fbpx
หนึ่งปีในสมรภูมิโทรคมนาคมแบบไทยๆ : เปิดความในใจ อเล็กซานดรา ไรช์ CEO dtac

หนึ่งปีในสมรภูมิโทรคมนาคมแบบไทยๆ : เปิดความในใจ อเล็กซานดรา ไรช์ CEO dtac

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“เราสัญญาว่าจะไม่หยุด”

นี่คือข้อความแรกที่ อเล็กซานดรา ไรช์ (Alexandra Reich) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชนหรือ dtac เลือกสื่อสารกับคนไทย หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2018

อเล็กซานดราคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากว่า 18 ปี  โดยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่ง อาทิ  T-Online Austria, 3G Hutchison Austria, Sunrise Communications AG Switzerland และ Swisscom Enterprise เป็นต้น ในปี 2016 อเล็กซานดรา ได้เริ่มทำงานในกลุ่มเทเลนอร์ในตำแหน่งซีอีโอ เทเลนอร์ ฮังการี และเป็นหัวหน้ากลุ่มเทเลนอร์ในยุโรปกลาง นอกจากนี้ ก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อเล็กซานดรายังเคยเป็นผู้บุกเบิกแวดวงธุรกิจออนไลน์และทำธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพอีกด้วย

ประวัติปูมหลังของอเล็กซานดราและ ‘คำสัญญา’ ต่อผู้บริโภคของเธอ คงไม่ใช่เรื่องน่าสนใจขนาดนี้ ถ้าหากว่าซีอีโอคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในภาวะปกติ

แต่เมื่อหนึ่งปีก่อน dtac กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญในระดับชี้เป็นชี้ตาย  เมื่อสัญญาสัมปทานคลื่น 850 MHz และคลื่น 1800 MHz ที่ dtac ที่ถือครองอยู่เดิมกำลังจะหมดไป ในขณะที่การได้มาซึ่งใบอนุญาตในการใช้คลื่นใหม่ โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz  ก็ยังไม่มีความชัดเจน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งเกิดความไม่มั่นใจและลังเลใจที่จะใช้บริการ dtac ต่อไป และหากจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ dtac จะเสียเปรียบในสมรภูมิโทรคมนาคมไทยเป็นอย่างมาก

ความยุ่งยากในการจัดการปัญหาดังกล่าวสะท้อนเป็นรูปธรรมผ่านการที่ dtac ต้องยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ซึ่งใครที่ทำธุรกิจย่อมรู้ดีว่า การ ‘ทะเลาะ’ กับองค์กรกำกับดูแล ย่อมไม่ใช่เรื่องสนุก

นี่ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่อเล็กซานดราต้องเจอ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา dtac ยังต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพของบริการจากลูกค้าอีกด้วย จนไม่ว่าจะทำการตลาดแบบใด คอมเมนต์แรกๆ ที่มักโผล่มามักจะเป็นคำต่อว่า ทั้งไม่ต้องพูดถึงว่า ภารกิจในอนาคตที่รออเล็กซานดราอยู่ล้วนหนักและท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับมือเทคโนโลยี 5G และการยกระดับองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

แม้ประสบการณ์ทำงานภายใต้มาตรฐานในระดับสากลจะเป็นจุดแข็งสำคัญของอเล็กซานดรา แต่ความได้เปรียบนี้อาจกลายเป็นข้อจำกัดเมื่อต้องมาอยู่ใน ‘สมรภูมิโทรคมนาคมแบบไทยๆ’  ซึ่งแตกต่างจากโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติของการกำกับดูแล ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาควิชาการและภาคประชาสังคมมาโดยตลอดในเรื่องของความคาดเดาไม่ได้และไม่มีหลักการ

ในวาระของการสู้ศึกในสมรภูมิกิจการโทรคมนาคมไทยครบหนึ่งปี  101 ชวนซีอีโอคนล่าสุดของ dtac มาเปิดความในใจ ตั้งแต่วิธีคิดในการจัดการวิกฤตคลื่นความถี่ ความสัมพันธ์กับ กสทช. การปรับตัวกับการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับ 5G รวมไปจนถึงทิศทางในอนาคตของ dtac

แม้เราจะเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามว่า เนื้อดินของสังคมเศรษฐกิจไทยจะอนุญาตให้เธอทำตามความฝันของเธอและ dtac ได้มากสักเพียงใด แต่…

“เราสัญญาว่าจะไม่หยุด” — อเล็กซานดรา ไรช์ ยังคงยืนยัน

 

 

คุณมาทำงานที่ประเทศไทยได้ประมาณหนึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คิดอย่างไรกับประเทศไทย

เป็นคำถามที่ดีค่ะ (หัวเราะ) ก่อนหน้าที่จะมาที่นี่ ฉันเคยมาที่ประเทศไทยเพื่อจัดการเรื่องธุรกิจ จึงไม่ได้เห็นอะไรมาก ฉันเลยไม่เคยรู้ว่า ประเทศไทยสวยขนาดไหน และตัวเองจะตกหลุมรักประเทศนี้ได้มากแค่ไหน ไม่ใช่แค่เพราะวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่ผู้คนที่นี่เยี่ยมยอดมาก ฉันตกหลุมรักคนไทยเลย พวกเขาเคารพคนอื่น และมีความอบอุ่นด้วย

