fbpx

‘ไปให้พ้นจากความยากจน’ บันทึกชีวิตผู้หญิงอีสานในปารีสที่ฝันถึงความเท่าเทียม

ฉันไปที่ร้านนวดของเธอในย่านเศรษฐกิจของปารีส ท่ามกลางตึกแถวที่เรียงรายในถนนแคบๆ มีร้านนวดหน้าตาเรียบๆ ตั้งอยู่อย่างไม่เรียกร้องความสนใจ และคงเดินผ่านไปได้โดยง่ายหากไม่สังเกตป้ายร้านที่บอกชื่อเรียกออกเสียงคล้ายภาษาไทย

‘พี่อร’ เป็นหนึ่งในแรงงานไทยที่ฉันเจอในปารีส พวกเขาจำนวนมากมาจากภาคอีสาน ข้ามทวีปมาทำงานเย็บผ้า งานในร้านอาหาร งานร้านนวดไทย หลังทำงานเป็นลูกจ้างมายาวนาน ความฝันหนึ่งของแรงงานไทยเหล่านี้ นอกจากต้องการพำนักอยู่อย่างถูกกฎหมายหรือได้สัญชาติฝรั่งเศสแล้ว ก็คือการเป็นเจ้าของกิจการ พี่อรเป็นคนหนึ่งที่ทำสำเร็จโดยเริ่มต้นจากชีวิตที่ไม่มีอะไรเลยจนสามารถเป็นเจ้าของร้านนวดได้

ฉันเจอพี่อรที่ ‘วงส้มตำ’ อันเป็นที่รวมตัวสังสรรค์ในวันหยุดสุดสัปดาห์ของแรงงานไทยในแวดวงที่รู้จักกัน พี่อรเป็นผู้หญิงรูปร่างไม่ใหญ่ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ในวงส้มตำเธอมักเล่าถึงชีวิตของตัวเองพร้อมเสียงหัวเราะ แต่เนื้อหานั้นขมปร่า

ชีวิต 20 ปีในฝรั่งเศสนานพอจะทำให้พี่อรเรียกปารีสว่า ‘บ้าน’ เธอพูดภาษาฝรั่งเศสคล่องแคล่วและมักหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ ให้คนไทยด้วยกัน ทั้งนักศึกษาหรือคนมาทำงาน การพูดคุยกับพี่อรไม่เพียงแต่สะท้อนชีวิตบนเส้นทางขรุขระของเธอ แต่ยังเป็นภาพสะท้อนเส้นทางของอีกหลายชีวิตที่ข้ามทวีปมาใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายเมื่อหลายสิบปีก่อน เพียงเพราะต้องการไขว่คว้าโอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่าในประเทศไทย

จากอีสาน สู่ปารีส

ชีวิตของอรเริ่มต้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน เธอเกิดในครอบครัวชาวนา เติบโตมาด้วยเงินที่แม่ทำปลาร้าขายในตลาด ทันทีที่สอบไล่ชั้น ม.3 จบ รุ่งขึ้นแม่ก็จัดแจงให้ลูกสาวเดินทางมาทำงานที่กรุงเทพฯ ดับฝันการเรียนต่อของเธอด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจ โดยหวังว่าการส่งลูกสาว ‘เข้ากรุงเทพฯ’ จะทำให้ครอบครัวสบายขึ้น ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของน้องๆ ที่ยังเรียนอยู่

ในวัยสิบกว่าปี อรถูกส่งไปเป็นแม่บ้านแถวบางปะแก้ว แค่ไม่กี่เดือนเธอก็ยอมแพ้เก็บข้าวของกลับอีสาน

ผ่านไปไม่กี่ปี เพื่อนชวนอรไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เธอได้งานแม่บ้านที่โรงงานเย็บกางเกงยีนส์แถวสำเหร่ ตอนนั้นเธอหาเงินได้เดือนละ 400 บาทและส่งให้ที่บ้านทั้งหมดเพื่อส่งน้องๆ เรียน อาศัยว่ากินนอนอยู่บ้านเถ้าแก่จึงไม่มีเรื่องให้ใช้เงิน ด้วยเงินเดือนอันน้อยนิดทำให้เธอเริ่มฝึกเย็บผ้าที่โรงงาน เพื่อค่าแรงที่มากขึ้น พอเริ่มมีทักษะจึงย้ายไปเย็บผ้าโหลที่ตลาดโบ๊เบ๊

อรยึดอาชีพช่างเย็บผ้ากว่า 8 ปี จนแต่งงาน มีลูก ค่าแรงสองสามีภรรยาเริ่มไม่พอใช้จ่ายในเมืองหลวง ในที่สุดก็ต้องหอบข้าวของกลับบ้านที่อีสานตอนอรตั้งท้องลูกคนที่ 2 ได้ 8 เดือน

