fbpx

‘ศูนย์การเรียนสามเณรไร้รัฐ’ การศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์ที่ไร้เส้นพรมแดน

‘2,401 กิโลเมตร’ คือความยาวโดยสังเขปของเส้นเขตแดนที่แบ่งไทยและพม่าออกจากกัน [1] พม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับไทยยาวที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นแผ่นดินแม่ของแรงงานกว่า 1.86 ล้านคนที่ไหลเวียนอยู่ในภาคเศรษฐกิจไทย ประกอบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในพม่า ที่ยังส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไม่รู้จบ คลื่นการโยกย้ายถิ่นฐานเข้าสู่ไทยจึงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ประชาชนพม่าจำนวนมากตัดสินใจพาลูกหลานโยกย้ายมาอยู่ไทยด้วย เช่นเดียวกับแรงงานจากชาติเพื่อนบ้านอื่น พวกเขาหวังว่าอนาคตของลูกหลานบนแผ่นดินนี้จะดีกว่าที่แผ่นดินเกิด เด็กบางคนเข้ามาไทยตั้งแต่ยังเล็ก เด็กบางคนเข้ามาในช่วงอายุที่ทำงานหาเงินได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดและเติบโตในไทย

แม้จะเคลื่อนย้ายสู่แผ่นดินไทยด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่อุปสรรคสำคัญที่ปิดประตูความฝันและโอกาสก้าวหน้าในชีวิตของเด็กเหล่านี้คือ ‘ความไร้สถานะ’ อันหมายถึงการเป็นบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนเกิดและไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองของรัฐไทย ไม่ใช่แค่เด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ในสถานะนี้ แต่เด็กเชื้อสายไทยที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่รอพิสูจน์สัญชาติก็มีโอกาสอยู่ในกลุ่มไร้สถานะได้เช่นกัน

แม้สิทธิที่จะได้รับการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายที่เด็กทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าจะมีสัญชาติ สถานะใด หรือแม้จะไม่มีเอกสารใดเลยก็ตาม แต่ข้อมูลจากรายงานขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสหภาพยุโรปเปิดเผยว่ายังมีเด็กข้ามชาติในไทยประมาณ 200,000 คนที่ไม่ได้เข้าเรียน

อุปสรรคทางภาษา ปัญหาเชิงระบบ ความไม่พร้อมด้านทรัพยากรและศักยภาพของโรงเรียน อีกทั้งทัศนคติเชิงลบต่อเด็กข้ามชาติ สร้างกำแพงหนาหลายชั้นในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ไม่นับว่าทางเลือกที่จำกัดในการประกอบอาชีพของพ่อแม่ที่เป็นคนข้ามชาติ ทำให้เด็กจำนวนมากต้องโยกย้ายตามผู้ปกครองและมีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่เอื้อต่อการได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทำให้เด็กหลายคนตกหล่นจากระบบ บ้างก็กลายเป็นแรงงานตั้งแต่อายุยังน้อย และเสี่ยงจะเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์

สำหรับเด็ก(ชาย)ที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาฝั่งไทย หนึ่งในหนทางที่จะไปให้พ้นจากความยากไร้และไม่มั่นคงคือ ‘การบวชเรียน’ เส้นทางเดียวกับที่เด็กไทยผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มักเลือกเดินเพื่อให้เข้าถึงโอกาสและการศึกษา แต่เส้นทางสู่การศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์กลับไม่ได้ง่ายนักสำหรับเด็กไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ความไร้สถานะกดทับพวกเขาไว้หนึ่งชั้น และการอยู่ในสมณเพศทำให้พวกเขาถูกมองข้ามว่ามีอุปสรรคกดทับไว้

101 พาไปเปิดโลกการศึกษาใต้ร่มผ้าเหลืองของสามเณรไร้รัฐ-ไร้สัญชาติจากพม่าที่เข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในเชียงใหม่ ทำความรู้จัก ‘ศูนย์การเรียนโพธิยาลัย’ โรงเรียนที่โอบรับสามเณรข้ามชาติเข้าสู่โลกการศึกษา ทั้งทางธรรมและทางโลก อุปสรรคของนักเรียนในเพศบรรพชิตต่างจากนักเรียนทั่วไปอย่างไร และอะไรคือ ‘พรมแดน’ ที่ขวางกั้นโอกาสของพวกเขาเหล่านี้