การได้อยู่ที่นี่เป็นเรื่องที่ดี และหนึ่งปีที่ผ่านมา ฉันก็รู้สึกว่าที่นี่คือบ้าน ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ฉันเป็นคนออสเตรีย และได้มีโอกาสอาศัยอยู่ในหลายประเทศที่ไม่ใช่ออสเตรีย แต่การอยู่ในไทยเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป เหมือนกับว่าฉันได้กลับบ้าน

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่วุ่นวาย แต่ก็เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย คุณจะสัมผัสได้ถึงความสร้างสรรค์ของเมืองนี้ รวมถึงพลังงานด้านบวกที่อยู่ในเมืองด้วย และฉันรักพลังงานบวกของกรุงเทพฯ มาก สิ่งที่คุณเห็น สิ่งที่คุณได้ยิน มันมหัศจรรย์มาก การทำงานกับคนที่นี่ก็เป็นเรื่องที่ดี พวกเขาเป็นมิตรและให้การสนับสนุน ไม่ว่าคุณจะไปที่ไหน

 

ในแง่ชีวิตส่วนตัว คุณดูจะมีความสุขกับเมืองไทยไม่น้อย แต่สำหรับเรื่องงานประเทศไทยอาจมีความท้าทายที่ต่างออกไป เมื่อคุณเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งซีอีโอของ dtac สิ่งแรกที่คุณทำคือการบอกกับสาธารณะว่า “สัญญาว่าจะไม่หยุดค่ะ” ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทำให้คนรู้จักคุณในวงกว้างด้วย เบื้องหลังความคิดของคุณในการเลือกส่งข้อความนี้กับคนไทยคืออะไร

ปีที่แล้ว ตอนที่ฉันเริ่มต้นทำงานในเดือนสิงหาคมปี 2018 เรากำลังเจอกับหลายปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่ ในด้านหนึ่ง สัมปทานคลื่นความถี่ที่ dtac ได้รับกำลังจะสิ้นสุด ในขณะที่การประมูลคลื่นความถี่ใหม่มาทดแทน ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะลงเอยอย่างไร ต้องยอมรับว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก

ในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าเราพยายามจะจัดการเรื่องคุณภาพของเครือข่ายให้ดีที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะการไม่มีคลื่นความถี่ทำให้เราแก้ปัญหาได้อย่างจำกัด และเรารู้ว่า ลูกค้าของเราต้องได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ สิ่งที่ฉันต้องการจะสื่อสารคือ พวกเราขออภัยเป็นอย่างสูงที่ลูกค้าต้องได้รับผลกระทบ และพวกเรากำลังพยายามปรับปรุงคุณภาพเครือข่ายอยู่ นี่คือสิ่งที่ฉันสัญญาว่าจะทำ

คุณอาจสงสัยว่าทำไมฉันถึงต้องออกมาพูดเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ฉันคิดว่าในฐานะซีอีโอของ dtac ต้องก้าวออกมา และให้สัญญากับลูกค้าด้วยตัวฉันเอง เพราะเราไม่อยากจ้างพรีเซนเตอร์หรือใครก็ตามมาสัญญากับลูกค้า

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสข่าวในช่วงนั้น ทำให้คนเสียความเชื่อมั่นต่อ dtac ลูกค้า dtac เองก็สับสนไม่น้อยว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ หลายคนตัดสินใจย้ายค่าย นักวิเคราะห์มองว่า กลยุทธ์นี้ของ dtac มีผลสะท้อนไม่น้อยเช่นกัน เพราะมันมีนัยว่า ‘dtac กำลังเผชิญปัญหาอยู่จริง’ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าคุณเปิดใจและซื่อสัตย์กับลูกค้า พยายามพิสูจน์ให้เขาเห็น พวกเขาก็ยินดีที่จะอยู่กับคุณ และจะฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากไปกับคุณ พวกเขาจะเริ่มเชื่อใจและไม่จากคุณไปไหน และนั่นแหละคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงให้สัญญาแบบนั้น และพวกเราก็จะทำตามสัญญานั้น dtac ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาได้ และยังลงทุนเพิ่มอย่างมากเพื่อที่จะปรับปรุงประสบการณ์การรับบริการตามที่เราเคยสัญญาไว้

สิ่งที่เราพยายามบอกลูกค้าคือ พวกเราจะทำตามสัญญา ได้โปรดอยู่กับเรา เชื่อใจเรา และเราจะทำงานให้คุณ หลังจากนั้นเราประเมินความสำเร็จของการสื่อสาร ซึ่งรายงานวิจัยด้านการตลาดบอกเราว่า คนค่อนข้างชื่นชอบ ผลลัพธ์ของแคมเปญนี้เป็นไปในแง่บวก ค่อนข้างน่าพึงพอใจมากทีเดียว

