fbpx

แนวโน้มการโกงข้อสอบด้วย ChatGPT: แม้ไม่รู้ แต่ทำไมเราต้องกังวล?

ตอนก่อนผมเล่าไปว่า ChatGPT (และ AI ในลักษณะเดียวกัน) มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยเด็กโกงสอบในวิชาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ได้และอาจข้ามไปถึงระดับปริญญาโท พร้อมกับเสนอว่า คนในแวดวงความรู้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยควรกังวลเรื่องนี้ให้มาก อย่างไรก็ตาม การนำเสนอเช่นนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่า มนุษย์พร้อมจะเลือก ‘ทางง่าย’ อยู่เสมอ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าทางเลือกนั้นผิดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเห็นต่างจากผมในเรื่องนี้ด้วยเชื่อว่า ต่อให้โมเดลโกงได้จริง นักเรียนและนักศึกษาก็อาจจะไม่ใช้โกงก็ได้? เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้ก็มีเครื่องมือสารพัดที่สามารถใช้โกงในลักษณะคล้ายกันนี้ได้ เช่น การจ้างคนทำรายงานและเขียนบทความให้ ซึ่งคนในแวดวงต่างรู้ดีว่ามีตลาดนี้ แต่ก็ใช่ว่านักศึกษาจำนวนมากจะใช้บริการดังกล่าว อาจเพราะไม่เห็นด้วย ไม่ได้สนใจ เข้าไม่ถึง หรือมองว่าไม่ได้คุณภาพก็ตาม

เช่นเดียวกับตลาดจ้างคนทำงานส่งแทน การประเมินแนวโน้มการใช้ ChatGPT ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว คนนอกไม่สามารถไปนั่งนับนิ้วเก็บข้อมูลได้ เอาเข้าจริงต่อให้นั่งอยู่ในห้องเดียวกันยังยากจะรู้ว่าเด็กที่นั่งตรงข้ามกับเราใช้หรือไม่ได้ใช้ ChatGPT ทำอะไร แค่ไหน อย่างไร หากไปไล่ถาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะได้คำตอบแบบง่ายๆ

แต่เท่าที่สืบค้นมา ผมเจอข้อมูลบางอย่างที่อาจจะช่วยให้เราคาดคะเนเรื่องนี้ได้ โดยข้อมูลที่ว่าแบ่งเป็นผลสำรวจสองชุด กับอีกหนึ่งข้อสังเกต แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเอาทั้งหมดมาเรียงร้อยกันก็พอจะบอกได้ว่ามหาวิทยาลัยไทยกังวลเรื่องนี้ไว้หน่อยน่าจะดี

งานสำรวจชิ้นแรกมาจากการสำรวจนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป 1,000 คน โดยเว็บไซต์ BestColleges.com พบว่ามีผู้เรียนกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ที่มีประสบการณ์ใช้โมเดลดังกล่าว และกว่า 32 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบหนึ่งในสามมีเจตนาใช้โมเดลช่วยทำงานที่อาจารย์สั่งหรือใช้ทำข้อสอบ

สมมติเราตั้งเกณฑ์ฟันธงแบบหยาบๆ ไว้ก่อนว่า การใช้ ChatGPT ทำการบ้านหรือข้อสอบโดยเจตนา ถือว่าเข้าข่ายโกง จะเห็นว่าหนึ่งในสามเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยนะครับ (เดินมา 3 คน โกง 1 คน) แต่หากยังสนใจเรื่องโกงหรือไม่โกง สิ่งที่บอกได้ชัดเจนคือ ChatGPT ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้ว และเดาได้ไม่ยากว่าแนวโน้มนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  

ส่วนอีกข้อมูลทำนองเดียวกันที่อยากชวนดูคือผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่พบว่านักศึกษาของตน 47.3% จาก 400 คนยอมรับว่าใช้ ChatGPT หรือ AI chatbots อื่นช่วยทำงาน โดยหนึ่งในห้าของผู้ใช้ระบุว่าตนใช้ ‘บ่อย’ หรือ ‘เสมอ’

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ล่าสุดผมพบอีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือเวลาผมลองเข้าไปเล่นกับ ChatGPT มักจะเจอการเข้าถึงเว็บดังกล่าวค่อนข้างยากมากในบางช่วงเวลาสำหรับคนที่ไม่ได้สมัครสมาชิกระดับพรีเมียมเอาไว้ เพราะมีคนใช้เยอะแล้วเว็บรองรับไม่ไหว ด้วยความสงสัยใคร่รู้ ผมเลยลองค้นดูว่าในปี 2023 ที่ผ่านมาตามปกติคนจะเข้าใช้ช่วงไหน แล้วก็เจอว่าในกรณีประเทศอังกฤษ (ผมอยู่อังกฤษ) เว็บจะชุลมุนตั้งแต่ช่วงมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะเป็นไปได้ว่า ChatGPT เพิ่งเปิดตัวในช่วงธันวาคม 2022 ดังนั้นช่วงต้นปี 2023 คนอาจจะยังไม่รู้จักเว็บไซต์มากนัก แต่ที่น่าสนใจคือความชุลมุนดังกล่าวลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน ก่อนจะตกลงในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนจะกลับมาพีกอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ลองไปดูเทรนด์ในประเทศอเมริกาก็คล้ายกัน

ปริมาณการสืบค้นคำว่า ‘ChatGPT’ ใน Google Search Engine ในสหราชอาณาจักรตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา

ปริมาณการสืบค้นคำว่า ‘ChatGPT’ ใน Google Search Engine ในสหรัฐอเมริกาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา

คนที่คุ้นเคยกับปฏิทินการศึกษาในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ความฮอตฮิตของ ChatGPT นั้นขึ้นลงสัมพันธ์กับกำหนดสอบในแต่ละเทอม กล่าวคือในช่วงสอบคนจะใช้เป็นจำนวนมาก พอสอบเสร็จก็เลิกใช้กัน

ผมมีโอกาสสนทนากับรุ่นน้องที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่หลายคนและก็ได้รับการยืนยันว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นความรู้ทั่วไป (common knowledge) ของนักศึกษาแล้ว บางคนถึงกับรีบเริ่มใช้ ChatGPT ในการเขียนงานส่งเร็วกว่าชาวบ้านเพราะกลัวจะเข้าใช้เว็บช่วงชุลมุนไม่ได้

ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้นนะครับที่มีความเสี่ยงที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อ ‘โกง’ ฝั่งนักเรียนอาจตอบกลับว่าที่เว็บล่ม เพราะพวกอาจารย์นั่นแหละที่เข้ามาใช้ ChatGPT ออกข้อสอบและตรวจงาน ซึ่งเรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นจริง นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเคยจับได้ว่า อาจารย์ของเขาตรวจงานกลางภาค ซึ่งเป็นเรียงความหลักพันคำโดยใช้เวลาแค่ชิ้นละไม่ถึงห้านาที (ฮา)

ข้อมูลเหล่านี้บอกไม่ได้ว่านักศึกษา (และครูอาจารย์) มีแนวโน้มใช้ ChatGPT ในการโกงมากแค่ไหน เพราะการใช้เทคโนโลยีสามารถทำได้หลายแบบ หากให้เล่าจากประสบการณ์ตรง ผมก็เล่าได้เลยว่าเด็กต่างชาติจำนวนมากที่มาเรียนปริญญาโทในอังกฤษใช้ ChatGPT กันกระจุย และใช้ในความเข้มข้นในระดับที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ช่วยหาข้อมูล วางโครงร่างงาน ตรวจแก้ภาษา บางคนใช้ทำงานสอบทั่วไป บางคนใช้ทำวิทยานิพนธ์ และมีแบบที่ใช้กันแบบเข้มข้นชนิดที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทไปแบบยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวิชาเรียนชื่อว่าอะไร

แน่นอนที่สุดว่าต่อให้ผมจะประสบพบเจออะไรมาก็ฟันธงไม่ได้อยู่ดีว่าแนวโน้มในการโกงของนักศึกษาจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าให้ผมสรุปว่า ในสังคมไหนก็ตาม อย่างน้อยต้องมีคนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะโกงระบบเมื่อโอกาสอำนวย เรื่องนี้คงไม่มีใครปฏิเสธหรือหาว่าผมเคลมข้อมูลเกินจริง 

ในแง่นี้ การคาดคะเนที่ว่านักศึกษาจำนวนมากจะใช้ ChatGPT โกงในการเรียนหนังสือจึงไม่ใช่การตั้งแง่ เพราะคุณลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลคือ ‘ปริมาณ’ และ ‘ขนาด’ ของธุรกรรมที่โลกแอนะล็อกเทียบไม่ได้เลย การที่ตลาดการจ้างเขียนรายงานยังมีลักษณะจำกัด ก็เพราะราคาค่าบริการแพง ผู้ให้บริการที่มีนั้นคุณภาพมีจำกัด (การผลิตงานใช้เวลานาน และกว่าจะรู้ว่างานได้คุณภาพไหมก็ต้องใช้เวลาทำจนกว่าจะเสร็จ) ความเสี่ยงก็สูง (มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง การใช้บริการต้องอาศัยความไว้วางใจกันระดับหนึ่ง) แต่ Chat GPT ยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น กลุ่มเล็กๆ ที่ว่าจึงมีโอกาสขยายตัวกลายเป็น ‘จำนวน’ ที่มีนัยสำคัญได้

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การใช้เทคโนโลยีเพื่อ ‘โกง’ แล้ว มีแนวโน้มที่จะทำให้พฤติกรรมลุกลามขยายตัวด้วย นักศึกษาที่ไม่อยากโกงอาจถูกสถานการณ์บังคับให้คิดว่าต้องโกงไปด้วย เนื่องจากผลการเรียนเป็นเรื่องของการแข่งขัน หากคนอื่นใช้แล้วเราไม่ใช้จะทำให้เสียเปรียบอะไรทำนองนั้น

ในบางแง่ การเป็นผู้ตามทางเทคโนโลยีก็มีข้อดีอยู่บ้าง มหาวิทยาลัยและสถาบันความรู้ในประเทศไทยมีโอกาสในการเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ซึ่งเป็นโอกาสแบบที่มหาวิทยาลัยตะวันตกซึ่งเป็นด่านทดลองแรกของ ChatGPT ไม่มี และต่อให้มีโอกาสที่ความกังวลเหล่านี้จะไม่เป็นจริง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหากเราจะคิดวางแผนรับมือกรณีที่แย่ที่สุดไว้ก่อน แบบเดียวกับการวางแผนรับมือภัยพิบัติอะไรทำนองนั้น หากไม่ทำเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ทิ้งข้อดีในฐานะผู้ตาม (ซึ่งมีสถานะแย่อยู่แล้ว) ไปอย่างน่าเสียดาย

การจะคลี่คลายวิกฤตดังกล่าวต้องตั้งต้นจากการเข้าใจวิธีการทำงานของ ChatGPT ข้อจำกัด รวมถึงทางเลือกยุทธศาสตร์ในการรับมือและปรับใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ ไว้เดี๋ยวผมจะเอาผลวิจัยที่น่าสนใจของสถาบัน STIPI มาทยอยคลี่ให้ฟังต่อครับ


บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save