‘เรียนรวมก็ยาก ฝากเรียนก็ไม่ได้’ ระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นทำให้สามเณรตกหล่นจากการศึกษา

สำหรับเด็กหรือเยาวชนชายหลายคนที่ต้องการบวชเรียน ‘โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา’ คือสถาบันที่สามารถประสิทธิ์ประสาททั้งวิชาธรรมและวิชาสามัญให้กับพวกเขาได้ แต่โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ ‘เลือกได้’ ของเด็กทุกคน เนื่องจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมเปิดสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย นั่นหมายความว่าสามเณรวัยประถมศึกษาไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนได้ ช่องว่างทางการศึกษาจึงเกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ โดยเฉพาะหากบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย โอกาสด้านการศึกษายิ่งตีบแคบลงไป เพราะการบริหารจัดการให้สามเณรเรียนรวมกับเด็กอื่นๆ ในโรงเรียนทั่วไปนั้นเป็นไปได้ยาก และเมื่อไม่มีวุฒิการศึกษาในระดับประถมศึกษา สามเณรก็ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาได้

ที่ ‘โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์’ แห่งนี้ เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่เปิดการเรียนการสอนแผนกสามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษามาตั้งแต่ปี 2543 แต่เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว มีเจ้าอาวาสวัดในละแวกใกล้เคียงพาเณร 3-4 รูปที่ยังไม่จบ ป.6 มาฝากเรียน และปีต่อมาก็เพิ่มเป็น 10 กว่ารูป จนพระมหาอินสอน คุณวุฑฺโฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ เริ่มตระหนักได้ว่าควรจะมีการจัดการเรียนการสอนให้แก่สามเณรวัยประถมอย่างเป็นกิจลักษณะ โดยมีเป้าหมายหลักคือทำให้สามเณรที่ไม่จบ ป.6 เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาให้ได้

“ตอนแรกเราก็เอาสามเณรไปฝากเรียนกับโรงเรียนฆราวาส ที่โรงเรียนวัดศรีล้อม อำเภอหางดง เรียนรวมกับเด็กทั่วไปเลย แต่แยกโซนนั่งเอา แล้วก็มีหนังสือจาก สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ส่งถึงแต่ละเขตว่าการรับสามเณรเข้าเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปไม่ได้เป็นภารกิจของ สพฐ. เพราะโรงเรียนมีความยากลำบากในการดูแล”

ความพยายามแรกของพระมหาอินสอนในการพาสามเณรเข้าสู่การศึกษาในระบบดูจะไม่ราบรื่นนัก อีกทั้งการต้องพาสามเณรเดินทางไปเรียนไกลถึงอำเภอหางดงทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการเดินทาง พระมหาอินสอนและเจ้าอาวาสวัดอื่นในเชียงใหม่จึงมองถึงความเป็นไปได้ในการทำเรื่องขอเปิดเป็นโรงเรียนวัดเหมือนวัดศรีล้อม โดยแยกออกจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เดิม แต่เมื่อยื่นขออนุญาตไปแล้ว ก็เป็นอีกครั้งที่ สพฐ. ยืนยันว่าการจัดการศึกษาแก่สามเณรไม่ใช่ภารกิจของ สพฐ.

นอกจากนี้ การนำสามเณรเข้าไปอยูในระบบการศึกษาของรัฐยังทำให้สามเณรต้องเข้าสู่กระบวนการอันถือเป็น ‘การลิดรอนสิทธิ’ โดยเฉพาะในการเก็บฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ภาครัฐนำไปใช้ในการจัดสรรงบประมาณ ‘เงินอุดหนุนรายหัว’ ให้แก่โรงเรียนในสังกัดรัฐบาล มีเงื่อนไขที่ทำให้สามเณรจำเป็นต้องใช้คำหน้าเป็น ‘เด็กชาย’ และต้องถอดจีวรเพื่อใส่ชุดนักเรียนในการถ่ายรูปเก็บข้อมูลเพื่อให้ตรงกับระเบียบราชการ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหนึ่งในอุปสรรคที่ขวางกั้นโอกาสเข้าถึงการศึกษาของสามเณรก็มาจากระเบียบที่ไม่ยืดหยุ่นของรัฐ

พระมหาอินสอน คุณวุฑฺโฒ ผู้อำนวยการโรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์