 

ตอนนี้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่เหมือนจะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ dtac ยังเจอกับความท้าทายอีกหลายด้าน อะไรคือความท้าทายสำคัญของ dtac ในระยะต่อไป

แม้เราจะได้ใบอนุญาตใช้คลื่น 900 MHz มาแล้ว แต่ความท้าทายหลักยังคงเป็นเรื่องการมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอสำหรับการบริการในอนาคต ดังนั้น ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา dtac จึงเข้าร่วมรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz เพื่อที่จะประกันว่าเรามีคลื่นที่เพียงพอ

ตอนนี้ dtac กำลังปรับจูนแนวทางการให้บริการอย่างเข้มข้น เราพยายามอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงคุณภาพของเครือข่าย เพราะตอนนี้ปริมาณการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายอีกมาก กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถหยุดทำได้เลย ต้องทำต่อเนื่อง

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่เราอยากทำไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อ (connectivity) ผู้คนเข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่ลูกค้าของเราได้รับควรจะเป็นประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่ง่ายขึ้น การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการพยายามที่จะมีธรรมาภิบาลที่ดีและความโปร่งใสมากที่สุด

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพเครือข่าย แต่ปรับปรุงเรื่องประสบการณ์การรับบริการของลูกค้าด้วย

 

คุณดูจะประทับใจเมืองไทยอยู่พอสมควร แต่ ‘ความเป็นไทย’ ก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะถ้าพูดถึงปัญหาเรื่องความโปร่งใส (transparency) และการกำกับดูแล (regulation) ในขณะที่ dtac พยายามขายเรื่องความโปร่งใส โดยใช้มาตรฐานแบบเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของ dtac พูดกันตามจริง มาตรฐานแบบเทเลนอร์คงมีหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับความโปร่งใสและการกำกับดูแลแบบไทยๆ คุณจัดการความลักลั่นตรงนี้อย่างไร

ความโปร่งใสและความซื่อสัตย์เป็นกุญแจสำคัญสำหรับทุกองค์กร และฉันก็เชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศด้วย ดังนั้น แม้ว่าเทเลนอร์ซึ่งเป็น investor สำคัญของ dtac และมีความคาดหวังสูงมากต่อ dtac ในเรื่องมาตรฐานและวิถีการดำเนินธุรกิจ แต่ฉันเชื่อว่า ทุกองค์กรในประเทศไทยสามารถพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันได้

ในระดับโลก เทเลนอร์เป็นที่รู้จักกันในนามธุรกิจที่มีความโปร่งใสและซื่อสัตย์ และฉันก็เชื่อเหลือเกินว่า ผู้บริโภคต้องการใครสักคนที่พวกเขาสามารถเชื่อใจได้ และมองออกว่าเขาต้องการอะไร หนึ่งในเป้าหมายของเรา คือทำให้ลูกค้ารู้ว่าเราซื่อสัตย์กับเขา จะไม่โกงเขา จะสนับสนุนเขาในเวลาที่พวกเขาต้องการ และพวกเรายังมีข้อผูกมัดที่จะให้บางสิ่งบางอย่างกลับคืนสู่สังคมด้วย เรื่องนี้อาจจะฟังดูยากในตอนแรก แต่ฉันเชื่อว่าต่อไป มันจะเป็นขั้นตอนสู่ความสำเร็จของพวกเรา

 

 

โดยหลักการ สิ่งที่คุณพูดฟังดูดีมาก แต่ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ค่อนข้างชัดเจนว่า การบังคับใช้มาตรฐานในระดับสูง ย่อมมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงเช่นกัน  dtac จัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะถึงที่สุดแล้ว dtac เป็นองค์กรธุรกิจที่ต้องคิดเรื่องต้นทุนและกำไร คำนึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

จะไม่มีการประนีประนอมในสองเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด (เน้นย้ำ) นี่ไม่ใช่เรื่องของต้นทุนระยะสั้น แต่เป็นเรื่องของคุณค่าด้วย และฉันก็เชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย แต่จะสร้างคุณค่าต่อไปในอนาคต ความโปร่งใสและความซื่อสัตย์เป็นทางเดียว ไม่มีทางอื่น และฉันก็ไม่คิดจะหาทางอื่นด้วย

 

เพราะแบบนี้ จึงมีคนบอกว่า dtac มีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด (Love-hate relationship) กับกสทช. อยู่เสมอ เพราะนโยบายหลายเรื่องของ กสทช. มักถูกนักวิชาการตั้งคำถามเรื่องหลักการและความโปร่งใสเสมอ 

ฉันไม่คิดว่านี่เป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดนะคะ (หัวเราะ)

เป็นความจริงที่ว่า กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. อาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นด้วยสักเท่าไหร่ เพราะราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยนั้นสูงมากๆ ซึ่งถ้าใช้เหตุผลด้านการเงินในการตัดสินใจ ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากมากๆ อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังอยู่เสมอว่า สถานการณ์โดยรวมจะสามารถดีขึ้นได้

