fbpx

จากเลือกตั้งฟิลิปปินส์ถึงการเมืองไทย ในวันที่ ‘มาร์กอส’ ผงาดอีกครั้ง กับ อัครพงษ์ ค่ำคูณ

เป็นไปตามผลโพล หลังปิดหีบการเลือกตั้งในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์ได้ต้อนรับประธานาธิบดีหน้าใหม่จากตระกูลเก่า ‘เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์’ (Ferdinand Marcos Jr.) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘บงบง มาร์กอส’ (Bongbong Marcos – BBM) ลูกชายของประธานาธิบดีที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์อย่างเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตจอมเผด็จการ ผู้นำยุคสมัยอันดำมืดกล้ำกรายฟิลิปปินส์ และส่งต่อมรดกบาดแผลมาจนถึงปัจจุบัน

การหวนคืนสู่ทำเนียบมาลากันยังอีกครั้งในรอบ 36 ปีของตระกูลมาร์กอสท่ามกลางชัยชนะอันล้นหลามจะนำฟิลิปปินส์ไปในทิศทางใด 101 ชวนคุยกับผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในรายการ 101 One-on-One Ep.264: อนาคตฟิลิปปินส์ในยุคมาร์กอส 2.0 กับ อัครพงษ์ ค่ำคูณ ถึงอนาคตการเมืองฟิลิปปินส์ สถานการณ์ประชาธิปไตยในอาเซียน และบทเรียนจากการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ถึงการเมืองไทย

ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย เมื่อบุตรแห่ง ‘มาร์กอส’ จับมือกับบุตรีแห่ง ‘ดูเตร์เต’

อัครพงษ์เกริ่นให้เห็นภาพรวมของการเมืองฟิลิปปินส์ว่ามีการเลือกตั้งหลายระดับ ตั้งแต่หมู่บ้านไปจนถึงการเมืองระดับประเทศ โดยในภาพใหญ่ชาวฟิลิปปินส์มีสิทธิกาบัตรเลือกตั้งสองใบ ทั้ง ‘ประธานาธิบดี’ ผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศ และ ‘รองประธานาธิบดี’ ผู้มีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ 1987 เสมือนเป็นผู้แทนของรัฐในการทำกิจการต่างๆ

การลงคะแนนเสียงแยกกันในสองตำแหน่งทางการเมืองนี้เอง เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีอาจจะมาจากขั้วทางการเมืองเดียวกันหรือต่างกันก็เป็นได้ เช่น ในสมัยของโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีคนก่อนหน้ากับเลนี โรเบรโด (Leni Robredo) อดีตรองประธานาธิบดีเป็นหนึ่งตัวอย่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของสองตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ทำให้มีการคานอำนาจ และส่งผลต่อการดำเนินนโยบายที่ล่าช้าจนทำให้ประชาชนหน่ายใจ

เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประชาชนจึงเทใจให้กับบงบง มาร์กอส หลังเขาส่งสัญญาณจะสานต่อการทำงานของรัฐบาลเดิมที่ยังคงครองใจมหาชนร่วมกับซารา ดูเตร์เต (Sara Duterte) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ลูกสาวของดูเตร์เตที่ลงสนามเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี การสถาปนาความนิยมไปในทิศทางเดียวกันของตระกูลการเมืองเก่าแก่ทางภาคเหนืออย่าง ‘มาร์กอส’ และตระกูลการเมืองที่ครองฐานที่มั่นทางภาคใต้อย่าง ‘ดูเตร์เต’ เอื้อหนุนจนทำให้สัดส่วนคะแนนเลือกตั้งของบงบงอยู่ที่ประมาณ 58% และซาราอยู่ที่ประมาณ 61% ทิ้งห่างคู่แข่งอย่างขาดลอย

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือบงบง มาร์กอส ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี 2022
ที่มา: Facebook – Bongbong Marcos

“บาปของพ่อไม่ควรตกมาที่ลูก” บงบง มาร์กอส ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่

