fbpx

มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม? เมื่อ ChatGPT และ AI ทำให้เราเรียนจบได้เหมือนกัน

ตอนที่ OpenAI เปิดตัว ‘ChatGPT’ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 แทบทุกวงการ โดยเฉพาะแวดวงวิชาการและอุตสาหกรรมความรู้ต่างพูดกันว่า “เอไอกำลังจะเปลี่ยนโลก” คนจำนวนมากตั้งตาเฝ้ารอดูว่า เอไอโมเดลนี้จะมีความสามารถมากแค่ไหน และจะเปลี่ยนโลกจริงหรือเปล่า ผมเป็นหนึ่งในบรรดาคนที่ไปตั้งตารอกับเขาด้วย และได้ทดลองเล่นกับโมเดลตั้งแต่วันแรก ก่อนได้คำตอบเป็นคำอุทานเบาๆ ในใจว่า “เฮ้ย จริง”

ศักยภาพหลักของ ChatGPT คือการสร้างข้อเขียนเสมือนมนุษย์ที่คุณภาพสูงในแง่ความสอดคล้องต่อเนื่อง (coherence) และครบถ้วน (completion) เมื่อได้ทำความรู้จักกับโมเดลนั้นผมสนุกและตื่นเต้นมาก แต่ในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับการสอนหนังสือก็เกิดความกังวลหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องการเขียนและผลิตงานวิชาการ (ซึ่งรวมถึงข้อสอบด้วย) จำได้ว่าในช่วงนั้นนักศึกษาที่เรียนกับผมกำลังจะส่งเรียงความสอบกลางภาคมาให้ ผมเริ่มเดาว่าไม่รอบนี้ก็รอบหน้าผมอาจจะได้อ่านงานที่เขียนด้วยเอไอมากกว่างานจากนักศึกษาจริงๆ 

ความกังวลของผมได้รับการยืนยัน เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนรุ่นน้องหลายคน (แน่นอนว่าต้องเป็นคนไทย) ที่มาเรียนปริญญาโทด้านกฎหมายและด้านธุรกิจในมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำติดท็อป 300 ของโลก ไม่ต่ำกว่าห้าคนยืนยันว่าเขาได้รับคะแนนเรียงความระดับดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัย โดยใช้เอไอเป็นผู้เขียนให้ และบางคนยืนยันว่าวิธีเดียวกันนี้ใช้ได้ผลเช่นเดียวกันกับงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท!

ฟังแล้วก็เกิดคำถามเต็มไปหมดนะครับว่าการ ‘โกง’ สอบในลักษณะนี้เกิดขึ้นในวงกว้างแค่ไหน? เสียหายเท่าไหร่ อย่างไร? มองไปไกลกว่านั้นคือ หากเอไอถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น สถาบันความรู้อย่างมหาวิทยาลัยไทยต้องกังวลด้วยหรือไม่ อย่างไร และที่สำคัญคือเราควรรับมืออย่างไร?

ความกังวลและความสงสัยในเรื่องนี้แปรเปลี่ยนเป็นความหมกมุ่น และการลงมือทำงานวิจัยอย่างจริงจัง ซึ่งผมได้ข้อสรุปบางอย่างที่คิดว่าเป็นประโยชน์และน่าสนใจ จึงอยากนำมาเล่าต่อในที่นี้

ทำไม ChatGPT จึงดิสรัปต์มหาวิทยาลัยเป็นที่แรกๆ


ทุกคนคงเดาได้ไม่ยากว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยควรต้องกังวลกับการมาถึงของเอไอแน่ๆ แต่คำถามที่น่าคิดคือ แล้วมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาไทยในการเรียนรู้เป็นหลักควรกังวลไหม เพราะแม้ในปัจจุบัน ChatGPT จะใช้งานภาษาไทยได้ แต่ความสามารถก็ยังแตกต่างจากภาษาอังกฤษอยู่มาก

ผมประเมินว่าสถาบันความรู้ในไทยควรกังวลและต้องคิดเรื่องนี้ให้มากเข้าไว้ โดยคำตอบของผมสร้างขึ้นจากสมมติฐานสองข้อ ซึ่งทั้งหมดประมวลจากงานวิจัยของสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

