fbpx

อ่อนแอก็สูญพันธุ์! มหาวิทยาลัยกับการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ต่อ ChatGPT

ตอนที่ 1 มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม? เมื่อ ChatGPT และ AI ทำให้เราเรียนจบได้เหมือนกัน

ตอนที่ 2 แนวโน้มการโกงข้อสอบด้วย ChatGPT: แม้ไม่รู้ แต่ทำไมเราต้องกังวล?

ตอนที่ 3 ChatGPT ทำอะไรได้บ้างและมีจุดอ่อนตรงไหน?: สิ่งที่ต้องรู้ก่อนปรับตัวรับมือ

ตอนที่ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำกับยุทธศาสตร์รับมือ ChatGPT ด้วยการกระจายอำนาจ: ตอบโจทย์ แต่ยังไม่พอ

ตอนที่ 5 ‘เครื่องคิดเลข’ – ‘ChatGPT’ และการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์

สมมติว่ามหาวิทยาลัยต้องการปรับตัวรับเอา ChatGPT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เขาต้องทำอะไรบ้าง?

ตอนก่อนผมเล่าไปว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกพยายามปรับตัวในเรื่องนี้อยู่ แต่เท่าที่สังเกตแล้วในปัจจุบันน่าจะยังไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้ เพราะเขาเน้นปรับตัวด้วยการกระจายอำนาจให้ผู้สอนรายวิชาทบทวนหาทางใช้ ChatGPT ในวิชาที่ตัวเองสอน ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ได้ลำบาก

อย่างตอนนี้ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของหนึ่งในมหาวิทยาลัยท็อป 40 ของโลกอยู่ ทางมหาวิทยาลัยก็มีนโยบายแบบนี้เหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็เหมือนทุกองค์กร คือผู้สอนแต่ละคนก็เลือกทำเหมือนเดิมต่อไปตามความเคยชิน พอสอนเหมือนเดิม ChatGPT ก็ยังคงเป็นสิ่งแปลกปลอม โจทย์ของอาจารย์ก็กลับสู่แนวทาง ‘ต่อต้าน’ คือหาทางป้องปรามหรือแบนไม่ให้เด็กใช้เทคโนโลยี

อาจารย์บางคนถึงกับกลับไปใช้การสอบข้อเขียนในห้องเลยทีเดียว

ถ้ามหาวิทยาลัยจะไปให้ถึงฝั่งฝันการปรับตัวอย่างที่เคยทำได้เช่นเมื่อโลกต้องรับมือการเข้ามาของเครื่องคิดเลขหรือ Google Search ก็มีอยู่สองวิธีครับ หนึ่งคือนิ่งเฉยไปเรื่อยๆ อีกสักสิบปีพอเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องปกติ เด็กรุ่นต่อไปที่คุ้นชินกับ ‘โลกใหม่’ จบมาเป็นอาจารย์แล้วก็จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเอง แต่ผมก็ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นใดที่เราต้องรอนานขนาดนั้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นกว่าจะถึงเวลานั้น เด็กเป็นสิบรุ่นต้องเสียโอกาสการใช้ ChatGPT อย่างมีคุณค่าไป กว่าจะถึงเวลานั้นมหาวิทยาลัยอาจหมดความจำเป็นไปก่อนก็ได้ ใครจะรู้

อีกทางที่อยากเสนอคือ มหาวิทยาลัยนี่แหละที่ต้องลงมือเพิ่มเติมด้วยตัวเอง การลงมือที่ว่าก็คือการที่มหาวิทยาลัยส่วนกลางแสดงภาวะผู้นำ ออกนโยบายผลักดันการปรับตัวอย่างเป็นทางการ

มหาวิทยาลัยอย่าง National University of Singapore และ Imperial College London เขาเลือกไปทางนี้ครับ ส่วนจะสำเร็จแค่ไหนก็ต้องแก้กันไปในระดับปฏิบัติ แต่โดยแนวคิดของพวกเขาคือมหาวิทยาลัยต้องออกกฎเกณฑ์และต้องลงมาตรวจสอบการปรับตัวในระดับรายวิชา สำหรับสิงคโปร์นั้นล่าสุดจะมีการออกนโยบายเรื่องนี้โดยรัฐเลยด้วย

