fbpx

Asian is rising up? ศิลปินเอเชียเติบโตในอุตสาหกรรมเพลงอเมริกาแล้ว?

กระแส MILLI เอาข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินบนเวทีเทศกาลดนตรี Coachella ทำให้ยอดขายเมนูนี้พุ่งขึ้นในไทย ช่วงเวลาเดียวกันเอง สื่อในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย นำเสนอข่าวศิลปินอินโดนีเซียกลุ่มแรกที่ได้ขึ้นโชว์บนเวทีเดียวกัน นั่นคือ NIKI, Rich Brian และ Warren Hue โดย NIKI เลือกเอาเพลงดังยุค 20s ของนักร้องในบ้านเกิด ซึ่งร้องด้วยภาษาท้องถิ่นไปแสดงในงาน พร้อมบอกว่า “This is for my family and my country.” 

ในเดือนเดียวกันนี้ วงบอยแบนด์จากเกาหลีใต้อย่าง BTS ยังมีชื่อเข้าชิงรางวัล GRAMMY สาขา Pop Duo/Group Performance เป็นครั้งที่ 2 จากเพลง Butter ซิงเกิลที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษทั้งหมด

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ Asian Rising ที่เกิดขึ้นในต้นปีนี้ ซึ่งยังไม่นับรวมการสอดแทรกทางวัฒนธรรมของศิลปินอื่นๆ จากเอเชียตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางข่าว Asian Hate ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 การไต่ระดับในชาร์ตเพลงในต่างประเทศ กระแสไวรัลในอินเทอร์เน็ต ท่วงทำนองเพลงและการนำเสนอดนตรีที่แตกต่าง ไปจนถึงการทุบทำลายสถิติยอดขายอัลบั้ม ทำให้ตะวันตกหันมาสนใจเอเชียมากขึ้น สำนักสื่อเพลงสัญชาติอเมริกาอย่าง Billboard และ Rolling Stone ต่างนำเสนอบทสัมภาษณ์ศิลปินเอเชียที่น่าจับตาหลายต่อหลายครั้ง 

คำถามคือ ทำไมการมีที่ยืนและตัวตนของศิลปินเอเชียในอุตสาหกรรมดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะในตลาดเพลงสหรัฐอเมริกาถึงสำคัญ คำตอบที่ง่ายและชัดเจนที่สุด คือ ที่นี่เป็นตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีค่ายเพลงสัญชาติอเมริกันที่ครอบครองลิขสิทธิ์และดูแลศิลปินอย่าง Sony Music Group และ Warner Music Group รวมถึงค่ายเพลงใหญ่อย่าง Universal Music Group ที่ดูแลศิลปินในตลาดอเมริกันและตลาดโลกเกือบทั้งวงการ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาที่มาจากเวที ชาร์ตเพลง และงานประกาศรางวัลใหญ่ๆ ที่คนส่วนใหญ่สนใจ หลายคนจึงมองว่าเมื่อศิลปินเอเชียก้าวไปถึงอุตสาหกรรมเพลงสหรัฐอเมริกาได้จะช่วยเป็นเครื่องหมาย ‘พิสูจน์’ ความสามารถและรายได้ของศิลปิน  

ถ้าสำรวจเปอร์เซ็นต์ศิลปินเอเชียในพื้นที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ดูเหมือนว่าทั้งสื่อและค่ายเพลงต่างๆ ค่อยขยับมาสนใจศิลปินเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดที่จะมีศิลปินเอเชียขึ้นสู่กระแสหลักของวงการเพลงตะวันตก นับว่ายังบางตาอยู่มากเมื่อเทียบกับ ‘ความหลากหลาย’ ที่สหรัฐอเมริกาพยายามป่าวประกาศบอกโลกต่อค่านิยมที่ตัวเองยึดถือ แล้วอะไรคือสิ่งที่ศิลปินเอเชียต้องพิสูจน์ให้ชาวตะวันตกได้เห็น และศิลปินเอเชียตัวเล็กตัวน้อยต้องเผชิญกับปัญหาอะไรในอุตสาหกรรมเพลงฝั่งตะวันตกบ้าง 