ที่ผ่านมา dtac ได้แสดงออกถึงความเต็มใจที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่ และเรียกร้องให้มีการจัดทำแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาวมาโดยตลอด

ในอนาคต dtac ก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะถกเถียงอภิปรายร่วมกัน กรณีคลื่นความถี่ 700 MHz ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานในลักษณะดังกล่าวระหว่างเรากับ กสทช. แน่นอนว่า มันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีแบบ 100% แต่ก็สามารถพูดได้ว่า มันเป็นความสัมพันธ์ที่ดี

 

คุณมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า ถ้าย้อนมองอดีตจะเห็นว่า เรื่อง Spectrum Roadmap หรือเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ตามที่ภาควิชาการและภาคประชาสังคมไทย รวมถึง dtac เรียกร้อง ไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

พูดอย่างจริงใจเลยว่า (ถอนหายใจเล็กน้อย) เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่เรามีให้ได้ เราสามารถบอก กสทช. ได้ว่า เราต้องการ Spectrum Roadmap เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่มีความชัดเจนในระยะยาว แต่ในเมื่อยังไม่มีการตัดสินใจใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เราก็ต้องยอมรับ

แต่ฉันยังหวังว่า เรื่องนี้จะดีขึ้นตามลำดับ อย่างน้อยตอนนี้เราก็สามารถพูดถึงเรื่องการดำเนินการขั้นต่อไปเกี่ยวกับคลื่นความถี่ได้ และฉันก็คิดว่า กสทช. กำลังพยายามอย่างหนักเช่นกันที่จะมีความโปร่งใสมากขึ้น และวางแผนในระยะยาวกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้เราต้องร่วมมือกัน

ฉันยังเชื่อมั่นอย่างมากในเรื่องความร่วมมือ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาหารือที่ดีด้วย อย่างน้อยในปีที่ผ่านมา ฉันก็รู้สึกว่าการร่วมมือกันกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

 

การทำงานเรื่องนี้ในไทย แตกต่างอย่างไรกับที่คุณเคยทำในยุโรป

ฉันเคยทำงานในหลายประเทศในยุโรป ซึ่งต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ไม่ได้รุนแรงเท่าในประเทศไทย เพราะในยุโรปยังมีคลื่นความถี่ให้ใช้ค่อนข้างมาก ราคาคลื่นจึงถูกกว่ามากด้วย ในแง่นี้ประเด็นเรื่องคลื่นความถี่จึงค่อนข้างจะเป็นประเด็นที่ใหญ่และพิเศษสักหน่อยสำหรับประเทศไทย

อันที่จริง รัฐสามารถใช้กลยุทธ์ในการจัดการคลื่นความถี่ได้หลายแบบ ซึ่งประเทศไทยเลือกที่จะใช้กลยุทธ์ในการหารายได้เข้ารัฐมากที่สุด วิธีการนี้อาจส่งผลทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายไม่ว่าจะเป็น AIS, true หรือ dtac ต่างต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งส่งผลต่อกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เทคโนโลยี 5G ถูกมองว่าเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ทุกวันนี้ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ในฐานะที่เป็นผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในระดับโลก อะไรคือวิสัยทัศน์ของ dtac และเทเลนอร์เกี่ยวกับเรื่อง 5G

เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีใหม่อีกรูปแบบหนึ่งเลย ดังนั้นสิ่งแรกที่พวกเราพยายามทำคือการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เพื่อที่ว่าเมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่ เราจะสามารถใช้งานได้ทันที แต่ต้องยอมรับว่า การลงทุนในเทคโนโลยี 5G รวมไปถึงเรื่องคลื่นความถี่และเครือข่าย เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงมาก

นอกจากนี้ เราพยายามที่จะวางแผนระยะยาวสำหรับเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น การทำความเข้าใจกับคู่ค้าในกลุ่ม B2B (Business to Business) ว่าเทคโนโลยี 5G จะพลิกโฉมการทำธุรกิจอย่างไร และพวกเขาจะได้ประโยชน์อย่างไรในการเตรียมปรับตัว เมื่อต้องไปคุยกับลูกค้าในภาคธุรกิจ ฉันจะบอกเสมอว่า พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยเรียนรู้ด้วยว่าพวกเขาต้องการอะไร และ dtac จะสนับสนุนอะไรได้บ้าง

สำหรับผู้บริโภค นวัตกรรมอย่างแรกที่เกิดขึ้นคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายที่อยู่ประจำที่ (Fixed wireless) ซึ่งจะทำให้สามารถส่งข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล อันที่จริง นวัตกรรมนี้ก็สามารถใช้กับ 4G ได้เช่นกัน และ dtac เองกำลังศึกษาอยู่ว่า จะสามารถทำอะไรเพื่อผู้บริโภคได้บ้างภายใต้คลื่นความถี่ที่มี