1. ในอนาคต ChatGPT จะสร้างข้อเขียนภาษาไทยได้ดีเทียบเท่าข้อเขียนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน

ข้อจำกัดทางด้านภาษาเคยเป็นปัญหาหลักของการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่อยู่บนฐานภาษาอังกฤษมาโดยตลอด คนที่เคยใช้ MacBook เมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้วอาจจะยังพอจำได้ว่า ปัญหาปวดหัวของคอมพิวเตอร์ยอดนิยมรุ่นนี้คือ การตัดคำภาษาไทยที่ไม่ลงตัวในโปรแกรมพิมพ์งานของ Mac ซึ่งแม้จะแก้ปัญหาไปได้มาก แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างในปัจจุบัน

โจทย์คลาสสิกในการพัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้ได้กับภาษาเฉพาะคือขนาดของตลาด เพราะหากตลาดไม่ใหญ่พอ การลงทุนเพื่อพัฒนาก็อาจไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ แต่สำหรับ ChatGPT ความท้าทายด้านภาษาอาจจะมากกว่าโปรแกรมแบบดั้งเดิมอย่างเทียบไม่ได้ เพราะโดยพื้นฐาน ChatGPT คือเอไอที่ทำงานเกี่ยวกับภาษา การพัฒนาเอไอจะต้องเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าภาษาอังกฤษมาก อีกทั้งแต่ละภาษาก็มีความซับซ้อนและต้องการความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาในแบบที่ต่างออกไปจากภาษาอังกฤษ (ซึ่งหมายถึงการลงทุนที่มากขึ้นด้วย)

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวโน้มแล้วสามารถชี้ได้ว่า ChatGPT มีแนวโน้มที่จะเก่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสักวันหนึ่งจะสร้างข้อเขียนภาษาไทยได้มีคุณภาพระดับเดียวกับข้อเขียนภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโมเดลดังกล่าวเป็นเอไอที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ต่อเนื่องผ่านการอ่านข้อเขียนทางภาษาที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ โดยฝึกฝนผ่านการที่ผู้สร้างหรือผู้ใช้ให้รางวัล กล่าวคือถ้าไม่สั่งแก้หรือให้เขียนใหม่ก็ถือว่าข้อเขียนที่สร้างจัดว่าดีแล้วและให้เรียนรู้ไว้ โมเดลเรียนรู้ผ่านกระบวนการแบบนี้ภายใต้การขัดเกลาและสร้างโจทย์ดึงศักยภาพเฉพาะส่วน (fine tune and prompt engineer) โดยผู้เชี่ยวชาญ จนสุดท้ายกลายเป็นคู่สนทนาและนักเขียนคุณภาพสูง

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ เราคาดคะเนได้ว่า ChatGPT จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรียนรู้ต่อเนื่อง ในขณะที่หากพิจารณาสถานการณ์ตลาดเอไอตอนนี้ก็เดาได้ว่าคงมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากพร้อมกระโดดมาทำงานขัดเกลาและดึงศักยภาพโมเดลดังกล่าว ซึ่งเท่าที่ถามดูก็ได้ยินว่าเริ่มทำกันไปแล้ว ดังนั้นช้าเร็วแค่ไหนไม่รู้ แต่วันหนึ่ง ChatGPT น่าจะเก่งข้อเขียนภาษาไทยเท่ากับที่เก่งกับภาษาอังกฤษตอนนี้แน่

2. ข้อเขียนของ ChatGPT (ในภาษาอังกฤษ) มีคุณภาพพอจบปริญญาตรีและอาจถึงโทได้ในหลายสาขาวิชา

เมื่อถึงจุดที่ ChatGPT ทำงานภาษาไทยได้ดี ข้อสรุปต่อไปของผมคือ ภายใต้การป้อนข้อมูลชี้นำที่เหมาะสม ChatGPT สามารถสร้างข้อเขียนเพื่อให้ผ่านการสอบวัดผลแบบที่ทำกันอยู่ได้ในระดับปริญญาตรีหลากสาขาวิชา และระดับปริญญาโทในบางสาขาวิชา 