หากเลือกที่จะรับมือในแนวทางที่มหาวิทยาลัยมีบทบาทนำและออกนโยบายนั้น ผมประมวลเรื่องที่ต้องทำออกมาเป็น 3 เรื่อง ดังนี้

1. รายละเอียดเนื้อหาว่าจะปรับตัวอย่างไรต้องมาจากระดับปฏิบัติงาน ‘รากหญ้า’ เรื่องนี้จะคิดเหมือนยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจของมหาวิทยาลัยชั้นนำ คือคนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในรายวิชาย่อมรู้ดีที่สุดว่าแก่นวิชาและรายละเอียดเนื้อหาวิชาของเขาคืออะไร ไม่มีใครสามารถกำหนดรายละเอียดการปรับตัวในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดได้แบบบนลงล่าง แต่ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของผู้สอนในรายวิชาเป็นหลัก

2. ผู้บริหารหลักสูตรที่มีหน้าที่ออกแบบรายวิชาในภาพรวมจำเป็นต้องทบทวนเป้าหมายหลักสูตร แล้วประสานงานให้ผู้สอนปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้สนับสนุนเป้าหมายของหลักสูตร จุดสำคัญของการปรับตัวในระดับหลักสูตรดังกล่าวคือการตระหนักว่าต่อไป ChatGPT หรือเทคโนโลยีทำนองเดียวกันจะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ก่อนคิดทบทวนตัวเองว่าหลักสูตรต้องการสร้างบัณฑิตให้มีทักษะหรือความรู้แบบไหนในโลกที่เทคโนโลยีใหม่กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติเช่นนี้ ซึ่งการปรับตัวในระดับหลักสูตรและระดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีการพูดคุยในวงการการศึกษาเท่าที่ควร

หลังจากนี้ผู้บริหารหลักสูตรต้องเริ่มคิดว่า หากนักศึกษาเรียนจบไปโดยใช้ ChatGPT ไม่เป็นเลย ก็จะเหมือนกับกรณีนักศึกษาที่เรียนจบไปโดยไม่เคยใช้เครื่องคิดเลขหรือ search engine ซึ่งจะหางานในตลาดไม่ได้และไม่เป็นประโยชน์กับสังคมแน่นอน เราอาจต้องตระหนักว่าเอาเข้าจริงหากพิจารณาจากเหตุผลเรื่องตลาดแรงงานเพียงลำพัง สถานศึกษาไม่มีเหตุผลต้องตรวจสอบหรือจำกัดการใช้โมเดลดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ ครูรอพิจารณาตัดเกรดให้รางวัลผลลัพธ์งานสุดท้ายของผู้เรียน เพราะบริษัทในตลาดเขาก็ต้องการเพียงผู้เล่นที่สามารถส่งมอบสินค้าหรือบริการสุดท้ายที่มีคุณภาพได้ จะสร้างมายังไงก็เถอะ

ในทางกลับกันผู้บริหารหลักสูตรก็ต้องทบทวนว่าจะเอา ChatGPT เข้ามาในหลักสูตรอย่างไร ในเมื่อโมเดลมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่  อย่างเรื่องอาการหลอน อคติทางสังคม และความเป็นส่วนตัว ซึ่งกระบวนการนำเข้าก็ต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้ให้นักศึกษาด้วย นอกจากนี้ หลักสูตรอาจให้ความสำคัญกับการสร้างพลเมืองที่มี ‘คุณภาพขั้นต่ำ’ ในฐานะมนุษย์และสมาชิกทางสังคม สามารถร่วมคิดและถกเถียงในประเด็นสาธารณะได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต้องให้นักศึกษาอ่าน-เขียนด้วยตัวเองอยู่ คำถามจึงอยู่ที่ว่าหลักสูตรจะปรับรายละเอียดอย่างไรที่สร้างสมดุลให้กับเป้าหมายเหล่านี้ทั้งหมด

