fbpx

มหาวิทยาลัยชั้นนำกับยุทธศาสตร์รับมือ ChatGPT ด้วยการกระจายอำนาจ: ตอบโจทย์ แต่ยังไม่พอ

ตอนที่ 1 มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม? เมื่อ ChatGPT และ AI ทำให้เราเรียนจบได้เหมือนกัน

ตอนที่ 2 แนวโน้มการโกงข้อสอบด้วย ChatGPT: แม้ไม่รู้ แต่ทำไมเราต้องกังวล?

ตอนที่ 3 ChatGPT ทำอะไรได้บ้างและมีจุดอ่อนตรงไหน?: สิ่งที่ต้องรู้ก่อนปรับตัวรับมือ

ตอนก่อนหน้าผมเล่าถึงปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยมีต่อ ChatGPT ว่า ถ้าไม่นิ่งเฉยก็ต่อต้านไปเลย ซึ่งทางเลือกทั้งสองนำไปสู่จุดจบแห่งความล้มเหลวเหมือนกัน ดังนั้นการรับมือกับเทคโนโลยีจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยกรอบคิดใหม่ที่ก้าวข้ามปฏิกิริยา ‘ขาว-ดำ’ แบบนี้

อันที่จริง มหาวิทยาลัยชั้นนำก็รู้เรื่องนี้ครับ พอเวลาผ่านไปและสถานการณ์เริ่ม ‘นิ่ง’ ในระดับหนึ่ง คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ทบทวนตัวเองก่อนเริ่มปรับท่าที การสำรวจมหาวิทยาลัย 40 อันดับแรกของโลกตามการจัดอันดับของ QS Ranking (ผมเลือกการจัดอันดับโดยสถาบันนี้ เนื่องจากมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์โลกมากกว่าที่อื่น) พบว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้เริ่มตกผลึกไปในทางเดียวกันแล้ว กล่าวคือพวกเขาเลิกความคิดที่จะต่อต้านหรือคิดหาวิธีจับผิด ChatGPT แล้ว (ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ค่อยนิ่งเฉยสักเท่าไหร่) แต่หันไปจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาศักยภาพ ข้อดี ข้อเสีย และแนวทางการประยุกต์ใช้ ChatGPT แทน

กรอบคิดเช่นนี้นำไปสู่แนวนโยบายจำนวนหนึ่ง ซึ่งโดยหลักแล้วเราอาจเรียกได้ว่าเป็นท่าทีแบบ ‘กระจายอำนาจ’ ก็ได้ กล่าวคือ ผู้บริหารอนุญาตให้ผู้สอนแต่ละรายวิชาตัดสินใจว่า ชั้นเรียนที่ตนเองสอนเกี่ยวข้องกับการใช้ ChatGPT หรือไม่ อย่างไร ส่วนมหาวิทยาลัยส่วนกลางก็ถอยไปทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวม ออกกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานควบคุมกิจกรรมการใช้เทคโนโลยี

นอกจากการตระหนักว่า การต่อต้านเทคโนโลยี (หรือนิ่งเฉย) ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแล้ว ยังมีอีกสองปัจจัยหลักที่ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่เส้นทางนี้

1. มหาวิทยาลัยตระหนักดีว่า ตัวสถานศึกษาก็ยังฝุ่นตลบ เทคโนโลยียังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยังมีช่องว่างทางความรู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาทำความเข้าใจอีกมาก ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ การให้อาจารย์ระดับปฏิบัติการสอน ซึ่งรู้จักวิชาตนเองดีที่สุด ไปลองเล่นลองใช้โมเดลแล้วเลือกประยุกต์ตามความเหมาะสม

2. มหาวิทยาลัยเหล่านี้มีฉันทมติแล้วว่า แม้ ChatGPT อาจเป็นภัยต่อการศึกษาในบางแง่มุม แต่ก็มีศักยภาพที่จะใช้ในการเรียนรู้ได้สูงมากหากมีการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม สถาบัน MIT เป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่นำเสนอประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยอาจารย์จากคณะ Rhetoric และ Digital Media ให้ความเห็นว่า ไม่แน่ว่า ณ จุดหนึ่ง “การฝึกสอนให้นักเรียนเขียนงานภายใต้การช่วยเหลือของ AI อาจกลายเป็นกระบวนการมาตรฐาน” ในเวลาอันใกล้

ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกลาง มหาวิทยาลัยแต่ละที่ก็มีคำแนะนำให้คณาจารย์ของตนแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วข้อแนะนำเหล่านี้มีส่วนซ้อนทับคล้ายกัน ซึ่งผมขอสรุปเป็น 4 ข้อ ได้แก่

1. ในชั้นเรียนครั้งแรก ผู้สอนต้องสื่อสารอย่างชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้และบทบาทของ ChatGPT ในเนื้อหาและวิชาเรียนดังกล่าว บอกกฎกติกาให้ชัดเจนว่าสามารถใช้ได้แค่ไหน อย่างไร รวมถึงต้องอธิบายให้นักเรียนและนักศึกษาฟังถึงเหตุและผลของกฎกติกาดังกล่าว

2. ผู้สอนต้องย้ำเตือนให้นักเรียน-นักศึกษาในชั้นเรียนรู้เท่าทันถึงจุดเด่นและข้อจำกัดของ ChatGPT โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง ข้อจำกัดการสร้างความรู้ใหม่ อาการหลอน อคติทางสังคม และปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหากสามารถทดลองให้คนในชั้นเรียนเห็นเป็นรูปธรรมได้เลยยิ่งดี