การคาดคะเนศักยภาพสูงสุดของ ChatGPT ไม่ใช่เรื่องง่าย เอาเข้าจริงอาจทำไม่ได้ เพราะโมเดลมีธรรมชาติพัฒนาได้ต่อเนื่อง แม้แต่ผู้สร้างก็เดาปลายทางไม่ถูก ยังไม่นับว่าโมเดลมีความรู้แตกต่างไปในแต่ละสาขาวิชา ตามขนาดฐานข้อมูลและลักษณะเฉพาะรายวิชา ดังนั้นปกติการจะทดสอบเพื่อหยั่งรู้ศักยภาพของ ChatGPT ในเรื่องใดก็ต้องทำการทดลองเป็นรายเรื่องไป 

เท่าที่ทดสอบกันมา ChatGPT สอบผ่านได้อย่างง่ายดายในหลักสูตรการเรียนปริญญาตรีหลายสาขาวิชาในโลกภาษาอังกฤษและในอีกบางภาษา ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยชั้นนำโลกอย่าง ETH Zurich ของสวิตเซอร์แลนด์ยืนยันผลการทดสอบว่า ChatGPT สามารถผ่านแบบทดสอบมาตรฐานในเรื่องความรู้ทั่วไปได้ในทุกสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยด้วยคะแนนระดับดี ในสหรัฐอเมริกามหาวิทยาลัยอย่างฮาร์วาร์ดทดลองให้ ChatGPT สร้างข้อเขียนเพื่อผ่านการประเมินผลปริญญาตรีทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยพบว่า ข้อเขียนที่ ChatGPT ทำนั้นได้เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.34

สำหรับรายวิชาเฉพาะ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่นพบว่า ChatGPT สามารถเขียนรายงานขนาดสั้นสามย่อหน้าได้ดีกว่านักเรียนทั่วไป และอาจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยในอเมริกาทดลองให้ ChatGPT เขียนบทความ 1,000 คำเปรียบเทียบแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์สองคน พบว่า ChatGPT ใช้เวลาเขียนและปรับปรุงเพียง 10 นาที เพื่อสร้างรายงานที่ดี ฝั่งวิชาสายวิทยาศาสตร์ก็มีการค้นพบว่า ChatGPTสามารถสอบผ่านวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาตรีเช่นได้คะแนน 80% ในวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน

ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เล่าว่า ล่าสุด ChatGPT เรียนจบ Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นสถาบันความรู้ด้านการบริหารธุรกิจชั้นนำของโลกได้ด้วย โดยสามารถเขียนข้อสอบผ่านและจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขา MBA ซึ่งมุ่งทดสอบความสามารถในการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาทางธุรกิจของนักเรียนได้

อย่างไรก็ตาม ChatGPT ก็ประสบปัญหาในการทำงานบางรายวิชาในระดับปริญญาตรีอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นได้แก่เนื้อหาวิชาที่ต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจและเข้าร่วมถกเถียงทางวิชาการและหาจุดยืนของตน งานในลักษณะนี้ขัดแย้งกับความสามารถของโมเดลที่ไม่สามารถสร้างจุดยืนของตัวเองในข้อถกเถียงทางวิชาการได้ อย่างไรก็ตาม ถ้านักศึกษาจะสั่งงานให้อธิบายจุดยืนก็ทำได้ไม่ยาก คือไปบอก ChatGPT ให้เขียนงานสนับสนุนจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งในข้อถกเถียง ซึ่งส่วนใหญ่ข้อถกเถียงระดับปริญญาตรีเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วและสามารถสืบค้นและอ่านได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ ChatGPT จึงสามารถประมวลได้ว่าคนที่มีจุดยืนเช่นนั้นจะพูดว่าอะไรบ้าง

พูดอีกแบบคือ ChatGPT สามารถผลิตซ้ำข้อมูลที่ปรากฏอยู่ได้อย่างเป็นระบบ แต่ยังไม่สามารถสร้างจุดยืนใหม่ได้ ซึ่งในแง่หนึ่งนี่คือข้อเรียกร้องขั้นต่ำของการศึกษาปริญญาตรี

