fbpx

ปรากฏการณ์ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’: ซอฟต์พาวเวอร์กับการตอบโต้อำนาจสถาปนา

ปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ (MILLI) แร็ปเปอร์วัยรุ่นชื่อดังชาวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลาแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ จุดประกายให้สังคมไทยพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ที่เกิดจากการนำเสนอวัฒนธรรมผ่านการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีคอนเสิร์ต

คำว่า ‘soft power’ ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศผู้ล่วงลับแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า ‘อำนาจละมุน’ ซึ่งซอฟต์พาวเวอร์เป็นแนวคิดที่โจเซฟ ไน (Joseph Nye) เสนอไว้ในช่วงปี 1980 โดยมีนิยามสั้นๆ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์คือการได้มาซึ่งผลลัพธ์ผ่านความร่วมมือโดยดีของประชาชน หาใช่ผ่านพละกำลังไม่ นอกเหนือจากนั้นนิยามของซอฟต์พาวเวอร์จะยึดโยงอยู่กับตัวแปรสำคัญสามประการคือ วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบาย

ซอฟต์พาวเวอร์มักถูกหยิบใช้อธิบายเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เมื่อมีการไหลเวียนของวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง เช่น กรณีวัฒนธรรม K-pop ที่เปลี่ยนทัศนคติของชาวต่างชาติที่มีต่อเกาหลีใต้ในทิศทางที่เป็นมิตรมากขึ้น

กระแสมิลลิในสายตาของผู้เขียนไม่ใช่แค่เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แต่ถือว่าเธอพยายามสร้างภาพการรับรู้ใหม่ให้กับคนต่างวัฒนธรรมในรูปแบบของตัวเอง โดยปฏิเสธรูปแบบเดิมที่รัฐสื่อสารให้คนทั้งโลกรู้ว่าประเทศไทยเป็นไร อย่างที่มิลลิแร็ปบนเวทีว่า “I didn’t ride the elephant” หรือแปลได้ว่าฉันไม่ได้ขี่ช้าง ซึ่งภาพการขี่ช้างกับประเทศไทยถูกสร้างขึ้นผ่านการโปรโมตการท่องเที่ยวของรัฐมาโดยตลอด จนแทรกซึมเข้าไปสู่กระบวนทัศน์ของชาวต่างชาติว่าคนไทยใช้ช้างในการสัญจร

ดังนั้นปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงถือเป็นการปรับกระบวนทัศน์ทางวัฒนธรรมใหม่ให้กับชาวต่างชาติที่ติดตามชมคอนเสิร์ตดังกล่าว ในอีกแง่หนึ่งการสร้างอำนาจละมุนแบบรัฐกำลังถูกท้าทายโดยศิลปินวัยรุ่นที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมจากคนข้างล่างที่ไม่ได้ถืออำนาจรัฐ และไม่มีส่วนในการกำหนดนโยบายใดๆ

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงนับว่าเป็นการเลือกหยิบเอาวัฒนธรรมหลักอีกชนิดหนึ่งมาโต้กับวัฒนธรรมหลักเดิมที่มีอยู่แล้วผ่านการใช้วัฒนธรรมย่อยอย่างการแร็ปในการนำเสนอ ซึ่งผู้เขียนมองว่าบรรดาฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่ง หรือพวกกลุ่มอำนาจสถาปนา (establishment) คงไม่ค่อยพอใจนักที่มีนักดนตรีวัยรุ่นเอาปัญหาประเทศไทยขึ้นมาพูด แล้วจู่ๆ ก็ทานข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีซะดื้อๆ แทนที่จะเป็นการบรรจงทานข้าวเหนียวมะม่วงในชุดผ้าไหมไทยเคล้าเสียงบรรเลงดนตรีไทยตามแบบภาพการนำเสนอวัฒนธรรมไทยจากมุมมองของรัฐ

หากย้อนกลับไปดูในหน้าประวัติศาสตร์โลกจะพบว่าเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นโดยตลอดเวลา ไม่ว่าจะผ่านในรูปแบบวัฒนธรรมดนตรี วรรณกรรม หรือวัฒนธรรมบันเทิงอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็น เมื่อกระแสเพลงร็อกทะลักเข้าไปในกลุ่มประเทศดังกล่าวจนมีส่วนทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเดิมทีเพลงร็อกเป็นวัฒนธรรมย่อยแต่กลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลักในภายหลัง


วัฒนธรรมต่อต้าน


กระแสข้าวเหนียวมะม่วงสะท้อนอีกนัยหนึ่งก็คือการเกิดขึ้นของการต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักที่ผู้มีอำนาจมีส่วนในการกำหนดกฎเกณฑ์และสร้างขึ้นมา อีกนัยหนึ่งคือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมต่อต้านที่รัฐไม่ได้หยิบมาเสนอและตีแผ่ความบิดเบี้ยวที่รัฐพยายามปกปิด

