fbpx
มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย - สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

มหากาพย์คลื่นความถี่ไทย – สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

กิตติ พันธภาค ภาพ

“จุดชี้ขาดอนาคตเศรษฐกิจไทย คือ คลื่น 5G”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักวิชาการผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายโทรคมนาคมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา บอกกับ 101 เมื่อเราชวนมองไปข้างหน้าสู่อนาคตแห่งโลกดิจิทัล

“…แต่ระบบกำกับดูแลของเรายังย่ำอยู่แค่ 2.5G เท่านั้น”

แววตาและน้ำเสียงของเขาเปลี่ยนไป เมื่อฉุกคิดถึงอดีตและปัจจุบันของวงการโทรคมนาคมไทย ที่คล้ายจะขวางทางเดินสู่อนาคต

ในหมู่เรื่องราวอันซับซ้อน ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน และยืดยาว ระดับ ‘มหากาพย์’ ในสังคมไทย นิยายโทรคมนาคมไทยเรื่อง ‘คลื่นความถี่’ ตั้งแต่ยุค 1G จนถึง 5G สามารถถูกจัดวางอยู่ในแถวหน้าของ ‘มหากาพย์’ หลากอรรถรส หลายชะตากรรม ได้อย่างสูสีไม่แพ้นิยายการเมืองเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’

เพราะสมบูรณ์ไปด้วยตัวละครมากสีสัน กลเกมชิงไหวชิงพริบ และเรื่องเล่าอันพลิกผัน หักมุม เหลือเชื่อ ตื่นตาตื่นใจ ขมขื่น ขำขื่น และสามานย์

จากเศรษฐศาสตร์การเมืองยุคสัมปทาน 2G สู่การประมูล 3G และ 4G ที่ถูกบันทึกไว้เป็นกรณีศึกษาระดับโลก ต่อด้วยสมรภูมิการประมูลคลื่นรอบล่าสุดที่กำลังคุกรุ่นร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน จนถึงภาพอนาคตยุค 5G ที่จะทำลายโลกเก่าเพื่อสร้างสรรค์โลกใบใหม่

‘มหากาพย์’ เรื่องคลื่นความถี่ไทย ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเรื่องราวอันยากจะคาดเดา และจังหวะพลิกผันที่ชวนจับตา

ถ้าคุณยังไม่เคยลิ้มรส ‘มหากาพย์’ เรื่องนี้ ล้อมวงเข้ามา ‘สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ จะเล่าให้คุณฟัง

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

I.

ประเทศไทยในทวิภพ

“ถึงแม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปไกลแสนไกล พัฒนาเร็วขึ้นจาก 2G ไป 3G ถึง 4G แต่ระบบกำกับดูแลของไทยยังคงโบราณแบบเดิม ย่ำอยู่แค่ 2.5G เท่านั้น”

คลื่นความถี่มีความสำคัญอย่างไรต่ออนาคตของสังคมเศรษฐกิจไทย

คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับประเทศไทย แต่สำหรับทุกประเทศในโลกที่ต้องติดต่อสื่อสารกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่โลกยุค 5G หรือโลกยุคอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) ซึ่งเป็นโลกที่อุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีเซ็นเซอร์ติดอยู่ สามารถสื่อสารกันได้ทั้งระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ อุปกรณ์กับคน และคนกับคน

นี่คือการปฏิวัติโลกใหม่ที่จะเชื่อมระหว่าง ‘โลกกายภาพ’ หรือ ‘โลกของอะตอม’ ซึ่งเป็นโลกที่เราคุ้นเคยกันดี จับต้องได้ กับอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเราคุ้นเคยกันมากขึ้น คือ ‘โลกออนไลน์’ ซึ่งเป็น ‘โลกของบิท’ สองโลกนี้จะเชื่อมต่อกันด้วยคลื่นความถี่และเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่กับอุปกรณ์ใหม่ๆ

โลกทวิภพที่เชื่อมสองโลกนี้เข้าด้วยกันจะทำให้เกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะจะทำให้เราสามารถประมวลผลสัญญาณจากโลกของอะตอมในรูปของบิท และนำเอาสัญญาณจากบิทไปควบคุมโลกของอะตอมได้ แต่ทั้งนี้เราต้องบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างถูกทาง

คลื่นความถี่เป็นหัวใจสำคัญของชีวิตผู้คนและสังคมในโลกใหม่ขนาดนี้ ปัจจุบันก็ใช้งานกันอยู่ทุกวัน แต่ทำไมคนถึงไม่ค่อยเข้าใจและไม่สนใจติดตามจับตาประเด็นอย่างการประมูลคลื่นความถี่ อุปสรรคของการทำความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

คลื่นความถี่เป็นสิ่งที่คนมองไม่เห็น เมื่อมองด้วยสายตาไม่เห็น บางทีคนก็จินตนาการไม่ได้ ในอีกมุมหนึ่ง เราใช้โทรศัพท์มือถือกันทุกวี่ทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามันมีคลื่นความถี่อยู่ คลื่นความถี่แทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ตัวเท่านั้น

แต่วันใดที่ Wi-Fi เกิดหยุดชะงักไป ระบบโทรศัพท์มือถือล่ม หรือกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสมีระบบสัญญาณขัดข้อง วันนั้นแหละคนจะรู้ว่าคลื่นความถี่ที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ มันมีอยู่จริง แล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น มันส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน และจะยิ่งกระทบกับเรามากขึ้นอีกหลายเท่าในอนาคต

ถ้าเราบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้ไม่ดี จะเกิดอะไรขึ้น

ง่ายที่สุดเลยก็คือ ถ้าคลื่นความถี่รบกวนกัน รถไฟฟ้าบีทีเอสก็วิ่งไม่ได้ เพราะว่ามันไปตีกับสัญญาณอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องแรกในการบริหารจัดการคลื่นความถี่คือ ทำอย่างไรไม่ให้คลื่นความถี่รบกวนกัน

แต่ว่านอกจากการกำกับดูแลไม่ให้คลื่นความถี่รบกวนกันแล้ว ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เรื่องสำคัญคือคลื่นความถี่มีมูลค่ามหาศาล การประมูลคลื่น 4G แล้วได้เงินเข้ารัฐเป็นแสนล้าน เป็นตัวชี้ว่าคลื่นความถี่คือขุมทรัพย์ที่เรามองไม่เห็น เป็นขุมทรัพย์ที่เอามาใช้ประโยชน์ได้มากมายมหาศาล เพราะมันช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องลงทุนมหาศาลเดินสายโทรศัพท์เชื่อมต่อกัน

แล้วที่สำคัญกว่านั้น แต่คนยังให้ความสนใจน้อย ก็คือ คลื่นความถี่ถูกนำมาใช้อย่างไร ถ้ามีการบริหารจัดการไม่ดี คลื่นความถี่ก็จะถูกนำมาสร้างประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เช่น ถ้ามีการผูกขาด บริการก็จะไม่ทั่วถึงและมีราคาแพง แต่ถ้ามีการจัดสรรคลื่นความถี่โดยมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการบริหารจัดการหรือการกำกับดูแลให้มีการแข่งขันกันเต็มที่ โปร่งใส คาดการณ์ได้ คุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค บริการก็จะมีคุณภาพ ราคาเหมาะสม สะดวกและคล่องตัว คนทั่วไปก็จะไม่รู้สึกอะไรกับคลื่นความถี่เพราะมันไม่มีปัญหา แต่ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ประชาชนก็จะบ่นว่า ทำไมสายหลุด ทำไมเน็ตกาก ทำไม 4G หรือ 5G ที่ควรจะเร็วถึงไม่เร็ว ดังนั้น การบริหารจัดการและนโยบายด้านคลื่นความถี่จึงมีความสำคัญ

โจทย์สำคัญของการบริหารจัดการคลื่นความถี่ของไทยคืออะไร

ในอนาคต คลื่น 5G จะเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ว่าระบบบริหารจัดการหรือการกำกับดูแลคลื่นความถี่ของประเทศไทยยังเป็นแบบ 2.5G อยู่เลย

ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือเข้ามาในประเทศไทย สมัยก่อนเป็นคลื่น 1G โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องใหญ่โตมโหฬาร เอาไว้ติดรถ ราคาแพงมาก

หลังจากนั้น เราจึงรู้จักกับโทรศัพท์ GSM หรือ 2G ที่พกพาง่ายขึ้น  2G เกิดขึ้นมาในไทยได้ เพราะการเปิดให้บริการโดยเอกชนผ่านระบบการจัดสรรคลื่นที่เรียกว่า ‘สัมปทาน’ ซึ่งคือการที่รัฐให้สิทธิผูกขาดในการประกอบกิจการกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยเอกชนแบ่งจ่ายรายได้ส่วนหนึ่งคืนกลับมาให้รัฐ

ระบบสัมปทานเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแต่ละคนวิ่งเต้นได้ ใครมีความสามารถในการวิ่งเต้นได้เก่งกว่ากัน คนนั้นก็เอาชนะในเกมนี้ได้ เพราะจะได้เงื่อนไขที่ดีกว่าคนอื่น ระบบนี้จึงก่อให้เกิดเศรษฐีจากการผูกขาดสัมปทานมากมายในสังคม และยังมีบทบาทอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ผมจึงอยากเรียกว่า ระบบสัมปทานก็คือการกำกับดูแลแบบ 2G นั่นเอง

ต่อมา เราเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์มือถือระบบ 3G แต่ปรากฏว่าระบบสัมปทานแบบ 2G ก็ยังคงมีอยู่ แม้ว่าในเชิงกฎหมาย ได้กำหนดให้เปลี่ยนการจัดสรรคลื่นความถี่จากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาตแล้ว ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรีอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่กลายเป็นว่าในทางปฏิบัติ การบริหารจัดการก็ยังไม่เปลี่ยน มีการต่อรองและวิ่งเต้นกันเหมือนเดิม

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การประมูลคลื่น 3G บรรดาผู้ประกอบการ 2G ที่เคยให้บริการมาอย่างค่อนข้างผูกขาด ก็ทำตัวเสมือนสมคบกันเข้าประมูล โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลเรื่องคลื่นความถี่ ทำตัวเสมือนเป็นผู้จัดฮั้วประมูล แจกคลื่นใบอนุญาตสามใบ ให้กับผู้ประกอบการสามราย การประมูลครั้งนั้นจึงเป็นเรื่องตลกระหว่างประเทศ เพราะไม่ได้มีการแข่งขันเคาะราคากันเลย

การกำกับดูแลในยุคนั้นจึงแทบไม่แตกต่างจากการกำกับดูแลยุคสัมปทาน เกิดการบริการ 3G ที่ค่อนข้างพิกลพิการ ผู้ประกอบการที่เคยให้บริการ 2G มาก่อนหันไปใช้วิธี ‘สัมปทานจำแลง’ เมื่อการประมูล3G ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการบางรายก็ตัดช่องน้อยแต่พอตัวด้วยการไปเจรจาขอใช้คลื่นกับรัฐวิสาหกิจ โดยข้ามหัว กสทช. ไปเลย

ถึงเราจะมีบริการ 3G ด้วยระบบใบอนุญาตแล้ว แต่การได้สิทธิประกอบการ 3G ก็ยังไม่พ้นระบบสัมปทาน

การกำกับดูแลของไทยยังไม่เท่าทันกับเทคโนโลยีในโลกใหม่?