ในยุคนั้นแรงงานไทยจำนวนมากนิยมไปทำงานต่างประเทศทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย หมู่บ้านของอรแทบทุกหลังคาเรือนจะมีคนไปทำงานที่ไต้หวัน จนมีคนมาชักชวนสามีของเธอให้ไปทำงานไต้หวันด้วย พ่อของอรเอาบ้านไปจำนองกับเงินกู้นอกระบบ กำเงินส่งลูกเขยไปทำงานต่างประเทศ

หลังอรคลอดลูกคนที่ 2 ได้เพียง 3-4 วัน สามีของเธอก็บินไปทำงาน …โหดร้ายสำหรับแม่ลูกอ่อน แต่ไม่มีใครสามารถโอดครวญ

สามีของอรทำงานส่งเงินกลับมาเรื่อยๆ จนอรเก็บเงินก้อนได้ จึงตั้งใจส่งน้องชายไปทำงานที่ไต้หวันด้วย พอเดินเรื่องส่งน้องชายไปเรียบร้อย เพียง 7 วันน้องก็ถูกส่งตัวกลับ เงินแสนห้าหายวับไปกับตา ครอบครัวของเธอไม่ยอมแพ้ เอาที่นาไปจำนองกับ ธกส. ได้เงินค่านายหน้าให้น้องชายคนเดิมไปทำงานที่อิสราเอลแล้วส่งเงินกลับมาใช้หนี้

ผ่านไป 3 ปี สามีของอรกลับมาจากไต้หวันในสภาพไม่มีเงินเก็บ อรตัดสินใจเอาบ้านพ่อไปจำนองกับเงินกู้นอกระบบอีกครั้ง ได้เงินมาแสนห้า แต่คราวนี้เป็นตัวเธอเองที่จะไปทำงานต่างประเทศ เมื่อมีญาติมาชักชวนให้ไปทำงานเย็บผ้าที่ฝรั่งเศส ด้วยข้อจูงใจเดียวคือ ‘เงินเดือนดี’

สามีภรรยาได้กลับมาอยู่ด้วยกันเพียง 3 เดือน อรก็ต้องเดินทาง เธอจ่ายค่านายหน้าไป 120,000 บาท ถือเป็นเงินไม่ใช่น้อยในปี 1999 ในวันเดินทางอรและญาติอีกสองคนที่จะไปทำงานด้วยกันไปรอเอเจนซีที่สำนักงานย่านวงเวียนใหญ่ โดยมีนัดหมายว่าเครื่องบินจะออกจากดอนเมืองตอนตี 1 ระหว่างนั่งรอราว 6 โมงเย็น ตำรวจบุกเข้ามาจับเอเจนซีและเรียกพวกเธอไปเป็นพยานที่สถานีตำรวจ อรโดนสอบปากคำถึงสาเหตุการเดินทางไปฝรั่งเศส เนื่องจากพวกเธอมีเพียงวีซ่าท่องเที่ยว อรอ้างว่าจะไปเยี่ยมญาติ …แน่นอน ตำรวจไม่เชื่อ

“อย่างพวกคุณเหรอจะไปเยี่ยมญาติ เป็นชาวไร่ชาวนาจะเอาเงินมาจากไหน”

ตำรวจบอกว่าต้องประกันตัวเอเจนซีหนึ่งแสนบาท อรยอมถอดสร้อยทองหนักหนึ่งบาทสองสลึง รวบรวมทองของญาติอีกคนละบาทเอาไปจำนำมาวางเงินประกัน เอเจนซีจึงถูกปล่อยตัวและไปส่งพวกเธอที่สนามบิน

“เราไม่เคยไปต่างประเทศ เขาบอกว่าจะเอากระเป๋าไปเช็กอินให้แล้วเข็นกระเป๋าพวกเราไปเลย ในนั้นมีเสื้อผ้าใหม่ๆ และกล้องที่แฟนเราเพิ่งซื้อมาจากไต้หวัน พอเครื่องบินไปลงที่สเปนเราก็คอยกระเป๋า นั่งคอยข้ามวัน สุดท้ายคือเขาไม่ได้เช็กอินกระเป๋ามา แล้วเอาของเราไปเลย”

หนึ่งในทีมเอเจนซีที่เดินทางมาด้วยกันกล่อมพวกเธอว่ากระเป๋าจะตามมาทีหลังและซื้อตั๋วรถไฟให้พวกเธอนั่งไปปารีสโดยมีเพียงเงินสดติดตัวสองหมื่นบาทและเสื้อผ้าหนึ่งชุดที่สวมใส่มา

