fbpx

เรื่องเล่าสู่เสรีภาพ The Testaments

นิยายดิสโทเปียเรื่อง The Handmaid’s Tale (1985) ของมาร์กาเร็ต แอตวูด จบลงด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์หลบหนีจากสภาพชีวิตเหมือนตกนรกของตัวเอก และทิ้งค้างไว้แค่นั้น ผู้อ่านไม่ทราบชะตากรรมในเวลาต่อมาของตัวละครว่าเป็นตายร้ายดีเช่นไร

34 ปีต่อมา มาร์กาเร็ต แอ็ตวูดค่อยเขียน The Testaments ซึ่งเป็นภาคสอง และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับภาคแรก ทั้งในแง่คำวิจารณ์และรางวี่รางวัล (ทั้งสองภาค ล้วนได้รับรางวัล Booker Prize)

อย่างไรก็ตาม The Testaments เป็นภาคสองในแบบที่บอกเล่า ‘คนละเหตุการณ์’ เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน (ประมาณ 15 ปีต่อมา) ตัวละครเดิมมีเพียงแค่น้าลิเดีย (อาจจะมีน้าคนอื่นๆ ด้วย ตรงนี้ผมไม่แน่ใจและไม่สามารถตรวจสอบ) ปริศนาต่างๆ ที่ทิ้งค้างไว้ในภาคแรกยังคงเป็นคำถามและความลึกลับอยู่ต่อไป

ความสืบเนื่องเกี่ยวโยงที่เด่นชัด คือรัฐหรือประเทศอันมีนามว่ากิเลียด ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ต่อมาเกิดความวุ่นวาย จนนำไปสู่การยึดอำนาจ เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบเผด็จการเข้มข้นสุดโต่ง มีการนำคำสอนในไบเบิลมาตีความอย่างบิดเบือนให้เข้ากับจุดมุ่งหมายเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ผู้คนถูกจำแนกแยกแยะโดยความจงใจออกเป็นหลายระดับชั้นเช่นเดียวกับการแบ่งวรรณะเมื่อสมัยโบราณ แต่ละกลุ่มประเภท มีสิทธิและผลประโยชน์ในการดำรงชีวิต เหลื่อมล้ำตรงข้ามกันจนไกลสุดกู่ ทุกคนถูกสอดส่อง ควบคุม จับตามองแทบทุกชั่วขณะ จนปราศจากอิสระ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง (ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดาผู้นำ ซึ่งถึงแม้จะมีอภิสิทธิ์ข้อยกเว้นอยู่มากมาย แต่ในระหว่างผู้มีอำนาจด้วยกัน ต่างก็หวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน หวั่นเกรงว่าจะเกิดการทรยศหักหลัง จนต้องเฝ้าคุมเชิงพฤติกรรมของกันและกันตลอดเวลา)

ถัดมาคือ ความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ กลายเป็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ถูกต้อง และผิดบาป ผู้ชายได้รับการยกย่องเชิดชู ผู้หญิงถูกกดขี่เหยียบย่ำ (แม้กระทั่งสตรีที่อยู่ในชนชั้นสูงสุดก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น) เกิดวิกฤตเกี่ยวกับการถือกำเนิดของประชากร ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่สามารถมีบุตรด้วยโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หลายคนที่ยังตั้งครรภ์ได้ก็ประสบเหตุทารกเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ หรือมีสภาพพิกลพิการ (จนเรียกขานว่าเป็น อทารก) ต้องกำจัดทิ้ง

ประการสุดท้าย การเขียนการอ่านกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง หนังสือเป็นสิ่งของต้องห้ามที่ถูกใส่สีตีไข่ให้ทุกคนรู้สึกว่าเลวร้ายน่าสะพรึงกลัว กระทั่งป้ายชื่อร้านค้าก็ยังปราศจากตัวอักษร ต้องใช้รูปภาพหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย มีเพียงเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เขียนอ่าน แต่ก็เป็นระดับขั้นผิวเผินพื้นฐาน เช่น เขียนใบสั่งของ การเขียนการอ่านระดับสูงซับซ้อนกว่านั้นเป็นสิทธิเศษเฉพาะเหล่าผู้บัญชาการ ส่วนผู้หญิงมีเพียงกลุ่มน้าเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นให้ทำได้