อย่างหลักสูตรการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของ MIT ล่าสุดเขาหารือและปรับตัวกันแล้ว โดยตัดสินใจให้นักศึกษา ‘ป้อน’ รายละเอียดให้ ChatGPT เขียนโครงเรื่องร่างแรกให้ได้ แล้วให้นักศึกษาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ความสมเหตุสมผล แล้วพัฒนาข้อเขียนให้มีมิติ ลึก สะท้อนวิธีคิด และสวยงามขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือของเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ เขาเชื่อว่าในโลกที่ทุกคนใช้ ChatGPT บุคลากรที่ใช้เทคโนโลยีโดยผสมผสานความนึกคิดและความสร้างสรรค์ของตนเข้าไปจะไปได้ไกลกว่าคนอื่น รวมถึงนักศึกษาก็ยังรักษาทักษะที่จำเป็นไว้ได้ แถมยังผลิตงานได้มากขึ้น 

3. สถานศึกษาต้องทบทวนเป้าหมายการศึกษาและจัดระเบียบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเป้าหมายในโลกใหม่ทั้งหมด ก่อนเข้ามาสนับสนุนแนวคิดและวัฒนธรรมการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ภายในมหาวิทยาลัย

จากที่ผมไปสำรวจกิจกรรมของมหาวิทยาลัยชั้นนำมา พบว่าการสนับสนุนการปรับตัวในภาพรวมของสถานศึกษาเกิดขึ้นในสองลักษณะ ลักษณะแลกคือการเปิดบทสนทนาในประเด็นเรื่อง ChatGPT เช่นผ่านการส่งจดหมายเวียน บันทึกข้อความในประเด็นเรื่อง ChatGPT เพื่อชวนสมาชิกในชุมชนคิดและสนทนาต่อในเรื่องดังกล่าว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามศึกษาประเด็นดังกล่าว ด้วยการรวบรวมเอกสารหรือตัวอย่างการปรับตัวจริงที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทั่วโลก เอาไว้ให้ผู้สอนขอคำปรึกษาและปรับใช้

มากกว่านั้นก็เป็นเรื่องการสร้างระบบสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม เพราะปัญหาหนึ่งคือเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่เท่ากัน เช่น บางคนอาจไม่พร้อมจ่ายเพื่อเป็นสมาชิก ChatGPT แบบพรีเมียม บางคนบกพร่องทางกายภาพ ซึ่งบางมหาวิทยาลัยเสนอให้แก้ด้วยการให้อาจารย์สร้างวิธีการประเมินผลที่หลากหลายรองรับคนทุกรูปแบบ มากกว่านั้นคือ University of Hongkong ลงทุนสร้าง ChatGPT เวอร์ชันมหาวิทยาลัยตัวเองที่ทุกคนใช้ได้เท่ากัน นอกจากนี้มีประเด็นเรื่องการสร้างระบบตรวจสอบควบคุมความโปร่งใส เช่น แบบฟอร์มให้นักเรียนกรอกว่าจะใช้ ChatGPT แค่ไหน อย่างไรบ้าง รวมถึงสร้างระบบอ้างอิงการใช้ ChatGPT มาตรฐานขึ้นมา นอกจากนี้ก็มีการสร้างมาตรฐานเพื่อพิทักษ์สิทธิความเป็นส่วนตัว เช่น ห้ามไม่ให้ผู้สอนบังคับนักศึกษาถ่ายวิดีโอหน้าจอตอนใช้ ChatGPT หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับผู้เรียนเป็นข้อมูลสนทนากับโมเดล

ทั้งหมดนี้ สิ่งสำคัญคือมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปประเมินว่าผู้สอนและหลักสูตรรายวิชาตระหนักและทำสิ่งเหล่านี้หรือยัง โดยมีระบบจูงใจหรือลงโทษตามความเหมาะสมกับบริบทชุมชนนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นจริง

คนสอนอาจจะลำบากและรำคาญหน่อย แต่นั่นเป็นเรื่องระดับปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัยต้องไปหาแนวทางผลักดันในลักษณะที่ไม่สร้างภาระงานให้คนสอนมากเกินไป ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรคงต้องว่ากันไปตามบริบท

และก็นั่นแหละครับ ถึงที่สุดแล้วการปรับตัวเป็นต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของอารยธรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save