3. ผู้สอนต้องบอกกฎแก่นักเรียนให้ชัดเจนว่า การใช้ ChatGPT ควรต้องเขียนชี้แจงไว้ในงานด้วยว่า ใช้แค่ไหนและอย่างไร โดยเรื่องนี้มหาวิทยาลัยจะเข้ามามีบทบาทสนับสนุนผ่านการออกแบบวิธีการอ้างอิงงานเขียนในกรณีที่ผู้เรียนได้รับอนุญาตให้ใช้ ChatGPT ช่วยหรือร่วมเขียนงาน ในระยะเริ่มแรก มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งเช่น มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) และอิมพีเรียลคอลเลจได้ทดลองออกกฎเกณฑ์การอ้างอิงของตัวเองก่อน แต่ในปัจจุบันได้มีความพยายามพัฒนาระบบมาตรฐานระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและวิทยาลัย MLA ก็ออกกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งสืบค้นดูได้ไม่ยาก

4. ผู้สอนต้องออกแบบหลักสูตรและวิธีวัดผลให้สอดคล้องต่อเนื่องกัน เช่น หากอนุญาตให้ใช้ ChatGPT ได้ ข้อสอบก็ควรจะเป็นข้อสอบแบบนำกลับบ้านไปทำ หรือใช้คอมพิวเตอร์ หากไม่ให้ใช้ในส่วนไหน ผู้สอนก็ต้องประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือแนวทางการตรวจจับหรือออกแบบข้อสอบวัดผลที่ไม่สามารถให้ ChatGPT ทำแทนได้ในส่วนนั้นได้ โดยแผนทั้งหมดนี้ต้องสอดคล้องกับความคาดหวังรายวิชาที่วางไว้และชี้แจงกับผู้เรียนไปตั้งแต่ต้น

บางมหาวิทยาลัยอาจพัฒนาแนวทางที่ละเอียดและมีความเฉพาะตัว เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ที่ซีเรียสกับเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลก็ตั้งกรรมการขึ้นมาออกกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันปัญหานี้โดยเฉพาะ แนวปฏิบัติที่ออกมาแล้ว เช่น การห้ามไม่ให้อาจารย์สั่งงานที่ทำให้ผู้เรียนต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลใส่ ChatGPT รวมถึงทุกรายวิชาที่จะใช้โมเดลในการเรียนการสอนต้องมาคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งทำงานภายใต้คณะกรรมการฯ) เพื่อประเมินว่าแนวทางการใช้งานที่ผู้สอนออกแบบไว้นั้นคิดและวางแผนป้องกันเรื่องข้อมูลรั่วไหลเพียงพอหรือยัง

นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยก็คำนึงถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย โดยระบุในคำแนะนำว่า ผู้สอนที่จะสนับสนุนให้ใช้ ChatGPT ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กบางคนไม่ได้เข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพา และไม่ใช่ทุกคนที่สามารถสมัครสมาชิก ChatGPT แบบพรีเมียมได้ ซึ่งการออกแบบการประเมินต้องยืดหยุ่นให้เด็กตามความได้เปรียบเสียเปรียบเหล่านี้ด้วย อีกกรณีที่ต้องคิดคือผู้บกพร่องทางร่างกายที่ใช้โมเดลไม่ได้ ผู้สอนก็ต้องหามาตรการมารองรับให้เขาตามทันและไม่เสียเปรียบเพื่อนด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของแนวทางกระจายอำนาจให้อาจารย์ตัดสินใจคือ การก้าวข้ามมายาคติความกลัว และก้าวข้ามกรอบคิดแบบ ‘ขาว-ดำ’ ซึ่งนำไปสู่การเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและยกระดับการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตุว่าแนวทางดังกล่าวมีข้อจำกัดสำคัญคือ เมื่อกระจายอำนาจแล้วยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ผู้สอนซึ่งเป็นคนตัดสินใจปลายน้ำจะสามารถปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีได้ เมื่อมีอิสระในการตัดสินใจ ก็เป็นไปได้ว่า ผู้สอนบางคนอาจเลือกแบนหรือนิ่งเฉยเหมือนเดิม (เพราะต้นทุนในการปรับตัวต่ำ) ซึ่งก็ทำให้ปัญหาในระดับปฏิบัติการวนกลับไปที่ปัญหาตั้งต้นอีกครั้ง

ข้อสังเกตของผมยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจังหรอกนะครับ แต่จากประสบการณ์มีส่วนร่วมในการสอนในโลกตะวันตก ผมคิดว่าอาจารย์และนักวิชาการส่วนใหญ่ก็ไม่สู้ปรับตัวกันเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะถึงที่สุดแล้ว ChatGPT ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขาด้วยเหมือนกัน การปรับตัวย่อมหมายถึงการทำความเข้าใจศักยภาพของ ChatGPT ที่มีต่อโลกความรู้ในสาขาตัวเอง ยังไม่นับการทบทวนเป้าหมายของหลักสูตร การออกแบบและปรับใช้เทคโนโลยีเข้ามาอย่างเป็นระบบ ฯลฯ นอกจากนี้ ช่วงวัยก็มีผลต่อการใช้เทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ลองนึกหน้าคนอายุ 50-60 การปรับตัวในเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย หากเลือกได้ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะไม่มานั่งทำอะไรแบบนี้

ข้อสังเกตข้างต้นนำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วมหาวิทยาลัยจะต้องทำอย่างไร เพื่อรับประกันว่าการปรับตัวจะเกิดขึ้นกับทั้งระบบจริงๆ ผมจะกลับมาเล่าให้ฟังในตอนหน้าครับ


บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save