ถูกต้อง พอมาถึงคลื่น 4G เรามีการกำกับดูแลที่ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะว่าสัมปทานที่เคยมีหมดอายุลงเกือบหมดแล้ว สัมปทานสุดท้ายที่กำลังจะสิ้นสุดคือสัมปทานของ DTAC ในเดือนกันยายน 2561 แม้ว่าจะยังหลงเหลือสัมปทานปลอมๆ ผสมๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3G อยู่บ้าง

ผมเลยเรียกการกำกับดูแลในยุค 4G นี้ว่าเป็นแบบ 2.5G คือไม่ได้เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งทำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ยังมีการวิ่งเต้น ชิงไหวชิงพริบกัน ผู้ประกอบการที่ชนะในเวที 3G กับ 4G ของประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้บริการที่ดีที่สุด แต่เป็นคนที่สามารถวิ่งเต้น หรือใช้กลยุทธ์ทางกฎหมาย ทางกระบวนการยุติธรรม หรือการกำหนดนโยบายมาเอื้อให้ตัวเองได้เปรียบมากที่สุด

เพราะฉะนั้นถึงแม้เทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปไกลแสนไกล พัฒนาเร็วขึ้นจาก 2G ไป 3G ถึง 4G แต่ระบบกำกับดูแลของไทยยังคงโบราณแบบเดิม ย่ำอยู่แค่ 2.5G เท่านั้น

II.

กลเกมเบื้องหลังการประมูล 3G และ 4G 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“การที่คลื่นความถี่ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล อยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาธิบาล ทำให้การวิ่งเต้นชิงไหวชิงพริบกันกลายเป็นกฎของป่า (law of the jungle) ไม่ใช่กฎที่ตั้งอยู่บนฐานของความเสมอภาค ไม่ใช่กฎที่เป็นอารยะ”

อยากชวนอาจารย์เล่ามหากาพย์เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ในสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าถึงอนาคต ว่าเราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากการประมูล 3G และ 4G ในปี 2555 และ 2558 และมีประเด็นอะไรที่สังคมไทยต้องจับตาในการประมูลคลื่นที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการประมูลคลื่น 5G ในอนาคตด้วย

การประมูล 3G เมื่อปี 2555 เป็นการประมูลคลื่น 2100 MHz ซึ่งเป็นคลื่นใหม่ที่ยังไม่มีผู้ถือครองมาก่อน ปัญหาใหญ่คือ กสทช. ออกแบบระบบประมูลให้เหมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีที่นั่งสามที่ให้กับผู้เล่นสามคน ทุกคนก็รู้ว่าไม่ต้องไปแย่งชิงกัน แต่ละคนมีที่นั่งแน่นอน

ผลลัพธ์ก็คือ ผู้ประกอบการทั้งสามรายก็แค่เคาะราคาพอเป็นพิธีเพื่อให้เป็นไปตามกติกา ทำเหมือนว่าได้แข่งขันกันแล้วก็จบอยู่ตรงนั้น ราคาที่ประมูลได้ก็แทบจะเท่ากับราคาตั้งต้น แถมราคาตั้งต้นก็ตั้งไว้ต่ำมาก ต่ำกว่ามูลค่าคลื่นที่ประเมินไว้มากมายด้วยซ้ำ การตั้งราคาต่ำไม่ใช่ปัญหา หากกติกาการประมูลส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะผู้เข้าร่วมประมูลก็จะแย่งกันเคาะราคาจนผลักดันราคาให้สูงขึ้นไปเอง

บทเรียนสำหรับประชาชนจากการประมูลรอบนั้นคือ การฮั้วกันทำให้เกิดการโอนถ่ายผลประโยชน์มหาศาลจากคลื่นความถี่ จากผลประโยชน์ที่ควรตกอยู่กับประชาชนและรัฐบาล กลายเป็นผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ

ความผิดพลาดพื้นฐานระดับนี้เกิดขึ้นกับ กสทช. ได้อย่างไร กรณีนี้ผมเคยใช้สอนนักศึกษาเป็นประจำ เด็กๆ ยังทักเลยว่าอย่างนี้จะเรียกว่าการประมูลได้อย่างไร แม้ไม่ใช่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ก็ยังเข้าใจได้ทันที

มันเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน แต่อาจไม่ใช่บทเรียนขององค์กรกำกับดูแล

หากอธิบายด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง การจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการเป็นหลักมาแต่ไหนแต่ไร องค์กรกำกับดูแลไม่ได้คิดถึงหัวผู้บริโภค เท่ากับคิดถึงหน้าตาของผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับการดูแลใส่ใจมากที่สุดคือผู้ประกอบการ ไม่ใช่ผู้บริโภค ผู้เสียภาษี หรือคนไทยทุกคน กสทช. ทำงานโดยปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการ แล้วออกแนวทางที่ผู้ประกอบการทั้งสามพอใจ ส่วนใหญ่รูปการณ์จะเป็นแนวนี้ตลอดเพราะว่าคลื่นความถี่มีผลประโยชน์มหาศาล

การที่คลื่นความถี่ ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล อยู่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาธิบาล ทำให้การวิ่งเต้นชิงไหวชิงพริบกันกลายเป็นกฎของป่า (law of the jungle) ไม่ใช่กฎที่ตั้งอยู่บนฐานของความเสมอภาค ไม่ใช่กฎที่เป็นอารยะ สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่แทบจะไม่มีสิทธิเข้ามาในตลาดเลย เพราะถูกกลไกต่างๆ ปิดไว้

ประเด็นสำคัญที่ทำให้มีผู้ประกอบการสามรายมาชิงใบอนุญาตสามใบ ก็เพราะรายที่สี่ไม่มีโอกาสเกิด ด้วยกฎกติกาสารพัด เช่น การกีดกันผู้ประกอบการต่างชาติอย่างการจำกัดเพดานการถือหุ้นของต่างชาติ ในนามของชาตินิยมโทรคมนาคม เลยทำให้มีเจ้าสัวหน้าเดิมเพียงไม่กี่รายมาแข่งขันกัน

ยิ่งสมัยก่อน การเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ทำได้ยากมาก เพราะการทิ้งเบอร์เดิมสร้างความเดือดร้อนให้ชีวิตมาก คนทำมาค้าขายก็จะขาดการติดต่อจากลูกค้าไปเลย เพราะฉะนั้นคนเปลี่ยนเบอร์ไม่ได้ ต่อให้มีรายใหม่มุดเข้ามาได้ ก็แทบไม่มีคนเข้าไปใช้เบอร์ของรายใหม่อยู่ดี แม้ว่าจะตั้งราคาขายถูกกว่าก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เกิดไม่ได้

 

กลุ่มทุนโทรคมนาคมไทยเป็นเนื้อเดียวกันไหม หรือแต่ละรายมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่

สิ่งที่เหมือนกันคือ แต่ละเจ้าต่างชิงไหวชิงพริบแย่งชิงความได้เปรียบกัน แล้วแต่จังหวะและโอกาส  ช่วงแรก AIS ได้เปรียบมากที่สุดเพราะเป็นรายแรกที่เข้ามาตั้งแต่โทรศัพท์ 2G และก็พยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้เล่นรายอื่นเข้ามาได้ โดยเขียนไว้ในสัญญาสัมปทานกับองค์การโทรศัพท์ หรือ ทศท. ในสมัยนั้น (บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ในปัจจุบัน) เลยว่าเป็นบริการที่ต้องผูกขาดรายเดียว

พอ AIS ผูกขาดกับ TOT รายอื่นก็เกิดไม่ได้ ในตอนนั้น AIS ใช้วิธีที่เรียกได้ว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างการล็อกอีมี่ (IMEI) ทำให้คนไทยไม่สามารถหิ้วโทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศมาใช้ในไทยได้เลย คนสมัยนี้คงนึกไม่ออกแน่ เพราะปัจจุบันต่อให้เราหิ้วเครื่องมาจากที่ไหน แค่เสียบซิมก็ใช้ได้ แต่สมัยนั้นเขาห้ามทำอย่างนั้น เพราะว่าเขามีอำนาจผูกขาด ต่อให้มีซิม แต่ถ้าตรวจเลขอีมี่แล้วพบว่าไม่ใช่เครื่องที่ซื้อจากเขา ก็โทรไม่ได้  ฉะนั้น กำไรของผู้ประกอบการจึงไม่ได้มาจากการบริการเท่านั้น แต่มาจากการบังคับขายเครื่องโทรศัพท์ในราคาแพงด้วย

ยุคต่อมา DTAC เข้ามาทลายการผูกขาดของ AIS จากการที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) ในขณะนั้น (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในปัจจุบัน) อยากทำสัมปทานแบบ TOT บ้าง ก็ให้สัมปทานกับ DTAC ซึ่งเงื่อนไขการจ่ายรายได้ให้รัฐไม่ดีเท่า AIS แต่ได้ปริมาณคลื่นความถี่มากกว่า

ถ้าเราไปไล่ดูยุคนั้นจะเห็นว่า AIS มีอดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ซึ่งเป็นคู่สัญญาเป็นกรรมการของบริษัท ส่วนบอร์ดของ DTAC ก็มีอดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นหน่วยงานจัดสรรคลื่นความถี่ในตอนนั้น  AIS และ DTAC ประกอบธุรกิจในลักษณะผูกขาดสองรายเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ DTAC ช็อตเงิน เลยเอาคลื่นความถี่ที่มีอยู่มากมาแบ่งขาย เลยเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งก็คือ TRUE ในปัจจุบัน

พอมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา โมเมนตัมของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร

การเข้ามาของ TRUE ทำให้เกิดการเติบโตและการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกัน ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์มากขึ้นจากการแข่งขัน

พอถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สิ่งที่ถูกครหามากคือรัฐบาลทักษิณเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเครือ AIS อย่างที่เราทราบกันว่ามีคดีขึ้นศาลมากมาย ช่วงนั้นผู้ประกอบรายอื่นๆ ที่เล็กกว่าก็เข้ามาคุยกับผม โวยวายว่าถูกกีดกัน ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อมีคนใกล้ชิดอยู่ในรัฐบาล ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเคยบอกว่าถูกกีดกันนั้นก็กลับทำแบบเดียวกัน