K-Pop และ 88rising กับการสร้างปรากฏการณ์ในฐานะศิลปินเอเชีย

ก่อนที่ศิลปินเอเชียจะเข้าสู่เมนสตรีมในตลาดเพลงสหรัฐอเมริกาอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ย้อนอดีตไปหลายช่วงปี ศิลปินเอเชียเริ่มเข้าสู่วงการเพลงอเมริกาในยุค 1900 ในหลายประเภทดนตรี และยังมีคนที่สร้างประวัติศาสตร์บุกเบิกพื้นที่ศิลปินเอเชียเอาไว้หลากหลาย 

เช่น ปี 1963 Larry Ramos ชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์เข้าร่วมเป็นสมาชิกวง The New Christy Minstrels และเป็นชาวเอเชีย-อเมริกันคนแรกที่คว้า GRAMMY สาขา Best Performance by a Chorus ในปีเดียวกันเอง Kyu Sakamoto เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นและเอเชียคนแรกที่มีเพลงฮิตใน Billboard Hot 100 ซึ่งถือเป็นชาร์ตเพลงที่ช่วยพิสูจน์ความสำเร็จของศิลปินเอเชีย เพราะส่วนใหญ่มักจะมีแต่ศิลปินฝั่งตะวันตกเท่านั้นที่ครองพื้นที่ในชาร์ตนี้

หลังจากนั้นก็มีศิลปินเอเชียและเอเชีย-อเมริกันที่เริ่มเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาบ้าง แต่ยังถือว่าน้อยมาก จนกระทั่งมีกลุ่มที่สร้างปรากฏการณ์ในฐานะศิลปินตะวันออกบนตลาดเพลงอเมริกันได้ชัดเจนและโดดเด่นมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ นั่นคือ K-Pop และ 88rising 

ด้วยลักษณะทางดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของ K-Pop เนื้อร้องผสมผสานทั้งภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ และความแตกต่างของแนวทางการตลาด การสร้างฐานแฟนคลับ รวมถึงความพยายามผลักดันอุตสาหกรรมความบันเทิงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ศิลปินเกาหลีจึงเริ่มเป็นที่สนใจในตลาดเพลงอเมริกาตั้งแต่ยุค 2000 ด้วยการเบิกทางความสำเร็จของ Wonder Girls ในเพลง Nobody ซึ่งติดอันดับ Billboard Hot 100 เป็นวงแรกของเกาหลี หลังจากนั้น วงไอดอลเจ็นฯ สอง อย่าง Girls Generation, 2NE1, BIGBANG ตามมาสร้างชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดฐานแฟนเพลง K-Pop มากขึ้นเรื่อยๆ 

ปี 2012 เพลงฮิตอย่าง Gangnam Style โดย PSY สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก และเป็นศิลปินคนที่ 2 ที่ติดชาร์ต Billboard Hot 100 ต่อด้วย CL สมาชิกจากวง 2NE1 ได้เปิดตัวในฐานะศิลปินเดี่ยวในตลาดเพลงสหรัฐอเมริกาด้วยเพลง Lifted ซึ่งเพลงหลังนี้ทำให้เธอติดอันดับชาร์ตเดียวกันกับ PSY และ Wonder Girls 

จนกระทั่งปี 2017 ที่ BTS เริ่มเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันจากการชนะรางวัล Top Social Artist ในเวทีของ Billboard ต่อจากนั้นพวกเขาสร้างปรากฏการณ์หลายอย่างให้กับการเป็นศิลปินเอเชียในตลาดเพลงตะวันตก เพลงที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักส่วนใหญ่แต่งโดยใช้ภาษาเกาหลีและภาษาอังกฤษ แต่หลังจากที่พวกเขาเซ็นสัญญากับค่าย Sony Music Group ได้ 3 ปี (ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ Universal Music Group ในปัจจุบัน) พวกเขาก็ปล่อย ‘Dynamite’ เพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษทั้งหมดเพลงแรก ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ให้วงดนตรีจากเกาหลีติดอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100 เป็นวงแรก และยังเป็นซิงเกิลที่มียอดขายมากที่สุดในโลก (Global Top 10 Global Digital Single Chart) จากการรายงานของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (Representing the recording industry worldwide – IFPI) 

