fbpx

‘เครื่องคิดเลข’ – ‘ChatGPT’ และการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์

ตอนที่ 1 มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม? เมื่อ ChatGPT และ AI ทำให้เราเรียนจบได้เหมือนกัน

ตอนที่ 2 แนวโน้มการโกงข้อสอบด้วย ChatGPT: แม้ไม่รู้ แต่ทำไมเราต้องกังวล?

ตอนที่ 3 ChatGPT ทำอะไรได้บ้างและมีจุดอ่อนตรงไหน?: สิ่งที่ต้องรู้ก่อนปรับตัวรับมือ

ตอนที่ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำกับยุทธศาสตร์รับมือ ChatGPT ด้วยการกระจายอำนาจ: ตอบโจทย์ แต่ยังไม่พอ

จากเรื่อง ChatGPT กับโลกการศึกษาที่ผมเขียนถึงในตอนก่อนๆ นั้น ที่จริงแล้วเรื่องเทคโนโลยีกับความตื่นตระหนกของมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยก่อนเมื่อคนหนุ่มสาวชาวกรีกเข้าถึงเครื่องมือการเขียน เขาก็ตื่นตระหนกว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่สูญเสียทักษะการจดจำ ในยุคที่มีการเข้าถึงวิทยุและโทรทัศน์ก็เคยสร้างความกังวลให้ครูและผู้ปกครองว่าจะไปขัดขวางการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก ตอน Google Search เกิดขึ้นใหม่ๆ มหาวิทยาลัยก็เคยหวาดผวาว่าต่อไปนักการศึกษารุ่นใหม่จะสืบค้นทำวิจัยกันไม่เป็น

บางคนเรียกวังวนแบบนี้ว่า ‘วัฏจักรซิซิฟัสของความตื่นตระหนกเกี่ยวกับเทคโนโลยี’ (the Sisyphean cycle of technology panics)

แต่ในบรรดากรณีทั้งหมดนี้ไม่มีกรณีไหนชัดเจนเท่ากรณีเครื่องคิดเลขในยุคแรกเริ่ม ในบทความตอนนี้ผมจึงจะชวนผู้อ่านมองข้อเสนอที่ผมเรียกว่า ‘การปรับตัวอย่างสร้างสรรค์’ แนวคิดที่ว่ามาจากการถอดบทเรียนจากกรณีเครื่องคิดเลขนี่แหละครับ

บทความตอนที่แล้วผมเล่าให้ฟังว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่มีท่าทีต่อ ChatGPT แบบกระจายอำนาจ คือปล่อยให้คนสอนระดับปฏิบัติการตัดสินใจเองว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ChatGPT มากน้อยแค่ไหน ที่จริงแล้วแนวคิดเบื้องหลังยุทธศาสตร์กระจายอำนาจที่ว่าก็คือการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งโดยสังเขปหมายถึงการผสมผสาน ChatGPT เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และสถานศึกษาโดยรวม

โดยผมเล่าไปแล้วว่า แนวทางการกระจายอำนาจอาจไม่ได้ผล เพราะคนสอนที่ได้รับอำนาจไปนั้นไม่ปรับตัว ถ้าอธิบายโดยใช้คำที่เพิ่งเล่าก็อาจจะพูดได้ว่าการกระจายอำนาจอาจพามหาวิทยาลัยไปไม่ถึงการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์แบบที่เขาฝันกันไว้ ก่อนจะไปถึงคำถามว่าแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะไปถึงการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์ ผมขอแวะเล่าเรื่องเครื่องคิดเลขหน่อยครับ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ เครื่องคิดเลขไฟฟ้ากำเนิดประมาณปี 1957 ก่อนที่จะค่อยๆ ลดรูปลงสู่ขนาดพกพา รวมถึงมีราคาถูกลงจนถึงหลักสิบดอลลาร์ พอราคาถูกลงคนก็ใช้กันมากขึ้น ประมาณการณ์ว่าเมื่อถึงปี 1975 นักเรียนอเมริกา 11 คนจากทุก 100 คนมีเครื่องคิดเลขอยู่ในกระเป๋านักเรียน และเพราะปรากฏการณ์นี้แหละครับที่กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันให้อเมริกาก็ก้าวเข้าสู่ ‘ยุคสมัยแห่งการแตกแยกขนานใหญ่’ (Era of the Great Divide) ในประเด็นเรื่องการออกแบบหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์