อรมาถึงปารีสตอนเช้าโดยนัดหมายกับญาติที่ทำงานอยู่ในปารีสให้มารับ พวกเธอนั่งรอทั้งวันโดยไม่ได้กินข้าวก็ยังไม่มีใครปรากฏตัว จนเดินออกมานอกสถานีรถไฟจึงเจอญาติที่มารอรับแต่หาพวกเธอไม่เจอ

ญาติพาพวกเธอไปที่บ้านพัก เป็นห้องเช่ากว้าง 20 ตารางเมตร นอนรวมกัน 8 คน พวกเธอจึงได้อาบน้ำและกินข้าว หลังจากดื่มแต่น้ำเปล่าอยู่ 2-3 วัน ด้วยความกลัวตำรวจและพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้

ชีวิตแรงงานผิดกฎหมาย

ลำบาก…ไม่ต่างจากไทย

อรเริ่มทำงานที่โรงงานเย็บผ้าเล็กๆ ของคนตุรกี เธอใช้เงินสองหมื่นบาทที่ติดตัวแลกกับการได้มาซึ่งเอกสารเพื่อให้เจ้าของโรงงานรับเข้าทำงาน

6 เดือนแรกในปารีสผ่านไปอย่างยากลำบาก อรร้องไห้ทุกวันด้วยความคิดถึงลูก ตอนจากมาลูกคนที่สองเพิ่ง 3 ขวบยังไม่หย่านมแม่ เธอต้องซื้อบัตรโทรศัพท์ราคา 50 ฟรังก์โทรหาลูกทุกวัน แค่วันละไม่กี่นาที

“โทรหาทีไรลูกก็ร้องไห้หาแม่ เราก็ใจไม่ดี แต่ต้องสู้ เพราะมาแล้วเป็นหนี้อยู่แสนกว่าบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7”

อรได้เงินเดือนอยู่ราวเดือนละ 7,000-8,000 ฟรังก์ หากเดือนไหนตำรวจเข้าร้านก็จะไม่ได้เงิน เนื่องจากเจ้าของโรงงานต้องจ่ายค่าปรับจากการจ้างงานคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เธอจ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 1,000 ฟรังก์ ในห้องเล็กๆ ที่อยู่รวมกัน 8 คน โดยซื้อปลายข้าวมาหุงกินและหารค่าอาหารกัน หลายครั้งอรเลือกที่จะ ‘เก็บขยะกิน’ หลังตลาดนัดขายของสดวาย เธอจะไปเก็บผักผลไม้หรือหัวปลาที่ร้านค้าทิ้งไว้ในถังขยะ เอามาล้างแล้วต้มกิน เพื่อจะได้มีเงินเหลือส่งกลับไทยไปให้ลูก

อรย้ายที่อยู่หลายครั้ง บางครั้งต้องนอนในโรงงาน ใช้กระดาษลังปูนอนใต้จักร เมื่อโรงงานไม่มีห้องอาบน้ำ ไม่มีเครื่องทำน้ำร้อน เธอกับเพื่อนก็ต้องต้มน้ำใส่ขวดหาผ้ามาเช็ดตัวเท่าที่พอจะทำได้

“เราไม่ได้มองว่ามันคือความลำบาก เราเป็นคนต่างจังหวัด คนชนบท ตอนเด็กๆ ก็นอนตามพื้นเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนอื่นอาจเป็นเรื่องลำบาก บางคนก็ร้องไห้ เขารับไม่ได้ อย่างที่ไปเก็บขยะกิน เพื่อนเราที่ไปด้วยกันเขาอาย ไม่กล้าทำ แต่เราไม่อาย เพราะถ้าไม่ทำก็ต้องไปซื้อกิน ทั้งที่เราได้เงินไม่มาก โดยเฉพาะช่วงแรกที่ทำงานแล้วไม่ค่อยได้เงิน เพราะต้องคอยหลบตำรวจ ช่วง 6 เดือนแรกเราเดินไปทำงานตลอด ไม่ใช้รถไฟใต้ดิน เพราะกลัวเจอตำรวจ ไกลแค่ไหนก็เดิน ตื่นตี 5 เผื่อเวลาเดินไปทำงาน แต่มันไม่ใช่ความลำบากสำหรับเรา ตอนอยู่บ้านที่ไทยก็ต้องเดินไปนา ไม่ได้ต่างกัน

“บางคนอาจเห็นว่าการนอนหลายๆ คนเป็นความลำบาก แต่อยู่ที่บ้านเราก็นอนอย่างนี้ พ่อแม่พี่น้องนอนเรียงกัน ไปทำนาต้องหาบกล้า แบกข้าวหนักๆ สิ่งที่เราเจอที่นี่จึงเป็นเรื่องปกติ ด้วยความที่เราเป็นคนจน ทำไร่ไถนา แบบนี้เลยไม่ถือเป็นความลำบาก”