ตามรายงานของ IFPI ยังบอกด้วยว่าความนิยมและความสำเร็จของ BTS ทำให้พวกเขาเป็นศิลปินที่มีรายได้มากที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน (2020-2021) แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Taylor Swift โดยในปี 2021 นี้เองยังมีวงเกาหลีรุ่นน้องอย่าง SEVENTEEN ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่มีรายได้ในวงการเพลงมากที่สุดด้วย 

ฝั่งเกิร์ลกรุ๊ปที่ตีตลาดอเมริกันได้สำเร็จล้นหลามคือ BLACKPINK จากเพลงดัง DDU-DU DDU-DU ติดท็อปชาร์ตอันดับ 55 ใน Billboard Hot 100 ทำให้สมาชิกทั้ง 4 คนเป็นที่สนใจของสื่ออเมริกัน ก่อนที่จะได้รับเชิญให้ร่วมแสดงในเวที Coachella ปี 2019 และ IFPI ยังรายงานว่าอัลบั้ม THE ALBUM ของ BLACKPINK ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ผลงานที่มียอดขายสูงสุดในโลก โดยหนึ่งในเพลงที่ได้รับความสนใจอย่างมากจนติดอันดับ 13 ของ Billboard Hot 100 คือ ICE CREAM ซึ่งเป็นการร่วมงานกับ Selena Gomez  

อีกด้านหนึ่ง ค่ายเพลงอย่าง 88rising ก่อตั้งโดย Sean Miyashiro ตั้งใจนำเสนอความสามารถของศิลปินเอเชีย ฌอนเริ่มต้น 88rising ในปี 2015 ด้วยมองเห็นว่ายังมีศิลปินเอเชียเจ๋งๆ อีกหลายคนที่น่านำเสนอให้คนฝั่งตะวันตกได้รู้จัก แต่ยังขาดตัวกลางที่ช่วยโปรโมตศิลปิน ฌอนจึงชวนเพื่อนมาร่วมเปิดค่ายด้วยกัน ช่วงแรก 88rising เน้นนำเสนอศิลปินฮิปฮอป ตอนหลังเริ่มมีการขยายประเภทเพลงมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ฌอนจะชวนศิลปินที่โด่งดังในอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วมาเป็นศิลปินในสังกัด 

คนแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Joji ศิลปินชาวญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย ผู้เกิดและเติบโตในญี่ปุ่น เขาโด่งดังจากบทบาทนักแสดงตลกและยูทูบเบอร์ที่ทำร่วมกับเพื่อนอยู่แล้ว หลังจากโด่งดังอย่างมากในคลิป Harlem Shake ระหว่างนั้นเขาก็ทำเพลงไปด้วย ก่อนที่ปี 2017 เขาจะออกจากการเป็นยูทูบเบอร์มาทำอัลบั้มในค่าย 88rising จน EP แรกชื่อ In Tongues ติด 1 ใน 200 ชาร์ตเพลงของ Billboard และอัลบั้มเต็มชุดแรก Ballads 1 ทำให้ Joji กลายเป็นศิลปินเอเชียคนแรกที่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต the US Top R&B/Hip-Hop Albums และอันดับ 3 ในชาร์ต the US Billboard 200 โดยมีเพลงดังอย่าง SLOW DANCING IN THE DARK ที่มียอดสตรีมใน Spotify ถึง 800 ล้านครั้ง และทำให้เขากลายร่างจากคนตลกมาเป็นหนุ่มเจ้าของเพลงเศร้าบาดลึกที่ใครหลายคนชื่นชอบ

ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกคนที่เซ็นสัญญากับ 88rising คือ NIKI หรือ Nicole Zefanya ด้วยน้ำเสียงโดดเด่น และเนื้อร้องภาษาอังกฤษ NIKI เป็นศิลปินใต้ดินที่ปล่อยงานเพลงของตัวเองใน Youtube จนมีคนติดตามกว่า 40,000 subscribes และยังได้รับเลือกให้เล่นเป็นวงเปิดให้กับ Taylor Swift ในคอนเสิร์ต The Red Tour

หลังจากนั้นเธอเดินทางไปเรียนต่อที่ Lipscomb University และได้ทำงานกับ 88rising ในฐานะศิลปินเอเชีย พร้อมปล่อยเพลงที่เรียกความนิยมได้อย่างมาก เช่น I Like U, urs, Vintage และเพลงฮิตที่สุดของเธอคือ LOWKEY ซึ่งมียอดสตรีมใน Spotify สูงถึง 200 ล้านครั้ง นอกจากนี้ NIKI ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับวงดูโออย่าง HONNE ด้วย

ผลงานที่ทำให้ 88rising และศิลปินเอเชียเป็นที่รู้จักมากขึ้น คือการทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings ซึ่งประกอบไปด้วยศิลปินทั้งในค่าย 88rising และศิลปินเชื้อชาติอื่นๆ เช่น NIKI, Rich Brian, BIBI, Mark Tuan, Seori, Keshi, AUDREY NUNA, Anderson .Paak, DPR LIVE และ DPR IAN ผลงานนี้ทำให้เห็นพื้นที่ความเป็น Asian Rising ในอุตสาหกรรมบันเทิงอเมริกันอย่างมาก

อะไรทำให้ศิลปินจากเอเชียเป็นที่สนใจของตลาดอเมริกา?

มีหลายประเด็นที่คนถอดรหัสความสำเร็จของศิลปินเอเชียที่ตีตลาดเข้ามาในอเมริกา เช่น การทำดนตรีที่แตกต่าง แปลกใหม่ ไม่เคยได้ยินในอุตสาหกรรมเพลงพ็อปของฝั่งตะวันตก หรือการตลาดที่เข้าถึงคนฟัง สร้างฐานแฟนคลับเหนียวแน่น ทำให้ส่งต่อความนิยมมาสู่ชาร์ตเพลงต่างๆ และยอดขายสูงจนทำลายสถิติของศิลปินตะวันตก ไปจนถึงความพยายามผสมผสานความเป็นเอเชียและวัฒนธรรมตะวันตกให้กลมกลืน ผ่านการถ่ายทอดเอกลักษณ์ของศิลปินเอเชียแต่ละคน

กลุ่มที่มีโครงสร้างและลักษณะดนตรีที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมเพลงอเมริกาอย่างมาก คือ K-Pop หลายครั้งพวกเขาทำเพลงโดยไร้กรอบจากทฤษฎีทางดนตรีและสร้างเซอร์ไพรส์ให้คนฟัง ตัวอย่างเช่นเพลง Next Level ของวง aespa ซึ่งเป็นเพลงที่ติดอันดับ Billboard Global 200 กลุ่มนักดนตรีคลาสสิกและแจ๊สจากอเมริกาได้ฟังและวิเคราะห์เพลงไว้ในคลิป Classical & Jazz Musicians React ว่า ลักษณะเด่นของเพลงนี้คือการเปลี่ยนจังหวะดนตรีอย่างรวดเร็วทำให้พวกเขาเซอร์ไพรส์ในการสร้างงานเพลงแบบนี้มาก 

Umu หนึ่งในนักดนตรีและเจ้าของคลิปกล่าวว่า Next Level ใช้วิธีการเปลี่ยนเพลงที่มีจังหวะ 92 BPM (Beat Per Minutes) มาเป็น 110 BPM ได้สมูท ด้วยการเว้นจังหวะหายใจหนึ่งช่วง จากนั้นเร่งจังหวะดนตรีเข้าไป ทำให้เกิดความสนใจและการตั้งคำถามจากคนฟัง