อาจารย์กับผู้ปกครองยุคนั้นเขากลัวว่าเด็กจะใช้เครื่องเลข ‘โกง’ การบ้านหรือข้อสอบวิชาคำนวณครับ (คุ้นๆ หรือยัง) เขาว่าการโกงที่ว่าทั้งผิดกฎ หนำซ้ำยังอาจทำให้นักเรียนไม่สามารถคิดคำนวณพื้นฐานได้ด้วยตนเอง ต่อไปสมมติเด็กโตไปเจอโจทย์ กำไร 20% จากเงินลงทุน 36 บาท เขาก็จะคิดเองไม่เป็น ทำเป็นแต่กดสัญลักษณ์ตามโจทย์ลงบนเครื่องคิดเลขแล้วรอผล ((20 ÷ 100) x 36)

แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนออกมาถามว่า ผลลัพธ์มันจะแย่ขนาดนั้นจริงหรือ? และลึกกว่านั้นคือเด็กจำเป็นต้องคำนวณอะไรแบบนี้เป็นทั้งหมดแค่ไหน? ฝ่ายที่ออกมาตั้งคำถามเขาเห็นว่า แทนที่จะต่อต้าน สถานศึกษาควรรับและสนับสนุนให้เด็กใช้เครื่องคิดเลขเลยดีกว่า แล้วเอาเวลาไปฝึกเด็กทำโจทย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การฝึกเป็นนักบัญชีไม่จำเป็นต้องทำแบบฝึกหัดคิดคำนวณอย่างหนัก แต่ไปเน้นที่ความสามารถในการบริหารจัดการงานและสังเกตความผิดปกติในรายการภาพรวม ลดการฝึกฝนทักษะการคำนวณลงเหลือเพียงความเข้าใจในคอนเซ็ปต์และการคำนวณพื้นฐานในกรณีที่จำเป็น

ตอนนั้นข้อถกเถียงนี้ไปผูกโยงกับบริบทสถานการณ์ ‘สงครามคณิตศาสตร์’ (math war) ด้วยครับ สงครามนี้เป็นสงครามระหว่างนักการศึกษาอนุรักษนิยมที่เชื่อในการสอนคณิตศาสตร์ผ่านการฝึกคิดคำนวณ และใช้สัญลักษณ์ สมการ (mathematic calculation) เป็นพื้นฐานในการเรียนการสอน กับฝ่ายปฏิรูปที่มุ่งเน้นความเข้าใจทางคณิตศาสตร์และการประยุกต์ใช้ในระดับคอนเซ็ปต์ (conceptual math) 

ทั้งสองฝ่ายในสงครามดังกล่าวสนับสนุนหลักสูตรคณิตศาสตร์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายแรกยึดมั่นในแนวทางการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่ให้เด็กจำสัญลักษณ์ ฝึกคำนวณพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความแม่นยำและเชี่ยวชาญในการคำนวณ โดยหลักสูตรจะเน้นการทบทวนบทเรียนเดิม พร้อมทยอยเพิ่มความซับซ้อนของสัญลักษณ์และการคำนวณตามพัฒนาการ

ส่วนฝ่ายหลังเปิดกว้างต่อกระบวนการในการได้มาซึ่งคำตอบในเรื่องการคำนวณขั้นพื้นฐาน เช่น ให้ผู้เรียนสามารถใช้การวาดภาพระบายสีเพื่อหาคำตอบเรื่องเศษส่วนได้ แต่ให้ความสำคัญกว่ากับการทำความเข้าใจคณิตศาสตร์ในระดับแนวคิดและการประยุกต์ใช้แนวคิดเพื่อถอดและแก้โจทย์ปัญหาในโลกจริง เขาตีกันจนถึงระดับที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การบอยคอตโรงเรียน หรือเดินขบวนประท้วงเลยทีเดียว บางทีกรรมาธิการรัฐสภาและประธานาธิบดีถึงกับต้องลงมาแทรกแซง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังตีกันไปมาจนเริ่มเหนื่อยและเริ่มนิ่ง ช่วงหลังข้อถกเถียงเรื่องเครื่องคิดเลขเริ่มเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ คือโจทย์เริ่มเปลี่ยนจากการเถียงกันในลักษณะขาว-ดำ (black and white) ว่าจะใช้หรือไม่ใช้เครื่องคิดเลข ไปสู่การถกเถียงในแง่น้ำหนักการใช้ (degrees) แทนที่จะถามว่าจะเอาหมดเลยหรือไม่เอา เราควรถามต่างหากว่าโรงเรียนควรให้ผู้เรียนเริ่มใช้เครื่องคิดเลขเมื่อไหร่ ในกิจกรรมแบบไหน และอย่างไร