เมื่อการนำสามเณรเข้าเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ดูจะไม่ได้ผล พระมหาอินสอนและพระจากวัดอื่นๆ ที่เผชิญอุปสรรคในการนำสามเณรเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้รับคำแนะนำจากเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในภาคเหนือให้พาสามเณรวัยประถมศึกษาที่มีจำนวน 40 กว่ารูป ไปฝากเรียนที่ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์ที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบสถาบันการศึกษาทางไกล (สทก.) ขึ้นตรงกับส่วนกลางของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แต่แนวทางนี้ก็ดูจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนอีกเช่นเคย

“ทีแรกเรานึกว่ามันเป็นทางออกแล้ว เพราะเณรมีที่ที่จะให้วุฒิการศึกษาได้แล้ว ตอนนั้นเราจัดการเรียนการสอนกันที่นี่ (โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์) ชื่ออยู่ที่โน่น แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขของ สทก. ระบุว่าการสอบกลางภาคและปลายภาคต้องไปสอบที่แม่สาย เรามีสามเณรเป็นนักเรียนอยู่ 40 กว่ารูป ครั้งแรกที่ไปสอบกลางภาคใช้เวลา 3 วัน เราหมดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงภัตตาหารไป 30,000 กว่าบาท อาตมาคำนวณแล้วว่าหนึ่งปีจะหมดแสนกว่าบาทเลย ถ้าเราจัดการเรียนการสอนที่นี่ เงินแสนกว่าบาทจ้างครูได้หลายคนเลยนะ”

หลังได้พูดคุยกับมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล พระมหาอินสอนได้ทราบว่ามีหลายองค์กรในไทยที่จัดการเรียนการสอนให้เด็กไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ หรือเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียน โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติเยอะ มักจะมีศูนย์การเรียนสำหรับเด็กข้ามชาติเช่นนี้เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของความพยายาม (อีกครั้ง) ในการมอบโอกาสทางการศึกษาให้สามเณรน้อยวัยประถมเหล่านี้ โดยมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์การเรียนรู้โพธิยาลัย’ ขึ้นที่โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ เพื่อจัดการศึกษาให้สามเณรวัยก่อนมัธยม และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสามเณรก่อนเข้าสู่โรงเรียนพระปริยัติธรรม

ศูนย์การเรียนโพธิยาลัยเพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 ที่ผ่านมา เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษา ปัจจุบันมีสามเณรเป็นนักเรียนทั้งหมด 47 รูป สามเณรเหล่านี้มาจากต่างวัด ใกล้บ้าง ไกลบ้าง แต่รถรับส่งของศูนย์การเรียนก็พาพวกเขามาถึงห้องเรียนได้ในทุกเช้า

หากขยายเข้าไปดูในจำนวน 47 รูปนี้ พบว่ามีสามเณรที่ไม่มีสัญชาติไทยอยู่กว่าร้อยละ 90 และส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ไทใหญ่จากรัฐฉานที่พ่อแม่เข้ามาทำมาหากินฝั่งไทย นั่นทำให้อีกหนึ่งภารกิจที่พระอาจารย์ในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้และเครือข่ายด้านการศึกษาต้องผลักดันต่อ คือการขอสถานะทางทะเบียนให้สามเณรไร้สัญชาติเหล่านี้ได้รับการศึกษาต่ออย่างราบรื่น และภารกิจนี้ยังต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนอีกหลายส่วน

‘ไร้สัญชาติ-ขาดคนดูแล’ เงื่อนไขชีวิตที่ทำให้ต้องบวชเรียน

แดดจ้าในปลายเดือนมีนาคม แผ่รังสีความร้อนเข้ามาถึงตัวอาคารเรียน แต่มวลความสงบจากเณรน้อยกว่า 10 รูปดูจะทำให้ความร้อนจากภายนอกบรรเทาลง วันนี้เป็นช่วงวันก่อนปิดภาคการศึกษา บรรยากาศในห้องเรียนจึงดูผ่อนคลายเป็นพิเศษ เพราะเพิ่งผ่านพ้นช่วงสอบปลายภาคไป ก่อนจะเข้าสู่ช่วงปิดเทอมและก่อนที่เณรน้อยแห่งดอยสะเก็ดจะวุ่นอยู่กับการช่วยงานประเพณีปอยส่างลองที่วัด พระอาจารย์ประจำศูนย์การเรียนกำลังใช้เวลาในช่วงบ่าย พูดคุยกับสามเณรถึงกิจกรรมในช่วงปิดเทอมและการเตรียมพร้อมสู่ภาคการศึกษาใหม่

