fbpx

รู้จัก ‘เผด็จการนักปลุกปั่น’ การปรับตัวของท่านผู้นำในยุคอินเทอร์เน็ต

“ทหารยูเครนเป็นฝ่ายถล่มอาคารบ้านเมืองของตนเอง”

“กองทัพยูเครนใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์”

“ชาวต่างชาติที่เข้าร่วมกองทัพยูเครนเป็นทหารรับจ้าง แต่ฝ่ายรัสเซียเป็นอาสาสมัคร ไม่ได้รับค่าตอบแทน”

“ประธานาธิบดียูเครนเป็นพวกนีโอนาซี”

“รัฐบาลยูเครนดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในประเทศ”

ข่าวลวง ข่าวปลอม และการยุยงปลุกปั่นเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญเพื่อรักษาอำนาจของเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่ไม่มีครั้งไหนที่สงครามข่าวสารระหว่างประเทศจะรุนแรงและเด่นชัดไปกว่ากรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สองฝ่ายพูดถึงเหตุการณ์เดียวกันแต่ฉายภาพต่างกันราวฟ้ากับเหว สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารคืออาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาวุธสงคราม

การยุยงปลุกปั่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หากเทียบยุทธวิธีรักษาอำนาจของเหล่าเผด็จการในยุคปัจจุบันกับท่านผู้นำในอดีตเราจะเห็นพลิกโฉมครั้งใหญ่จากต้นแบบ ‘คลาสสิค’ อย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, โจเซฟ สตาลิน หรือเหมา เจ๋อตง ที่พรากชีวิตประชาชนนับล้านคนเพื่อบรรลุอุดมการณ์ พวกเขาพร้อมทำสงคราม ใช้กำลังควบคุมพฤติกรรมทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวด้วยกฎหมายที่เข้มงวดและตำรวจลับ สู่เผด็จการยุคใหม่ที่ใส่สูทผูกเน็กไท เข้าร่วมประชุมกับผู้นำนานาประเทศเรื่องโลกร้อน ส่งลูกหลานเรียนต่างประเทศ และพยายามพร่ำบอกว่าตนเองเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย

แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไป แต่เป้าหมายเดียวของเหล่าผู้นำเผด็จการก็ไม่ต่างจากเดิม คือการผูกขาดอำนาจทางการเมือง!

‘เผด็จการนักปลุกปั่น (Spin Dictators)’ คือคำที่ Sergei Guriev นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส และ Daniel Treisman อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก University of California นิยามขึ้นในหนังสือ Spin Dictators: The Changing Face of Tyranny in the 21st Century (เผด็จการนักปลุกปั่น: โฉมหน้าใหม่ของทรราชย์แห่งศตวรรษที่ 21) เพื่อแยกแยะท่านผู้นำในยุคปัจจุบันออกจาก ‘เผด็จการผู้สร้างความหวาดกลัว’ (Fear Dictators) ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอดีต ถึงแม้เผด็จการทั้งสองแบบจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีการบรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างกันราวอย่างสิ้นเชิง

เผด็จการนักปลุกปั่นจะคุมสื่อแบบพอประมาณ

           

การบริหารสื่อมวลชนถือเป็นทักษะสำคัญของเผด็จการนักปลุกปั่น เพราะพวกเขาจะไม่เซนเซอร์สื่อแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นท่านผู้นำในอดีต แต่ใช้วิธีเอาดีเข้าตัวเมื่อรัฐบาลได้รับเสียงชื่นชม ส่วนกรณีที่โดนก่นด่าก็จะโทษฟ้าโทษฝน อธิบายว่าเป็นเพราะผลกระทบจากปัจจัยภายนอกบ้าง หรือโดนบั่นทอนจากผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองบ้าง พร้อมกับย้ำว่าถึงผลงานจะย่ำแย่แต่ก็ยัง ‘ดีกว่า’ รัฐบาลในอดีต โดยมีทีมสื่อผู้ภักดีอยู่ในมือที่พร้อมจะอวยท่านผู้นำทุกสถานการณ์และลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงกันข้าม