เป็นความจริงที่ว่า ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของ 5G จะเป็นอย่างไร แต่คงไม่เกินจริงที่จะบอกว่า ทุกคนในทั่วทุกมุมโลกกำลังทำการทดลองกันอยู่ โดยหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นพร้อมกับนวัตกรรมด้วย หนึ่งในสิ่งที่ dtac กับเทเลนอร์กำลังพยายามทำคือ การเรียนรู้ร่วมกัน

พูดให้ถึงที่สุด ตอนนี้คงไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับเทคโนโลยี 5G สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ดี และพร้อมที่จะทดลองเรียนรู้ไปพร้อมกัน

 

ประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหน ทั้งในแง่โครงสร้างพื้นฐานและเรื่องการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ

ในภาพรวม ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดี และฉันไม่กังวลเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เรื่องความพร้อมของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการมากกว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีช่องว่างในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอยู่มาก เท่าที่ดู ภาคธุรกิจเดียวในไทยที่กำลังมุ่งไปข้างหน้าคือภาคการเงิน แต่ในอุตสาหกรรมอื่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังมีเรื่องต้องทำอีกมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องการการคิดและการทำงานที่ต่างไปจากเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ทุกวันนี้การใช้ข้อมูลมีปริมาณมหาศาลมาก คุณลองดูสิว่า คนไทยใช้เวลา 8-9 ชั่วโมงจ้องหน้าจอมือถือ บางคนใช้ข้อมูล 13-15 GB ต่อเดือน แต่ช่องว่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ คนจำเป็นต้องเข้าใจและเรียนรู้ว่า การสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นฟรีๆ แต่ต้องการการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อทำให้เกิดการสื่อสารขึ้น

เวลาพูดว่า การสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นฟรี ไม่ได้หมายความว่า ผู้บริโภคไม่รู้ว่ามีค่าใช้จ่าย พวกเขารู้และเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อใช้งาน แต่ถ้าพวกเขารู้ด้วยว่า การลงทุนที่ดีจะทำให้คุณภาพและบริการดีขึ้น รวมไปถึงการเปิดโอกาสใหม่ให้เกิดการทำเงินจากข้อมูล (monetization) พวกเขาก็จะมีส่วนในการช่วยผลักดันนโยบายที่เหมาะสมได้

 

 

บทบาทของภาครัฐหรือองค์กรกำกับดูแลในเรื่องนี้คืออะไร

ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการศึกษา รวมถึงหาพันธมิตรใหม่ๆ มาทำงานร่วมกัน หรือบางทีภาครัฐหรือผู้มีอำนาจอาจลองคิดถึงรูปแบบที่ให้แรงจูงใจ (incentive model) เช่น ภาษี เป็นต้น แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องเหล่านี้ ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความเร่งด่วนของเรื่องนี้เสียก่อน

ถ้าประเทศไทยอยากก้าวไปข้างหน้าจริงๆ มันจะไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องของทุกคนในประเทศที่ต้องเต็มใจเปลี่ยนแปลงและพยายามเปลี่ยนวิธีทำงาน ฉันเชื่อว่าผู้ประกอบการยินดีที่จะเปลี่ยนและปรับตัว แต่พวกเขาต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การสอน หรือการค้าก็ตาม

 

อะไรเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอีก 4–5 ปีข้างหน้า

เทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว นั่นหมายความว่า โจทย์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะไม่ใช่แค่เรื่องของการตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น ความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

ในโลกที่ความเหลื่อมล้ำกำลังถ่างกว้างขึ้น ไม่ว่าระหว่างเมืองกับชนบท หรือระหว่างคนในเมืองด้วยกันเอง อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีศักยภาพอย่างมากในการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ เพราะการที่คนเข้าถึงบริการ นั่นหมายความว่า พวกเขามีโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ การศึกษา และโอกาสมากขึ้น ในฐานะคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม เรามีส่วนต้องรับผิดชอบอย่างสำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้

โดยหลักการ การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน จะช่วยเป็นหลักประกันเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้เข้าถึงบริการก็เป็นอีกหนึ่งในความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรม เพราะคนที่เข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่า เร็วกว่า และมีคุณภาพกว่า ย่อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากกว่า แม้ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำที่เดิมมีอยู่แล้ว แต่ก็เป็นโจทย์ที่หลายคนกำลังคิดเช่นกัน

 

dtac ตีโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างไร

เทเลนอร์และ dtac มีหลายโครงการที่พยายามช่วยลดช่องว่างระหว่างชนบทกับเมืองในประเทศที่เราลงทุนอยู่ โดยส่วนมากจะเป็นการให้ความรู้เรื่องทักษะดิจิทัลกับคนในชนบท และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แก้ไขปัญหาสังคม เช่น ในปากีสถาน เทเลนอร์ได้สนับสนุนให้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการแจ้งเกิดแบบดิจิทัล ซึ่งช่วยให้อัตราการแจ้งเกิดสูงขึ้นจาก 30% เป็น 90% ในระยะเวลาแค่ 6 เดือน และคาดว่าจะมีเด็กที่แจ้งเกิดผ่านแพลตฟอร์มนี้เกิน 1.1 ล้านคนในปี 2019 การแจ้งเกิดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้เด็กๆ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะพลเมืองได้ ในประเทศไทย dtac ก็ทำโครงการ ‘ฟาร์มแม่นยำ’ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อสร้างผลิตภาพให้เพิ่มขึ้นได้