สำหรับเด็กทั่วไป ช่วงเวลาปิดเทอมเป็นช่วงเวลาแสนสุขที่เด็กๆ ได้พักผ่อนและใช้เวลาว่างทำในสิ่งที่ชอบ เล่นเกมอยู่บ้าน ไปเที่ยวกับครอบครัว หรือออกไปเล่นซนกับเพื่อนฝูง แต่สำหรับเด็กชายในเพศบรรพชิตเหล่านี้ ปิดเทอมของพวกเขามีวัดและการปฏิบัติศาสนกิจเป็นฉากหลังเสียส่วนใหญ่

“อยากกลับบ้านอยู่ครับ คิดถึงเพื่อนๆ ด้วย แต่กลับไปก็ไม่น่าจะเจอใคร” สามเณรหมอกฟ้า สามเณรชาวไทใหญ่จากรัฐฉานวัย 15 ปีบอกกับเรา สามเณรหมอกฟ้าบวชตั้งแต่อายุ 8 ขวบอยู่ที่รัฐฉาน จากนั้นโยกย้ายตามพ่อแม่ที่เข้ามาทำงานในไทยได้หลายปี เมื่อถามว่าพ่อแม่ทำงานอะไร เขาตอบว่า “ทุกอย่างที่ได้เงิน” ปัจจุบันสามเณรหมอกฟ้าประจำอยู่ที่วัดม่อน (วัดสุวรรณคีรีมงคล) ไม่ไกลจากศูนย์การเรียนฯ นัก สามเณรหมอกฟ้าจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่รัฐฉานคือเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่รู้ผ่านหน้าฟีดในเฟซบุ๊กตอนนี้คือเพื่อนของเขาหนีภัยสงครามขึ้นไปประเทศจีนกันหมดแล้ว หลังการสู้รบทวีความรุนแรงขึ้นในบริเวณชุมชนอันเป็นบ้านเกิด

สามเณรหมอกฟ้าบอกกับเราว่าตอนที่ตัดสินใจบวช เขาเป็นคนตัดสินใจเองและบวชก็เพราะเพื่อน ตอนอยู่วัดที่บ้านเกิด เขาไม่ได้ร่ำเรียนวิชาอื่นใดนอกจากบาลี “อยากเป็นตุ๊เจ้าครับ (พระ ในภาษาเหนือ) ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเป็นเจ้าอาวาส” สามเณรหมอกฟ้าตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำเมื่อถามถึงความฝันตั้งแต่วัยเด็ก มีเสียงพูดเจือเสียงหัวเราะแว่วมาจากพระอาจารย์ว่า “อาตมาไม่ค่อยเห็นใครฝันแบบนี้นะ”

สำหรับชาวไทใหญ่ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนาไหลเวียนอยู่ในวิถีชีวิต ความคิด และความเชื่อ สามเณรหมอกฟ้าเติบโตขึ้นจากสังคมเช่นนั้น

สามเณรหมอกฟ้า

ขวบปีที่สามเณรหมอกฟ้าบวชอยู่ที่รัฐฉาน เป็นขวบปีเดียวกับที่สามเณรจอมเครือเมื่อครั้งยังเป็นเด็กชายเดินทางจากรัฐฉานเข้าสู่ไทย เขาบอกว่าการเดินทางมาไทยครั้งนั้น “เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ผมไม่ได้ตัดสินใจเอง” เขาติดตามพ่อไปทำงานก่อสร้างทั่วเชียงใหม่และจังหวัดข้างเคียงอยู่เกือบ 2 ปี จนในที่สุดพ่อของเขาก็สนับสนุนให้ลูกชายบวช หวังจะให้ลูกได้รับการศึกษา เข้าถึงปัจจัย 4 และมีที่พักเป็นหลักเป็นแหล่ง ปัจจุบันสามเณรวัย 15 ปีรูปนี้ประจำอยู่ที่วัดสันมะแปบ อำเภอสันกำแพง อยู่ห่างจากศูนย์การเรียนโพธิยาลัยถึง 20 กิโลฯ และเขาเป็นสามเณรเพียงคนเดียวของวัด ตั้งแต่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ จนกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณร เณรจอมเครือไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่รัฐฉานเลยสักครั้ง