“การเมืองฟิลิปปินส์ดราม่ามาก คนฟิลิปปินส์พร้อมที่จะเลือกคนที่เป็นคล้ายๆ กับดาราหรือนักแสดงมาเป็นผู้นำ การเมืองไม่ใช่เรื่องเหตุผล เป็นเรื่องอารมณ์ล้วนๆ ว่าชอบหรือไม่ชอบ” อัครพงษ์กล่าวพร้อมเสริมว่าในภูมิทัศน์ของการเมืองฟิลิปปินส์ พรรคการเมืองไม่ได้มีความหมายมากนักในเชิงอุดมการณ์การสื่อสารทางการเมือง ผลการเลือกตั้งกลับยึดโยงกับตัวบุคคลที่ลงสมัครชิงตำแหน่งการเมืองมากกว่า

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาอัครพงษ์ให้ข้อมูลว่า แม้จะโดนโจมตีว่าเป็นลูกชายของซาตาน แต่บงบงให้สัมภาษณ์ว่า “บาปของพ่อไม่ควรตกมาที่ลูก” และประวัติทางการเมืองก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัดอีโลโคสนอร์เต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกก็สะท้อนว่าเขาทำงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ด้วยความเชื่อทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกของคนฟิลิปปินส์จึงทำให้ประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว ขณะที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎอัยการศึกของพ่อบงบงมีความเห็นต่างออกไป ส่วนประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆ เช่น การโกหกประวัติการศึกษา หรือการที่คนในตระกูลมาร์กอสมีส่วนเกี่ยวพันกับคดีคอร์รัปชันในอดีต เป็นต้น อัครพงษ์สะท้อนว่าการเมืองในอาเซียนมีลักษณะรัฐนาฏกรรม กระแสนิยมของผู้นำประเทศขึ้นอยู่กับการกุมความหมายหรือความคิดของคนในประเทศ ฉะนั้นการสื่อสารทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงการหาเสียง

นอกจากนี้อัครพงษ์ยังวิเคราะห์ถึงบงบง มาร์กอสในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ว่า แม้จะเติบโตในครอบครัวไฮโซ แต่ก็มีภาพลักษณ์ติดดิน ใส่เสื้อบอลกางเกงวอร์ม และสื่อสารบนโลกออนไลน์ผ่าน Tiktok เน้นย้ำว่าบุคลิกของบงบง มาร์กอสแตกต่างจากดูเตร์เตอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือเขาจะเป็นผู้นำที่รอมชอม ประนีประนอมกับทุกฝ่าย อย่างในกรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้หรือที่เรียกกันว่าทะเลฟิลิปปินส์ ฝั่งตะวันตก อัครพงศ์คาดว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปในอนาคต เพราะมีการตกผลึกในการหาประโยชน์จากทะเลจีนใต้ร่วมกันและมีแนวโน้มว่าบงบงจะพยายามประสานความสัมพันธ์กับประเทศที่มีข้อพิพาทและสหรัฐอเมริกา การประทุของปัญหาทะเลจีนใต้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ยกเว้นแต่จะมีปัญหาการเมืองในประเทศที่นำไปสู่การหาศัตรูร่วมกันของคนในประเทศจนเกิดเป็นปัญหาระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณานโยบายที่นำเสนอในช่วงการเลือกตั้ง บงบงประกาศชัดถึงการทำให้ฟิลิปปินส์กลับมาผงาดอีกครั้งเหมือนยุคทองของผู้พ่อที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาชีวิตคนรากหญ้า โดยโจทย์สำคัญในปัจจุบันคือการฟื้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ผ่านนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่อย่าง Build! Build! Build! การสร้างงานภายในประเทศ การอำนวยความสะดวกกับคนฟิลิปปินส์ที่ทำงานต่างประเทศ เนื่องจากคนฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและเลือกไปหาโอกาสในต่างแดน รวมทั้งยังส่งสัญญาณว่าจะดำเนินนโยบายการประกาศสงครามยาเสพติดต่อไป แม้จะเป็นนโยบายที่ถูกประณามจากนานาชาติก็ตาม

ตำราเรียนประวัติศาสตร์ว่าด้วยความทรงจำต่อตระกูลมาร์กอส

หลังการต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ หลายคนตั้งคำถามว่าการเลือกบงบง มาร์กอสสะท้อนว่าคนฟิลิปปินส์ไม่ได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์การเมืองที่เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้พ่อประกาศกฎอัยการศึกยาวนานถึง 12 ปี ลิดรอนเสรีภาพประชาชนและกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองหรืออย่างไร