เพราะฉะนั้น วงการโทรคมนาคมไทยก็เหมือนธุรกิจผูกขาดทั่วไป ธุรกิจเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้ ใครอยากได้เปรียบในการแข่งขัน ก็ต้องหาทางเข้าไปกำหนดกฎกติกาด้วยการมีบทบาทเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง และแม้กระทั่งเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าเราไปดูหลักสูตรระดับสูงเกี่ยวกับการบริหารกระบวนการยุติธรรมทั้งหลาย ก็จะเห็นผู้บริหารจากค่ายธุรกิจโทรคมนาคมหลายคนมานั่งเรียน แม้กระทั่งในรัฐบาลปัจจุบัน ก็มีลูกหลานของคนในคณะรัฐมนตรีทำงานให้บริษัทมือถือ มีที่ปรึกษาของบริษัทเจ้าของโทรศัพท์มือถือนั่งอยู่ในทำเนียบ

ทั้งหมดนี้ฟ้องว่าในธุรกิจโทรคมนาคม ต่อให้มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลที่ควรจะเป็นอิสระมาร่วม 15 ปีแล้ว การกำกับดูแลก็ยังเป็นแบบ 2.5G อยู่ดี

จากการประมูลคลื่น 3G มาถึงการประมูลคลื่น 4G สองครั้งในปี 2558 รอบนี้มีบทเรียนอะไร

การประมูลคลื่น 4G ในปี 2558 เป็นการประมูลคลื่น 1800 MHz (2 ใบอนุญาต) ซึ่งเคยเป็นของ TRUE และคลื่น 900 MHz (2 ใบอนุญาต) ซึ่งเคยเป็นของ AIS  การประมูลคลื่น 4G มีการแข่งขันกันสูงมาก ทำให้ได้ราคาการประมูลที่สูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เพราะมีผู้ประกอบการรายที่สี่เข้ามาแข่งด้วย นั่นคือ JAS

รอบนี้ชม กสทช. ได้ไหมว่าปรับตัวได้ดี เรียนรู้บทเรียนหลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักเมื่อรอบก่อน

ปัจจัยใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นการเข้ามาของ JAS  ผมคิดว่าสังคมควรได้เรียนรู้ว่า การมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มอีกเจ้าหนึ่งช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างยิ่ง แน่นอนว่ามีข้อโต้แย้งว่า JAS เข้ามาเคาะราคาจนสูงเกินไปแล้วสุดท้ายก็ทิ้ง แต่อย่าลืมว่าผู้ประกอบการอีกสองรายก็เคาะราคาแข่งกับเขาด้วย DTAC หลุดออกไปก่อน ต่อด้วย AIS หลุดทิ้งตามมา ได้ใบอนุญาตแค่ใบเดียว ส่วน TRUE เคาะราคาแข่งจนได้ใบอนุญาตสองใบ สุดท้ายเมื่อ JAS ทิ้งใบอนุญาต รัฐบาลก็เชิญชวนให้ AIS เข้ามารับใบอนุญาตที่เหลืออีกใบในราคาที่ JAS ประมูลได้ ซึ่ง AIS ก็ตอบรับ จะเห็นว่าปัจจัยเรื่องการมีผู้แข่งขันรายใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

อีกปัจจัยหนึ่งคือการตัดสินใจเปลี่ยนวันประมูลของคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ไม่ให้อยู่ในคราวเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการประมูลแบบวันต่อวันอย่างที่ กสทช. เคยคิด แต่แยกออกให้ห่างกันหนึ่งเดือน มันทำให้การตกลงแบ่งเค้กกันยากขึ้น เกิดความเสี่ยงในการแบ่งเค้กจากเวลาที่ทอดยาวออกไป ผู้ประกอบการรู้สึกไม่แน่นอนว่า ถ้าพลาดรอบแรกแล้ว รอบต่อไปจะได้หรือไม่ ซึ่งมันโยงกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการวิ่งเต้นอยู่ตลอดเวลา การแข่งขันก็เลยเกิดมากขึ้น

ปัจจัยที่สามคือบทบาทของ กสทช. เอง โดยรวมก็ถือว่าชมได้ ผมอยากเชียร์ให้ทุกฝ่ายมีทัศนคติที่เชื่อมั่นในการประมูลว่ามันเป็นการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม การประมูล 4G ทำให้กระแสการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลจุดติดในสังคม เพราะทั้งประชาชนและรัฐบาลเห็นชัดเจนว่า ถ้ามีการแข่งขันกันจริงๆ ประเทศจะได้ประโยชน์มหาศาล

ตอนประมูล 3G รัฐได้เงินน้อย กสทช. ก็ถูกข้อกล่าวหา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตอนนั้น กสทช. อ้างว่าถ้าประมูลในราคาสูง ผู้บริโภคจะเดือดร้อน ราคาค่าโทรศัพท์จะแพง แต่พอประมูล 4G ได้เงินเข้ารัฐมหาศาล คนเชียร์กันทั่ว กสทช. ก็กลับมาประกาศความสำเร็จ บอกว่าเป็นผลงานที่ทำให้รัฐบาลได้เงินเยอะ และเริ่มกลับมาพูดอย่างถูกต้องว่า ประมูลได้ราคาสูง ไม่มีผลกระทบต่อค่าโทรศัพท์

รัฐบาลก็ได้บทเรียนว่าคลื่นความถี่มีมูลค่ามหาศาลจริงๆ เมื่อรัฐบาลมีปัญหา อยากจะหาเงินเพิ่มโดยไม่ต้องขึ้นภาษีและไม่อยากลดการใช้จ่าย รัฐบาลก็จัดให้มีการประมูล หวังจากการประมูลว่าจะได้เงินเยอะ

มันจึงเกิดปัญหาเมื่อการประมูลคลื่น 1800 MHz ในเดือนมิถุนายน 2561 ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าประมูลเลย รัฐบาลเลยเดือดร้อน เพราะวางแผนงบประมาณเตรียมไว้แล้วว่าจะได้เงินหลายหมื่นล้านจากการประมูล สุดท้ายเงินไม่เข้า ด้าน กสทช. ก็รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะเหมือนสัญญากับรัฐบาลไว้ว่าจะหาเงินให้ แต่ต้องเสียหน้าทำไม่สำเร็จ

นอกจากผลลัพธ์ด้านบวกที่รัฐได้รายได้สูงมาก การประมูล 4G เมื่อปี 2558 มีปัญหาอะไรให้เราได้เรียนรู้บ้าง

ไม่มีใครคาดหมายมาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ JAS ประมูลได้ในราคาสูงสุด แล้วต่อมากลับทิ้งใบอนุญาตไป ในขณะที่เบี้ยปรับการทิ้งใบอนุญาตต่ำมาก

ผู้ประกอบการรายอื่นคงไม่พอใจที่ JAS เข้ามา ทำให้ต้องสู้ราคากันจนสูงลิ่ว กรณีนี้ผมเห็นใจ AIS เล็กน้อย เพราะเขาถอนตัวออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่าราคาสูงเกินไป แต่ในกรณีของ TRUE เขาแข่งเคาะราคาเต็มที่ แถมยังออกมาแถลงข่าวชี้แจงนักลงทุนว่าไม่ได้เคาะราคาสูงไป เงื่อนไขการจ่ายค่าใบประมูลคลื่นนั้นสมเหตุสมผลแล้ว ดังนั้นผมจึงรู้สึกเห็นใจ TRUE น้อยมากในกรณีนี้

ในอนาคต กสทช. ควรแก้ปัญหาการประมูลได้แล้วทิ้งใบอนุญาตอย่างไร

สิ่งที่ กสทช. ทำ คือการตัดสิทธิการประมูลของ JAS ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็หมายความว่า ในการประมูลครั้งต่อไป ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมประมูลได้อีกรายหนึ่งก็หายไปเลย การไม่มี JAS จะไม่เป็นปัญหาถ้า กสทช. เปิดช่องให้มีผู้ประกอบการใหม่รายอื่นๆ เข้าสู่การแข่งขันได้ เช่น การชักชวนผู้ประกอบการต่างชาติเข้าร่วมประมูล

ถ้ายังจำกันได้ สมัยก่อน กสทช. เคยเดินทางไปโรดโชว์ดึงดูดนักลงทุนในต่างประเทศด้วยซ้ำ ตอนประมูล 3G กสทช. ไปโรดโชว์ต่างประเทศกันใหญ่โต แต่ยุคหลัง เช่น ช่วงประมูล 4G ไม่เห็น กสทช. คิดจะออกไปโรดโชว์เลย เหมือนตั้งใจให้ประมูลกันอยู่เฉพาะผู้ประกอบการในประเทศแค่สามเจ้านี้เท่านั้น

ส่วนเรื่องความเหมาะสมของการลงโทษนั้น โดยทั่วไป การลงโทษต้องใหญ่พอให้คนเบี้ยวต้องคิดหน้าคิดหลัง ต้นทุนของคนเบี้ยวคือ ค่าปรับ การเสียชื่อเสียงจากการทิ้งใบอนุญาต และค่าเสียโอกาสที่จะเข้ามาเล่นกับตลาดนี้อีกในอนาคต ในกรณีของ JAS ถูกปรับเป็นจำนวนเงินน้อยมาก ในมุมของรัฐคงต้องคิดค่าปรับให้มันสูงขึ้น เช่น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับมูลค่าของใบอนุญาตที่ประมูลได้ โดยกำหนดให้สูงพอ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“การอ้างเรื่องความมั่นคง ไม่ให้เปิดเสรีโทรศัพท์มือถือ มันเป็นความมั่นคงของกระเป๋าเงินของใคร?”

ทางออกระยะยาวในการเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคืออะไร

วิธีที่ดีที่สุดคือการแก้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่กำหนดไว้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมต้องถือหุ้นโดยคนไทยเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ความคิดที่ว่าต่างชาติไม่ควรถือหุ้นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้มีมูลอยู่จริงเลย

ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมธุรกิจการซ่อมเครื่องบินก็ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ต้องให้คนไทยทำ แต่พอรัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ก็ไปเชิญแอร์บัสและบริษัทต่างประเทศมาตั้งโรงซ่อมในไทย เป็นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ เลย และก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงเกิดขึ้น เพราะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยกำหนดไว้อยู่แล้ว  ผมมองว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ไม่ได้แตกต่างกัน

หากรัฐบาลต้องการสร้างให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอยากให้เกิดการแข่งขันโดยการประมูล ต้องให้ความสำคัญกับการแข่งขันทั้งสองขั้น ขั้นแรกคือ การแข่งขันในการประมูลก่อนเข้าตลาด และขั้นที่สอง เมื่อเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกันขายบริการให้กับผู้บริโภค

การแข่งขันทั้งสองขั้นจะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาลเปิดเสรีกับตลาดโทรคมนาคม ประเทศเพื่อนบ้านของเราแม้กระทั่งเมียนมาร์ก็เปิดเสรีโทรคมนาคมมาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เห็นปัญหาความมั่นคงอะไร เหลือแต่ไทยที่ชอบอ้างเรื่องความมั่นคงอยู่  แม้แต่เรื่องการกรอกใบขาเข้าขาออกประเทศที่เรียกว่า ตม.6 จะยกเลิกเพราะมีพาสปอร์ตอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็มีคนอ้างว่าเลิกไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาความมั่นคง ปัจจุบัน พอเลิกไปแล้ว ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

ผมไม่รู้ว่า การอ้างเรื่องความมั่นคง ไม่ให้เปิดเสรีโทรศัพท์มือถือ มันเป็นความมั่นคงของกระเป๋าเงินของใคร?