น้าเป็นผู้หญิงชนชั้นเดียวในกิเลียดที่มีอิทธิพลและอำนาจ ทำหน้าที่หลากหลาย ตั้งแต่การออกกฎ ข้อปฏิบัติ ตั้งโรงเรียนฝึกอบรมสิ่งที่ผู้หญิงพึงกระทำ และหล่อหลอมปลูกฝังให้พวกเธอเป็นอย่างที่ควรจะเป็น (นั่นคือทำตัวอยู่ในโอวาท เชื่อฟังและทำตามทุกสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าว)

ภาคแรกคือ The Handmaid’s Tale สร้างเงื่อนไขของสังคมดิสโทเปียที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเล่าเรื่องของสาวรับใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีระดับชั้นวรรณะต่ำต้อยสุด (อีกพวกหนึ่งคือผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน เพื่อใช้แรงงาน)

‘สาวรับใช้’ เป็นผู้หญิงที่เคยมีลูก (ในยุคสมัยก่อนหน้าจะกลายมาเป็นกิเลียด) และเด็กมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยเป็นปกติภายหลังการคลอด คุณสมบัติดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวด

แต่ด้วยความเป็นสังคม ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ เต็มพิกัดของกีเลียด ผู้หญิงที่มีศักยภาพตั้งท้องได้ แทนที่จะถูกยกย่องเห็นคุณค่า พวกเธอกลับโดนประณามตราหน้าแบบเหมารวมว่าเป็นหญิงสำส่อน ไม่ใช่เพราะอคติหรือความคิดคับแคบ แต่ด้วยความคิดฉ้อฉลเจ้าเล่ห์เพทุบาย ตั้งใจลดทอนศักดิ์ศรีให้ต่ำต้อยกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมที่ไม่อาจมีบุตร ถูกกระทำจนแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์ กลายสภาพเป็นเพียงวัตถุ และมีหน้าที่เป็นเพียงแค่อุปกรณ์หรือเครื่องมือชนิดหนึ่งในการผลิตลูก เพื่อที่บรรดาผู้ชายซึ่งวางตัวเป็นคนเคร่งศีลธรรมจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิด หรือเกิดความกระอักกระอ่วนละอายใจในการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตน

จุดเด่นของ The Handmaid’s Tales นอกจากจะพรรณนาสาธยายถึงสังคมดิสโทเปียได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน หนักแน่นสมจริง แสดงจินตนาการด้านลบของโลกอนาคตอันใกล้ แบบที่ผู้อ่านรู้สึกและตระหนักได้ทันทีว่า ความน่าสะพรึงกลัวทั้งหลายที่ปรากฏในนิยายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เป็นคำเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จริง หากผู้คนยังปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจต่อปัญหาต่างๆ รอบตัวในชีวิตปัจจุบันขณะ อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและทรงพลังอย่างยิ่ง ได้แก่ การสะท้อนปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศ ปัญหาสิทธิสตรี ออกมาได้อย่างคมชัด หนักแน่น จนทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีแง่มุมโดดเด่นเฉพาะตัว แตกต่างเพิ่มเติมไปจากนิยายดิสโทเปียส่วนใหญ่ที่เขียนขึ้นมาก่อนหน้า

ใจความหลักๆ ของ The Testaments ยังคงพูดถึงประเด็นเดียวกัน เป็นการตอกย้ำและขยายความเนื้อหาสาระจากภาคที่แล้วให้ถี่ถ้วน รอบด้านและครอบคลุมวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม

ใน The Testaments มาร์กาเร็ต แอ็ตวูดใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านมุมมองแบบสรรพนามบุคคลที่หนึ่งของ 3 ตัวเอก ตัดสลับไปมา