เธออยู่อย่างกระเบียดกระเสียร ส่งเงินกลับมาที่ไทยเพื่อใช้หนี้และเป็นค่านมลูก อดทนอยู่ 5 ปี หนี้จึงหมด ระหว่างนั้นเธอก็ย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ เพราะที่ทำงานแต่ละแห่ง เมื่อทำไปสักพักเจ้าของก็ปิดร้าน เพราะถูกตำรวจมาจับคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

“บางทีทำงานทั้งเดือนแล้วไม่ได้เงิน เพราะเถ้าแก่โดนตำรวจเข้าร้าน เราทำงาน 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม สิ้นเดือนไม่ได้เงินสักบาทแต่ไม่โกรธ ไม่ได้คิดว่าเขาโกง ก็เข้าใจว่าเขาโดนปรับจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเรา เขาเสี่ยงรับเราที่ไม่มีบัตร ตำรวจเข้าทีก็ตัดสายไฟยกหัวจักรไปเลย พอไม่ได้เงินเราก็ไปทำที่อื่น ดีเท่าไหร่แล้วที่ไม่โดนจับ”

อรเล่าว่าหลายครั้งที่เธอไม่โดนจับ เพราะเจ้าของร้านไว้ใจ ด้วยความที่เธอขยัน ทำงานดี จนเจ้าของร้านฝากกุญแจให้เธอมาแต่เช้าเพื่อเปิดร้านและทำความสะอาด เธอเย็บผ้าเร็วจนได้ค่าตอบแทนมากกว่าเพื่อน เวลาตำรวจเข้าร้าน เจ้าของร้านก็จะช่วยกันไว้ไม่ให้เธอโดนจับ

แม้ว่าเธออาศัยอยู่โดยผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล อรมาถึงฝรั่งเศสปี 1999 ต่อมาในปี 2000 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศให้คนไม่มีเอกสารทำงานสามารถไปยื่นเอกสารขอมีบัตรสำหรับรับสวัสดิการของรัฐได้ ทำให้เธอเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี ต่อมาเธอมีปัญหาสุขภาพทำให้ต้องผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดเธอถูกส่งไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลพักฟื้นเฉพาะทางเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“โรงพยาบาลบริการดีมาก หมอใจดี เขามีสอนภาษา มีกายภาพบำบัด มีสระว่ายน้ำ ทำกายภาพเสร็จพยาบาลก็เข็นออกไปรับอากาศด้านนอก หน้าร้อนมีสวนดอกไม้สวยงาม อาหารการกินก็ดีอย่างกับโรงพยาบาลเอกชนในไทยเลย มีเมนูให้เลือกว่าพรุ่งนี้เราจะกินอะไร แต่ตอนนั้นเรากินอาหารฝรั่งไม่เป็น ขนมปัง นม ชีส สลัด มีให้เลือกเยอะ เรากินได้แต่นมกับขนมปัง อยู่ไม่ครบ 6 เดือนก็ขอกลับ ผอม เหงา อยู่ไม่ไหว

“เราไม่เสียเงินเลย เขารักษาเราดีมาก เราจึงชอบฝรั่งเศส ตอนที่เราขอออกจากโรงพยาบาลเขาก็ถามว่าที่พักเราเป็นอย่างไร แล้วเขาส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบห้องเช่าเราว่าเหมาะสมสำหรับคนนั่งวีลแชร์ไหม บันไดสูงไหม มีห้องน้ำสำหรับวีลแชร์เข้าได้ไหม พอตรวจสอบผ่านเขาจึงให้เรากลับมาอยู่บ้าน”

หนังสือสอนภาษาฝรั่งเศสที่เป็นคัมภีร์ของอร เธอซื้อมันที่ร้านขายของไทยในปารีส อรเริ่มต้นจากการหัดนับเลขและติดคำศัพท์ที่ใช้ในงานเย็บผ้าไว้ที่หัวจักร เช่น คำว่าแขนเสื้อ คอเสื้อ และพยายามหยิบหนังสือพิมพ์ฟรีตามสถานีรถไฟใต้ดินมาหัดอ่าน เธอเรียนรู้ภาษาจากการทำงาน ซึ่งเป็น ‘ศัพท์ตลาด’ หมายถึงภาษาไม่สุภาพ ทุกวันนี้อรพูดภาษาฝรั่งเศสคล่อง แต่เวลาเขียนเช็คหรือทำเอกสารการเงิน เธอยังต้องเปิดหนังสือสอนภาษาเล่มนี้มาทวนเพื่อป้องกันความผิดพลาด

