fbpx

ทำความรู้จัก ‘โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ’ โอกาสทางการศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์

ผ่านมาร่วม 2 ปีนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโลกจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อโควิดได้ฝากบาดแผลใหม่ ขณะเดียวกันก็กรีดซ้ำบาดแผลเก่าให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งในแผลเก่าที่ว่าคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 โลกการศึกษาของบ้านเราก็อยู่ในสภาวะเหลื่อมล้ำมากอยู่แล้ว แต่การมาถึงของวิกฤตสุขภาพยิ่งตอกย้ำปัญหานี้ให้เห็นเด่นชัดขึ้น จากรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ในปีการศึกษา 1/2564 มีเด็กยากจนและยากจนพิเศษรวมประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมด ในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน อีกทั้งเมื่อลงไปดูรายละเอียดในกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ หรือเด็กที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาท/คน/เดือน พบว่ามียอดเพิ่มสูงขึ้นเป็นนิวไฮถึง 1,302,968 คน หรือเพิ่มขึ้น 128,524 จากภาคเรียนที่ 2/2563

แน่นอนว่าตัวเลขเด็กยากจนที่พุ่งสูงขึ้นมีค่าเท่ากับความสุ่มเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความพยายามมองหาวิธีการและแนวทางที่จะช่วยให้เด็กๆ ยังคงสามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือ การบวชเรียนเพื่อศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

101 ชวนคุณมาทำความรู้จัก 'โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ' อีกหนึ่งโอกาสทางการศึกษาใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ผ่านเรื่องราวของคุณครูและสามเณรแห่งโรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัย
โรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัย

ด้วยทางเลือกทางการศึกษาที่มีอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน อาจทำให้คนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนทั่วไปรู้สึกไกลตัวกับการต้องบวชเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ ต่างจากในอดีตที่วัดถือเป็นพื้นที่ในการเข้าถึงความรู้และการศึกษา อย่างไรก็ตาม แม้การเรียนในสำนักเรียนของสงฆ์จะได้รับความนิยมน้อยลงตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กระนั้นสำหรับเด็กยากจนหรือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การได้บวชเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการศึกษาที่สำคัญ

โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาเถรสมาคม (มส.) ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุบันใช้ระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร ทั้งในวิชาธรรมและวิชาสามัญควบคู่กันไป และเพื่อสร้างศาสนทายาทที่ดี มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง สามารถธำรงและสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรต่อไป

ขณะนี้ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษามีทั้งหมด 408 แห่ง มีนักเรียนสามเณรรวม 34,634 รูป และเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ควบคู่ไปกับการสอนตามหลักสูตรนักธรรมและบาลี ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม (มส.)

ชนิสรา เจริญร่าง

“สามเณรที่เรียนที่นี่ 98% เป็นเด็กยากจนและด้อยโอกาสทางการศึกษา สาเหตุหลักในการเลือกมาบวชเรียนของสามเณรมี 2 สาเหตุคือ หนึ่ง ผู้ปกครองไม่มีปัจจัยที่จะส่งลูกหลานให้เรียนหนังสือได้ และสอง สามเณรตั้งใจมาบวชเรียนเอง เนื่องจากเห็นรุ่นพี่ที่มาบวชประสบความสำเร็จในด้านการเรียน” ชนิสรา เจริญร่าง หัวหน้าฝ่ายงบประมาณ และครูผู้รับผิดชอบดูแลสามเณร โรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ หนึ่งในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพระปริยัติธรรมเขต 11 กล่าวถึงภาพรวมของนักเรียนที่นี่ ก่อนจะขยายความต่อไปว่า

“โรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัยเป็นเหมือนโรงเรียนขยายโอกาสสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เนื่องจากเด็กที่เข้ามาบวชเรียนที่นี่จะได้เรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าผ้าไตรจีวร ค่าของใช้ส่วนตัว ตลอดจนค่ายานพาหนะในการมาโรงเรียนสำหรับกรณีที่สามเณรไม่ได้จำวัดที่โรงเรียนแต่จำวัดอยู่ที่วัดใกล้บ้าน โดยงบประมาณทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยมอบมาในลักษณะเงินอุดหนุนรายหัว” ครูชนิสรากล่าว

โรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัยอยู่คู่กับชุมชนบ้านหนองดินดำมากว่า 18 ปี ที่นี่เป็นชุมชนเล็กๆ ห่างไกลจากตัวเมือง ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไปเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก ครูชนิสราให้ข้อสังเกตไว้ว่า เด็กๆ ที่นี่มักอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อแม่หลายคนแยกทางกัน บ้างก็ไปทำงานรับจ้างในต่างจังหวัด ซึ่งสุดท้ายด้วยความแก่ชรา ปู่ย่าตายายเองก็เลี้ยงดูหลานไม่ไหว การส่งให้หลานมาบวชเรียนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

สำหรับโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษานั้นจะไม่มีการสอบคัดเลือกเหมือนโรงเรียนทั่วไปแต่จะเปิดให้สมัครเข้ามา โดยไม่จำกัดการเปิดรับสมัครเฉพาะในช่วงชั้นใด แต่หลักๆ จะเน้นรับนักเรียนในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยในแต่ละปีจะมีการออกแนะแนวและประชาสัมพันธ์ถึงการศึกษาทางเลือกประเภทนี้ เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาเข้าไปถึงเด็กๆ ได้มากที่สุด อย่างกรณีของโรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัยเอง ก่อนจะดำเนินกิจกรรมออกแนะแนวจะมีการถามลูกเณรที่เข้ามาบวชเรียนในปีก่อนว่า ปีนี้มีเด็กคนไหนมีลักษณะเหมือนลูกเณรบ้าง เมื่อทราบข้อมูลแล้ว ทางคุณครูจะเดินทางไปหาผู้ปกครองเพื่อแนะนำโรงเรียน โดยผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยก็มักสนใจและให้ตอบรับเป็นอย่างดี

“มีหลายเคสมากที่เราไปเจอว่าลูกอยากเรียนหนังสือแต่พ่อแม่ไม่มีเงินส่ง” ครูชนิสราย้อนให้ฟังถึงเรื่องราวที่เธอเคยได้ประสบพบเจอระหว่างการออกแนะแนวโรงเรียน

“มีเคสหนึ่งลูกอยากเรียนหนังสือมาก แต่พ่อแม่ไม่มีเงินเลยจริงๆ ที่น่าเศร้าคือเด็กมีโอกาสได้ไปเรียนที่โรงเรียนในเมืองแล้ว แต่ปรากฏว่าไปเรียนได้แค่เทอมเดียว พ่อแม่ส่งต่อไม่ไหว เพราะทั้งคู่แยกทางกันและต่างคนต่างไปมีครอบครัวใหม่ ทำให้มีรายได้ไม่พอที่จะส่งมาให้ลูกคนแรก สุดท้ายเด็กก็ต้องออกจากโรงเรียน โชคดีที่เขาเห็นเราไปแนะแนว ก็เลยตัดสินใจไปบอกยายว่าจะขอบวชเรียน ยายก็อนุญาต ตอนนี้เด็กคนนั้นก็ได้ดิบได้ดีไปแล้ว

“หรืออีกเคสครูจำได้แม่นเลย เพราะไปตามเขาถึงทุ่งนาเพื่อให้กลับมาเรียน ตอนเห็นนักเรียนครั้งแรกตกใจมาก เพราะเขาตัวผอม ผิวดำคล้ำ ก่อนจะมารู้ทีหลังว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ยิ่งตอนที่ไปเห็นบ้าน อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เลย ภาพที่เราเห็นคือเด็กอยู่กับยายแค่สองคน ในบ้านสังกะสีเก่าๆ เหมือนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ เราตัดสินใจพาเขามาบวชเรียน ตอนนี้สามเณรก็เรียนใกล้จะจบ ม.6 แล้ว”