“เคยอยากเป็นทหารครับ เพราะผมเป็นไทใหญ่ เขาปลูกฝังมาแบบนั้น แต่ตอนนี้ไม่อยากเป็นแล้ว” สามเณรจอมเครือพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เขาติดตามข่าวสารที่บ้านเกิดอยู่เนืองๆ และรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ตอนนี้เขาวาดฝันอนาคตไว้ว่าจะเรียนให้จบชั้น ม.6 และลาสิกขาออกไปทำงานเหมือนพ่อ สามเณรจอมเครือมีพี่ชายที่บวชเรียนเหมือนกัน แต่ตอนนี้สึกออกไปทำงานที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในแม่โจ้ สามเณรจอมเครือไม่ได้ฝันไกลไปกว่าการมีชีวิตแบบพ่อแม่ และหากกลับไปที่รัฐฉานก็คงไม่มีงานให้เลือกเท่าใดนัก เพราะชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ก็ทำไร่ทำสวนเป็นอาชีพหลัก ไม่นับว่าสถานการณ์ความรุนแรงตอนนี้คงไม่ปลอดภัยนักในการคืนถิ่นฐาน อนาคตของเขาจึงน่าจะปักหลักอยู่ที่แผ่นดินไทยแห่งนี้

สามเณรจอมเครือ

กว่าจะมาถึงวันที่พวกเขาได้เป็นนักเรียนชั้นประถม สามเณรหมอกฟ้า สามเณรจอมเครือ และเพื่อนเณรร่วมชั้นอีกนับ 40 รูป ต้องผ่านการย้ายโรงเรียนมาแล้วหลายครั้ง เพราะพวกเขาอยู่ในสมณเพศ อีกทั้งเป็นเด็กข้ามชาติ ยากจะหาโรงเรียนที่มีความพร้อมได้ ปัจจุบันพวกเขาต่างก็เป็น ‘เด็กรหัส G’ เหมือนกันทั้งหมด สามเณรเหล่านี้ไม่มีสถานะทางทะเบียนแบบพลเมืองไทย ทำให้ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้มีเลขประจำตัวใช้ในระบบการศึกษา โดยมีอักษร G ขึ้นต้น

การมีรหัส G มีความสำคัญต่อการขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยศูนย์การเรียนสามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น พระมหาอินสอนบอกกับเราว่าศูนย์การเรียนโพธิยาลัยมีแผนระยะยาวในการขอรับงบเช่นกัน เพราะต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายของวัดซึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบสนับสนุนหลักในปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม การมีรหัส G อาจจะช่วยให้เด็กไร้สถานะเข้าถึงการศึกษา แต่ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น การรับบริการด้านสุขภาพ เราถามว่าสามเณรหมอกฟ้าว่าหากป่วยต้องรักษาอย่างไร เท่าที่เขาจำได้คือกินยาแล้วนอนพัก ไม่เคยไปหาหมอถึงโรงพยาบาล

การเปิดศูนย์การเรียน ยังทำให้พระมหาอินสอนได้รับรู้ถึงสถานการณ์การร่วงหล่นจากระบบการศึกษาของสามเณรในภาคเหนือ เนื่องจากได้รับการติดต่อจากพระในหลายวัด จากต่างพื้นที่ ว่าต้องการนำสามเณรมาเรียนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสามเณรรหัส G ที่ติดตามพ่อแม่มาทำงาน พระมหาอินสอนเล่าว่ามีสามเณรอีกนับ 100 รูปในพื้นที่อำเภอเวียงแหง (เป็นอำเภอที่อยู่ติดชายแดนพม่า) ที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา และที่จังหวัดลำพูนมีสามเณรราว 200 รูปที่ไม่มีที่เรียน พระมหาอินสอนและเครือข่ายด้านการศึกษาจึงมุ่งเดินหน้าขยายโมเดลศูนย์การเรียนโพธิยาลัยไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสามเณรหลุดจากระบบการศึกษาและไม่มีสถานะทางทะเบียนควบคู่กันไป