ไม่ใช่แค่ dtac เท่านั้นที่มีบทบาทเช่นนี้ได้ ผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน พวกเราอาจจะแข่งขันกันในตลาด ซึ่ง dtac พร้อมที่จะแข่ง แต่ในหลายเรื่อง dtac, true และ AIS สามารถร่วมมือกันเพื่อยกระดับประเทศไทยได้ โดย กสทช. อาจเข้ามามีส่วนในการเอื้อให้เกิดความร่วมมือได้ด้วย

แน่นอนว่า เราแสวงหากำไร แต่ก็อยากจะให้อะไรกลับคืนสู่สังคมไทย และช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปข้างหน้าด้วย

 

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทั้งสามค่ายมักมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ อย่างล่าสุด ทั้ง dtac, AIS และบริษัทโทรคมนาคมจำนวนหนึ่งก็ร่วมกันร้องเรียน true กรณีโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขต กทม.  ความร่วมมือที่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ

แน่นอน (เน้นย้ำ) ความร่วมมือเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในอุตสาหกรรมนี้ เราต้องสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ผู้ให้บริการสามารถทำงานร่วมกันได้ ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณกำลังพิจารณาเรื่องเทคโนโลยี 5G คุณก็จำเป็นจะต้องมีเครือข่ายที่ผู้ให้บริการทั้งหมดมาร่วมมือกัน การคุยกันในเรื่องที่สำคัญๆ อุปสรรคในการทำงานก็จะน้อยลง เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง และเป็นประโยชน์กับลูกค้ามากขึ้นด้วย

อันที่จริง ไม่ใช่แค่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเท่านั้น ระบบนิเวศที่ดีต้องเอื้อให้เกิดความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมด้วย และนี่คือเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการให้บริการลูกค้าในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้บริการทางการเงิน ประกันภัย บริการสุขภาพ และการซื้อขายสินค้าและบริการ ล้วนสามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ

ฉันมั่นใจอย่างยิ่งว่า ถึงแม้แต่ละบริษัทจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่การร่วมมือกันก็ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเราและกับลูกค้าด้วย ในแง่นี้ฉันจึงมองหาความร่วมมือจาก AIS และ true อยู่เสมอ

 

อะไรเป็นหลักคิดที่จะตัดสินว่าเรื่องไหนควรจะแข่งกัน เรื่องไหนควรร่วมมือกัน

การจะแข่งขันกัน หรือร่วมมือกัน ควรเป็นไปเพื่อผลลัพธ์ด้านบวกสำหรับลูกค้า

 

เวลาภาคธุรกิจหรือกลุ่มทุนพูดว่า ‘ต้องการตอบแทนบางอย่างกลับคืนสู่สังคม’ หรือ ‘ต้องการทำเพื่อประเทศชาติ’ คนจำนวนไม่น้อยมักจะบอกว่าเป็นแค่คำพูดที่สวยหรู

ในโลกของธุรกิจยุคใหม่ ถ้าคุณไม่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ มัวคิดถึงแต่กำไร ธุรกิจของคุณก็จะไม่ยั่งยืน เพราะคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ จำนวนหนึ่งจะไม่อยากทำงานกับคุณ เพราะมองว่า บริษัทไม่ได้ให้อะไรกับประเทศหรือแม้แต่กับโลก

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นทั้งเรื่องในเชิงธุรกิจ และมากกว่าธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ฉันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า แนวทางนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ปัญหาจำนวนมากจะไม่สามารถแก้ไขได้โดยภาครัฐโดยลำพัง หรือในบางเรื่องรัฐอาจจะไม่ยอมทำ ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเรื่องนี้

 

 

การตอบแทนสังคม การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม อะไรก็แล้วแต่ที่ dtac พยายามทำอยู่ จะไร้ความหมายในสายตาผู้บริโภคไปเลย ตราบเท่าที่การให้บริการยังไม่ได้คุณภาพ ในฐานะผู้นำองค์กร คุณคงพอทราบว่ามีเสียงบ่นเหล่านี้ต่อ dtac อยู่บ้างใช่ไหม 

การทำให้ลูกค้าพึงพอใจเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด คำติชม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ทำให้เรารู้ว่าเรายังต้องปรับปรุงคุณภาพ และพยายามอย่างหนักมากขึ้นเพื่อลดคำตำหนิหรือคำบ่นของลูกค้า ฉันไม่ได้บอกว่า พวกเราจัดการกับมันได้ 100% แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาไปเรื่อยๆ และดัชนีชี้วัดความพึงพอใจของลูกค้า บอกเราว่า คำตำหนินั้นลดน้อยลง