ลงหลักปักฐาน

เมื่อการกลับไปไม่มีอนาคต

อรเล่าว่าสมัยนั้นฝรั่งเศสไม่ได้เปิดกว้างเรื่องการรับแรงงานต่างชาติและไม่มีช่องทางยื่นขอใบอนุญาตทำงานเช่นในปัจจุบัน คนที่เข้ามาส่วนมากจึงเป็นการมาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทั้งคนจีน ตุรกี โปรตุเกส ส่วนคนไทยจะมาจากภาคอีสานมากที่สุด รองมาเท่าที่เห็นคือภาคกลางและภาคใต้ ส่วนใหญ่จะมาทำงานเย็บผ้าและทำงานเก็บผลไม้ตามสวนทางภาคใต้และภาคเหนือของฝรั่งเศส

“จะมีงานเก็บพวกลูกเชอร์รี สตรอเบอร์รี หรือถั่ว เขาจะมีคอนเทนเนอร์ตั้งไว้ให้นอนตามสวน คนไทยที่ไปทำงานที่นั่นจะระแวงเรื่องถูกจับน้อยกว่าการทำงานในปารีส แต่เวลาตำรวจมาที่สวนก็ต้องออกไปแอบกัน มันลำบากแหละ แต่คนที่เคยไปทำงานเขาบอกเราว่าอยู่สวนมันสนุกกว่าในเมือง เราเป็นคนอีสาน ชินกับการทำไร่ทำนา พออยู่สวนก็มีผลหมากรากไม้ให้กิน”

แม้ว่าอรจะไม่เคยถูกจับ แต่เคยมีประสบการณ์ที่เพื่อนสนิทถูกจับ

“มีเพื่อนคนหนึ่งเย็บผ้าเก่งมาก เราผูกแขนเป็นเพื่อนรักกัน ช่วยเหลือกัน เขาไม่มีบัตร ไปทำงานแล้วโดนจับเข้าคุก เราก็ซื้อกับข้าวไปฝาก ขอนิตยสารจากร้านขายของไทยไปให้เขาอ่านฆ่าเวลา มีอยู่วันหนึ่งเราเข้าไปเยี่ยมแล้วเจ้าหน้าที่ขอตรวจพาสปอร์ต เรากลัวมาก จังหวะนั้นตำรวจกลุ่มหนึ่งกำลังพาผู้ร้ายเข้ามาในตึก เขาก็กันคนที่ไม่เกี่ยวข้องออก เราเลยวิ่งหนีออกมา ตอนนั้นกลัวมากว่าเขาจะส่งตัวเรากลับ หลังจากนั้นเราเลยคิดเรื่องอยากมีบัตรให้ถูกกฎหมาย”

ในยุคนั้นหนทางเดียวในการมีบัตรให้ถูกต้องของคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายคือการแต่งงานกับคนฝรั่งเศส ต่างจากปัจจุบันที่นายจ้างสามารถยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ลูกจ้างได้ อรมาอยู่ฝรั่งเศสได้ 8 ปีก็ได้รู้จักผู้ชายฝรั่งเศสคนหนึ่งในงานวันเกิดเพื่อน ผู้ชายคนนั้นอยากเรียนภาษาไทย เพื่อนจึงแนะนำให้รู้จักกับเธอ

อรยอมรับว่าช่วงนั้นครอบครัวเธอเริ่มมีปัญหา เธอรับรู้ว่าตั้งแต่เธอมาฝรั่งเศสได้ไม่กี่ปี สามีที่ไทยก็ไปมีผู้หญิงอื่น ที่ผ่านมาเธอยอมปิดตาข้างหนึ่งเพื่อให้สามียังอยู่ดูแลลูกๆ การที่เธออยู่ฝรั่งเศสก็เพื่อทำงานส่งเงินกลับไปให้ลูก หวังให้ลูกมีการศึกษาที่ดีและเข้าถึงโอกาสที่เธอไม่เคยมี

อรตัดสินใจไม่กลับไปใช้ชีวิตที่ไทยอีก ไม่นานนักเธอก็แต่งงานกับผู้ชายฝรั่งเศส หลังจากจดทะเบียนแล้วเธอก็ซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไทยเพื่อทำเรื่องวีซ่าให้ถูกต้อง โดยที่ครอบครัวของเธอรับรู้การตัดสินใจนี้

เมื่อกลับมาไทย เธอพยายามยื่นเอกสารอยู่สามรอบ เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปีจึงได้วีซ่า พร้อมหนี้ก้อนโตจากค่าตั๋วเครื่องบินและค่ากินอยู่ช่วงไม่ได้ทำงาน หลังจากนั้นเธอกลับมาทำงานเย็บผ้าอย่างถูกกฎหมาย แต่เพียงไม่กี่เดือนพ่อของอรก็เสียชีวิตจากการป่วย เธอกลับมาจัดงานศพให้พ่อที่ประเทศไทย เวลาเดียวกันนั้นแม่ของเธอป่วยอัมพาต ทำให้เธอต้องส่งเงินเป็นค่าดูแลแม่เพิ่ม