“เหมือนกับ [เขา] ครอบถังเข้าไปในหัวใครสักคน แล้วก็หมุนไปรอบๆ ปั่นหัวเขา แล้วจากนั้นการเปลี่ยนจังหวะดนตรีที่แตกต่างกันก็จะสอดคล้องกัน เพราะคนฟังไม่รู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ตรงไหนแล้ว” Umu อธิบายในคลิป

นอกจากนี้ ยังมี Chris Martin นักร้องนำวง Coldplay เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพลงของ BTS ไว้ในสารคดี Coldplay X BTS Inside ‘My Universe’ Documentary ว่า เขาชอบเพลงของ BTS เพราะมีโปรดักชันที่น่าทึ่ง มีโครงสร้างและเมโลดีที่ไม่เหมือนกับเพลงที่เขาเคยฟัง อย่างเช่นเพลง MIC Drop ซึ่งเป็นเพลงฮิปฮอปผสมดนตรีแทรปและ EDM โดยมี 2 เวอร์ชัน คือ MIC Drop และ MIC Drop (Steve Aoki Remix) ซึ่งเวอร์ชันหลังมีการเปลี่ยนเนื้อร้องให้เป็นภาษาอังกฤษ และเป็นเพลงที่ติดอันดับใน Billboard Hot 100 ด้วย

“ [เพลงแบบนี้] ไม่ใช่สิ่งที่เราเคยทำได้ ผมถึงชื่นชมผลงานนี้มาก เพราะว่ามันคนละสกิล [กับของเรา] เลย”  

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากนักวิจารณ์เพลงเกาหลี Jung Min Jae ที่เคยกล่าวลงทวิตเตอร์หลังจาก BTS ปล่อยเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาอังกฤษในช่วง 2 ปีหลังมานี้ว่า ซิงเกิล 3 เพลง (Dynamite, Permission To Dance และ Butter) มีทำนองและเนื้อร้องคุ้นหูสำหรับตลาดอเมริกัน ซึ่งแม้ว่าเขารู้สึกเหนื่อยที่จะฟังเพลงที่เป็น ‘สูตรเพลงฮิต’ แล้ว แต่เขาชอบ Permission To Dance ที่สุด อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าเพลงเหล่านี้คงออกมาแค่ในช่วงเวลาพิเศษที่โลกต้องติดกับโรคระบาด และหวังว่าจะได้เห็นความเฉียบแหลมและความกล้าหาญที่ BTS เคยทำไว้ในเพลงก่อนหน้านี้อีกครั้ง

น่าสังเกตว่าในลักษณะ ‘สูตรเพลงฮิต’ ที่นักวิจารณ์เพลงเกาหลีพูดถึง มี 2 เพลงที่ได้เข้าชิงรางวัล GRAMMY ร่วมกับศิลปินตะวันตก และเป็นเพลงที่ทำให้วงจากเกาหลีกลายเป็นที่รู้จักจากตลาดอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่า เมื่อศิลปินเอเชียเดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลงอเมริกาแล้วก็ต้อง ‘ปรับเปลี่ยน’ รูปแบบให้สอดคล้องกับความนิยมของตลาดมากขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม BTS ไม่ใช่วงเดียวที่ต้องปรับแนวทางดนตรี แต่มีหลายกลุ่มในวงการ K-Pop ที่พยายามปรับดนตรีให้เข้ากับตลาดเพลงอเมริกา แต่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นดนตรีแบบ K-Pop อยู่ เช่น เพลง Jopping ของ SuperM หรือเพลงในอัลบั้ม THE ALBUM ของ BLACKPINK

พ้นไปจาก K-Pop ศิลปินกลุ่มอื่นๆ เองยังคงมีกลิ่นอายที่ผสมผสานระหว่างความเป็นอเมริกันและเอเชียอยู่ แม้โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ตลาดอเมริกันเข้าถึงได้ง่าย แต่พวกเขาก็สามารถแสดงสไตล์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์ได้อย่างโดนเด่น ทั้งเสียงร้องและเนื้อหาที่พูดถึงชีวิตแบบเอเชีย