นอกจากคุณภาพของเครือข่ายแล้ว เรายังดูแลลูกค้าของเราในด้านอื่นๆ ด้วย หนึ่งในคำตำหนิที่เราได้รับคือ ลูกค้าหลายคนต้องจ่ายเงินให้บริการที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะรับมันจริงๆ เช่น บริการ SMS ต่างๆ dtac จึงแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดด้วยการยอมเสียรายได้ตรงนี้ไปเลย เพราะสิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือ ลูกค้าที่มีความสุข เชื่อใจเรา และได้บริการแบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ

ในระยะสั้น แน่นอนว่าเราสูญเสียรายได้ แต่ในระยะยาว นี่เป็นทางเดียวที่เราจะสร้างความแตกต่างในตลาดได้ คุณจะเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือได้อย่างไรหากคุณหลอกลวงผู้บริโภค ดังนั้น ฉันจึงเชื่อมั่นอย่างมากว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะสร้างรายได้และคุณค่าให้กับ dtac ด้วย

 

อยากชวนคุยเรื่องแนวทางการบริหารองค์กรของคุณสักหน่อย ตอนที่คุณเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ สื่อในประเทศไทยต่างแนะนำคุณในฐานะ “ซีอีโอหญิงคนแรกของ dtac” ความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชายสำคัญแค่ไหนในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ หรือในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ฉันไม่คิดว่าเพศมีผลอะไรต่อการบริหารในทั้งระดับองค์กร หรือในอุตสาหกรรม อันที่จริง ฉันเชื่อในเรื่องความหลากหลาย (diversity) อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศสภาพ อายุ หรือเชื้อชาติ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องสำคัญ และอาจจะสร้างความแตกต่างได้

ปัจจุบัน dtac มีผู้หญิง 3 คนในทีมบริหาร และมีคน 4 เชื้อชาติที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่เป็นกลุ่มที่ดีมากๆ เพราะพวกเราเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย และร่วมกันอภิปรายความคิดเห็นต่างๆ อีกทั้งการที่แต่ละคนมีพื้นเพที่แตกต่างกัน ก็ทำให้เราได้ความคิดใหม่ๆ ที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปด้วย

ในภาพใหญ่ กลุ่มเทเลนอร์ให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย และเรียนรู้ว่าความหลากหลายนั้นมีคุณค่า การเปิดรับความหลากหลายทำให้เราเข้าใจและเคารพคนไทยและวัฒนธรรมไทยได้ดีด้วย

 

อะไรคือความท้าทายในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่อย่าง dtac

dtac ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่คนอยากที่จะทำงานด้วย เพราะว่า dtac เป็นเหมือนครอบครัว แต่ถึงอย่างนั้น dtac จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว และพวกเรากำลังเผชิญช่วงเวลาของการปรับตัวอยู่

แน่นอนว่า ฉันไม่อยากเสียพนักงานที่รักในการทำงานที่นี่ไป แต่ dtac บริหารงานแบบบนสู่ล่าง (top-down) มากเกินไป มีลำดับชั้น (hierarchy) และทุกคนก็จะทำงานเฉพาะแต่ในแผนกของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่วิธีในอนาคต ฉันไม่อยากเป็นผู้บริหารที่เอาแต่บอกพนักงานว่า เขาจำเป็นต้องทำอะไร แต่พนักงานจำเป็นต้องรู้สึกมีพลัง รู้สึกว่าตนเองมีส่วนในการรับผิดชอบเรื่องต่างๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีการบริหารคน

สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือ การเปลี่ยนแปลงให้คนทำงานสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายและร่วมกันมากขึ้น (cross-functional) เช่น การแบ่งทีมทำงานตามกลุ่มปัญหาที่แตกต่างกันของลูกค้า หรือโจทย์ที่ท้าทายต่างกัน ซึ่งแต่ละทีมก็จะประกอบด้วยคนหลากหลายแบบ ไม่ได้แยกตามฟังก์ชันแบบเดิม พนักงานจะช่วงมีเวลาสั้นๆ ในแต่ละสัปดาห์ที่จะได้มาพูดคุยและร่วมมือกัน ซึ่งนี่ก็เป็นการทำงานร่วมกันในอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป

 

อยากให้ยกตัวอย่างรูปธรรมสักหน่อย

เราทำกันหลายอย่างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือการทำงานร่วมกันของพนักงานใหม่และพนักงานเก่า พนักงานใหม่ที่เข้ามาแม้จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงนัก แต่พวกเขาเป็นสมาชิกที่มีศักดิ์เท่ากันในทีม แต่ละคนสามารถพูด แสดงความคิดเห็น ให้ความช่วยเหลือ และมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่