“กลับจากงานศพพ่อมาเย็บผ้าได้ 2 เดือนก็ต้องออกจากงาน ตอนนั้นปี 2009 ธุรกิจเสื้อผ้าที่ฝรั่งเศสไม่ดี มีเสื้อผ้าส่งออกจากจีนกับตุรกีที่ค่าแรงถูกกว่า เราเลยเปลี่ยนไปทำงานนวดไทย ฝึกนวดโดยไม่ได้เงินอยู่ 2 เดือน จนได้ทำงานร้านนวด ได้เงินเดือน 1,500 ยูโร ทำตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ไม่มีวันหยุด ทำอยู่ 15 เดือนก็ไม่ไหว เพราะไม่ได้พักเลยสักวัน”

อรย้ายไปทำงานร้านนวดที่ให้เงินเดือนน้อยลง แต่ให้เงินพิเศษหากมาทำงานวันหยุด ทำให้เธอเลือกที่จะทำงานทุกวันไม่หยุดเพราะมีหนี้ก้อนใหญ่จากปัญหาชีวิตช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกันลูกของเธอมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เธอจึงยืมเงินเพื่อนๆ ในปารีสมาเพิ่มเพื่อส่งกลับไปให้ลูก

‘เซ็กซ์เวิร์กเกอร์’ โลกอีกด้านของปารีส

ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาแม่ และหนี้ที่ยืมมาหลายทาง อรหมดหนทางที่จะหาเงินมาให้พอรายจ่าย จึงมีเพื่อนชวนเธอไปทำงาน ‘นวดเซ็กซี่’ หมายถึงการนวดเปลื้องผ้าโดยไม่มีเพศสัมพันธ์กับแขก อรปฏิเสธทันที แต่หลังจากนั่งปรับทุกข์กับเพื่อน เธอก็ตกลงไปทำงานเมื่อเพื่อนบอกว่า “ไปเหอะ ไม่งั้นพี่จะเอาเงินที่ไหนให้ลูก อย่าลืมว่าอนาคตลูกสำคัญที่สุด เราเป็นแม่ต้องยอมทำทุกอย่าง”

วันแรกที่ลองไปทำงานเธอได้เงินสดมามากกว่าหนึ่งร้อยยูโร เธอดีใจที่มีเงินสดในมือ แต่จิตใจถูกบั่นทอน

“กลับบ้านมาร้องไห้ทุกวัน เพื่อนก็ปลอบว่าเราเป็นแม่ ต้องอดทน ไม่งั้นลูกจะมีอนาคตเหรอ เราทำแค่ 2 อาทิตย์ก็ไม่ไหวจึงขอหยุด ได้เงินมาเกือบ 2,000 ยูโร เอาไปใช้หนี้เพื่อน”

อรกลายเป็นคนว่างงาน จังหวะเดียวกับที่มีเจ้าของ ‘ร้านนวดพิเศษ’ ต้องการกลับไทยชั่วคราว จึงชวนให้อรเข้าไปทำแทน โดยจ่ายค่าเช่าร้านอาทิตย์ละ 1,000 ยูโร ทำงานในร้านคนเดียว ไม่มีลูกจ้าง

งานที่ว่าคือการขายบริการ ซึ่งถูกกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสหากเป็นการขายบริการด้วยตัวเอง โดยไม่มีแม่เล้า

“ร้องไห้ทุกวัน แต่ต้องทนเพราะก้าวเข้าไปแล้ว ทำแล้วน้ำตาก็จะไหลทุกครั้ง ลูกค้าบางคนสังเกตเห็นก็สงสาร เข้ามานั่งคุยด้วยเฉยๆ แล้วให้เงิน เราเจ็บปวดในใจ จิตตก คิดแค่ว่าลูกต้องมีอนาคตที่ดีและเราต้องมีเงินดูแลแม่ ทำอยู่หนึ่งเดือนเจ้าของร้านเขากลับมาเราก็เลิก หักค่าเช่าแล้วได้เงินมา 15,000 ยูโร”

อรใช้หนี้จนหมดและเหลือเงินก้อนหนึ่ง ถึงนาทีนี้เธอไม่สามารถกลับไปทำงานร้านนวดไทยได้แล้ว เมื่อคนอื่นรู้ว่าเธอเคยขายบริการ ส่วนธุรกิจร้านผ้าก็ตกต่ำจนงานเย็บผ้าให้เงินเดือนไม่พอกิน มีคนรู้จักมาติดต่ออรให้รับช่วงต่อร้านนวดไทยโดยต้องลงทุนเงินก้อนหนึ่งและผ่อนต่ออีกก้อนใหญ่