ถ้าไทยเปิดเสรีโทรคมนาคมจริง กลุ่มทุนต่างชาติจะอยากเข้ามาลงสนามแข่งขันในประเทศเราจริงหรือ เพราะอย่าง Telenor เองก็ยังมีข่าวลืออยู่เรื่อยๆ ว่าจะถอนตัว

กรณีของ Telenor อาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมในการแข่งขัน

แล้วต่างชาติที่จะเข้ามาใหม่ ไม่ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าอีกหรือ ภายใต้เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบที่เราคุยกันมา

ทุกครั้งที่เราทอดเวลาให้ยาวออกไป โอกาสที่รายใหม่จะเข้ามาก็จะยิ่งยาก เพราะรากยิ่งฝังลึก แต่ทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ จะมีตัวเปลี่ยนเกมใหม่ มันเปิดโอกาสใหม่มากมาย กรณีการเปลี่ยนจากคลื่น 3G เป็น 4G ต่างกันแค่ความเร็ว แต่กรณีเปลี่ยนจาก 4G เป็น 5G มันไม่ใช่แค่เร็วกว่าเท่านั้น แต่สามารถทำให้เกิดโลกใหม่จากการเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ตเข้ากับโลกกายภาพอย่างที่พูดมาตอนต้น

เทคโนโลยีใหม่เปิดโอกาสใหม่ในการเปลี่ยนเกมเสมอ ผมเลยคิดว่า 5G เป็นโอกาสเปลี่ยนเกม รัฐบาลควรอาศัยจังหวะนี้แก้กฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนไทยทำ ถ้ายังทำทั้งประเทศไม่ได้ อย่างน้อยก็มาทำให้มีรายใหม่เข้ามาประกอบการได้บางพื้นที่ เช่น พื้นที่อุตสาหกรรมอย่าง EEC  รู้ไหมว่าจังหวัดระยองมีมูลค่ารายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่ากรุงเทพฯ อีก เพราะอุตสาหกรรมกระจุกอยู่ตรงนั้น ถ้าจะทำ Smart City ก็น่าจะลองออกใบอนุญาต 5G เปิดให้รายใหม่เข้ามากันตรงนั้น

โดยสรุป วิธีง่ายๆ ที่จะเพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่ก็คือ หนึ่ง อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประกอบกิจการได้ สอง ถ้าการให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการที่ครอบคลุมทั้งประเทศทำได้ยาก ก็เปิดให้ใบอนุญาตในตลาดที่เป็นชิ้นปลามันอย่าง EEC ก่อน สาม สงวนคลื่นความถี่บางย่านให้กับรายใหม่โดยเฉพาะ ให้แต้มต่อรายใหม่ จะเป็นต่างชาติหรือไทยก็ยังได้ เพราะเขาเข้ามาทีหลัง จะได้ช่วยให้การแข่งขันสูสีเป็นธรรมขึ้น

ถ้าอยากจะทำ มันมีวิธีการทำได้ในทางเทคนิค แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำ ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มทุนโทรคมนาคมกับอำนาจรัฐมันเกี่ยวข้องกันลึกซึ้งเกินไป

อย่าเพิ่งยอมจำนน คิดว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการได้แค่สามรายเท่านั้น

คิดดูว่ารัฐบาลเดือดร้อนขนาดไหนตอนจัดประมูลคลื่น 1800 MHz แล้วไม่มีใครมาประมูล แทบจะใช้คำว่าไปกราบไหว้ให้คนมาประมูล   กสทช. ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องไปหาคนมารับใบอนุญาตให้ได้ แล้วถ้าตอนประมูลคลื่น 5G มีตัวละครอยู่เท่าเดิมแค่นี้ แล้วเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน เอกชนก็จะมีแต้มต่อเหนือรัฐบาลมาก เช่น อาจอ้างให้ยืดเวลาการจ่ายค่าคลื่นแลกกับการเข้าร่วมประมูล ทั้งที่ต่อให้ยืด เขาก็ไม่ได้สัญญาว่าจะเข้าประมูลด้วย

III.

สมรภูมิ 1800 : กสทช. v DTAC

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คลื่นความถี่

“(การกำหนดราคาประมูลตั้งต้นที่ กสทช. ผูกไว้กับราคาชนะในรอบที่แล้ว) เป็นปัญหาร้ายแรงมากในเชิงนิติรัฐ เสมือนกับการออกกฎหมายย้อนหลัง คือประมูลเสร็จไปแล้วจึงค่อยมากำหนดเงื่อนไขย้อนหลัง … มันเป็นการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมากระหว่างผู้ประกอบการ แล้วสุดท้าย ก็จะมากระทบถึงผู้บริโภค”

การประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ไม่มีใครเข้าร่วมประมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แก่นของปัญหาอยู่ตรงไหน ทำไม DTAC ซึ่งใช้อยู่เดิม และกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานก็ยังไม่ลงสนามแข่ง 

เพราะ กสทช. ไปกำหนดราคาประมูลตั้งต้นในรอบใหม่นี้ ทั้งกรณีคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz โดยไปผูกไว้กับราคาชนะประมูลในรอบที่แล้ว ซึ่งไม่มีใครที่ไหนในโลกทำกัน

ทุกครั้งที่ กสทช. จัดประมูลคลื่น จะมีการประเมินราคาตั้งต้นใหม่ เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสม โดยใช้วิธีการคำนวณราคาเทียบกับต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าในการประมูลคลื่นครั้งล่าสุดกลับเลิกใช้วิธีนี้ เอาราคาตั้งต้นไปผูกไว้กับราคาสูงสุดของรอบที่แล้วแทน ทั้งที่ราคานั้นผ่านมาสองปีแล้ว สภาพการณ์ของตลาดก็เปลี่ยนไปแล้ว ผู้ประกอบการที่ได้คลื่นความถี่มาแล้วก็มีความต้องการลดลง การประมูลควรตีราคากันใหม่ แต่ กสทช. ไม่ยอมทำ

อันที่จริง คนที่ประมูลได้ไปรอบที่แล้ว ก็รู้อยู่ว่า ปีนี้จะมีการประมูลอีกครั้ง ถ้าอยากจะรอ เพราะอาจได้ราคาต่ำกว่า ก็รอได้ แต่ก็เลือกที่จะประมูลกันก่อน เพราะอยากได้เปรียบในการแข่งขัน

กรณีการตั้งราคาโดยเอาราคารอบที่แล้วมาผูกกับราคารอบนี้จะไม่เป็นปัญหา ถ้า กสทช. ประกาศให้รู้ล่วงหน้าโดยทั่วกันตั้งแต่ตอนประมูลเมื่อคราวก่อนว่า จะเอาราคาชนะประมูลครั้งนั้นมาใช้เป็นราคาเริ่มต้นของครั้งต่อไป ทุกคนจะได้เข้าใจเกม และปรับพฤติกรรม ยุทธศาสตร์ และการตัดสินใจ ตามข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งรอบที่แล้วก็คงสู้กันหนักกว่านี้

ปัญหาก็คือ กสทช. ไม่ได้ประกาศให้รู้ล่วงหน้า แต่เป็นการกำหนดกติกาหลังเหตุการณ์ ด้วยการล็อบบี้ของผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลรอบก่อนและได้คลื่นไปในราคาสูง ข้ออ้างคือ รอบที่แล้ว ราคาสูง ต้องรับภาระมาก ไม่เป็นธรรม ถ้าผู้ชนะรอบนี้ได้ราคาต่ำกว่ามาก  แต่ความจริงตรงกันข้าม การได้ราคาเท่ากัน มันไม่เป็นธรรมกับคนที่จะมาแข่งในรอบนี้ต่างหาก เพราะเขาทำตลาดช้ากว่าคู่แข่งเป็นเวลาสองปีกว่า มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร และยิ่งไม่รู้ข้อกำหนดนี้ล่วงหน้ามาก่อน ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาร้ายแรงมากในเชิงนิติรัฐ เสมือนกับการออกกฎหมายย้อนหลัง คือประมูลเสร็จไปแล้วจึงค่อยมากำหนดเงื่อนไขย้อนหลังว่า จะใช้เงื่อนไขแบบนั้นแบบนี้ มันเป็นการใช้อำนาจรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมากระหว่างผู้ประกอบการ แล้วสุดท้าย ก็จะมากระทบถึงผู้บริโภค

 

เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ว่า “เรื่องปรับลดราคาเริ่มต้นประมูล ผมทำให้ไม่ได้ เพราะจะถูกฟ้องร้องว่าทำรัฐเสียหาย ผมยอมถูกตำหนิ ยอมถูกด่า วิพากษ์วิจารณ์ในวันนี้ ดีกว่าติดคุกในอนาคต” คิดอย่างไรกับการให้เหตุผลเช่นนี้

อย่างนี้ถ้าเจ๊ติ๋มเลิกทำทีวีดิจิทัลแล้วเอาใบอนุญาตมาคืนได้จริง การจัดประมูลครั้งใหม่ก็ต้องตั้งราคาตามการประมูลครั้งที่ผ่านมา แล้วใครจะเข้าประมูลทีวีดิจิทัล มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย

การตั้งราคามีหลักวิชาของมัน ตามอุปสงค์และอุปทาน ต้องใช้การประเมินราคา ไม่ได้แปลว่าราคาที่ดินจะขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ต่ำลงไม่ได้ ไม่ใช่ว่าคุณอยากขายที่ดินในราคานี้ แล้วต่อไปจะไม่ยอมให้มีราคาที่ต่ำกว่าเดิม เรื่องราคาต้องดูเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