คนแรกคือน้าลิเดีย ซึ่งเขียนบอกเล่าในเอกสารที่เรียกกันว่า ‘บันทึกจากหออาร์ดัว’ คนต่อมาคือแอกเนส เด็กสาวในครอบครัวของผู้บัญชาการ คนสุดท้ายคือเดซี เด็กสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดา เรื่องเล่าของแอกเนสกับเดซี เป็นคำให้การที่เรียกว่า ‘ข้อความจากบันทึกเสียงให้การของพยาน 369A’ และ ‘ข้อความจากบันทึกเสียงให้การของพยาน 369B’

ทั้ง 3 มุมมองการเล่าเรื่องนี้ ตัดสลับไปมาอยู่ตลอดเวลาอย่างมีระเบียบในการลำดับเรื่องแน่ชัด แรกเริ่มแต่ละส่วนดูแยกขาดจากกันเป็นเอกเทศ และค่อยๆ เคลื่อนขยับเข้าหากัน จนกระทั่งบรรจบพบกันในท้ายที่สุด

คำสารภาพของน้าลิเดีย ยังเล่าสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบันของเธอ

ในเหตุการณ์ช่วงปัจจุบัน น้าลิเดียมีตำแหน่งสูงสุดในหออาร์ดัว เป็นผู้ทรงอิทธิพลและเปี่ยมอำนาจ เรื่องราวส่วนนี้เล่าถึงการบริหารจัดการหน้าที่การงานต่างๆ การเล่นเกมการเมืองภายในองค์การเพื่อรักษาสถานะความได้เปรียบให้คงอยู่ การวางแผนสารพัดสารพัน ทั้งโดยวิธีที่สะอาดถูกต้องและการเล่นสกปรกชกใต้เข็มขัด ทั้งการกระทำด้วยเมตตาคุณธรรมและเหี้ยมโหดเลือดเย็น รวมถึงการมุ่งไปสู่เป้าหมายลับ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของตัวนิยาย

ส่วนเหตุการณ์ช่วงอดีต เล่าถึงความเป็นมาเบื้องต้นของเธอ และผลกระทบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมเดิมกลายมาเป็นกิเลียด ความยากลำบากทุกข์ทรมานที่ได้รับ การต่อสู้ดิ้นเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย และที่สำคัญสุดคือ เรื่องเล่าที่แสดงที่มาที่ไปว่าเธอกลายมาเป็น ‘น้าลิเดีย’ ได้อย่างไร

เรื่องเล่าของแอกเนสให้ภาพอีกแง่มุม สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของสตรีในครอบครัวชนชั้นสูง ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเป็นสาว

โดยสถานะทางสังคมแล้ว แอกเนสดูเหมือนจะโชคดีกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ในกิเลียด แต่เอาเข้าจริงก็แทบจะไม่ต่างจากกันสักเท่าไร พ้นจากความสะดวกสบายในด้านการกินอยู่แล้ว ชีวิตในทุกรายละเอียดของแอกเนสก็ถูกคุมเข้มไม่ต่างจากนักโทษ ไปโรงเรียนเพื่อให้ตนเองถูกหล่อหลอมเป็นคนตามแบบที่ถูกกำหนดไว้เสร็จสรรพ เมื่อถึงวัยพอเหมาะ ก็ถูกจัดแจงให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน (ชนิดคลุมด้วยถุงหลายชั้น) โดยไม่อาจโต้แย้ง

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแม่ของแอกเนสเสียชีวิต แม่เลี้ยงก็ปฏิบัติต่อเธออย่างร้ายกาจ