อย่างเช่นเพลง Split ของ NIKI บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่แตกต่างระหว่างการอยู่อินโดนีเซียและลอสแอนเจลิส ซึ่งทำให้เธอสูญเสียตัวตนบางอย่างไป หรือ Keshi ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ที่กลายเป็นเจ้าพ่อเพลง lo-fi ด้วยเสียงร้องและดนตรีที่ฟังสบายเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เขาได้เซ็นสัญญาใน ISLAND Records ค่ายเดียวกับ Elton John และมีเพลงฮิตที่ติดชาร์ต Billboard 200 ด้วย

ความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมอเมริกันก็ทำให้ Rich Brian แรปเปอร์ชาวอินโดนีเซียได้กลายเป็นเจ้าของเพลงไวรัลไปทั่วโลก นั่นคือเพลง Dat $tick ซึ่งมียอดคนดูถึง 200 ล้านครั้ง ต่อมาเขาจึงได้เซ็นสัญญาเพื่อมาเป็นศิลปินในค่าย 88rising

ในสารคดี How The Next-Gen Of Asian Hip Hop is Taking Over The Music World Rich Brian เล่าว่า เขาเสพสื่ออเมริกันผ่านอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือที่บ้าน ความชื่นชอบในวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้เขาเริ่มได้ฝึกภาษา และมีเพื่อนสนิทเป็นคนอเมริกัน ซึ่งรู้จักกันผ่านอินเทอร์เน็ต นั่นทำให้เพลงของเขาเข้าถึงคนอเมริกันและคนที่ชื่นชอบบีต Drill ของฮิปฮอปได้ทันที

ในช่วงที่เพลง Dat $tick กำลังโด่งดังอย่างมาก เจ้าของค่าย 88rising ได้นำเพลงฮิตของ Rich Brian ไปเปิดให้ Ghostface Killah อดีตแรปเปอร์วง Wu-Tang Clan ฟัง เขาตอบกลับมาว่า “นี่เป็นเพลงที่เจ๋งมาก ผมอยากอยู่ในแทร็กนี้ด้วย” หลังจากนั้นพวกเขาก็ปล่อย Dat $tick Remix ออกมาด้วยกัน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าแรปเปอร์จากเอเชียที่ไม่ได้เกิดและเติบโตในถิ่นกำเนิดของฮิปฮอปก็สามารถทำเพลงที่ ‘ถึงเครื่อง’ และเป็นที่ยอมรับของศิลปินฮิปฮอปฝั่งตะวันตกได้

จากที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ ยังไม่นับรวมศิลปินเอเชียและเอเชียอเมริกันคนอื่นๆ ที่มีลักษณะทางดนตรีเป็นเอกลักษณ์ เข้าถึงตลาดคนฟังตะวันตก และสื่อหลายสำนักจับตามอง เช่น Raveena ศิลปินเอเชีย-อเมริกัน ที่กลายเป็นศิลปินเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ขึ้นเล่นใน Coachella, กลุ่ม K-Hiphop ที่มีทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่าง Epik High ที่เป็นวงฮิปฮอปเกาหลีกลุ่มแรกที่ได้โชว์บนเวที Coachella ถึง 3 ครั้ง หรือศิลปินไทยอย่าง Pyra ที่เพิ่งได้รับรางวัล Best Solo Act From Asia จาก BandLab NME Awards 2022

จริงหรือที่ตลาดอเมริกาพร้อมต้อนรับศิลปินเอเชียแล้ว? 

