวคิด ‘Stakeholder Capitalism’ เป็นอย่างดี ไซเนป ทน (Zynep Ton) ศาสตราจารย์ด้านแนวปฏิบัติแห่งเอ็มไอทีเสนอว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนของโลกธุรกิจสมัยใหม่ องค์กรจะยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ด้วยการทำให้ลูกจ้างมีแรงจูงใจในการทำงานและเพิ่มผลิตภาพในการทำงานอย่างสูงสุด ดังนั้น การลงทุนในลูกจ้าง สวัสดิการ และการออกแบบระบบการทำงาน เพื่อให้คนเห็นว่างานบริษัทเป็น ‘งานที่ดี’ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่าง ‘Good Jobs Economy’ กับ ‘Stakeholder Capitalism’ คือ ความไม่ชัดเจนของเป้าหมายและกลไกในการขับเคลื่อน Stakeholder Capitalism ยังเชื่อในวิจารณญาณของภาคเอกชนในการจัดวางน้ำหนักเป้าหมาย และคาดหวังว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดจากการที่บริษัท ‘มีหัวใจ’ ที่จะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น หรือไม่ก็ถูกสังคมและผู้บริโภคกดดันจนต้องเปลี่ยน ส่วน Good Jobs Economy นั้นมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ชัด และต้องการการจัดการอภิระบอบ (meta-regime) เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้

พูดอีกแบบคือ Good Jobs Economy ไม่ใช่แค่ข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหาร หรือชุดนโยบายเศรษฐกิจ หากแต่เป็นเรื่องการสร้างสัญญาประชาคมใหม่ที่กำหนดว่า อะไรบ้างที่ควรนับว่าเป็นสิ่งสำคัญของสังคม และเราจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีการอะไร

หน้าตาของ ‘Good Jobs Economy’

ในการสร้าง ‘Good Jobs Economy’ สังคมต้องเห็นพ้องต้องกันว่า การมี ‘งานที่ดี’ เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับสังคม และควรเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ของระบบเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจใดไม่สามารถสร้างงานที่ดีได้อย่างเพียงพอถือว่าเศรษฐกิจนั้นล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ไร้เดียงสาจนเกินไปคงไม่มีใครมองไม่เห็นว่า การกำหนดเป้าหมายใหญ่ภายใต้โลกที่มีความไม่แน่นอนสูงมีโอกาสนำไปสู่หายนะมากกว่าความสำเร็จ เพราะไม่มีใครที่ไหน — ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือแรงงาน มีข้อมูลที่จะกำหนดอนาคตได้ ต่อให้เป็นอนาคตที่ไม่ไกลมากก็ตาม ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ทุน และแรงงานจะต้องถูกจัดวางใหม่เพื่อให้การกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจร่วมกันเป็นไปได้จริง

โดยทั่วไป รัฐมักจัดวางบทบาทตนเองในฐานะ ‘คนนอก’ ภาคการผลิต โดยจะแทรกแซงก่อนการผลิต (เช่น นโยบายการศึกษา) หรือหลังการผลิต (การเก็บภาษีและการกระจายรายได้) เท่านั้น และปล่อยให้ภาคการผลิตเคลื่อนไปตามตรรกะของทุนเป็นหลัก แต่รอดริกเสนอว่า รัฐควรเข้าไปแทรกแซงพื้นที่การผลิต (productive sphere) โดยตรง โดยมีสถานะเป็นทั้งผู้กำกับดูแลที่กำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจ และเป็นหุ้นส่วนที่คอยสนับสนุนให้ภาคเอกชนบรรลุเป้าหมายนั้นได้ ผ่านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ส่งเสริมการสร้าง ‘งานที่ดี’ เป็นหลัก

นอกจากนี้ การออกแบบระบบและนโยบายใดๆ ที่แม้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรง ก็ควรที่จะผนวกเป้าหมายการสร้างงานที่ดีเข้าไปด้วย โดยเฉพาะการกำหนดทิศทางการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ควรกำกับให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นมิตรกับงานมากขึ้น ข้อเสนอนี้นับเป็นการวิจารณ์ความไม่เป็นกลางของระบอบเทคโนโลยี (technological regime) ในปัจจุบันอย่างแหลมคม เป็นการเปิดโปงให้เห็นว่า การพัฒนาเทคโนโลยีไปในทิศทางที่ประหยัดแรงงานมากกว่าการประหยัดทุน ทรัพยากร และพลังงาน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ถูกปรุงแต่งโดยความคิดและอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ

อันที่จริงหลายประเทศเริ่มมีการถกเถียงกันแล้วว่า การกำกับดูแลภาคเศรษฐกิจใหม่ เช่น เศรษฐกิจแพลตฟอร์มและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีควรต้องเพิ่มมิติของการสร้างงานเข้าไปด้วย แทนที่จะให้น้ำหนักกับการสร้างนวัตกรรมอย่างเดียว หรือโครงการ ‘Green New Deal’ `ของสหภาพยุโรปก็เป็นตัวอย่างของการผสมโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการสร้างงานที่น่าสนใจ

ในแง่หนึ่งข้อเสนอของรอดริกถูกมองว่าเป็นการคืนชีพให้กับ ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ (Industrial Policy) อีกครั้ง เขาเองไม่ได้ปฏิเสธมุมมองนี้เสียทีเดียว แต่ก็ยังสงวนความต่างสำคัญในแง่ของเป้าหมายหลักของเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างภาครัฐ ทุน และแรงงาน สำหรับรอดริกความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ชัดเจนว่า เป็นความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทน (quid pro quo) ระหว่างพลังต่างๆ ทางสังคม กติกาคือต่างฝ่ายต่างรู้ว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร และทำการต่อรองแลกเปลี่ยนภายใต้กรอบของเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน

สัญญาประชาคมใหม่ไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญและนักคิดไม่กี่คน และยิ่งไม่เกี่ยวอะไรกับกับการตกลงกันเองของกลุ่มทุนผู้มั่งคั่ง และผู้มีอำนาจไม่กี่หยิบมือ ในภาวะที่โลกและไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ ‘The Great Reset’ คำถามอาจเริ่มต้นที่ว่า เรามีจินตนาการถึงโลกและสังคมในแบบที่ดีกว่าเดิมอย่างไร

‘Good Jobs Economy’ คือความเป็นไปได้หนึ่งของจินตนาการใหม่ที่ว่า

ข้าวสาร นักท้องเที่ยวน้อย ร้านปิด

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save