เรื่องของแอกเนสยังตรงตามครรลองประการหนึ่งของนิยายดิสโทเปีย นั่นคือการสร้างตัวละครที่ซื่อใสไร้เดียงสาในเบื้องต้น ถูกปลูกฝัง อบรมเลี้ยงดู จนกระทั่งเห็นว่าสังคมที่ตนเองดำรงอยู่ เป็นโลกในอุดมคติ ทุกสิ่งดีงามสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยวัยที่เติบโตมากขึ้นและความรู้สึกนึกคิดภายในตามธรรมชาติมนุษย์ ยิ่งนานวันเธอก็เริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลเพิ่มทวีตามลำดับ เริ่มเกิดข้อสงสัย กลายเป็นการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว นี่ยังไม่นับรวมเส้นทางชีวิตที่ถูกขีดกำหนดไว้ตายตัวให้ต้องทำตาม ซึ่งขัดแย้งกับความปรารถนาส่วนตัว

ท้ายที่สุด เงื่อนไขปัจจัยทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของแอกเนสแบบพลิกผันไปอีกขั้ว

คำให้การของเดซีบอกเล่าแง่มุมที่แตกต่างออกไป เธอเติบโตในแคนาดา ซึ่งเป็นสังคมที่ยังไม่วิปริตผิดเพี้ยนเหลวแหลกเหมือนกิเลียด ยังมีชีวิตเป็นปกติสุข แต่ปัญหาของเดซีก็คือ เธอโตมาท่ามกลางการปกป้องหวงแหนจากพ่อแม่ ถึงขั้นระมัดระวังเข้มงวด จนเกิดความแตกต่างจากเด็กอื่นๆ อย่างเด่นชัด วันหนึ่งเกิดเหตุร้าย นำไปสู่การเผยความลับเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเดซี ซึ่งแทนที่จะสร้างความกระจ่าง มันกลับยิ่งเต็มไปด้วยความคลุมเครือ มีความลับมากมายสารพัดสารพันที่ไม่มีคำตอบ และนำไปสู่การผจญภัยหลายขนาน

เรื่องของเดซี นอกจากจะเล่าถึงอีกสภาพสังคมที่แตกต่างจากกิเลียดแล้ว ยังเล่าถึงขบวนการเมย์เดย์ ซึ่งเป็นองค์กรใต้ดิน ปฏิบัติภารกิจต่อต้านรัฐบาลกิเลียด และช่วยเหลือนำพาผู้คนหลบหนีออกนอกประเทศ

ขบวนการเมย์เดย์เคยบอกเล่าไว้แล้วใน The Handmaid’s Tale แต่ก็พาดพิงกล่าวถึงบางๆ เรื่องราวของขบวนการนี้ได้รับการแจกแจงจนละเอียดถี่ถ้วนขึ้นใน The Testaments และมีบทบาทสำคัญกับเนื้อหาหลักของนิยาย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องคร่าวๆ ที่เป็นเปลือกนอก ไม่ลงสู่รายละเอียดของ The Testaments

ผมอ่านนิยายเรื่อง The Handmaid’s Tale หลังการดูฉบับดัดแปลงเป็นซีรีส์ (แต่ก็มีโอกาสได้ดูแค่ season เดียว) อยู่นานพอสมควร

ครั้งแรกสุดที่อ่าน จึงผิดคาดอยู่เยอะที่ตัวนิยายเล่าเรื่องเรียบง่ายกว่า ไม่โลดโผนจัดจ้านเท่า มิหนำซ้ำเหตุการณ์ยังน้อยและจืดกว่า

อย่างไรก็ตาม ตลอดการอ่าน The Handmaid’s Tale ผมกลับรู้สึกว่าสนุกมาก ความบันเทิงนี้ไม่ได้เกิดจากพล็อตเรื่องหรือการเร่งเร้าอารมณ์หรอกนะครับ แต่เป็นความเพลิดเพลินไปกับจินตนาการของผู้เขียน ที่สร้างรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของสังคมดิสโทเปียออกมาได้อย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะความแหลมคมในการเขียนนิยายคาดคะเนทำนายอนาคตแบบที่เรียกกันว่า speculative fiction อย่างหนักแน่นน่าเชื่อถือ และเห็นรำไรๆ ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่มันจะเกิดขึ้นจริง

ความสนุกอีกอย่างคือการหยิบจับรายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยที่นิยายได้พรรณนาไว้ มาเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าส่วนไหนตรงกับเรื่องใด