เมื่อโอกาสในการเป็นเจ้าของร้านมาถึงอรจึงคว้าไว้ เธอรีบเซ็นสัญญา ก่อนจะพบว่าเป็นการเซ็นรับหนี้ต่อจากเจ้าของเดิมที่ค้างค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และไม่จ่ายภาษี

“เปิดร้านนวดไทยไปได้ 2 เดือน พี่สาวบอกว่าแม่กำลังจะตาย ให้รีบกลับไปไทย เราปิดร้านเลย ยืมเงินเพื่อนกลับไปดูใจแม่ จนแม่เสียชีวิต จัดงานศพเรียบร้อยก็กลับมา ตอนนั้นเป็นหนี้อยู่ 55,000 ยูโร คิดว่าถ้าทำนวดไทยต่อจะไปไม่ไหว เลยเปลี่ยนเป็นร้านนวดเซ็กซี่ พอเริ่มมีลูกค้าก็ใช้หนี้ได้ ประมาณ 2 ปีจึงหมดหนี้”

ร้านของเธอมีทั้งนวดไทยธรรมดาและนวดเปลื้องผ้า ซึ่งเธอย้ำเด็กในร้านเสมอว่าห้ามมีอะไรกับลูกค้า เพราะจะผิดกฎหมายทันทีและตำรวจมีการล่อซื้อ หากเข้ามาตรวจเจอถุงยางอนามัยจะโดนจับทันที

ขณะที่ร้านนวดหลายร้านมีการขายบริการแอบแฝง แต่อรยืนยันว่าเป็นเส้นที่เธอจะไม่ก้าวข้ามไปทำ

ในโลกธุรกิจค้าบริการทางเพศที่ปารีสมีหลายย่านที่เป็นแหล่งรวมตัวของผู้ค้าบริการ เมื่อการยืนหาลูกค้าตามถนนไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นเสรีภาพในร่างกายตัวเอง จะผิดกฎหมายต่อเมื่อมีแม่เล้า แมงดา หรือคนบังคับให้ขายบริการ และการขายบริการก็มีหลายระดับ หลายเชื้อชาติ ทั้งคนฝรั่งเศส รัสเซีย โมร็อกโก จีน มีทั้งแบบยืนขายริมถนน เปิดร้านขายคนเดียว และไซด์ไลน์ นอกจากนี้แถบชานเมืองจะมีสวนที่จอดรถตู้เรียงรายให้คนขายบริการเช่ารถเพื่อใช้รับลูกค้า

ค่าบริการต่ำสุดที่อรรู้มาคือ 30-40 ยูโร สำหรับผู้ค้าบริการแบบยืนริมถนนที่อายุมาก ส่วนคนที่เปิดร้านขายบริการคนเดียวราคาประมาณ 150-200 ยูโร แต่ที่ราคาสูงคือไซด์ไลน์ซึ่งมีนักศึกษาหญิงมาทำเยอะ อรเคยรู้จักนักศึกษาต่างชาติที่เรียนปริญญาโทไปด้วยทำไซด์ไลน์ไปด้วย จนสามารถซื้ออพาร์ตเมนต์ที่ฝรั่งเศสได้สองแห่งและส่งเงินกลับไปปลูกบ้านให้พ่อแม่ เมื่อเรียนจบก็เลิกทำไซด์ไลน์และไปทำงานตามที่เรียนมา

เคยมีข่าวที่คนไทยเปิดร้านนวดแล้วมีขายบริการจนถูกจับ ต้องปิดร้าน แต่อรตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่โดนจับเพราะหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะร้านที่มีลูกค้าเดินเข้าออกทั้งวัน แต่ยื่นภาษีน้อย

ส่วนอรเองเมื่อมาเป็นเจ้าของร้านเธอพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการจ่ายภาษี เธอยอมรับว่าเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและภาษีมูลค่าเพิ่มของฝรั่งเศสต้องจ่ายหนักมาก แต่เงินที่จ่ายไปก็ได้คืนกลับมาเป็นรัฐสวัสดิการ

‘ชีวิตที่เท่าเทียม’ โอกาสที่หาไม่ได้ในไทย

“เราจ่ายภาษีแพงแต่ยินดีจ่าย เพราะเราได้คืนกลับมาจากภาษีที่จ่ายไป การคมนาคมก็ดี รัฐสวัสดิการก็ดี โรงพยาบาลก็ดี ไม่เหมือนบ้านเรา ที่ไทย VAT 7% แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย”

เธอยอมรับว่าคนฝรั่งเศสจำนวนมากไม่พอใจเรื่องการเก็บภาษีสูง โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนนโยบายภาษีกระทบคนรายได้น้อยมากขึ้น เพราะหากรับค่าแรงขั้นต่ำ แค่จ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยซึ่งราคาสูงมากก็เหลือเงินไม่เท่าไหร่แล้ว คนฝรั่งเศสจึงไม่พอใจ แต่ส่วนตัวเธอที่เป็นคนทำธุรกิจอยู่ในระดับกลางยังไม่ได้รับผลกระทบ

การมีรัฐสวัสดิการเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อรตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ฝรั่งเศส ด้วยความรู้สึกว่าประเทศนี้ทำให้เธอรู้สึกเท่าเทียมกับคนอื่น

“ไม่อยากกลับไปอยู่ไทย กลับไปก็ไม่รู้จะทำอะไรกิน ที่เมืองไทยเราเป็นคนจน ต้องอยู่ในสังคมอีกแบบ ทำงานในกรุงเทพฯ ก็เป็นเหมือนคนบ้านนอก โดนดูถูก โดนเหยียด แต่ที่ปารีสไม่มีแบบนั้นเลย ทุกคนเท่ากันหมด คนไทยจบปริญญาตรี-ปริญญาโทมาทำงานที่นี่ทุกคนเท่ากันหมด คุณไม่ได้เหนือกว่าเรา สวัสดิการก็ดี ทำให้คนที่มาอยู่ที่นี่ไม่อยากกลับไปอยู่ไทยอีกแล้ว”

แน่นอน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อร ‘ย้ายประเทศ’ จากครอบครัวมาทำงานไกลคือการหาเงินส่งให้ลูก

“เราการศึกษาน้อย สู้คนอื่นไม่ได้ เราไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนเรา ลูกเราต้องมีการศึกษา ถ้าเรากลับไปอยู่ไทย ที่บ้านเราทำนา ก็ไม่มีเงินพอส่งลูกเข้ามหา’ลัย ทำให้เราต้องหาเงินอยู่ที่นี่ ต้องส่งลูกให้เรียนจนสูง แล้วก็คิดว่าจะทำยังไงให้พ่อแม่พี่น้องสบาย มีอยู่มีกิน ถ้าทำนาก็ไม่มีเงินสร้างบ้านให้พ่อ ไม่มีเงินซื้อรถ แต่พอมาอยู่ฝรั่งเศสเรามีเงินซื้อรถให้พ่อได้ ปลูกบ้านให้พ่ออยู่ได้”

นอกจากพ่อแม่และลูกของอรแล้ว การมาทำงานต่างประเทศของเธอยังทำให้ชีวิตพี่น้องทุกคนดีขึ้น เธอซื้อรถไถและรถเกี่ยวข้าวให้น้อง ซื้อที่ไร่นา ให้ทุนไปเลี้ยงหมู เลี้ยงวัวควาย ปลูกผัก เลี้ยงปลา ให้น้องๆ ทุกคนมีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเธอคนเดียวทำให้คนทั้งครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ที่จริงมันไม่ใช่หน้าที่เราหรอก ทุกคนก็ต้องมีชีวิตของตัวเอง แต่ทุกคนไม่มีโอกาสมาทำงานอย่างเรา เราจึงต้องรับเอาหน้าที่นี้ไป จริงๆ แล้วรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่เราก็ไม่มีรัฐสวัสดิการ ฉะนั้นมีเราคนเดียวที่สามารถดึงญาติพี่น้องขึ้นมาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าอดีตได้

“ถามว่าทำไมเราต้องรับผิดชอบพี่น้อง เพราะเป็นเราคนเดียวที่มีโอกาสมาอยู่ที่นี่ ซึ่งการอยู่นี่เราหาเงินได้ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม เราได้เงินยูโร เหรียญนึงก็หลายบาทแล้ว”

แม้เธอจะไม่คิดกลับมาใช้ชีวิตที่ไทยอีกแล้ว สิ่งเดียวที่เธอเสียดายเมื่อมองย้อนกลับไปคือการไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แม้จะพยายามทดแทนด้วยเงินทองและให้ลูกได้มีโอกาสในชีวิต ทั้งการศึกษาและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างที่เธอไม่เคยมีมาก่อน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเติมเต็มความสัมพันธ์แม่ลูกที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันได้

“ปัจจุบันนี้ขอแค่เรามองไปแล้วคนในครอบครัวมีความสุขก็ดีแล้ว สำหรับตัวเราเองไม่เป็นไรหรอก เราต้องออกจากบ้านมาทำงานตั้งแต่เด็ก อยู่คนเดียวมาตลอด ตอนนี้เราก็คิดว่าปารีสคือบ้าน สำหรับที่นี่ต่อให้เป็นคนแก่อยู่คนเดียวก็อยู่ได้เพราะมีรัฐสวัสดิการ”

เธอยิ้มมั่นใจและหมายความตามที่พูด

“ต่อให้ต้องอยู่ที่นี่คนเดียวก็ยังดีกว่ากลับไปอยู่เมืองไทย”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save