ความสำเร็จของ 88rising, BTS, BLACKPINK และศิลปินเอเชียคนอื่นๆ อาจเป็นฉากหน้าที่ทำให้เราเห็นการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นของวงการเพลงตะวันตก แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกมุมหนึ่งที่ศิลปินเอเชีย โดยเฉพาะเอเชีย-อเมริกันจะต้องฝ่าฟันกับอคติและวัฒนธรรมของตลาดเพลงเหล่านี้อยู่ 

ในงานวิจัยเรื่อง The Lack of Asian American Representation in American Pop Music โดย Victoria Noriega เก็บสถิติศิลปินที่ได้เซ็นสัญญากับ 3 ค่ายเพลงใหญ่ของอเมริกาในช่วงปี 2018-2019 ซึ่งมีทั้งหมด 299 ศิลปิน โดยพบว่า 53.02% เป็นกลุ่มคนขาว 31.88% เป็นคนผิวดำและคนแอฟริกัน-อเมริกัน 7.72% เป็นชาวลาตินและฮิสแพนิก (hispanic)  ส่วนฝั่งเอเชียแบ่งออกเป็น 2.35% คือคนที่เกิดในเอเชีย 0.67% คือคนเอเชีย-อเมริกัน 

สถิตินี้สะท้อนให้เห็น 2 ประเด็น อย่างแรก ศิลปินเอเชียและเอเชีย-อเมริกันยังมีเปอร์เซ็นต์ที่จะได้เซ็นสัญญาร่วมงานกับค่ายฝั่งตะวันตกน้อย เรื่องที่สอง แม้ว่าศิลปินเอเชีย-อเมริกันดูจะคุ้นชินกับวัฒนธรรมอเมริกันมากกว่า แต่เปอร์เซ็นต์ในการเซ็นสัญญาเป็นศิลปินกลับน้อยกว่า ด้วยเพราะปัญหา Asian Hate ที่ถูกฝังรากลึกมานาน ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าเอเชียจะเข้ามาแย่งงานคนขาว ทำให้อคติแห่งเชื้อชาติจุดกำเนิดและดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ 

MILCK ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวอเมริกันเชื้อสายฮ่องกง เจ้าของเพลง Quite ที่โด่งดังหลังจากที่เธอชวนกลุ่มนักร้องประสานเสียงไปแสดงในขบวน Women’s March ในปี 2017 และต่อมาก็ได้เป็นเพลงประจำการประท้วง พร้อมครองอันดับ 1 เพลงในการประท้วงประจำปี 2017 ของ Billboard ทำให้เธอได้เซ็นสัญญาเข้าเป็นศิลปินในสังกัด Atlantic Record หลังจากเป็นศิลปินอิสระมา 2-3 ปี

แม้ดูเหมือนว่า MILCK จะประสบความสำเร็จในฐานะศิลปินไม่น้อย แต่เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร PAPER ว่าตั้งแต่เด็กจนโต เธอถูกเหยียดมาโดยตลอด นั่นรวมถึงในช่วงที่ได้เป็นศิลปินด้วย “ผู้จัดการบอกฉันว่า เธอควรกลับไปทำเพลงที่จีน เพราะคนอเมริกันไม่สนใจศิลปินจากเอเชียหรอก” 

ความเป็นเอเชีย-อเมริกันจึงมีอุปสรรคแตกต่างจากศิลปินที่เกิดในเอเชีย แม้ว่าศิลปินเอเชียเองก็เจอกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอยู่เช่นกัน แต่เนื่องจากพวกเขาได้สร้างฐานแฟนคลับจำนวนหนึ่งเอาไว้ในฝั่งเอเชียแล้ว ทำให้มั่นใจว่าการโปรโมตเพลงของศิลปินจะมีแฟนเพลงช่วยสนับสนุนระดับหนึ่ง

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ Paul Kim หรือ P.Keys. Kim ศิลปินเอเชีย-อเมริกัน ผู้เคยประกวดในรายการ American Idol ให้สัมภาษณ์กับ Bustle ว่า หลังจากได้พูดคุยกับค่ายเพลงแล้ว ผู้บริหารบอกว่าถ้าเขาไม่ใช่คนเอเชีย คงได้เซ็นสัญญาไปแล้ว และค่ายเพลงยอมรับตรงๆ ว่าไม่รู้จะหาแนวทางการตลาดอะไรมาโปรโมตศิลปินจากเอเชียให้คนชอบได้