เหล่าท่านผู้นำยุคใหม่จะใช้สารพัดวิธีเพื่อควบคุมสื่อทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการกว้านซื้อสื่อให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล การสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับนายทุนอุตสาหกรรมสื่อ โดยปล่อยให้มีบางสำนักข่าวที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าสื่อมีเสรีภาพ เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าสำนักข่าวดังกล่าวจะไม่ได้รับความนิยมด้วยการสกัดทุกวิถีทาง ทั้งการตรวจสอบภาษี การปล่อยข่าวแย่ๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ตั้งคำถามถึงเป้าหมายและแรงจูงใจ เช่น รับเงินต่างชาติ รวมทั้งฟ้องร้องคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เช่น การใช้กฎหมายข่าวปลอม หรือกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงภาษี

จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลอด 20 ปีที่ครองอำนาจ ผู้นำเผด็จการอย่างวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่ความนิยมลดต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เข่นเดียวกับผู้นำเผด็จการในอีกหลายประเทศที่มักจะได้รับคะแนนนิยมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้นำในประเทศที่มีเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง

เผด็จการนักปลุกปั่นจะพยายามทำตัวเองให้เหมือนเป็นประชาธิปไตย

เมื่อได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เหล่าท่านผู้นำก็จะนำแรงส่งจากสาธารณชนเพื่อรวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือผ่านการใช้มติมหาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติหรือการเลือกตั้งที่พวกเขามักจะกำชัยชนะด้วยคะแนนที่กินขาดจากคู่แข่ง เสียงจากประชาชนเหล่านี้เองที่พวกเขาจะอ้างเป็นเหตุผลในการใช้อำนาจปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือโครงสร้างสถาบันการเมือง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงแต่งตั้งเครือข่ายของตนในศาลและหน่วยงานอิสระ เพื่อสร้างฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งในการผูกขาดอำนาจของตนเอง

การจัดเลือกตั้งหรือลงประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชนอยู่เนืองๆ ทำให้เหล่าเผด็จการพร้อมที่จะโพนทะนาว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

แต่ใต้เปลือกของการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ท่านผู้นำจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้โอกาสชนะของคู่แข่งทางการเมืองเท่ากับศูนย์ อย่างไรก็ดี พวกเขาจะไม่ได้ใช้อำนาจทางกฎหมายในการห้ามไม่ให้มีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างตรงไปตรงมา แต่พยายามสกัดดาวรุ่งผ่านการป้ายสีด้วยข้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงหรือกระทั่งข่าวฉาวอย่างการข่มขืนกระทำชำเรา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายแบบไม่สมเหตุสมผลหรือกฎเกณฑ์หยุมหยิมให้ทุกอย่างยุ่งยากโดยไม่จำเป็น การฟ้องร้องด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งการโดนถล่มโดยนักเลงคีย์บอร์ด นำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผย หรือตีแผ่รูปลับให้อับอาย

เผด็จการนักปลุกปั่นจะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับประชาชน

อาจจะดูขัดแย้งกับสามัญสำนึกของเราสักหน่อย แต่เผด็จการในปัจจุบันกลับใช้กำลังปราบปรามหรือจับกุมประชาชนน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต ในยุคข้อมูลที่การนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและประชาชนมีการศึกษามากยิ่งขึ้น การฆ่าเพื่อหวังผลทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่สังคมยากจะยอมรับ โดยเกณฑ์ที่ผู้เขียนทั้งสองใช้จัดประเภทเผด็จการคือจำนวนการฆาตกรรมทางการเมืองเฉลี่ยน้อยกว่า 10 คนต่อปี และมีผู้ถูกจำคุกด้วยคดีทางการเมืองเฉลี่ยน้อยกว่า 1,000 คนต่อปี

สำหรับเผด็จการนักปลุกปั่น การใช้กำลังปราบปรามประชาชนถือเป็นหมุดหมายของความล้มเหลว เพราะหากระบบที่วางไว้ข้างต้นทำงานได้อย่างเต็มที่ ท่านผู้นำก็จะได้รับความนิยมจากสาธารณชนอย่างล้นหลามจนการสร้างความหวาดกลัวอาจถือเป็นการบั่นทอนอำนาจและขจัดความชอบธรรม การจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมืองจึงมีลักษณะ ‘ปรับทัศนคติ’ ไม่ใช่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นในศตวรรษที่ 20