พูดง่ายๆ เหตุผลของ กสทช. ฟังไม่ขึ้นเลย

แล้วเรื่องกติกาการประมูลเป็นอย่างไร กสทช. กำหนดกติกาการประมูลให้ใช้สูตร N-1 คือถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูลสามราย ก็จะจัดประมูลใบอนุญาตแค่สองใบ และจัดแบ่งคลื่นรวม 45 MHz ออกเป็นใบอนุญาตสามใบ ใบละ 15 MHz เท่ากันหมด

ปัญหาใหญ่ที่สุดไม่ได้อยู่ในรายละเอียดเรื่องกติกาเหล่านั้น แต่อยู่ที่การกำหนดราคาตั้งต้นสูงเกินไป จึงไม่มีใครเข้าประมูล นอกจากนั้น ด้วยความไม่แน่นอนเรื่องการประมูล DTAC จึงพยายามเจรจากับ TOT จนได้คลื่น 2300 MHz ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยวิธีสัมปทานจำแลงเหมือนที่ TRUE เคยทำกับ CAT เพราะฉะนั้น DTAC มีหลักประกัน มีคลื่นที่ใช้ได้แล้ว ไม่ได้ดิ้นรนหนีตายเหมือนช่วงก่อนหน้านี้แล้ว

หลักในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากได้ของ แต่ต้องตอบว่าเขาอยากได้ในราคาเท่าไหร่ ถ้าราคามันเหมาะสม คนก็อยากได้กันเอง อย่างคลื่นที่เป็นปัญหา ถ้าตั้งราคาให้ต่ำลงภายใต้กฎกติกาที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ผู้ประกอบการก็อยากเข้ามาประมูลแข่งกัน ราคาจะสูงขึ้นมาเอง

พอเอกชนตัดสินใจไม่ประมูลเพราะราคาตั้งต้นไม่เหมาะสม กสทช. มีสิทธิไปบีบบังคับหรือสร้างเงื่อนไขลงโทษเพื่อกดดันให้เอกชนต้องเข้าร่วมประมูลได้ไหม

เราบังคับให้ใครต้องเข้าร่วมประมูลซื้อของเราไม่ได้อยู่แล้ว ผู้ประกอบการแต่ละรายมีความสมัครใจที่จะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้  กสทช. คงพยายามสร้างผลงานให้รัฐบาลเห็น แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไปบังคับขาย บีบให้เขาซื้อ

วิธีทางกลไกตลาดคือ คุณไม่ไปบีบบังคับใครด้วยราคาสูงๆ แต่ใช้วิธีกำหนดราคาให้เหมาะสม กรณีที่ AIS ถูกเชิญให้สวมคลื่นต่อจาก JAS ถ้า AIS ไม่เต็มใจแล้วถูกบีบ ก็ยอมรับไม่ได้เหมือนกัน แต่กรณีนั้น เมื่อรัฐบาลเชิญมาให้ใช้สิทธิแทน แม้อาจบ่นอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็กึ่งสมัครใจเข้าไป ผมมองว่าทางออกในตอนนั้นก็ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่รอบนี้ยิ่งปรากฏต่อสาธารณะเลยว่าผู้ประกอบการไม่มีใครอยากได้ แต่กลับไปบีบบังคับเขา

สถานการณ์ในขณะนี้ก็ยังเหมือนระบบสัมปทานอยู่ดี คือมีการเลือกปฏิบัติ กสทช. ใช้ดุลยพินิจในการกำกับดูแลโดยเลือกจะทำอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองเห็นสมควรโดยไม่จำเป็นต้องอธิบายตามหลักวิชาการหรือมาตรฐานสากล  กสทช. ทำงานแบบคิดหน้างานว่า ถ้าไม่มาประมูลก็จะลงโทษหรือไม่ให้เยียวยา หรือตอนแรกบอกว่าคลื่นบริเวณ 900 MHz เอามาประมูลไม่ได้ เพราะชนกับคลื่นรถไฟความเร็วสูง แต่พอจัดประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อกลางปีไม่สำเร็จ แล้วอยากดึงดูด DTAC ให้เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ก็เอาคลื่น 900 MHz ออกมาล่อ ประกาศเอาคลื่นมาประมูลได้ทันทีภายในเวลาไม่กี่วัน

ข้อเท็จจริงที่นโยบายของ กสทช. เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการกำกับดูแลของ กสทช. ที่เป็นอยู่ไม่ได้ยึดโยงกับฐานวิชาการ แต่ยังเป็นการกำกับดูแลแบบลูกทุ่งอยู่เลย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“ระบบการเยียวยาที่เคยทำกันมา …ไม่ใช่เยียวยาผู้ประกอบการ ไม่ใช่การเยียวยาผู้บริโภค แต่เป็นการเยียวยา กสทช. เอง มาตรการเยียวยาเสมือนเป็นการนิรโทษกรรม กสทช. ที่ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันเวลาตามกติกาหรือเงื่อนไข”

คลื่นที่ DTAC ถือครองอยู่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 ถ้าการประมูลยังหาข้อยุติไม่ได้ ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ซิมดับ หากไม่มีมาตรการเยียวยา ที่ผ่านมา กสทช. พยายามบีบให้ DTAC เข้าร่วมประมูล โดยขู่ว่าถ้าไม่เข้าร่วมจะไม่ให้สิทธิเยียวยา หลักในการมองปัญหาเรื่องนี้คืออะไร

ถ้ามีการบริหารจัดการคลื่นดีๆ เช่น มีการจัดประมูลล่วงหน้าในเวลาที่เหมาะสม กำหนดราคาตั้งต้นและกติกาการประมูลที่เหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเยียวยาแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการจัดสรรคลื่นความถี่ก็จะดำเนินไปตามกลไกที่ควรจะเป็น

จะว่าไปแล้ว ระบบการเยียวยาที่เคยทำกันมาในกรณีของ TRUE และ AIS ไม่ใช่เยียวยาผู้ประกอบการ ไม่ใช่การเยียวยาผู้บริโภค แต่เป็นการเยียวยา กสทช. เอง มาตรการเยียวยาเสมือนเป็นการนิรโทษกรรม กสทช. ที่ไม่สามารถจัดประมูลได้ทันเวลาตามกติกาหรือเงื่อนไข ทั้งที่เรารู้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่มีการเซ็นสัญญาวันแรกแล้วว่า ภายใน 20 ปีจะหมดสัญญา มีเวลาให้เตรียมตัวมหาศาล แต่ก็บกพร่องในการทำหน้าที่

ทางผู้ประกอบการก็อ้างว่า นี่ไม่ใช่การเยียวยาผู้ประกอบการ แต่เป็นการเยียวยาผู้บริโภค เพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ซิมไม่ดับ ผู้บริโภคจะได้ไม่เดือดร้อน แต่พอเราดูผลประกอบการ ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จะมีการเยียวยา ผู้ประกอบการทำกำไรได้ ส่งเงินเข้ารัฐได้ แต่พอเข้าสู่กระบวนการเยียวยาปุ๊บ ภายใต้กระดาษที่เปลี่ยนไปใบเดียว ผู้ประกอบการกลับบอกว่าขาดทุน เงินส่งเข้ารัฐก็หายไปหมดตลอดช่วงเยียวยา ทุกวันนี้เรื่องก็ยังติดพันกันอยู่และอาจต้องจบลงที่ศาล

หมายความว่า ที่ผ่านมารัฐไม่เคยได้เงินสักบาทเดียวจากผู้ประกอบการ ภายใต้มาตรการเยียวยา

ไม่ใช่บาทเดียว สลึงเดียวก็ไม่ได้ (หัวเราะ)

ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ก็กลับไปเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองอีก เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการคิดว่าตัวเองสามารถคุมผู้กำกับดูแลได้ หรือมั่นใจว่าถ้าข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็เอาชนะได้เกือบทุกคดีด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คุณก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่นในกติกา มันก็เหมือนเรื่องการเมืองไทย ถ้าคนยังคิดว่ารัฐประหารเป็นทางออกอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเล่นตามเกม คือเกมเลือกตั้ง เพราะมันมีทางออกที่พิสดารกว่าคนอื่น เป็นทางออกที่ตัวเองทำได้อยู่คนเดียว เขาก็ไม่อยากไปเล่นตามเกมที่ตัวเองไม่ได้เปรียบคนอื่น

ประวัติศาสตร์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสอนเรามาตลอดว่า มีคนที่ได้เงื่อนไขสัมปทานดีกว่าคนอื่น มีคนได้คลื่นความถี่มากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นยุค 1G มาจนถึงยุค 4G เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องโทรคมนาคมก็ยังมีหน้าตาแบบเดิม วิ่งเต้นได้ เลือกปฏิบัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือแม้กระทั่งสนใจว่าสังคมคิดอย่างไร

ครั้งนี้ กสทช. อ้างว่าต่างจากกรณีที่เคยเยียวยา TRUE และ AIS สมัยก่อนต้องเยียวยาเพราะจัดประมูลไม่ทัน แต่รอบนี้จัดประมูลล่วงหน้าแล้ว แต่ไม่ยอมเข้าร่วมประมูลกันเอง จึงไม่จำเป็นต้องให้สิทธิเยียวยา เหตุผลนี้ฟังขึ้นไหม

ถ้าเป็นการประมูลที่เสรีและเป็นธรรม กำหนดราคาอย่างเหมาะสม แล้วไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล ผมก็จะเห็นใจ กสทช. แต่ในกรณีนี้ เป็นการบีบบังคับให้ประมูลในราคาสูงทั้งๆ ที่เงื่อนไขเปลี่ยนไปแล้ว และผู้ประกอบการอีกสองรายก็เคยได้สิทธิเยียวยามาก่อนในระหว่างที่การประมูลยังไม่เรียบร้อย การไม่ให้สิทธิกับอีกเจ้าหนึ่งเลยเป็นปัญหาขึ้นมา

ผมก็ไม่รู้ว่า DTAC กับ กสทช. จะวัดใจกันอย่างไร คงวัดใจกันโดยเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกันทั้งคู่ แล้วดูว่าสุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร ใกล้ๆ ช่วงนั้นคงมีการทำสงครามสู้กัน โหมประชาสัมพันธ์ในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง มันเป็น chicken game ว่าใครจะยอมใครก่อน และวัดใจการเมืองด้วยว่าจะฟันธงไปทางไหน

ถ้าซิมดับขึ้นมาจริงๆ เดาจากพล็อตนิยายโทรคมนาคมไทยในอดีตก็คงจะมีใครสักคนไปฟ้องศาลปกครอง แรงกดดันก็จะมาอยู่ที่ศาลปกครอง สุดท้ายศาลปกครองก็คงคุ้มครองชั่วคราว เพราะผู้บริโภคเดือดร้อน แต่หลังจากนั้น ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ

ทางออกของข้อถกเถียงเรื่องเยียวยาอยู่ตรงไหน

ถ้า กสทช. จะไม่ให้สิทธิเยียวยา ก็ควรเปลี่ยนราคาตั้งต้นในการประมูลให้สมเหตุสมผล อธิบายได้ทางวิชาการ ซึ่งหากคราวนี้ DTAC ยังไม่เข้าร่วมประมูลอีก แล้วปล่อยให้ซิมดับเพื่อหวังจะเข้าสู่มาตรการเยียวยาแบบผู้ประกอบการอีกสองราย กสทช. ก็จะมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะไม่ให้สิทธิเยียวยา

การกำกับดูแลนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ใช้อำนาจอย่างเดียว มันต้องมีความชอบธรรม และต้องอธิบายความชอบธรรมในการใช้อำนาจด้วย นี่คือสิ่งที่ กสทช. ขาดมาตลอด

ถ้า กสทช. กำหนดเงื่อนไขการประมูลที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม มีการประกาศล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต รู้ว่าคลื่นไหนจะเปิดให้ประมูลเมื่อไหร่ ด้วยเงื่อนไขอะไร เงื่อนเวลาในการประมูลทั้งหมดจะเดินกันอย่างไร ผู้ประกอบการก็จะกะเก็งกันได้เองว่าใครอยากจะเข้ามาแข่งในช่วงเวลาไหน ถ้าผู้ประกอบการจะเจ๊ง ก็เป็นเพราะฝีมือในการบริหารธุรกิจของเขาแย่เอง เจ๊งจากการให้บริการแย่เอง ไม่ใช่เจ๊งเพราะกะเก็งใจของผู้กำกับดูแลไม่ถูก

ถ้าต้องทำตามที่อาจารย์เสนอคือปรับราคาตั้งต้นใหม่ก็ต้องรื้อใหม่หมดเลย มันจะทันเดือนกันยายนนี้ไหม ในทางปฏิบัติจะเดินอย่างไรต่อ

ผมเสนอให้ทำมาตั้งนานแล้ว แต่ กสทช. ไม่คิดจะทำอย่างที่เสนอ สุดท้ายเมื่อ กสทช. จัดการเองไม่ได้ หรือจัดการแล้วเรื่องไม่จบ เขาก็จะวิ่งไปหาคนที่มีอำนาจมากกว่า สุดท้าย มันก็จะไปจบที่อำนาจสูงสุดอีกแล้ว ซึ่งอำนาจสูงสุดไม่มีความรับผิดชอบที่ต้องให้คำอธิบายต่อใครเลย ยังไงมันก็จะยุ่ง ไม่จบง่ายๆ

แล้วการหยิบเอาคลื่น 900 MHz ที่ตอนแรก กสทช. บอกว่ากันไว้สำหรับกิจการรถไฟความเร็วสูง กลับขึ้นมาประมูล มันสะท้อนอะไร

คงเป็นทั้งการจูงใจ และการตัดข้ออ้างของ DTAC  จูงใจคือรู้ว่าคลื่นความถี่ต่ำไปได้ไกลกว่า ลงทุนน้อยกว่า เลยเอามาจูงใจให้อยากเข้าร่วมประมูล ในขณะเดียวกันก็ใช้ตัดข้ออ้างที่ DTAC บอกว่าอยากจะประมูลคลื่นความถี่ต่ำ ไม่ได้อยากประมูลคลื่นความถี่สูง ถ้ามีคลื่นความถี่ต่ำแล้วยังไม่เข้าประมูลอีก ก็จะได้หาเหตุผลที่จะแจกใบเหลืองหรือใบแดงให้ DTAC

แต่การประมูลคลื่น 900 MHz ก็กำหนดราคาตั้งต้นโดยใช้ราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งก่อนเหมือนกรณีคลื่น 1800 MHz เลย ปัญหาก็จะซ้ำรอยเดิมอยู่ดี วนเวียนอยู่อย่างนี้

ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จริงๆ แล้วประเด็นสำคัญก็คือ การที่คลื่นที่ไม่เคยอยู่บนโต๊ะแล้วสามารถกลับมาอยู่บนโต๊ะได้ภายในไม่กี่วันหลังจากการประมูลครั้งแรกไม่สำเร็จ มันชี้ให้เห็นถึงการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทยว่าพยากรณ์ไม่ได้เลย แต่เป็นไปตามอำเภอใจหรือดุลยพินิจของผู้กำกับดูแล เรื่องนี้ผมคิดว่าร้ายแรงมากเลย ธุรกิจโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนกันเป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่คุณไม่รู้โร้ดแมปข้างหน้าเลย

ระบบที่คลุมเครือแบบนี้ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องวิ่งเข้าหาอำนาจมากขึ้น ทั้งอำนาจกำกับดูแลใน กสทช. หรืออำนาจที่เหนือกว่า กสทช. เพราะการขจัดความคลุมเครือหรือความเสี่ยงในการทำธุรกิจต้องใช้อำนาจมาเป็นตัวค้ำ ฉะนั้น ถึงแม้เราจะตั้งหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ที่ควรจะเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่สุดท้าย ทั้งหมดก็ถูกชักจูงกลับเข้าไปหาระบบการเมืองแบบวิ่งเต้นดังเดิม ผมจึงเรียกว่าเป็นการกำกับดูแลแบบ 2.5G อยู่ คือยังไม่พ้นยุคสัมปทาน 2G เลย ขยับขึ้นมาแค่นิดเดียวเป็น 2.5G

ถ้าสุดท้าย DTAC ตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดไทย จะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย คือ AIS TRUE และ DTAC เรียงตามส่วนแบ่งตลาดในปัจจุบัน และ 2 รายเล็ก คือ TOT กับ CAT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สำหรับผม ไม่ได้นับผู้ประกอบการทุกรายเท่ากันเป็น 5 ราย แต่มันมี 3 รายที่ทำเป็นเรื่องเป็นราว กับอีก 2 รายที่เป็นรายเล็กมาก เลยขอเรียกว่ามี 3.2 ราย ถ้า DTAC ออกจากตลาด ก็จะเหลือผู้ประกอบการ 2.2 ราย หรือถ้าไม่ออกจากตลาดแต่กลายเป็นรายเล็กหรือรายจิ๋วเพราะถอดใจ ก็จะเหลือ 2.3 ราย

ที่บอกว่า 3.2 ราย หรือ 2.3 รายนั้น มันมีแนวคิดทางทฤษฎีด้านองค์กรอุตสาหกรรม (Industrial Organization) รองรับ มีสูตรคำนวณจำนวนผู้ประกอบการเต็มตัว (Effective Number of Operators) ไว้อยู่ ในกรณีของประเทศไทย ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 3 ราย ใกล้ๆ 3.2 รายอย่างที่ผมพูดนั่นล่ะ

ดังนั้น ถ้า DTAC ออกจากตลาด จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างใหญ่หลวงเลย ตัวอย่างง่ายๆ เมื่อก่อนเรามีแอปเรียกแท็กซี่สองรายคือ Uber กับ Grab ในหมู่ผู้ใช้บริการก็คิดว่าบริการดีพอสมควร แต่หลังจาก Uber กับ Grab ควบรวมกิจการกัน จากสองเหลือหนึ่งราย คนก็บ่นกันถ้วนหน้าว่าบริการแย่ลงมากโดยทันทีตั้งแต่ควบรวมกัน และอีกไม่นานราคาก็คงจะแพงขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลในสิงคโปร์พยายามห้าม Grab กับ Uber ควบรวมกิจการกัน เพราะมันจะผูกขาดตลาด

IV.

5G คือจังหวะพลิกเกม

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“ต่อให้ 5G ที่เป็นของใหม่ออกมา มันก็จะไม่เกิดนวัตกรรมอะไรมากมายอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเราไม่ทิ้งของเก่า ซึ่งก็คือ ระบบกำกับดูแลเก่าๆ ระบบสัมปทานเก่าๆ การยึดติดกับผู้ประกอบการเก่าๆ และความคิดเก่าๆ เช่น การมองว่าผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเท่ากับผลประโยชน์ของประเทศ”

โจทย์สำคัญของการกำกับดูแลคลื่นความถี่ในยุค 5G คืออะไร 

เรากำลังจะเคลื่อนจากยุค 4G ไป 5G ซึ่งเป็นจังหวะที่พลิกเกมใหม่ได้ ถ้าระบบกำกับดูแลของเราทำได้ดีๆ มันควรจะเพิ่มจาก 3 รายใหญ่ เป็น 4 รายใหญ่ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเปิดเสรี หรือการส่งเสริมให้เกิดรายใหม่ในพื้นที่เฉพาะอย่าง EEC ไม่ใช่ลดลงเหลือ 2 รายใหญ่

โจทย์เรื่องการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุค 5G  ถ้าตลาดโทรคมนาคมไทยถูกผูกขาดก็จะเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ 5G ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะประชาชนทั่วไป โดย 5G จะสำคัญมากสำหรับผู้ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่ง IoT เป็นหัวใจ  Smart Factory หรือ Smart City จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้า 5G ของเรามีปัญหา

ถ้าเรากำกับดูแล 5G ได้ไม่ดี ก็ตัดโอกาสการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การผ่าตัดทางไกลของหมอจากกรุงเทพฯ ให้ผู้ป่วยในท้องที่ห่างไกล  เทคโนโลยี 5G สามารถต่ออุปกรณ์ได้เป็นล้านๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน แล้วสื่อสารด้วยความหน่วงของสัญญาณน้อยกว่า 1 millisecond (1 ในพันวินาที) แปลว่า ถ้ามีผู้ป่วยอยู่ในชนบทพื้นที่ห่างไกล และต้องการผ่าตัด หมอที่ศิริราชสามารถผ่าตัดทางไกลให้ได้ด้วยการควบคุมหุ่นยนต์ เพราะว่าสัญญาณสามารถตอบสนองแบบ real time ได้ คือ 1 ในพันวินาทีนั้นสั้นมาก มันเหมือนกับการผ่าตัดในสถานที่จริงเลย แต่ถ้าไม่ใช่ 5G จะเป็นการบริการที่ตอบสนองช้า เหมือนกับหมอขยับมีดไปแล้ว อีก 5 วินาทีถึงจะรู้ว่ามีดอยู่ที่ไหน ซึ่งโอกาสผ่าตัดผิดพลาดจะสูง

เทคโนโลยี 5G จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ และมีผลอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย ในอนาคต หากธุรกิจต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เขาใช้ 5G และ IoT กันในโรงงาน การผลิตจะมีผลิตภาพสูงมากและต้นทุนต่ำ ถ้าเรามีการกำกับดูแลที่ใช้ไม่ได้ มีตลาดที่ผูกขาด เราก็จะแข่งขันด้านต้นทุนกับประเทศอื่นไม่ได้ ธุรกิจก็จะไม่อยู่ในประเทศไทย เกิดความเสียหายมหาศาล