วัฒนธรรมต่อต้านมักจะไม่มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนและมักจะไม่ปฏิเสธอำนาจของสถาบันอันทรงพลังในสังคมนั้นๆ แต่วัฒนธรรมต่อต้านหวังเพียงแค่อยากจะให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือคาดหวังสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมวัฒนธรรมใหม่ๆ ของพวกเขาที่นิยมวัฒนธรรมต่อต้าน[1]

กระแสการต่อต้านวัฒนธรรมเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่นในโลกตะวันตกนับตั้งแต่ยุคสมัยที่เรียกว่า เลเวลเลอร์ส (Levellers) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1642-1651 หรือช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษที่ผู้คนเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม สู่ยุคโบฮีเมียน (Bohemianism) ในปี 1850-1910 ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านกลุ่มอำนาจสถาปนา การสนับสนุนการแสดงออกทางความรัก การกินอยู่อย่างสมถะ อาศัยกินนอนบนยวดยานพาหนะ รวมไปถึงความเต็มใจที่อยู่แบบยากไร้

อีกหนึ่งกระแสวัฒนธรรมต่อต้านที่บางส่วนกลายมาเป็นวัฒนธรรมหลักก็คือ วัฒนธรรมในช่วงยุค 60 ที่บรรดาเหล่าบุปผาชนต่างเรียกร้องสันติภาพหลังสหรัฐฯ ขยายขอบเขตการทำสงครามในเวียดนาม การต่อต้านเหล่ากลุ่มอำนาจสถาปนาก็มีให้เห็นดาษดื่นในยุคนั้น รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิทางเพศสภาพของมนุษย์ สิทธิสตรี ตลอดจนการใช้ทดลองใช้สารเสพติดนานาชนิดเพื่อแสดงถึงการต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก

การใช้วัฒนธรรมใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมต่อต้านในการสู้กับกลุ่มอำนาจสถาปนาจนกระทั่งวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถเบียดพื้นที่มาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลัก อย่างที่เกิดวัฒนธรรมเพลงฮิปฮอป แร็ปเปอร์ วัฒนธรรมบุปผาชนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก หรือกระทั่งป็อปบ้านๆ เชยๆ ที่ชนชั้นบนไม่นิยมชมชอบอย่างมะนิลาซาวด์ในฟิลิปปินส์ก็สามารถขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้

แต่บางประเทศที่รัฐบาลมีความเป็นอำนาจนิยมสูงอย่างจีนพบว่า รัฐพยายามเข้ามาจัดการวัฒนธรรมไม่ให้ล้ำเส้นตามที่รัฐขีดไว้มากเกินไป อย่างที่เป็นข่าวดังเมื่อปีที่แล้วกับการควบคุมการเล่นเกมออนไลน์และควบคุมวัฒนธรรมแฟนดอม[2] ซึ่งฝั่งผู้มีอำนาจจีนให้เหตุผลว่าเป็นการควบคุมสุนทรียศาสตร์ที่ผิดปกติไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งความหมายคงหนีไม่พ้นการแสดงออกข้ามเพศและคอยตรวจสอบวัฒนธรรมภายนอกที่อาจแทรกซึมเข้ามาทำลายพรรคคอมมิวนิสต์

อีกหนึ่งประเทศที่บิ๊กบราเธอร์จับตามองอยู่ตลอดเวลาอย่างเกาหลีเหนือก็มักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหรือลงโทษผู้ที่ครอบครองหรือเสพวัฒนธรรมที่รัฐไม่อนุญาต อย่างการรับชมซีรีส์เกาหลีใต้ที่เป็นเรื่องต้องห้าม


การนำเสนอวัฒนธรรมท่ามกลางความล้าสมัยของรัฐ


สำหรับรัฐไทยนั้นมีความพยายามสร้างอำนาจละมุนหรือ soft power ด้วยสิ่งที่รัฐเชื่อว่าดี สวยงาม และถูกต้อง ผ่านกระบวนการรับรู้ต่างๆ ของเป้าหมาย เช่น การนำเสนอเรื่องการท่องเที่ยวไทย รัฐก็มักจะนำเสนอภาพน้ำทะเล เกาะต่างๆ ป่าดิบชื้น ช้าง วัดวาอาราม นวดแผนไทย ผู้คนยิ้มแย้ม และอื่นๆ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยเหมาะสมต่อการเดินทางมาพักผ่อน

สิ่งที่รัฐไทยทำแทบจะไม่ต่างอะไรกับรัฐอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐจงใจนำเสนอแต่วัฒนธรรมกระแสหลักที่มองจากส่วนกลางเป็นหลักและหลงลืมวัฒนธรรมที่สร้างโดยประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกในรัฐอันเป็นเนื้อแท้ของการท่องเที่ยว หน้าตาของประเทศ และปัจจัยสำคัญของอำนาจละมุน

นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐฯ ท่านหนึ่งเคยพูดคุยกับผู้เขียนและบอกว่า การท่องเที่ยวไทยทำให้เขานึกถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศหมู่เกาะแคริบเบียนและประเทศปานามา ที่สหรัฐฯ เข้าปูรากฐานให้ประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวให้กับคนอเมริกันนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน ในช่วงสงครามเย็น ผู้มีอำนาจในประเทศไทยได้คำปรึกษาจากกูรูด้านเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในการปรับตัวเองให้เป็นประเทศท่องเที่ยว จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของอนุสาร อ.ส.ท. และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวในไทยจะก้าวหน้าขึ้น แต่ภาพที่ถูกนำเสนอก็ยังหนีไม่พ้นสิ่งที่รัฐต้องการแสดงให้ชาวต่างชาติเห็น ไม่ว่าเป็นภาพของภูเขา ทะเล วิถีชีวิตคนท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกล หรือกระทั่งชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งแม้การนำเสนอจากรัฐจะมีความทันสมัย ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพ การหยิบเอาพื้นที่ท่องเที่ยวบางส่วนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักนักขึ้นมา แต่รัฐก็ยังไม่ทิ้งความล้าสมัยของมุมมองจากส่วนกลางซึ่งเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก (ต้องมาจากกรุงเทพและได้รับความนิยมจากคนส่วนกลาง) ที่กดทับต่อวัฒนธรรมกระแสรองในภูมิภาคอื่น และทำให้วัฒนธรรมเหล่านั้นกลายเป็นของพิสดาร ตื่นตาตื่นใจสำหรับคนจากวัฒนธรรมกระแสหลัก

อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐมักจะไม่พูดถึงก็คือวัฒนธรรมกระแสรองในส่วนกลางหรือวัฒนธรรมที่ประชาชนเพิ่งสร้างขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมส่วนนี้เป็นเรื่องที่รัฐอนุรักษนิยมไม่ปลื้มที่จะพูดถึง หากแต่พยายามผูกติดกับอดีตอันหอมหวานหากินอยู่กับสมบัติเจ้าคุณปู่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยววัดวาอารามที่เก็บค่าเข้าจากคนต่างชาติต่างจากคนไทยถึงหลายเท่า หรือการขี่ช้างที่กลุ่มนักท่องเที่ยวกับเทรนด์การรักสัตว์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ชื่นชมนัก

วัฒนธรรมกระแสรองไม่ใช่เรื่องที่น่าอายสำหรับรัฐใดรัฐหนึ่งสำหรับการเปิดใจรับมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งในท้ายที่สุดวัฒนธรรมเหล่านี้จะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยของซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ย่านโคมแดงในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งโสเภณีถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 1988 ที่มีพื้นเพมาจากการเรียกร้องของกลุ่มด้ายแดง (De Rode Draad) เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการทำงานให้กับโสเภณี รวมไปถึงการอนุญาตให้สูบกัญชาได้ในร้านกาแฟที่กำหนดตั้งแต่ปี 1976

ทั้งโสเภณีถูกกฎหมายหรือการสูบกัญชาในเนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้ดินแดนกังหันลมแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นอกจากนี้ทั้งสองสิ่งนี้เคยถูกแบนในช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 แต่มีการทำให้เสรีจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีแนวคิดต่อต้านกลุ่มสถาปนา ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศดูแย่หรือถดถอย แต่กลับทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดูดีและเป็นมิตรมากขึ้น

ทั้งนี้ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากการกำกับจากรัฐเท่านั้น แต่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่สังกัดตัวเองอยู่ในวัฒนธรรมต่อต้านจนได้รับความนิยมและสามารถเบียดเข้าไปสู่วัฒนธรรมกระแสหลักได้ ซึ่งแน่นอนว่ากระแสวัฒนธรรมต่อต้านมักจะไม่ได้ค่อยถูกใจบรรดากลุ่มอำนาจสถาปนาหรือกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง

ดังนั้นกระแสข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ ไม่ใช่แค่การตอกย้ำซอฟต์พาวเวอร์ที่มาจากประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้รัฐเห็นถึงวัฒนธรรมต่อต้านที่หยิบเอาวัฒนธรรมกระแสหลักมากระทุ้งกลุ่มอำนาจสถาปนาให้พิจารณาถึงการเปิดกว้าง การปรับเปลี่ยน และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไป


[1] Hall, Stuart & Jefferson, Tony (1991). Resistance Through Rituals: Youth Subcultures in Post-War Britain (Cultural Studies Birmingham). London:Routledge.

[2] China clamps down on pop culture in bid to ‘control’ youth.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save