ในเบื้องต้นอาจกล่าวได้ว่าความทรงจำของชาวฟิลิปปินส์ที่มีต่อตระกูลมาร์กอสแตกต่างกันระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามผู้เห็นต่างและผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของมาร์กอส ไม่เพียงเท่านั้นอัครพงษ์ยังฉายภาพให้เห็นว่าบทเรียนประวัติศาสตร์ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟิลิปปินส์เรียกว่า K-12 ตั้งแต่อนุบาลถึงเกรด 12 มีการกล่าวถึงเฟอร์ดินาน มาร์กอสในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ที่ไม่ชัดเจน ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักและเลือกใช้คำกำกวมที่อาจจะตีความในแง่บวกได้ 

ยกตัวอย่าง หนังสือเรียนเกรด 4 ที่ชื่อว่า Lahing Kayumanggi สำหรับเด็ก 9 ปี กล่าวว่า “ในยุคสมัยมาร์กอสเกิดปัญหาหลายอย่างรุมล้อมประเทศ มาร์กอสจึงใช้เหตุนี้เพื่อประกาศกฎอัยการศึก” หรือหนังสือเกรด 5 ที่ชื่อ Isang Bansa Isang Lahi สำหรับเด็กอายุ 10 ปี กล่าวว่า “ภายใต้กฎอัยการศึก มาร์กอสได้เริ่มต้นการปฏิรูปใน 7 สาขา คือเรื่องสันติภาพและระเบียบวินัย การปฏิรูปที่ดิน การมีชีวิตที่ดี การศึกษาคุณธรรมจริยธรรม การปฏิรูประบบราชการ การจ้างงาน การบริการทางสังคม” และในหนังสือเรียนยังมีข้อความว่า “…ด้วยอำนาจแห่งคำประกาศของประธานาธิบดีหมายเลข 1080 ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกในประเทศในปี 1972 เขาสร้างรัฐธรรมนูญใหม่คือรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1973 ทำให้เกิดรูปแบบรัฐบาลใหม่ อนุญาตให้ประธานาธิบดีเป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีภายใต้กฎอัยการศึก” จากข้อความดังกล่าวอาจตีความได้ว่าสิ่งที่มาร์กอสทำในแง่ดีได้ แต่ในตำราเรียนก็ยังมีข้อความต่อท้ายที่บอกผลกระทบทางลบอย่าง “…สิทธิหลายอย่างของพลเมืองก็ถูกลิดรอนและมาร์กอสใช้อำนาจจำคุกนักการเมืองฝั่งตรงข้าม”  

อัครพงษ์ให้ความเห็นว่าการเขียนประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์เป็นการรักษาสถานภาพของคนที่อยู่ในเครือข่ายตระกูลการเมือง ไม่ประณามการกระทำของผู้เสียชีวิตอย่างชัดเจน และมีส่วนที่คล้ายกับการเขียนประวัติศาสตร์ของไทย กล่าวคือหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้ทำให้คนหลงลืมประวัติศาสตร์ แต่ทำให้คนจำอีกรูปแบบ เช่นเดียวกับชั้นเรียนไทยที่กล่าวถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในด้านผลงานการปราบยาเสพติดและสร้างมหาวิทยาลัย แต่ไม่เน้นการประณามการใช้กฎอัยการศึกและใช้อำนาจในการกวาดล้างผู้เห็นต่างทางการเมือง

อย่างไรก็ดีอัครพงษ์กล่าวว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยของฟิลิปปินส์นั้นแตกต่างออกไป มีการเจาะลึกถึงการกระทำของอดีตประธานาธิบดีที่ละเอียดและชัดเจนมากกว่าในการศึกษาขั้นพื้นฐาน

บทเรียนจากการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ถึงการเมืองไทย

ย้อนกลับมามองที่การเมืองไทย อัครพงษ์ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองพบว่าการเมืองในฟิลิปปินส์และประเทศไทยมีลักษณะคล้ายคลึงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลการเมืองในระดับท้องถิ่น (political dynasties) ที่เข้มแข็ง การใช้วาทกรรมทางการเมืองในการสื่อสาร และข้อถกเถียงระหว่างเสียงคนเมืองและคนชนบท โดยกลุ่มที่นิยมเลนี โรเบรโด ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่ผ่านมามองว่ากลุ่มคนที่เลือกบงบงเป็นกลุ่มคนที่หลงลืมประวัติศาสตร์ ไม่มีการศึกษา และมองเรื่องปากท้องเป็นหลัก ซึ่งในมุมมองของอัครพงษ์ชวนตั้งคำถามว่าแล้วทำไมคนที่มีการศึกษาไม่สามารถทำให้กลุ่มคนที่เหลือเห็นด้วยและลงคะแนนเสียงให้

“คนไทยกับคนฟิลิปปินส์ไม่ต่างกันมากหรอก แต่ปัญหาของไทยกับฟิลิปปินส์ต่างกันในเรื่องสถาบันทางการเมืองและศาสนา ศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกทำให้ฟิลิปปินส์ค่อนข้างจะมีเสรีภาพในการคิด ในขณะที่ศาสนาพุทธในสังคมไทยอาจจะมีวิธีคิดเรื่องการเมืองเป็นเรื่องเชิงบุญพาวาสนาส่งมากกว่าความสามารถ ไม่ใช่ความสามารถ (know how) เป็นเส้นสาย (know who) ฟิลิปปินส์ก็มีเส้นสายบ้าง แต่คุณสามารถที่จะพลิกชีวิตได้เพราะว่าโอกาสในสังคมมีมากกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำไป” อัครพงษ์กล่าว

นอกจากความคล้ายคลึงทางการเมือง สนามเลือกตั้งฟิลิปปินส์ยังได้สะท้อนบทเรียนที่น่าสนใจต่อการเมืองไทย 3 ประการ ได้แก่

1. การออกแบบกติกาในระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจนและเคารพผลการเลือกตั้งจากเสียงประชาชน ด้วยรัฐธรรมนูญ 1987 กำหนดให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงสมัยเดียว 6 ปี และกำหนดวันเลือกตั้งครั้งถัดไปในรัฐธรรมนูญว่าเป็นวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ทำให้ผู้สมัครเลือกตั้งที่พลาดโอกาสสามารถเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งในสมัยหน้าภายใต้กำหนดเวลาแน่นอน  การประท้วงผลการเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ แต่ไม่มีการล้มการเลือกตั้ง และฝ่ายค้านยังสามารถใช้อำนาจกฎหมายตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างการบริหารของรัฐบาล อัครพงษ์เสริมว่าเขารณรงค์ให้เกิดการเคารพ (respect) เช่นนี้ในสังคมไทยมากกว่าการเกรงใจที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย

2. ผลการเลือกตั้งคือการเรียนรู้ทางการเมืองมากกว่าการถอยหลังของประชาธิปไตยในเอเชียอาคเนย์ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการเลือกตั้งที่เห็นแนวโน้มการถดถอยของประชาธิปไตยและความนิยมฝ่ายขวาในอาเซียนก็ตาม แต่อัครพงษ์มองว่าสังคมเดินไปข้างหน้า และผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตามเป็นหนึ่งในบทเรียนทางการเมืองของประชาชนบนถนนของประชาธิปไตย

3. การชิงอำนาจทางการเมืองคือการต่อสู้เรื่องความทรงจำ “การต่อสู้ของประชาชนกับอำนาจคือการต่อสู้ระหว่างความทรงจำกับการทำให้ลืม (the struggle of man against power is a struggle of memory against forgetting)” อัครพงษ์หยิบยกข้อความของมิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) สะท้อนมุมมองที่สำคัญว่าการกำหนดเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์จะกำหนดวิธีคิดของผู้คนในประเทศได้ ฟิลิปปินส์ก็มีการต่อสู้ในการช่วงชิงความทรงจำทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านตำราเรียนที่กำกวมหรือบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ยังผลัดกันให้ความหมายต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีอัครพงษ์ปิดท้ายสนทนาถึงการถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ที่สำคัญว่าเหตุการณ์เดียวกันอาจจะมีเรื่องเล่าที่แตกต่างขึ้นอยู่กับมุมมอง และทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวีรชนหรือทรชนล้วนถูกลืมในประวัติศาสตร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save