ในแง่นี้ พูดได้เต็มปากว่าทุกสิ่งทุกอย่างในกิเลียดล้วนเคยมีมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ทางเพศ การโฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนความจริง การจำกัดปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การนำเอาคำสอนทางศาสนามาเป็นเครื่องมือและอาวุธเพื่อรับใช้เป้าประสงค์ทางการเมือง ฯลฯ

The Testaments ยังคงมีจุดเด่นดังกล่าวอยู่เต็มเปี่ยมครบครัน และสิ่งที่ดีมากๆ คือการให้รายละเอียดเพิ่มขยายขึ้นจากเดิมอีกมากมาย

สังคมดิสโทเปียใน The Handmaid’s นับว่าน่ากลัวแล้ว แต่ใน The Testaments มันยิ่งโหดร้ายกว่าเดิมไปอีกหลายขีดขั้น

มีรายละเอียดหลายตอนที่ผมชอบมาก คัดลอกมาให้อ่านกันเล่นๆ 2-3 ตัวอย่างนะครับ

สิ่งต้องห้ามเปิดทางให้จินตนาการ เพราะอย่างนั้นอีฟจึงกินผลไม้แห่งความรู้ น้าวิดาลาบอก: เป็นเพราะมีจินตนาการมากเกินไป ดังนั้นไม่รู้เรื่องบางอย่างบ้างจะดีเสียกว่า ไม่เช่นนั้นแล้วกลีบของเธอจะกระจุยกระจาย” (ตรงนี้พูดถึงหนังสือและการเขียนการอ่านนะครับ)

ความรู้คืออำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่สามารถทำลายความน่าเชื่อถือของคนอื่นได้”

และอีกตอนหนึ่ง เมื่อมีใครบางคนเลือกจบชีวิตตนเอง นี่คือบทสนทนาแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้น

แต่เธอทำอย่างนั้นทำไม” ฉันถาม “เธออยากตายเหรอ”

ไม่มีใครอยากตายหรอก” เบคาห์ตอบ “แต่บางคนก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ในรูปแบบใดๆ ที่ตัวเองได้รับอนุญาตให้อยู่”

กล่าวโดยรวมคือ จุดเด่นความดีงามทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นลีลาชั้นเชิงทางศิลปะ หรือความเฉียบแหลมในประเด็นเนื้อหาสาระของ The Testaments อยู่ในครรลองใกล้เคียงกับ The Handmaid’s Tale เป็นภาคต่อที่เขียนได้ทัดเทียมกับภาคแรก

กระนั้นก็มี 2 อย่างที่ผมคิดว่าผิดแผกแตกต่าง

อย่างแรกคือเนื้อหาสาระ นอกจากตอกย้ำและขยายความประเด็นต่างๆ ที่เคยนำเสนอไว้ใน The Handmaid’s Tales แล้ว The Testaments ยังเพิ่มเติมแง่มุมใหม่เข้ามาด้วย นั่นคือ ประเด็นเกี่ยวกับความจริง ความรู้ และอำนาจ ซึ่งได้รับการแจกแจงอย่างละเอียดว่าแต่ละส่วนมีธรรมชาติพื้นฐานคุณสมบัติเป็นเช่นไร และมีความเกี่ยวเนื่องโยงใยขับเคลื่อนผลักดันกันอย่างไร ผ่านเรื่องเล่าในส่วนของน้าลิเดีย

อย่างต่อมาคือ การสร้างตัวเอก 3 คนผลัดกันทำหน้าที่เล่าเรื่อง ส่งผลให้ The Testaments มีลีลาการดำเนินเรื่องในลักษณะเดียวกับงานเขียนประเภทเบสต์เซลเลอร์ สร้างปมเร่งเร้าความสนใจอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งตัวพล็อตเองก็มีความจัดจ้านมากกว่าภาคแรก

พูดง่ายๆ คือสนุกกว่าภาคที่แล้วเยอะเลย แต่ในแง่ของความยอดเยี่ยมแล้ว ผมคิดว่าดีพอๆ กัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save