สามเณรโชคชัย ไม่ใช่นักเรียนรหัส G เหมือนเพื่อนส่วนใหญ่ในชั้นเรียน เขาเป็นพลเมืองไทย มีบัตรประชาชนที่ยังมีคำขึ้นต้นเป็นเด็กชาย แต่ความยากจนและขาดคนดูแลทำให้เขาต้องเดินทางลงจากดอยเทพเสด็จอันเป็นบ้านเกิดมาบวชที่วัดปทุมสราราม ซึ่งอยู่ติดกับศูนย์การเรียนฯ

“ตอนแรกก็ไม่ค่อยอยากบวช แต่พอมาบวชก็รู้สึกไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนมาก โรงเรียนก็อยู่ใกล้วัดดีครับ” ปัจจุบันสามเณรโชคชัยอายุ 13 ปี เขาเพิ่งบวชเรียนมาได้ปีกว่าๆ และบวชหลังจากคุณย่าเสียได้ไม่นาน เขาโตมากับป้าและย่าที่ทำไร่กาแฟอยู่บนดอย หลังคุณย่าเสีย ป้าต้องทำงานหนักขึ้นจึงไม่มีคนช่วยดูแล ส่วนแม่ไปทำงานอยู่ไกลบ้าน ไม่ได้ติดต่อกันบ่อยนัก “แม่อาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมบวช” เขากล่าว ตอนย่าเสีย เด็กชายโชคชัยในขณะนั้นยังเรียนไม่จบชั้น ป.6 เมื่อป้าของเขาทราบว่ามีศูนย์การเรียนที่เปิดสอนชั้นประถมด้วย เขาจึงมุ่งหน้ามาที่นี่พร้อมพี่ชายที่อยู่ชั้น ม.1 ปัจจุบันสองพี่น้องเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเดียวกัน

สามเณรโชคชัย

นี่เป็นแค่เรื่องราวส่วนหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้มีทางเลือกในชีวิตมากนัก วัดจึงเป็นที่โอบรับความฝันและช่วยพยุงให้พวกเขายังอยู่ในเส้นทางแห่งโอกาสต่อไปได้ ยังมีเด็กอีกหลายคนที่เติบโตมาท่ามกลางความขัดสนโอกาสและอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายแดน ดอยสูง หรือในเมืองใหญ่ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสยังแผ่อาณาบริเวณเป็นวงกว้าง ศูนย์การเรียนแห่งนี้เป็นอีกความหวังหนึ่งที่จะทำให้ช่องว่างนั้นเล็กลง พระมหาอินสอนบอกกับเราว่าหากบริหารจัดการศูนย์การเรียนโพธิยาลัยจนอยู่ตัวแล้ว เครือข่ายการศึกษามีเป้าหมายว่าจะเปิดศูนย์การเรียนสำหรับเด็กหญิงด้วย แม้ไม่สามารถเลือกเส้นทางบวชเรียนได้เฉกเช่นเด็กชาย แต่พวกเธอก็สมควรได้รับโอกาสไม่น้อยไปกว่าใคร เพราะเพศสภาพไม่ควรจำกัดโอกาสและทางเลือกในชีวิตของเด็กคนไหนในโลกใบนี้

จากรัฐฉานสู่เชียงใหม่: การศึกษาที่โอบรับความหลากหลาย ไร้รอยต่อ และไม่ปิดโอกาสทางโลก

“อาตมาเคยสอนให้เณรอ่านคำว่า ‘เสือตัวใหญ่’ ทุกคนออกเสียงว่า ‘เสือโต๋ใหญ่’ กันหมดเลย ก็เลยเรียนรู้ว่า อ๋อ ‘โต๋’ คือ ‘ตัว’ ในภาษาของเขา” คำบอกเล่าจากพระทรงราช จิรวฑฺฒโน ครูประจำศูนย์การเรียนโพธิยาลัยสะท้อนถึงความท้าทายในการสอนหนังสือนักเรียนซึ่งมีที่มาแตกต่างหลากหลาย

พระทรงราชเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ประจำชั้นประถมปลาย แต่การสอนสามเณรซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก ทำให้การสอนอ่าน-เขียนภาษาไทยเป็นเรื่องพื้นฐานที่ครูต้องสอดแทรกไปในทุกวิชา เพราะการรู้ภาษาคือต้นธารของการเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆ วิชาภาษาไทยจึงถูกบรรจุอยู่ในตารางเรียนทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง

เนื่องจากสามเณรในชั้นเรียนมีทั้งเด็กชาติพันธุ์ไทใหญ่ กะเหรี่ยง และเด็กไทยที่พูด ‘คำเมือง’ เป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนที่นี่ต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับสามเณรที่อ่อนภาษาไทย ครูจะเริ่มปูพื้นฐานให้ใหม่ตั้งแต่ ก, ข, ค, … และสอนประโยคใหม่ๆ ให้พูดตาม นอกจากนี้ พระมหาอินสอนกล่าวว่าสื่อการสอนที่ดีที่สุดคือ ‘รูปภาพ’ เพราะภาพคือภาษาสากลที่สุดที่แม้นักเรียนจะพูดกันคนละภาษาก็ย่อมเข้าใจความหมายได้ พระทรงราชเล่าเสริมว่าครูจะพยายามชวนสามเณรพูดคุยบ่อยๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สามเณรกล้าใช้ภาษาไทยสื่อสารมากขึ้น  

สำหรับสามเณรชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของชั้นเรียน การมีภาษาพูดที่คล้ายกับภาษาไทยทำให้เด็กไทใหญ่ไม่มีปัญหากับการฟังและการพูดมากนัก “ผมพูดไทยได้ตั้งแต่เด็กเลย แต่พูดไม่คล่อง หนังไทย ละครไทย เข้าไปฝั่งพม่าเยอะมาก ผมดูโดเรมอนก็ดูผ่านช่องทีวีไทย ที่มีปัญหาสุดตอนมาเรียนก็การอ่านนี่แหละ” สามเณรจอมเครือย้อนความหลัง ตอนนี้เขาอ่าน-เขียนได้คล่องขึ้นจนทำข้อสอบได้สบายๆ แล้ว

พระทรงราช จิรวฑฺฒโน

เมื่อรัฐฉานคือต้นทางของสามเณรไร้สถานะส่วนมากในภาคเหนือ การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหาทางออกในการสร้างระบบที่ไร้รอยต่อจึงเกิดขึ้น พระมหาอินสอนและคณะทำงานด้านการศึกษาของสามเณร นำโดยพระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ประเทศพม่า เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา

จากการเดินทางครั้งนั้น พระวิสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าสามารถแบ่งสามเณรที่รัฐฉานได้เป็น 3 กลุ่ม คือ (1) สามเณรกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ารับการศึกษาโดยไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลพม่าและอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ (2) สามเณรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ารับการศึกษาโดยมีรัฐบาลพม่าสนับสนุน และ (3) สามเณรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย โดยผู้ปกครองของสามเณรบางส่วนเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง จึงนำลูกมาบวชเพราะต้องการปกป้องลูกจากภัยสงคราม

สถานการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดเช่นนี้ มีแนวโน้มว่าการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากพม่าเข้าสู่ไทยจะมีมากขึ้น และการส่งกลับ ‘เด็กไร้สถานะ’ ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้คงจัดว่าเป็นทางออกที่ไร้มนุษยธรรม ในเมื่อไทยอาจจะเป็นบ้านของพวกเขาไปตลอดชีวิต การมอบสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับและมอบโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตดูจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด

พระมหาอินสอนยังเผยว่ามีการหารือร่วมกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพม่าเพื่อปิดช่องโหว่ทางการศึกษาและปัญหาเรื่องสถานะในกรณีที่สามเณรจากพม่าต้องการมาศึกษาต่อในไทย โดยมีการประสานงานให้หน่วยงานสงฆ์ในพม่าออกใบรับรองให้เพื่ออุดช่องว่างการเข้ามาแบบไม่มีเอกสาร อีกทั้งมีการทำ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนครูไปสอนภาษาไทยที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมของพม่า เพื่อที่ว่าเมื่อสามเณรมาเรียนที่ไทยจะได้ลดอุปสรรคจากเรื่องภาษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสามเณรจำนวนหนึ่งบวชเรียนเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ เมื่อตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้ โรงเรียนสงฆ์เฉกเช่นศูนย์การเรียนโพธิยาลัยและโรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์จึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้สมดุลทั้งทางธรรมและทางโลก เพื่อที่ว่าต่อให้สามเณรลาสิกขาไปแล้ว ก็สามารถหาเลี้ยงชีพและเอาตัวรอดในสังคมได้ พระมหาอินสอนเล่าว่าในด้านวิชาการ หลักสูตรของที่นี่จัดการเรียนการสอนครบ 8 กลุ่มสาระตามเงื่อนไขของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะต่างตรงที่แบ่งออกเป็น 4 วิชาพุทธศาสนา และ 4 วิชาตามหลักสูตร สพฐ.