อีกเรื่องที่คนอาจเถียงคือ ChatGPT ประสบปัญหาร้ายแรงในเรื่องการสืบค้นข้อเท็จจริงพื้นฐาน การคำนวณตัวเลข รวมถึงไม่สามารถทำการทดลองหรือเก็บข้อมูลใหม่ได้ด้วยตนเอง ดังเช่นที่ผู้เรียนต้องทำในแล็บของรายวิชาวิทยาศาสตร์หรือการสำรวจข้อมูล แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการกรอกข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้หรือให้ ChatGPT อ่านเอกสารการเรียนรู้ก่อนประมวลสร้างงานเขียน

เรื่องที่อาจจะเป็นจุดอ่อนของ ChatGPT จริงๆ อาจคือเรื่องงานคณิตศาสตร์เชิงรูปนัย (formal mathematics) ประเภทสร้างบทพิสูจน์ภายใต้ข้อความทางคณิตศาสตร์ที่กำหนดมาให้อะไรทำนองนั้น ที่เป็นแบบก็เพราะนี้โมเดลไม่สามารถประมวลศัพท์ ตัวเลข และความเป็นไปได้ของการกระทำระหว่างสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้เป็นอนันต์ และโมเดลต้องประมวลสร้างข้อเขียนเหล่านี้ในลักษณะที่สอดคล้องภายใต้ข้อจำกัดและตอบโจทย์ต่อข้อความทางคณิตศาสตร์ (mathematical statements) ตั้งต้น ซึ่งเป็นข้อความที่ล้วนมีความหมายเฉพาะ ยากต่อการทำความเข้าใจ และไม่สามารถยืดหยุ่นได้ อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้สร้างเขาก็รู้เรื่องนี้แล้วและพยายามในการแก้ปัญหาที่ว่า เช่นการเข้าแทรกแซงแทนที่กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของโมเดลในเรื่องดังกล่าวด้วยการฝึกสอนความเข้าใจในสัญลักษณ์และข้อความทางคณิตศาสตร์โดยตรง

นิ่งเฉยหรือต่อต้าน?

สองปฏิกิริยาธรรมชาติของมหาวิทยาลัยต่อ ChatGPT กับหนึ่งจุดจบแห่งความล้มเหลว

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลกวิชาการ แต่เราก็เป็นเหมือนกันทั้งโลกครับ เวลาเจออะไรที่ไม่คุ้นเคย เรามักมองสิ่งเหล่านั้นในฐานะ ‘สิ่งแปลกปลอม’ แล้วก็ต่อต้าน ยิ่งถ้ารู้สึกว่าถูกสิ่งใหม่คุกคามแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ตอน ChatGPT เปิดตัว สถานศึกษาจำนวนมากเป็นแบบนั้น ในโลกตะวันตกนี่อาการค่อนข้างหนักเลย จำได้ว่าพอโมเดลเปิดตัว พวกอาจารย์ส่งอีเมลเรื่องนี้กันว่อน เพราะกลัวเด็กใช้ ChatGPT ‘โกง’ แต่อีกทางก็คือทำนิ่งราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นไปเลย แบบที่เขาเรียกกันว่า ‘กวาดขยะเข้าใต้พรม’

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ท่ามกลางคำพร่ำสอนที่บอกให้ต้อง ‘ปรับตัว’ เพื่อรับความเปลี่ยนแปลง อาการของมหาวิทยาลัยกลับต่อต้านความเปลี่ยนแปลงชนิดที่หลายคนอาจต้องเซอร์ไพรส์ หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวว่าเมื่อ ChatGPTออกมาช่วงแรกโรงเรียนรัฐในนิวยอร์กประกาศแบนเทคโนโลยีทันที ไม่อนุญาตให้เด็กใช้และจำกัดการเข้าถึงภายในพื้นที่ของตน มหาวิทยาลัยดังจำนวนหนึ่งก็มีท่าทีทำนองนี้ อย่างมหาวิทยาลัยฮ่องกงประกาศลั่นกับนักศึกษาแบบเดียวกับโรงเรียนมัธยมนิวยอร์กเลยว่าห้ามใช้ ห้ามใช้ และห้ามใช้