เชื่อว่าเมื่อพูดถึงการบวชเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแล้ว หนึ่งความเข้าใจที่มักจะเกิดขึ้นตามมาคือการเรียนการสอนที่นี่คงเน้นแค่การสอนธรรมวินัยและภาษาบาลีเป็นแน่ ต้องบอกว่าเป็นการเข้าใจถูกเพียงแค่ส่วนเดียว เพราะแท้จริงแล้วโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเองก็มีการเรียนการสอนไม่ต่างจากโรงเรียนสังกัดสพฐ. โดยหลักสูตรที่ใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางเดียวกันกับโรงเรียนทางโลก คุณครูผู้สอนส่วนใหญ่ก็เป็นคุณครูที่จบตรงเอก หรือหากสอนในวิชาที่ไม่ถนัดก็ต้องไปเรียนเพิ่มเติม ก่อนจะกลับมาสอนในรายวิชานั้นๆ นอกจากนี้วุฒิการศึกษาที่สามเณรจะได้ภายหลังจากที่เรียนจบ ก็ได้ในลักษณะของวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) และ วุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ในกรณีที่สามเณรลาสิกขาบทไปแล้วก็สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาทั่วไปได้ทันที เนื่องจากได้รับวุฒิการศึกษาไม่ต่างจากการเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.

หากจะมีอะไรแตกต่างออกไปจากโรงเรียนทั่วไป ครูชนิสรากล่าวว่าคงเป็นการปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ที่เพิ่มขึ้นมา

“สำหรับนักเรียนที่นี่ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็จะต้องทำกิจของสงฆ์ตามปกติทั่วไป ช่วงเช้าตรู่ก็จะมีการออกบิณฑบาต หลังจากนั้นสักประมาณ 7.00 น. รถโรงเรียนจะไปรับสามเณรจากวัดนอนต่างๆ มาส่งที่โรงเรียน เมื่อมาถึงก็มีกิจกรรมเข้าแถว สวดมนต์ ท่องคำปฏิญาณ เหมือนโรงเรียนข้างนอก พอสักประมาณ 8.30 น. ก็จะเริ่มเรียนคาบแรก จนถึง 11.30 น. แล้วพักฉันภัตตาหาร หลังจากนั้นจะกลับมาเรียนภาคบ่ายอีกครั้งในเวลา 13.00 น. ตามตารางเรียน ม.1 – ม.6 ตามหลักสูตรสามัญทั่วไป โดยจะเรียนสลับกันระหว่างสายสามัญกับธรรมบาลีเพื่อให้สามเณรไม่เบื่อ ก่อนจะเลิกเรียนในเวลา 16.00 น. และเตรียมทำวัตรเย็น นอกจากนี้ในช่วงที่มีการสอบนักธรรม ก็จะมีการเปิดติวแยกเป็นพิเศษตามแต่ละช่วง นอกจากนี้โรงเรียนก็มีการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ตลอดจนกิจกรรมแข่งขันทักษะทางวิชาการ”

นอกจากการส่งเสริมทักษะทางวิชาการแล้ว ทางโรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัยยังส่งเสริมสามเณรในด้านทักษะทางอาชีพอีกด้วย “อย่างบางคนเวลาเรียนจะหงุดหงิดเสมอ แต่ถ้าให้ทำงานฝืมือเมื่อไหร่จะชอบมาก แถมยังทำออกมาได้ดี” ครูชนิสราเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะอธิบายต่อว่า

“ลูกเณรที่นี่มีหลากหลายรูปแบบ บางคนถนัดวิชาการ บางคนถนัดงานฝีมือ บางคนถนัดด้านการทำเกษตร ฉะนั้นก่อนที่จะลงมือสอนเขา ครูจะคอยดูก่อนเลยว่าลูกเณรของเราถนัดทางด้านไหนบ้าง เมื่อรู้ว่าเขาถนัดอะไร เราก็ส่งเสริม ผลักดัน ให้เขาเชี่ยวชาญในด้านนั้น เพราะการทำงานทุกอย่าง ถ้าใจรัก เราก็จะทำงานนั้นได้ดี เช่น ลูกเณรที่นี่หลายคนก็มีความสามารถในด้านทักษะด้านการผูกผ้า อย่างในช่วงเทศกาลต่างๆ ชุมชนก็มักจะจ้างลูกเณรให้ไปผูกผ้าตามโต๊ะ ตามกำแพง เพื่อประดับตกแต่ง เรียกได้ว่าเรียนในโรงเรียนเสร็จ ก็ได้ออกไปฝึกฝีมือจริงๆ ตามงานต่างๆ นอกจากนี้ ก็ถือเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียนให้สามเณรอีกทางหนึ่ง มีลูกเณรบางรายเก็บออมปัจจัยที่ได้จนสามารถแบ่งกลับไปให้ครอบครัว