การที่คนต่างวัยได้มาทำงานร่วมกันก็เป็นหนึ่งในคุณค่าเรื่องความหลากหลายที่ได้พูดไปบ้างแล้ว แน่นอนว่า คนที่มีประสบการณ์มากย่อมมีคุณค่ากับองค์กร แต่คนที่มาใหม่ มีสายตาที่เฉียบแหลม และถามคำถามสำคัญได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ก็สามารถสร้างคุณค่าได้เช่นกัน

ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนที่ทำงานที่นี่มา 20 ปี แล้วต้องเจอการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ฉันรู้ว่ามีหลายคนที่ไม่ได้สบายใจกับแนวทางนี้ แต่ฉันคงต้องเดินหน้าต่อไป นี่เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ที่อาจต้องใช้เวลาเป็นปี ฉันก็ยังมีความหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ และเชื่ออย่างยิ่งด้วยว่า แนวทางนี้จะพา dtac ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง

 

เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายพันคน ไม่ต้องพูดถึงว่า การมีลำดับชั้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยด้วย

ใช่ค่ะ และฉันยังมั่นใจว่ามันจะประสบผลสำเร็จด้วย อันที่จริง ฉันคิดว่าไม่น่าจะมีทางอื่นด้วยซ้ำ ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว หากยังบริหารแบบเดิม ประสิทธิผลก็มีแต่จะน้อยลงเรื่อยๆ องค์กรที่ใหญ่กว่าเรา เช่น อุตสาหกรรมยา มีลูกค้ามากกว่าและมีธุรกิจทั่วโลก ยังสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้เลย

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแต่แรงเสียดทานเท่านั้น แต่ยังมีแรงหนุนด้วย ถ้าคุณลองมองตาของพนักงาน คุณจะเห็นว่าเขาผูกพันกับที่นี่แค่ไหน เขาสนุกกับการทำงาน เข้ามามีส่วนร่วม มาอภิปราย และเปิดกว้างมากแค่ไหน นี่เป็นวิธีการทำงานที่แตกต่างออกไปเลย พวกเขามีความสุข และนี่แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการ

 

 

ในฐานะที่เป็น ‘คนใน’ สังคมไทย อดแซวไม่ได้ว่าคุณโลกสวยมาก

(หัวเราะ) เวลาบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศมหัศจรรย์ ดิฉันหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ บางทีนี่อาจเป็นข้อดีของการมองด้วยสายตาของคนนอกอย่างที่คุณบอกก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีปัญหาหรือประเด็นน่าปวดหัวเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมือง ทุกที่ล้วนมีเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่คนไทยมีคือการมองโลกในแง่บวกนี่แหละ ฉันจึงคิดว่าที่นี่เป็นที่ๆ ดีในการทำงาน

 

มีความเป็นไทยอะไรไหมที่คุณยังไม่เข้าใจ หรือมองว่าน่าสนใจดี

ดิฉันเป็นคนที่ค่อนข้างตรง และนั่นทำให้เจอปัญหาบ้าง บางคนอาจจะประหม่าเวลาคุยกับดิฉัน เพราะดูตรงและเปิดเผยเกินไปสำหรับพวกเขา

แต่สิ่งที่ดิฉันพยายามบอกคนที่คุยด้วยอยู่เสมอคือ ถ้าคุณไม่พูดออกมา ก็จะไม่มีใครได้ยินคุณ แค่พูดออกมาว่าคุณคิดอะไรอยู่ในใจ นี่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเริ่มพูดมากขึ้น มันก็ยังเป็นเรื่องท้าทายอยู่ดี บางครั้งดิฉันรู้สึกเสียใจบ้างที่ทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจกับความเป็นคนตรงแบบนี้

 

ในสังคมไทย คนจะพูดมากหรือพูดน้อยอยู่ที่ว่าเขามีอำนาจหรือเปล่า 

ใช่ๆ คนที่มีอำนาจมักจะพูดมากเป็นพิเศษอยู่แล้ว บางคนพูดไม่หยุดเลยก็มี (หัวเราะ) แต่นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนธรรมดาจึงควรต้องแสดงความเห็น หรือพูดออกมามากขึ้น

 

คุณคิดว่าจะมีความสุขและสนุกกับการทำงานในประเทศไทยไปเรื่อยๆ ได้ไหม

แน่นอน ฉันรักการทำงานที่นี่และมีความสุขมาก ฉันรักคนไทยด้วย โดยเฉพาะเวลาที่ฉันต้องเดินทางออกนอกประเทศไทย ฉันคิดถึงความเป็นมิตรและความอบอุ่นของคนที่นี่

คุณรู้ไหมว่า ทุกๆ เช้าที่ฉันตื่นขึ้นมาและมองหน้าแม่บ้าน วันของฉันจะเริ่มต้นด้วยรอยยิ้ม ฉันเรียกเธอว่า ‘คุณยิ้ม’ เพราะเธอมักจะยิ้มเสมอ และเธอก็เป็นคนอบอุ่นมาก และนั่นทำให้ฉันมีวันดีๆ และฉันไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ได้จากที่ไหนอีกแล้วบนโลกใบนี้

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save