ส่วนออกซฟอร์ดกับเคมบริดจ์อาจไม่ได้โวยวายแบบนี้ แต่ก็ออกประกาศทันทีว่าใครใช้ ChatGPT เขียนงานจะมีโทษสถานหนัก ก่อนไปเถียงกันว่าตกลงผิดข้อหาอะไร เพราะจะว่าลอกเลียนผลงานก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้ลอกใคร ที่รู้แน่ๆ คือผิดเพราะเด็กไม่ได้ทำงานเอง มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นก็ออกประกาศแนะนำเรื่องการกลับมาใช้ระบบการสอบโบราณอย่างการเขียนมือในห้องหรือสอบปากเปล่าเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเสนอนโยบายรูปธรรมแบบใด แต่ฐานคิดสำคัญของแนวทางข้างต้นคือการป้องกันและตรวจจับผลงานที่ใช้ ChatGPT หรือโปรแกรมแชตบอตให้ได้ แต่ตอนนี้ชุมชนทางวิชาการโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกคุยกันจนได้ข้อสรุปว่าทางนี้เป็นภัยพิบัติมากกว่าแก้ปัญหาด้วยเหตุผลหลายประการ

1. ถ้ามหาวิทยาลัยมุ่งจะตรวจจับ ChatGPT ให้ได้ผล จะเกิดแรงจูงใจให้เกิดตลาดการพัฒนาซอฟต์แวร์ตรวจจับงานเขียนจากเอไอ (ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีแล้วอย่าง GPTZero แต่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ) ประเด็นที่กังวลกันคือตลาดนี้จะนำไปสู่ปัญหาความสิ้นเปลืองทรัพยากรในลักษณะเดียวกับการแข่งขัน ‘สะสมอาวุธ’ คือพอฝ่ายตรวจจับสร้างเทคโนโลยีตรวจจับสำเร็จ ฝ่ายสร้างโมเดลก็มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาสินค้าตัวใหม่ที่สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับได้ แล้วก็กลับมาที่ฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ตรวจจับพัฒนาสินค้าตัวใหม่ให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ วนไปเรื่อยๆ แข่งกันไม่จบ ก่อเกิดต้นทุนมหาศาล

2. ตลอดกระบวนการตรวจจับนี้ ผลพวงที่จะตามมาคือบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพราะฝ่ายหลังจะรู้สึกว่าถูกจับตาและจ้องจับผิด ที่จริงถ้ามหาวิทยาลัยจะเอาให้อยู่ ก็อาจถึงกับต้องเข้าไปตรวจสอบควบคุมพฤติกรรมนักเรียนในระดับจุลภาค เช่นบังคับเด็กให้ติดตั้งแอปพลิเคชันตรวจจับพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์ในอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นเด็กก็คงมองคนสอนเป็นตำรวจรัฐเผด็จการมากกว่าเป็นครูอาจารย์

แล้วบรรยากาศความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจก็ยังอาจนำไปสู่ปัญหาลุกลาม เช่น พฤติกรรม ‘แก้แค้น’ จากฝั่งนักศึกษาด้วย ที่เป็นข่าวก็เช่นนักศึกษาในอเมริกาฟ้องมหาวิทยาลัย หลังไปดูบันทึกพฤติกรรมการตรวจงานของอาจารย์แล้วเจอว่าอาจารย์น่าจะใช้ ChatGPT ตรวจ เพราะอ่านงานเรียงความขนาดยาวหนึ่งชิ้นไม่ถึงสามนาที แต่อ่านจบ ตรวจเสร็จ และให้คำแนะนำได้

ในด้านกลับ การเลือกนิ่งเฉยก็เป็นปัญหาเช่นกัน ถ้ามหาวิทยาลัยยังคงมีท่าทีเช่นนี้จะพบความสูญเสียในทุกมิติ เพราะเท่ากับเป็นการปล่อยให้เกิดการละเมิดมาตรฐานศักดิ์ศรีทางวิชาการในปัจจุบันโดยไม่ทำอะไรเลย นอกจากนี้ยังเป็นการละเลยให้เด็กใช้เทคโนโลยีโดยไม่สอนให้รู้เท่าทันในข้อจำกัด อย่างเรื่องอาการหลอน อคติทางสังคม และความเป็นส่วนตัว