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเผด็จการเหล่านี้เป็นพวกรักความสงบนะครับ พวกเขาพร้อมจะใช้กำลังทันทีเมื่อมี ‘ศัตรูของชาติ’ ปรากฏขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกองกำลังชนกลุ่มน้อยแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธ หรือกลุ่มก่อการร้ายที่จะมาโค่นล้มสถาบันอันเป็นที่รัก การใช้ความรุนแรงกับศัตรูเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสายตาของสาธารณชน และอาจทำให้ความนิยมในตัวท่านผู้นำเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

เผด็จการนักปลุกปั่นสร้างภาพทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ท่านผู้นำในอดีตมักถูกเยินยอราวกับเป็นมนุษย์เหนือมนุษย์ ใบหน้าของเขาจะปรากฏอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญตรา รูปปั้นใจกลางเมือง เข็มกลัด หรือสลักไว้บนภูเขา พร้อมกับเรื่องเล่าเหนือมนุษย์เช่นการเรียกลมฝนหรือการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ภายในชั่วพริบตา

แม้โมเดลโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวจะยังคงใช้ได้ในบางประเทศเช่นเกาหลีเหนือ แต่ประชาชนที่ได้รับข่าวสารจากต่างชาติก็ไม่อาจตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมที่โฉ่งฉ่างเช่นนั้นอีกต่อไปในปัจจุบัน ท่านผู้นำจึงต้องปรับภาพลักษณ์ของตนเองว่าเป็นผู้มีความสามารถและทำงานหนัก นำเสนอนโยบายเพื่อประชาชน บางคนถึงกับก่นด่าการทำงานของรัฐบาลของตนราวกับว่าอยู่คนละฟากฝ่าย ขณะที่บางคนอาจใช้รายการบันเทิงที่แฝงการอวยรัฐบาลแบบเนียนๆ

แต่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีภายในประเทศอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ เผด็จการนักปลุกปั่นยังพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศ ปรากฏตัวในเวทีการประชุมต่างๆ ในฐานะผู้นำผู้เฉลียวฉลาด ซึ่งนอกจากจะทำให้ดูเหมือนว่าเป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลกแล้ว ยังเป็นการหามิตรจากต่างแดน แสวงผลประโยชน์ และกีดกันโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่อาจกลับมาสั่นคลอนอำนาจของตน

แน่นอนครับว่าการจัดประเภทโดยแบ่งเป็นขาวกับดำเช่นนี้ย่อมมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการกำหนดนิยามที่ย่อมมีนักวิชาการไม่เห็นด้วย ตามคำจัดกัดความของ Guriev และ Treisman การศึกษาเชิงปริมาณของทั้งสองพบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญคือสัดส่วนท่านผู้นำที่ปกครองด้วยความหวาดกลัวลดลงอย่างมาก (จากราว 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อห้าทศวรรษก่อนเหลือเพียงราว 10 เปอร์เซ็นต์) สวนทางกับเผด็จการนักปลุกปั่น (จากราว 13 เปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน) ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มไฮบริดคือใช้ทั้งเทคนิควิธีปลุกปั่นยุยงและสร้างความหวาดกลัวควบคู่กันไป

หนังสือ Spin Dictators: The Changing Face of Tyranny in the 21st Century ถือเป็นแนวคิดสดใหม่ซึ่งมาพร้อมกรณีศึกษาเปรียบเทียบเหล่าเผด็จการจากทั่วทุกมุมโลกที่ใช้สารพัดวิธีเพื่อครองอำนาจนำ นับเป็นกระจกสะท้อนการเมืองไทยที่ยังวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารและรัฐบาลแต่งตั้ง ที่หากย้อนมองประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าเผด็จการในไทยก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่ให้ ‘ตกเทรนด์’ เช่นกัน


เอกสารประกอบการเขียน

Spin Dictators: The Changing Face of Tyranny in the 21st Century

For modern autocrats, lying is more useful than killing

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save