“โดยทางโรงเรียนก็จะเน้นการสอนแบบบูรณาการ เพราะเราต้องการให้สามเณรมีทักษะทางด้านอาชีพติดตัวไว้ พอเรียนจบแล้ว หากลูกเณรไม่ต้องการจะบวชต่อ ก็สามารถนำทักษะนี้ไปประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง ตลอดจนดูแลครอบครัวได้”

สามเณรธีรพงศ์  ประดับศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วัย 18 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ชีวิตเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ตัดสินใจบวชเรียน สามเณรย้อนเล่าให้ฟังว่าบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ ม.1 ด้วยเพราะอยากจะเรียนหนังสือมาโดยตลอด แต่ติดอยู่ตรงฐานะทางบ้านที่ไม่พร้อมส่งเสียให้เขาเรียนอย่างที่ใจฝัน เมื่อทราบข้อมูลว่าสามารถบวชเป็นสามเณรเพื่อเรียนได้ สามเณรธีรพงศ์ก็ตัดสินใจบวชโดยไม่ลังเล ทุกวันนี้แม้ฐานะทางบ้านของเขาจะยังไม่ค่อยสู้ดีนักเฉกเช่นเดิม แต่อย่างน้อยทักษะที่สามเณรธีรพงศ์ได้เรียนรู้ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่นี่ อย่างการทำบายศรีสู่ขวัญ ก็ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเขาขณะที่กำลังศึกษาเล่าเรียน

“แม้จะไม่ได้มีจำนวนมากมาย แต่อย่างน้อยปัจจัยที่สามเณรหาได้ระหว่างเรียนก็พอจะช่วยค่าใช้จ่ายของยายได้บ้าง” สามเณรธีรพงศ์กล่าวสั้นๆ พร้อมรอยยิ้มเล็กๆ

ก่อนจากกัน เราถามสามเณรผู้ใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์มาตลอด 6 ปีว่าได้วาดฝันอนาคตไว้อย่างไร เขาตอบกลับในทันทีว่า “สามเณรคิดว่าจะสึก เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยและเตรียมเข้าสู่การทำงาน ตอนนี้ยายเองก็รอสามเณรอยู่ สามเณรอยากออกไปทำงาน เพราะมีความฝันว่าอยากสร้างบ้านให้ยายอยู่ อยากให้ยายสบายขึ้น เพราะยายเองก็แก่ตัวขึ้นทุกวัน”

หากเทียบกับโรงเรียนของทางโลก ต้องยอมรับว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาแห่งนี้อาจจะยังมีเรื่องที่ขาดตกบกพร่อง เช่น อุปกรณ์การเรียนที่ยังไม่เพียบพร้อมหรือเทคโนโลยีของสื่อการเรียนการสอนที่อาจยังวิ่งไม่ทันโลกยุคดิจิทัล แต่กระนั้นที่แห่งนี้ก็ได้กล่อมเกลาจิตใจนักเรียน ฝึกฝนทักษะอาชีพ และให้ความรู้สามเณรอย่างสุดความสามารถ จนสามเณรหลายคนได้ดิบได้ดีทั้งในสายทางธรรมและทางโลก