ประเด็นการบริหารจัดการคลื่นความถี่เพื่อรองรับโลกยุค 5G จึงเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตสังคมเศรษฐกิจไทย

ใช่  สิ่งแรกที่ กสทช. ต้องทำก่อนเลย คือวางโรดแมปการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยเริ่มจากรู้ว่าใครถือครองคลื่นความถี่ตรงไหน ตรวจสอบผู้ครอบครองคลื่นนั้น ทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ ถ้าไม่ กสทช. ก็ต้องดึงคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่ แล้วประกาศว่าจะเอาคลื่นไหนมาประมูลในช่วงเวลาไหน เพื่อมาทำอะไร

กฎหมายสั่งให้ทำตั้งแต่ กสทช. ตั้งขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย ยังไม่มีการตรวจเช็คคุณสมบัติแล้วเรียกคืนคลื่น คลื่นความถี่จึงติดอยู่ในมือหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ไม่สามารถนำมาประมูลเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสาธารณะที่สูงขึ้นได้

ภายใต้เศรษฐศาสตร์การเมืองแบบที่เราคุยกันมาทั้งหมด เราจะดึงคลื่นออกจากหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจมาจัดสรรใหม่ได้อย่างไร แทนที่จะให้กอดไว้เป็นสมบัติองค์กร หาประโยชน์เข้าตัวเองแบบเสือนอนกิน

ผมไม่มีคำตอบให้ ในทางวิชาการ มันตรงไปตรงมาง่ายนิดเดียว ทุกอย่างมันเคลียร์หมดแล้ว ธนาคารโลกก็ทำคู่มือเรื่องการกำกับดูแลมาตั้งกว่า 20 ปีแล้วว่าแนวปฏิบัติที่ดีควรทำอย่างไร รู้กันหมดทั่วโลก แค่ว่าจะเอามาใช้กันหรือเปล่า จะวิ่งออกนอกลู่นอกทางกันหรือเปล่า

ปัญหาจริงๆ คือเรื่องทางการเมือง มันเป็นโจทย์ที่ไม่มีทางออกในทางการเมือง มันยากที่จะทำได้ในระบบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ผมถึงเบื่อหน่ายมากที่จะติดตามเรื่องราวในแวดวงโทรคมนาคม เพราะเรื่องราวมันวนเวียนไปมาอยู่แบบนี้

เราสามารถดึงคลื่นทีวีดิจิทัลคืนมาเพื่อทำ 5G ได้ไหม

ก็เป็นไปได้ ถ้ามูลค่าการทำทีวีดิจิทัลมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่ำกว่าการทำ 5G ก็เอากลับมา จะได้แก้ปัญหาเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือมีคลื่นทำ 5G และขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยคนที่ไม่มีความสุขกับการทำทีวีดิจิทัลให้หลุดพ้นไป เมื่อประมูลมาแล้วรัฐได้เงินเยอะกว่าการทำทีวีดิจิทัล ทุกฝ่ายก็ win-win รัฐก็ได้ ผู้ประกอบการที่ขาดทุนจากทีวีดิจิทัลก็ได้ ผู้ให้บริการ 5G ก็ได้คลื่นมาประกอบกิจการ

อะไรคือประเด็นสำคัญที่สังคมควรให้ความสนใจในยุค 5G

IoT คือเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างถอนรากถอนโคน (disruptive technology) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากจะมาพร้อมกับการทำลายอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) นั่นคือ ถ้าคุณอยากจะได้ของใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม คุณก็ต้องยอมทิ้งของเก่า

สำหรับประเทศไทย เราพยายามกอดของเก่าไว้ด้วยโครงสร้างผลประโยชน์เก่าๆ ทำให้ของใหม่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อให้ 5G ที่เป็นของใหม่ออกมา มันก็จะไม่เกิดนวัตกรรมอะไรมากมายอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเราไม่ทิ้งของเก่า ซึ่งก็คือ ระบบกำกับดูแลเก่าๆ ระบบสัมปทานเก่าๆ การยึดติดกับผู้ประกอบการเก่าๆ และความคิดเก่าๆ เช่น การมองว่าผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเท่ากับผลประโยชน์ของประเทศ

ถ้าไม่ทิ้งของเก่าพวกนี้ ของใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น เราจะเสียโอกาสในการใช้ของใหม่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่

การประมูล 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีลักษณะพิเศษอะไรที่แตกต่างจากการประมูล 3G หรือ 4G ที่ผ่านมา

5G เป็นเรื่อง IoT ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยผู้ให้บริการโทรคมนาคมเป็นแพลตฟอร์ม แล้วจับผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆ มาต่อเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) เราจึงเห็นผู้ประกอบการ 5G ในต่างประเทศมีพันธมิตรหลายร้อยรายมาร่วมเล่นร่วมใช้แพลตฟอร์ม เช่น ธุรกิจโทรทัศน์ การแพทย์ การเงิน การศึกษา นี่คือโฉมหน้าของเศรษฐกิจสารสนเทศยุคใหม่

ทีนี้ ธุรกิจแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Uber, Airbnb หรือ 5G เป็นธุรกิจที่เสี่ยงต่อการผูกขาดได้ง่ายมาก มันเป็นตลาดสองด้าน (two-sided market) ซึ่งทุกคนจะพยายามกวาดต้อนผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการเข้ามาในแพลตฟอร์ม อย่างเช่นตอนนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยพยายามกวาดต้อนผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บัตรเครดิตผ่าน QR เยอะๆ เพื่อรวบรวมฐานลูกค้าในแพลตฟอร์ม มีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอย่างมโหฬาร หรือการที่ Uber เคยมีโปรโมชั่นให้คนนั่งรถมากมาย เพราะอยากจะสร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศให้เกิดขึ้น

ธุรกิจของ 5G จะเป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะผูกขาด ความร้ายแรงของการผูกขาดจะหนักหนากว่าธุรกิจที่ผ่านมา กรณีประเทศไทย ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง 5G ถูกครอบงำจากฝั่งผู้ประกอบการและฝั่งผู้ผลิตอุปกรณ์เป็นหลัก พูดกันแต่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแคบๆ ของตัวเอง

ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอยากจะใช้ 5G มาทำให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกวันนี้ผู้ประกอบการกำลังไม่พอใจกับการบริการ 3G และ 4G ซึ่งกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นของกระจอก ขายแต่ bandwidth กัน เพราะบริการเสริมที่เป็นชิ้นปลามัน และได้ข้อมูลลูกค้าเอาไปต่อยอดธุรกิจอื่นได้ อยู่ใน OTT คือพวก Facebook, Google, LINE, Youtube เอาไปกินหมด ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม เรื่อง 5G จึงถูกขับเคลื่อนจากฝั่งคนที่อยากขายอุปกรณ์ และฝั่งผู้ให้บริการที่อยากกลับมามีบทบาทหลักในแพลตฟอร์ม

แต่มุมที่สำคัญ ซึ่งสังคมไทยยังไม่ได้พูดกันคือ การที่ 5G จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มที่นั้น หัวใจอยู่ที่การกำกับดูแลต้องเป็นแบบ 5G ด้วย คือ ได้มาตรฐาน โปร่งใส คาดการณ์กติกาในอนาคตได้ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่เลยในระบบการกำกับดูแลของไทย เพราะฉะนั้น มีโอกาสสูงที่ภายใต้ระบบกำกับดูแลแบบไทยๆ 5G ของไทยจะออกมามีหน้าตาประเภทที่ว่า มันจะเร็วขึ้นกว่า 4G ในระดับหนึ่ง เช่น สิบเท่า มันก็จะเกิดบริการที่ใช้กับ IoT ได้ แต่จะมีราคาแพงและคุณภาพไม่ดี และคนที่ใช้ประโยชน์จาก 5G จะถูกจำกัด ทั้งหมดนี้มันจะทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สรุปคือเราจะไม่ได้ใช้ 5G แท้

เราจะได้ใช้ 5G ที่เร็วกว่า 4G แล้วก็ต่อ IoT ได้ แต่ว่าบริษัทจำนวนมากจะเข้าไม่ถึง ประชาชนจำนวนมากจะเข้าไม่ถึง เพราะว่าราคาจะไม่น่าสนใจ ยิ่งถ้าแพลตฟอร์มมีลักษณะผูกขาดด้วยแล้ว ปัญหายิ่งหนักหน่วงขึ้น กฎกติกาของ กสทช. เอื้อให้เกิดการผูกขาดได้ง่ายขึ้นจากการเลือกปฏิบัติต่างๆ สุดท้ายเราอาจเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย แทนที่จะเพิ่มเป็น 4 ราย หรือมากกว่านั้น

ถ้าแพลตฟอร์มผูกขาด มันไม่ได้ทำให้คนในอุตสาหกรรม IoT เดือดร้อนเท่านั้น แต่ทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มจะเดือดร้อนกันหมด เพราะไม่ได้ดีลที่ดี เช่น คนค้าขายผ่าน e-Commerce หรือนักพัฒนาอุปกรณ์ ถ้าเหลือเจ้าของแพลตฟอร์มแค่ 2 ราย คุณก็ต้องขายให้แค่ 2 รายนั้น ถ้า 2 รายนั้นกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ดี คุณก็ไม่มีทางเลือกเลย เพราะฉะนั้นมันจะเดือดร้อนกันทั้งระบบนิเวศ และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เมื่อ 5G มีมูลค่ามหาศาล แปลว่า ยิ่งมั่วไม่ได้ ยิ่งต้องทำให้ดี ยิ่งต้องทำให้ถูกต้อง

เป็นไปได้ไหมที่ผู้เล่นรายใหม่ที่จะลงสนามประมูล 5G อาจไม่ใช่ผู้ประกอบการที่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจโทรคมนาคม

มันเกิด convergence ของตลาด พวกบริษัท Big Tech ในปัจจุบัน เช่น Facebook, Google, Amazon, Tencent, Alibaba สามารถทำได้แทบทุกอย่าง เพราะว่ามีเทคโนโลยี มีฐานลูกค้าใหญ่ และมีข้อมูลที่ได้จากลูกค้า เพราะฉะนั้นการขยับขยายไปทำธุรกิจต่างๆ เป็นไปได้แทบทุกชนิดเลย

แต่ผมคิดว่าผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมยังคงได้เปรียบอยู่ เพราะว่ามีประสบการณ์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ถ้า กสทช. และรัฐบาลมองเห็นประเด็นนี้ และไม่ตกเป็นลูกไล่ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมหน้าเดิม มันมีโอกาสที่จะพลิกโฉมตลาด 5G ในประเทศไทย ผ่านการแข่งขันอย่างเสรีที่นำผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาลงสนาม

ทุกวันนี้ในโลกเริ่มประมูล 5G กันไปบ้างหรือยัง และเขาทำกันอย่างไร

เริ่มมีบ้าง แต่ยังไม่มาก เท่าที่ตามดูก็พบว่ายังใช้วิธีการประมูลอยู่ วิธีนี้ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกว่าเป็นวิธีการจัดสรรคลื่นแบบเป็นธรรมและโปร่งใสที่สุด เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรเลิกลังเลได้แล้ว การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น เหมือนกับเรื่องการปกครองบ้านเมืองที่ผู้นำรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงวิธีเดียว อย่าไปคิดหารูอื่นเป็นทางออก ในประเทศไทยยังมีคนที่พยายามผลักดันให้ไม่ใช้วิธีประมูลอยู่ แต่ตอนนี้ผมคิดว่ากระแสมันติดลมบนไปแล้ว คงเลิกได้ยากแล้ว เพราะฉะนั้นการประมูลคงเกิดขึ้น

บทเรียนเกี่ยวกับการประมูล 5G ยังน้อยเกินไป เทคโนโลยีมาตรฐานยังกำหนดไม่เสร็จเลย พวกคลื่นความถี่สูงยังต้องรอกำหนดมาตรฐานให้จบ ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตัวอย่างการเอา 5G ไปใช้ในทางพาณิชย์ หรือ use cases ยังมีน้อยมากๆ มีแต่ demo ในลักษณะของเล่นอยู่ เช่น โอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีมีการใช้ 5G ทำ virtual reality ให้คนดูรู้สึกเหมือนตัวเองไปเล่นสกีกับเขาด้วย เป็นต้น เท่าที่คุยกับบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีในต่างประเทศ ขนาดเขาคิดกันได้เร็วและดีขนาดนี้ ยังเร่ขายใครไม่ค่อยได้เลย เราจึงยังไม่เห็นการใช้งานจริงมากนัก  แต่พอเวลาผ่านไปอีกหน่อย บริการจริงก็จะเกิดขึ้น

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

“(รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคม) เป็นรูรั่วของระบบกำกับดูแล ผู้ประกอบการมองเห็นช่องว่ามีเกมอื่นที่เล่นได้นอกจากเกมของ กสทช. นั่นคือ เกมที่ไปมั่วกับรัฐวิสาหกิจ โดยใช้วิธีการแปลกๆ ให้ได้สัมปทานมาอย่างที่เรียกว่า ‘สัมปทานจำแลง’ … ทางออกคือต้องปิดหลุดดำรัฐวิสาหกิจก่อน”

บนเส้นทางสู่อนาคต 5G เราจะจัดการกับรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารที่นอนกอดคลื่นขวางทางเป็นเสือนอนกิน หาประโยชน์จากการหนีระบบใบอนุญาตไปทำดีลกับเอกชนเป็นรายๆ ไปอย่างไร

รัฐบาลควรจะเห็นแล้วว่า ในรูปแบบที่เป็นอยู่ รัฐวิสาหกิจเป็นหนี้สิน (liability) มากกว่าทรัพย์สิน (asset) ในมุมที่ว่ามันเกิดความรั่วไหล เป็นบ่อที่ถมเท่าไรก็ไม่เต็มสักทีหนึ่ง การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่ต้องเอารัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมก็ได้ ยกตัวอย่างการบินไทย จะเห็นว่าปล่อยไปไม่ได้สักที ทั้งๆ ที่จะฟื้นเท่าไร ก็ไม่ได้สามารถฟื้นได้ จะต้องถมเงินไปเท่าไร ซื้อเครื่องบินอีกกี่ลำกี่ฝูง ถึงจะทำให้การบินไทยมีความสามารถในการแข่งขันจริงๆ ผมถึงคิดว่ามันถึงเวลาที่รัฐบาลจะขายรัฐวิสาหกิจแบบนี้ได้แล้ว ก่อนที่มูลค่าจะตกลงไปเรื่อยๆ  ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจเคยบอกว่าขอปั้นการบินไทยให้ดูดีขึ้นอีกหน่อย แต่งตัวหน่อยแล้วจะได้ขาย แต่สุดท้ายเราก็เห็นว่าการขายรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องยากมากเลย

ขายรัฐวิสาหกิจพวกนี้แล้วจะมีคนอยากซื้อด้วยหรือ

ถ้าการบริหารจัดการขี้เหร่มากๆ เวลาขายก็คงต้องแถมเงินให้ (หัวเราะ) ประเด็นสำคัญอยู่ที่ราคาเท่าไรต่างหาก เพราะรัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สิน และยังมีคนเก่งๆ เหลืออยู่ แต่ทรัพย์สินเหล่านั้นจะเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ ถ้าไม่ถูกนำมาใช้ ทั้งในแง่การเสื่อมค่าทางกายภาพและโอกาสทางธุรกิจ เพราะฉะนั้น ขายให้เร็วจะดีกว่าขายช้า ถ้ายังไม่อยากขายทั้งหมด อย่างน้อยก็ต้องหาพันธมิตรธุรกิจเข้ามาร่วม เพื่อฟื้นฟูสภาพ

ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ รัฐวิสาหกิจก็จะเป็นแหล่งทำมาหากินของการเมือง กลุ่มทุน ผู้บริหารและพนักงาน ทุกฝ่ายจะหาทางเข้าไปรุมทึ้ง แล้วรัฐบาลกับประชาชนผู้เสียภาษีต้องอัดฉีดเงินเข้าไปเรื่อยๆ

ปัญหาใหญ่ของรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมคืออะไร

เป็นรูรั่วของระบบกำกับดูแล ผู้ประกอบการมองเห็นช่องว่ามีเกมอื่นที่เล่นได้นอกจากเกมของ กสทช. นั่นคือ เกมที่ไปมั่วกับรัฐวิสาหกิจ โดยใช้วิธีการแปลกๆ ให้ได้สัมปทานมาอย่างที่เรียกว่า ‘สัมปทานจำแลง’ มันเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปโทรคมนาคมได้

ลำพังแค่เศรษฐศาสตร์การเมืองในวงการโทรคมนาคมที่ดีลกับ กสทช. ก็ยุ่งจะตายอยู่แล้ว มรดกบาปเต็มไปหมดอยู่แล้ว ยิ่งเอารัฐวิสาหกิจมายุ่งด้วย ยิ่งเกิดเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ให้เข้าไปมั่วกันไปอีกเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้น อย่างน้อยต้องหาทางปิดหลุมนี้ก่อน

ถ้าจะแก้ ‘สัมปทานจำแลง’ ที่ต้นเหตุต้องทำอย่างไร

ทุกวันนี้มีทั้งกรณีที่ผู้ประกอบการต้องไปหาขอนไม้มาเกาะ เพราะกลัวว่าจะเสียเปรียบ และกรณีที่ต้องไปหาขอนไม้มาเกาะเพื่อแสวงหาความได้เปรียบ มันเริ่มต้นจากการหาความได้เปรียบก่อน มีคนที่ไปเกาะก่อนแล้วได้เปรียบ รายอื่นก็เลยอ้างเหตุผลเดียวกัน แล้วมันก็หาเหตุผลยากขึ้นที่จะไม่ให้รายอื่นทำ เพราะมีตัวอย่างที่ทำมาก่อนแล้ว หากต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้ารายแรกผ่านได้ รายอื่นก็ต้องผ่านได้

ทางออกคือต้องปิดหลุมดำรัฐวิสาหกิจก่อน เพราะมันคือตัวบิดเบือนการใช้ทรัพยากรและบิดเบือนกลไกการแข่งขันในตลาดอย่างมหาศาล

ถ้ารัฐบาลเอาจริงก็สามารถสั่งรัฐวิสาหกิจไม่ให้ทำดีลสัมปทานจำแลงได้ใช่ไหม

นั่นคือการมองโลกแบบนักวิชาการไง โดยหลักแล้ว รัฐบาลที่ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้งก็ไม่ควรสนับสนุนให้ทำ แต่ว่ามันไม่เกิดขึ้นจริงหรอก การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นไปได้จริงคือ ประเทศไทยต้องเกิดวิกฤตอีกรอบหนึ่ง คล้ายๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 แล้วเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขายรัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐบาลไม่มีทางออกอื่นที่จะเล่นแร่แปรธาตุได้ การปฏิรูปจึงต้องมาพร้อมความเจ็บปวดเสมอ

ตอนนี้เรามีกฎหมาย กสทช. ฉบับใหม่ และในอนาคตก็จะมี กสทช.ชุดใหม่ อะไรคือสิ่งที่สังคมไทยต้องช่วยกันจับตาการทำงานของ กสทช.  

ใครบอกว่ากำลังจะมี กสทช. ชุดใหม่ เพราะการสรรหาถูกคว่ำ และมีการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยืดอายุการทำงานของ กสทช. ชุดปัจจุบันที่จริงๆ แล้ว หมดวาระไปแล้ว ให้รักษาการต่อไปโดยไม่กำหนดวันหมดอายุเสียด้วย

ดังนั้น ก่อนจับตา กสทช. ชุดใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ขอให้จับตาดู คสช. ว่าเมื่อไรจะคลายปมที่ตัวเองผูกไว้ นั่นคือ การแช่แข็งกระบวนการสรรหา กสทช. ชุดใหม่

ส่วนประเด็นที่สังคมต้องจับตาดู กสทช. ก็เริ่มตั้งแต่วิธีการแก้ไขปัญหาการประมูลคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ว่า ถ้าประมูลคลื่นกันไม่ได้ จะเยียวยากันหรือไม่อย่างไร ก็ขอให้มีทางออกที่อธิบายสังคมได้ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แค่โจทย์นี้โจทย์เดียว ถ้าทำได้ ผมก็ขอแสดงความชื่นชมแล้ว

เรื่องที่สองก็คือ การเตรียมคลื่นความถี่สำหรับการประมูล 5G กสทช. ต้องเช็คสต็อกว่ามีคลื่นอะไรอยู่ในมือ ต้องเรียกคืนคลื่นไหนจากใคร ถ้าทำตรงนี้ไว้ ก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ กสทช. อีกเหมือนกัน

ผมไม่คาดหวังว่า กสทช. ชุดปัจจุบันจะเป็นคนจัดประมูลคลื่น 5G ด้วย เพราะมันไม่น่าจะเกิดขึ้นภายในเร็ววันนี้ ถ้า กสทช. ชุดนี้เป็นคนจัดประมูลคลื่น 5G แสดงว่า กสทช. ต้องอยู่ยาวไปอีก 2-3 ปี ซึ่งก็แปลว่า คสช. จะอยู่ยาวอีก 2-3 ปี

นั่นแปลว่าประเทศไทยจะมีเหตุที่ควรวิตกกังวลอีกมากมาย ยิ่งกว่าเรื่องนี้.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save