แล้วพอหันมาเถียงกันแบบนี้ โรงเรียนก็เริ่มปรับตัวในรายละเอียด เช่น ตอนนี้เราเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้เด็กเล็กใช้เครื่องคิดเลขในช่วงฝึกหัดความเข้าใจการบวก ลบ คูณ หารในระดับคอนเซ็ปต์และชีวิตประจำวัน แต่พอเด็กเข้าใจคอนเซ็ปต์และการคำนวณพื้นฐานแล้ว ในระดับสูงขึ้นไปก็อาจให้ใช้ได้ จะได้เอาเวลาไปฝึกถอดรูปโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งระหว่างที่ค่อยๆ ปรับไป เขาก็คอยเก็บข้อมูลทำวิจัยว่าพอปรับมากน้อยแค่ไหนแล้วทำให้คะแนนสอบข้อสอบมาตรฐานหรือความเข้าใจทางคอนเซ็ปต์คณิตศาสตร์ของเด็กลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร

เขาหันมาทำอะไรแบบนี้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเครื่องคิดเลขกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ในสังคมไปแล้ว คิดง่ายๆ คือถ้าโรงเรียนไม่ฝึกให้ผู้เรียนคุ้นชินกับเครื่องมือที่ว่า จบไปใครจะรับไปทำงาน แล้วคนก็จะถามเอาว่ายังจะส่งลูกเรียนหนังสือไปทำไม (คุ้นๆ อีกแล้วไหมครับ)

ในส่วนเรื่องการโกงข้อสอบเขาก็เลิกกังวลกันไปแล้ว ไม่ใช่เพราะนักเรียนไม่ใช้เครื่องคิดเลขโกงทำข้อสอบ แต่เพราะเขาปรับเปลี่ยนนิยามคำว่า ‘โกง’ เสียใหม่ คือแต่ก่อนข้อสอบเน้นทดสอบทักษะการคิดคำนวณด้วยตนเอง ซึ่งถ้าความคาดหวังและกฎการวัดผลเป็นแบบนี้ การใช้เครื่องคิดเลขก็ถือเป็นการโกง แต่พอเขาเห็นว่าทักษะนี้จำเป็นน้อยลง (เพราะมีเครื่องคิดเลข) หลักสูตรในปัจจุบันหันไปให้ความสำคัญกับการทดสอบในเรื่องอื่นมากขึ้นอย่างการถอดรูปและแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งการคำนวณเป็นเพียงส่วนสนับสนุน ไม่ใช่เป้าหมาย ถ้าเป็นแบบนี้การใช้เครื่องคิดเลขก็ไม่ใช่การโกง แต่เป็นการสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

กรณีเช่นนี้บอกอะไรกับเรา? ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 เรื่อง

1. การปรับตัวเป็นเรื่องปกติ การปรับตัวไม่ได้หมายถึงการปล่อยวาง แต่คือการผนวกเอาเทคโนโลยีอันเป็นสิ่งปกติใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นปัญหาแล้วยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ ลองหลับตาจินตนาการดูสิครับว่า ถ้าพรุ่งนี้เราต้องพาลูกไปเข้าโรงเรียน แล้วโรงเรียนนั้นบอกว่ามีนโยบายกีดกันไม่ให้เด็กรู้จักและใช้เครื่องคิดเลขเป็น พ่อแม่อย่างเราทุกวันนี้จะยังกล้าส่งลูกไปเรียนอีกไหม ในอนาคตความรู้สึกแบบเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับ ChatGPT ก็เป็นได้

2. มหาวิทยาลัยไม่ควรกังวลว่าการที่นักศึกษาพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป (techno-dependency) จะทำให้ผู้เรียนสูญเสียทักษะ เช่น การเขียน กรณีตัวอย่างเรื่องเครื่องคิดเลขบอกว่าประเด็นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องขาวดำ แบบใช้แล้วเสียเลย หรือไม่ใช้แล้วเก่งขึ้น แต่คำถามสำคัญควรเป็นเรื่องรายละเอียดว่ามหาวิทยาลัยควรประยุกต์ใช้ ChatGPT แค่ไหน อย่างไร ในเรื่องอะไร 

3. ความกังวลเรื่อง ‘การโกง’ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม ‘ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ’ อย่างไร ซึ่งคำนี้ไม่ใช่สิ่งตายตัว จะกำหนดว่าอะไรละเมิดหรือไม่ละเมิดมาตรฐานนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราคาดหวังให้ผู้เรียนคิดหรือทำอะไรเป็น ถ้าต้องการฝึกเด็กคำนวณเลข การใช้เครื่องคิดเลขก็เท่ากับโกง แต่ถ้าเน้นฝึกเด็กแก้โจทย์ปัญหาหรือทำโปรเจ็กต์ การใช้เครื่องคิดเลขก็ไม่ใช่การโกงแต่อย่างใด

พูดง่ายๆ ก็คือนิยามของคำว่า ‘โกง’ แปรผันตามเป้าหมายการศึกษา ไม่ใช่ว่ากิจกรรมเดียวกันจะนับได้ว่าเป็นการโกงเสมอไป ทั้งหมดอยู่ที่ว่าเราคาดหวังอะไรจากผู้เรียนมากกว่า


บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save