“หลังจากที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามเณรบางรูปเลือกทางเดินชีวิตในฐานะศาสนทายาทต่อไป แต่ก็มีอีกหลายรูปที่เลือกจะสึกและกลับมาใช้ชีวิตในทางโลก หลายคนเรียนจบแล้วก็ไปทำงานโรงงาน มีตำแหน่งหน้าที่ที่มั่นคงและเติบโตจนถึงขั้นเป็นผู้จัดการ บ้างก็เลือกรับราชการ ทั้งเป็นตำรวจ เป็นทหาร อย่างที่โรงเรียนก็จะมีอดีตสามเณรรุ่นพี่มาแนะแนวอาชีพให้น้องๆ ทุกปี นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ก็มีคุณภาพ ไม่ต่างจากเด็กโรงเรียนทั่วไป”

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียนการสอน ณ โรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัยจะสามารถผลิตบุคลากรที่มีความสามารถทั้งทางด้านสติปัญญาและด้านจิตใจสู่สังคม แต่โรงเรียนเองก็ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่ต้องพัฒนาแก้ไขต่อไป หนึ่งในปัญหาสำคัญคือเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

ครูชนิสราบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า “แม้เราจะได้งบมากจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่งบที่ได้ก็ไม่เพียงพอ เพราะงบที่ได้เป็นงบที่เจาะจงมาแล้ว เช่น หากโรงเรียนต้องการจะซื้อโปรเจกเตอร์ เนื่องจากมีราคาสูง ก็จำเป็นที่จะต้องรอส่วนกลางจัดสรรงบมาให้ก่อน ทุกวันนี้ถ้าถามว่าโรงเรียนของเราขาดอะไรมากที่สุด คำตอบคงหนีไม่พ้นสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์สื่อเทคโนโลยีบางตัวเราก็ไม่มีเหมือนที่โรงเรียนข้างนอกใช้ เพราะว่าไม่มีงบที่สามารถไปซื้อสื่อราคาแพงๆ ได้”

ประเด็นเรื่องสื่อการเรียนการสอนที่ขาดแคลน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยิ่งในยุคที่การเรียนการสอนออนไลน์กลายมาเป็นนิวนอร์มอลของระบบการศึกษาด้วยแล้วนั้น ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะคงน่าเศร้าเกินไป หากว่ามีครูที่มุ่งมั่นลุยดะไปถึงกลางทุ่งนาเพื่อตามให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียน หรือเด็กที่เลือกตัดความสำราญทางโลกและหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่สุดท้ายกลับต้องมาตกม้าตาย ณ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี จนทำให้ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ลอยห่างไกลไปกว่าเดิม

12 ปีในฐานะคุณครูประจำโรงเรียนวัดป่าหนองดินดำวิทยาลัย ครูชนิสรามีลูกศิษย์ลูกหานับหลายร้อยชีวิต ต่างคนต่างเลือกเส้นทางเติบโตที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนล้วนเติบโตอย่างมั่นคงทั้งทางสติและทางปัญญา ไม่ต่างไปจากแสงประทีปดวงน้อยๆ ที่ยังคงสว่างไสว แม้จะอยู่ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ

“ในยุคที่โควิดเข้ามาซ้ำเติมเราทุกด้านเช่นนี้ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่อาจจะไม่มีความพร้อมไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม โรงเรียนของเราพร้อมเปิดรับสามเณรทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติอะไรหรือมีพื้นฐานความรู้เท่าไหร่ เรามีทุนการศึกษาในหลายๆ ด้าน แม้จะมีจำนวนไม่เยอะมาก แต่ก็เพียงพอที่จะสนับสนุนให้สามเณรของเราได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไปได้”

ก่อนจากกัน ครูชนิสรากล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่า “เราอยากให้เด็กๆ ได้เข้าถึงการศึกษา เพื่อที่เขาจะได้มีความรู้ มีทักษะสำหรับนำไปประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต เพื่อไปดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ให้ไม่ต้องอยู่ในสภาพที่เคยอยู่ มีเด็กหลายคนที่พอได้โอกาสมาเรียนแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเปลี่ยนไปเลย

“มีเพียงแค่การศึกษาเท่านั้นที่ช่วยให้เด็กห่างไกลจากความยากจน”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save