ศิลปินเอเชีย-อเมริกันบางคนยังเลือกเดินทางไปยัง ‘ประเทศต้นกำเนิดเชื้อชาติ’ เพื่อเริ่มต้นการเป็นศิลปิน เมื่อมีชื่อเสียงแล้วจึงกลับมายัง ‘ประเทศบ้านเกิด’ เพื่อทำงานอีกที อย่างที่ Jay Park อดีตหัวหน้าวง 2PM, Eric Nam, และ Tiffany Young สมาชิกวง Girls’ Generation ได้เปิดตัวและมีคอนเสิร์ตในอเมริกา แต่ก็นับว่ายังมีอุปสรรคอยู่มากในการทำเพลงให้ติดตลาดอย่างที่หวัง

ยิ่งช่วงหลังมานี้ ความเกลียดชังต่อเอเชียเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ศิลปินเอเชียและเอเชีย-อเมริกันจึงได้รับผลกระทบทั้งในชีวิตและการทำงาน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยในอุตสาหกรรมเพลง ในบทความของ Whitney Wei ชื่อ We Need to Address Anti-Asian Racism In the Music Industry เล่าว่า DJ Fart in the Club ดีเจสัญชาติเกาหลีที่ได้แสดงผ่านไลฟ์สตรีมผ่านช่องวิทยุที่เบอร์ลินอย่าง HÖR Radio ระหว่างนั้น มีคอมเมนต์เหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้น เช่น ‘ดีเจโคโรนาในซุปค้างคาวของคุณ’ เธอจึงเซฟภาพคอมเมนต์ไว้ แล้วตัดต่อใส่กับภาพโถส้วมสีขาว มีแมลงวันสีดำตอม จากนั้นโพสต์ลงโซเชียลมีเดียพร้อมคำอธิบายว่า ‘สิ่งที่ฉันทำได้กับคอมเมนต์เหล่านี้ คือการสร้างกองอึอีกกอง’ 

Whitney Wei ยังได้สัมภาษณ์ถึงการทำงานท่ามกลางความเกลียดชังเชื้อชาติกับ Mobilegirl โปรดิวเซอร์และดีเจชาวเวียดนาม-เยอรมัน ซึ่งศิลปินคนนี้ค้นพบว่า บนเส้นทางการทำงานของเธอเจอการละเมิดกันอย่างต่อเนื่อง เธอได้รับข้อความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติระหว่างการแสดงไลฟ์สตรีม และเคยมีคนถามว่าเธอสร้างผลงานเหล่านี้เองจริงๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นอคติทางเชื้อชาติที่ทำให้คนไม่เชื่อในความสามารถของศิลปินเอเชีย

อคติเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ายเพลงก็ไม่เห็นความสามารถในศิลปินเอเชียเช่นกัน ในมุมของครีเอทีฟชาวจีน-ออสเตรเลียอย่าง Amber Akilla บอกเล่าจากประสบการณ์ที่เธอพบว่า คนที่มีอำนาจในอุตสาหกรรมเพลงจะเลือกสิ่งที่คุ้นเคยและสิ่งที่สร้างกำไรให้กับพวกเขา เว้นแต่ว่าผู้บริหารเหล่านั้นจะได้ร่วมงานกับทีมที่มีความหลากหลาย ปัญหาประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมในวงกว้างที่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจ ความคุ้นเคย และสิ่งที่ให้ผลกำไรทันที ซึ่งส่งผลกับคนมีอำนาจเช่นเดียวกับศิลปินและคนฟัง

ในความหมายของแอมเบอร์คือ ‘อคติแห่งเชื้อชาติ’ กำลังบดบังให้คนฟังบางกลุ่มไปจนถึงอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันและโลกมองไม่เห็นความสำคัญ หรือไม่คิดว่าจะมีการตลาดที่ตอบโจทย์ต่อความสามารถของศิลปินชาวเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออคติเหล่านี้ทำงานอย่างหนักแล้ว ย่อมส่งผลไปถึงการได้รับฟังความหลากหลายทางดนตรีและเรื่องราวในชีวิตมนุษย์ที่ถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ของคนที่แตกต่างกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save