ผลเสียของการนิ่งเฉยไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยากเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า “มีมหาวิทยาลัยไหนที่นิ่งเฉยด้วยเหรอ” 

เท่าที่สำรวจ มหาวิทยาลัยจำนวนมากนอกโลกภาษาอังกฤษล้วนมีท่าทีนิ่งเฉย แม้คณาจารย์จะให้ความสำคัญหรือมีข้อกังวลใจ แต่ก็เป็นลักษณะของปัจเจกบุคคลมากกว่า ในขณะที่การรับมือในระดับนโยบายของมหาวิทยาลัยยังทำค่อนข้างน้อย หรือไม่มีเลย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเป็นไปได้ว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้อาจมองว่า ChatGPT ยังไม่สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพในภาษาแม่ของสถาบัน ทำให้ตัวสถานศึกษายังไม่ตระหนักในศักยภาพและความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้เรียนในการใช้ ChatGPT

อย่างไรก็ตาม หากสมมติฐานข้อที่หนึ่งเป็นจริงว่า ChatGPT จะพัฒนาความสามารถตนอย่างสม่ำเสมอ ถึงตอนนั้นมหาวิทยาลัยไม่ว่าชาติไหนภาษาใดก็ต้องเจอกับความท้าทายนี้

ทั้งทางเลือกการต่อต้านและนิ่งเฉยล้วนนำพาเราสู่คำถามเกี่ยวกับบทบาทความจำเป็นของมหาวิทยาลัยในอนาคต คำถามที่ว่าคือสถาบันการศึกษาดังกล่าวยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ในโลกที่เทคโนโลยีแบบ ChatGPT กำลังกลายเป็นสิ่งปกติใหม่

วิกฤตอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

การมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง ChatGPT กำลังตั้งคำถามในระดับรากฐานต่อการคงอยู่ของมหาวิทยาลัย   ในฐานะสถาบันที่สร้างและผลิตคนและความรู้ มหาวิทยาลัยต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ทำไมคนยังต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัย หากเข้ามาก็เรียนจบได้โดยใช้เทคโนโลยี

พูดให้ถึงที่สุด มหาวิทยาลัยยังมีทางเลือกอื่นไหมนอกจากการหันไปเปิดหลักสูตรใหม่ที่เน้นให้นักศึกษาฝึกใช้ ChatGPT (หรือเอไออื่นๆ) เพื่อป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งแนวทางนี้แน่นอนว่าตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจ แต่คำถามคือฟังก์ชันของมหาวิทยาลัยต่อสังคมมีเพียงเท่านี้หรือ

นี่คือคำถามที่มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกำลังขบคิดและเริ่มมีท่าทีและคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานนี้ Centre for Teaching and Learning มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก็เริ่มศึกษาและนำเสนอรายงานเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงทางการศึกษาที่มาพร้อม ChatGPT พร้อมมีท่าทีเปิดรับต่อบทบาทของเทคโนโลยีมากขึ้น เคมบริดจ์ก็แถลงข่าวทำนองเดียวกันว่ามหาวิทยาลัยกำลังเริ่มหาแนวทางปรับตัวเพื่อรักษาบรรทัดฐานทางวิชาการและอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีไปพร้อมกัน แม้แต่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งก่อนหน้านี้มีท่าทีกีดกันร้อยเปอเซ็นต์ก็เปลี่ยนท่าทีแล้ว

นี่คือคำถามใหญ่ที่ทาง STIPI ให้ความสนใจและสนับสนุนให้ผมทำการศึกษาวิจัย และในบทความต่อไปของซีรีส์ชุดนี้ ผมจะขอนำเสนอข้อค้นพบบางประการที่อาจจะช่วยตอบคำถามให้ได้ว่า มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ยังคงมีคุณค่าและความหมายต่อสังคม


บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save