ทั้งนี้ ในระดับมัธยม โรงเรียนได้เสริมทักษะวิชาชีพให้แก่สามเณรโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรฝึกอบรมระยะสั้น เนื่องจากในระยะ 4-5 ปีมานี้ สามเณรที่จบชั้น ม.3 และลาสิกขาไปเรียนต่อ มักจะเลือกเรียนสายอาชีพเกือบ 100% เนื่องจากมีความต้องการในตลาดงานสูง ในปีนี้จึงได้ขยายไปทำหลักสูตร ‘ทวิศึกษา’ ซึ่งจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้แก่สามเณรระดับชั้นมัธยมปลายที่มีความประสงค์จะเรียนรู้ในสายวิชาชีพด้วย และสร้างทางเลือกให้สามเณรที่สนใจสายอาชีพโดยไม่ต้องลาสิกขาเพื่อเรียนต่อในด้านนี้ ปัจจุบัน มีหลักสูตรนำร่องคือสาขาช่างไฟฟ้าและสาขาก่อสร้าง

การเสริมทักษะด้านวิชาชีพมิได้สร้างคุณประโยชน์ต่อตัวสามเณรเพียงเท่านั้น พระมหาอินสอนยังชี้ว่าเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในอีกทางหนึ่ง

“ยิ่งพระ เณร มีความรู้หรือมีทักษะในเรื่องวิชาชีพ จะยิ่งช่วยให้เราบำรุงรักษาวัดได้โดยไม่สิ้นเปลืองเงินบริจาค เวลาจะสร้างอะไรใหม่ พอเราไม่มีความรู้ ช่างว่ายังไง วิศวกรว่ายังไงเราก็เอาตามนั้น แล้วค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น บางอย่างก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าพระมากำกับงานเองได้ ปัญหานี้จะหมดไป

“หรือวิชาชีพอย่างช่างยนต์ ถามว่าวัดใช้ประโยชน์ได้ไหม ทำไมจะไม่ได้ สมมติรถมอเตอร์ไซค์ญาติโยมเสีย เราก็ช่วยซ่อมได้ ไม่ต้องคิดค่าใช้จ่ายเลย ไม่จำเป็นจะต้องสึกไปเปิดอู่อย่างเดียว เป็นพระก็ทำประโยชน์ได้” พระมหาอินสอนขยายความ

ในฐานะสถาบันการศึกษา พระมหาอินสอนมองว่าไม่ว่าสามเณรจะเลือกไปต่อทางโลกหรือทางธรรม ความรู้และทักษะที่โรงเรียนมอบให้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้เรียนและเผื่อแผ่สู่สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้เณรน้อยเหล่านี้อาจลาสิกขาไปในวันใดวันหนึ่ง แต่สิ่งที่ถูกบ่มเพาะมาจะไม่มีวันสูญเปล่า และการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในสมณเพศเพียงอย่างเดียว พระมหาอินสอนทิ้งท้ายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ว่าอยากให้หันมามองประชากรเด็กกลุ่มสามเณรมากกว่าที่เป็นอยู่ ท่ามกลางหลากนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือเด็กชายขอบ สามเณรดูจะไม่ถูกนับอยู่ในกลุ่มนั้น

“สังคมเรามองหาเด็กชายขอบ อยากส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ นานา แต่ทำไมไม่มามองกลุ่มสามเณรบ้าง เกือบ 100% พวกเขาคือเด็กชายขอบที่มาบวชนั่นแหละ” พระมหาอินสอนกล่าว

พรมแดนทางโลกและทางธรรมไม่เคยปิดกั้นโอกาสฉันใด พรมแดนรัฐชาติที่ตีกรอบสถานะพลเมืองไว้ก็ไม่ควรตัดโอกาสฉันนั้น ประเทศไทยอยู่ในยุคที่ต้องพึ่งพาพี่น้องแรงงานข้ามชาติมากกว่าสมัยใด และไม่ว่าจะมองจากมิติไหน พรมแดนอคติของผู้กำหนดนโยบายก็ไม่ควรผลักไสลูกหลานของพวกเขาออกจากถนนแห่งโอกาส


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

References
1 กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, 2565

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save